โรคเรื้อน (Leprosy)
- โดย แพทย์หญิง สลิล ศิริอุดมภาส
- 25 กันยายน 2554
- Tweet
- บทนำ
- โรคเรื้อนมีสาเหตุจากอะไร?
- โรคเรื้อนติดต่ออย่างไร?
- โรคเรื้อนก่อให้เกิดโรคได้อย่างไร?
- โรคเรื้อนมีอาการอย่างไร?
- ผลข้างเคียงจากโรคเรื้อนมีอะไรบ้าง? โรคเรื้อนรุนแรงไหม?
- แพทย์วินิจฉัยโรคเรื้อนได้อย่างไร?
- มีแนวทางรักษาโรคเรื้อนอย่างไร?
- ดูแลตนเองและป้องกันโรคเรื้อนได้อย่างไร?
- ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?
- บรรณานุกรม
- โรคติดเชื้อ ภาวะติดเชื้อ (Infectious disease)
- แบคทีเรีย: โรคจากแบคทีเรีย (Bacterial infection)
- โรคผิวหนัง (Skin disorder)
บทนำ
โรคเรื้อน (Leprosy) เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง โดยทำให้เกิดโรคที่ผิวหนังและ ที่เส้นประสาทส่วนปลายเป็นหลัก โรคมีลักษณะเป็นไปอย่างช้าๆ ถ้าปล่อยไว้โดยไม่ได้รับการรักษา ในที่สุดจะเกิดความพิการที่ มือ เท้า ใบหน้า และใบหู ดูเป็นที่น่ารังเกียจแก่คนทั่วไป ทำให้ไม่มีคนกล้าเข้าใกล้ เหตุเพราะอาจกลัวติดโรคหรือเกิดจากความเชื่อเก่าๆที่ว่า เกิดจากประพฤติตนไม่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม ขัดต่อข้อห้ามทางศาสนาหรือประเพณีต่างๆ ซึ่งเป็นเช่นนี้เกือบทั่วโลกและเป็นมานานแล้ว ทั้งที่จริงโรคนี้ติดต่อกันได้ยาก มียารักษาให้หายก่อนที่จะเกิดความพิการตามมา และมีโอกาสเสียชีวิตจากโรคนี้น้อยมาก
โรคเรื้อนมีสาเหตุจากอะไร?
โรคเรื้อนเกิดจากเชื้อแบคทีเรียชื่อ ไมโคแบคทีเรียม เลปรา (Mycobacterium leprae) ซึ่งเป็นแบคทีเรียอยู่ในกลุ่มเดียวกับแบคทีเรียที่ทำให้เกิดวัณโรค (ชื่อ ไมโครแบคทีเรียม ทูเบอร์ คูโลสิส/Mycobacterium tuberculosis) โรคนี้ได้ถูกบันทึกไว้ครั้งแรกในประเทศอินเดีย ตั้งแต่ 600 ปีก่อนคริสตศักราช นอกจากในคนแล้วยังพบเชื้อชนิดนี้อยู่ในตัวนิ่ม (ตัวนางอาย) ได้อีกด้วย
โรคเรื้อนเป็นโรคพบได้บ่อยในประเทศกำลังพัฒนาและประเทศด้อยพัฒนา ประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างประเทศในยุโรปและสหรัฐอเมริกาแทบไม่พบมีรายงานโรคนี้ ยกเว้นเฉพาะในกลุ่มผู้อพยพและผู้เดินทางมาจากถิ่นอื่น มีรายงานในช่วงระหว่าง พ.ศ. 2547 - 2553 พบอัตราเกิดโรคนี้ลดลงทั่วโลก โดยในปี พ.ศ 2553 พบรายงานโรคนี้ 228,474 ราย โดย 95% ของโรค พบในประเทศแถบอัฟริกาและเอเชียแถบ บังคลาเทศ อินเดีย ศรีลังกา และฟิลิปปีนส์
สำหรับในประเทศไทย ปัจจุบันอัตราความชุกของโรคเรื้อนมีน้อยกว่า 1 คนต่อประชากร 1 หมื่นคน ซึ่งไม่ถือว่าเป็นปัญหาทางสาธารณสุขตามที่องค์การอนามัยโลกได้กำหนดไว้ โดยข้อมูลจากสถาบันราชประชาสมาสัย กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เมื่อมีนาคม 2554 พบว่า อัตราความชุกของโรคเมื่อ 31 ธันวาคม 2553 ลดเหลือเพียง 0.11 ต่อประชากร 1 หมื่นคน
โรคเรื้อนติดต่ออย่างไร?
