โลเพอราไมด์ (Loperamide) หรือ อิโมเดียม (Imodium)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาโลเพอราไมด์ (Loperamide) หรือยาชื่อการค้าที่รู้จักทั่วไป คือ “อิโมเดียม (Imodium)’ เป็นยาที่ใช้บรรเทาอาการท้องเสียแบบเฉียบพลันทั่วๆไป รวมถึงอาการท้องเสียแบบเรื้อรัง แต่ยานี้ห้ามใช้กับ “อาการท้องเสียที่เกิดจากการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร” สังเกตจากอาการมีไข้สูงหรือมีเลือดปนออกมากับอุจจาระขณะท้องเสีย ซึ่งอาการท้องเสียที่เกิดจากการติดเชื้อมักมีสา เหตุจากเชื้อโรคดังต่อไปนี้ เช่น เชื้ออหิวาตกโรค (Cholera), เชื้อโรคบิดชิเกลลา ( Shigella), อาหารเป็นพิษจาก E.coli, เชื้อโรคไทฟอยด์ (Salmonella) เป็นต้น เชื้อโรคบางชนิด เช่น Clostridium difficile สามารถสร้างพิษที่เรียกว่า Toxin Megacolon ซึ่งนอกจากจะทำให้ท้องเสียแล้วยังสามารถก่อให้เกิดอาการไข้ ปวดท้อง อาจเห็นลักษณะท้องป่องเกิดขึ้น และตามมาด้วยอาการช็อก จนหมดสติได้

หลังรับประทาน ยาโลเพอราไมด์นี้จะเริ่มออกฤทธิ์ภายใน 0.5 - 1 ชั่วโมง จากนั้นยาจะถูกส่งไปเปลี่ยนโครงสร้างที่อวัยวะตับ ร่างกายจะใช้เวลาประมาณ 7 - 14 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยาออกจากร่างกายได้ 50% ยานี้ส่วนมากจะถูกขับออกมากับอุจจาระและส่วนน้อยจะถูกขับออกไปทาง ปัสสาวะ

โลเพอราไมด์จัดเป็นยาอันตราย หากใช้ผิดวัตถุประสงค์ไม่เพียงแต่จะไม่หายจากอาการโรค แต่กลับจะทำให้ทรุดหนักกว่าเดิม การใช้ยาจึงควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้ทำการรักษาเท่านั้น

ยาโลเพอราไมด์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

โลเพอราไมด์

สรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ของ ยาโลเพอราไมด์ เช่น

  • รักษาและบรรเทาอาการท้องเสียทั้งชนิดเฉียบพลัน และเรื้อรังที่ ‘ไม่ได้’ เกิดจากการติดเชื้อโรค เช่น
    • ผลข้างเคียงจากยาต่างๆ
    • ผลข้างเคียงจากการฉายรังสีรักษาโรคมะเร็งในช่องท้อง
    • ผลข้างเคียงจากยาเคมีบำบัดรักษาโรคมะเร็ง
    • โรคลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผลเรื้อรังที่ไม่มีการติดเชื้อร่วมด้วย หรือ
    • โรคลำไส้แปรปรวน

ยาโลเพอราไมด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาโลเพอราไมด์ คือ ตัวยาจะออกฤทธิ์โดยตรงที่ผนังของลำไส้ ทำให้ลำไส้มีการบีบตัวน้อยลง จึงเป็นเหตุผลทำให้หยุดอาการท้องเสียลงได้

ยาโลเพอราไมด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาโลเพอราไมด์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย :

  • รูปแบบยาแคปซูล ขนาดความแรง 2 มิลลิกรัม/แคปซูล
  • รูปแบบยาเม็ด ขนาดความแรง 2 มิลลิกรัม/เม็ด

ยาโลเพอราไมด์มีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาโลเพอราไมด์มีขนาดรับประทาน เช่น

ก. ผู้ใหญ่: ขนาดรับประทานเริ่มต้น คือ 4 มิลลิกรัม แต่หากยังมีอาการท้องเสียอยูให้ รับประทานอีก 2 มิลลิกรัม ทุก 6 ชั่วโมง แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกิน 16 มิลลิกรัมต่อวัน

ข. เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): ขนาดรับประทานจะขึ้นกับอายุของเด็ก แต่อย่างไรก็ตาม ขนาดรับประทานและระยะเวลาในการรับประทาน ต้องเป็นไปตามคำแนะนำของแพทย์เท่านั้น

อนึ่ง:

  • ยานี้สามารถรับประทานก่อนหรือหลังอาหารก็ได้

*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาโลเพอราไมด์ ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยา หรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยาโลเพอราไมด์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆ และ/หรือ กับอาหารเสริม ที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาโลเพอราไมด์ สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

ยาโลเพอราไมด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาโลเพอราไมด์ สามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (อาการข้างเคียง/ผลข้างเคียง) เช่น

  • ปากคอแห้ง
  • คลื่นไส้-อาเจียน
  • ปวดท้อง และ
  • ท้องผูก

มีข้อควรระวังการใช้ยาโลเพอราไมด์อย่างไร?

