โรคเส้นประสาทเหตุขาดสารอาหาร (Nutritional neuropathy)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ภาวะขาดสารอาหาร เป็นภาวะที่พบได้บ่อยมากขึ้นในปัจจุบัน จากพฤติกรรมการกินอาหารที่ไม่มีประโยชน์ ซึ่งส่งผลต่อร่างกายในหลายระบบอวัยวะ เช่น ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระ บบทางเดินอาหาร ระบบต่อมไร้ท่อ และรวมถึงระบบประสาทโดยเฉพาะโรคเส้นประสาท เราจึงต้องทราบถึง ‘โรคเส้นประสาทเหตุขาดสารอาหาร (Nutritional neropathy)’ เพื่อหาทางป้อง กันไม่ให้เกิดขึ้นกับตนเองและกับคนในครอบครัว

โรคเส้นประสาทเหตุขาดสารอาหารคืออะไร?

โรคเส้นประสาทเหตุขาดสารอาหาร

โรคเส้นประสาทเหตุขาดสารอาหารคือ โรคที่มีความผิดปกติของเส้นประสาทที่มีสาเหตุจากภาวะขาดสารอาหารโดยเฉพาะวิตามินต่างๆ ส่งผลให้เกิดพยาธิสภาพของเส้นประสาททั้งแบบแกนกลางของเส้นประสาท (Axonapathy) และแบบเยื่อหุ้มปลอกประสาท (Myelin sheath)

โรคเส้นประสาทเหตุขาดสารอาหารพบบ่อยหรือไม่?

มีการศึกษารายงานว่า พบโรคเส้นประสาทเหตุขาดสารอาหารได้ 9 - 30% ของผู้ที่ติดเหล้า, ในผู้สูงอายุพบโรคนี้ได้ 4 - 15%, พบโรคนี้ได้ประมาณร 10% ของผู้ทานยารักษาวัณโรค (ยา INH/Isoniazid: ไอเอ็นเอช), และพบโรคนี้ในคนโรคอ้วนที่ผ่าตัดรักษาโรคอ้วนได้ประมาณ 16%

โดยภาพรวม โรคนี้พบบ่อยในประเทศด้อยพัฒนา เพราะมีปัญหาการขาดสารอาหารได้สูง

ใครมีโอกาส/ปัจจัยเสี่ยงเป็นโรคเส้นประสาทเหตุขาดสารอาหาร?

โรคเส้นประสาทเหตุขาดสารอาหารพบบ่อยในผู้ที่ขาดสารอาหาร เช่น

  • จากดื่มเหล้าอย่างมาก หรือ
  • มีโรคที่ก่อให้เกิดปัญหาการดูดซึมสารอาหาร เช่น ท้องเสียเรื้อรัง โรคสำไส้อักเสบ การผ่าตัดกระเพาะอาหารรักษาโรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน
  • ทานอาหารไม่ครบหมู่สารอาหาร (อาหารมีประ โยชน์ห้าหมู่)
  • ผู้ป่วยอาการหนักในห้องไอซียู (ICU: Intensive care unit)
  • ผู้ป่วยหลังการผ่าตัดช่องท้องจากสาเหตุต่างๆที่ต้องงดอาหารทางปากเป็นเวลานาน
  • ทานยาวัณโรค INH (จากผลข้างเคียงของยามีผลต่อการกินอาหาร) และ
  • ในผู้ป่วยโรคมะเร็งซึ่งมักขาดสารอาหารทั้งจากตัวโรคมะเร็งเองและจากผลข้างเคียงจากวิธีรักษา เช่น ยาเคมีบำบัด และ/หรือ การฉายรังสีรักษา

โรคเส้นประสาทเหตุขาดสารอาหารมีอาการผิดปกติอย่างไร?

อาการผิดปกติทางระบบประสาทในโรคเส้นประสาทเหตุขาดสารอาหารที่พบบ่อย คือ

  • อาการ เจ็บ/ปวด ชา อาการอ่อนแรง ของแขน ขา มือ ซึ่งโดยมากอาการต่างๆมักเกิดที่ส่วนปลายของแขน ขา เช่น นิ้ว มือ เท้า มากกว่าส่วนต้นของแขนขา เช่น ไหล่ สะโพก

นอกจากนั้น อาจมี อาการเซ ร่วมกับอาการผิดปกติจากการขาดสารอาหารนั้นๆโดยตรง ที่จะแตกต่างกันไป ซึ่งขึ้นกับแต่ละสารอาหารที่ขาด

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?

ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเสมอ เมื่ออาการผิดปกติดังกล่าวแล้ว รุนแรง และ/หรือเกิดต่อเนื่อง เช่น เจ็บ/ ปวด หรือชา หรืออาการนั้นๆส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิต

แต่ถ้ามีอาการ อ่อนแรง และ/หรือ เดินเซ ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโยเร็ว เพื่อให้การตรวจวินิจฉัยความผิดปกติที่แน่ชัดว่ามีสาเหตุจากอะไร

สารอาหารอะไรบ้างที่เป็นสาเหตุโรคเส้นประสาทเหตุขาดสารอาหาร?

สารอาหารที่เป็นสาเหตุบ่อยของโรคเส้นประสาทเหตุขาดสารอาหาร ได้แก่

1. วิตามินในกลุ่มวิตามินบี โดยเฉพาะ วิตามิน บี 1, บี 3, บี 6, บี 9 (กรดโฟลิก) และ บี 12

2. สารอาหารชนิดอื่นๆ ได้แก่ Pantothenic acid, วิตามิน อี, ฟอสเฟต (Phosphate)

3. หลายสารอาหารร่วมกัน

ลักษณะผิดปกติของโรคเส้นประสาทเหตุขาดสารอาหารแต่ละชนิดเป็นอย่างไร?

ลักษณะของผู้ป่วยโรคเส้นประสาทเหตุขาดสารอาหารแต่ละสาเหตุ มีดังนี้

1. โรคเส้นประสาทเหตุขาดสารอาหารในผู้ป่วยโรคพิษสุราเรื้อรัง: พบในผู้ป่วยที่ติดสุราเป็นเวลานาน เส้นประสาทจะถูกทำลายเนื่องจากพิษของแอลกอฮอล์/สุราเอง และการขาดวิตามินบี 1, กรดโฟลิก, และวิตามินบี 6 รวมถึงจากสารพิษในร่างกายจากที่มีภาวะตับวาย ตับจึงไม่สามารถกำจัดสารพิษเหล่านั้นออกจากร่างกายได้ ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการของโรคพิษสุราเรื้อรังร่วม กับอาการโรคตับ และร่วมกับอาการผิดปกติจากโรคเส้นประสาทดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อ อา การ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการผิดปกติของเส้นประสาทสมอง เช่น กลอกตาไปมาไม่ได้ และมีอาการทางสมอง เช่น หลงลืม ร่วมด้วย

2. ขาดวิตามินบี 1: พบในผู้ป่วยที่มีการขาดสารอาหารทั่วไป โดยมีอาการบวมได้ทั่วร่างกาย มักพบบ่อยที่เท้า, ภาวะหัวใจวาย, อาการของเส้นประสาทผิดปกติ (ดังกล่าวแล้วในหัวข้อ อาการ), และยังพบว่า ผู้ป่วยบางรายมีอาการเสียงแหบร่วมด้วย นอกจากนั้น คือ อาจรู้สึกร้อนเท้ามาก กว่ามือ กล้ามเนื้อลีบโดยเฉพาะกล้ามเนื้อเท้า ผมร่วง อ่อนเพลีย กลืนอาหารลำบาก

ผู้ที่มีโอกาสขาดวิตามินบี 1 ได้แก่

  • ผู้ป่วยมีโรคที่กระเพาะอาหาร เช่น กระเพาะอาหารอุดตัน
  • ผู้ป่วยติดเชื้อเรื้อรัง
  • ผู้ป่วยตับอ่อนอักเสบ
  • ผู้ป่วยพิษสุราเรื้อรัง
  • ผู้ป่วยอดอาหารระยะเวลานาน
  • หญิงตั้งครรภ์ที่แพ้ท้องอาเจียนรุนแรง

3. ขาดวิตามินบี 3: ผู้ป่วยจะมีอาการผิดปกติของเส้นประสาทที่เกี่ยวข้องกับการทรงตัว ท้อง เสีย ชัก มือสั่น วิงเวียนศีรษะ นอนไม่หลับ รู้สึกร้อนบริเวณเข่า ขา สะโพก ผอมลง ซีด

ผู้ที่มีโอกาสขาดวิตามินบี 3 ได้แก่

  • หญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร
  • ผู้ป่วยโรคพิษสุราเรื้อรัง
  • ผู้ป่วยขาดสารอาหารจากภาวะดูดซึมสารอาหารผิดปกติ เช่น โรคลำไส้อักเสบ

