โรคไวรัสตับอักเสบ เอ (Viral hepatitis A)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 24 กุมภาพันธ์ 2562
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ
- โรคไวรัสตับอักเสบ เอ เกิดจากอะไร? ติดต่อได้ไหม? อย่างไร?
- ใครมีปัจจัยเสี่ยงติดไวรัสตับอักเสบ เอ?
- โรคไวรัสตับอักเสบ เอ มีอาการอย่างไร?
- แพทย์วินิจฉัยโรคไวรัสตับอักเสบ เอ ได้อย่างไร?
- รักษาโรคไวรัสตับอักเสบ เอ อย่างไร?
- มีผลข้างเคียงจากโรคไวรัสตับอักเสบ เอ ไหม?
- โรคไวรัสตับอักเสบ เอ รุนแรงไหม?
- ควรพบแพทย์เมื่อไร?
- ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อเป็นโรคไวรัสตับอักเสบ เอ?
- ป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบ เอ อย่างไร?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- โรคติดเชื้อ ภาวะติดเชื้อ (Infectious disease)
- เชื้อไวรัส โรคติดเชื้อไวรัส (Viral infection)
- ไวรัสตับอักเสบ (Viral hepatitis)
- ตับอักเสบ โรคพิษต่อตับ (Toxic hepatitis หรือ Hepatotoxicity)
- โรคไวรัสตับอักเสบ บี (Viral hepatitis B)
- โรคไวรัสตับอักเสบ ซี (Viral hepatitis C)
- วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบเอ (Hepatitis A vaccine)
บทนำ
โรคไวรัสตับอักเสบ (Viral hepatitis) เป็นโรคพบบ่อยโรคหนึ่งซึ่งเกิดจากตับติดเชื้อไวรัสตับอักเสบที่มีหลายสายพันธุ์ย่อย แต่ที่พบบ่อยได้แก่ การติดเชื้อสายพันธุ์ชนิด เอ บี และซี แต่ในบทนี้จะกล่าวถึงเฉพาะ ‘การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ ชนิด เอ’ เท่านั้น ซึ่งคือ ‘โรคไวรัสตับอักเสบเอ หรือ ตับอักเสบ เอ (Viral hepatitis A หรือ Hepatitis A)’ หรือชื่อเดิมคือ “Infectious hepatitis”
ไวรัสตับอักเสบ เอ เป็นโรคพบบ่อยทั่วโลกประมาณ 1.4 ล้านคนต่อปี โดยเฉพาะในประ เทศยังไม่พัฒนาและกำลังพัฒนา เพราะยังขาดการสาธารณสุขที่ดี โดยเฉพาะในเรื่องน้ำดื่มและ น้ำใช้ เป็นโรคพบในทุกอายุ ตั้งแต่เด็กเล็กไปจนถึงผู้สูงอายุ ทั้งนี้ เพศหญิงและเพศชายมีโอกาสเกิดโรคนี้ใกล้เคียงกัน
โรคไวรัสตับอักเสบ เอ เกิดจากอะไร? ติดต่อได้ไหม? อย่างไร?
