โรครากประสาทคอ (Cervical radiculopathy)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

โรครากประสาทคอ (Cervical radiculopathy) หมายถึง พยาธิสภาพที่เกิดขึ้นกับรากประสาท จากการถูกกดเบียดหรือการอักเสบ ส่งผลให้เกิดอาการด้านที่มีพยาธิสภาพ เช่น ปวดตามรากประสาท ชาแขน กล้ามเนื้ออ่อนแรง และ รีเฟล็กซ์ ลดลงหรือหายไป อาจมีการรับความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน (Paresthesia) จากการที่เลือดไปเลี้ยงรากประสาทลดลง

อาการปวดที่เกิดจากการระคายเคืองหรือความผิดปกติของรากประสาทส่วนคอ มีลักษณะปวดคอร้าวไปตามสะบัก ไหล่ ต้นแขน ปลายแขน และมือ ตามแนวผิวหนังที่เลี้ยงด้วยรากประสาทเส้นนั้นๆ

โรครากประสาทคอ พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง พบมากในช่วงอายุ 50-55 ปี พบมากที่รากประสาทระดับคอเส้นที่ 5, 6, 7 และ 8 ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการเพียงระดับเดียว แต่อาจมีส่วนน้อยบางรายที่มีอาการมากกว่า 1 ระดับ

โรครากประสาทคอเกิดได้อย่างไร?

โรครากประสาทคอ

โรครากประสาทคอ มีหลายสาเหตุ สาเหตุที่พบบ่อย คือ กระดูกสันหลังส่วนคอเสื่อม เพราะการเปลี่ยนแปลงของกระดูกในภาวะกระดูกสันหลังเสื่อม อาจส่งผลให้รากประสาทถูกกดเบียดจาก

  • หมอนรองกระดูกสันหลังปลิ้น
  • ปุ่มกระดูกงอก
  • และ/หรือเอ็นกระดูกสันหลังหนาตัวหรือมีหินปูนมาเกาะ

ภาวะเหล่านี้ส่งผลให้ช่องทางออกของรากประสาทตีบแคบ เลือดไปเลี้ยงรากประสาทลด ลง และร่างกายหลั่งสารตัวกลางในกระบวนการอักเสบ อาการปวดรากประสาทจึงเกิดจากการถูกกดเบียดและการอักเสบ ซึ่งตำแหน่งที่รากประสาทถูกกดจะมีขนาดเล็กลง แต่ส่วนปลายจากตำแหน่งที่ถูกกดจะบวมขึ้น และเมื่อระยะเวลานานขึ้นจะเกิดพังผืดในรากประสาท

โรครากประสาทจากสาเหตุอื่นๆเกิดขึ้นตามพยาธิสภาพของโรค เช่น

  • กระดูกสันหลังคอได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ ทำให้กระดูกสันหลังหักเคลื่อนและกดเบียดรากประสาท
  • กระดูกคออักเสบติดเชื้อเป็นหนอง และ/หรือวัณโรคกระดูกสันหลังที่เกิดจากการได้รับเชื้อโรคเกิดหนอง หรือเชื้อวัณโรคส่งผลให้กระดูกสันหลังและหมอนรองกระดูกสันหลังถูกทำลาย
  • โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ทำให้เกิดการอักเสบของกระดูกสันหลังส่วนคอ โดยเฉพาะกระดูกสันหลังชิ้นที่ 1 และ 2 เกิดความไม่มั่นคง
  • มีเนื้องอกเนื้อเยื่อบริเวณกระดูกคอ หรือโรคมะเร็งแพร่กระจายมายังกระดูกคอ ส่งผลให้โครง สร้างของกระดูกสันหลังส่วนต่างๆถูกทำลาย

การปวด รากประสาทถูกกดเบียด กระดูกสันหลังผิดรูป กระดูกสันหลังไม่มั่นคง และ/หรือคลำพบก้อน อาการทั้ง 5 ประการนี้ เกี่ยวข้องและสัมพันธ์กัน ผู้ป่วยที่มีพยาธิสภาพเพียงเล็ก น้อยอาจมีเฉพาะอาการปวด เมื่อพยาธิสภาพของโรคลุกลามมากขึ้น จะเกิดการกดเบียดรากประ สาทหรือไขสันหลัง กระดูกสันหลังผิดรูป และกระดูกสันหลังไม่มั่นคงตามมา

อะไรคือปัจจัยเสี่ยงของโรครากประสาทคอ?

