โรคเส้นประสาท (Peripheral neuropathy)
- โดย ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า
- 6 มกราคม 2561
- Tweet
- โรคเส้นประสาทคืออะไร?
- เส้นประสาทมีกี่ชนิด?
- สาเหตุความผิดปกติหรือโรคของเส้นประสาท มีอะไรบ้าง?
- ใครมีปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดโรคเส้นประสาท
- อาการอะไรที่บอกว่าเป็นโรคเส้นประสาท?
- มีอาการอย่างไรจึงควรไปพบแพทย์?
- โรคเส้นประสาทอะไรที่พบบ่อย?
- โรคเส้นประสาทรุนแรงไหม? รักษาหายไหม?
- แพทย์วินิจฉัยโรคเส้นประสาทได้อย่างไร?
- แพทย์รักษาโรคเส้นประสาทอย่างไร?
- กายภาพบำบัดช่วยรักษาโรคได้ไหม? ถ้าได้ ทำกายภาพบำบัดด้วยตนเองอย่างไร?
- มีแนวทางป้องกันโรคเส้นประสาทไหม? อย่างไร?
- เมื่อเป็นโรคเส้นประสาทควรดูแลตนเองอย่างไร?
- เมื่อไหร่ควรพบแพทย์ก่อนนัด?
- กายวิภาคและสรีรวิทยาระบบประสาท (Anatomy and physiology of nervous system)
- ปวดหลัง: ปวดหลังจากโรคหมอนรองกระดูกสันหลัง (Back pain: Spinal disc herniation)
- โรคเส้นประสาทเหตุมะเร็ง (Neuropathy associated malignancy)
- โรคปวดเส้นประสาทใบหน้า (Trigeminal Neuralgia)
- โรคเส้นประสาทเหตุขาดสารอาหาร (Nutritional neuropathy)
- โรคซีไอดีพี โรคเส้นประสาทอักเสบเรื้อรัง (CIDP: Chronic inflammatory demyelinating polyradiculoneuropahty)
- โรคเส้นประสาทเหตุเบาหวาน (Diabetic Neuropathy)
- โรคเส้นประสาทเหตุโปรตีนผิดปกติ (Peripheral neuropathy associated with monoclonal gammopathy)
- ปวดเหตุเส้นประสาทต้นคอ (Occipital Neuralgia)
โรคเส้นประสาท คืออะไร?
หลายคนคงเคยมีอาการชา หรือมีความรู้สึกผิดปกติไปจากเดิมในบริเวณ มือ แขน ขา ใบหน้า เมื่อไปพบแพทย์ แพทย์บอกว่าเป็นปลายประสาทอักเสบ (Peripheral neuritis/เส้นประสาทอักเสบ หรือ Peripheral neuropathy/ปลายประสาทเสื่อม/ เส้นประสาทเสื่อม หรือ Peripheral nerve disorder /ปลายประสาทผิดปกติ/เส้นประสาทผิดปกติ) เส้นประสาทถูกกดทับ เป็นต้น เกิดความกลัวว่าตนเองจะเป็นอัมพาตหรือไม่ เราจึงต้องมาเรียนรู้ว่าเส้นประสาทอักเสบ คืออะไร
เส้นประสาทของเราก็เปรียบเสมือนสายไฟฟ้า กล่าวคือ การทำงานของอวัยวะต่างๆ ในร่างกายเรานั้น จะมีสมองเป็นศูนย์ควบคุมสั่งการทั้งสิ้น รวมทั้งเป็นเหมือนโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าที่สำคัญที่สุด โดยสมองส่วนต่างๆ จะมีหน้าที่แตกต่างกันไปในการสั่งการควบคุมอวัยวะต่างๆ เมื่อสมอง (Brain) สั่งการลงมาโดยคำสั่งนั้นจะวิ่งผ่านมาถึงอวัยวะต่างๆได้นั้น ต้องผ่านลงมาที่ไขสันหลัง (Spinal cord) ซึ่งก็เปรียบเสมือนสายไฟฟ้าแรงสูง หรือสายเมนหลัก เมื่อกระแสไฟฟ้าผ่านจากไขสันหลังก็จะวิ่งผ่านไปสู่เส้นประสาท ซึ่งก็เปรียบเสมือนสายไฟฟ้าในบ้านเรา ผ่านไปยังอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ก็คือ อวัยวะต่างๆของตัวเรา เมื่อไฟฟ้าครบวงจรก็มีการใช้งานได้
เส้นประสาทของเรานั้น ทำหน้าที่ทั้งควบคุมด้านกำลังของกล้ามเนื้อและความรู้สึกเจ็บปวด แสบร้อน การสั่นสะเทือน การขยับของข้อต่อต่างๆ ดังนั้น ถ้ามีความผิดปกติของเส้นประสาท เราก็จะมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง อาการชา หรือ เจ็บปวดผิดปกติได้
เส้นประสาทมีกี่ชนิด?
