โรคหลอดอาหาร หรือ โรคของหลอดอาหาร (Esophageal disease)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ:คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?

โรคหลอดอาหาร หรือ โรคของหลอดอาหาร(Esophageal disease หรือ Esophageal disorder) คือโรค/ภาวะผิดปกติต่างๆที่เกิดกับหลอดอาหาร ซึ่งเป็นโรค/ภาวะผิดปกติที่พบเช่นเดียวกับที่เกิดกับอวัยวะต่างๆทั่วร่างกาย เช่น โรคติดเชื้อ, โรคหลอดเลือด, โรคมะเร็ง ทั้งนี้อาการหลักของโรคหลอดอาหาร คือเจ็บในช่องอกขณะกลืนอาหาร/น้ำดื่ม และกลืนลำบาก

ทั่วไป หลอดอาหารเป็นอวัยวะไม่ค่อยเกิดโรคเพราะเป็นเพียงทางผ่านของอาหาร/น้ำดื่ม จากลำคอ/คอหอยสู่กระเพาะอาหารเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีโรคหนึ่งของหลอดอาหารที่พบบ่อยทั่วโลก คือ โรคกรดไหลย้อน

โรคหลอดอาหาร พบทั่วโลก ทุกเพศ และทุกวัย ตั้งแต่เด็กแรกเกิดไปจนถึงผู้สูงอายุ

หลอดอาหาร(Esophagus, มาจากภาษากรีก หมายถึง ทางผ่านสู่กระเพาะอาหาร): ความหมายจากพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ให้ความหมายว่า คือ ทางเดินอาหาร อยู่ระหว่างคอหอยส่วนล่างกับกระเพาะอาหาร

หลอดอาหาร เป็นท่อกลวงยาว อยู่ในตลอดความยาวของช่องอก โดยต่อเนื่องลงมาจากคอยหอยส่วนล่าง(คอหอยส่วนกล่องเสียง)ไปจนถึงกระเพาะอาหารส่วนบน หลอดอาหารมีเส้นผ่าศูนย์กลางเฉลี่ยประมาณ 2 ซม. ยาวประมาณ 23-25 ซม. ขึ้นกับความยาวของช่องอกแต่ละคน(ตั้งแต่ประมาณ กระดูกสันหลังคอข้อที่6 ถึงกระดูกสันหลังอกข้อที่10) ผนังประกอบด้วยเยื่อเมือก/เยื่อบุผิว และกล้ามเนื้อที่แข็งแรงเพื่อทำหน้าที่บีบตัวไล่อาหารเข้าสู่กระเพาะอาหาร โดยมีหูรูดที่ส่วนบนสุดคอยป้องกันไม่ให้อาหารย้อนจากหลอดอาหารกลับเข้าไปในคอหอย และหูรูดที่ส่วนล่างสุดที่ต่อกับกระเพาะอาหารซึ่งคอยป้องกันไม่ให้อาหารจากกระเพาะอาหารย้อนกลับเข้าสู่หลอดอาหาร

หลอดอาหารเป็นโรคอะไรได้บ้าง?มีสาเหตุจากอะไร?

โรคหลอดอาหาร

หลอดอาหารเกิดโรคได้หลากหลายโรคเช่นเดียวกับโรคของอวัยวะทุกอวัยวะ แต่ทั่วไปโรคของหลอดอาหารพบไม่บ่อยนัก ยกเว้นโรคกรดไหลย้อนที่เป็นโรคพบบ่อยที่สุดของหลอดอาหาร ในบทความนี้จะยกตัวอย่างโรคหลอดอาหารที่พบได้บ่อยๆ หรือพบเรื่อยๆเท่านั้น เช่น

ก. โรคกรดไหลย้อน: เป็นโรคหลอดอาหารพบบ่อยมาก มีการศึกษาจากสหรัฐอเมริกา พบโรคนี้ได้ถึง 25-40%ของประชากรสหรัฐ พบทุกวัย ตั้งแต่เด็กแรกเกิดไปจนถึงผู้สูงอายุ ผู้หญิงและผู้ชายเกิดโรคได้ใกล้เคียงกัน โรคเกิดจากการทำงานขาดประสิทธิภาพของหูรูดหลอดอาหารตอนล่างที่มีหน้าที่ป้องกันไม่ให้อาหาร/กรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับเข้าไปในหลอดอาหาร ซึ่งกรดนี้จะก่อให้เกิดการอักเสบเรื้อรังต่อเยื่อบุผิวที่ผนังภายในหลอดอาหาร ที่เรียกว่า ‘โรคกรดไหลย้อน’ (แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมของโรคนี้จาก เว็บ haamor.com บทความเรื่อง ‘กรดไหลย้อน’

