โรคหัวใจสลาย (Broken heart syndrome) หรือ โรคทาโกซูโบะ (Takotsubo cardiomyopathy)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

โรคหัวใจสลายคือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?

โรคหัวใจสลาย หรือ กลุ่มอาการหัวใจสลาย (Broken heart syndrome)คือ โรคหรือกลุ่มอาการของโรคหัวใจที่เกิดจากการเต้นอ่อนแรงเฉียบพลันแต่เกิดเพียงชั่วคราวของกล้ามเนื้อหัวใจโดยเฉพาะห้องล่างซ้าย(Left ventricle)ซึ่งหัวใจห้องนี้เป็นหลักในการส่งเลือดไปเลี้ยงหัวใจและอวัยวะต่างๆทั่วร่างกาย จึงเป็นเหตุให้หัวใจขาดเลือดทันที ส่งผลให้เกิดอาการต่างๆทันที/เฉียบพลัน ที่สำคัญคือ

  • เจ็บหน้าอก
  • หายใจขัด/หายใจลำบาก
  • ความดันโลหิตต่ำ และ
  • เป็นลม
  • ถ้าอาการรุนแรงอาจเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวทันทีจนเป็นเหตุให้ตายได้

โดยโรคหัวใจสลาย มักเกิดตามหลังภายในระยะเวลาเป็นนาทีหรือไม่กี่ชั่วโมงหลังเกิดอารมณ์สะเทือนใจสุดขีด ทั้งเรื่องร้าย หรือเรื่องดี ที่ไม่คาดฝัน แต่ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องร้าย เช่น การเสียใจอย่างที่สุดจากการสูญเสียคนที่รัก(Broken heart) ดังนั้นโรคนี้จึงได้ชื่อว่า ‘Broken heart syndrome’ ซึ่งทางแพทย์เรียกว่า เกิดจาก ‘ความเครียด(Stress) อย่างที่สุดในชีวิต’ เช่น ความรัก เศรษฐกิจ ถูกฉ้อโกง ล้มละลาย ตื่นเต้น ดีใจ โรคนี้จึงมีอีกชื่อ ว่า ‘Stress cardiomyopathy’ หรือ ‘Stress induced cardiomyopathy’

โรคหัวใจสลาย เป็นโรคพบไม่บ่อย แต่พบได้เรื่อยๆ พบประมาณ 1.7-2.2%ของผู้ป่วยที่มีอาการของโรคหลอดเลือดหัวใจ (โรคหัวใจ) พบทั้งเพศชาย และเพศหญิง ทุกอายุ ทั้งในเด็ก ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ พบสูงในช่วงอายุ 58-75ปี พบเพียงประมาณ 3%ในผู้ที่อายุต่ำกว่า 50 ปี และ 90% เกิดในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน

อนึ่ง:

  • โรคนี้มีรายงานครั้งแรกจากประเทศญี่ปุ่นในปีค.ศ. 1990(พ.ศ. 2533)แต่ได้รายงานทางการแพทย์ครั้งแรกในปีค.ศ.1991(พ.ศ. 2534) โดยเรียกชื่อโรคนี้ว่า ‘โรคหัวใจ ทาโกซูโบะ หรือ โรคทาโกซูโบะ(Takotsubo cardiomyopathy)’ ตามลักษณะที่ขยายโตผิดปกติของห้องหัวใจห้องล่างที่เรียกว่า Ventricle จนทำให้หัวใจมีรูปคล้ายโถ/ไหที่ใส่ปลาหมึกเมื่อจับปลาหมึกได้ของชาวประมงญี่ปุ่นที่เรียกว่า Takosubo (โถ/ไหที่คอไหแคบแต่ส่วนก้น/ส่วนล่างป่อง)
  • อีกชื่อของโรคนี้ ที่เรียกตามลักษะอาการของโรคที่เกิดเพียงชั่วคราว และจากรูปร่างของหัวใจห้องล่างที่ผิดปกติ คือ ‘Transient left ventricular apical ballooning syndrome’

โรคหัวใจสลายมีสาเหตุจากอะไร?

