โรคลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผลเรื้อรัง (Ulcerative colitis)
- โดย แพทย์หญิง สลิล ศิริอุดมภาส
- 24 พฤศจิกายน 2562
- Tweet
- บทนำ
- อะไรเป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงของโรคลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผลเรื้อรัง?
- โรคลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผลเรื้อรังมีอาการอย่างไร?
- แพทย์วินิจฉัยโรคลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผลเรื้อรังอย่างไร?
- รักษาโรคลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผลเรื้อรังอย่างไร?
- โรคลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผลเรื้อรังมีผลข้างเคียงอย่างไร? รุนแรงไหม?
- ดูแลตนเองและป้องกันโรคลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผลเรื้อรังอย่างไร?
- ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?
- บรรณานุกรม
- กายวิภาคและสรีรวิทยาระบบทางเดินอาหาร (Anatomy and physiology of alimentary system)
- โรคทางเดินอาหาร โรคระบบทางเดินอาหาร (Digestive disease)
- ลำไส้อักเสบ (Enterocolitis)
- ลำไส้ใหญ่อักเสบ (Colitis)
- ลำไส้เล็กอักเสบ (Enteritis)
- เลือดออกในทางเดินอาหาร (Gastrointestinal bleeding or GI bleeding)
- ลำไส้ทะลุ (Gastrointestinal perforation)
- ท้องเสีย อาการท้องเสีย (Diarrhea)
- โรคโครห์น (Crohn’s disease)
บทนำ
โรคลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผลเรื้อรัง หรือเรียกย่อว่าโรคยูซี (Ulcerative colitis หรือ UC) เป็นโรคชนิดหนึ่งในกลุ่มของโรคลำไส้อักเสบเรื้อรังที่เรียกว่า โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง (Inflamma tory bowel disease) ซึ่งโรคในกลุ่มนี้ได้แก่ โรคลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผลเรื้อรัง, โรคโครห์น (Crohn’s disease), และ โรคลำไส้ใหญ่อักเสบแบบไม่แน่นอน (Indeterminate colitis)
ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดโรคลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผลเรื้อรังที่ชัดเจน โรคนี้จะมีการอักเสบเกิดขึ้นเฉพาะที่ลำไส้ใหญ่ โดยจะมีอาการเกี่ยวกับการอุจจาระที่ผิดปกติ ความสำคัญ คือโรคนี้เป็นโรคเรื้อรัง จึงอาจส่งผลต่อคุณภาพการดำเนินชีวิตประจำวัน รวมทั้งเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่สูงกว่าคนทั่วไป
โรคลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผลเรื้อรัง พบในคนเชื้อชาติตะวันตกมากกว่าเชื้อชาติเอเชีย โดยประเทศที่พบบ่อยคือ อเมริกา แคนาดา อังกฤษ ประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย และประเทศในแถบยุโรปเหนือ อย่างเช่นในประเทศสหรัฐอเมริกาพบอัตราการเกิดโรคประมาณ 10.4 - 12 คนต่อประชากร 100,000 คนต่อปี สำหรับในประเทศไทยพบได้น้อย นอกจากนี้พบว่าประชากรที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองและมีเศรษฐานะที่ดี มีอัตราการเกิดโรคบ่อยกว่าประชากรที่อาศัยอยู่ในเขตชนบทและมีเศรษฐานะต่ำ
อนึ่ง ช่วงอายุที่พบบ่อยของโรคนี้มี 2 ช่วง คือ 15 - 25 ปี และ 55 - 65 ปี ผู้ชายและผู้ หญิงพบได้เท่าๆกัน
อะไรเป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงของโรคลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผลเรื้อรัง?
ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดโรคลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผลที่ชัดเจน แต่เป็นที่ยอมรับว่าน่าเกิดจากผู้ป่วยบางคนมีพันธุกรรมบางอย่างที่ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคเมื่อร่วมกับปัจจัยจากสิ่งแวดล้อมบางชนิด
สารพันธุกรรมที่พบว่าอาจมีส่วนเกี่ยวข้องในการเกิดโรคลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผลเรื้อรัง และโรคอื่นๆในกลุ่มลำไส้อักเสบ มีอยู่หลายตัวและเกี่ยวข้องกับหลายโครโมโซม (Chromo some, หน่วยพันธุกรรมที่ควบคุมและถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรม คนปกติจะมีโครโมโซมทั้ง หมด 23 คู่) เช่น โครโมโซมคู่ที่ 1, 5, 12, 19 เป็นต้น และพบว่าอาจส่งทอดทางพันธุกรรมได้ โดยถ้ามีพ่อหรือแม่หรือพี่น้องคนใดคนหนึ่งเป็นโรคในกลุ่มลำไส้อักเสบ โอกาสที่จะเป็นโรคในกลุ่มนี้ด้วยมีประมาณ 10% แต่ถ้าทั้งพ่อและแม่เป็นโรคในกลุ่มนี้ โอกาสที่ลูกแต่ละคนจะเป็นโรคในกลุ่มนี้ด้วยมีถึง 36% การศึกษาในคู่แฝดที่เกิดจากไข่ใบเดียวกันพบว่า ถ้ามีแฝดคนหนึ่งเป็นโรคลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผลเรื้อรัง ประมาณ 6% จะพบแฝดอีกคนเป็นโรคนี้เช่นกัน
โดยทั่วไป เมื่อเรากินอาหารหรือสิ่งต่างๆ ระบบภูมิคุ้มกันต้านทานของลำไส้จะไม่ตอบสนองต่อต้านกับสิ่งแปลกปลอมเหล่านั้น (แต่ถ้านำเอาอาหารเหล่านั้นมาฉีดเข้ากล้ามเนื้อหรือฉีดเข้าเส้น/หลอดเลือด จะเกิดปฏิกิริยาต่อต้านที่รุนแรง) รวมทั้งไม่ต่อต้านกับเชื้อแบคทีเรียที่อาศัยอยู่เป็นปกติในลำไส้เราด้วย แต่ในผู้ป่วยโรคลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผลเรื้อรัง จะเกิดความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันต้านทานนี้ขึ้น โดยเซลล์เม็ดเลือดขาวที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบภูมิคุ้มกันต้าน ทานจะตอบสนองต่อสิ่งเหล่านั้น โดยการหลั่งสารเคมีต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบแบบเรื้อรัง และทำให้เกิดลำไส้อักเสบเรื้อรังตามมานั่นเอง
มีการศึกษาที่สันนิษฐานว่า การติดเชื้อแบคทีเรียที่เป็นเชื้อโรคบางชนิด เช่น Samonella sp, Shigella sp. อาจเป็นตัวกระตุ้นให้ลำไส้เกิดการอักเสบและกลายเป็นโรคลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผลเรื้อรังขึ้นมาได้ แต่ก็ยังขาดหลักฐาน เนื่องจากเมื่อเพาะเชื้อจากลำไส้ของผู้ป่วยก็ไม่พบเชื้อดังกล่าว ส่วนใหญ่จึงยังสันนิษฐานว่าเชื้อแบคทีเรียที่อาศัยอยู่เป็นปกติในลำไส้ (Normal flora) เช่น Bacteroides sp., Escherichia sp. น่าจะเป็นสาเหตุมากกว่า เพราะการให้ยาปฏิชีวนะ เพื่อไปฆ่าเชื้อเหล่านี้ ทำให้อาการของผู้ป่วยบางคนดีขึ้น