โรคไวรัสตับอักเสบ เอ เกิดจากตับติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ เอ (Hepatitis A Virus หรือ เรียกย่อว่า HAV) โดยเชื้อผ่านเข้าร่างกายทางปาก เข้าสู่กระแสเลือด/กระแสโลหิต แล้วจึงเข้าสู่ตับ เชื้อในตับจะปนเปื้อนในน้ำดีจากตับเข้าสู่ลำไส้ และปนมาในอุจจาระ เมื่อคนได้รับอุจจาระที่มีเชื้อไวรัสซึ่งปนเปื้อน และปนเปื้อนในอาหารและน้ำดื่ม จึงเกิดโรคไวรัสตับอักเสบ เอ ดังนั้น ไวรัสตับอักเสบ เอ จึงเป็นโรคติดต่อทาง “อุจจาระสู่ปาก (Fecal-Oral route)”
เชื้อไวรัสตับอักเสบ เอ สามารถมีชีวิตอยู่ได้นานเป็นเดือนในน้ำดื่มที่ไม่สะอาด น้ำทะเล น้ำเสีย และในดิน ไม่สามารถฆ่าให้ตายด้วย ผงซักฟอก สบู่ สารคลอโรฟอร์ม (Chloroform) ความแห้งแล้ง และการแช่แข็ง แต่ฆ่าให้ตายได้ด้วย แสงยูวี (UV, Ultraviolet light) หรือ แสงแดด, สารคลอรีน (Chlorine), สารฟอร์มาลิน (Formalin), และด้วยอุณหภูมิสูงตั้งแต่ 85 องศาเซลเซียส (Celsius) ขึ้นไปนานอน่างน้อย 1 นาที
เชื้อไวรัสตับอักเสบเอ นอกจากมีคนเป็นโฮสต์ (Host)แล้ว สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิดก็สามารถเป็นโฮสต์ของเชื้อนี้ได้ เช่น ลิง ค้างคาว หนู หนูผี ดังนั้นสัตว์เหล่านี้จึงสามารถเป็นพาหะโรคนี้ได้ด้วย
ไวรัสตับอักเสบ เอ เป็นโรคติดต่อได้ง่าย จึงมีการระบาดได้ง่าย โดยสามารถติดต่อได้จากการ กิน และ/หรือ ดื่ม อาหารและ/หรือน้ำดื่ม ที่ปนเปื้อนอุจจาระที่มีเชื้อนี้อยู่ ซึ่งเชื้อมักอยู่ในอาหารที่ปรุงไม่สุก สุกๆดิบๆ สด อาหารทะเล โดยเฉพาะ หอยลวก ปู ผักสด และน้ำดื่มที่ไม่สะอาด โดยเฉพาะในน้ำแข็ง แต่ก็มีรายงานที่ติดต่อได้จากการคลุกคลีใกล้ชิดผู้มีเชื้อนี้ เช่น ทางเพศสัมพันธ์ การดูแลผู้ป่วยโรคนี้ เป็นต้น
โดยทั่วไป ผู้ป่วยมักมีอาการภายหลังการได้รับเชื้อประมาณ 2 - 6 สัปดาห์ เฉลี่ยประมาณ 28 วัน (ระยะฟักตัว) ในผู้ป่วยผู้ใหญ่สามารถแพร่เชื้อ (ทางอุจจาระ) ได้ โดยเริ่มตั้งแต่ประมาณ 10 วันก่อนเริ่มมีอาการไปจนถึงประมาณ 1 สัปดาห์หลังมีตัวเหลือง ตาเหลือง (ดีซ่าน) แต่ในผู้ป่วยเด็ก การแพร่เชื้อทางอุจจาระมีไปตลอดระยะเวลาที่เด็กยังมีอาการตา/ตัวเหลือง หรืออาจนานถึง 6 เดือน (ในเด็กบางคน) อย่างไรก็ตามในช่วงระยะฟักตัว โรคอาจติดต่อทางการให้เลือดได้ (เป็นช่วงมีไวรัสในเลือด) แต่เป็นวิธีติดต่อที่เกิดได้น้อยมาก
อนึ่ง ในเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี สามารถติดไวรัสตับอักเสบเอได้โดยไม่มีอาการ แต่พบไวรัสนี้ในอุจจาระเด็กกลุ่มนี้ได้นานถึงประมาณ 6 เดือน ดังนั้นช่วงนี้เด็กกลุ่มนี้จึงเป็นพาหะโรคนี้ตลอดเวลา
ใครมีปัจจัยเสี่ยงติดไวรัสตับอักเสบ เอ?
ผู้มีปัจจัยเสี่ยงติดไวรัสตับอักเสบเอ ได้แก่
- ผู้ที่ทำงาน อาศัย ในที่แออัด การสาธารณสุขมีขีดจำกัด เช่น โรงเรียน ชุมชน ค่ายนักเรียน ค่ายอพยพ แหล่งที่ขาดแคลนน้ำสะอาด หรือขาดแคลนส้วม
- ผู้สัมผัสคลุกคลีผู้ป่วยโรคนี้ และ/หรือผู้เป็นพาหะโรคนี้ และ/หรืออาศัยอยู่ในบ้านเดียวกับผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบเอ
- ผู้เดินทาง หรือ นักท่องเที่ยวในถิ่นที่มพบโรคนี้ประจำ ได้แก่ มีการสาธารณสุขที่ยังไม่ดี โดยเฉพาะในเรื่อง ความสะอาดของน้ำกิน น้ำใช้ อาหาร ส้วม
- ผู้ที่สัมผัสคลุกคลีกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม
- ผู้มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคผิดปกติ
- ผู้ใช้ยาเสพติด
- ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก
- ผู้มีโรคที่ต้องได้รับการรักษาด้วยการให้เลือดบ่อยๆ เช่น โรคฮีโมฟิเลีย
ไวรัสตับอักเสบ เอ มีอาการอย่างไร?
