โลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงแตก (Hemolytic anemia)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 3 พฤศจิกายน 2560
- Tweet
- โรคเลือด (Blood Diseases)
- โลหิตจาง เลือดจาง ซีด (Anemia)
- โลหิตจางจากขาดธาตุเหล็ก (Iron deficiency anemia)
- ภาวะขาดเอนไซม์จีซิกพีดี (G6PD deficiency)
- โรคภูมิต้านตนเอง โรคออโตอิมมูน (Autoimmune disease)
- อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (Adverse Drug Reaction)
- ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ (Sepsis) ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด (Septicemia)
โลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงแตก(Hemolytic anemia)
โลหิตจางจากการสลายเม็ดเลือดแดง หรือ โลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงสลาย หรือ โลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงแตก(Hemolytic anemia)คือ ภาวะ/โรคที่เม็ดเลือดแดงในกระแสเลือดมีอายุสั้นกว่าปกติ(ปกติเม็ดเลือดแดงในกระแสเลือดจะมีอายุประมาณ 120วัน) ซึ่งการมีอายุสั้นของเม็ดเลือดแดงในกระแสเลือด จะส่งผลให้เลือดมีปริมาณเม็ดเลือดแดงลดลง จึงเกิดเป็นภาวะ/โรคโลหิตจางขึ้น
โลหิตจางจากการสลายเม็ดเลือดแดงพบได้ทั่วโลก ทุกเชื้อชาติ คิดเป็นประมาณ 5%ของโรคโลหิตจางทั้งหมด พบได้ในทุกเพศเท่าๆกัน พบในทุกวัย แต่พบได้บ่อยกว่าในวัยกลางคนและในผู้สูงอายุ
สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง:
สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงเกิดการสลายเม็ดเลือดแดง/เม็ดเลือดแดงแตก/เม็ดเลือดแดงในเลือดอายุสั้น ที่พบบ่อย ได้แก่ โรคออโตอิมมูน ผลข้างเคียง/ อาการไม่พึงประสงค์จากยาบางชนิด พิษโลหะหนัก ภาวะติดเชื้อรุนแรง(เช่น ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ) ปฏิกิริยาที่เกิดจากการได้รับเลือดต่างหมู่เลือด ม้ามทำงานมากผิดปกติ และพันธุกรรมผิดปกติ(เช่น ภาวะขาดเอนไซม์จีซิกพีดี)
อาการ:
อาการจากภาวะ/โรคโลหิตจางจากการสลายเม็ดเลือดแดง ได้แก่
- ซีด
- เหนื่อง่าย อ่อนเพลีย
- หายใจหอบเหนื่อย/ หายใจลำบาก
- ลิ้นเป็นแผล/ลิ้นอักเสบ บ่อย
- ม้ามโต
- ในบางครั้งอาจพบปัสสาวะมีสีคล้ายน้ำปลา เช่น ในภาวะขาดเอนไซม์จีซิกพีดี
การวินิจฉัย:
แพทย์วินิจฉัยภาวะ/โรคโลหิตจางจากการสลายเม็ดเลือดแดงได้จาก ประวัติทางการแพทย์ อาการ ปัจจัยเสี่ยงต่างๆ การตรวจร่างกาย การตรวจเลือดด้วยการตรวจทางห้องปฏิบัติการต่าง เช่น CBC การตรวจหาสารภูมิต้านทานของเม็ดเลือดแดงที่เรียกว่า Coombs test และอาจมีการตรวจสืบค้นอื่นๆ เพิ่มเติมตามดุลพินิจของแพทย์ เช่น การตรวจหาเอนไซม์ที่ทำลาย/สลายเม็ดเลือดแดง
การรักษา:
การรักษาภาวะ/โรคโลหิตจางจากการสลายเม็ดเลือดแดง คือ การรักษาตามสาเหตุ เช่นการให้ยากดภูมิต้านทานกรณีสาเหตุเกิดจากโรคออโตอิมมูน การผ่าตัดตัดม้ามออกไปกรณีม้ามทำงานผิดปกติ/ม้ามโตมาก และการรักษาประคับประคองตามอาการ เช่น การให้เลือดกรณีมีภาวะซีดมาก
การพยากรณ์โรค:
การพยากรณ์โรคของภาวะ/โรคโลหิตจางจากการสลายเม็ดเลือดแดง จะขึ้นกับแต่ละสาเหตุ และความรุนแรงของอาการ ถ้ามีอาการซีดรุนแรง จะส่งผลให้เกิด โรคหัวใจ โรคปอด และโรคสมอง ได้ซึ่งเมื่อเกิดโรคเหล่านี้ร่วมด้วย จะส่งผลให้การพยากรณ์โรคเลวลงอีกมาก
บรรณานุกรม
- http://emedicine.medscape.com/article/201066-overview#showall[2017,Sept16]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Hemolytic_anemia [2017, Oct14]
- https://medlineplus.gov/ency/article/000571.html [2017, Oct14]