วิธีการติดต่อของโรคเรื้อนยังไม่ทราบแน่ชัด จากหลักฐานข้อมูลทางการแพทย์สันนิษฐานว่าอาจติดต่อกันโดย
- ทางน้ำมูก น้ำลาย เสมหะ พบว่าผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้แล้วไม่ได้รับการรักษา ตรวจพบ มีเชื้ออยู่ในน้ำมูกมากถึง 10,000,000 ตัว นอกจากนี้ในพื้นที่ที่มีความชุกของโรคนี้สูง ยังตรวจพบ ว่ามีเชื้อชนิดนี้อยู่ในจมูกของคนที่ไม่มีอาการของโรคด้วย แต่ในปริมาณเพียงเล็กน้อย
- ติดเชื้อมาจากดิน เพราะโรคนี้พบในเขตชนบท ในประเทศอินเดียเองก็ไม่พบโรคนี้ในเขตเมืองที่เจริญแล้ว ทั้งนี้เพราะพบว่ามีเชื้อโรคอยู่ในดินในพื้นที่ที่มีความชุกของโรคสูง รวมทั้งโรคเรื้อนที่พบในเด็กมักมีอาการแสดงปรากฏบริเวณก้นและต้นขา ซึ่งเป็นบริเวณที่สัมผัสกับดินบ่อยๆในเด็ก
- ติดมาจากแมลง เนื่องจากมีหลักฐานว่าในบริเวณที่มีคนเป็นโรคเรื้อน พบเชื้อโรคอยู่ในยุงและในตัวเรือด และการทดลองในห้องปฏิบัติการก็พบว่า หนูสามารถติดเชื้อจากยุงได้ และแทบไม่พบว่าการสัมผัสผ่านผิวหนังของคนที่เป็นโรคนี้ทำให้ติดเชื้อ
อนึ่ง ในประเทศที่มีความชุกของโรคเรื้อนสูง พบว่าการอาศัยอยู่ในบ้านเดียวกันกับคนที่มีโรคเรื้อนอยู่จะทำให้มีโอกาสเป็นโรคประมาณ 10% และในประเทศซึ่งมีความชุกของโรคเบาบาง การอาศัยอยู่ใกล้ชิดกันจะมีโอกาสติดโรคเพียง 1% เท่านั้น นอกจากนั้นไม่พบว่าแพทย์ พยาบาล และผู้ที่ต้องดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อนมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเรื้อน
โรคเรื้อนก่อให้เกิดโรคได้อย่างไร?
