จอตาผิดปกติในทารกคลอดก่อนกำหนด (โรคอาร์โอพี) Retinopathy of Prematurity (ROP)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง สกาวรัตน์ คุณาวิศรุต
- 7 พฤษภาคม 2559
- Tweet
- โรคอาร์โอพีคือโรคอะไร? สำคัญอย่างไร?
- โรคอาร์โอพีเกิดได้อย่างไร? มีปัจจัยเสี่ยงอะไรบ้าง?
- ทารกกลุ่มใดที่มีปัจจัยเสี่ยงที่ควรรับการตรวจหาโรคอาร์โอพี?
- ควรพาทารกพบจักษุแพทย์เมื่อไร?
- อะไรเป็นปัจจัยต่อความรุนแรงของโรคอาร์โอพี?
- รักษาโรคอาร์โอพีอย่างไร?
- โรคอาร์โอพีมีผลข้างเคียงอย่างไร? รุนแรงไหม?
- ดูแลทารกโรคอาร์โอพีอย่างไร?
- ป้องกันโรคอาร์โอพีอย่างไร?
- โรคตา โรคทางตา (Eye disease)
- เด็ก: โรคเด็ก (Childhood: Childhood diseases)
- กายวิภาคและสรีรวิทยาของตา (Anatomy and physiology of the eye)
- คลอดก่อนกำหนด (Preterm labor)
- ครรภ์แฝด (Multiple pregnancy)
- ตาขี้เกียจ (Amblyopia)
โรคอาร์โอพีคือโรคอะไร? สำคัญอย่างไร?
โรค/ภาวะอาร์โอพีโอ (ROP) คือ ชื่อย่อของโรคจอตาผิดปกติในทารกคลอดก่อนกำหนด (Retinopathy of prematurity) แต่เดิมเคยเรียกภาวะ/โรคนี้ว่า Retrolental fibroplasia (ภาวะมีพังผืดเกิดหลังแก้วตา) เนื่องจากมีการตรวจพบพังผืดเกิดอยู่หลังแก้วตาในระยะสุดท้ายของโรค แต่ปัจจุบันเรียกชื่อใหม่เพราะพบว่าโรค/ภาวะนี้เป็นโรค/ภาวะของจอตาที่มีการเปลี่ยนแปลงในทารกที่คลอดก่อนกำหนดโดยเฉพาะในทารกที่น้ำหนักแรกเกิดน้อย โดยพบว่ามีความผิดปกติของหลอดเลือดที่จอตาและเกิดเป็นพังผืดร่วมกับมีหลอดเลือดเกิดใหม่ (Neovas cularization) คล้ายโรคอื่นๆของจอตาที่เกิดจากภาวะจอตาขาดเลือด
โรค/ภาวะนี้เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะสายตาเลือนรางหรือถึงขั้นตาบอด (Low vision and blindness) แม้ในสหรัฐอเมริกาเองยังพบทารกที่มีภาวะนี้จนมีสายตาผิดปกติปีละเฉลี่ย ถึงประมาณ 1,300 คน และในจำนวนนี้ตามัวมากถึง 250 - 500 คน แม้ว่าภาวะนี้หลายๆรายอาการดีขึ้นมีสายตาปกติได้โดยไม่ต้องรักษา (ในกรณีที่มีความผิดปกติน้อย) ในรายที่เป็นรุนแรงหากตรวจพบได้เร็วและให้การรักษาทันท่วงทีจะช่วยให้เด็กกลุ่มนี้มีสายตาที่ดีขึ้นหรือกลับมาเหมือนคนปกติได้
โรคอาร์โอพีเกิดได้อย่างไร? มีปัจจัยเสี่ยงอะไรบ้าง?