โรคไวรัสตับอักเสบ เอ มักเป็นการอักเสบติดเชื้อเฉียบพลัน ไม่ค่อยเปลี่ยนเป็นอาการรุนแรง และไม่เปลี่ยนเป็นการอักเสบเรื้อรัง หรือโรคตับแข็ง และไม่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งตับ แต่มีส่วนน้อยมากในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคผิดปกติ โรคนี้อาจก่อ อาการรุนแรงจนเสียชีวิตได้จากตับวาย
ก. ผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบ เอ มักมีอาการอยู่ทั้งหมดประมาณ 8 สัปดาห์ และมักจำเป็นต้องหยุดงานในช่วงมีอาการมากเป็นระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 30 วัน
ข. ในเด็กเล็กมักไม่มีอาการ แต่เป็นผู้แพร่เชื้อ (เป็นพาหะโรค)
ค. ในเด็กโต ในผู้ใหญ่ หรือในผู้มีอาการ อาการที่พบบ่อย คือ
- มีอาการคล้ายโรคหวัดหรือไข้หวัดใหญ่ เช่น มีไข้ (มีได้ทั้งไข้สูงหรือไข้ต่ำ) ปวดศีรษะ ปวดเนื้อตัว เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง และท้องเสีย
- หลังจากนั้น 3 - 7 วัน เมื่ออาการคล้ายโรคหวัดทุเลาลง
- จะมีตัว/ตาเหลือง (ดีซ่าน)จากมีสารสีเหลือง (บิลิรูบิน หรือ Bilirubin) ในน้ำดีของตับ ท้นเข้ากระแสเลือด
- มีปัสสาวะสีเหลืองเข็มจากสารสีเหลืองเพิ่มมากในปัสสาวะ (ร่างกายกำจัดสารนี้ออกทางไต/ทาง ปัสสาวะ, ปัสสาวะจึงมีสีเหลืองเข็มเพิ่มขึ้น)
- อุจจาระอาจมีสีซีดจากขาดสารสีเหลือง (เพราะน้ำดีจะคั่งอยู่ในตับจากเซลล์ตับเสียการทำงาน จึงไม่มีน้ำดีไหลจากตับลงสู่ลำไส้ตามปกติ หรือไหลลงสู่ลำไส้ได้น้อย ซึ่งสีเหลือง/น้ำตาลของอุจจาระเกิดจากสารตัวนี้) แต่เมื่อการอักเสบของตับค่อยๆลดลง อาการตัว/ตาเหลืองจึงค่อยๆลด ลงไปด้วยตามลำดับ
- นอกจากนั้น
- อาจคลำพบมี ตับโต ม้ามโต และ/หรือ มีต่อมน้ำเหลืองด้านหลังลำคอโต คลำ ได้เจ็บเล็กน้อย
- และในขณะมี ตัวเหลือง ตาเหลือง อาจมีอาการคันได้ จากสารสีเหลืองในเลือดก่อการระคายต่อผิวหนัง
แพทย์วินิจฉัยโรคไวรัสตับอักเสบ เอ ได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยโรคไวรัสตับอักเสบ เอ ได้จาก
- การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น ประวัติอาการ ประวัติการทำงาน การเดินทาง การกินอาหาร/น้ำดื่ม
- การตรวจร่างกาย
- ตรวจเลือดซีบีซี/CBC (ดูเม็ดเลือดขาวเพื่อแยกระหว่างติดเชื้อไวรัสหรือติดเชื้อแบคทีเรีย)
- การตรวจเลือดดูการทำงานของตับ
- การตรวจเลือดดู สารภูมิต้านทานโรคไวรัสตับอักเสบชนิดต่างๆเพื่อการวินิจฉัยว่าเป็นไวรัสตับอักเสบชนิดใด และ
- อาจมีการตรวจสืบค้นอื่นๆเพิ่ม เติม ทั้งนี้ขึ้นกับอาการผู้ป่วยและดุลพินิจของแพทย์ เช่น การตรวจภาพตับด้วยอัลตราซาวด์
รักษาโรคไวรัสตับอักเสบ เอ อย่างไร?
