โรคไขสันหลัง (Spinal cord disease)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 26 พฤษภาคม 2562
- Tweet
- บทนำ
- โรคไขสันหลังมีสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงจากอะไร?
- โรคไขสันหลังมีอาการอย่างไร?
- แพทย์วินิจฉัยโรคไขสันหลังได้อย่างไร?
- รักษาโรคไขสันหลังอย่างไร?
- โรคไขสันหลังรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงไหม?
- ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?
- มีการตรวจคัดกรองโรคไขสันหลังไหม?
- ป้องกันโรคไขสันหลังได้อย่างไร?
- บรรณานุกรม
- กายวิภาคและสรีรวิทยาระบบประสาท (Anatomy and physiology of nervous system)
- วิธีตรวจวินิจฉัยโรคระบบประสาท ตอน1:การตรวจร่างกาย (Neurological Examination)
- โปลิโอ (Poliomyelitis)
- ไขสันหลังอักเสบ (Myelitis)
- ไขสันหลังอักเสบเฉียบพลัน ประสาทไขสันหลังอักเสบเฉียบพลัน (Acute transverse myelitis)
- อาการอ่อนเปียกเฉียบพลันเหตุไขสันหลังอักเสบ (Acute flaccid myelitis: AFM)
- สาเหตุการอ่อนแรงที่พบบ่อย (Common Causes of Motor Weakness)
- กลุ่มอาการหลังเป็นโรคโปลิโอ (PPS: Post-polio syndrome)
บทนำ
โรคไขสันหลัง หรือโรคของไขสันหลัง(Spinal cord disease) คือ โรคที่เกิดจากการบาดเจ็บ เสียหาย ของเซลล์ไขสันหลังจากสาเหตุต่างๆ จึงส่งผลให้เซลล์ไขสันหลังทำงานผิด ปกติ หรือไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ หรือสูญเสียการทำงาน จึงเกิดเป็นอาการ/ภาวะผิด ปกติต่างๆ หรือเกิดเป็นโรคขึ้น
ไขสันหลัง (Spinal cord) เป็นเนื้อเยื่อส่วนหนึ่งของประสาทหรือระบบประสาทส่วนกลาง (Central nervous system ย่อว่า CNS) ที่ประกอบด้วย สมอง และไขสันหลัง โดยไขสันหลังเป็นส่วนที่ต่อมาจากสมอง เป็นเนื้อเยื่อที่อยู่ในช่องตรงกลางของกระดูกสันหลัง (Spinal canal) มีลักษณะเป็นแท่งยาว โดยมีความยาวตั้งแต่กระดูกสันหลังคอข้อแรก/ข้อที่1 (ท้ายทอย) จนมา ถึงกระดูกสันหลังเอวข้อที่ 1 ต่อกับข้อที่ 2 ในผู้ชายจะมีขนาดยาวประมาณ 45 เซนติเมตร และประมาณ 43 เซนติเมตรในผู้หญิง โดยมีขนาดกว้างในแต่ละจุดไม่เท่ากัน เฉลี่ยประมาณ 6-13 มิลลิเมตร
ไขสันหลัง มีหน้าที่ เชื่อมต่อการทำงาน รับและส่งสัญญาณต่างๆระหว่างสมองกับเส้นประสาทส่วนปลาย (Peripheral nervous system) ที่ควบคุมการทำงาน การเคลื่อนไหว และการรับรู้ความรู้สึกของเนื้อเยื่อ/อวัยวะต่างๆทั่วร่างกาย โดยไขสันหลังมีหน้าที่หลัก 3 ประการ คือ
- รับและส่งการสั่งการ (Motor information) ในการทำงานต่างๆของกล้ามเนื้อ
- รับและส่งประสาทสัมผัสรับรู้ความรู้สึกต่างๆ(Sensory information) และ
- สั่งให้เกิดปฏิกิริยาตอบสนองฉับพลันต่อสิ่งเร้า/ตัวกระตุ้น (Stimulus หรือ Stimuli) ต่าง ๆ ที่เรียกว่า รีเฟล็กซ์ (Reflex) เช่น อาการไอที่เกิดจากการระคายคอ, การหลับตาเมื่อมีสิ่งของเคลื่อนเข้ามาใกล้ตา, การจามเมื่อได้กลิ่นฉุน, หรือ การเกาเมื่อเกิดอาการคัน เป็นต้น
- อุบัติเหตุต่อไขสันหลัง เช่น อุบัติเหตุจากรถยนต์ หรือตกจากที่สูง ถูกยิง หรือถูกแทง
- และโรคมะเร็งจากอวัยวะต่างๆที่แพร่กระจายตามกระแสเลือด/โลหิตเข้าสู่กระดูกสันหลัง ต่อจากนั้นจึงลุกลามจากกระดูกสันหลังเข้าไขสันหลัง (ซึ่งจะก่อให้เกิดอาการปวดร่วมกับอัมพฤกษ์ อัมพาต ของแขน และ/หรือขา )
