โรคสครับไทฟัส (Scrub typhus)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 20 มกราคม 2562
- Tweet
- บทนำ
- โรคสครับไทฟัสเกิดจากอะไร?
- โรคสครับไทฟัสมีอาการอย่างไร?
- แพทย์วินิจฉัยโรคสครับไทฟัสได้อย่างไร?
- รักษาโรคสครับไทฟัสอย่างไร?
- โรคสครับไทฟัสรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงไหม?
- ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?
- ป้องกันโรคสครับไทฟัสอย่างไร?
- บรรณานุกรม
- โรคติดเชื้อ ภาวะติดเชื้อ (Infectious disease)
- โรคไทฟอยด์ ไข้ไทฟอยด์ (Typhoid fever)
- ไข้รากสาดใหญ่ (Typhus)
- แบคทีเรีย: โรคจากแบคทีเรีย (Bacterial infection)
- อาการปวดศีรษะร้ายแรง:สัญญาณอันตรายของอาการปวดศีรษะ (Red Flag in Headache)
- ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics)
- เตตราไซคลีน (Tetracycline)
- ไตวาย ไตล้มเหลว (Renal failure)
- หัวใจอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (Myocarditis)
บทนำ
โรคสครับไทฟัส (Scrub typhus) หรือโรคไข้รากสาดพุ่มไม้ หรือโรคไข้รากสาดไรอ่อน (Chigger,ไรอ่อน หรือไรแดง เนื่องจากตัวไรอ่อนจะออกสีชมพูแดง) หรือไข้ไรอ่อน หรือโรคธสุธสุกามูชิ (Tsutsugamushi disease) เป็นโรคไข้สูงเฉียบพลันซึ่งเกิดจากร่างกายติดเชื้อแบคทีเรียในกลุ่มริกเก็ตเซีย (Rickettsia) ชนิด Rickettsia tsutsugamushi หรือ อีกชื่อ คือ Orientia tsutsugamushi (O. tsutsugamushi)
โรคสครับไทฟัส เป็นโรคประจำถิ่นในชนบทแถบเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมทั้งประเทศไทย ประเทศญี่ปุ่น และประเทศเกาหลี
โรคสครับไทฟัส มีรายงานครั้งแรกในปี พ.ศ. 2442 ที่ได้ชื่อว่า สครับไทฟัส เพราะมักพบโรคหลังจากผู้ป่วยมีประวัติทำงาน หรือท่องเที่ยวในถิ่นที่มีพุ่มไม้เตี้ยๆ ซึ่ง ‘Scrub’ เป็นภาษาอังกฤษ แปลว่า พุ่มไม้ หรือ ต้นไม้เตี้ยๆ ทั้งนี้เพราะไรอ่อนจะอาศัยอยู่ตามใบไม้ ใบหญ้า ใกล้ๆกับพื้นดิน (เพราะมีความชื้นมากกว่า) และจะกระ โดดเกาะตามเสื้อผ้าของคน และกัดผิวหนังที่สัมผัสกับเสื้อผ้า ซึ่งโดยปกติเราจะมองไม่เห็นตัวไรอ่อนเพราะตัวเล็กมากขนาดเพียงประมาณ 0.17-0.21 มิลลิเมตร แต่ถ้าสังเกตดีๆหรืออยู่รวมกันหลายตัว อาจมองเห็นได้ ส่วน ‘Typhus’ เป็นภาษากรีก แปลว่า ขุ่นมัว ซึ่งคือการบรรยายอารมณ์ของคนเป็นโรคนี้
นอกจากนี้ ยังพบไรอ่อนได้ในบริเวณที่มีการถางป่า ลานปลูกหญ้า กองหญ้า และกองฟาง แต่อย่างไรก็ตาม โรคนี้สามารถพบได้ในแถบชายทะเล ภูเขาที่เป็นทราย และในป่าที่มีฝนตกชุก โดยทั่วไป โรคนี้เป็นโรคของชนบท ไม่ค่อยพบเกิดในเมือง