โรคเรื้อนก่อให้เกิดโรคได้โดย เชื้อโรคเมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วจะเข้าไปอาศัยอยู่ในเซลล์เม็ดเลือดขาวที่มีหน้าที่เก็บกินเชื้อโรค และแบ่งตัวเพิ่มจำนวนต่อๆไปได้ และเชื้อโรคจะเข้าไปเกาะเซลล์พี่เลี้ยงเส้นประสาทชนิดชวานน์เซลล์ (Schwann cell) ทำให้เซลล์เหล่านี้ตาย จึงส่งผลให้เส้นประสาทเสียหายตามมามากขึ้น ในขณะเดียวกัน ร่างกายก็ส่งเม็ดเลือดขาวชนิดต่างๆเข้ามาทำลายและเก็บกินเชื้อโรค เมื่อมีเซลล์เข้ามาที่เส้นประสาทมากๆ จึงทำให้เส้นประสาทดูมีขนาดใหญ่ขึ้น ทั้งๆที่ได้สูญเสียการทำงานไปแล้ว
ระยะฟักตัวของโรคเรื้อนคือตั้งแต่รับเชื้อจนกระทั่งแสดงอาการ ใช้เวลาตั้งแต่ 6 เดือนถึง 40 ปี โดยเฉลี่ยประมาณ 5 - 7 ปี
ผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อน แสดงอาการได้หลายแบบขึ้นกับระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของแต่ละบุคคลที่จะตอบสนองกับเชื้อ ซึ่งได้แก่
- ในคนที่ระบบคุ้มกันต้านทานโรคชนิดตอบสนองต่อเชื้อเต็มที่ จะแสดงอาการชนิดก่อให้เกิดเป็นปุ่มเนื้อแบบที่เรียกว่า tuberculoid leprosy ซึ่งจะทำให้เกิดรอยโรคที่ผิวหนังและเส้นประสาทจำนวนเล็กน้อย และจำนวนเชื้อโรคนี้ที่ผิวหนังก็มีไม่มาก
- ในคนที่ระบบคุ้มกันต้านทานโรคชนิดตอบสนองกับเชื้อเพียงเล็กน้อย จะแสดงอาการเป็นปุ่มหรือก้อนเนื้อชนิดเฉพาะของโรคเรื้อนแบบที่เรียกว่า Lepromatous leprosy ซึ่งผู้ ป่วยจะมีปุ่มหรือก้อนเนื้อของโรคนี้เกิดขึ้นที่ผิวหนังและเส้นประสาทเป็นจำนวนมาก
- อาการแสดงที่ก้ำกึ่งระหว่างผู้ป่วย 2 กลุ่มดังกล่าว ซึ่งแบ่งออกได้เป็นอีก 3 กลุ่ม เรียงตามลำดับความรุนแรงจากน้อยไปหามาก คือ
- กลุ่มที่โรคก้ำกึ่งแต่ค่อนไปทางปุ่มเนื้อ (Borderline tuberculoid leprosy)
- กลุ่มโรคกำกึ่งแต่อยู่ตรงกลางระหว่างปุ่มเนื้อกับก้อนเนื้อเฉพาะของโรคเรื้อน (Mid borderline leprosy)
- และกลุ่มโรคกำกึ่งแต่ค่อนไปทางก้อนเนื้อชนิดเฉพาะของโรคเรื้อน (Borderline lepromatous leprosy)
อนึ่ง ในบางคนที่รับเชื้อ อาจไม่มีการพัฒนาเป็นโรคเรื้อน เพราะมีระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายที่ทำงานได้ดีอย่างเหมาะสม จึงสามารถกำจัดเชื้อออกไปจากร่างกายได้
โรคเรื้อนมีอาการอย่างไร?
อาการของโรคเรื้อนแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
