ตัวตืด โรคพยาธิตัวตืด (Tapeworm infection)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

โรคพยาธิตัวตืด หรือโรคติดเชื้อพยาธิตัวตืด (Tapeworm infection หรือ Tepeworm infestation) คือโรคพยาธิในระบบทางเดินอาหาร มักพบในลำไส้เล็ก เกิดจากคนติดเชื้อ ตัวตืด หรือ พยาธิตัวตืด (Tapeworm)จากกินไข่ และ/หรือปล้องพยาธิฯที่อยู่ในอุจจาระของคนเป็นโรคนี้ และอุจจาระนั้นๆปนเปือนใน อาหาร น้ำดื่ม และ/หรืออุจจาระฯติดที่สิ่งของเครื่องใช้ และที่มือ, และ/หรือจากคนกินพยาธิฯตัวอ่อนระยะติดต่อที่อยู่ในเนื้อของ “โฮสต์ตัวกลาง” (Intermediate host, สัตว์ที่ให้พยาธิอยู่อาศัย เจริญเป็นตัวอ่อนระยะต่างๆได้ แต่ไม่สามารถเจริญเป็นตัวแก่ได้ ที่สำคัญของโรคนี้ในคนคือ หมู)

 

อนึ่ง

  • พยาธิตัวตืด(Tapeworm หรือ Flatworm หรือ Cestodes) เป็นพยาธิจัดอยู่ในชั้น/Class ชื่อ Cestoda, สกุล Taenia
  • สัตว์โฮสต์ตัวกลางของพยาธิฯนี้ มีหลากหลายชนิด ขึ้นกับชนิดย่อยของตัวตืด แต่ที่คนบริโภคบ่อยคือ หมู วัว ควาย
  • ชื่ออื่นของศัพท์แพทย์โรคนี้ คือ Taeniasis

 

พยาธิตัวตืด เป็นพยาธิที่ “ตัวแก่”หรือ”ตัวเต็มวัย” (Adult หรือ Mature tapeworm, วัยที่สามารถสืบพันธ์และออกไข่ได้) จะอาศัยอยู่ในระบบทางเดินอาหาร ที่ส่วนใหญ่เป็นลำไส้เล็กของสัตว์ที่เป็น “โฮสต์จำเพาะ” (Definitive host, โฮสต์ที่พยาธิอาศัยอยู่ และสามารถเจริญเติบโตเป็นตัวเต็มวัย/ตัวแก่/Adult ได้) ซึ่งโฮสต์จำเพาะของพยาธิตัวตืดส่วนใหญ่ คือ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่กินเนื้อเป็นอาหาร เช่น สุนัข แมว และที่สำคัญ คือ คน

 

พยาธิตัวตืด มีหลากหลายชนิด โดยตัวแก่มีลักษณะ แบนและยาวเหมือนสายเทป จึงเป็นที่มาของ ชื่อ “Tapeworm” ทั้งนี้พบ ตัวแก่ มีขนาดยาวได้ตั้งแต่ 1 มิลลิเมตร ไปจนถึง เป็น เมตร หรือสิบๆเมตร เคยมีรายงานยาวได้ถึง 40 เมตร กว้างได้ประมาณ 1-6 มิลลิเมตร มีสีออกขาว และมีลักษณะเป็นปล้องๆ ขนาดปล้องจะต่างกันขึ้นกับชนิดของพยาธิ แต่ทั่วไปเป็นเป็นมิลลิเมตร แต่ละปล้องจะมีไข่จำนวนมหาศาลอยู่ ซึ่งแต่ละปล้องที่แก่เต็มที่ สามารถหลุดออกจากพยาธิตัวแก่ได้โดยไม่ทำให้ตัวแก่นั้นเสียชีวิต เมื่อหลุดแล้ว ปล้องที่หลุดนั้นจะปนออกมากับอุจจาระ และทำให้เกิดการติดต่อสู่คนและสัตว์ได้เช่นเดียวกับจากไข่พยาธิโดยตรง

 