การแบ่งชนิดของเส้นประสาท มีหลายแบบ ในที่นี้ขอแบ่งเป็น 2 แบบ ต่อไปนี้
1. เส้นประสาทสมอง (Cranial nerve เรียกย่อว่า CN): หมายถึง เส้นประสาทที่มีส่วนต่อมาจากสมองโดยตรง ไม่ได้ผ่านมาตามไขสันหลัง มีทั้งหมด 12 คู่ซ้ายขวา ได้แก่
- คู่ที่ 1 ทำหน้าที่ดมกลิ่น
- คู่ที่ 2 การมองเห็น
- คู่ที่ 3,4,6 การกลอกตา
- คู่ที่ 5 รับความรู้สึกบริเวณใบหน้า
- คู่ที่ 7 ควบคุมกำลังกล้ามเนื้อใบหน้า
- คู่ที่ 8 เกี่ยวกับการได้ยิน การทรงตัว
- คู่ที่ 9, 10 เกี่ยวกับการกลืนอาหาร และการออกเสียง/ควบคุมสายเสียง
- คู่ที่ 11 ควบคุมกล้ามเนื้อบริเวณคอ ไหล่ และ
- คู่ที่ 12 ควบคุมกล้ามเนื้อลิ้น
2. เส้นประสาททั่วไป (Nerve): หมายถึง เส้นประสาทที่ต่อมาจากไขสันหลัง นำคำสั่งมาตามกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ของร่างกาย โดยเส้นประสาทเหล่านี้มีหลายส่วน เช่น รากประสาท (Nerve root) หมายถึง เส้นประสาทที่ออกมาจากไขสันหลังโดยตรง ต่อจากนั้นรากประสาทอาจมารวมเป็นกลุ่มของรากประสาท และต่อจากนั้นก็เป็นเส้นประสาทส่วนปลาย (Peripheral nerve) เพื่อไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหรืออวัยวะส่วนต่างๆ
สาเหตุความผิดปกติหรือโรคของเส้นประสาทมีอะไรบ้าง?
สาเหตุของความผิดปกติหรือโรคนั้นมีมากมาย เช่น
1. ความผิดปกติแต่กำเนิด ซึ่งพบได้ไม่บ่อย
2. การกดทับเส้นประสาท เช่น กดทับจากหมอนรองกระดูก (ปวดหลังจากโรคหมอนรองกระดูกสันหลัง) การนอนกดทับเส้นประสาท หรือการกดทับจากก้อนเนื้องอก
3. การติดเชื้อ เช่น เชื้อวัณโรค
4. การขาดเลือดมาเลี้ยง
5. มีโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน ภาวะไตวาย เป็นต้น
ใครมีปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดโรคเส้นประสาท?
ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคเส้นประสาท ได้แก่
1. พันธุกรรม กรณีเป็นโรคเส้นประสาทแต่กำเนิด
2. ประวัติการติดเชื้อไวรัส และการฉีดวัคซีน เช่น กรณีเป็นโรครากประสาทอักเสบแบบเฉียบพลันทั้งตัว (Guillain Barre’ syndrome: GBS, กลุ่มอาการจีบีเอส กลุ่มอาการกิลแลง-บาร์เร)
3. มีระดับน้ำตาลในเลือดที่สูง กรณีโรคเส้นประสาทที่เกิดจากโรคเบาหวาน
4. การทำงานที่ต้องใช้ข้อมือมากๆ
5. โรคเส้นประสาทบริเวณข้อมือถูกกดทับ (Carpal tunnel syndrome)
6. การฟอกเลือดรักษาโรคไต (อ่านเพิ่มเติมในบทความเรื่อง การล้างไต การบำบัดทดแทนไต)
อาการอะไรที่บอกว่าเป็นโรคเส้นประสาท?