ในผู้ที่สูบบุหรี่จะพบอัตราการเป็นโรคลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผลเรื้อรังน้อยกว่าคนที่ไม่สูบบุหรี่ (ซึ่งตรงข้ามกับโรคลำไส้อักเสบชนิดที่เรียกว่า โรคโครห์น ที่การสูบบุหรี่จะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรค) แต่ในกรณีที่เคยสูบบุหรี่มาก่อนแล้วหยุดสูบ กลับเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคลำ ไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผลมากกว่าคนที่ไม่เคยสูบบุหรี่
พบว่าผู้ที่ป่วยเป็นโรคลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผลเรื้อรัง มีประวัติการใช้ยาแก้ปวดในกลุ่มเอ็นเสดส์ (NSAIDs) เช่น Voltaren มากกว่าคนปกติ จึงมีการสันนิษฐานว่า ยากลุ่มนี้อาจเป็นสา เหตุได้ นอกจากนี้ในผู้ที่ป่วยอยู่แล้ว การใช้ยาในกลุ่มนี้จะกระตุ้นให้อาการกำเริบได้ ความเครียด หรือมีภาวะกระทบกระเทือนจิตใจรุนแรง เช่น มีคนในครอบครัวเสียชีวิต การหย่าร้าง มีหลักฐานว่าทำให้อาการของโรคกำเริบขึ้นได้
มีการศึกษาพบว่า ผู้ที่เคยผ่าตัดโรคไส้ติ่งอักเสบมาก่อน มีอัตราการเป็นโรคลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผลเรื้อรังน้อยกว่าคนที่ไม่เคยผ่าตัดไส้ติ่งมาก่อน หรือผ่าตัดไส้ติ่งออกจากสาเหตุอื่นๆที่ไม่ได้เกิดจากไส้ติ่งอักเสบ
โรคลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผลเรื้อรังมีอาการอย่างไร?
โรคลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผลเรื้อรังจะพบการอักเสบเฉพาะที่ลำไส้ใหญ่ ซึ่งต่างจาก โรคโครห์น ที่จะเกิดการอักเสบได้ทั้งลำไส้ใหญ่และลำไส้เล็ก หรือแม้แต่หลอดอาหารและปากก็มีการอักเสบได้
ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่ได้เกิดขึ้นแบบเฉียบพลัน และอาการจะกำเริบขึ้นเป็นพักๆ มีช่วงที่ปกติสลับกับช่วงที่มีอาการ ได้แก่ ถ่ายอุจจาระบ่อย/ท้องเสีย หรือท้องผูก ถ่ายเป็นเลือด ถ่ายเป็นมูก อุจจาระอาจเหลวเป็นน้ำ ปวดเบ่ง ถ่ายไม่สุด การที่ผู้ป่วยจะมีอาการใดเด่นชัด ขึ้นกับตำแหน่งของลำไส้ใหญ่ที่มีการอักเสบกล่าวคือ
- ถ้ามีการอักเสบเฉพาะที่ลำไส้ตรง (Proctitis): จะถ่ายเป็นเลือดสดหรือเลือดปนมูก อาจเห็นเคลือบอยู่บนผิวของก้อนอุจจาระหรือปนเปไปกับอุจจาระที่เป็นก้อนปกติ มีอาการปวดเบ่ง คือมีความรู้สึกอยากถ่ายอุจจาระ แต่จริงๆแล้วไม่ได้มีอุจจาระอยู่ หรือถ่ายอุจจาระเสร็จแล้วยังรู้สึกถ่ายไม่สุด บางครั้งเวลาปวดถ่ายอุจจาระอาจกลั้นไม่ได้ ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการปวดท้อง การที่ลำ ไส้ตรงมีการอักเสบจะทำให้ลำไส้ส่วนที่อยู่เหนือขึ้นไปจากลำไส้ตรง เคลื่อนตัวบีบขับก้อนอุจจาระช้ากว่าปกติ ผู้ป่วยจึงมักมีอาการท้องผูก