โดยปกติหลอดเลือดจอตาจะเริ่มเกิดเมื่อทารกในครรภ์อายุได้ประมาณ 16 สัปดาห์ กำเนิดของหลอดเลือดจะเริ่มที่บริเวณจอตาใกล้จานประสาทตา (Optic disc, ส่วนขั้วของประสาทตา) การเกิดหลอดเลือดจอตาจึงเริ่มจากบริเวณใกล้จานประสาทตาและค่อยๆกระจายไปแบบเป็นรัศมีจากศูนย์กลางไปสู่ขอบๆ โดยจะไปสุดขอบจอตาทางด้านจมูกในทารกครรภ์อายุประมาณ 8 เดือน และจะสุดขอบจอตาทางด้านหางตาในอีกประมาณ 2 เดือนต่อมา นั่นคือในทารกปกติที่คลอดตอนอายุ 9 เดือนหลอดเลือดจอตายังไม่พัฒนาสมบูรณ์โดยเฉพาะด้านหางตา ดังนั้นถ้าทารกคลอดก่อนกำหนดหลอดเลือดจอตาจะยิ่งไม่สมบูรณ์ ยิ่งอายุครรภ์น้อยยิ่งไม่สมบูรณ์ เกิดความผิดปกติในการพัฒนาของหลอดเลือดทำให้จอตาบริเวณขอบๆขาดเลือด จึงก่อให้มีหลอดเลือดเกิดใหม่ร่วมกับพังผืดเกิดขึ้น ตามด้วยมีการดึงรั้งจอตาที่ปกติให้หลุดลอกกลายเป็นพังผืดหนาอยู่หลังแก้วตา จึงเกิดการสูญเสียสายตาในที่สุด
ปัจจัยที่ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรค/ภาวะ อาร์โอพีได้แก่
1. น้ำหนักแรกเกิดของทารกและอายุครรภ์ที่น้อย
2. การได้รับออกซิเจน การให้ออกซิเจนในทารกคลอดก่อนกำหนดเป็นระยะเวลานานๆในกรณีทารกมีปัญหาทางการหายใจ เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้อย่างชัดเจน ส่วนระดับความเข้มข้นของออกซิเจนที่ทารกได้รับเป็นปัจจัยเสี่ยงไม่มากนัก ทำให้ในปัจจุบันการให้ออกซิเจนในทารกกลุ่มนี้ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ
3. ทารกแฝดซึ่งน่าจะเกี่ยวกับน้ำหนักแรกเกิดที่มักจะน้อยในทารกแฝด
4. ทารกน้ำหนักแรกเกิดน้อยที่มีปัญหาทางระบบหายใจมีโรคทางปอด/โรคปอดเช่น Hyaline membrane disease (มีความผิดปกติของสารบางชนิดในถุงลม), Interstitial emphysema (มีอากาศในเนื้อเยื่อปอดส่วนที่ไม่ใช่ถุงลม), หรือ Pneumothorax (มีอากาศในโพรงเยื่อหุ้มปอด)
5. เด็กที่มีความผิดปกติต่างๆเช่น มีปัญหาทางโรคหัวใจ (เช่น หัวใจเต้นช้า/Bradycar dia) หรือติดเชื้อ (Sepsis) หรือมีภาวะซีดหรือตัวเหลือง (ภาวะตัวเหลืองในเด็กแรกเกิดและเด็กเล็ก) หรือมีเลือดออกในสมอง (Intracranial haemorrhage) เป็นต้น
ทารกกลุ่มใดที่มีปัจจัยเสี่ยงที่ควรรับการตรวจหาโรคอาร์โอพี?
เพื่อให้การตรวจค้นพบโรค/ภาวะอาร์โอพีในเวลาที่เหมาะสมอีกทั้งไม่เพิ่มภาระในการตรวจมากเกินไป (หากจะต้องตรวจทารกทุกคน) ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทยได้ให้ข้อ เสนอแนะว่า ทารกคลอดก่อนกำหนดที่ควรรับการตรวจเพื่อค้นหาภาวะอาร์โอพีนี้ได้แก่ ทารกที่คลอดก่อนกำหนดที่มีลักษณะเหล่านี้
1. มีน้ำหนักตัวเท่ากับหรือน้อยกว่า 1,500 กรัม หรือ
2. มีอายุครรภ์น้อยกว่าหรือเท่ากับ 30 สัปดาห์
3. ทารกแรกเกิดที่มีน้ำหนักมากกว่า 1,500 ถึง 2,000 กรัม หรือที่มีอายุครรภ์มาก กว่า 30 สัปดาห์ที่มีปัญหาทางกายต่างๆ หรือที่กุมารแพทย์ที่ดูแลทารกพิจารณา ว่ามีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคนี้
ควรพาทารกพบจักษุแพทย์เมื่อไร?