อาการของโรคเส้นประสาทที่พบบ่อย คือ มึน ชา อ่อนแรง ในบริเวณ นิ้วมือ แขน เท้า ขา มักเป็นที่ส่วนปลายของ แขน ขา มากกว่าส่วนของสะโพก ไหล่ บางครั้งอาจมีอาการ ปวดแสบ ปวดร้อน เหมือนโดนพริก หรือคล้ายไฟไหม้ น้ำร้อนลวก หรือเหมือนมีตัวแมลงมาไต่ เป็นต้น และกรณีเป็นโรคของเส้นประสาทสมอง ก็จะสูญเสียหน้าที่ของเส้นประสาทสมองคู่นั้นๆ เช่น ปากเบี้ยว หลับตาไม่สนิท เป็นต้น
มีอาการอย่างไรจึงควรไปพบแพทย์?
ถ้าผู้ป่วยมีอาการต่างๆดังกล่าวในหัวข้อ อาการ โดยเฉพาะ เมื่อมีกล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือถ้ากังวลใจ ก็ควรมาพบแพทย์ เพราะการรักษาที่รวดเร็วก่อนที่โรคจะมีอาการรุนแรงนั้น ผู้ป่วยมีโอกาสรักษาให้หายได้ดีกว่าการมาพบแพทย์ล่าช้า และเป็นมากแล้ว
ทั้งนี้ อาการของโรคเส้นประสาทส่วนใหญ่จะเริ่มด้วยอาการชาบริเวณปลายมือ ปลายเท้า และมือ เท้า อ่อนแรงในเวลาต่อมา
โรคเส้นประสาทอะไรที่พบบ่อย?
ในที่นี้ขอยกตัวอย่างโรคเส้นประสาทที่พบบ่อย 3 โรค คือ
1. โรคเส้นประสาทจากโรคเบาหวาน
2. โรคเส้นประสาทถูกกดทับบริเวณข้อมือ
3. โรคเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 อักเสบ (โรคอัมพาตเบลล์)
1. โรคเส้นประสาทจากโรคเบาหวาน: คือ โรคเส้นประสาทที่มีสาเหตุจากโรคเบาหวาน มักพบในผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่รักษาได้ด้วยยาชนิดทานซึ่งเป็นมานานมากกว่า 10 ปี ส่วนผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อยาทานต้องใช้ยาฉีดตั้งแต่เริ่มรักษานั้น พบได้ในทุกระยะของโรคเบาหวาน ส่วนใหญ่ผู้ป่วยมีอาการชา ปลายเท้าก่อน ต่อมาอาการชาจะค่อยๆเป็นมากขึ้น ทีละเล็กทีละน้อย ค่อยๆเป็นที่นิ้วมือ มือ ลักษณะอาการชาคล้ายกับการใส่ถุงมือ ถุงเท้า นอกจากอาการชา อาจพบปัญหาการทรงตัวหรือเดินในที่มืดลำบาก เพราะผู้ป่วยจะไม่รู้สึกว่านิ้วเท้า หรือเท้านั้นสัมผัสพื้นหรือไม่ จึงส่งผลให้เดินลำบาก ทรงตัวยาก และล้มง่าย
โรคเส้นประสาทจากเบาหวานนั้น พบได้บ่อยในผู้ป่วยที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ไม่ดี ส่งผลให้มีของเสียคั่งในเลือด และของเสียดังกล่าวจะไปทำลายเส้นประสาทให้อักเสบและสูญเสียหน้าที่
การรักษาที่สำคัญ คือ การควบคุมระดับน้ำตาลให้ได้ดี เพราะถ้าไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ นอกจากอาการของเส้นประสาทจะเป็นมากขึ้นแล้ว ของเสียดังกล่าวจะไปทำลายหลอดเลือด ที่ไต (เกิดโรคไตเรื้อรัง) ที่จอประสาทตา (เกิดโรคเบาหวานขึ้นตา) ที่หลอดเลือดสมอง (เกิดโรคหลอดเลือดสมอง) และที่หลอดเลือดหัวใจ (เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ) ได้อีกด้วย
