ยาโอเซลทามิเวียร์ ยาทามิฟลู (Oseltamivir หรือ Tamiflu)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 5 กุมภาพันธ์ 2563
- Tweet
- บทนำ
- ยาโอเซลทามิเวียร์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- ยาโอเซลทามิเวียร์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาโอเซลทามิเวียร์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาโอเซลทามิเวียร์มีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ยาโอเซลทามิเวียร์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาโอเซลทามิเวียร์อย่างไร?
- ยาโอเซลทามิเวียร์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาโอเซลทามิเวียร์อย่างไร?
- ยาโอเซลทามิเวียร์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- เชื้อไวรัส โรคติดเชื้อไวรัส (Viral infection)
- ไข้หวัดใหญ่ (Influenza)
- ยาต้านไวรัส (Antiviral drugs)
- ยากดภูมิคุ้มกัน(Immunosuppressants or Immunosuppressive agents)
- โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ โรคติดเชื้อระบบหายใจ (Respiratory tract infection)
- ปอดบวม ปอดอักเสบ (Pneumonia)
บทนำ
ยาโอเซลทามิเวียร์ (Oseltamivir) หรือ ยาทามิฟลู (Tamiflu) จัดเป็นยาควบคุมพิเศษที่ใช้รักษาโรคไข้หวัดใหญ่ โดยยานี้สามารถชะลอการแพร่พันธุ์ของไวรัสให้ช้าลงได้ ยาออกฤทธิ์ได้ดีกับไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ เอ และสายพันธุ์ บี (Influenza A virus and influenza B virus )
โดยหลังจากรับประทานยาโอเซลทามิเวียร์/ทามิฟลู ร่างกายจะเปลี่ยนโครงสร้างของยาให้อยู่ในรูปที่มีกลไกยับยั้งการแพร่พันธุ์ของไวรัสได้ และสามารถนำยานี้มาใช้ป้องกันโรคปอดบวม อันมีสาเหตุจากเชื้อไวรัส โดยควรต้องรับประทานยานี้ภายใน 48 ชั่วโมงเมื่อทราบว่าได้รับเชื้อไวรัสหรือเมื่อเริ่มมีอาการ
ยาโอเซลทามิเวียร์/ทามิฟลู ใช้ได้กับทั้งผู้ใหญ่และเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป มีการทดสอบการใช้ยานี้กับสัตว์ทดลองที่ตั้งครรภ์พบว่า สามารถก่อให้เกิดความพิการของตัวอ่อน จึงไม่สมควรใช้ยานี้กับหญิงมีครรภ์ อย่างไรก็ตาม การใช้ยานี้ต้องได้รับคำสั่งจากแพทย์เท่านั้น
ยาโอเซลทามิเวียร์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาโอเซลทามิเวียร์/ทามิฟลู มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้:
- รักษาอาการป่วยจากการติดเชื้อหรือใช้ป้องกันการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ เอ และสายพันธุ์ บี โดยมีขนาดการบริหารยา/การใช้ยาในทั้ง 2 กรณีที่ต่างกันออกไป
ยาโอเซลทามิเวียร์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
หลังจากการรับประทานยาโอเซลทามิเวียร์/ทามิฟลู ร่างกายจะทำการเปลี่ยนโครงสร้างของยาโดยตับ จนยาอยู่ในรูปที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของสารเคมีในตัวไวรัสที่เรียกว่า เอนไซม์ และส่งผลให้การยึดเกาะของตัวไวรัสกับเซลล์ของร่างกายมนุษย์ทำได้ยากยิ่งขึ้น
ยาโอเซลทามิเวียร์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
รูปแบบการจัดจำหน่ายของยาโอเซลทามิเวียร์/ทามิฟลู:
- ยารับประทาน ที่เป็นยาแคปซูลขนาด 30, 45 และ75 มิลลิกรัม
- ยาน้ำแขวนตะกอนขนาด 12 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
ยาโอเซลทามิเวียร์มีขนาดรับประทานอย่างไร?