- กลุ่มปุ่มหรือก้อนเนื้อชนิดเฉพาะของโรคเรื้อนแบบที่เรียกว่า Lepromatous leprosy ซึ่งเป็นกลุ่มโรครุนแรงกว่าอีก 2 กลุ่ม โดยเริ่มต้นจะเป็นผื่นแบนเรียบสีขาว รูปกลม หรือ รูปวงรี ขอบเรียบ ผื่นไม่คัน แต่อาจจะชาไม่มีความรู้สึก บางครั้งขอบของผื่นจะนูนแดง จำนวนผื่นจะมีไม่มาก อาจแค่ 2 - 3 ผื่น เชื้อโรคจะชอบบริเวณที่อุณหภูมิเย็นๆ ดังนั้นจึงมักพบผื่นที่หน้า ก้น ท้องแขน และจะไม่พบผื่นที่บริเวณรักแร้ หนังศีรษะ เมื่อโรคดำเนินไปเรื่อยๆ เชื้อโรคจะค่อยๆทำ ลายผิวหนังบริเวณนั้นรวมทั้งต่อมเหงื่อและเส้นขน ทำให้ผิวหนังบริเวณนั้นไม่มีขนและแห้ง เมื่อเชื้อโรคเข้าสู่เส้นประสาทส่วนปลายก็จะทำให้เส้นประสาทมีขนาดใหญ่ขึ้นจนคลำได้เป็นลำ แต่เส้นประสาทเหล่านี้เป็นเส้นประสาทที่สูญเสียการทำงานปกติไปแล้ว จึงทำให้มีอาการชาในบริเวณที่เส้นประสาทนั้นไปเลี้ยง กล้ามเนื้อส่วนที่ถูกเลี้ยงด้วยเส้นประสาทที่ถูกทำลายก็จะฝ่อลีบไป ซึ่งส่วนใหญ่เกิดที่มือ ขา และเท้า ทำให้มือ เท้าหงิกงอ พิการ
- กลุ่มปุ่มเนื้อแบบที่เรียกว่า Tuberculoid leprosy ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีผื่นจำนวนมากและเป็นเท่าๆกันทั้งร่างกายซีกซ้ายและขวา ผื่นจะเป็นแบบยกนูนขึ้น เป็นตุ่ม ขอบเขตไม่ชัดเจน ซึ่งไม่เหมือนกับผื่นในกลุ่มแรกหรืออาจไม่มีผื่น แต่เชื้อโรคจะอยู่แทรกกระจายไปทั่วผิวหนังและทำให้ผิวหนังมีการหนาตัวขึ้นแทนก็ได้ ซึ่งถ้าเป็นที่ใบหน้า ผู้ป่วยจะมีหน้าตาคล้ายสิงโต(leonine face) ซึ่งมักพบในประเทศเม็กซิโกและแถบทะเลแคริบเบียน โดยในระยะหลังของโรค ขนคิ้ว ขนตาจะร่วงจนหมด จำนวนเส้นประสาทส่วนปลายที่ใหญ่ขึ้นในผู้ป่วยกลุ่มนี้ก็มีมากกว่าและเป็นเท่าๆกันทั้งร่างกายซีกซ้ายและขวา ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะตรวจพบมีเชื้อโรคเป็นจำนวนมาก ทั้งที่ผิวหนัง ในเลือด รวมทั้งอวัยวะต่างๆ ยกเว้นที่ปอดกับสมอง แต่เชื้อจะไม่ทำลายอวัยวะภายในอื่นๆเหมือนกับที่ผิวหนังและที่เส้นประสาทส่วนปลาย และที่สำคัญ ผู้ป่วยจะไม่มีไข้เหมือนโรคติดเชื้ออื่นๆที่เข้าสู่กระแสเลือด
- กลุ่มอาการก้ำกึ่ง ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มดังได้กล่าวแล้ว โดยผู้ป่วยกลุ่มนี้ก็จะมีอาการที่อยู่ก้ำกึ่งระหว่าง 2 กลุ่มข้างบน
อนึ่ง ผู้ป่วยแต่ละคนเริ่มต้นอาการอาจจะอยู่ในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งระหว่างกลุ่มปุ่มเนื้อ หรือ กลุ่มอาการก้ำกึ่ง แต่เมื่อมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคเปลี่ยนไป โรคจะเปลี่ยนจากกลุ่มหนึ่งไปเป็นอีกกลุ่มได้ ยกเว้นผู้ป่วยที่เริ่มต้นจากอาการกลุ่มก้อนเนื้อชนิดเฉพาะของโรคเรื้อน Lepromatous leprosy) อาการจะไม่เปลี่ยนแปลงไปอยู่ในทั้งสองกลุ่มที่โรครุนแรงน้อยกว่า
อาการทั้งหมดที่กล่าวแล้วนี้เกิดจากการที่เชื้อเข้าไปทำลายโดยตรงต่อเนื้อเยื่อต่างๆ แต่ยังมีอาการบางอย่างที่เกิดจากปฏิกิริยาของระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายที่พยายามจะกำจัดเชื้อโรค ซึ่งทำให้เกิดอาการที่จำเพาะและแบ่งออกได้เป็นอึก 3 อาการ คือ