2. โรคเส้นประสาทถูกกดทับบริเวณข้อมือ (Carpal tunnel syndrome): พบบ่อยในผู้หญิงวัยกลางคนขึ้นไป โดยเฉพาะกลุ่มแม่บ้าน แม่ค้า เพราะมีการใช้มือ ข้อมือบ่อยกว่ากลุ่มอื่นๆ เช่น การทำกับข้าว งานบ้าน ซักผ้า บิดผ้า เป็นต้น การเคลื่อนไหวบริเวณข้อมือบ่อยๆ จึงส่งผลให้พังผืดบริเวณข้อมือหนาตัวขึ้น การหนาตัวขึ้นของพังผืดก่อให้เกิดการกดทับของเส้นประสาทส่วนปลายที่มาเลี้ยงบริเวณนิ้วมือ 3 นิ้วครึ่ง คือ นิ้วหัวแม่มือ นิ้วชี้ นิ้วกลางและนิ้วนางครึ่งหนึ่ง (ด้านนิ้วกลาง) ผู้ป่วยจะมีอาการชาบริเวณดังกล่าว ในระยะแรกของโรคอาการจะเป็นมากช่วงกลางคืนขณะนอน หลังตื่นนอนตอนเช้า และเวลาใช้มือทำงานหนัก ต่อมาอาการจะเป็นง่ายขึ้น ทำงานเพียงเล็กน้อยก็มีอาการ และต่อมาเป็นตลอดเวลา มีกล้ามเนื้อบริเวณฝ่ามือลีบลงด้วย ส่งผลให้มีอาการอ่อนแรงของนิ้วมือ หยิบจับของไม่แน่น และมีอาการปวดร่วมด้วยในเวลาต่อมา
การรักษานั้นขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ ระยะแรกของโรค อาการไม่รุนแรง การทานยาขับปัสสาวะ ยาลดอาการบวมก็ควบคุมอาการได้ แต่ถ้าเป็นรุนแรงขึ้น อาจต้องฉีดยาสเตียรอยด์เข้าบริเวณพังผืดที่ข้อมือ ถ้าเป็นรุนแรงมาก แพทยือาจพิจารณาผ่าตัดคลายพังผืดออก
3. เส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 อักเสบ (Bell’s palsy): เป็นโรคเส้นประสาทสมองที่พบบ่อยที่สุดและผู้ป่วยจะกลัวและกังวลใจว่าจะเป็นอัมพาตหรือไม่ ผู้ป่วยจะมีอาการหลับตาไม่สนิท อมน้ำ บ้วนน้ำไม่ได้ เพราะมีการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อใบหน้าบริเวณหน้าผาก รอบดวงตาและมุมปาก บางรายก่อนที่จะมีอาการดังกล่าว ผู้ป่วยมีอาการปวดบริเวณหน้าหู หลังหูมาก่อน 2-3 วัน บางรายมีตุ่มน้ำใสขึ้นบริเวณช่องหูก่อนจะมีอาการ โดยโรคนี้จะต้องไม่มีอาการผิดปกติอื่นๆนอกเหนือจากที่กล่าวแล้วร่วมด้วย
การรักษาที่สำคัญที่สุด คือ
- การทานยาสเตียรอยด์ขนาดสูง นาน 10-14 วัน
- การป้องกันไม่ให้น้ำเข้าตา และ
- หมั่นออกกำลังกายกล้ามเนื้อใบหน้า โดยการหลับตา ยิงฟัน ยิ้ม ทำปากจู๋บ่อยๆ อาการส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 80 (80%) จะดีขึ้นมาก อาการจะเริ่มดีขึ้นในระยะเวลาประมาณ 2 สัปดาห์หลังเกิดอาการ และโดยทั่วไปจะกลับเป็นปกติภายใน 3-6 เดือน โรคนี้ไม่เกี่ยวกับการเป็นอัมพาตแต่อย่างใด
คำแนะนำ: เมื่อท่านทราบถึงอาการผิดปกติของเส้นประสาทแล้ว เมื่อท่านมีความผิดปกติดังกล่าวเกิดขึ้น จึงควรรีบมาพบแพทย์ทันที อย่าปล่อยให้อาการเป็นมาก เพราะผลการรักษาโรคทางระบบประสาทจะได้ผลดีหรือไม่นั้น ความสำคัญคือ การมาพบแพทย์เร็วหรือช้า ถ้ามาช้าโอกาสที่จะหายดีก็ลดน้อยลงไป
โรคเส้นประสาทรุนแรงไหม? รักษาหายไหม?