- ถ้าการอักเสบเป็นตั้งแต่เหนือลำไส้ตรงขึ้นไป: จะถ่ายเป็นเลือดสดที่ปนเปไปกับก้อนอุจจาระ ในรายที่อาการรุนแรงจะถ่ายเป็นน้ำที่มีทั้งเลือด มูก และเนื้ออุจจาระปนกันออกมา การที่ลำไส้ส่วนที่อยู่เหนือลำไส้ตรงอักเสบ จะทำให้ลำไส้บีบตัวเคลื่อนไหวเร็วกว่าปกติ ทำให้ผู้ป่วยถ่ายอุจจาระบ่อย โดยมักจะเป็นช่วงกลางคืนหรือหลังกินอาหาร ผู้ป่วยบางคนอาจมีอาการปวดท้องบริเวณส่วนกลางท้อง เป็นแบบปวดบีบได้ ผู้ป่วยในกลุ่มนี้จะแบ่งย่อยออกเป็นอีก 3 กลุ่ม ตามความรุนแรงของอาการ คือ
1. อาการเล็กน้อย: ถ่ายน้อยกว่า 4 ครั้งต่อวัน มีเลือดปนในอุจจาระเล็กน้อย ไม่มีไข้ ไม่มีหัวใจ เต้นเร็ว มีโลหิตจางเล็กน้อย มีค่าการตกตะกอนของเลือด (ESR: Erythrocyte sedimentation rate) ขึ้นสูงไม่เกิน 30
2. อาการปานกลาง: ถ่าย 4 - 6 ครั้งต่อวัน มีเลือดปนในอุจจาระปานกลาง มีไข้ต่ำกว่า 37.5 อง ศาเซลเซียส หัวใจเต้นเร็วแต่น้อยกว่า 90 ครั้งต่อนาที มีโลหิตจางปานกลาง มีค่า ESR ขึ้นสูงไม่เกิน 30
3. อาการรุนแรง: ถ่ายมากกว่า 6 ครั้งต่อวัน มีเลือดปนในอุจจาระมาก มีไข้ต่ำ หัวใจเต้นเร็วมาก กว่า 90 ครั้งต่อนาที มีโลหิตจางมาก มีค่า ESR สูงเกิน 30
อนึ่ง นอกจากผู้ป่วยจะมีลำไส้ใหญ่อักเสบแล้ว อวัยวะอื่นๆอาจเกิดการอักเสบร่วมได้ด้วย เช่น
- การอักเสบของเนื้อเยื่อผนังลูกตาชั้นกลาง (Uveitis): พบได้ประมาณ 3.8% ของผู้ป่วย โดยจะมีอาการปวดตา ตากลัวแสง มองภาพไม่ชัด และอาจเป็นสาเหตุทำให้ตาบอดได้
- การอักเสบของท่อทางเดินน้ำดีภายในและภายนอกตับ (Primary sclerosing cholangitis): พบได้ประมาณ 3% ของผู้ป่วย โดยจะมีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง (โรคดีซ่าน) ปวดท้อง เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ผู้ป่วยที่มีอาการจากภาวะนี้อยู่นานประมาณ 5 - 10 ปี จะลงเอยด้วยการเป็นโรคตับแข็งและตับวายได้ประมาณ 10% จะกลายเป็นโรคมะเร็งของท่อทางเดินน้ำดี
- การอักเสบของกระดูกสันหลัง (Ankylosing spondylitis): พบได้ประมาณ 2.7% ของผู้ป่วย ทำให้เกิดอาการปวดหลังช่วงเอวและก้น มีอาการข้อแข็งในตอนเช้าและอาจทำให้กระดูกสันหลังผิดรูปได้
- การอักเสบของผิวหนัง ที่เรียกว่า Erythema nodosum: โดยผู้ป่วยจะมีตุ่มนูนแดง ปวดตามแขนและขา และอีกชนิดเรียกว่า Pyoderma nodosum โดยผู้ป่วยจะมีตุ่มหนองและแตกออกเป็นแผล บางครั้งมีขนาดใหญ่และหลายๆแผล ยากต่อการรักษา พบภาวะเหล่านี้ได้ประมาณ 1 - 2%
แพทย์วินิจฉัยโรคลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผลเรื้อรังอย่างไร?