ปัจจัยที่อาจส่งผลให้หมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมมีหลายปัจจัย เช่น

  • อายุผู้ป่วย
  • พันธุกรรม (พบยีน/จีนหลายชนิดที่เกี่ยวข้องกับหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม)
  • การขาดสารอาหาร ต่างๆ
  • ปัจจัยสิ่งแวดล้อม เช่น สูบบุหรี่/สารนิโคตีน (Nicotine) ในควันบุหรี่
  • ลักษณะอาชึพ/การงาน
  • โรคเบา หวาน
  • ประสิทธิภาพการทำงานของเอนไซม์ (Matrix metalloproteinases, ที่มีหน้าที่ช่วยซ่อม แซมเนื้อเยื่อที่บาดเจ็บ)
  • และปัจจัยจากสารตัวกลางในกระบวนการอักเสบของร่างกายหลายๆชนิด

โรครากประสาทส่วนคอมีอาการอย่างไร?

โรครากประสาทคอที่มีสาเหตุจากกระดูกต้นคอเสื่อม ในระยะแรก ผู้ป่วยจะมีอาการปวด ร้าวตามแนวรากประสาทด้านที่มีพยาธิสภาพ (ปวดต้นคอร้าวไปที่สะบัก ไหล่ ต้นแขน ปลายแขน มือและนิ้วมือ) เป็นอาการสำคัญ

ผู้ที่สงสัยว่า ตัวเองอาจมีอาการของโรครากประสาท อาจทดสอบได้ง่ายๆโดย

  • เงยคอมองเพดาน หรือก้มคอเต็มที่ประมาณ 30 วินาที สังเกตว่ามีอาการปวดคอร้าวไปที่สะบัก ไหล่ ต้นแขน ปลายแขน มือ และนิ้วมือหรือไม่ ถ้ามีอาการปวดร้าวดัง กล่าว อาจเป็นอาการเริ่มต้นของโรครากประสาทคอ ซึ่ง
    • รากประสาทส่วนคอเส้นที่ 4 (C4) จะมีอาการบริเวณไหล่และสะบัก
    • รากประสาทส่วนคอเส้นที่ 5 (C5) มีอาการที่ต้นแขน
    • รากประสาทส่วนคอเส้นที่ 6 (C6) มีอาการที่นิ้วหัวแม่มือ
    • รากประสาทส่วนคอเส้นที่ 7 (C7) มีอาการที่ นิ้วกลาง
    • รากประสาทส่วนคอเส้นที่ 8 (C8) มีอาการที่นิ้วก้อย
    • และรากประสาทส่วนอกเส้นที่ 1 (T1) มีอาการด้านในต้นแขน

ทั้งนี้ ถ้าผู้ป่วยยกแขนขึ้นเหนือศีรษะ อาการปวดคอร้าวลงแขนจะดีขึ้น ซึ่งเมื่อระยะเวลาผ่านไป อาการปวดร้าวจะค่อยๆทุเลาลง แต่จะเริ่มมีอาการ ชาแขน กล้ามเนื้อแขนอ่อนแรง รี เฟล็กซ์ของกล้ามเนื้อแขนลดลงหรือหายไป

ตำแหน่งของอาการปวดร้าวของแขนตามแนวรากประสาท และอาการชา อาการกล้าม เนื้ออ่อนแรง การมีรีเฟล็กซ์กล้ามเนื้อลดลงหรือหายไป ขึ้นกับระดับของรากประสาทที่เกิดโรค (ตารางที่ 1)

มีวิธีดูแลตนเองเบื้องต้นอย่างไร?

การดูแลตนเองเบื้องต้น ควรทำเฉพาะกรณีมีเฉพาะอาการปวดร้าว และหรือมีความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน หรืออาการชาเพียงเล็กน้อย ประกอบด้วย

  • การกินยาแก้ปวด ยาต้านอักเสบ/ยาแก้อักเสบชนิดที่ไม่ใช่สเตอรอยด์ (ยาในกลุ่ม เอนเสด์)
  • หลีกเลี่ยงการก้มคอ- เงยคอ หรือหันคอ เต็มที่
  • การใส่ปลอกคออ่อนช่วยลดอาการปวดร้าวจากการจำกัดการเคลื่อนไหวคอ

ทั้งนี้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่มีอาการเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก มีโอกาสทุเลาจากอาการปวดร้าวด้วยวิธีการดังกล่าวค่อนข้างสูง ในประมาณ 4-8 สัปดาห์

เมื่อใดควรไปพบแพทย์?

ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเมื่อมีอาการต่อไปนี้

1. อาการปวดร้าวไม่ทุเลาภายใน 8 สัปดาห์

2. มีอาการชา และ/หรือกล้ามเนื้ออ่อนแรงร่วมด้วยนอกเหนือจากอาการปวดร้าว

3. รีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเสมอ โดยไม่ต้องรอจนถึง 4-8 สัปดาห์ เมื่อ

  • อาการต่างๆเลวลง (เช่น ปวดร้าวรุนแรงขึ้น)
  • และ/หรือ เมื่อกังวลในอาการ

แพทย์วินิจฉัยโรครากประสาทคออย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรครากประสาทคอจาก

  • การซักประวัติอาการและประวัติทางการแพทย์ต่าง ๆ เช่น การเกิดอุบัติเหตุ
  • การตรวจร่างกาย
  • และอาจทำการสืบค้น (การตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีต่างๆ เช่น เอกซเรย์ และ/หรือ เอมอาร์ไอ ภาพกระดูกคอ) ในกรณีเมื่อการซักประวัติและตรวจร่างกายยังไม่สามารถให้การวินิจฉัยได้ หรือผู้ป่วยมีอาการรุนแรงจนควรรักษาด้วยการผ่าตัด หรือการรักษาอื่นๆนอกเหนือจากยาหรือเวชศาสตร์ฟื้นฟู/กายภาพบำบัด

ทั้งนี้ โรครากประสาทคอ ส่วนใหญ่ต้องทำการสืบค้นเพื่อวินิจฉัย วิธีการสืบค้น เช่น

  • การตรวจทางรังสี (ภาพเอกซเรย์และหรือภาพเอมอาร์ไอกระดูกสันหลัง)
  • การตรวจคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ และความเร็วการนำกระแสประสาท (Electromyography)
  • การตรวจทางห้องปฏิบัติการ
  • และการตรวจทางพยาธิวิทยา ทั้งนี้ขึ้นกับพยาธิสภาพของโรคนั้นๆ

อนึ่ง ภาพเอมอาร์ไอกระดูกคอ เป็นวิธีการตรวจที่ดีที่สุดในการตรวจหาระดับและพยาธิสภาพของรากประสาทหรือไขสันหลัง ข้อพึงระวังในการแปลผลคือ การตรวจภาพเอมอาร์มีความไวสูงในการตรวจพบความผิดปกติ แต่ความจำเพาะว่าเป็นโรคอะไรให้ผลไม่สูง

ส่วนการตรวจคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อและความเร็วการนำกระแสประสาท จะช่วยวินิจฉัยแยกโรคระหว่างโรครากประ สาทและสาเหตุอื่นที่มีอาการคล้ายคลึงกัน

บางครั้ง อาจใช้การฉีดยาชายับยั้งรากประสาทเฉพาะเส้น (Selective nerve roots blocks คือการฉีดยาชาไปยังรากประสาทระดับที่คาดว่าเป็นสาเหตุของอาการปวด) ช่วยวินิจฉัย โดยข้อข้อบ่งชี้ที่จะใช้วิธีนี้ คือ กรณีผู้ป่วยมีอาการปวดเรื้อรังหรือมีรากประสาทถูกกดเบียดหลายระดับ เมื่อการตรวจร่างกายและการสืบค้นอื่นๆไม่สามารถระบุรากประสาทที่เป็นสาเหตุของอาการปวดได้ชัดเจน ซึ่งขณะเดียวกัน วิธีนี้ก็เป็นการรักษาพร้อมกันไปด้วยกับการวินิจฉัย

การวินิจฉัยแยกโรคอื่นๆที่ต้องแยกจากโรครากประสาทคอ แสดงในตารางที่ 2

แพทย์รักษาโรครากประสาทคออย่างไร?