สถิติการเกิดโรคสครับไทฟัสที่แท้จริงทั่วโลกยังไม่ทราบชัดเจน แต่พบว่าในถิ่นที่มีโรคนี้เป็นโรคประจำถิ่น พบอุบัติการณ์ของโรคนี้ได้ประมาณ 18-23% ของประชากรในถิ่นนั้น
ส่วนประเทศไทย โรคนี้พบในทุกภาค แต่พบมากในภาคเหนือและภาคตะวันออก เฉียงเหนือ โดยรายงานจากกระทรวงสาธารณสุข เมื่อ พ.ศ. 2558 พบผู้ป่วยทั่วประเทศ คิดเป็น 11.83 รายต่อประชากร 1 แสนคน และ อัตราตาย 0.02 รายต่อประชากร 1 แสนคน
โรคสครับไทฟัส เป็นโรคที่พบได้ตลอดทั้งปี แต่ในญี่ปุ่นจะพบสูงขึ้นในปลายฤดูหนาวถึงต้นฤดูร้อนเพราะเป็นช่วงที่ตัวไรอ่อนเจริญได้ดีเนื่องจากอากาศอบอุ่นขึ้น ส่วนในประเทศไทยจะมีรายงานโรคสูงขึ้นในช่วงปลายฤดูฝนต้นฤดูหนาว ซึ่งเป็นช่วงท่องเที่ยว อาจเพราะเป็นฤดูท่องเที่ยวของภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
โรคสครับไทฟัสพบได้ในทุกอายุตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ โดยพบในผู้หญิงและในผู้ ชายใกล้เคียงกัน
โรคสครับไทฟัสเกิดจากอะไร?
โรคสครับไทฟัสเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่เรียกว่า Rickettsia tsutsugamushi หรืออีกชื่อ คือ Orientia tsutsugamushi ซึ่งเป็นปรสิตอาศัยอยู่ในตัวไร (Mite) ชนิดสายพันธุ์ที่ชื่อว่า Leptotrombidium akamushi และ Leptotrombidium deliense ดังนั้นตัวไรนี้จึงเป็นรังโรคปฐมภูมิ (Primary reservoir) ของแบคทีเรียเหล่านี้ โดยไรตัวเมียจะเป็นตัวถ่าย ทอดแบคทีเรียในตัวมันผ่านสู่ไรตัวอื่นๆตั้งแต่ยังเป็นไข่อยู่ในรังไข่ (Transovarial transmis sion)
ตัวไรเหล่านี้อาศัยเป็นปรสิตของสัตว์ในตระกูลหนู (Rodent) เช่น หนูชนิดต่างๆ รวม ทั้งหนูนา และตัวตุ่น ดังนั้นสัตว์ในตระกูลหนูจึงจัดเป็นรังโรคทุติยภูมิ (Secondary reser voir) ของแบคทีเรียชนิดนี้
แบคทีเรียชนิดนี้ อาศัยอยู่ในทุกเซลล์ของตัวไร แต่พบมากในต่อมน้ำลาย เมื่อตัวอ่อนของมันที่เรียกว่า ไรอ่อน (Larva) ที่มีเชื้อโรคนี้อยู่ กัดคน น้ำลายของไรอ่อนมีเอนไซม์ที่ย่อยสลายเซลล์ จะย่อยสลายเซลล์ผิวหนังให้เกิดเป็นแผลหนังตาย สีดำคล้ำคล้ายถูกบุหรี่จี้ เรียกว่า Eschar (แผลไรกัด หรือ หนังตายล่อน) ซึ่งไม่เจ็บ แต่คัน โดยผิวหนังที่อยู่โดยรอบเนื้อตายจะบวมแดง ไม่เจ็บ ต่อ จากนั้นเชื้อโรคจะเข้าสู่ต่อมน้ำเหลืองในตำแหน่งที่ใกล้กับเนื้อตาย ทำให้เกิดต่อมน้ำเหลืองโต และ อาจโตได้ทั่วทั้งตัวภายในระยะเวลา 2-3 วันต่อมา
