โลหิตจางจากไขกระดูกฝ่อ (Aplastic anemia)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 8 พฤศจิกายน 2560
- Tweet
- โรคเลือด (Blood Diseases)
- โลหิตจาง เลือดจาง ซีด (Anemia)
- โลหิตจางจากขาดธาตุเหล็ก (Iron deficiency anemia)
- การปลูกถ่ายสเต็มเซลล์จากเลือด การปลูกถ่ายไขกระดูกในโรคมะเร็ง (Peripheral blood stem cell and bone marrow transplantation in cancer)
- โรคติดเชื้อ ภาวะติดเชื้อ (Infectious disease)
- อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (Adverse Drug Reaction)
โลหิตจางจากไขกระดูกฝ่อ หรือบางคนเรียกว่า โรคไขกระดูกฝ่อ (Aplastic anemia) คือโรค/ภาวะโลหิตจางที่เกิดจากการล้มเหลวในการทำงานของไขกระดูกจากภาวะขาดเนื้อเยื่อไขกระดูก หรือที่เรียกทั่วไปว่า ไขกระดูกฝ่อ(ไขกระดูกมีเซลล์สร้างเม็ดเลือดน้อยลง หรือไม่มีเลย) จนทำให้ไขกระดูกสร้างเม็ดเลือดต่างๆโดยเฉพาะเม็ดเลือดแดงได้ลดลง หรือสร้างไม่ได้เลย โรคนี้เป็นโรคพบได้น้อย แต่พบได้ทั่วโลก พบในคนเอเซียสูงกว่าในคนตะวันตก โดยมีรายงานพบในประเทศไทยได้ 4-6 รายต่อประชากรไทย 1ล้านคน ส่วนในยุโรปพบได้ 0.6-6รายต่อประชากรยุโรป 1 ล้านคน พบได้ในทุกอายุ แต่พบได้บ่อยกว่าในเด็กและในวัยหนุ่มสาว โดยพบในผู้หญิงและในผู้ชายได้เท่ากัน
สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง:
โลหิตจางจากไขกระดูกฝ่อ แพทย์อาจหาสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคไม่พบ (Idiopathic aplitic anemia) ส่วนสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงที่พบได้ เช่น ผลข้างเคียง/ อาการไม่พึงประสงค์จากยาบางชนิด(เช่น ยาเคมีบำบัด, ยากดภูมิคุ้มกัน, Chloramphenicol, ยารักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ที่ทำมาจากทองคำ ) สารเคมีต่างๆ การได้รับรังสีต่างๆ การติดเชื้อไวรัส หรือแบคทีเรีย บางชนิด โรคออโตอิมมูน
อาการ:
อาการโรคโลหิตจางจากไขกระดูกฝ่อ ที่พบบ่อย ได้แก่
- อ่อนเพลีย เหนื่อง่าย
- ซีด เลือดออกง่าย มีจุดแดง/ผื่นเลือดออก/ห้อเลือด ทั่วตัว
- หายใจลำบาก
- ติดเชื้อต่างๆได้ง่าย มีไข้บ่อยจากติดเชื้อ
การวินิจฉัยโรค:
แพทย์วินิจฉัยโรคโลหิตจางจากไขกระดูกฝ่อได้จาก ประวัติอาการ ปัจจัยเสี่ยงต่างๆ การตรวจร่างกาย การตรวจเลือด CBC การตรวจเลือดต่างๆด้วยการตรวจห้องปฏิบัติการ และการตรวจไขกระดูกด้วยการตรวจทางเซลล์วิทยา หรือด้วยการตรวจทางพยาธิวิทยา
การรักษา:
แพทย์รักษโรคโลหิตจางจากไขกระดูกฝ่อได้โดย การให้ยาต่างๆ เช่น ยากระตุ้นการทำงานของไขกระดูก (เช่น ยาGCSF) ยากดภูมิคุ้มกัน การปลูกถ่ายสะเต็มเซลล์หรือไขกระดูก และการรักษาประคับประคองตามอาการ เช่น การให้เลือดกรณีผู้ป่วยซีดมาก
การพยากรณ์โรค:
ประมาณ 10-15%ของผู้ป่วยโรคนี้ จะกลายเป็นโรคเอ็มดีเอส หรือ โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว และโดยทั่วไปถ้ารักษาโดยการใช้ยา อัตรารอดที่ 5 ปีจะอยู่ประมาณ 50% แต่ถ้ารักษาด้วยการปลูกถ่ายสะเต็มเซลล์เม็ดเลือด/ไขกระดูก อัตรารอดที่ 5 ปีของผู้ป่วยจะอยู่ที่ 50-80% ขึ้นกับอายุผู้ป่วย(ผลการรักษาไม่ดี ถ้าผู้ป่วยอายุมากกว่า 40ปี) และชนิดของสะเต็มเซลล์ใหม่จากผู้บริจาค ซึ่งผลการรรักษาจะไม่ดีถ้าสะเต็มเซลล์/ไขกระดูกใหม่ฯมีลักษณะทางภูมิคุ้มกันเข้าได้ไม่ดีกับระบบภูมิคุ้มกันของตัวผู้ป่วย
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Aplastic_anemia [2017,Oct21]
- http://emedicine.medscape.com/article/198759-overview#showall [2017,Oct21]