โรคอัมพาตเบลล์ หรือ โรคใบหน้าเบี้ยว (Bell’s palsy)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 16 ธันวาคม 2561
- Tweet
- บทนำ
- โรคอัมพาติเบลล์เกิดได้อย่างไร?
- มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคอัมพาตเบลล์ไหม?
- โรคอัมพาติเบลล์มีอาการอย่างไร?
- แพทย์วินิจฉัยโรคอัมพาตเบลล์ได้อย่างไร?
- รักษาโรคอัมพาตเบลล์อย่างไร?
- โรคอัมพาตเบลล์มีผลข้างเคียงไหม? รุนแรงไหม?
- ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?
- ป้องกันโรคอัมพาตเบลล์ได้อย่างไร?
- บรรณานุกรม
- กายวิภาคและสรีรวิทยาระบบประสาท (Anatomy and physiology of nervous system)
- โรคเส้นประสาท (Peripheral neuropathy)
- เชื้อไวรัส โรคติดเชื้อไวรัส (Viral infection)
- เริม (Herpes simplex)
- อีสุกอีใส (Chickenpox)
- โรคติดเชื้อไซโตเมกาโลไวรัส โรคติดเชื้อซีเอมวี (Cytomegalovirus infection: CMV infection)
- น้ำตาเทียม (Artificial tears)
- ตาแห้ง (Dry eye)
- กล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรงครึ่งซีก: กายภาพบำบัด (Physical therapy for Bell’s Palsy)
- ยาต้านไวรัส (Antiviral drugs)
บทนำ
โรคอัมพาตเบลล์ หรือ โรคใบหน้าเบี้ยว หรือ โรคใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีก ( Bell’s palsy หรือ Idiopathic facial paralysis ย่อว่า IFP) ได้แก่ โรคซึ่งเกิดจากการบวม อักเสบของประสาทใบหน้า หรือประสาทฟาเซียล หรือบางคนออกเสียงว่า เฟเซียล (Facial nerve หรือเส้นประสาทสมองเส้นที่ 7, Cranial nerve VII หรือย่อว่า CN VII) โดยเป็นเส้นประสาทคู่ คือ มีทั้งด้านซ้ายควบคุมใบหน้าด้านซ้าย และด้านขวา ควบคุมใบหน้าด้านขวา ซึ่งเมื่อโรคเป็นชนิดไม่รุนแรง จะก่ออาการน้อย การอักเสบเพียงทำให้เกิดอัมพฤกษ์ของใบหน้าด้านนั้น แต่ถ้าเป็นมาก จะก่ออาการอัมพาตของใบหน้าด้านนั้น ทั้งนี้ โดยทั่วไป มักเกิดโรคกับประสาทเพียงด้านเดียว โดยโอกาสเกิดใกล้เคียงกันทั้งประสาทด้านซ้ายและประสาทด้านขวา และยังไม่สามารถพยากรณ์ได้ว่า จะเกิดโรคกับประสาทด้านไหน อย่างไรก็ตาม พบโรคเกิดกับประสาททั้งสองข้างพร้อมกันได้แต่พบได้น้อยกว่า 1%
โรคอัมพาตเบลล์ ได้ชื่อตามนักกายวิภาค ชาวสกอต ชื่อ Charles Bell (ชาร์ลส์ เบลล์) ซึ่งเป็นผู้รายงานโรคนี้เป็นคนแรก โรคนี้พบได้บ่อยพอควร ทั่วโลกพบประมาณ 15-30 รายต่อประชากร 100,000 คน โรคนี้พบได้ในทุกอายุ ตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ โดยพบสูงสุดในช่วงอายุ 20- 40 ปี ผู้หญิงและผู้ชายเกิดโรคได้ใกล้เคียงกัน
โรคอัมพาตเบลล์ หลังรักษาหายแล้ว มีโอกาสเกิดเป็นซ้ำได้อีกประมาณ 4-14% โดยเฉลี่ยมักเกิดเป็นซ้ำหลังจากเกิดโรคครั้งแรกประมาณ 10 ปี โดยเมื่อเกิดเป็นซ้ำ อาจเกิดโรคซ้ำกับด้านเดิม หรือ เกิดกับอีกด้านก็ได้ ไม่สามารถพยากรณ์ได้ว่า จะเกิดโรคซ้ำด้านไหน ทั้งนี้ปัจจัยเสี่ยงต่อการกลับเป็นซ้ำ คือ ในผู้ป่วยที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคนี้ และ/หรือ ป่วยด้วยโรคเบาหวานร่วมด้วย
โรคอัมพาติเบลล์เกิดได้อย่างไร?
