โรคพิษสุรา (Alcoholism หรือ Alcohol use disorder)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 10 กรกฎาคม 2559
- Tweet
- โรคสมอง โรคทางสมอง (Brain disease)
- โรคตับ (Liver disease)
- นกเขาไม่ขัน (Erectile dysfunction)
- มะเร็ง (Cancer)
- ตับแข็ง (Liver cirrhosis)
- สมองเสื่อม (Dementia)
- ยารักษาทางจิตเวช ยาจิตเวช (Psychotropics drugs)
- มะเร็งตับ (Liver cancer)
โรคพิษสุรา (Alcoholism) เป็นคำกลางๆที่ใช้ต่อเนื่องมาจากสมัยก่อนในการเรียกโรคต่างๆ ที่เกิดจากการดื่มสุราเรื้อรัง ปัจจุบันใช้คำว่า Alcohol use disorder ย่อว่า AUD ที่หมายถึง อาการ ภาวะ หรือโรคต่างๆ ที่มีผลมาจากการดื่มสุราที่รวมถึงการติดสุราซึ่งองค์การอนามัยโรคแบ่งโรคพิษสุราเป็น 2 กลุ่มคือ
ก. Alcohol abuse หมายถึง ผู้ที่ดื่มสุรามาก ดื่มต่อเนื่อง แต่ยังไม่มีอาการการถอนสุรา (Alcohol withdrawal) เมื่อไม่ได้ดื่มสุรา และยังไม่ปรากฏโรคสาเหตุจากการดื่มสุราชัดเจน แต่ผลจากการดื่มจัดจะมีผลกระทบต่อครอบครัว การงาน การเรียน หรือก่อให้เกิดการถูกจับกุมจากการละเมิดกฏหมาย
ข. การติดสุรา (Alcohol dependence หรือ Alcohol dependence syndrome) คือกลุ่มที่ดื่มสุราจนติดสุรา และในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมาเกิดอย่างน้อย 3 ประการดังจะกล่าวต่อไปนี้คือ
1 ดื่มจนเมามายขาดสติ
2 ต้องดื่มต่อเนื่อง หยุดดื่มไม่ได้
3 ยังต้องดื่มทั้งๆที่มีปัญหาทางสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่มีเหตุจากการดื่มสุรา
4 ใช้เวลาอย่างมากเกินปกติในการดื่มสุรา เมาสุรา หรือในการฟื้นตัวจากการเมาสุรา
5 ไม่สามารถทำงานตามปกติหรือเข้าสังคมตามปกติได้
6 ดื่มสุราได้ปริมาณมากขึ้นกว่าจะเมา
7 เกิดกลุ่มอาการถอนยา/ถอนสุราเมื่อไม่ได้ดื่มสุราเช่น มือสั่น เหงื่อออกมาก คลื่นไส้ อาเจียน นอนไม่หลับ
ผู้มีปัจัยเสี่ยงติดสุรา
ผู้มีปัจจัยเสี่ยงติดสุราได้แก่
- ผู้ชายโดยเฉพาะในวัยรุ่น วัยเรียน และวัยทำงาน
- มีคนในครอบครัวเป็นโรคพิษสุรา
- มีปัญหาครอบครัว
- มีปัญหาชีวิต
- อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเกิดปัญหาชีวิตและปัญหาสังคมเช่น ผู้อาศัยอยู่ในชุมชนแออัด
- มีอาชีพการงานที่ดื่มสุราเป็นประจำเช่น ทหาร ตำรวจ
- หาซื้อสุราได้ง่าย
อาการของโรคพิษสุรา
อาการของโรคพิษสุราเช่น
- ดื่มสุราจัดมักร่วมกับสูบบุหรี่จัด อาจร่วมกับติดสารเสพติดประเภทต่างๆเช่น โคเคน
- อารมณ์แปรปรวน ขาดสมาธิ นอนไม่หลับ ประสาทหลอน หลงลืม ซึมเศร้า ไม่ใส่ใจสุขภาพ และภาพลักษณ์ของตนเอง ก่อปัญหาด้านสังคมโดยเฉพาะกับครอบครัว
- ท้องอืด ท้องเฟ้อ น้ำหนักลด ทุพโภชนา
- เสื่อมสมรรถภาพทางเพศเช่น นกเขาไม่ขัน
- แพ้ยาต่างๆได้ง่ายกว่าเดิม
- ล้ม เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
- มือสั่น ตัวสั่น อาจชัก
การพบแพทย์
เมื่อดื่มสุรามากควรพบแพทย์เสมอเพื่อเข้ารับการบำบัดรักษาแต่เนิ่นๆ เพื่อให้สามารถเลิก สุราได้ และลดโอกาสเกิดผลข้างเคียงจากพิษสุรา
ผลข้างเคียงจากโรคพิษสุรา
ผลข้างเคียงจากโรคพิษสุราได้แก่
ก. ผลข้างเคียงด้านจิตใจ: ที่ส่งผลเกิดปัญหาต่อครอบครัว การงาน การเรียน การใช้ชีวิตประจำวัน การเข้าสังคม นอกจากนั้นมีโอกาสทำร้ายผู้อื่นจนเสียชีวิตได้ประมาณ 25%, ฆ่าตัวตายประมาณ 10%
ข. ผลข้างเคียงด้านร่างกาย: มีโอกาสเกิดโรคหรือภาวะต่างๆดังนี้เช่น โรคตับแข็งประมาณ 30%, อุบัติเหตุโดยเฉพาะทางรถยนต์ประมาณ 20%, โรคมะเร็งช่องปาก มะเร็งคอหอยส่วนปาก หรือมะเร็งคอหอย ทั้งหมดรวมกันประมาณ 20%, มะเร็งหลอดอาหารประมาณ 30%, มะเร็งตับประมาณ 25%, มะเร็งเต้านมประมาณ 7%, โรคสมองที่รวมถึงโรคหลอดเลือดสมองประมาณ 10%
การรักษาโรคพิษสุรา
แนวทางการรักษาสำคัญในโรคพิษสุราคือ การช่วยให้ผู้ป่วยหยุด/เลิกการดื่มสุราด้วยการใช้ยาต่างๆ (เช่น ยารักษาทางจิตเวช) และการรักษาด้วยวิธีการทางจิตเวช (เช่น การเข้ากลุ่มบำบัด)
นอกจากนั้นคือการรักษาผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นที่จะต่างกันในแต่ละผู้ป่วยและในแต่ละชนิด ของผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นเช่นจาก โรคตับแข็ง โรคมะเร็งต่างๆ หรือโรคสมอง เป็นต้น
บรรณานุกรม
- Friedmann, P. (2013).N Engl J Med. 368, 365-373
- http://emedicine.medscape.com/article/285913-overview#showall [2016,June18]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Alcoholism [2016,June18]