พยาธิตัวตืด กินอาหารด้วยผนังตัวมันเองจะดูดสารอาหารจากระบบทางเดินอาหารของโฮสต์จำเพาะโดยตรง เพราะตัวมันไม่มีระบบทางเดินอาหาร นอกจากนี้ ยังเป็นทั้งตัวผู้และตัวเมียในตัวเดียวกัน(บางคนเรียกว่าเป็น กะเทย) จึงสามารถผสมพันธ์ออกไข่ได้ด้วยตัวมันเอง ซึ่งตัวแก่ของพยาธิตัวตืด โดยทั่วไปจะมีอายุได้นานเป็นปีขึ้นไป มีรายงานอยู่ได้นานถึง 25 ปี

 

โรคพยาธิตัวตืด เป็นโรคติดเชื้อทางอาหาร ที่เรียกว่า Food borne disease หรือ Food borne illness คือ จากคนกินไข่/ปล้องพยาธิฯที่อยู่ในอุจจาระของโฮสต์จำเพาะ และอุจจาระนั้นๆปนเปือนใน อาหาร น้ำดื่ม และ/หรืออุจจาระติดที่สิ่งของเครื่องใช้ และที่มือ, และ/หรือ จากคนกินพยาธิฯตัวอ่อนระยะติดต่อ (Infective larva) ที่อยู่ในเนื้อของ “โฮสต์ตัวกลาง” (Intermediate host, สัตว์ที่ให้พยาธิอยู่อาศัย อาจเจริญเป็นตัวอ่อนระยะต่างๆได้ แต่ไม่สามารถเจริญเป็นตัวแก่ได้)

 

โรคพยาธิตัวตืด พบทั่วโลก โดยไม่ขึ้นกับเชื้อชาติ แต่มักพบในประเทศที่ขาดสุขอนามัยพื้นฐาน เช่น เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แอฟริกา อเมริกากลาง พบได้ในคนทุกเพศทุกวัย (แต่พบบ่อยในเด็ก เพราะเป็นวัยที่ยังไม่รู้จักรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน และยังเล่นคลุกคลีในแหล่งดิน แหล่งน้ำ ที่ปนเปือนอุจจาระของโฮสต์จำเพาะ) ทั้งนี้ผู้หญิงและผู้ชายมีโอกาสเกิดโรคได้เท่ากัน

 

โรคพยาธิตัวตืดที่พบบ่อยในคน ที่รวมถึงในประเทศไทย ได้แก่

  • พยาธิตืดหมู (แนะนำอ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง พยาธิตืดหมู)
  • พยาธิตืดวัว (แนะนำอ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง พยาธิตืดวัว)
  • พยาธิตืดปลา (แนะนำอ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ตืดปลา:โรคพยาธิตืดปลา)
  • พยาธิตืดแคระ (แนะนำอ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ตืดแคระ: พยาธิตืดแคระ)

 

วงจรชีวิตของพยาธิตัวตืดเป็นอย่างไร? ติดต่อสู่คนได้อย่างไร?

โรคพยาธิตัวตืด

วงจรชีวิตของพยาธิตัวตืด มี 3 ระยะหลักคือ

  • ระยะเมื่อเริ่มต้นที่ “พยาธิตัวแก่ ใน โฮสต์จำเพาะ(ในคน) ออกไข่ (Egg)ปนในอุจจาระ
  • ระยะต่อมา ไข่ ไปเจริญเป็น “ตัวอ่อน” (Larva)ใน โฮสต์ตัวกลางที่กินไข่พยาธินี้จากการปนเปื้อนของอุจจาระ ในดิน ในแหล่งน้ำ และในอาหาร และ
  • ระยะท้าย โฮสต์จำเพาะ(คน) กินไข่พยาธินี้ที่อยู่ในอุจจาระที่ปนเปื้อนใน อาหาร น้ำดื่ม หรือ กินโฮสต์ตัวกลาง(กินตัวอ่อน)

 

กรณีคนเป็นโฮสต์จำเพาะ ไข่ หรือตัวอ่อนพยาธินี้ จะเจริญอยู่ในลำไส้เล็ก จนเป็นตัวแก่ จนออกไข่ เป็นอันครบวงจรชีวิตของพยาธิตัวตืด ที่เรียกการก่อโรคในคนด้วยวิธีนี้ว่า “การติดเชื้อพยาธิลำไส้ (Intestinal tapeworm infection)” คือ ติดเชื้อจากไข่พยาธิ ดังนั้น คนจึงติดพยาธิจากไข่พยาธิได้ทั้งจากอุจจาระของตนเองและจากอุจจาระของผู้อื่น