ข. โรคมะเร็งหลอดอาหาร: เป็นมะเร็งพบทั่วโลก พบบ่อยเป็นลำดับ8ของมะเร็งทั่วโลก แต่เป็นลำดับ9ของชายไทย(ไม่ติด10ลำดับของมะเร็งหญิงไทย) เป็นโรคของผู้ใหญ่วัยกลางคนขึ้นไป ผู้ชายพบบ่อยกว่าผู้หญิงประมาณ3-4เท่า โดยสาเหตุเกิดยังไม่แน่ชัด แต่ปัจจัยเสี่ยงสำคัญ เช่น

  • ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์/สุราเรื้อรัง
  • สูบบุหรีเรื้อรัง
  • โรคกรดไหลย้อน(เป็นสาเหตุพบน้อย)
  • บริโภคอาหารหมักดองเป็นประจำ

(แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจากเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ’มะเร็งหลอดอาหาร’)

ค. หลอดเลือดดำขอดที่ส่วนปลายหลอดอาหาร(Esophageal varices): คือ ภาวะที่หลอดเลือดดำต่างๆที่อยู่ในชั้นใต้เยื่อเมือก/เยื่อบุผิวของหลอดอาหารส่วนปลายขยายใหญ่จนมองเห็นเป็นเส้นคดเคี้ยวคล้ายเส้นเชือก(หลอดเลือดขอด) ซึ่งมีสาเหตุจากโรคตับแข็งระยะรุนแรงที่ส่งผลให้เลือดดำจากลำไส้(หลอดเลือดพอร์ทัลตับ)ไม่สามารถไหลผ่านตับได้สะดวก เลือดจึงคั่งอยู่ในหลอดเลือดพอร์ทัลตับจนเกิดความดันหลอดเลือดพอร์ทัลตับสูง เลือดเหล่านั้นจึงไหลท้นเข้าสู่หลอดเลือดดำหลอดอาหารแทนหลอดเลือดดำหลอดอาหารจึงได้รับปริมาณเลือดเพิ่มขึ้นมาก จึงขยายใหญ่ขึ้นจนเกิดเป็นหลอดเลือดขอด

หลอดเลือดดำขอดที่ส่วนปลายหลอดอาหาร พบทุกอายุ แต่มักพบในผู้ใหญ่ ผู้ชายพบบ่อยกว่าผู้หญิง โดยมีการดื่มสุราเรื้อรังเป็นสาเหตุสำคัญของตับแข็ง ซึ่งอาการสำคัญของภาวะนี้ คือ อาเจียนเป็นเลือดจากหลอดเลือดขอดฯเหล่านี้แตก ซึ่งถ้าเลือดออกรุนแรง จะเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้

(แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ’โรคตับแข็ง ’ และเรื่อง ’ความดันหลอดเลือดพอร์ทัลตับสูง’ )

ง. กล้ามเนื้อเรียบหลอดอาหารไม่คลาย(Esophageal achalasia): เป็นโรคที่กล้ามเนื้อหลอดอาหารไม่สามารถบีบตัวได้ ร่วมกับหูรูดที่ส่วนล่างของกระเพาะอาหารไม่สามารถเปิดได้ปกติ จึงส่งผลให้มีอาหารตกค้าง คั่ง สะสมในหลอดอาหาร เพราะไม่สามารถไหลลงสู่กระเพาะอาหารได้ ส่งผลให้หลอดอาหารขยายใหญ่ขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งสาเหตุเกิดภาวะนี้ แพทย์ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อว่าน่าจะมีความผิดปกติของระบบประสาทที่ควบคุมการบีบตัวของหลอดอาหาร

กล้ามเนื้อหลอดอาหารไม่ทำงาน พบไม่บ่อย ประมาณ 1 -1.6 รายต่อประชากร 1แสนคน มักพบในช่วงอายุ 30-50ปี พบน้อยในเด็กประมาณ 5%ของโรคนี้ทั้งหมด ผู้หญิงและผู้ชายเกิดโรคได้ใกล้เคียงกัน