หลังจากนั้น เชื้อจะแพร่กระจายเข้ากระแสโลหิต (เลือด) เข้าสู่เซลล์เนื้อเยื่อบุโพรง (Endothelial cell) และเข้าสู่เซลล์เม็ดเลือดขาวในเนื้อเยื่อที่มีหน้าที่จับกินสิ่งแปลกปลอม (Macrophage) ก่อให้เกิดการอักเสบกับหลอดเลือดของเนื้อเยื่อ/อวัยวะต่างๆได้ทั่วตัว
ถ้าไม่ได้รับการรักษา ในผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อน้อย เชื้อไม่รุนแรง และร่างกายแข็งแรงดี ร่างกายอาจกำจัดเชื้อได้เอง และหายเองได้ภายในระยะ เวลาประมาณ 2 สัปดาห์
ส่วนในผู้ป่วยที่โรครุนแรงและไม่ได้รับการรักษา มีการติดเชื้อที่ปอด และที่สมอง จะมีโอกาสเสียชีวิตสูง
โรคสครับไทฟัสมีอาการอย่างไร?
จะพบอาการของโรคสครับไทฟัสเกิดได้ในช่วงประมาณ 6-20 วัน (ส่วนใหญ่ประมาณ 10 วัน) หลังถูกไรอ่อนกัด (ระยะฟักตัวของโรค) โดยอาการที่พบได้บ่อย คือ
- ตรวจพบแผลเนื้อตายบนผิวหนังในตำแหน่งที่ถูกไรอ่อนกัด ไม่เจ็บแต่มักคัน ซึ่งอาการคันอาจเกิดก่อนเกิดแผลเนื้อตาย (มักประมาณ 1-2 วันหลังถูกกัด) ซึ่งแผลเหล่านี้ จะหายได้เองภายในระยะเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ แผลอาจแตกมีน้ำเหลือง หรือ มีหนองได้จากการติดเชื้อแบคทีเรียอื่นๆซ้ำซ้อนจากเล็บจากการเกา ซึ่งแผลหนังตาย/Eschar นี้มักพบได้กับผิวหนังทุกส่วน รวมทั้งหนังศีรษะ แต่มักพบในผิวหนังส่วนที่บาง หรือเป็นรอยย่น เช่น รอบๆข้อเท้า ข้อพับเข่า ขาหนีบ รัก แร้ และรอบๆเอวตรงรอยเข็มขัด ซึ่งถ้าได้รับการตรวจจากแพทย์ผู้ชำนาญโรคนี้ จะพบแผลหนังตายนี้ได้ถึงประมาณ 70-90% ของผู้ป่วย และแผลนี้ใช้เป็นตัวช่วยแพทย์ในการวินิจฉัยโรคได้เป็นอย่างดี
- มีไข้สูงเกิดขึ้นทันที พบได้ประมาณ 98% หนาวสั่น ร่วมกับปวดศีรษะมาก อ่อนเพลีย และปวดเมื่อยตัว อาการไข้สูงมักเกิดพร้อมๆกับมีแผลเนื้อตาย
- มีต่อมน้ำเหลืองโต อาจเฉพาะบางแห่ง หรือ ทั่วตัว พบได้ประมาณ 40-97%
- คลำได้ตับโต ประมาณ 70% ม้ามโตประมาณ 20%
- ตาแดง ตากลัวแสง พบได้ประมาณ 30 %
- มีอาการทางระบบทางเดินอาหาร เช่น ปวดท้อง ท้องเสีย ท้องผูก (พบได้น้อยมาก) อาเจียน พบได้ประมาณ 0-30%
- มีหัวใจเต้นเร็ว พบได้ประมาณ 40%
- มีผื่นเป็นจุดแดงๆ แบนๆ ขึ้นบนลำตัว พบได้ประมาณ 30-40% มักเกิดขึ้นในปลายสัปดาห์แรกของการมีไข้ ซึ่งผื่นจะขึ้นรวดเร็วและหายไปเองได้อย่างรวด เร็ว
- ในรายที่รุนแรง และอาจเป็นสาเหตุให้เสียชีวิต ได้ คือ
- อาจมีโรคปอดอักเสบ พบได้ประมาณ 25-40% ผู้ป่วยจะมีอาการไอ หายใจเร็ว และพบความผิดปกติของปอดจากเอกซเรย์ปอด ซึ่งอาจรุนแรงมากในผู้สูงอายุ