โรคเส้นประสาท มีความรุนแรงหลายระดับ ขึ้นอยู่กับสาเหตุและระยะเวลาที่เป็นมาว่า นานหรือไม่นาน แล้วได้รับการรักษาได้เหมาะสม ถูกต้องหรือไม่ โดยส่วนใหญ่แล้ว ผลการรักษาโรคเส้นประสาทนั้นได้ผลดี ยกเว้นโรคที่เป็นมาแต่กำเนิดซึ่งส่วนใหญ่จะรักษาไม่หาย เพื่อให้ง่ายต่อการเข้าใจ แบ่งผลการรักษาเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
1.กลุ่มที่ตอบสนองต่อการรักษาดีมาก หายเกือบเป็นปกติ เช่น โรคเส้นประสาทที่เกิดจากการกดทับ ได้แก่ เส้นประสาทบริเวณข้อมือ เส้นประสาทบริเวณเอว โรคเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 อักเสบ (โรคอัมพาตเบลล์) โรครากประสาทอักเสบแบบเฉียบพลันทั้งตัว (Guillain Barre’ syndrome: GBS/ โรคจีบีเอส ) และโรคเส้นประสาทอักเสบเรื้อรัง (Chronic inflammatory demyelinating polyneuropathy : CIDP)
2.กลุ่มที่ตอบสนองต่อการรักษาดี แต่ไม่หาย ได้แก่ โรคเส้นประสาทที่เกิดจากโรคเบาหวาน ถ้าควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดี อาการก็จะดีขึ้นแต่ไม่หายเป็นปกติ
3. กลุ่มที่ตอบสนองต่อการรักษาไม่ดีหรือไม่ตอบสนองต่อการรักษา ส่วนใหญ่คือกลุ่มโรคที่เป็นมาแต่กำเนิด ซึ่งพบไม่บ่อย
แพทย์วินิจฉัยโรคเส้นประสาทได้อย่างไร?
การวินิจฉัยโรคเส้นประสาท ประกอบด้วยการ สอบถามประวัติอาการที่ผิดปกติ เช่น อาการชาปลายมือ ปลายเท้า อาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง กล้ามเนื้อลีบบริเวณมือ ตรวจร่างกายเพื่อยืนยันความผิดปกติจากการสอบถามประวัติ ซึ่งตรวจพบการลดลงของรีเฟล็กซ์ (การที่แพทย์ใช้ค้อนยางเคาะที่เอ็นของกล้ามเนื้อบริเวณเข่า ส้นเท้า ปลายมือ ข้อศอก) ถ้าข้อมูลจากการประวัติอาการและตรวจร่างกายเพียงพอ ก็สามารถวินิจฉัยได้เลย ไม่จำเป็นต้องส่งตรวจเลือดหรืออื่นๆเพิ่มเติม แต่ถ้าข้อมูลไม่เพียงพอ แพทย์จะพิจารณาส่งตรวจเลือดและอื่นๆที่จำเป็นเพิ่มเติม การตรวจที่จำเพาะในการบอกว่ามีความผิดปกติที่เส้นประสาทหรือไม่ คือ การตรวจทางกระแสไฟฟ้าของเส้นประสาท (Electrodiagnosis) ซึ่งแพทย์จะพิจารณาส่งตรวจเมื่อมีความจำเป็นเท่านั้น ไม่ต้องส่งตรวจทุกราย
แพทย์รักษาโรคเส้นประสาทอย่างไร?