วิธีรักษาของแพทย์ ขึ้นกับระดับความรุนแรงของโรค (ปวดร้าวตามรากประสาท ชา หรือ กล้ามเนื้ออ่อนแรง) และระยะเวลาที่ผู้ป่วยมีอาการ

  • การรักษาโดยไม่ผ่าตัด: ผู้ป่วยที่อยู่ในระยะเฉียบพลัน (น้อยกว่า 12 สัปดาห์) และมีเฉพาะอาการปวด แพทย์จะรักษาด้วยวิธีต่างๆดังจะกล่าวต่อไป ทั้งนี้ แพทย์จะเลือกใช้วิธีใดขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ ซึ่งวิธีรักษา เช่น
    • ให้ยาลดปวด/ยาแก้ปวด ยาต้านอักเสบ/ยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตอ รอยด์ ยากันชัก (ยากันชัก/ ยาต้านชัก บางชนิด ช่วยลดอาการปวดร้าวตามรากประสาท)
    • การใส่ปลอกคออ่อน ร่วมกับการรักษาทางเวชศาสตร์ฟื้นฟู เช่น อุลตราซาวด์
    • การดึงคอ
    • การประคบร้อน ประคบเย็น
    • การนวด
    • และการดัดกล้ามเนื้อ/กระดูกคอ
    • และบางครั้งโดยการการฉีดยาสเตอรอยด์เข้าถุงหุ้มเส้นประสาท ซึ่งมีประสิทธิผลในการรักษาอาการปวดร้าวตามรากประสาทมากกว่าอาการปวดลักษณะอื่นๆ
  • การผ่าตัด: ข้อบ่งชี้ในการทำหัตถการ (การผ่าตัด) คือ
    • ผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีไม่ผ่าตัดไม่น้อยกว่า 3 เดือน
    • มีอาการชาและกล้ามเนื้ออ่อนแรงเพิ่มมากขึ้น

อนึ่ง วิธีการรักษาที่มีประสิทธิผลแสดงในตารางที่ 3 ทั้งนี้ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับการตรวจอื่นๆเพิ่มเติม และอาจจำเป็นต้องเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาล ค่าใช้จ่ายในการวินิจฉัยและรักษาจึงค่อนข้างสูงหรือสูงมากขึ้นกับวิธีการรักษา

ทั้งนี้ การผ่าตัดแพทย์อาจผ่าได้ 2 แบบ คือ

  • การผ่าตัดทางด้านหน้า: เป็นการผ่าตัดเพื่อเอาหมอนรองกระดูกสันหลังและ/หรือปุ่มกระดูกงอกที่กดเบียดรากประสาทออก แล้วเชื่อมกระดูกสันหลังด้วยกระดูกปลูกถ่ายจากผู้ป่วยเอง หรือจากบุคคลอื่น หรือสารทดแทนกระดูกชนิดต่างๆ หรือเปลี่ยนหมอนรองกระดูกสันหลังเทียม
    • ข้อดีของการผ่าตัดทางด้านหน้าคือ สามารถเอาพยาธิสภาพที่ทำให้เกิดการกดเบียดรากประสาทออกโดยตรง การเชื่อมกระดูกสันหลังหรือเปลี่ยนหมอนรองกระดูกสันหลังเทียมสามารถทำให้ความสูงของหมอนรองกระดูกสันหลังเป็นปกติ
  • การผ่าตัดทางด้านหลัง: เป็นการผ่าตัดเข้าหากระดูกสันหลังทางด้านหลังเพื่อเปิดช่องทางออกของรากประสาทที่ถูกกดเบียด ข้อบ่งชี้ ได้แก่ หมอนรองกระดูกสันหลังปลิ้นทางด้าน ข้าง ข้อห้ามในการผ่าตัดคือ แนวกระดูกสันหลังมีลักษณะโก่ง
    • ข้อดีของวิธีผ่าตัดทางด้านหลัง คือสามารถคลายการกดทับของรากประสาทได้โดยตรงเนื่องจากเห็นรากประสาทได้ชัดเจน ไม่จำเป็นต้องทำการเชื่อมกระดูกสันหลัง เนื่องจากไม่มีการนำเอาหมอนรองกระดูกสันหลังออก ข้อด้อยคือ การบาดเจ็บต่อรากประสาทและไขสันหลัง