- อาการชนิดที่ 1 (Type 1 lepra reaction) มักพบในผู้ป่วยกลุ่มที่มีอาการก้ำกึ่ง แต่กลุ่มก้อนเนื้อชนิดเฉพาะของโรคเรื้อน lepromatous leprosy จะไม่พบอาการแบบนี้ อาการคือ ผื่นที่ผู้ป่วยมีอยู่แล้วจะเกิดการอักเสบ มีผื่นเกิดขึ้นมาใหม่อีกหลังจากกินยา มีการอักเสบของเส้นประสาทส่วนปลายโดยเฉพาะที่แขน ทำให้มีอาการเจ็บปวดมาก และถ้าไม่ได้การรักษาที่ทันท่วงที อาจทำให้เส้นประสาทเสียหายอย่างถาวร ทำให้มีอาการมือตกใช้การไม่ได้ (ถ้าเป็นที่เส้นประสาทแขน) หรือมีอาการเท้าตกใช้การไม่ได้ (ถ้าเป็นที่เส้นประสาทขา) อาการที่เกิดขึ้นเหล่านี้ไม่ได้แปลว่ายาที่ใช้รักษาไม่ได้ผล
- อาการชนิดที่ 2 (Type 2 lepra reaction หรือ Erythema nodosum leprosum) เป็นปฏิกิริยาอาการที่ส่วนใหญ่จะเกิดในผู้ป่วยกลุ่มก้อนเนื้อชนิดเฉพาะของโรคเรื้อน Lepromatous leprosy และ กลุ่มกำกึ่ง Borderline lepromatous แทบไม่เกิดในกลุ่มอื่นๆ โดยผู้ป่วยจะมีตุ่มนูนสีแดงที่เจ็บเกิดขึ้นเป็นกลุ่มๆ มีไข้ มีเส้นประสาทส่วนปลายอักเสบ อัณฑะอักเสบ และผนังลูกตาชั้นกลางอักเสบ
- อาการลูซิโอ (Lucio’s phenomenon) พบเฉพาะในผู้ป่วยในประเทศเม็กซิโกและแถบทะเลแคริบเบียน ผู้ป่วยจะมีแผลเป็นหลุมขนาดใหญ่หลายๆอันอยู่รวมกันเป็นกลุ่มโดยเฉพาะที่ขา ทำให้มีโอกาสติดเชื้อแบคทีเรียชนิดอื่นๆแทรกซ้อนได้ ซึ่งแผลจะเป็นชนิดเรื้อรังและหายได้ยาก
ผลข้างเคียงจากโรคเรื้อนมีอะไรบ้าง? โรคเรื้อนรุนแรงไหม?
ผู้ป่วยโรคเรื้อน ถ้าไม่ได้รับการรักษาเมื่อปล่อยให้โรคดำเนินไปเรื่อยๆ ก็จะเกิดผลข้างเคียงแทรกซ้อนและมีความพิการต่างๆเกิดขึ้นดังต่อไปนี้
- การเกิดฝีที่เส้นประสาท ผู้ป่วยบางคนอาจเกิดเป็นฝีขึ้นที่เส้นประสาทได้โดยเฉพาะที่บริเวณแขน ทำให้มีอาการปวด บวม แดง เหมือนฝีทั่วๆไป การรักษาคือต้องผ่าตัดเอาหนองออกเท่านั้น
- แขน ขา เนื่องจากในผู้ป่วยโรคเรื้อน เส้นประสาทส่วนปลายถูกทำให้เสียหาย ผู้ป่วยจึงมีอาการชาที่ผิวหนังส่วนที่เส้นประสาทไปเลี้ยง โดยจะไม่รู้สึกถึงอุณหภูมิร้อน/เย็น ไม่รู้สึกถึงการแตะต้องตัว ไม่รู้สึกเจ็บปวด จึงทำให้เกิดแผลได้ง่ายโดยเฉพาะที่เท้า ทำให้ติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ถ้าไม่ได้การดูแลที่ถูกต้องก็อาจลุกลามเน่าเปื่อยจนนิ้วหลุดออกไป การที่เส้นประสาทกล้ามเนื้อเสียไปจะทำให้กล้ามเนื้อฝ่อลีบ ผู้ป่วยก็จะมีมือที่หงิกงอผิดรูปร่าง ใช้งานไม่ได้ หรืออาจมีมือตก เท้าตก