สามารถรับประทานยาโอเซลทามิเวียร์/ทามิฟลูได้ทั้งก่อนและหลังอาหาร แต่การรับประทานยาหลังอาหาร จะช่วยลดภาวะระคายเคืองกับระบบทางเดินอาหารได้ดีกว่า
ยาโอเซลทามิเวียร์ ชนิดแค็ปซูล สามารถแกะแค็ปซูลออก และนำผงยามาละลายน้ำ หรือ น้ำหวาน แล้วนำมารับประทานก็ได้
- ขนาดรับประทานสูงสุดของยานี้ในผู้ใหญ่และเด็กที่มีน้ำหนัก 40 กก.ขึ้นไปคือ 75 มิลลิกรัมต่อครั้ง
- ขนาดรับประทานสูงสุดในเด็กที่มีน้ำหนัก 23-40 กก.ขึ้นไปคือ 60 มิลลิกรัมต่อครั้ง
- ขนาดรับประทานสูงสุดในเด็กที่มีน้ำหนัก 15-23 กก.ขึ้นไปคือ 45 มิลลิกรัมต่อครั้ง
- ขนาดรับประทานสูงสุดในเด็กที่มีน้ำหนักต่ำกว่า 15 กก.คือ 30 มิลลิกรัมต่อครั้ง
โดยทุกช่วงของน้ำหนักตัว ให้รับประทาน 2 ครั้งต่อวัน และรับประทานเป็นเวลา 5 วันต่อเนื่อง
*อนึ่ง:
- ขนาดรับประทานเพื่อป้องกันโรคในผู้ใหญ่คือ 75 มิลลิกรัม วันละครั้งเป็นเวลา 7 วัน
ทั้งนี้ แพทย์เท่านั้นที่จะเป็นผู้สั่งจ่ายยานี้ และระบุขนาดรับประทานได้ถูกต้อง
*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมทั้งยาโอเซลทามิเวียร์/ทามิฟลู ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์ พยาบาล และ เภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหน้าอก/ หายใจติดขัด/ หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาโอเซลทามิเวียร์/ทามิฟลู อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจ เกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อนแล้ว
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาโอเซลทามิเวียร์/ทามิฟลู สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ และถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
ยาโอเซลทามิเวียร์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/ อาการข้างเคียง)ของยาโอเซลทามิเวียร์ เช่น
- รู้สึกไม่สบายในระบบทางเดินอาหาร โดยอาจมีอาการ คลื่นไส้- อาเจียน ได้
มีข้อควรระวังการใช้ยาโอเซลทามิเวียร์อย่างไร?
ข้อควรระวังในการใช้ยาโอเซลทามิเวียร์/ทามิฟลู เช่น
- ห้ามใช้ยากับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้ใน หญิงตั้งครรภ์ และหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
- การใช้ยานี้ในผู้ที่ป่วยด้วยโรคไต ต้องปรับขนาดการรับประทานให้เหมาะสม
- ระวังการใช้ยานี้ในผู้ที่มีภาวะภูมิแพ้ทางผิวหนัง ด้วยอาจทำให้เกิดอาการกำเริบมากขึ้น
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาโอเซลทามิเวียร์/ ทามิฟลู) ยาแผนโบราญ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะ ยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ยาโอเซลทามิเวียร์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาโอเซลทามิเวียร์/ทามิฟลู มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การรับประทาน ยาโอเซลทามิเวียร์ ร่วมกับยาที่มีฤทธิ์กดภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย(ยากดภูมิคุ้มกัน เช่น ยาเมโธเทรกเซท /Methotrexate) อาจก่อให้ เกิดพิษจากยาดังกล่าว ด้วยร่างกายอาจกำจัดยานั้นๆออกได้น้อยลง ซึ่งแสดง ออกทางอาการต่างๆ เช่น
- กดไขกระดูก
- มีไข้
- หนาวสั่น
- เจ็บคอ (เจ็บคอ_คออักเสบ)
- วิงเวียน
- หายใจถี่/เร็ว
- บวมที่ขา
- โรค/ภาวะ ดีซ่าน
- มีภาวะเป็นพิษต่อตับและไต
ควรเก็บรักษายาโอเซลทามิเวียร์อย่างไร?
ควรเก็บรักษายาโอเซลทามิเวียร์/ทามิฟลู เช่น
- เก็บยาในที่อุณหภูมิต่ำกว่า 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
- กรณียาน้ำแขวนตะกอน หลังผสมน้ำแล้ว ควรเก็บในตู้เย็นที่มีอุณหภูมิระหว่าง 2-8 องศาเซลเซียส
ยาโอเซลทามิเวียร์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาโอเซลทามิเวียร์ มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
Tamiflu (ทามิฟลู) | Roche |
GPO-A-Flu (จีพีโอ-เอ-ฟลู) | GP |
บรรณานุกรม
- http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fThailand%2fdrug%2finfo%2fTamiflu%2f%3fq%3doseltamivir%26type%3dbrief [2020,Feb4]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/folex-pfs-with-oseltamivir-1590-3015-1758-0.html [2020,Feb4]
- https://www.drugs.com/oseltamivir.html [2020,Feb4]