โลหิตจางอย่างร้าย (Pernicious anemia)

บทความที่เกี่ยวข้อง
โลหิตจางอย่างร้าย

โลหิตจางอย่างร้าย(Pernicious anemia)คือ โรค/ภาวะโลหิตจาง(ซีด)ชนิดที่ สาเหตุเกิดจากลำไส้เล็กไม่สามารถดูดซึมวิตามินบี-12(บี12)ได้ ซึ่งไม่ใช่เกิดจากกินอาหารที่มีบี12ต่ำ แต่เกิดจากโรคของกระเพาะอาหาร ที่ทำให้กระเพาะอาหารไม่สามารถสร้างสารโปรตีนชนิดหนึ่งที่เรียกว่า “Intrinsic factor (IF)”ที่จะจับกับวิตามินบี12 และเป็นตัวช่วยให้ลำไส้เล็กดูดซึมวิตามินบี12ได้ดี ทั้งนี้ บี12 มีหน้าที่ช่วยไขกระดูกในการสร้างเม็ดเลือดแดง ดังนั้นเมื่อขาดวิตามินนี้ ไขกระดูกจึงสร้างเม็ดเลือดแดงตามปกติไม่ได้ จึงส่งผลให้มีเม็ดเลือดแดงในเลือด/ในร่างกายน้อยผิดปกติ ซึ่งเรียกว่า ภาวะโลหิตจาง(Anemia) และเรียกโรค/ภาวะโลหิตจางจากร่างกายดูดซึม บี12 ไม่ได้/ได้น้อยนี้ว่า “โรค/ภาวะโลหิตจางอย่างร้าย(Pernicious anemia)”

อนึ่ง Pernicious มาจากภาษาลาติน แปลว่า Death/ตาย ที่ได้ชื่อ Pernicious anemia เพราะผู้ป่วยในยุคแรกมักเสียชีวิตจากโลหิตจางชนิดนี้ จากแพทย์ไม่ทราบสาเหตุ จึงรักษาโรคนี้ไม่ได้

โรคโลหิตจางอย่างร้าย พบได้น้อย ในสหรัฐอเมริกามีรายงานพบได้ 0.1%ของประชากรทั่วไป เป็นโรคพบได้ทั้งในหญิงและในชายใกล้เคียงกัน พบทุกอายุ ตั้งแต่ทารกในครรภ์ไปจนถึงผู้สูงอายุ ทั่วไปพบสูงช่วงอายุ 30ปีขึ้นไป โดยพบสูงขึ้นในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60ปี ขึ้นไป

สาเหตุ:

สาเหตุของโรคโลหิตจางอย่างร้ายคือ ร่างกายขาดวิตามินบี12ที่ช่วยไขกระดูกสร้างเม็ดเลือดแดง จากการที่กระเพาะอาหารสร้างสารช่วยการดูดซึมบี12 ที่ชื่อ IF ไม่ได้/ได้น้อยลง

ผู้มีปัจจัยเสี่ยง:

ผู้มีปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคโลหิตจางอย่างร้าย ได้แก่ ผู้ที่เซลล์กระเพาะอาหารสร้าง IF ไม่ได้ หรือสร้างได้น้อยกว่าปกติ ได้แก่

  • มีคนในครอบครัวเป็นโรคนี้ จากมีความผิดปกติทางพันธุกรรมที่ทำให้กระเพาะอาหารสร้าง IFไม่ได้ ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีโรคโลหิตจางชนิดนี้ได้ตั้งแต่เป็นทารกในครรภ์
  • คนเชื้อชาติ ยุโรปเหนือ ที่มีพันธุกรรมที่กระเพาะอาหารสร้างIFได้น้อย
  • ผู้สูงอายุ จากเซลล์กระเพาะอาหารเสื่อม จึงสร้าง IF ได้ลดน้อยลง
  • ผู้ป่วยโรคออโตอิมมูน ที่มีภูมิคุ้มกัน/ภูมิคุ้มกันต้านทานโรค ต้านการทำงานของเซลล์กระเพาะอาหารที่สร้างIF จึงส่งผลให้ กระเพาะอาหารสร้างIFได้ลดลง
  • โรคเรื้อรังของกระเพาะอาหาร เช่น กระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรังชนิดที่ทำให้ผนังกระเพาะอาหารบางลง เชลล์สร้างIFจึงลดลง ที่เรียกว่า โรค Atrophic Gastritis
  • มีโรคประจำตัวบางโรค เช่น Addison’disease, ต่อมไทรอยด์อักเสบ, Myasthenia gravis, โรคเบาหวานชนิด1, โรคด่างขาว

อาการ:

ทั่วไป ไม่มีอาการเฉพาะของโรคโลหิตจางอย่างร้าย แต่เป็นอาการพบได้ในเกือบทุกโรค อาการของโลหิตจางอย่างร้ายแตกต่างกันมากในแต่ละผู้ป่วย บางรายไม่มีอาการชัดเจน บางรายมีอาการน้อย บางรายมีอาการมาก ทั้งนี้ขึ้นกับความรุนแรงและระยะเวลาในการขาดวิตามินบี12ของแต่ละราย