4. ขาดวิตามินบี 6: ผู้ป่วยจะมีอาการผิดปกติของเส้นประสาทส่วนปลายของแขนขา 2 ข้างซึ่งรุนแรง 2 ข้างไม่เท่ากัน หรืออาจมีอาการเพียงข้างใดข้างหนึ่ง และอาจมีอาการชักร่วมด้วย ซีด ลิ้นมีผิวเรียบไม่ขรุขระเหมือนปกติ มีปากนกกระจอก (แผลที่มุมปากทั้ง 2ข้าง) เบื่ออาหาร อาเจียน

ผู้ที่มีโอกาสขาดวิตามินบี 6 ได้แก่

  • หญิงหลังตั้งครรภ์
  • ภาวะติดเชื้อ
  • ผู้ป่วยผ่าตัดช่องท้อง
  • ผู้ป่วยทานยาวัณโรค (ยาINH)
  • ผู้ป่วยมีความผิดปกติของการดูดซึมสารอาหาร เช่น ลำไส้อักเสบ

5. ขาดกรดไฟลิก (อาจเกิดร่วมกับขาดวิตามินบี 12): ผู้ป่วยจะมีอาการสมองเสื่อม

ผู้ป่วยที่มีโอกาสขาดกรดไฟลิก ได้แก่

  • ดื่มเหล้า
  • หญิงตั้งครรภ์
  • ทานยากันชัก ฟีนัยโตอิน (Phenytoin)
  • ผู้ป่วยมีความผิดปกติของการดูดซึมสารอาหาร เช่น ลำไส้อักเสบ

6. ขาดวิตามินบี 12: อาการที่พบคือ อาการชา เดินเซ สูญเสียความรู้สึกของข้อต่อ ซีด ตามัว/ตาพร่า ประสาทหลอน สับสน อาเจียน

ผู้ที่มีโอกาสขาดวิตามินบี 12 ได้แก่

  • ผู้ป่วยตัดกระเพาะอาหาร เช่น ในการรักษาโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร
  • ผู้ป่วยตับอ่อนอักเสบ
  • ผู้ป่วยที่มีโรคของลำไส้เล็กส่วนที่เรียกว่า Ileal เช่น การอักเสบ

7. ขาดกรดแพนโทธีนิค (Pantothenic acid deficiency): ผู้ป่วยจะมีอาการรู้สึกร้อนของเท้า 2 ข้าง เดินเซ อ่อนแรง ซึม อาการทางจิต เช่น สับสน

ผู้ที่มีโอกาสขาดกรดแพนโทธีนิค คือ ผู้ที่ขาดอาหารรุนแรง เช่น ในค่ายกักกัน ในค่ายอพยพ

8. ขาดวิตามินอี: ผู้ป่วยจะมีอาการผิดปกติของไขสันหลังร่วมกับสมองส่วนการทรงตัว (Cere bellar) เสียการทำงาน เช่น อาการชา เดินเซ แขน ขา อ่อนแรง ร่วมกับอาการสมองเสื่อม ตาบอดกลางคืน

ผู้ที่มีโอกาสขาดวิตามินอี ได้แก่

  • ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของการดูดซึมสารอาหาร เช่น ลำไส้อักเสบ
  • ผู้ป่วยได้รับสารอาหารทางหลอดเลือดดำ
  • ผู้ป่วยกลุ่มอาการลำไส้สั้น (Short bowel syndrome) เช่น มีการผ่าตัดลำไส้อักเสบที่รุนแรง หรือเป็นโรคทางพันธุกรรม (พบได้น้อยมากๆๆๆ)

9. ขาดสารอาหารฟอสเฟต/ฟอสฟอรัส (Hypohosphatemia): พบในผู้ป่วยที่ได้รับสารอาหารทางหลอดเลือดดำ หรือได้รับยาบางชนิดต่อเนื่อง เช่น ยาลดกรด ยาขับปัสสาวะ โดยจะมีอาการชาลิ้น นิ้วมือ- นิ้วเท้าอ่อนแรง เดินเซ สมองเสื่อม

แพทย์วินิจฉัยโรคเส้นประสาทเหตุขาดสารอาหารได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคเส้นประสาทเหตุขาดสารอาหาร ได้จาก

  • ลักษณะทางคลินิกของผู้ป่วย(ประวัติการขาดสารอาหารร่วมกับอาการ และอาการแสดงที่บ่งชี้ว่าขาดสารอาหารที่ได้กล่าวมาข้างต้น เช่น ลิ้นเรียบ ซีด บวม ปากนกกระจอก) ร่วมกับ
  • การตรวจร่างกาย และการตรวจร่างกายทางระบบประสาท พบความผิดปกติที่เข้าได้กับโรคเส้นประสาท
  • การตรวจเลือด ที่ยืนยันว่ามีการขาดสารอาหารชนิดต่างๆ หรือพบลักษณะผิดปกติของเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว นอกจากนั้น
  • อาจมีการตรวจอื่นๆเพื่อการสืบค้นเพิ่มเติมตามอาการที่ผิดปกติและดุลพินิจของแพทย์ เช่น
    • การตรวจภาพ สมอง ไขสันหลัง หรือ เส้นประสาท ด้วยเอมอาร์ไอ

การรักษาโรคเส้นประสาทเหตุขาดสารอาหารทำอย่างไร?