ส่วนโรคอื่นๆของไขสันหลัง พบได้บ้างประปราย เช่น
- ไขสันหลังอักเสบติดเชื้อ เช่นใน โรคโปลิโอ โรคหัดชนิดรุนแรง
- โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบที่ลุกลามเข้าเยื่อหุ้มสมองส่วนหุ้มไขสันหลัง)
- การอักเสบโดยไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ เช่น จากโรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเอง หรือผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนบางชนิด เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่, วัคซีนไวรัสตับอักเสบ-บี, วัคซีนหัด, วัคซีนคางทูม
- จากโรคเนื้องอกของไขสันหลัง
- และจากโรคมะเร็งแพร่กระจายเข้าน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลัง ที่พบบ่อย คือ จากโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเอแอแอล, จากโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง, และจากโรคมะเร็งสมองบางชนิด
ทั้งนี้ โรคของไขสันหลัง พบทุกเพศ และทุกวัย ตั้งแต่เด็กแรกคลอดไปจนถึงผู้สูงอายุ
โรคไขสันหลังมีสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงจากอะไร?
สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคของไขสันหลังที่พบบ่อย ได้แก่
- อุบัติเหตุ: ซึ่งมักเป็นอุบัติเหตุต่อกระดูกสันหลัง ส่งผลให้กระดูกสันหลังเคลื่อนกดไขสันหลัง เช่น การตกจากที่สูง หรืออุบัติเหตุทางรถยนต์
- การติดเชื้อ: ส่งผลให้เกิดการอักเสบของไขสันหลัง (Myelitis) เป็นโรคพบน้อย แต่เมื่อเกิดขึ้นมักเกิดจากเชื้อไวรัสชนิดที่รุนแรง เช่นในโรค โปลิโอ, โรคหัด, และโรคคางทูม
- การอักเสบที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ: เป็นโรคที่พบน้อย เช่น จากโรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเอง
- เนื้องอก: เนื้องอกของไขสันหลังพบได้ประปราย และเป็นเนื้องอกชนิดเดียวกับเนื้องอกสมอง เช่น เนื้องอกชนิด Astrocytoma, ชนิด Ependymoma
- โรคมะเร็ง: โรคมะเร็งของไขสันหลังเอง เป็นโรคที่พบน้อยมากๆ
- แต่โรคมะเร็งบางชนิด อาจแพร่กระจายเข้ามาสู่น้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลัง ซึ่งมักส่งผลให้เกิดอาการปวดหลัง และอาจมีกล้ามเนื้ออ่อนแรงโดยเฉพาะของแขนและขา โดยโรคมะเร็งทุกชนิดสามารถแพร่กระจายเข้าน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลังได้ แต่ที่พบได้บ่อย คือ จาก โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเอแอลแอล, โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง, และโรคมะเร็งจอตา
- นอกจากนั้นคือ จากโรคมะเร็งชนิดต่างๆที่แพร่กระจายมายังกระดูกสันหลังจนส่งผลให้ลุกลามเข้าไขสันหลังจนก่อให้เกิดอาการอัมพฤกษ์ อัมพาต ที่พบบ่อย คือการแพร่กระจายจาก มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก
- ผลข้างเคียงจากวัคซีนบางชนิด: ซึ่งจะส่งผลให้เกิดไขสันหลังอักเสบ เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ และวัคซีนหัด เป็นต้น ซึ่งสาเหตุนี้พบได้น้อยมากๆ มีเพียงเป็นการรายงานผู้ป่วย ดังนั้นจึงไม่ต้องกลัวเรื่องการฉีดวัคซีน เพราะประโยชน์ที่ได้รับ สูงกว่าการเสี่ยงต่อผลข้างเคียงนี้เป็นร้อยเท่า
- โรคทางพันธุกรรม: ซึ่งเป็นโรคที่พบน้อยมากๆ เช่น โรคกลุ่มอาการเหตุไขสันหลังเป็นโพรง (Syringomyelia)
โรคไขสันหลังมีอาการอย่างไร?