ปัจจุบัน ยังไม่มียารักษาโรคไวรัสตับอักเสบทุกชนิด รวมทั้งชนิด เอ และไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ เพราะยาปฏิชีวนะฆ่าได้เฉพาะแบคทีเรีย ฆ่าไวรัสไม่ได้ การรักษาจึงเป็นการรักษาประคับประคองตามอาการ อย่างไรก็ตามในผู้ป่วยอาการรุนแรง แพทย์อาจให้ตัวยาภูมิคุ้มกันต้านทานโรค (Immunoglobulin หรือ Immune globulin ย่อว่า IG) ซึ่งการใช้ยาตัวนี้อยู่ในดุลพินิจของแพทย์
ทั้งนี้ การรักษาประคับประคองตามอาการที่สำคัญคือ
- พยายามพักการทำงานของตับโดยพักผ่อนให้มากๆ (จึงจำเป็นต้องหยุดงาน หยุดเรียน)
- ดื่มน้ำสะอาดให้มากกว่าปกติเพื่อขับสารสีเหลืองออกทางปัสสาวะ อย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว (เมื่อไม่มีโรคต้องจำกัดน้ำดื่ม)
- งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ เพราะเพิ่มการทำลายเซลล์ตับ
- กินอาหารอ่อน (แนะนำอ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ประเภทอาหารทางการแพทย์) มื้อละน้อยๆ แต่กินให้บ่อยขึ้น พยายามอย่าให้ร่างกายขาดอาหาร
- กินยาบรรเทาอาการต่างๆเฉพาะตามแพทย์แนะนำเท่านั้น ไม่ซื้อยากินเอง(เช่น ยาParacetamol) เพราะยาอาจเพิ่มผลข้างเคียงต่อตับทำลายเซลล์ตับเพิ่มขึ้น
- เมื่อมีอาการคันใช้ยาทาบรรเทาอาการคันภายนอก เช่น ยาคาลาไมน์โลชั่น และใช้โลชันชนิดอ่อนโยน(สำหรับเด็กอ่อน) ทาผิวกายภายหลังการอาบน้ำ
มีผลข้างเคียงจากโรคไวรัสตับอักเสบ เอ ไหม?
ผลข้างเคียงจากโรคไวรัสตับอักเสบ เอ คือ การติดเชื้อไวรัสตัวนี้ซ้ำ จึงกลับมามีอาการต่างๆได้เหมือนเดิม หลังจากอาการต่างๆหายแล้ว ซึ่งพบได้ประมาณ 10 - 20%
ประมาณน้อยกว่า 1% อาจเป็นสาเหตุให้เกิดโรคอื่นๆตามมา เช่น โรคตับอ่อนอักเสบ ภาวะซีด, ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ, ไตอักเสบ, หลอดเลือดอักเสบ, สมองอักเสบ, ไขสันหลังอักเสบ
โรคไวรัสตับอักเสบ เอ รุนแรงไหม?
ไวรัสตับอักเสบ เอ เป็นโรคไม่รุนแรง มักหายได้เสมอ และดังกล่าวแล้ว มักไม่เป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคตับแข็งและโรคมะเร็งตับ
แต่น้อยราย โรคอาจรุนแรง ซึ่งที่รุนแรงมักพบในผู้สูงอายุ และในคนสุขภาพไม่แข็งแรงอยู่ก่อนแล้ว (มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคผิดปกติ) ทั้งนี้ไวรัสตับอักเสบ เอ เป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้จากภาวะตับล้มเหลวประมาณ 0.5%
ควรพบแพทย์เมื่อไร?
ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเสมอ เมื่อ
- มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหารมาก ตัว/ตาเหลือง (ดีซ่าน) และ
- ควรต้องรีบด่วนพบแพทย์/ มาโรงพยาบาลเมื่ออาการต่างๆเลวลง เช่น
- อาเจียนมาก
- อ่อนเพลียมาก
- กินไม่ได้ และ/หรือ
- มีไข้สูง
- ควรต้องพบแพทย์/มาโรงพยาบาลฉุกเฉินเมื่อมีอาการทางสมอง เช่น
- ปวดศีรษะมาก
- คอแข็ง และ/หรือ
- แขน/ขาอ่อนแรง
- *นอกจากผู้ป่วยแล้ว ผู้ดูแลผู้ป่วยควรต้องพบแพทย์ ขอคำแนะนำในการดูแลตนเองเพราะอาจติดโรคนี้ได้ง่าย และเพื่อเรียนรู้วิธีป้องกันการแพร่เชื้อของผู้ป่วย
ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อเป็นโรคไวรัสตับอักเสบ เอ?
การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคไวรัสตับอักเสบ เอ คือ
- พักการทำงานของตับ ดังกล่าวแล้วใน ‘หัวข้อการรักษาฯ’ นอกจากนั้น คือ
- การป้องกันโรคแพร่กระจายสู่ผู้อื่น เช่น แยกอาหาร เครื่องใช้
- การรักษาสุขภาพให้แข็งแรงเพื่อช่วยให้ตับฟื้นตัวได้เร็วและได้ดี ซึ่งทั้งสองประการคือ
- การรักษา สุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)
- ล้างมือให้สะอาดบ่อยๆ โดยเฉพาะก่อนกินอาหาร และหลังเข้าห้องน้ำ
- กินอาหารสุกสะอาด ดื่มน้ำสะอาด
- รักษาความสะอาดเครื่องใช้ทุกชนิด
- แยกของใช้ส่วนตัวต่างๆ รวมทั้ง จาน ชาม ช้อน และแก้วน้ำ และ
- รักษาความสะอาดในการขับถ่าย
ป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบ เอ อย่างไร?
การป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบ เอ ที่สำคัญ คือ
- รักษา สุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)
- กินอาหารปรุงสุกอย่างทั่วถึงเสมอ ดื่มแต่น้ำสะอาดไว้ใจได้ และระมัดระวังการกินน้ำแข็ง
- ฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบเอ โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง เช่น
- ผู้ให้บริการสาธารณสุข
- คนทำงานใน ร้านอาหาร สถานพยาบาล โรงเรียนอนุบาล
- ผู้ที่ต้องดูแลผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบเอ
- เมื่อไปท่องเที่ยวในประเทศที่ยังด้อยในการสาธารณสุข
- โดยการฉีดวัคซีนจะได้ผลเมื่อฉีดแล้วอย่างน้อยประมาณ 2 สัปดาห์ และฉีดกระตุ้นครั้งที่ 2 ประ มาณ 6 เดือนถึง 1 ปีหลังเข็มแรก ซึ่งจะให้ภูมิคุ้มกันได้อย่างน้อยประมาณ 20 ปี ทั้งนี้ก่อนฉีดวัคซีน แพทย์มักตรวจเลือดดูภูมิคุ้มกันต้านทานโรคนี้ก่อน ถ้าพบมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคแล้วก็ไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีน
- อนึ่ง ผู้ที่เคยป่วยด้วยโรคนี้แล้วมักจะมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคนี้ไปจนตลอด ชีวิต
- (แนะนำอ่านราย ละเอียด วัคซีนนี้เพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบเอ)
- ในผู้ที่ต้องดูแลผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบ เอ และโดยเฉพาะมีสุขภาพไม่แข็งแรง แพทย์อาจแนะนำให้ตัวยาภูมิคุ้มกันต้านทานโรค (IG) ร่วมกับการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบเอ เมื่อไม่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคนี้มาก่อน ดังนั้นผู้ดูแลผู้ป่วยจึงควรต้องพบแพทย์เสมอเพื่อขอรับคำแนะนำดังกล่าวแล้ว
บรรณานุกรม
- Braunwald, E., Fauci, A., Kasper, D., Hausen, S., Longo, D., and Jamesson, J.(2001). Harrrison’s: Principles of internal medicine. New York. McGraw-Hill.
- Brundage, S. and Fitzpatrick, A. (2006). Hepatitis A. Am Fam Physician, 73, 2162-8.
- https://www.cdc.gov/hepatitis/hav/afaq.htm [2019,Feb2]
- https://emedicine.medscape.com/article/177484-overview#showall [2019,Feb2]
- https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/hepatitis-a [2019,Feb2]
- http://en.wikipedia.org/wiki/hepatitis_A [2019,Feb2]