- อาจมีสมองอักเสบ หรือ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ พบได้ประมาณ 3-10% โดยผู้ป่วยจะ กระสับกระส่าย ปวดศีรษะรุนแรง ตัว สั่น พูดไม่ชัด คอแข็ง และอาจ ชัก และโคม่า
- อาจมีกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ส่งผลให้หัวใจเต้นช้า แต่พบเกิดภาวะนี้ได้น้อยมาก
- อาจก่อให้เกิดการอักเสบของไต/ไตอักเสบ และเกิดไตวายเฉียบพลัน เสียชีวิตได้เช่นกัน แต่พบได้น้อยมาก
- อาจก่ออาการช็อกจากมีภาวะลิ่มเลือดเกิดกระจายในหลอดเลือดทั่วตัว (DIC, Disseminated intravascular coagulation) แต่เป็นอาการพบได้น้อยมากเช่นกัน
แพทย์วินิจฉัยโรคสครับไทฟัสได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยโรคสครับไทฟัส ได้ดังนี้ เช่น
ก. ในถิ่นที่มีโรคนี้ระบาดเป็นประจำ แพทย์วินิจฉัยโรคนี้
- จากประวัติอาการผู้ป่วย
- ร่วมกับ การตรวจร่างกายที่พบอาการผิดปกติดังได้กล่าวแล้วใน’หัวข้ออาการฯ’
ข. แต่เมื่อเกิดนอกถิ่นที่มีการระบาดของโรค จำเป็นต้องมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติมจากใน ‘ข้อ ก.’ เช่น
- การตรวจเลือดดูสารภูมิต้านทานของโรคนี้ ด้วยเทคนิคเฉพาะต่างๆ
- นอกจากนั้น อาจมีการตรวจหาเชื้อแบคทีเรียนี้ด้วยการเพาะเชื้อจากเลือด หรือด้วยเทคนิคที่เรียกว่า พีซีอาร์ (PCR, Polymerase chain reaction)
รักษาโรคสครับไทฟัสอย่างไร?
แนวทางการรักษาโรคสครับไทฟัส คือ ให้ยาปฏิชีวนะ และให้การรักษาประคับประคองตามอาการ
ก. ยาปฏิชีวนะที่ฆ่าเชื้อนี้ได้มีหลายชนิด เช่น ยาในกลุ่ม Tetracycline, Doxycycline, Chloramphenicol, Rifampin, Azithromycin ซึ่งแพทย์จะเลือกใช้ ชนิด และขนาดของยาตามความรุนแรงของโรคและตามดุลพินิจของแพทย์
ข. ส่วนการรักษาประคับประคองตามอาการ เช่น ยาลดไข้ และการให้สารน้ำและสารอาหารทางหลอดเลือดดำในผู้ป่วยที่อ่อนเพลีย และกินอาหารได้น้อย และการให้ออกซิเจน เมื่อเกิดโรคปอดอักเสบ
อนึ่ง ในส่วนอาการคันและการดูแลรักษาแผลเนื้อตาย คือ
- ป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียอื่นซ้ำซ้อนจากการเกา โดยการรักษาความสะอาดของเล็บ ตัดเล็บให้สั้น
- และทำความสะอาดแผลด้วยน้ำยาแอลกอฮอล์ 70% วันละ 2 ครั้ง และถ้าแผลไม่ดีขึ้น หรือลุกลามมากขึ้น ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาล
- ทายาแก้ตัวไรกัด (ปรึกษาเภสัชกรก่อนซื้อยาเสมอ)
- ทายาบรรเทาอาการคัน/ยาแก้คัน ในกลุ่ม Antihistamine
- แต่ถ้าคันมากแพทย์อาจให้ยาแก้คันชนิดกินร่วมด้วย
โรคสครับไทฟัสรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงไหม?