ปัจจุบันยังไม่ทราบว่า โรคอัมพาตเบลล์เกิดจากสาเหตุใด แต่จากการศึกษาต่างๆพบว่า อาจมีสาเหตุได้จาก
- ประสาทใบหน้าติดเชื้อต่างๆ โดยเฉพาะไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคเริม (Herpes simplex) หรือ จากไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคอีสุกอีใส (Herpes zoster) หรือจากไวรัสในตระกูลไซโตเมกาโลไวรัส (Cytomegalovirus, โรคติดเชื้อไซโตเมกาโลไวรัส) ซึ่งเชื้อทุกชนิด มักก่ออาการเมื่อร่างกายมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต้านทานต่ำ สาเหตุนี้เป็นสาเหตุที่แพทย์เชื่อกันมากที่สุดในสาเหตุต่างๆ
- เป็นผลข้างเคียงของโรคบางโรค ที่ส่งผลให้เกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน หรือ โรคความดันโลหิตสูง ซึ่งพบโรคจากสาเหตุเหล่านี้ได้น้อย
- จากร่างกายสร้างสารภูมิต้านทานจากการติดเชื้อไวรัสต่างๆ และภูมิต้านทานนี้ ส่งผลให้เกิดการการอักเสบบวมของประสาทใบหน้า
มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคอัมพาตเบลล์ไหม?
ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคอัมพาตเบลล์ ได้แก่
- คนท้อง โดยเฉพาะเมื่อมีครรภ์เป็นพิษ หรือเกิดโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ
- มีประวัติครอบครัวเป็นโรคนี้
- เป็นโรคเบาหวาน
- ติดเชื้อไวรัสในระบบทางเดินหายใจนำมาก่อน เช่น โรคหวัด หรือ โรคไข้หวัดใหญ่
- พักผ่อนไม่เพียงพอ ร่างกายอ่อนแอ
- ภาวะเครียด
- ภายหลังได้รับอุบัติเหตุ
- ภาวะร่างกายมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำลง
โรคอัมพาติเบลล์มีอาการอย่างไร?
อาการจากโรคอัมพาตเบลล์ เป็นอาการเกิดอย่างเฉียบพลัน เพียงข้ามคืน และเกือบ 100% เกิดกับใบหน้าเพียงข้างเดียว ดังนั้นถ้าอาการหน้าเบี้ยวค่อยๆเกิดขึ้น ใช้เวลาเป็นหลายๆวัน หรือ สัปดาห์ และ/หรือ มีหน้าเบี้ยวทั้งสองข้าง แพทย์มักนึกถึงโรคอื่นๆก่อน เช่น โรคหลอดเลือดในสมองอักเสบ (โรคหลอดเลือดอักเสบ) เส้นประสาทอักเสบจากโรคเบาหวาน /โรคเส้นประสาทเหตุเบาหวาน หรือจากโรคเรื้อน
อาการนอกเหนือจากที่กล่าวแล้ว เช่น
- ความรุนแรงของอาการหน้าเบี้ยว อาจเพิ่มขึ้นภายใน 2-3 วัน
- อาการหน้าเบี้ยว ที่พบบ่อย คือ ปากเบี้ยว โดยด้านที่เกิดโรคจะขยับริมฝีปากไม่ได้ ริมฝีปากตก
- รอยย่นต่างๆตามปกติบนใบหน้าด้านเกิดโรค จะหายไป
- กินอาหาร เคี้ยวอาหารลำบาก
- เมื่อดื่มน้ำ จะมีน้ำไหลจากมุมปาก
- อาจมีน้ำลายไหลด้านเกิดโรค
- เมื่อแปรงฟัน ยาสีฟันจะไหลออกมา ควบคุมไม่ได้
- เลิกคิ้วด้านนั้นไม่ได้
- อาจพูดไม่ชัด
- อาจรับรสชาติอาหารไม่ได้ หรือลดลง
- อาจมีน้ำลายแห้ง
- น้ำตาแห้ง ด้านเกิดโรค
- เมื่อเป็นมาก การได้ยินของหูด้านนั้นอาจลดลง ถึงหูหนวกได้