 

แต่พยาธิตัวตืดบางชนิด คนเป็นได้ทั้งโฮสต์จำเพาะและโฮสต์ตัวกลาง เช่น ในพยาธิตืดหมู กรณีนี้ การติดเชื้อในคนจะมีได้ 2 แบบ คือ

 

ก. การติดเชื้อพยาธิลำไส้ (Intestinal tapeworm infection): ดังได้กล่าวแล้วในต้นหัวข้อนี้ และ

 

ข. การติดเชื้อจากตัวอ่อนพยาธิ (Invasive tapeworm infection): โดยคนในฐานะโฮสต์ตัวกลาง เมื่อกินไข่พยาธิ หรือกินตัวอ่อนพยาธิในโฮสต์ตัวกลาง ตัวอ่อนพยาธิจะไชออกจากกระเพาะอาหารและลำไส้ของคน เข้าไปอยู่ในเนื้อเยื่อ/อวัยวะต่างๆของคน โดยจะอยู่ในรูปแบบของการมี “ถุงหุ้ม เรียกว่า Cyst” ซึ่งทั้งการไชของตัวอ่อน และการเกิด Cyst ในเนื้อเยื่อ/อวัยวะต่างๆ จะก่อให้เกิดอาการผิดปกติได้หลากหลาย ขึ้นกับว่า ตัวอ่อนจะไช หรือจะไปสร้าง Cyst อยู่ที่เนื้อเยื่อ/อวัยวะไหน ที่พบบ่อย คือ

  • ผิวหนัง: เกิดผื่นผิวหนังอักเสบ หรือก้อนเนื้อที่ผิวหนัง
  • สมอง: เกิดสมองอักเสบ และก้อนเนื้อในสมอง
  • ปอด: เกิดปอดอักเสบ และก้อนเนื้อในปอด
  • ลูกตา: เกิดตาพร่ามัว ถึงตาบอด

 

ซึ่งการติดเชื้อจากงตัวอ่อนพยาธิฯ’นี้ ที่พบบ่อย จะเป็นการติดเชื้อจาก ‘พยาธิตืดหมู’ ที่เรียกว่า โรค Cysticercosis “แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง พยาธิตืดหมู(Pork tapeworm) โรคติดเชื้อพยาธิตืดหมู(Cysticercosis)” ซึ่งการติดเชื้อรูปแบบนี้ พยาธิตัวตืดจะไม่สามารถเจริญเป็นตัวแก่ ไม่สามารถออกไข่ได้ จึงไม่สามารถมีชีวิตที่ครบวงจรชีวิต แต่ Cyst สามารถอยู่ได้ในคนได้เป็นเวลานานโดยขึ้นกับชนิดของพยาธิ เช่น Cyst ของพยาธิตืดหมู พบมีชีวิตในคนได้นานเป็นปีๆ มีรายงานอยู่ได้นาน ถึง 10 ปี

 

ใครมีปัจจัยเสี่ยงติดพยาธิตัวตืด?

ผู้มีปัจจัยเสี่ยงติดพยาธิตัวตืด คือ

  • อาศัย หรือ ท่องเที่ยว ในแหล่งที่พยาธิตัวตืดเป็นเชื้อประจำถิ่น หรือในแหล่งที่มีสุขอนามัยพื้นฐานไม่ดี
  • อาศัยอยู่ใกล้แหล่งที่เลี้ยงสัตว์ที่เป็นโฮสต์จำเพาะ และ/หรือเป็นโฮสต์ตัวกลางของพยาธิตัวตืด
  • กินอาหาร/เนื้อสัตว์ดิบๆ หรือปรุงสุกๆดิบ หรือดื่มน้ำไม่สะอาด
  • ขาดการดูแลตนเองด้านสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เช่น ไม่รู้จักรักษาความสะอาดมือ โดยเฉพาะไม่ล้างมือก่อนกินอาหาร และ/หรือ หลังการขับถ่าย

 

โรคพยาธิตัวตืดมีอาการอย่างไร?