ความรุนแรง/การพยากรณ์โรค และผลข้างเคียงจากสครับไทฟัส ได้แก่
ก. ความรุนแรงในโรคสครับไทฟัสขึ้นกับ สายพันธุ์ย่อยของแบคทีเรียที่ก่อโรค, อายุ, และการพบแพทย์เร็วหรือช้า โดย
- อายุ: โรคจะรุนแรงน้อยกว่าเมื่อเกิดในเด็ก ทั่วไปมีอัตราการเสียชีวิต เช่น
- ประมาณ 5-10% ในเด็ก
- ประมาณ 20% ในอายุ 21-30 ปี
- และสูงถึงประมาณ 60% ในคนอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป
- การพบแพทย์เร็วหรือช้า:
- ถ้าพบแพทย์ได้เร็ว และได้ยาปฏิชีวนะเร็ว อัตราเสียชีวิตจะต่ำกว่า 5%
- แต่ถ้าพบแพทย์ล่าช้า อัตราเสียชีวิตประมาณ 15% และ
- ถ้าไม่ได้รับการรักษา อัตราเสียชีวิตจะประมาณ 0-60% (ดังกล่าวแล้วว่า ในคนที่แข็งแรง และได้รับเชื้อ สายพันธุ์ย่อยที่ไม่รุนแรง โรคอาจหายเองได้)
ข. ส่วนผลข้างเคียงจากโรคสครับไทฟัส (ดังได้กล่าวแล้วในหัวข้ออาการฯ) คือ
- โรคปอดอักเสบรุนแรง
- โรคสมองอักเสบ
- โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ
- โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
- ภาวะไตวายเฉียบพลัน
- และภาวะ ดีไอซี/DIC
อนึ่ง เมื่อเป็นโรคสครับไทฟัสแล้ว รักษาหายแล้ว สามารถติดเชื้อได้ใหม่อีก โดยถ้าเป็นเชื้อสายพันธุ์เดิม อาจมีภูมิต้านทานโรคอยู่ได้นานประมาณ 2-3 ปี แต่สามารถติดเชื้อสายพันธุ์อื่นได้ภายใน 1 เดือน
ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?
การดูแลตนเองและการพบแพทย์ ได้แก่
- ภายหลังดูแลตนเองเมื่อมีอาการดังกล่าวแล้วในหัวข้อ’อาการฯ’ แล้วอาการไม่ดีขึ้น หรืออาการเลวลง ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลภายใน 1-2 วันเสมอ โดยเฉพาะในผู้สูง อายุ และในคนมีโรคประจำตัว เพราะถึงแม้ในบางคน โรคจะหายได้เองจากการดูแลตนเอง แต่เราไม่ทราบว่า ใครเป็นผู้ที่ได้รับเชื้อสายพันธุ์รุนแรง และการพบแพทย์ล่าช้า ยังเป็นอีกปัจจัยที่เสริมให้โอกาสการเสียชีวิตสูงขึ้น ทั้งนี้การซื้อยาปฏิชีวนะกินเอง อาจใช้ชนิดและปริมาณยาไม่ตรงกับโรค ผลการรักษาจึงลดลง และอาจก่อปัญหาเชื้อดื้อยาได้
- แต่ถ้ามีอาการทางการหายใจ เช่น หอบเหนื่อย เจ็บหน้าอก ไอมาก และ/หรืออาการทางสมอง เช่น กระสับกระส่าย ปวดศีรษะรุนแรง คอแข็ง ดังกล่าวแล้ว ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเป็นการฉุกเฉิน/ทันที
ป้องกันโรคสครับไทฟัสอย่างไร?