จ. ความพิการแต่กำเนิด: ที่เกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรมชนิดไม่ถ่ายทอด โรคกลุ่มนี้พบน้อย พบโอกาสเกิดเท่ากันทั้งหญิงและชาย ซึ่งผู้ป่วยมักมีอาการตั้งแต่แรกเกิดคือกลืนอาหาร/นมไม่ได้/สำลักทุกครั้งที่บริโภคทางปาก เช่น ภาวะ/โรคหลอดอาหารตีบตันในเด็กแรกเกิด(Esophageal atresia)

ฉ. หลอดอาหารบาร์เรทท์(Barrett’s esophagus ย่อว่า BE): คือ โรค/ภาวะที่เยื่อเมือกบุผนังภายในหลอดอาหารเกิดการเปลี่ยนแปลงผิดปกติเรื้อรัง โดยเปลี่ยนไปเป็นเซลล์ที่สามารถกลายเป็นเซลล์มะเร็ง(Dysplasia)ได้ จากการที่เยื่อเมือกมีการอักเสบเรื้อรังจากกรดในกระเพาะอาหารจากโรคกรดไหลย้อนเรื้อรัง การเปลี่ยนแปลงนี้เกิดได้ทุกส่วนของหลอดอาหารที่กรดไหลย้อนขึ้นไปถึง แต่มักพบที่หลอดอาหารส่วนปลาย อย่างไรก็ตาม การการกลายพันธ์ไปเป็นมะเร็งหลอดอาหาร(มักเป็นชนิด Adenocarcinoma)พบได้น้อย มีรายงานพบได้ประมาณ 0.1-0.3%

หลอดอาหารบาร์เรทท์มักพบในผู้ใหญ่ อายุ 40ปีขึ้นไป ทั่วโลกมีรายงานพบได้ 1-4%ของประชากร พบในผู้ชายบ่อยกว่าในผู้หญิงประมาณ 5-10 เท่า

ช. แผ่นเนื้อเยื่อขวางทางเดินหลอดอาหาร(Esophageal web): คือโรค/ภาวะที่มีแผ่นเนื้อเยื่อบางๆ มีขนาดประมาณ 2-3 มม. เกิดขวางทางเดินในหลอดอาหาร โดยเกิดในส่วนไหนของหลอดอาหารก็ได้ แต่มักพบที่หลอดอาหารส่วนต้นๆ ทั่วไปไม่ก่ออาการ แต่เมื่อก่ออาการ มักเป็นอาการกลืนลำบาก

ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุโรคนี้ แต่พบโรคนี้ในผู้ป่วยโรคอื่นๆหลายโรค เช่น โรคกรดไหลย้อน, ภาวะโลหิตจางจากขาดธาตุเหล็ก, ผู้เคยได้รับการฉายรังสีรักษาที่หลอดอาหาร, ผู้ป่วยที่เป็นโรคผิวหนังบางชนิด, ภาวะสเต็มเซลล์ใหม่ต่อต้านร่างกาย

โรคแผ่นเนื้อเยื่อขวางทางเดินหลอดอาหาร พบทุกเชื้อชาติแต่พบบ่อยกว่าในคนผิวขาว พบทุกเพศแต่พบบ่อยกว่าในผู้หญิง พบทุกอายุแต่พบบ่อยในวัยกลางคนขึ้นไป

ซ. ถุงผนังหลอดอาหาร(Esophageal diverticulum): คือ โรค/ภาวะที่เกิดมีถุงยื่นออกไปจากผนังหลอดอาหารส่วนใดก็ได้ โดยเกิดจากผนังส่วนนั้นอ่อนแอลง เมื่อมีการบีบตัวขับเคลื่อนอาหารของหลอดอาหารอย่างต่อเนื่อง จึงส่งผลให้ผนังส่วนอ่อนแอนี้ค่อยๆยืดออกไปเป็นถุงหรือเป็นกระเปาะที่มีช่องติดต่อกับทางเดินหลอดอาหาร ก่อให้เกิดอาการกลืนลำบาก กลืนแล้วสำลัก จนเป็นสาเหตุให้อาหารอาจสำลักเข้าปอด เกิดปอดอักเสบได้บ่อย ซึ่งโรคนี้มักเกิดในคนที่มีความผิดปกติในการบีบตัวของหลอดอาหาร เช่น โรค Esophageal achalasia