อาการสำคัญของโรคไขสันหลัง ได้แก่
- การมีกล้ามเนื้ออ่อนแรง (อัมพฤกษ์ อัมพาต): อัมพฤกษ์ อัมพาตจากไขสันหลังจะต่างจากที่เกิดจากสมอง กล่าวคือ ถ้าเกิดที่แขน ก็จะเกิดกับแขนทั้ง 2 ข้าง หรือถ้าเกิดกับขา ก็จะเกิดกับขาทั้ง 2 ข้าง แต่ถ้าสาเหตุเกิดจากสมอง อาการอัมพฤกษ์ อัมพาตมักเกิดเพียงซีกเดียว เช่น ทั้งแขน ขา เฉพาะซีกซ้าย หรือเฉพาะซีกขวาเพียงซีกใดซีกหนึ่ง ไม่เกิดพร้อมกันทั้งซ้ายและขวา
- นอกจากนั้น คือ
- อาการปวดหลังเรื้อรัง
- อาการกระตุกเรื้อรังของกล้ามเนื้อต่างๆ เช่น แขน ขา
- อาจร่วมกับการไม่สามารถควบคุมการขับถ่ายได้ เช่น ปัสสาวะ หรือ อุจจาระเองไม่ได้ ต้องใช้สายสวน เป็นต้น
- และบางครั้งอาจร่วมกับการมีกล้ามเนื้อแขน ขา ลีบได้
แพทย์วินิจฉัยโรคไขสันหลังได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยโรคของไขสันหลังได้จาก
- การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น ประวัติอาการต่างๆ ประวัติการเจ็บป่วยทั้งในอดีตและในปัจจุบัน ประวัติอุบัติเหตุ ประวัติการฉีดวัคซีน
- การตรวจร่างกายทั่วไป และการตรวจร่างกายทางระบบประสาท
- การตรวจภาพไขสันหลังด้วย เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และ/หรือเอมอาร์ไอ
- การตรวจน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลังทางห้องปฏิบัติการ (การเจาะน้ำไขสันหลัง) เพื่อตรวจดู
- สารผิดปกติ
- สารภูมิต้านทานเฉพาะโรคต่างๆ
- การย้อมหาเชื้อโรค และ/หรือการเพาะเชื้อโรค
- ดูเซลล์ผิดปกติต่างๆ รวมทั้งเพื่อการตรวจทางเซลล์วิทยา
- อาจมีการตัดชิ้นเนื้อจากก้อนเนื้อ หรือจากไขสันหลังตำแหน่งผิดปกติเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา
รักษาโรคไขสันหลังอย่างไร?
แนวทางการรักษาโรคไขสันหลัง คือ การรักษาตามสาเหตุ, การรักษาประคับประคองตามอาการ, และการทำกายภาพบำบัด/กายภาพฟื้นฟู
ก. การรักษาตามสาเหตุ: เช่น
- การผ่าตัด เมื่อสาเหตุเกิดจากอุบัติเหตุ
- การผ่าตัดอาจร่วมกับรังสีรักษาเมื่อสาเหตุเกิดจากเนื้องอก หรือโรคมะเร็ง
- การใช้ยาปฏิชีวนะเมื่อสาเหตุเกิดจากไขสันหลังอักเสบติดเชื้อแบคทีเรีย หรือ
- เพียงการรักษาประคับประคองตามอาการเมื่อสาเหตุเกิดจากการติดเชื้อไวรัส หรือผลข้างเคียงจากวัคซีน
ข. การรักษาประคับประคองตามอาการ: เช่น
- การใช้ยาแก้ปวด
- การใส่สายสวนปัสสาวะกรณีปัสสาวะเองไม่ได้
- การสวนอุจจาระเป็นครั้งคราวเมื่ออุจจาระเองไม่ได้
ค. การทำกายภาพบำบัด/กายภาพฟื้นฟู: กรณีมีกล้ามเนื้ออ่อนแรง อัมพฤกษ์ อัมพาต เป็นต้น
โรคไขสันหลังรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงไหม?