- จมูก ในผู้ป่วยกลุ่มก้อนเนื้อชนิดเฉพาะของโรคเรื้อน Lepromatous leprosy เชื้อแบคทีเรียจะเข้าไปทำลายเยื่อบุโพรงจมูก ทำให้มีอาการคัดแน่น จมูก มีเลือดกำเดาไหล ถ้าผู้ป่วยกลุ่มนี้ไม่ได้รับการรักษา เมื่อเวลาผ่านไป กระดูกอ่อนของจมูกจะถูกทำลาย ทำให้ผู้ป่วยไม่มีสันจมูก หรือแม้กระทั่งจมูกหายไป (จมูกแหว่งโหว่)
- ตา ถ้าเส้นประสาทบริเวณใบหน้าถูกทำลาย ส่งผลให้ประสาทรับความรู้สึกของดวงตาเสียไปด้วย เมื่อไม่มีความรู้สึกเจ็บปวด เมื่อฝุ่นเข้าตาหรือโดนอะไรที่ทำให้เป็นแผลที่ดวงตาก็จะไม่มีความรู้สึก ผู้ป่วยจึงอาจปล่อยทิ้งไว้จนกระทั่งติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน กลายเป็นแผลที่ลึก กระจกตาขุ่นมัว ส่งผลให้ตาบอดได้ในที่สุด นอกจากนี้ในผู้ป่วยกลุ่มก้อนเนื้อชนิดเฉพาะของโรคเรื้อน Lepromatous leprosy หรือกลุ่มกำกึ่ง Borderline lepromatous จะเกิดปฏิกิริยาที่ทำให้ ผนังลูกตาชั้นกลางอักเสบ ซึ่งทำให้เกิดเป็นโรคต้อกระจกและโรคต้อหินได้ ในประเทศด้อยพัฒนา สาเหตุหลักของโรคตาบอดส่วนหนึ่งก็มาจากโรคเรื้อนนี่เอง
- อัณฑะ ในผู้ป่วยกลุ่มก้อนเนื้อชนิดเฉพาะของโรคเรื้อน Lepromatous leprosy และกลุ่มกำกึ่ง Borderline lepromatous จะทำให้เกิดอัณฑะอักเสบ ซึ่งทำให้เป็นหมันได้ แต่มักไม่ทำให้เกิดโรคต่อรังไข่ เพราะรังไข่เป็นอวัยวะอยู่ภายในไม่ได้อยู่ภายนอกติดกับผิวหนังเหมือนอัณฑะ
แพทย์วินิจฉัยโรคเรื้อนได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยโรคเรื้อนได้จาก อาการต่างๆร่วมกับการตัดชิ้นเนื้อจากผิวหนังตรงที่มีรอยโรคไปตรวจโดยการตรวจทางพยาธิวิทยา ซึ่งเป็นวิธีที่มีความจำเพาะในการบอกว่าผู้ป่วยมีอาการอยู่ในกลุ่มไหน ทั้งนี้การที่ต้องแยกผู้ป่วยในแต่ละกลุ่มให้ชัดเจน เพราะว่าชนิดยาและระยะเวลาที่ใช้รักษาแตกต่างกัน
มีแนวทางรักษาโรคเรื้อนอย่างไร?
แนวทางการรักษาโรคเรื้อน ได้แก่
- การรักษาเพื่อกำจัดเชื้อแบคทีเรีย โรคเรื้อนมียาปฏิชีวนะสำหรับรักษาอยู่หลายตัว ผู้ป่วยในแต่ละกลุ่มอาการจะใช้ชนิดยาและระยะเวลาการกินยาที่ไม่เท่ากัน แต่ทั้งหมดจะใช้เวลารักษาที่ยาวนาน โดยอย่างต่ำใช้เวลา 4 ปีในการกินยา
- การรักษาปฏิกิริยาที่เกิดระหว่างภูมิคุ้มกันต้านทานโรคกับเชื้อโรค อาการชนิดที่ 1 และอาการชนิดที่ 2 รักษาได้ด้วยการให้ยาในกลุ่มสเตียรอยด์เป็นหลักร่วมกับการให้ยาตัวอื่นๆด้วย ส่วนในอาการ Lucio’s phenomenon ไม่มียาสำหรับรักษา มีเพียงการดูแลรักษาแผลตามอาการ และให้ยาปฏิชีวนะฆ่าเชื้อเมื่อมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน
- การรักษาโดยการผ่าตัด เช่น การผ่าตัดฝีที่เกิดที่เส้นประสาท การผ่าตัดศัลยกรรมตกแต่งในผู้ป่วยที่ มือ เท้า ผิดรูปร่าง พิการ การตกแต่งเสริมจมูกในผู้ป่วยที่จมูกโหว่ เป็นต้น
ดูแลตนเองและป้องกันโรคเรื้อนได้อย่างไร?