โรคหัวใจสลาย

ปัจจุบัน แพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุโรคหัวใจสลายที่ชัดเจน แต่เชื่อว่า น่าเกิดจากหลายสาเหตุ/ปัจจัยร่วมกัน เช่น

ก. เกิดจากการหดตัว/บีบตัวชั่วคราวพร้อมๆกันของหลอดเลือดแดงหัวใจที่มีขนาดเล็กมากที่ไม่สามารถมองไม่เห็นจากการตรวจภาพหลอดเลือดหัวใจด้วยวิธีทาง รังสีวินิจฉัย (Micro vascular vasospasm) จึงส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดทันที

ข. เมื่อมีความเครียดหรืออารมณ์ที่รุนแรง ร่างกายจะตอบสนองด้วยการสร้างฮอร์โมนต่างๆที่เรียกทั่วไปว่า ฮอร์โมนจากความเครียด(Stress hormone เช่น Epinephrine, Norepinephrine, Catecholamine, Vasopressin)ที่ส่งผลให้เกิดการหดตัวชั่วคราวของหลอดเลือดแดงหัวใจขนาดเล็กมาก(Microvascular function) และอาจรวมถึงทำให้เกิดการหยุดชะงัก(Stunning)การทำงานของเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจ

ค. โรคนี้มักพบในผู้หญิงในวัยหมดประจำเดือน จึงทำให้เชื่อว่า ภาวะที่ร่างกายมีฮอร์โมนเพศหญิง/ฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลงนี้ เป็นปัจจัยให้เซลล์หัวใจไวต่อฮอร์โมนจากความเครียดมากกว่าวัยปกติหรือในผู้ชาย

โรคหัวใจสลายมีอาการอย่างไร?ต่างจากโรคหลอดเลือดหัวใจอย่างไร?

โรคหัวใจสลาย มีอาการคล้ายกับอาการของโรคหลอดเลือดหัวใจ(โรคหัวใจ) คือ เป็นอาการที่เกิดเฉียบพลัน แต่มักเกิดตามหลังการมีความเครียดสูง โดยอาการอาจเกิดทันที เป็นนาที หรือบางครั้งเป็นชั่วโมง หลังความเครียดนั้นๆ ในบางคนอาการอาจไม่รุนแรง หายได้เองหลังควบคุมอารมณ์ได้, ได้พักผ่อน, โดยไม่ได้มาพบแพทย์ แต่บางคนอาการรุนแรงจนต้องมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล

อาการของโรคหัวใจสลาย เช่น

  • เจ็บหน้าอก / แน่นหน้าอก
  • หายใจลำบาก
  • วิงเวียนศีรษะ
  • อาจคลื่นไส้
  • หัวใจเต้นเร็ว แต่เต้นเบา
  • เป็นลม
  • เมื่อตรวจสัญญาณชีพ จะพบ
    • ความดันโลหิตต่ำ
    • ชีพจร เต้นเร็ว แต่เบา
  • การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจอีเคจี จะพบความผิดปกติในการเต้นของหัวใจห้องล่างซ้าย
  • การตรวจเอคโคหัวใจ จะพบ หัวใจห้องล่างซ้ายมีขนาดโต และ หัวใจเต้นผิดปกติ
  • การตรวจหลอดเลือดหัวใจโดยการใส่สายสวนและฉีดสี(Cardiac angiogram) จะปกติ

ทั้งนี้ อาการที่โรคหัวใจสลายแตกต่างจากโรคหลอดเลือดหัวใจ ที่สำคัญ คือ

  • โรคหัวใจสลาย เกือบทั้งหมดมีประวัติมีความเครียดสูงนำมาก่อน ซึ่งไม่พบในโรคหลอดเลือดหัวใจ
  • อาการจากโรคหัวใจสลายจะเกิดเพียงชั่วคราว ส่วนใหญ่จะหายได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์ และกลับเป็นปกติภายใน 1-2เดือน โดยเพียงการรักษาประคับประคองตามอาการ แต่อาการโรคหลอดเลือดหัวใจ อาการจะไม่สามารถหายเองได้ ต้องได้รับการรักษาจากแพทย์เสมอ
  • โรคหัวใจสลาย เมื่อตรวจหลอดเลือดหัวใจ จะพบว่า’ปกติ’ ในขณะที่โรคหลอดเลือดหัวใจ จะพบว่ามีหลอดเลือดหัวใจตีบ หรือมีลิ่มเลือดในหลอดเลือดหัวใจ

ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคหัวใจสลาย?