เมื่อผู้ป่วยมีอาการของอุจจาระผิดปกติเรื้อรังดังกล่าว จะต้องใช้การตรวจเพิ่มเติมต่างๆ เพื่อ ยืนยันการวินิจฉัยโรคนี้และแยกโรคอื่นๆอีกหลายโรคที่มีอาการคล้ายกับโรคนี้ โดยเฉพาะการแยกจากโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ รวมทั้งเพื่อประเมินความรุนแรงของโรคด้วยการตรวจต่างๆได้แก่
1. การตรวจทางห้องปฏิบัติการ: ได้แก่
- การตรวจหาสารภูมิต้านทาน/แอนติบอดี/Antibody ชนิดที่เรียกว่า Antineutro phil cytoplasmic antibodies (ANCA) ซึ่งผู้ป่วยโรคนี้จะตรวจพบได้ประมาณ 60 - 80% จึงอาจช่วยแยกจากโรคอื่นๆได้
- การตรวจอุจจาระ เพื่อหาไข่พยาธิและเพื่อการเพาะเชื้อแบคทีเรียก่อโรค (ที่ปกติแล้วไม่ได้อยู่ในลำไส้เรา) เพื่อให้แน่ใจว่าไม่ใช่ลำไส้อักเสบจากการติดเชื้อเหล่านี้
- การตรวจหาค่าการตกตะกอนของเลือด
- การตรวจเลือด ดูปริมาณเม็ดเลือดแดง ปริมาณเกล็ดเลือด (ตรวจซีบีซี/CBC) และเกลือแร่ต่างๆในเลือดเพื่อประเมินความรุนแรงของโรค
2. การตรวจทางรังสีวินิจฉัย: การสวนแป้งทางทวารหนักและเอกซเรย์ (Barium enema) สามารถช่วยในการวินิจฉัยโรคนี้ได้ ในผู้ป่วยที่มีภาวะแทรกซ้อนเกิดการพองตัวของลำ ไส้ การเอกซเรย์ภาพช่องท้องธรรมดาก็สามารถให้การวินิจฉัยได้
3. การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่และตัดชิ้นเนื้อลำไส้ส่วนผิดปกติเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา: เมื่อการตรวจเบื้องต้นต่างๆดังกล่าวข้างต้นให้ผลว่า ผู้ป่วยน่าจะเป็นโรคนี้เพื่อยืนยันการวินิจฉัยเป็นขั้นตอนสุดท้าย ซึ่งจะช่วยในการแยกโรคที่สำคัญออกไปคือ โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
รักษาโรคลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผลเรื้อรังอย่างไร?
แนวทางการรักษาโรคลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผลเรื้อรัง คือ
1. การให้ยารักษาอาการอักเสบของลำไส้ ยาที่ใช้คือ ยาสเตียรอยด์ (Steroids) และยากลุ่มต้านการอักเสบ (Anti-inflammatory agents) อื่นๆที่ไม่ใช่ยาในกลุ่มเอ็นเสดส์ ยาสเตีย รอยด์มีทั้งรูปแบบสวนผ่านทางทวารหนัก รูปแบบกิน และรูปแบบฉีด การให้ยาในรูปแบบใดขึ้น กับความรุนแรงของอาการ สำหรับยาในกลุ่มต้านการอักเสบอื่นๆมีในรูปแบบสวนทวารและในรูปแบบกิน เช่น ยา Sulfa salazine และยา Mesalazine
ในกรณีที่ใช้ยาในกลุ่มสเตียรอยด์ไม่ได้ผล อาจเลือกใช้ยากดระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคร่างกาย เช่น ยา Cyclosporine ยา Tacrolimus หรือการใช้ยาที่เป็นสารภูมิต้านทานคือ ยา Infliximab แต่ยาในกลุ่มเหล่านี้มีผลข้างเคียงที่ค่อนข้างรุนแรง เช่น อ่อนเพลีย มีไข้ ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ขึ้นผื่น ติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจและระบบทางเดินปัสสาวะ ดังนั้น ในบาง ครั้งแพทย์อาจเลือกรักษาโดยการผ่าตัดลำไส้ใหญ่ส่วนที่อักเสบออกเลยก็ได้เพื่อหลีกเลี่ยงผล ข้างเคียงเหล่านี้