การรักษาโรคเส้นประสาทนั้นประกอบด้วย 2 วิธีหลัก คือ การรักษาจำเพาะ และการรักษาตามอาการร่วมกับการทำกายภาพบำบัด เพื่อเป็นการฟื้นฟูสภาพและป้องกันภาวะแทรกซ้อน เช่น ข้อยึดติด
กายภาพำบัดช่วยรักษาโรคได้ไหม? ถ้าได้ ทำกายภาพบำบัดด้วยตนเองอย่างไร?
การทำกายภาพบำบัดเป็นการรักษาที่มีประโยชน์ จำเป็นในทุกโรคทุกสาเหตุของเส้นประสาทที่ผิดปกติ วัตถุประสงค์ของการทำกายภาพบำบัด คือ
1. การป้องกันภาวะแทรกซ้อน: เช่น ข้อยึดติด และการลีบของกล้ามเนื้อ
2. การฟื้นฟูสภาพ: โดยทั่วไปแล้วการทำกายภาพส่วนใหญ่สามารถทำได้ด้วยตนเอง หรือญาติเป็นผู้ช่วยทำ โดยแพทย์และนักกายภาพบำบัดจะแนะนำวิธีการทำกายภาพบำบัดเพื่อไปทำที่บ้าน (Home programme) การทำกายภาพที่ดี ควรทำให้สม่ำเสมอทุกวัน ครั้งละ 30-60 นาที ช่วงเช้า และเย็น โดยเน้นการสร้างกำลังของกล้ามเนื้อและป้องกันข้อยึดติด คือการเคลื่อนไหวทุกข้อต่อของร่างกาย โดยเฉพาะส่วนที่อ่อนแรงหรือชา ควรหลีกเลี่ยงการประคบร้อนด้วยตนเองในกรณีที่มีอาการชา เพราะบางครั้งผู้ป่วยจะไม่รู้เลยว่าสิ่งที่นำมาประคบนั้นมีความร้อนมากน้อยเพียงใด อาจทำให้เกิดแผลจากการถูกของร้อนมากๆได้
มีแนวทางป้องกันโรคเส้นประสาทไหม? อย่างไร?
วิธีป้องกันไม่ให้เกิดโรคเส้นประสาท คือ การปฏิบัติตัวที่เหมาะสมในการทำกิจกรรมต่างๆ เช่น การไม่นอนทับมือหรือแขน การนั่งเท้ามือ หรือข้อศอกเป็นเวลานานๆ เพราะอาจก่อให้เกิดเส้นประสาทถูกกดทับได้ การใช้มือหรือข้อมือในการทำงานต่างๆอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน โดยไม่หยุดพักเลย และถ้ามีโรคเบาหวานต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ดีตลอด
เมื่อเป็นโรคเส้นประสาทควรดูแลตนเองอย่างไร?
การดูแลตนเองที่เหมาะสมเมื่อเป็นโรคเส้นประสาท คือ การดูแลรักษาตามที่แพทย์ พยาบาล ผู้ให้การดูแลรักษาแนะนำ อย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ ร่วมกับการทำกายภาพบำบัด สิ่งที่ไม่ควรทำคือ เมื่ออาการดีขึ้นแล้วไม่รับการรักษาต่อเนื่อง และปัญหาที่พบบ่อย คือ การไม่พบแพทย์แต่ใช้วิธีซื้อยาทานเอง รวมทั้งเมื่อการรักษาไม่ดีขึ้นก็เลยหยุดการรักษาเองหรือเปลี่ยนที่รักษา โดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์ เพราะทำให้ไม่ได้มีการส่งต่อข้อมูลการรักษา และขาดการรักษาที่ต่อเนื่อง
เมื่อไหร่ควรพบแพทย์ก่อนนัด?
โดยทั่วไปการพบแพทย์ก่อนนัดสามารถทำได้ ถ้าผู้ป่วยมีอาการผิดปกติมากขึ้น ยาหมดก่อนนัด หรือทำยาหาย หรือมีข้อสงสัยเกี่ยวกับอาการ หรือเกี่ยวกับยาที่ทาน หรือมีอาการผิดปกติใหม่ๆเกิดขึ้น ทั้งที่อาจเกี่ยวหรือไม่เกี่ยวกับโรคที่เป็นอยู่ก็ได้
Updated 2017,DEC16