ข้อควรระวังการใช้ยาโลเพอราไมด์ เช่น

  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่แพ้ยา โลเพอราไมด์
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วยลำไส้อักเสบที่มีอาการติดเชื้อในกระเพาะ - ลำไส้
  • ระวังการใช้ยานี้กับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 12 ปีและผู้สูงอายุ
  • ระวังการใช้ยากับผู้ป่วยโรคตับ
  • ไม่ควรใช้ยานี้ในหญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตรจากยาผ่านออกมาทางน้ำนมได้
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาโลเพอราไมด์ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด เสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาโลเพอราไมด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาโลเพอราไมด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาโลเพอราไมด์ร่วมกับยาแก้แพ้ สามารถเพิ่มฤทธิ์ผลข้างเคียงของยาแก้แพ้ให้มากขึ้น เช่น วิงเวียนศีรษะ ง่วงนอน ขาดสมาธิ ดังนั้นหากมีผลข้างเคียงดังกล่าว ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการทำงานกับเครื่องจักร การขับรถ เพราะจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย นอกจากนี้ ยาแก้แพ้กลุ่มนี้ยัง เพิ่มฤทธิ์ของยาโลเพอราไมด์ได้เช่นกัน และอาจมีอาการปวดท้อง ซึ่งหากมีอาการดังกล่าว ให้รีบนำผู้ป่วยไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที กลุ่มยาแก้แพ้ดังกล่าว เช่นยา Brompheniramine, Chlorpheniramine, และ Diphenhydramine เป็นต้น
  • การใช้ยาโลเพอราไมด์ร่วมกับยาแก้ปวดที่มีฤทธิ์เสพติดบางตัว สามารถทำให้ระดับยาแก้ปวดฯในกระแสเลือดเพิ่มมากขึ้น จนอาจก่อให้เกิดอาการข้างเคียงตามมา เช่น ง่วงนอน วิงเวียนศีรษะ หัวใจเต้นช้า เหงื่อออกมาก ปัสสาวะน้อยลงกว่าปกติ หรือขั้นรุนแรงถึงกับเป็นตะคริวที่หน้าท้อง/ ปวดท้อง กลุ่มยาแก้ปวดที่มีฤทธิ์เสพติดดังกล่าว เช่นยา Codeine, Morphine
  • การใช้ยาโลเพอราไมด์ร่วมกับยาต้านเศร้า สามารถก่อให้เกิดอาการข้างเคียงเหล่านี้ตามมาได้ เช่น วิงเวียนศีรษะ ง่วงนอน ขาดสติ จึงควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่เกี่ยวกับเครื่องจักร หรือการขับรถ ยาต้านเศร้าดังกล่าว เช่นยา Amitriptyline และ Nortriptyline

ควรเก็บรักษายาโลเพอราไมด์อย่างไร?

ควรเก็บยาโลเพอราไมด์ เช่น

  • เก็บยาระหว่างอุณหภูมิ 15 - 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงสว่าง/ แสงแดด และความชื้น
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำ และ
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ยาโลเพอราไมด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาโลเพอราไมด์ในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Diara (ไดอะรา) Burapha
Diarent (ดิเอเรนท์) Chew Brothers
Diarine (ไดอะรีน) Burapha
Diarodil (ไดแอโรดิล) Greater Pharma
Dicotil (ไดโคติล) Picco Pharma
Entermid (เอ็นเทอร์มิด) Nakornpatana
Imodium (อิโมเดียม) Janssen-Cilag
Imonox (อิโมน็อก) Medicine Products
Impelium (อิมพีเลียม) T.O. Chemicals
K.B. Peramide (เค.บี. เพอราไมด์) K.B. Pharma
Leon (ลีออน) T P Drug
Lomide (โลไมด์) Siam Bheasach
Lomy (โลมาย) Masa Lab
Lopela (โลเพอลา) Pharmasant Lab
Loperamide GPO (โลเพอราไมด์ จีพีโอ) GPO
Lopercin (โลเพอร์ซิน) Polipharm
Loperdium (โลเพอร์เดียม) General Drugs House
Lopil (โลพิล) Bangkok Lab & Cosmetic
Mantil (แมนทิล) T. Man Pharma
Miderlar (ไมเดอลาร์) Chinta
Operium (โอเพอเรียม) P P Lab
Patardium (พาตาร์เดียม) Patar Lab
Perasian (เพอเรเซียน) Asian Pharm
Ropa (โรพา) Utopian
Ropermide (โรเพอไมด์) Medicpharma
SBOB (เอสบีโอบี) Thai Nakorn Patana
Setonox (เซโทน็อก) Putchubun Dispensary
Tedium (ทีเดียม) T. Man Pharma

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Loperamide [2020,July11]
  2. https://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fthailand%2fdrug%2finfo%2floperamide%3fmtype%3dgeneric [2020,July11]
  3. https://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fThailand%2fdrug%2finfo%2fImodium%2f%3fq%3dloperamide%26type%3dbrief [2020,July11]
  4. https://www.drugs.com/drug-interactions/loperamide-index.html?filter=2&generic_only=#B [2020,July11]
  5. https://www.drugs.com/cdi/loperamide-oral-solution-and-suspension.html [2020,July11]