ทารกกลุ่มเสี่ยงดังกล่าวแล้วในหัวข้อ ปัจจัยเสี่ยง บิดามารดาหรือผู้ดูแลควรนำทารกพบจักษุแพทย์เมื่อ
1. ทารกที่มีปัจจัยเสี่ยงควรรับการตรวจจอตาอย่างละเอียดครั้งแรกเมื่ออายุ 4 -6 สัปดาห์หลังคลอด หรือเมื่อทารกที่มีอายุเท่ากับอายุครรภ์บวกกับอายุหลังคลอดรวมแล้วประมาณ 31 - 33 สัปดาห์
2. หลังจากการตรวจตาครั้งแรกควรตรวจติดตามทุก 1 - 4 สัปดาห์โดยพิจารณาตามลักษณะของจอตาที่ตรวจพบครั้งแรกและติดตามจนกว่าจะพบว่าหลอดเลือดจอตาพัฒนาเต็ม ที่โดยเฉพาะทางด้านหางตา ถึงแม้ตอนแรกจะตรวจไม่พบอาการของโรคอาร์โอพีเลยก็ตาม หรือถ้ามีอาการของโรคอาร์โอพีที่ไม่รุนแรงควรนำทารกพบจักษุแพทย์เพื่อติดตามโรคตามจักษุแพทย์นัดสม่ำเสมอ
การตรวจจอตามักตรวจในภาวะที่ม่านตาขยายโดยแพทย์จะให้ยาหยอดขยายม่านตา ซึ่งต้องระมัดระวังในการใช้ยาขยายม่านตาเนื่องจากทารกตัวเล็ก ขนาดยาที่หยอดอาจมากเกินไปได้ (ผลข้างเคียงของยาคือ หัวใจเต้นเร็ว การหายใจผิดปกติ สับสน และอาจโคม่าได้) อีกทั้งการตรวจทารกไม่ควรตรวจในห้องที่มีอากาศเย็นเกินไป เพราะทารกน้ำหนักน้อยอาจมีปัญหาการหายใจในอากาศที่เย็นได้
อะไรเป็นปัจจัยต่อความรุนแรงของโรคอาร์โอพี?
ปัจจัยต่อความรุนแรงของโรค/ภาวะอาร์โอพีจะประกอบด้วย
1. ตำแหน่ง (Zone) ที่เกิดความผิดปกติบนจอตา
2. ความรุนแรงของการผิดปกติ (Staging) แบ่งเป็นระยะ 1 - 5 ระยะ 1 ความผิดปกติจะเบา/น้อยสุดไปจนระยะ 5 ร้ายแรงที่สุด
เมื่อพิจารณาทั้งข้อ 1 และข้อ 2 ร่วมกันจะแบ่งความรุนแรงโรค/ความผิดปกติเพื่อแพทย์ใช้เป็นแนวทางในการรักษาออกเป็น 3 แบบตามความรุนแรงจากน้อยไปหามากคือ
1. Prethreshold ROP ซึ่งแยกออกเป็น ชนิด/type 1 (ชนิดรุนแรงกว่า) และชนิด/type 2 (ชนิดรุนแรงน้อยไม่จำเป็นต้องรักษาเพียงตรวจติดตามเฝ้าดูอาการของทารก)
2. Threshold ROP
3. Aggressive posterior ROP (AP-ROP) เดิมใช้ชื่อว่า Rush disease ซึ่งแสดงถึงอาจมีการลุกลามถึงขั้นรุนแรงได้อย่างรวดเร็ว
รักษาโรคอาร์โอพีอย่างไร?