การดูแลตนเองและป้องกันโรคเรื้อน ได้แก่
- อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า การสัมผัสแตะต้องตัวกันไม่ได้ทำให้ติดเชื้อ การติดเชื้อส่วนใหญ่ต้องอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยเป็นเวลานานหลายสิบปี ดังนั้นถ้าผู้ป่วยต้องนอนโรงพยาบาล ก็ไม่จำเป็นต้องแยกห้อง แต่ถ้ามีผู้ป่วยอยู่ในบ้านก็ควรระวังการใช้ของร่วมกัน เช่น การแยกของใช้ส่วนตัว กินข้าวต้องมีช้อนกลาง การแยกห้องนอน เป็นต้น ไม่แนะนำให้กินยาป้องกันเหมือนในวัณโรคที่คนอาศัยในบ้านเดียวกันต้องกินยาป้องกัน
- ในเด็กแรกคลอดที่ได้รับวัคซีนป้องกันวัณโรค จะมีภูมิคุ้มกันป้องกันโรคเรื้อนได้ด้วย แต่อาจป้องกันไม่ได้ 100% ส่วนในผู้ใหญ่การฉีดวัคซีนวัณโรคไม่ได้ช่วยป้องกันโรค
- ผู้ป่วยต้องมีวินัยในการกินยาเนื่องจากต้องกินยาวนานหลายปี การหยุดยาโดยไม่จำเป็นอาจทำให้เชื้อดื้อยา แม้จะพบน้อยก็ตาม แต่ก็อาจเป็นปัญหาใหญ่ เพราะยาที่ใช้รักษาโรคเรื้อนไม่ได้หลากหลายเท่ายารักษาโรคติดเชื้ออื่นๆ
ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?
ทุกคนควรรีบพบแพทย์เสมอเมื่อ
- พบว่ามีผื่นเป็นวงสีขาวเกิดขึ้น มีอาการชาที่ผื่น หรือแม้ว่าไม่มีผื่นปรากฏให้เห็น แต่มีความรู้สึกรับสัมผัสที่ผิวหนังลดลงโดยเฉพาะการรับสัมผัสร้อน/เย็นจะลดลงก่อน ตามมาด้วยการลดลงของการรับสัมผัสแบบลูบผิวหนัง สุดท้ายคือการรับสัมผัสความเจ็บปวด ถ้ามีอาการเหล่านี้ก็ให้พบแพทย์ เพื่อวินิจฉัยว่าเป็นโรคเรื้อนหรือไม่ การรีบให้การรักษาจะป้องกันไม่ให้เกิดความพิการต่างๆที่จะตามมาได้
- ในผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อน ถ้าผื่นที่มีอยู่มีอาการแดง เจ็บ มีอาการเจ็บปวดตามเส้นประสาทมากหรือมีตุ่มนูนแดงเจ็บเกิดขึ้นมาใหม่ มีไข้ ให้รีบพบแพทย์ เนื่องจากเป็นอาการของปฏิกิริยาของระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่อเชื้อ ต้องรีบรักษาและไม่ควรหยุดยาที่กินอยู่ เพราะไม่ใช่อาการเกิดจากแพ้ยาหรือจากยาไม่ได้ผลดังได้กล่าวแล้ว
บรรณานุกรม
1. Robert H. Gelber, leprosy (Hansen’s disease), in Harrison’s Principles of Internal Medicine, 15th edition, Braunwald , Fauci, Kasper, Hauser, Longo, Jameson (eds). McGrawHill, 2001
2. http://emedicine.medscape.com/article/220455-overview#showall [2014,Aug23]
3. http://dermnetnz.org/bacterial/leprosy.html [2014,Aug23]
4. http://www.thaileprosy.org/files/leprosy53-01-10-53.pdf [2014,Aug23]
Updated 2014, Aug 23