โรคลมหลับ หรือ ภาวะง่วงเกิน (Narcolepsy)
- โดย ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า
- 10 มกราคม 2557
- Tweet
- บทนำ
- โรคลมหลับคืออะไร?
- โรคลมหลับเกิดขึ้นได้อย่างไร?
- ใครมีโอกาส/ปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคลมหลับ?
- โรคลมหลับมีอาการอย่างไร?
- ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?
- แพทย์วินิจฉัยโรคลมหลับได้อย่างไร?
- รักษาโรคลมหลับอย่างไร?
- โรคลมหลับมีการพยากรณ์โรคอย่างไร? มีผลข้างเคียงอย่างไร?
- เมื่อเป็นโรคลมหลับควรดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?
- ป้องกันโรคลมหลับได้อย่างไร?
- สรุป
บทนำ
การนอนหลับ เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นในทุกวันของคนทั่วไป แต่บางคนนอนหลับยากก็เกิดปัญหา บางคนกลับเกิดปัญหาตรงกันข้ามคือ หลับง่ายเกินไป นอนหลับได้ตลอดเวลา แม้ขณะทำกิจกรรมต่างๆก็หลับได้ เรียกว่า หลับทั้งยืน แม้กระทั้งกำลังขับรถ หรือมีเพศสัมพันธ์ก็หลับได้ทันที โรคนี้คืออะไร แปลกมาก ลองติดตามบทความนี้ครับ “โรคลมหลับ หรือภาวะง่วงเกิน (Narcolepsy)”
โรคลมหลับคืออะไร?
โรคลมหลับ (Narcolepsy) คือ โรคที่มีอาการง่วงนอน หลับได้ในทุกสถานการณ์ หรืออย่างกะทันหัน
คำว่า Narcolepsy มาจาก 2 คำในภาษากรีก รวมกัน คือ Narco แปลว่า เซื่องซึม ง่วง และ Lepsy แปลว่า อาการเป็นลม หรือชัก จึงเป็นเหตุผลที่เรียกว่า โรคลมหลับ (แต่ศัพท์แพทยศาสตร์ ฉบับราชบัณฑิตสถาน พ.ศ. 2547 แปลคำนี้ว่า ภาวะง่วงเกิน) ซึ่งเป็นชื่อที่บ่งบอกถึงอาการของผู้ป่วยได้ชัดเจนด้วย
โรคลมหลับเกิดขึ้นได้อย่างไร?
ยังไม่มีข้อมูลจากการศึกษาทางการแพทย์ที่ชัดเจนว่า โรคลมหลับเกิดขึ้นได้อย่างไร แต่สันนิษฐานว่า เกิดจากความผิดปกติของสารเคมีในสมองในกลุ่มสารสื่อประสาทที่เรียกว่า Hypocretin (เป็นสารที่กระตุ้นให้ตื่น) และจากปัจจัยผิดปกติด้านพันธุกรรม
ใครมีโอกาส/ปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคลมหลับ?
ผู้ชายมีโอกาสเป็นโรคลมหลับมากกว่าผู้หญิงเล็กน้อย และพบโรคได้บ่อยในวัยรุ่นถึงวัยผู้ใหญ่ ในสหรัฐอเมริกาพบโรคนี้ได้ประมาณ 5 รายในประชากร 10,000 คน ส่วนประเทศไทย ไม่มีข้อมูล
โรคลมหลับมีอาการอย่างไร?
อาการของโรคลมหลับประกอบด้วย 4 อาการหลัก คือ
- อาการง่วงนอนฉับพลัน เกิดขึ้นวันหนึ่งได้หลายๆครั้ง อาจมากกว่า 10 ครั้งต่อวันก็ได้
- อาการผล็อยหลับทันที และ/หรือ มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง คอตก ขยับแขนขาไม่ ได้ทันที โดยตัวกระตุ้นคือ เมื่อมีอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลง หรือมีเสียงดัง หรือตกใจ อาการเหล่านี้จะเป็นเพียงชั่วครู่ หรือเป็นพักๆ หรือนานๆเป็นครั้ง ต่างกันในแต่ละคน
- อาการผีอำ คือ ภาวะที่ไม่สามารถขยับตัวได้ขณะกำลังจะตื่น คล้ายอาการอัมพาต ทั้ง ๆที่บางครั้งก็รู้สึกตัว แต่พูดไม่ได้ เคลื่อนไหวไม่ได้ เป็นนานหลายนาที
- เห็นภาพหลอนขณะกำลังจะหลับ โดยเห็นเป็นสิ่งน่ากลัว หรือสัตว์รูปร่างประหลาด
นอกจากนี้อาจมีอาการอื่นๆร่วมด้วย เช่น พฤติกรรมทำอะไรโดยไม่รู้ตัว ไม่มีสมาธิ ปวดศีรษะ ขี้ลืม นอนไม่หลับกลางคืน
อนึ่ง
- โรคลมหลับ ไม่สัมพันธ์กับ โรคลมชัก แต่อาจมีอาการใกล้เคียงกัน ทำให้ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยผิดพลาดได้ แต่ก็พบว่า มีผู้ป่วยที่พบทั้งสองโรค ร่วมกันได้โดยบังเอิญ และ
- อาการ มักเริ่มครั้งแรกเมื่อมีภาวะเครียดรุนแรง หรือมีการเปลี่ยนเวลานอนกะทันหัน เช่น การเดินทางข้ามทวีป
ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?