- เมื่อเป็นมาก หนังตาด้านเกิดโรคทั้งหนังตาบน และหนังตาล่างจะปิด ไม่ได้ ก่อให้ตาเปิดตลอดเวลา ตาจึงแห้งมากจากน้ำหล่อเลี้ยงตาระเหยตลอดเวลา ร่วมกับมีน้ำตาแห้งจากต่อมน้ำตาลดการทำงาน ก่ออาการระคายเคืองตา กระจกตาจึงอาจเกิดแผลได้
- อาจมีอาการปวด เจ็บ รอบๆขากรรไกร และ/หรือบริเวณหู/หลังหู ด้านเกิดโรค และ/หรือ ปวดศีรษะ
แพทย์วินิจฉัยโรคอัมพาตเบลล์ได้อย่างไร?
โดยทั่วไปแพทย์วินิจฉัยโรคอัมพาตเบลล์ได้จาก
- ประวัติทางการแพทย์ซึ่งที่สำคัญ เช่น ประวัติอาการ
- การตรวจร่างกาย
- การตรวจช่องปาก หู คอ จมูก และตา
- อาจตรวจการทำงานของประสาท/การตรวจคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ (Electromyography, EMG) เพื่อสนับสนุนว่า มีการทำงานผิดปกติของประสาทใบหน้าจริง
- ส่วนการตรวจอื่นๆ มักเป็นการตรวจเมื่อแพทย์สงสัยสาเหตุจากโรคอื่น เช่น โรคเนื้องอกสมอง หรือ อาการอัมพาต อัมพฤกษ์จากโรคหลอดเลือดสมอง เช่น
- การตรวจเลือด
- การตรวจภาพอวัยวะ เช่น สมอง (เช่น เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือเอมอาร์ไอ) มักเป็นการตรวจเมื่อแพทย์สงสัยสาเหตุจากโรคอื่น เช่น โรคเนื้องอกสมอง หรือ อาการอัมพาต อัมพฤกษ์จากโรคหลอดเลือดสมอง
รักษาโรคอัมพาตเบลล์อย่างไร?
แนวทางการรักษาโรคอัมพาตเบลล์ คือ
- การรักษาประคับประคองตามอาการ เช่น การพักผ่อนเต็มที่ ยาแก้ปวด ยาคลายเครียด
- การให้ยาต้านการอักเสบ /ยาแก้อักเสบ ในกลุ่มสเตียรอยด์
- เมื่อแพทย์สงสัยสาเหตุจากติดเชื้อไวรัส อาจให้ยาต้านไวรัส ซึ่งจะให้ผลดีต่อเมื่อเริ่มยาภายในประมาณ 3วันหลังมีอาการ (ดังนั้น เมื่อมีอาการดังกล่าวแล้ว จึงควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาล)
- อีกประการที่สำคัญ คือ การทำกายภาพฟื้นฟูกล้ามเนื้อใบหน้าตามแพทย์ และนักกายภาพบำบัดแนะนำ (อ่านเพิ่มเติมรายละเอียดได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง กล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรงครึ่งซีก: กายภาพบำบัด)
- และเมื่อมีอาการทางหนังตา ควรปิดตาด้านนั้น เพื่อป้องกันฝุ่นและลม หรือ ใส่แว่นกันแดดเสมอทั้งในและนอกบ้าน และปิดตาในเวลานอน ร่วมกับการใช้น้ำตาเทียม หรือ พบจักษุแพทย์เพื่อขอคำแนะนำ และควรรีบพบจักษุแพทย์เมื่อมีอาการระคายเคืองตา ตาแดงมีขี้ตา และ/หรือมีปัญหาในการมองเห็นภาพ
- • *ทั้งนี้ ในผู้ป่วยที่โรคฟื้นตัวได้น้อย หรือ ไม่ฟื้นตัว ยังคงมีอัมพฤกษ์ อัมพาตของกล้ามเนื้อใบหน้าอยู่ (พบได้น้อยประมาณ 4%) แพทย์อาจใช้การผ่าตัดเพื่อแก้ไขปัญหาหน้าเบี้ยว ทั้งนี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์
โรคอัมพาตเบลล์มีผลข้างเคียงไหม? รุนแรงไหม?