สำหรับการรักษาอื่นๆยังไม่ถือเป็นวิธีมาตรฐาน เช่น การให้ยาปฎิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อแบคที เรียที่อาศัยอยู่ปกติในลำไส้ใหญ่ และการเปลี่ยนถ่ายเอาเม็ดเลือดขาวออกจากเลือด
2. การให้ยาเพื่อควบคุมไม่ให้อาการลำไส้อักเสบกำเริบ เมื่อรักษาอาการลำไส้อักเสบได้โดยใช้ยาดังกล่าวข้างต้นแล้ว ผู้ป่วยต้องรักษาต่อเนื่องเพื่อป้องกันไม่ให้อาการลำไส้อักเสบกำเริบขึ้นมาอีก การจะใช้ยาตัวไหนขึ้นอยู่กับว่าตอนที่อาการกำเริบ ผู้ป่วยใช้ยาในกลุ่มใดได้ผล
3. การให้ยาช่วยบรรเทาอาการ เช่น ถ้ามีถ่ายเหลว ถ่ายบ่อย ต้องให้น้ำเกลือแร่ทดแทน อาจให้โดยการกินหรือให้ทางหลอดเลือดดำ ถ้าถ่ายเป็นเลือดสดปริมาณมากและบ่อยก็ต้องให้เลือดทดแทน
4. การรักษาภาวะแทรกซ้อน (ผลข้างเคียง) ที่เกิดขึ้น เช่น ถ้าเกิดลำไส้ทะลุ /ลำไส้แตก หรือถ่ายอุจจาระเป็นเลือดออกปริมาณมากจนควบคุมไม่ได้ ก็ต้องผ่าตัดลำไส้ส่วนเกิดโรคออก ถ้าเกิดเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ก็ต้องรักษาโรคมะเร็งนั้น
5. การรักษาอาการที่เกิดกับอวัยวะอื่นๆ เช่น ถ้าเกิดการอักเสบของผนังลูกตาชั้นกลางภายในลูกตาต้องให้ยากลุ่มสเตียรอยด์ เป็นต้น
โรคลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผลเรื้อรังมีผลข้างเคียงอย่างไร? รุนแรงไหม?
ผู้ป่วยโรคนี้ส่วนใหญ่ไม่ได้มีอันตรายถึงชีวิต/ถึงตาย ถ้าไม่มีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้น ซึ่งได้แก่
- ลำไส้ใหญ่เกิดการพองตัวและเน่า: ซึ่งเรียกว่า ภาวะ Toxic megacolon พบได้ประมาณ 5% ของผู้ป่วยที่มีอาการกำเริบรุนแรง โดยลำไส้ใหญ่จะพองตัว หยุดการเคลื่อนไหวและอาจเน่าตาย จนต้องรักษาด้วยการตัดลำไส้ส่วนนี้ทิ้ง มีส่วนน้อยที่ลำไส้ที่พองตัวนี้อาจแตกทะลุ ซึ่งผู้ป่วยจะมีอัตราการเสียชีวิตสูงถึง 15%
- ลำไส้ใหญ่เกิดการตีบตัน/ลำไส้อุดตัน: พบได้ประมาณ 5 - 10% ของผู้ป่วย อาจเกิดจากการที่ลำไส้มีการอักเสบมากและกลายเป็นพังผืดดึงรั้งขึ้นภายในลำไส้ บางครั้งอาจเกิดจากมีก้อนมะเร็งขวางอยู่
- โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่: พบได้ประมาณ 3 - 5% ของผู้ป่วย ยิ่งเป็นโรคอักเสบมานาน ยิ่งมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น
ดูแลตนเองและป้องกันโรคลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผลเรื้อรังอย่างไร?