โรคลมหลับจะค่อยๆเริ่มมีอาการรุนแรงขึ้น โดยระยะแรกจะง่วงนอนมากในเวลากลางวัน และหลับบ่อยๆ โดยที่ไม่สามารถควบคุม หรือฝืนให้ตื่นได้ ยิ่งอากาศร้อนก็ยิ่งมีอาการ ทั้งนี้ อา การจะดีขึ้นเมื่อนอนหลับเป็นช่วงๆ แต่ต่อมาจะนอนหลับไม่ปกติในตอนกลางคืน คือ ยิ่งนอนไม่หลับ กลางวันจะง่วงหลับบ่อยขึ้น และต่อมาก็มีผลอยหลับมากขึ้น และบ่อยขึ้น ในที่สุดก็จะมีอาการมากขึ้นๆ จนครบทั้ง 4 ข้อ ดังกล่าวข้างต้นในหัวข้อ อาการ แต่พบได้ไม่บ่อยที่จะมีอาการครบทั้ง 4 ข้อ
ดังนั้น ควรมาพบแพทย์ ตั้งแต่ระยะแรกที่เริ่มมีอาการง่วงนอนบ่อยผิดปกติในเวลากลาง วัน
อนึ่ง ตัวกระตุ้นให้เกิดเกิดอาการ และ/หรือมีอาการมากขึ้น นอกจากอากาศร้อนแล้ว ยังได้แก่ เสียงดัง อารมณ์เครียด อารมณ์โกรธ
แพทย์วินิจฉัยโรคลมหลับได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยโรคลมหลับได้จาก ประวัติจากอาการดังกล่าวข้างต้นในหัวข้อ อาการ ร่วม กับการตรวจร่างกาย การตรวจลักษณะการนอนหลับ (Polysomnogram) และการตรวจลักษณะของการง่วงนอน (Multiple sleep latency test)
รักษาโรคลมหลับอย่างไร?
ปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีรักษาโรคลมหลับให้หายขาดได้ แต่สามารถรักษาให้อาการดีขึ้นได้ มาก ซึ่งการรักษา ต้องใช้เวลานานหลายปี และต้องรักษาไปตลอด ซึ่งถ้าผู้ป่วยให้ความร่วมมืออย่างดี อาการมักจะดีขึ้นในช่วงระยะเวลาประมาณ 6 เดือนหลังการรักษา โดยการรักษามีดังนี้
- การรักษาอาการง่วงนอนมากโดย การให้ยากระตุ้นประสาท เช่น อนุพันธุ์ของยาบ้า, การใช้พฤติกรรมบำบัด, การปรับพฤติกรรมการนอน, และการจัดให้มีเวลางีบหลับในเวลากลาง วัน
- การรักษาอาการผล็อยหลับ โดยใช้ยาต้านเศร้า (ยา Venlafaxine)
- ให้ความรู้ด้านโรคกับผู้ป่วย ญาติ เพื่อนร่วมงาน โรงเรียน ที่ทำงาน ทราบด้วย เพื่อการเข้าใจธรรมชาติของโรค เข้าใจผู้ป่วย และเพื่อสามารถช่วยเหลือ ดูแลผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสม
โรคลมหลับมีการพยากรณ์โรคอย่างไร? มีผลข้างเคียงอย่างไร?
การพยากรณ์โรคของโรคลมหลับ คือ เป็นโรคที่รักษาไม่หาย แต่สามารถบรรเทาอาการให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตใกล้เคียงปกติได้
โรคลมหลับมีอันตรายมาก สืบเนื่องจากผลข้างเคียงของโรค/อาการ เพราะจะหลับง่ายมาก ส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุ เช่น ขณะขับรถ หรือขณะทำกิจกรรมต่างๆ และยังผลให้สมรรถภาพการทำงานลดลง คุณภาพชีวิตจึงด้อยลงตามไปด้วย ซึ่งถ้าเป็นนานๆ อาจเกิดภาวะซึมเศร้า และมักตกงาน
เมื่อเป็นโรคลมหลับควรดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?
การดูแลตนเองที่เหมาะสมเมื่อเป็นโรคลมหลับ ประกอบด้วย
- ปฏิบัติตามแพทย์ พยาบาลแนะนำ
- ทานยาที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วน ไม่ขาดยา
- ปรับพฤติกรรมการนอนให้ตรงเวลา
- ไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีผลต่อการนอน เช่น เครื่องดื่มมีกาเฟอีน (เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลม เครื่องดื่มบำรุงกำลัง)
- ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ตามควรกับสุขภาพทุกๆวัน
- รักษาสุขภาพจิต ไม่เครียด
- พบแพทย์ตามนัดเสมอ
- พบแพทย์ก่อนนัดเมื่อ
- ง่วงนอนมากขึ้น
- ฝันร้ายบ่อยขึ้น
- เห็นภาพหลอนขณะกำลังจะนอนหรือกำลังจะตื่น บ่อยขึ้น
- ผลอยหลับจนเกิดอุบัติเหตุจากการล้มโดยไม่รู้สึกตัว
- แพ้ยา หรือมีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่ง และ/หรือ
- เมื่อกังวลในอาการ
ป้องกันโรคลมหลับได้อย่างไร?
เนื่องจากยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดโรคลมหลับ จึงยังไม่มีวิธีป้องกันโรคนี้ แต่การปรับพฤติกรรมการนอนให้มีสุขลักษณะที่ดี ก็อาจเป็นการช่วยลดโอกาสเกิดปัญหาจากการนอนหลับลงได้
สรุป
คนเรามีปัญหามากมายในชีวิต ถ้ารู้จักปล่อยวางบ้าง ไม่เครียด เล่นกีฬา ออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ นอนเป็นเวลา ผมว่าเราก็มีความสุข ห่างจากโรคภัยร้ายแรงและโรคแปลกๆได้