ปัจจุบัน ยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคสครับไทฟัส ดังนั้น การป้องกันโรคสครับไทฟัส คือ เมื่อไปท่องเที่ยวในภูมิประเทศดังกล่าว หรือ การกางเต็นท์นอนบนลานหญ้า หรือการทำงานในพื้นที่มีลักษณะดังกล่าว ควร
- สวมใส่เสื้อผ้า กางเกงแขน/ขายาว ใส่ปลายกางเกงไว้ในรองเท้า สวมถุงน่อง และรองเท้าชนิดหุ้มส้นให้มิดชิด เสื้อควรปิดคอ ใส่ชาย เสื้อไว้ในกางเกง ทั้งนี้เพื่อป้องกันตัวไรกัด
- ทายาป้องกันแมลง หรือตัวไร แต่ไม่ควรใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 4 ปี เพราะอาจปนเปื้อนเข้าปากจากมือเด็กได้
- ไม่นั่ง นอนบนหญ้า ฝาง นานๆ หรืออยู่ใกล้ อยู่ใต้ต้นไม้ พุ่มไม้เตี้ยๆนานๆ
- กางเต็นท์ ในที่โล่งเตียน และได้มีการพ่นยาฆ่าตัวไรแล้ว
- เมื่อกลับจากเดินป่า หรือทำงาน ถอดเสื้อผ้าออกซักทันทีให้สะอาด แล้วตากแดดจัดให้แห้งสนิท นำกลับมาใช้ใหม่ได้ และต้องอาบน้ำทำความสะอาดเนื้อตัวทันที เพื่อกำจัดตัวไรที่อาจติดอยู่
- อาจกินยาปฏิชีวนะบางชนิด เพื่อป้องกันการติดเชื้อในกรณีต้องเข้าไปทำงานในพื้นที่เสี่ยง (ไม่แนะนำในผู้เข้าไปท่องเที่ยว เพราะไม่ได้ประโยชน์) และ*ต้องเป็นยาที่แพทย์สั่งเท่านั้น ห้ามซื้อยากินเอง* ทั้งนี้ต้องกินก่อนเข้าพื้นที่ประมาณ 3 วันและกินติดต่อกันทุกๆ 5วัน ไปถึงอีกประมาณ 35 วันหลังกลับจากพื้นที่แล้ว ดังนั้นจึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาฯเสมอเพื่อความถูกต้องในการใช้ยาฯ ทั้งชนิด, ขนาดยาฯ, และระยะเวลาในการใช้ยาฯ
- การพ่นยาฆ่าตัวไรในถิ่นที่มีตัวไรอาศัยชุกชุม
บรรณานุกรม
- Virat Sirisanthana et al. (2003). Epidemiologic, clinical and laboratory features of scrub typhus in thirty Thai children. Pediatr Infect Dis J. 22, 341-345.
- https://emedicine.medscape.com/article/971797-overview#showall [2018,Dec29]
- https://www.cdc.gov/typhus/scrub/index.html [2018,Dec29]
- http://en.wikipedia.org/wiki/Scrub_typhus [2018,Dec29]
- http://en.wikipedia.org/wiki/Trombiculidae [2018,Dec29]
- http://www.boe.moph.go.th/Annual/AESR2015/aesr2558/Part%201/02/scrub_typhus.pdf [2018,Dec29]
- https://emedicine.medscape.com/article/971797-treatment#d10 [2018,Dec29]