โรคถุงผนังหลอดอาหาร พบน้อย ประมาณ 5%ของผู้ที่มาพบแพทย์ด้วยอาการกลืนลำบาก พบทั้งสองเพศใกล้เคียงกัน มักพบในผู้ใหญ่ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ

ฌ. หลอดอาหารตีบที่เกิดภายหลัง ไม่ได้เกิดแต่กำเนิด: คือ โรคที่หลอดอาหารตีบแคบลง ซึ่งอาการสำคัญคือ กลืนลำบาก โรคนี้มักเกิดจากเนื้อเยื่อหลอดอาหารอักเสบ บาดเจ็บเรื้อรัง เช่น สาเหตุจากโรคกรดไหลย้อนเรื้อรังรุนแรง หรือการกินน้ำกรด หรือด่าง (อาจจากอุบัติเหตุ หรือ ฆ่าตัวตาย)

โรคในกลุ่มนี้ พบน้อย พบในผู้หญิงและผู้ชายเท่ากัน พบทุกอายุ แต่มักพบในผู้ใหญ่

ญ. หลอดอาหารทะลุ : เป็นโรคพบน้อยมาก พบทุกอายุ แต่มักพบในผู้ใหญ่ ผู้หญิงและผู้ชายพบได้ใกล้เคียงกัน อาการสำคัญคือ ไอเรื้อรัง และเจ็บช่องอกโดยเฉพาะขณะบริโภคอาหารทางปาก สาเหตุมักเกิดจากดื่มกรด หรือด่าง และในโรคมะเร็งหลอดอาหารระยะลุกลามรุนแรง

อะไรเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดโรคหลอดอาหาร?

ผู้มีปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดอาหาร ได้แก่

  • โรคกรดไหลย้อน ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงเกิด หลอดอาหารอักเสบ, หลอดอาหารบาร์เรทท์
  • สูบบุหรี่ เป็นปัจจัยเสี่ยงเกิด มะเร็งหลอดอาหาร กรดไหลย้อน
  • ดื่มสุรา/เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นปัจจัยเสี่ยงเกิดมะเร็งหลอดอาหาร
  • มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ เป็นปัจจัยเสี่ยงเกิดหลอดอาหารอักเสบที่มักเกิดจาก เชื้อรา(โรคแคนดิไดอะซิส)
  • ดื่มน้ำกรด หรือด่าง เป็นปัจจัยเสี่ยงเกิดหลอดอาหารตีบตัน และ/หรือ หลอดอาหารทะลุ

โรคหลอดอาหารมีอาการอย่างไร?

อาการของโรคหลอดอาหารทุกสาเหตุ มักมีอาการที่คล้ายคลึงกัน ทั่วไปที่ทำให้แพทย์นึกถึงโรคของหลอดอาหาร ได้แก่

  • แสบร้อนกลางอก
  • กลืนลำบาก
  • กลืนแล้วสำลัก เรื้อรัง
  • ไอเรื้อรัง โดยเฉพาะหลังการบริโภคทางปาก
  • เป็นปอดบวม/ปอดอักเสบ เป็นๆหายๆ เรื้อรัง
  • มีน้ำลาย/เสลดเป็นเลือด
  • อาเจียนเป็นเลือด
  • อาการอื่นๆที่พบร่วมกับอาการดังกล่าวในต้นหัวข้อนี้ ที่มักเป็นอาการระยะท้ายของโรค เช่น
    • ผอม น้ำหนักตัวลดต่อเนื่อง
    • ทุโภชนาการ/ภาวะขาดอาหาร
    • อ่อนเพลีย
    • บวม มือ-เท้า จากภาวะขาดอาหาร
    • ต่อมน้ำเหลืองเหนือกระดูกไหปลาร้า และ/หรือ ต่อมน้ำเหลืองลำคอ โต คลำได้

ควรพบแพทย์เมื่อไร?