โรคอัมพาตเบลล์เป็นโรคมีการพยากรณ์โรคที่ ไม่รุนแรง สามารถหายได้เอง แต่เมื่อมีการรักษาจะช่วยให้โรคหายเร็วขึ้น
- โดยทั่วไปประมาณ 85% ของผู้ป่วยจะฟื้นตัวภายใน 3 สัปดาห์
- โดยประมาณ 71% ฟื้นตัวเต็มร้อย
- ประมาณ 25% ฟื้นตัวได้เกือบปกติ
- และประมาณ 4% ฟื้นตัวได้น้อย
- ในผู้ป่วยที่ฟื้นตัวไม่ได้เต็มร้อย อาการจะค่อยๆดีขึ้น โดยอาจต้องใช้เวลา อย่างน้อย 6-12 เดือนจึงจะฟื้นตัวเต็มร้อย
ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลให้เกิดการฟื้นตัวช้าหรือใบหน้าอาจไม่สามารถกลับมาปกติได้ 100% คือ
- ผู้สูงอายุ อายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป
- มีอาการรุนแรงตั้งแต่แรก เช่น มีอาการอัมพาตใบหน้าอย่างมาก ร่วมกับอาการทางดวงตา หรือทางการได้ยิน
- มีอาการทางต่อมน้ำลาย เช่น น้ำลายแห้ง หรือการรับรสชาติอาหาร ผิดปกติ
- ไม่มีน้ำตา หรือน้ำตาลดลง
- ปวดเจ็บบริเวณหู หรือ หลังหู
ส่วนผลข้างเคียงจากโรคอัมพาตเบลล์ คือ
- ประสาทในหน้าฟื้นตัวไม่เต็มร้อยก่อให้ปิดตาด้านเกิดอาการได้ไม่สนิท ลม ฝุ่นละออง จึงอาจก่อให้เกิดปัญหาต่อกระจกตาได้
- หรือ บางครั้ง ประสาทใบหน้าซ่อมแซมตัวเองผิดปกติ ทำให้เกิดความสัมพันธ์ในการทำงานผิดปกติกับประสาทย่อยๆอื่นๆ เช่น เมื่อหัวเราะหนังตาด้านเกิดโรคจะปิดร่วมด้วย หรือเมื่อกินอาหาร จะกระตุ้นให้มีน้ำตาออกมาด้วย เป็นต้น
ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?