อนึ่ง การเปลี่ยนหมอนรองกระดูกสันหลังเทียม

ก. ข้อบ่งชี้ ได้แก่

  • ผู้ป่วยปวดคอตามแกนจากหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม
  • ผู้ป่วยหมอนรองกระดูกสันหลังปลิ้นที่เกิดจากโรครากประสาท 1-2 ระดับ
  • โรคไขสันหลังที่เกิด 1-2 ระดับ
  • หมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมในระดับข้างเคียงการเชื่อมกระดูกสันหลัง

ข. ข้อห้าม ได้แก่

  • ผู้ป่วยที่มีกระดูกสันหลังไม่มั่นคง
  • ข้อต่อ Facet เสื่อมรุนแรง
  • ความสูงของหมอนรองกระดูกสันหลังลดลงมากกว่า 50%
  • เคยผ่าตัดด้านหลังมาก่อน
  • มีโรคกระดูกพรุนรุนแรง
  • เป็นโรคข้ออักเสบรูห์มาตอยด์

ทั้งนี้ ผลการผ่าตัดเมื่อเปรียบเทียบการเปลี่ยนหมอนรองกระดูกสันหลังเทียม กับการเชื่อมกระดูกสันหลังพบว่า

  • การเปลี่ยนหมอนรองกระดูกสันหลังเทียม มีพิสัยการเคลื่อนไหวคอมากกว่าเล็กน้อย
  • ระดับความปวดและสมรรถนะร่างกายไม่แตกต่างกัน
  • การเชื่อมกระดูกสันหลังมีอัตราการผ่าตัดซ้ำมากกว่า
  • ความชุกของการเกิดหินปูนมาเกาะในเนื้อเยื่อบริเวณผ่าตัด (Heterotropic ossification ทำให้เกิดอาการปวดและติดขัดเมื่อเคลื่อนไหวในบริเวณที่ผ่าตัด) หลังการเปลี่ยนหมอนรองกระดูกสันหลังสูงประมาณ 44% เมื่อติดตามผู้ป่วย 1-2 ปี
  • อัตราการเกิดปัญหาหมอนรองกระดูกสันหลังระดับข้างเคียงเสื่อม ไม่ต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งการรักษาด้วยวิธีการเปลี่ยนหมอนรองกระดูกสันหลังเทียม ค่าใช้จ่ายสูงมากไม่ต่ำกว่าหลักแสนบาท

ในส่วนการผ่าตัดหมอนรองกระดูกสันหลังด้วยวิธีบาดเจ็บเนื้อเยื่ออ่อน/เนื้อเยื่อเกี่ยวพันน้อย มีหลายวิธีได้แก่

  • ใช้อุปกรณ์แทงผ่านผิวหนังเพื่อนำเอาบางส่วนของหมอนรองกระดูกสันหลังออก
  • การใช้พลังงานคลื่นความถี่วิทยุไปทำลายหมอนรองกระดูกสันหลังบางส่วน
  • การผ่าตัดหมอนรองกระดูกสันหลังโดยเปิดแผลเล็กผ่านท่อรูปทรงกระบอก
  • การเอาหมอนรองกระดูกสันหลังออกผ่านกล้องส่องตรวจอวัยวะภายในทางด้านหน้าหรือด้านหลัง

ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบผลการผ่าตัดระหว่างการเปิดแผลตามปกติกับวิธีบาดเจ็บเนื้อเยื่ออ่อนน้อย พบว่าระดับความปวด สมรรถนะร่างกาย และการฟื้นตัวของรากประสาทไม่แตกต่างกัน

ป้องกันไม่ให้เกิดอาการโรครากประสาทคอได้อย่างไร?

ไม่พบหลักฐานว่าการรักษาชนิดใดที่มีประสิทธิผลในการป้องกันอาการปวดคอที่ไม่มีสา เหตุเฉพาะเจาะจงหรือป้องกันการเกิดซ้ำ

อย่างไรก็ตาม อาจลดจำนวนและความรุนแรงของอาการปวดลงได้ด้วย

  • การหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ (งดเหล้า บุหรี่ สารเสพติด)
  • การคงพิสัยการเคลื่อนไหวคอ
  • การบริหารกล้ามเนื้อคอและสะบัก
  • รวมถึงการปรับสภาพแวดล้อมในการทำงาน
  • กินอาหารถูกสุขลักษณะ
  • และออกกำลังกายสม่ำเสมอ

ป้องกันโรครากประสาทคออย่างไร?