การรักษาโรคอาร์โอพีทำในทารกที่อยู่ในเกณฑ์ความผิดปกติที่เรียก Threshold ROP ทุกคน ในปัจจุบันเพิ่มการรักษาในทารกที่เป็น Prethreshold ROP ชนิด 1 ด้วย ซึ่งโดยทั่วไปมักเริ่มให้การรักษาภายใน 72 ชั่วโมงตั้งแต่ตรวจพบ ทั้งนี้วิธีรักษามีหลายวิธีโดยจะเลือกวิธีใดขึ้นกับความรุนแรงของโรคและดุลพินิจของแพทย์ ซึ่งวิธีรักษาเช่น
1. ใช้จี้บริเวณผิดปกติด้วยความเย็น (Cryosurgery)
2. ใช้เลเซอร์ (Laser) (1) และ (2) ให้การรักษาบริเวณจอตาที่ผิดปกติในตำแหน่ง/zone ที่เรียกว่า Avascular zone เพื่อยับยั้งการเจริญของหลอดเลือดใหม่
3. ฉีดยา VEGF (Vascular endothelial growth factor) ซึ่งเป็นยาต้านการเกิดหลอดเลือดใหม่เข้าในวุ้นตาเพื่อยับยั้งหรือขจัดหลอดเลือดใหม่ในทารกบางราย
4. หากเป็นระยะรุนแรงอาจต้องผ่าตัดวุ้นตา (Vitrectomy) แก้ไขจอตาหลุดลอก
อย่างไรก็ตามบางรายภาวะ/โรคอาร์โอพีนี้รุนแรงมาก แม้ให้การรักษาอย่างทันทีก็อาจไม่สามารถยับยั้งความผิดปกติได้ ดังนั้นการดูแลมารดาขณะตั้งครรภ์ให้ทารกอยู่ในครรภ์ครบกำหนด ซึ่งเป็นการป้องกันการเกิดโรคจึงเป็นเรื่องสมควรที่สุด
โรคอาร์โอพีมีผลข้างเคียงอย่างไร? รุนแรงไหม?
อาร์โอพีเป็นโรค/ภาวะมักเกิดชั่วคราวเป็นส่วนมาก ถ้าเป็นโรคในระยะไม่รุนแรง โรคอาจหายเป็นปกติได้เองถึงกว่า 85% โดยมีทารกที่โรคพัฒนาไปถึงความรุนแรงระดับ Threshold (ซึ่งต้องรับการรักษา) ไม่มากนัก ทั้งนี้ความผิดปกติทั้งหมดหลังการรักษาจะค่อยๆสงบ/หยุดการมีโรคลุกลามซึ่งเรียกว่า ระยะ Active stage และอาจกลายมาเป็นระยะ Cicatricial stage (ระยะแผลเป็น) ทำให้เกิดร่องรอยผิดปกติต่างๆเมื่อเด็กโตขึ้นได้ ซึ่งจะส่งผลให้เมื่อโตขึ้นเด็กอาจเกิด
1. สายตาสั้นและสายตาเอียง
2. สายตา 2 ข้างไม่เท่ากัน
3. ตาเข
4. ภาวะตาขี้เกียจ
5. ต้อกระจกในอายุน้อย
6. ต้อหิน อาจพบต้อหินในอายุที่น้อยกว่าคนทั่วไป
7. จอตาหลุดลอก (อ่านเพิ่มเติมในบทความเรื่อง โรคของจอตา)
ดูแลทารกโรคอาร์โอพีอย่างไร?
การดูแลทารกโรคอาร์โอพีคือ
- ปฏิบัติตามจักษุแพทย์และพยาบาลแนะนำ
- พบจักษุแพทย์ตามนัดเสมอตลอดไปจนทารกเจริญเป็นผู้ใหญ่หรือจนกว่าจักษุแพทย์จะเลิกนัด
- รีบพบจักษุแพทย์ก่อนนัดเมื่อสังเกตเห็นทารกมีอาการทางสายตา/การมองผิดปกติไปจากเดิม หรือเมื่อผู้ปกครองกังวลในอาการของเด็ก
ป้องกันโรคอาร์โอพีอย่างไร?
โรคอาร์โอพีเป็นโรคที่ป้องกันได้โดยการป้องกันไม่ให้เกิดการคลอดก่อนกำหนด และ/หรือ ทารกแรกคลอดมีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์โดย
- ก่อนการตั้งครรภ์ มารดาบิดาควรพบแพทย์ตรวจสุขภาพเพื่อเตรียมการตั้งครรภ์ และ ดูแลสุขภาพให้แข็งแรงเพื่อสามารถที่จะตั้งครรภ์ปกติได้
- มารดาต้องรักษาสุขภาพให้แข็งแรงตลอดระยะเวลาของการตั้งครรภ์
- มารดาต้องรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)
- มารดาต้องได้รับวัคซีนป้องกันโรคต่างๆตามแพทย์แนะนำก่อนการตั้งครรภ์เพื่อป้อง กันการติดเชื้อโรคที่ป้องกันได้จากวัคซีนระหว่างตั้งครรภ์
- มารดาต้องฝากครรภ์ตั้งแต่ทราบว่าตั้งครรภ์และอยู่ในการดูแลของสูติแพทย์เสมอจนทารกคลอด
Updated 2016, April 16