การรักษาโรคเส้นประสาทเหตุขาดสารอาหาร ได้แก่

  • การให้วิตามิน หรือสารอาหารที่ขาดให้เพียงพอ(อาจโดย ให้ทางหลอดเลือดดำ การฉีดเข้ากล้าม และ/หรือการรับประทาน ทั้งนี้ขึ้นกับความรุนแรงของการขาดสารอาหารนั้นๆ) และ
  • รักษาโรคที่เป็นต้นเหตุ (เช่น รักษาลำไส้อักเสบ)

ทั้งนี้ ส่วนใหญ่ของผู้ป่วยจะตอบสนองได้ดีต่อการรักษา ภายในระยะเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ ผู้ป่วยมักจะค่อยๆดีขึ้นตามลำดับ จนหายเกือบเป็นปกติ โดยอาจมีความรู้สึกผิดปกติเล็กน้อยเหลืออยู่ได้บ้าง

ยกเว้น กรณีที่มีอาการรุนแรงและมาพบแพทย์ล่าช้า การตอบสนองต่อการรักษาได้ผลไม่ดี และอาจมีความผิดปกติหลงเหลือได้มากหลังการรักษา

โรคเส้นประสาทเหตุขาดสารอาหารก่อผลข้างเคียงอย่างไร?

ผลข้างเคียงหรือภาวะแทรกซ้อนของโรคเส้นประสาทเหตุขาดสารอาหาร ถ้ารักษาไม่ทัน เวลาอาจเสียชีวิตได้ เนื่องจากการขาดสารอาหารนั้นจะส่งผลต่อการใช้พลังงานของเซลล์ต่างๆทั่วร่างกาย รวมทั้งยังส่งผลให้เกิดความผิดปกติของเกลือแร่และสารเคมีต่างๆในเลือด ส่งผลให้เกิดการทำงานที่ผิดปกติของอวัยวะต่างๆได้มาก เช่น ระบบหัวใจและหลอดเลือด, ระบบประสาทอัตโนมัติ ที่ส่งผลต่อเนื่องทำให้เกิดความผิดปกติของการทำ งานของหัวใจ เช่น ภาวะหัวใจวาย ซึ่งทำให้ถึงตายได้

ดูแลตนเองอย่างไร?

การดูแลตนเองสำหรับผู้ป่วยโรคเส้นประสาทเหตุขาดสารอาหาร คือ

  • การทานอาหารให้ครบหมวดหมู่สารอาหาร (อาหารมีประโยชน์ห้าหมู่)
  • การพักผ่อนที่เพียงพอ
  • ไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์ทุกประเภท
  • ทาน วิตามิน สารอาหาร และ/หรือ ยา ต่างๆตามที่แพทย์แนะนำ เพื่อรักษาสาเหตุ ให้ครบถ้วน ถูกต้อง ไม่ขาดยา
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ

ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?

ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนแพทย์นัดเสมอ เมื่อ

  • ผู้ป่วยมีอาการผิดปกติมากขึ้นไปจากเดิม หรือ
  • เกิดอาการผิดปกติอาการใหม่ๆขึ้น
  • แพ้ยา แพ้สารอาหารต่างๆที่ใช้ในการรักษา และ/หรือ
  • กังวลในอาการ

ป้องกันโรคเส้นประสาทเหตุขาดสารอาหารได้อย่างไร?

การป้องกันโรคเส้นประสาทเหตุขาดสารอาหาร ทำได้โดย

  • ทานอาหารให้ครบหมู่สารอาหาร (อาหารมีประโยชน์ห้าหมู่)
  • ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • ถ้าทานยาวัณโรค ก็ต้องทานอาหารและวิตามินต่างๆตามแพทย์แนะนำให้ครบถ้วน
  • กรณีได้รับการผ่าตัดช่องท้อง หรือผ่าตัดกระเพาะอาหาร ก็ต้องได้รับสารอาหารที่เพียงพอตามที่ แพทย์ พยาบาล แนะนำ