ดูแลตนเองและป้องกันโรคลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผลเรื้อรังโดย
1. ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผลเรื้อรังแล้ว จะต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ พบแพทย์ตามนัดสม่ำเสมอ เพื่อติดตามภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นทั้งจากตัวโรคและจากยาที่ใช้รักษา
2. เนื่องจากผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้มานานอาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้แนะนำให้ผู้ที่ป่วยมานาน 8 - 10 ปี ต้องส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่พร้อมกับ การตัดชิ้นเนื้อจากหลายๆตำแหน่งที่ผิดปกติไปตรวจทุกๆ 1 - 2 ปี การติดตามโดยใช้อาการและการตรวจอื่นๆเพียงอย่างเดียวนั้นอาจทำให้พลาดการวินิจฉัยโรคมะเร็งในระยะเริ่มต้นได้ อีกทั้งอาการของโรคนี้ก็คล้ายคลึงกับอาการของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่อีกด้วย
3. ผู้ป่วยโรคนี้ไม่มีความจำเป็นต้องงดอาหารชนิดใดเป็นพิเศษ ผู้ที่ดื่มนมสดแล้วไม่มีปัญหาถ่ายอุจจาระเหลวตามมา ก็สามารถดื่มได้ปกติ อย่างไรก็ตาม ควรงดอาหารที่ไม่ดีต่อระบบการย่อยอาหาร เช่น อาหารรสเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด การรับประทานอาหารปริมาณที่มากเกินไปในแต่ละมื้อ และควรงดอาหารที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคอื่นๆซึ่งอาจทำให้เกิดความสับสนในการวินิจฉัยภาวะกำเริบของโรค และจากการรักษาไม่ได้ผล เช่น อาหารดิบ อาหารปรุงสุกๆดิบๆ อาหารค้างคืน อาหารหมักดอง เป็นต้น
4. มีคำแนะนำเกี่ยวกับการกินอาหารบางอย่างที่อาจพิจารณานำไปใช้ได้ แต่ยังไม่มีหลักฐานที่แน่ชัด ได้แก่ การกินน้ำมันปลา อาจช่วยลดอาการของโรค การกินอาหารที่เรียกว่าโปรไบโอติก (Probiotics) ซึ่งเป็นอาหารที่ประกอบไปด้วยจุลินทรีย์ที่มีชีวิตแต่มีประโยชน์ต่อร่าง กาย เช่น ยีสต์, Lactic acid bacteria, Bifidobacteria ซึ่งมีอยู่ในนมเปรี้ยว โยเกิร์ต มีข้อมูลว่าอาจช่วยลดอาการถ่ายเหลว ถ่ายบ่อย อาจช่วยปรับระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของลำไส้ไม่ให้ทำงานผิดปกติ และอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ หรือการกินดอกมัส ตาร์ดอาจช่วยรักษาการอักเสบในลำไส้ได้ เป็นต้น
ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?
ผู้ที่ถ่ายอุจจาระเป็นเลือด หรือเลือดปนมูกปนในอุจจาระ หรือถ่ายเป็นเลือดสดๆออกมา แม้เพียงครั้งเดียว ควรรีบพบแพทย์เพื่อได้รับการหาสาเหตุ ถ้าการหาสาเหตุในครั้งแรกแล้วรักษาไม่หาย มีอาการกลับมาอีก ก็ต้องพบแพทย์ต่อเนื่องเพื่อหาสาเหตุให้พบ เนื่องจากสาเหตุของการถ่ายเป็นเลือด หรือมูกเลือดนั้น มีอยู่มากมาย การหาสาเหตุที่แท้จริงในครั้งแรกไม่พบ ย่อมเป็น ไปได้เสมอ
บรรณานุกรม
- Sonia Friedman, Richard S. Blumberg. Halperin, inflammatory bowel disease, in Harrison’s Principles of Internal Medicine, 15th edition, Braunwald , Fauci, Kasper, Hauser, Longo, Jameson (eds). McGrawHill, 2001
- https://emedicine.medscape.com/article/183084-overview [2019,Nov2]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Ulcerative_colitis [2019,Nov2]