การป้องกันโรครากประสาทคอเต็มร้อยเป็นไปไม่ได้ เพราะมีสาเหตุหลายประการดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อสาเหตุ แต่สิ่งที่พอจะป้องกันได้คือ

  • การหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุที่คอ หรือ การเคลื่อนไหวคอรุนแรง เช่น
    • หันคอรุนแรง
    • การเล่นกีฬาที่รุนแรง (ด้วยการเรียนรู้วิธีเล่นที่ถูก ต้อง)
    • และอุบัติเหตุต่างๆ เช่น จากการขับรถยนต์ หรือรถจักรยานยนต์
  • นอกจากนี้ คือ รู้จักการบริหารคอด้วยวิธีที่ถูกต้อง (ปรึกษาแพทย์ และ/หรือ นักกายภาพบำบัด)

สรุป

โรครากประสาทคอเกิดจากสาเหตุหลายประการ สาเหตุที่พบบ่อยที่สุดคือหมอนรองกระ ดูกสันหลังปลิ้น และกระดูกสันหลังเสื่อม

ในระยะแรกของโรค ผู้ป่วยจะมีอาการปวดร้าวตามแนวรากประสาท (ปวดต้นคอร้าวไปที่สะบัก ไหล่ ต้นแขน ปลายแขน มือ และนิ้วมือ) เป็นอาการสำคัญ ในระยะนี้ ผู้ป่วยสามารถรักษาด้วยตัวเองได้ด้วยการกินยาลดปวด ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตอรอยด์ และยากันชัก/ยาต้านชัก และใส่ปลอกคออ่อน ถ้ามีอาการครั้งแรก โอกาสหายโดยไม่ต้องผ่าตัดสูงถึง 80-90%

ซึ่งผู้ป่วยควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเสมอ เมื่ออาการปวดไม่ทุเลาหรือรุนแรงขึ้น มีอาการชา และ/หรือ อ่อนแรงของกล้ามเนื้อร่วมด้วย

บรรณานุกรม

  1. กิตติ จิระรัตนโพธิ์ชัย, เสมอเดือน คามวัลย์, ชัช สุมนานนท์. โรคกระดูกสันหลังเสื่อม: หลักฐานเชิงประจักษ์. ขอนแก่น: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยขอนแก่น; 2554.
  2. https://emedicine.medscape.com/article/94118-followup#a2648 [2019,Aug17]
  3. Chen J, Wang X, Bai W, Shen X, Yuan W. Prevalence of heterotopic ossification after cervical total disc arthroplasty: a meta-analysis. Eur Spine J 2012a; 21(4): 674-80.
  4. Dasenbrock HH, Juraschek SP, Schultz LR, Witham TF, Sciubba DM, Wolinsky JP, et al.. The efficacy of minimally invasive discectomy compared with open discectomy: ameta-analysis of prospective randomized controlled trials. J Neurosurg Spine 2012; 16(5):452-62.
  5. Dean CL, Rhee JM. Nonoperative management of cervical disc and degenerative disorders. In: Herkowit HN, Garfin SR, Eismont FJ, Bell GR, Balderston RA. (eds). The Spine. 6th ed. Vol I. Philadelphia: Elsevier; 2011. p. 720-7.
  6. Hadjipavlou AG, Tzermiadianos MN, Bogduk N, Zindrick MR. The pathophysiology of disc degeneration: a critical review. J Bone Joint Surg Br 2008; 90(10): 1261-70.
  7. Harrod CC, Hilibrand AS, Fischer DJ, Skelly AC. Adjacent segment pathology following cervical motion-sparing procedures or devices compared with fusion surgery: a systematic review. Spine 2012; 37(22 Suppl): S96-112.
  8. Hurwitz EL, Carragee EJ, van der Velde G, Carroll LJ, Nordin M, Guzman J, et al. Treatment of neck pain: noninvasive interventions: results of the Bone and Joint Decade 2000-2010 Task Force on Neck Pain and Its Associated Disorders. Spine 2008; 33(Suppl 4): S123-52.
  9. Yu L, Song Y, Yang X, Lv C. Systematic review and meta-analysis of randomized controlled trials: comparison of total disk replacement with anterior cervical decompression and fusion. Orthopedics 2011; 34(10): e651-8.