การดูแลตนเองเมื่อมีใบหน้าเบี้ยว คือ การรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลภายใน 1-3 วัน เพราะดังกล่าวแล้วว่า การรักษาโรคจะได้ผลดีกว่า เมื่อรักษาได้เร็วภายในประมาณ 3 วันหลังเกิดอาการ ซึ่งหลังจากพบแพทย์แล้ว การดูแลตนเองขึ้นกับคำแนะนำของแพทย์ รวมทั้ง
- การพักผ่อนอย่างเพียงพอ
- ทำกายภาพฟื้นฟูกล้ามเนื้อใบหน้าตามแพทย์ และนักกายภาพฟื้นฟูแนะนำ โดยควรทำหน้ากระจกเสมอ จนกว่าใบหน้าจะกลับเป็นปกติ เพื่อได้สังเกตอาการตนเอง เป็นการติดตามอาการ และเพื่อแจ้งให้แพทย์ทราบถึงการเปลี่ยนแปลงของใบหน้าที่เกิดขึ้น
- นวดใบหน้าด้านมีอาการเบาๆสม่ำเสมอ เพื่อกระตุ้นการทำงานของประสาท
- พยายามหลับตาด้านเกิดอาการเสมอ เพื่อช่วยให้ดวงตาชุ่มชื้น (โดยใช้นิ้วมือช่วยในการปิดเปลือกตา) ลดการระเหยของน้ำออกจากดวงตา จากการที่ดวงตาปิดไม่สนิท
- ควรปิดตาด้านเกิดโรคในระหว่างการนอนหลับ เพื่อป้องกันดวงตาเพราะดวงตาจะปิดไม่สนิท เช่น ใช้ที่ครอบตา หรือใช้ผาก็อซสะอาด
- ระวังฝุ่นผงเข้าตา ควรใส่แว่นตาเสมอเพื่อปกป้องดวงตา ยกเว้นช่วงนอนหลับ
- ใช้น้ำตาเทียม ชนิดหยอดตา หรือชนิดขี้ผึ้งเพื่อช่วยให้ดวงตาชุ่มชื้นตาตามแพทย์แนะนำเสมอ เพื่อป้องกันภาวะดวงตาแห้ง
*อนึ่ง อาการหน้าเบี้ยวอาจเกิดจากโรคร้ายแรงอื่นๆได้ เช่น โรคเนื้องอกสมอง หรือ อัมพาตอัมพฤกษ์ จากโรคหลอดเลือดสมอง ดังนั้น เมื่อมีอาการหน้าเบี้ยว ควรต้องรีบด่วนพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเสมอ เพื่อการวินิจฉัยหาสาเหตุ เพื่อการรักษาที่เหมาะสม ตั้งแต่เนิ่นๆ ซึ่งจะเพิ่มโอกาสการรักษาได้หายให้สูงขึ้น
ป้องกันโรคอัมพาตเบลล์ได้อย่างไร?
การป้องกันโรคอัมพาตเบลล์เต็มร้อยเป็นไปไม่ได้ เพราะเป็นโรคยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด ดังนั้น การป้องกันที่ดีที่สุด คือ หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆดังกล่าวแล้วในหัวข้อ ‘ปัจจัยเสี่ยงฯ’ที่หลีกเลี่ยงได้ ได้แก่
- ลดโอกาสติดเชื้อต่างๆและรักษาสุขภาพจิต ด้วยการรักษา สุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)
- พยายามพักผ่อนให้เพียงพอ
- ควบคุม รักษาโรคต่างๆที่เป็นปัจจัยเสี่ยง
บรรณานุกรม
- Braunwald, E., Fauci, A., Kasper, L., Hauser, S., Longo, D., and Jameson, J. (2001). Harrison’s principles of internal medicine (15th ed.). New York: McGraw-Hill.
- Tiemstra, J., and Khatkhat, N. (2007). Bell’s palsy: diagnosis and management. Am Fam Physician. 76,997-1002.
- http://en.wikipedia.org/wiki/Bell's_palsy [2018,Nov24]
- https://www.enthealth.org/conditions/bells-palsy/ [2018,Nov24]
- http://emedicine.medscape.com/article/1146903-overview#showall [2018,Nov24]
- https://www.entnet.org/sites/default/files/Bulletin_BellsExecSummary_Final_102313.pdf [2018,Nov24]
- https://myhealth.alberta.ca/Health/aftercareinformation/pages/conditions.aspx?hwid=ut1793abu3308 [2018,Nov24]