โดยทั่วไป อาการที่พบได้บ่อย ได้แก่

  • อ่อนเพลีย อ่อนแรง เป็นลมบ่อย เบื่ออาหาร
  • อาจท้องผูก หรือ ท้องเสีย เรื้อรัง
  • ผิวหนังมีสีซีด
  • ไม่มีสมาธิ สับสน อาจซึมเศร้า
  • เหนื่อยง่าย หายใจลำบาก โดยเฉพาะเมื่อใช้แรง เช่น ออกกำลังกาย
  • ลิ้นบวม แดง/ ลิ้นอักเสบบ่อย
  • วิงเวียน มักมีอาการเซ
  • ชาตามปลายมือ ปลายเท้า กล้ามเนื้อเป็นตะคริวบ่อย

การวินิจฉัย:

แพทย์วินิจฉัยโรคโลหิตจางอย่างร้าย จากประวัติอาการ ประวัติครอบครัว การตรวจร่างกาย ที่สำคัญคือการตรวจเลือดซีบีซี/CBC ดูค่าเม็ดเลือดแดง และดูรูปร่างของเม็ดเลือดแดงที่ผิดปกติ คือจะมีขนาดใหญ่กว่าปกติที่เรียกว่า “Macrocyte” รวมถึงการตรวจเลือดดูค่าสารภูมิต้านทานของสารIF และอาจมีการตรวจสืบค้นอื่นๆเพิ่มเติมตามดุลพินิจของแพทย์ เช่นการตัดชิ้นเนื้อจากกระเพาะอาหารเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยาดูปริมาณเซลล์ที่สร้างIF เป็นต้น

การรักษา:

การรักษาโรคโลหิตจางอย่างร้าย คือ การให้วิตามินบี12 ด้วยการฉีดยา เช่น การฉีดเข้ากล้ามเนื้อ อย่างต่อเนื่องตามดุลพินิจของแพทย์ ผู้ป่วยบางรายอาจต้องให้การรักษาตลอดชีวิตขึ้นกับความรุนแรงของโรค นอกจากนี้คือ การให้บริโภคอาหารที่มีวิตามินบี12สูง(อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ภาวะขาดวิตามินบี12) และร่วมกับการรักษาโรคที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง

ผลข้างเคียง:

ผลข้างเคียงสำคัญที่พบได้ในโรคโลหิตจางอย่างร้าย คือ การเปลี่ยนแปลงของเซลล์กระเพาะอาหารที่อักเสบและกลายพันธ์เป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร นอกจากนั้นคือ ผลข้างเคียงที่เกิดจากการขาดวิตามินบี12 (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ภาวะขาดวิตามินบี12)

อนึ่ง นอกจากจะช่วยในการสร้างเม็ดเลือดแดงแล้ว วิตามินบี12ยังช่วยในการทำงานของเซลล์ระบบประสาทและเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจ ดังนั้น ถ้าผู้ป่วยได้รับการรักษาล่าช้า ผู้ป่วยอาจมีอาการทางโรคสมอง เช่น ปัญหาเรื่องความจำ การทรงตัว อาการเส้นประสาทส่วนปลายอักเสบ รวมถึงเกิดโรคหัวใจ ได้

ผลข้างเคียงอีกประการคือ การมีกระเพาะอาหารอักเสบ Atrophic gastritis จะยังส่งผลให้เซลล์กระเพาะอาหารสร้างกรดลดลง ซึ่งกรดในกระเพาะอาหารจะเป็นตัวช่วยการดูดซึมของธาตุเหล็ก ดังนั้นผู้ป่วยโลหิตจางอย่างร้ายจึงมักมีโลหิตจางจากขาดธาตุเหล็กร่วมด้วย ในการรักษาแพทย์จึงอาจให้ผู้ป่วยรับประทานธาตุเหล็กเสริมอาหารร่วมด้วย

การพยากรณ์โรค:

โรคโลหิตจางอย่างร้ายเป็นโรคที่รักษาได้ แต่การรักษามักต้องต่อเนื่องตลอดชีวิตผู้ป่วย ซึ่งในผู้ป่วยที่พบแพทย์ช้าจนระบบประสาทเสียหายแล้ว อาการทางระบบประสาทมักดีขึ้นไม่เต็มร้อย และการพยากรณ์โรคจะแย่ลงมากกรณีเซลล์กระเพาะอาหารเปลี่ยนไปเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร ดังนั้นแพทย์อาจจำเป็นต้องส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหารผู้ป่วยเป็นระยะๆตามดุลพินิจของแพทย์

การป้องกัน:

ปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีป้องกันการเกิดโรคโลหิตจางอย่างร้าย

บรรณานุกรม

  1. https://www.healthline.com/health/pernicious-anemia#outlook [2018,May5]
  2. https://medlineplus.gov/ency/article/000569.htm [2018,May5]