เมื่อมีอาการดังกล่าวใน ‘หัวข้อ อาการฯ’ ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาล

แพทย์วินิจฉัยโรคหลอดอาหารได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคหลอดอาหารได้จาก

  • การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น อาการ โรคประจำตัว ยาต่างๆที่ใช้อยู่ ประวัติโรคในครอบครัว การสูบบุหรี่ การดื่มสุรา การเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักตัว
  • การตรวจร่างกาย อาจร่วมกับการตรวจดูช่องปาก ช่องคอ การคลำต่อมน้ำเหลืองที่คอ
  • การตรวจสืบค้นอื่นๆเพิ่มเติมตามอาการผู้ป่วยและดุลพินิจของแพทย์ เช่น
    • การตรวจเลือด เพื่อดูค่าสำคัญต่างๆต่อสุขภาพ เช่น ซีบีซี/CBC, ค่าการทำงาน ของตับ ของไต, ค่าเกลือแร่ในเลือด
    • การตรวจภาพหลอดอาหารด้วยเอกซเรย์กลืนแป้ง
    • การตรวจภาพหลอดอาหารอย่างละเอียดด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์
    • การส่องกล้องตรวจหลอดอาหาร อาจร่วมกับการตัดชิ้นเนื้อที่รอยโรคเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา

มีแนวทางรักษาโรคหลอดอาหารอย่างไร?

แนวทางการรักษาโรคหลอดอาหาร ขึ้นกับ

  • แต่ละสาเหตุของโรค
  • อาการผู้ป่วย
  • อายุ, สุขภาพร่างกายผู้ป่วย
  • และดุลพินิจของแพทย์

ก.การรักษาสเหตุ: จะต่างกันในแต่ละผู้ป่วยตามแต่สาเหตุ เช่น

  • การใช้ยาต่างๆ เช่น
    • ยาลดกรด, ยาเพิ่มการเคลื่อนไหวของทางเดินอาหาร กรณีสาเหตุโรคกรดไหลย้อน
    • การฉีดยา โบทอกซ์(Botulinum toxin)ที่หูรูดหลอดอาหารส่วนล่าง กรณีสาเหตุโรคกล้ามเนื้อเรียบหลอดอาหารไม่คลาย
    • การใช้ยาคลายกล้ามเนื้อเรียบ กรณีสาเหตุจากโรคกล้ามเนื้อเรียบหลอดอาหารไม่คลาย
  • การผ่าตัด: ที่มีทั้งการผ่าตัดใหญ่ และการผ่าตัดเล็ก เช่น
    • ผ่าตัดกระเพาะอาหารออกทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมด กรณีเมื่อสาเหตุเกิดจากมะเร็งหลอดอาหาร
    • การผ่าตัดขยายหูรูดส่วนล่างของหลอดอาหาร กรณีสาเหตุจากโรคกล้ามเนื้อหลอดอาหารไม่คลาย
    • การผ่าตัดเอาหลอดอาหารเฉพาะรอยโรคออกในกรรณีสาเหตุจากโรคหลอดอาหารบาร์เร็ทท์
    • การใช้รังสีรักษา และ/หรือ ยาเคมีบำบัด กรณีสาเหตุจากมะเร็งหลอดอาหาร

ข. การรักษาประคับประคองตามอาการ: คือ การรักษาอาการอื่นๆตามอาการแต่ละผู้ป่วย เช่น

  • การให้ยาแก้ปวดท้อง
  • ยาแก้คลื่นไส้อาเจียน
  • การให้เลือดกรณีซีดมาก
  • การให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำกรณีมีภาวะขาดน้ำ และ/หรือมีภาวะเกลือแร่ในเลือดไม่สมดุล
  • การให้สารอาหารทางหลอดเลือดดำกรณีกินอาหารได้น้อย หรือขาดอาหาร
  • การผ่าตัดเล็กเพื่อใส่ท่อให้อาหารผ่านทางหน้าท้องกรณีบริโภคทางปากไม่ได้หรือได้น้อย
  • การให้ยาปฏิชีวนะ กรณีเกิดปอดอักเสบจากสำลักอาหารเข้าปอด

(แนะนำอ่านรายละเอียด ในแต่ละโรคที่เป็นสาเหตุ ที่รวมถึง ‘วิธีรักษา’ ได้จากเว็บ haamor.com)

โรคหลอดอาหารรุนแรงไหม?