ผู้มีปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคหัวใจสลาย ได้แก่

  • ผู้มีความเครียดสูง โดยเฉพาะที่เกิดโดยไม่คาดฝันที่รุนแรงทั้งเรื่องร้าย หรือ เรื่องดี ที่จู่โจมเข้ามาอย่างไม่ได้ตั้งตัว แต่ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องร้าย เช่น ความโกรธ ความวิตกกังวล การสูญเสียต่างๆ ความกลัวต่างๆ การรับรู้ข่าวร้าย หรือ ข่าวดีต่างๆที่ทำให้ตกตะลึง
  • ผู้หญิง: โดยเฉพาะในวัยหมดประจำเดือน ดังได้กล่าวใน ‘โรคหัวใจสลายคือโรคอะไร และหัวข้อ สาเหตุฯ ’
  • ผู้มีอาการปวดที่รุนแรงมาก เช่น จากอุบัติเหตุรุนแรง จากโรคมะเร็ง
  • ผู้ที่มีความดันโลหิตต่ำมากทันที เช่น จากการเสียเลือดรุนแรง(เช่น จากอุบัติเหตุรุนแรง) หรือจากร่างกายสูญเสียน้ำ/ภาวะขาดน้ำรุนแรง (เช่น แผลไฟไหม้รุนแรง)
  • โรคหืดที่รุนแรง

แพทย์วินิจฉัยโรคหัวใจสลายได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคหัวใจสลาย ได้จาก

  • การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญคือ อาการดังกล่าวใน’หัวข้ออาการฯ’ ที่เกิดหลังมีปัญหาทางอารมณ์อย่างรุนแรง
  • การตรวจร่างกาย ที่รวมถึงการตรวจสัญญาณชีพ การตรวจฟังการเต้นของหัวใจด้วยหูฟัง
  • การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจอีเคจี
  • การตรวจเอคโคหัวใจ
  • การตรวจหลอดเลือดหัวใจโดยใช้สายสวนหลอดเลือดหัวใจ(Cardiac angiogram)
  • อาจมีการตรวจเพื่อการสืบค้นอื่นๆเพิ่มเติมตามดุลพินิจของแพทย์ เช่น การตรวจเลือดดู
    • ค่า ซีบีซี/CBC
    • ค่าเอนไซม์การทำงานของหัวใจ

รักษาโรคหัวใจสลายอย่างไร?

แนวทางการรักษาโรคหัวใจสลาย คือ การรักษาอาการของโรคหัวใจด้วยการรักษา ตามอาการ เช่น

  • การให้ยาโรคหัวใจเพื่อช่วยการบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ และรักษา/ป้องกันภาวะหัวใจล้มเหลว เช่นยาในกลุ่ม ACE inhibitors, Angiotensin receptor blocker
  • การให้ยาต้านการแข็งตัวของเลือดเพื่อป้องกันการเกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือดหัวใจ เช่นยา Aspirin
  • การให้ยาช่วยควบคุมความดันโลหิต
  • การให้สารน้ำและเกลือแร่ทางหลอดเลือดดำ(เกลือแร่ในเลือด)เพื่อช่วยไม่ให้ผู้ป่วยอยู่ในภาวะขาดน้ำ และให้ร่างกายอยู่ในสมดุลของน้ำและเกลือแร่
  • การให้สูดดมออกซิเจน เพิ่มออกซิเจนในร่างกาย
  • การให้ผู้ป่วยพักผ่อนเต็มที่
  • การดูแลรักษาทางจิตเวช เพื่อให้ผู้ป่วยลดความเครียด/ปัญหาทางอารมณ์/จิตใจ

โรคหัวใจสลายมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

ทั่วไป โรคหัวใจสลาย มีการพยากรณ์โรคที่ดี หัวใจมักกลับมาทำงานเป็นปกติในระยะเวลาเป็นสัปดาห์ ทั่วไปไม่เกิน 2 เดือน โดยไม่มีพยาธิสภาพใดๆของหัวใจหลงเหลืออยู่

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมาก และ/หรือสุขภาพร่างกายไม่ดี และ/หรือมีโรคประจำตัวเรื้อรัง โรคหัวใจสลายเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้ประมาณ 1-3% โดยมักเสียชีวิตจากภาวะหัวใจล้มเหลวรุนแรงเฉียบพลัน

อนึ่ง ทั่วไป โรคหัวใจสลายมัก ไม่มีการย้อนกลับเป็นซ้ำ แต่มีรายงานพบว่า ผู้ป่วยประมาณ 1.5% มีโอกาสเกิดอาการนี้ซ้ำได้เมื่อเกิดการกระตุ้นอารมณ์อย่างรุนแรงซ้ำอีก

โรคหัวใจสลายมีผลข้างเคียงอย่างไร?

ผลข้างเคียงจากโรคหัวใจสลายพบได้ประมาณ 20% โดยมักเกิดในระยะแรกๆของอาการ และในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง อาจเป็นสาเหตุให้ตายได้

โดยผลข้างเคียงที่อาจพบได้ คือ

  • ภาวะหัวใจล้มเหลว
  • ภาวะช็อก ที่เรียกว่า Cardiogenic shock /ช็อกจากหัวใจล้มเหลวทันทีรุนแรง
  • เซลล์ผนังกล้ามเนื้อหัวใจห้องล่างซ้ายเสียหายจนเกิดผนังทะลุ
  • โรคหัวใจชนิดอื่นๆ เช่น
    • โรคลิ้นหัวใจ
    • โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ

ดูแลตนเองอย่างไร?ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

ในระยะแรกของโรคนี้ แพทย์อาจรักษาผู้ป่วยในโรงพยาบาลจนอาการดีขึ้น และอาการคงที่ จึงอนุญาตให้กลับไปดูแลรักษาตัวต่อที่บ้าน ซึ่งการดูแลตนเอง ได้แก่

  • ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • กินยา/ใช้ยาต่างๆที่แพทย์สั่ง ให้ครบถ้วน ไม่หยุดยาเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน
  • พักผ่อนให้เต็มที่
  • ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต รักษา ดูแล ควบคุมอารมณ์ ยอมรับในชีวิต คิดบวก เพื่อให้จิตใจผ่อนคลาย
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนแพทย์นัดเมื่อ
    • อาการต่างๆเลวลง เช่น นอนไม่หลับติดต่อกันทุกคืน เป็นลมบ่อย
    • มีอาการที่ไม่เคยมีมาก่อน เช่น บวมใบหน้า แขน ขา
    • มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น วิงเวียนศีรษะมาก ปวดท้องมาก ผิวหนังขึ้นผื่น หรือมีจุดเลือดออกกระจายมากขึ้นตามเนื้อตัว
    • กังวลในอาการ

ป้องกันโรคหัวใจสลายได้อย่างไร?

เนื่องจากปัจจัยกระตุ้นสำคัญที่ทำให้เกิดโรคหัวใจสลาย คือปัญหาทางอารมณ์/จิตใจรุนแรงที่เกิดทันทีโดยไม่มีเวลาตั้งตัว ดังนั้นการป้องกันโรคนี้ที่สำคัญคือ การปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต ให้เป็นผู้มีความเข้มแข็งทางอารมณ์/จิตใจ ยอมรับชีวิต คิดบวกเสมอ

บรรณานุกรม

  1. https://my.clevelandclinic.org/hea857-broken-heart-syndrome [2019,Dec21]
  2. https://www.health.harvard.edu/heart-health/takotsubo-cardiomyopathy-broken-heart-syndrome [2019,Dec21]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Takotsubo_cardiomyopathy [2019,Dec21]
  4. https://emedicine.medscape.com/article/1513631-overview#showall [2019,Dec21]