โรคไขสันหลัง จัดเป็นโรครุนแรง ส่งผลกระทบถึงคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยจากภาวะอัมพฤกษ์ อัมพาต ซึ่งมักส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียในระบบทางเดินหายใจ และ/หรือระบบทางเดินปัสสาวะ ซึ่งส่งผลให้เสียชีวิตได้
ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?
การดูแลตนเองที่สำคัญที่สุด คือ เมื่อมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงควรต้องรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อการวินิจฉัยหาสาเหตุ เพื่อการรักษาตั้งเริ่มแรกมีอาการ
ส่วนภายหลังเมื่อทราบแล้วว่าเป็นโรคของไขสันหลัง การดูแลตนเอง และการพบแพทย์/มาโรงพยาบาล คือ
- ปฏิบัติตามแพทย์ พยาบาลแนะนำ
- กินยา/ใช้ยาต่างๆที่แพทย์สั่งให้ถูกต้อง ไม่หยุดยาเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน
- รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อลดโอกาสติดเชื้อ โดยเฉพาะการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ และระบบทางเดินปัสสาวะ
- รักษาสุขภาพจิตเสมอ เพราะผู้ป่วยโรคนี้มักเรื้อรัง และจำเป็นต้องพึ่งพาผู้อื่นจากภาวะอัมพฤกษ์ อัมพาต
- ทำกายภาพบำบัด/กายภาพฟื้นฟูสม่ำเสมอ ตามแพทย์ พยาบาล และ/หรือนักกาย ภาพบำบัดแนะนำ
- พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ
- ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัด เมื่อ
- อาการต่างๆเลวลง หรือมีอาการผิดปกติไปจากเดิม เช่น แขนขาอ่อนแรงมากขึ้น และโดยเฉพาะเมื่อมีไข้
- มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ขึ้นผื่น ท้องผูกหรือท้องเสียต่อเนื่อง วิงเวียนศีรษะ หรือคลื่นไส้มากต่อเนื่อง
- กังวลในอาการ
มีการตรวจคัดกรองโรคไขสันหลังไหม?
ปัจจุบัน ยังไม่มีการตรวจคัดกรองเพื่อให้พบโรคของไขสันหลังตั้งแต่เริ่มเกิดขณะยังไม่มีอาการ ดังนั้นเมื่อมีอาการผิดปกติต่างๆ โดยเฉพาะเมื่อมีกล้ามเนื้ออ่อนแรง ควรต้องรีบพบแพทย์เสมอ เพื่อการรักษาแต่เนิ่นๆ เพื่อเพิ่มโอกาสกล้ามเนื้อฟื้นตัวได้เร็วขึ้น
ป้องกันโรคไขสันหลังได้อย่างไร?
จากที่กล่าวแล้วในหัวข้อ สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง โรคของไขสันหลัง เป็นโรคป้องกันได้ยาก ยกเว้น
- การฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อบางชนิดที่มีวัคซีน เช่น วัคซีนโปลิโอ และวัคซีนโรคหัด เป็นต้น
- รวมทั้งต้องระมัดระวังเพื่อป้องกันอุบัติเหตุต่างๆ เช่น อุบัติเหตุรถยนต์ หรือ การตกจากที่สูง
บรรณานุกรม
- https://emedicine.medscape.com/article/1149070-overview#showall [2019,May4]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Myelopathy [2019,May4]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Spinal_cord [2019,May4]