การพยากรณ์โรค/ความรุนแรงของโรคหลอดอาหารขึ้นกับหลายปัจจัย ที่สำคัญคือ สาเหตุ, ความรุนแรงของอาการ, สุขภาพร่างกายผู้ป่วยที่รวมถึงอายุผู้ป่วย, ซึ่งแพทย์ผู้รักษาเท่านั้นที่จะให้การพยากรณ์โรคของผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสม โดยมีได้ตั้งแต่

  • มีการพยากรณ์โรคที่ดี แต่โรคย้อนกลับเป็นซ้ำได้เสมอเมื่อละเลยการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น โรคกรดไหลย้อน
  • มีการพยากรณ์โรคดีปานกลาง เช่น โรคกล้ามเนื้อเรียบหลอดอาหารไม่คลาย
  • มีการพยากรณ์โรคที่เลว เป็นเหตุเสียชีวิตได้ เช่น มะเร็งหลอดอาหาร

(แนะนำอ่านรายละเอียด ในแต่ละโรคที่เป็นสาเหตุ ที่รวมถึง ‘การพยากรณ์โรค’ ได้จากเว็บ haamor.com)

ดูแลตนเองอย่างไร? พบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคหลอดอาหารจะแตกต่างกันในแต่ละสาเหตุ โดยทั่วไปที่สำคัญและที่เหมือนกันในทุกสาเหตุ คือ

  • ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • กินยา/ใช้ยาที่แพทย์สั่งในถูกต้อง ไม่หยุดยาเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน
  • พบแพทย์/ มาโรงพยาบาล ตามแพทย์นัดเสมอ
  • ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนแพทย์นัดเมื่อ
    • อาการต่างๆเลวลง และ/หรือ มีอาการใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนเกิดขึ้น เช่น มีไข้ร่วมกับ อาการไอ และ/หรือท้องเสีย, อาเจียนเป็นเลือด, สายให้อาหารหลุด
    • มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ขึ้นผื่น วิงเวียนศีรษะต่อเนื่อง ใจสั่นมาก เป็นลมบ่อย
    • กังวลในอาการ

(แนะนำอ่านรายละเอียด ในแต่ละโรคที่เป็นสาเหตุ ที่รวมถึง ‘การดูแลตนเอง’ ได้จากเว็บ haamor.com)

มีการตรวจคัดกรองโรคหลอดอาหารไหม?

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีตรวจคัดกรองให้พบโรคของหลอดอาหารตั้งแต่ยังไม่มีอาการ ดังนั้นวิธีดูแลตนเองที่ดีที่สุดคือ รีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเมื่อมีอาการดังกล่าวใน ‘หัวข้อ อาการฯ’ เพื่อการวินิจฉัยและรักษาโรคแต่เนิ่นๆที่จะให้ประสิทธิผลการรักษาที่ดีกว่าการมาพบแพทย์เมื่ออาการเป็นนานจนเรื้อรังแล้ว

ป้องกันโรคหลอดอาหารได้อย่างไร?

การป้องกันโรคหลอดอาหารให้ได้เต็มร้อย ยังเป็นไปไม่ได้ เพราะหลายโรค/หลายสาเหตุ แพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด และหลายโรคก็ป้องกันไม่ได้ เช่น ความผิดปกติทางพันธุกรรม

อย่างไรก็ตาม หลายโรคก็สามารถลดโอกาสเกิดลงได้อย่างมีประสิทธิผล ด้วยการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต/การบริโภค เช่น

  • โรคกรดไหลย้อน
  • มะเร็งหลอดอาหาร
  • โรคตับแข็ง
  • การรักษาสุขภาพจิต ที่จะช่วยลดปัญหาการฆ่าตัวตายด้วยการดื่มกรด/ด่าง

(แนะนำอ่านรายละเอียด ในแต่ละโรคที่เป็นสาเหตุ ที่รวมถึง ‘การป้องกันโรค’ ได้จากเว็บ haamor.com)

บรรณานุกรม

  1. Massimiliano di Pietro, et al. Gut and Liver.2014,8(4);356-370
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Esophageal_disease[2019,Aug10]
  3. https://ddc.musc.edu/public/diseases/esophagus/index.html[2019,Aug10]
  4. https://medlineplus.gov/esophagusdisorders.html[2019,Aug10]
  5. https://stanfordhealthcare.org/medical-conditions/digestion-and-metabolic-health/benign-esophageal-disease.html[2019,Aug10]
  6. http://haamor.com/th/%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%AD%E0%B8%94%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A3/[2019,Aug10]