ทั่วไป ตัวพยาธิตัวตืดในลำไส้ ปรับตัวได้ดีมาก จนมักไม่ก่ออาการผิดปกติใดๆกับคน ยกเว้นอาจผอมลงโดยไม่ทราบสาเหตุ แต่ยังกินได้ดี ไม่เบื่ออาหาร แต่บางคนอาจมีอาการได้บ้าง

 

ก. ถ้ามีอาการ อาการที่พบได้ เช่น

  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • อ่อนเพลีย
  • เบื่ออาหาร
  • ปวดท้อง
  • ท้องเสีย
  • บางคนอาจมีอาการ ระคายเคือง แสบ คัน รอบๆปากทวารหนัก ซึ่งเกิดจากการระคายเคืองต่อ ไข่ และปล้องของพยาธิที่ปนอยู่ในอุจจาระ
  • บางคนอาจเห็นไข่ และ/หรือปล้องพยาธินี้ปนออกมากับอุจจาระ

 

ข. ในระยะยาว ซึ่งเป็นอาการพบได้น้อยมากๆ คือ

  • อาจทำให้เกิดอาการปวดท้องรุนแรงจากภาวะลำไส้อุดตัน และ/หรือท่อน้ำดี/ระบบทางเดินน้ำดีอุดตัน จากพยาธิตัวแก่ ที่อาจมีหลายตัว หรือที่มีขนาดตัวยาวขดกันแน่นจนอุดตันท่อลำไส้ หรือท่อน้ำดี หรือ
  • ทำให้เกิดผู้ป่วยมีอาการผอมมาก หรือ เจริญเติบโตไม่เต็มที่ ที่มักพบเกิดในเด็กที่ติดพยาธินี้

 

ค. ส่วนอาการจากการติดเชื้อพยาธิฯในระยะเป็น Cyst หรือ ระยะ Invasive tapeworm infection ในช่วงที่ตัวอ่อนไชในเนื้อเยื่อ/อวัยวะ อาจมีอาการ เช่น

  • ไข้
  • ผื่นคัน
  • ผิวหนังส่วนนั้นบวม และ/หรือ
  • คลำก้อนได้ที่ผิวหนังเมื่อตัวอ่อนไชผ่านผิวหนัง

 

แต่หลังจากตัวอ่อนสร้างเป็น Cyst ขึ้นในเนื้อเยื่อ/อวัยวะต่างๆแล้ว อาการจะเกิดจากปฏิกิริยาของ Cyst ต่อเนื้อเยื่อ/อวัยวะนั้นๆ อาการจึงแตกต่างกันไปตามแต่ว่า จะมี Cyst เกิดที่เนื้อเยื่อ/อวัยวะใด ทั้งนี้ อาการต่างๆอาจเกิดได้ในระยะเวลา 1-2 สัปดาห์หลังกิน Cyst หรือนานได้หลายปีจึงมีอาการ หรือเป็นๆหายๆ ทั้งนี้ขึ้นกับชนิดพยาธิตืด และปริมาณของ Cyst ในร่างกาย ซึ่ง ที่พบก่ออาการบ่อย เช่น

  • เมื่อCyst ไปเกิดที่สมอง: จะก่ออาการชัก และ/หรือปวดศีรษะเรื้อรัง หรือ
  • เมื่อCystเกิดที่ตา: อาการคือ ตามัว เห็นภาพไม่ชัด จนถึงตาบอด

 

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?

ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล เมื่อ

  • มีอาการดังกล่าวในหัวข้อ “อาการฯ” โดยเฉพาะเกิดหลังกินอาหาร/เนื้อสัตว์ปรุงดิบ หรือปรุงสุกๆดิบๆ ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล และ/หรือ
  • เมื่ออยู่ในแหล่งที่มีตัวตืดเป็นโรคประจำถิ่น ก็ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเพื่อขอให้แพทย์ตรวจอุจจาระดูไข่/ปล้องของตัวตืด

 

แพทย์วินิจฉัยโรคพยาธิตัวตืดได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคพยาธิตัวตีดในลำไส้ ได้จาก

 

  • การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น อาการ ประวัติสัมผัสโรค(เช่น การกินอาหาร การท่องเที่ยว การพักอาศัยในถิ่นมีโรคนี้เป็นโรคประจำถิ่น)
  • การตรวจร่างกาย
  • การตรวจอุจจาระ ดูไข่/ปล้องพยาธิ

 

ส่วนการวินิจฉัยโรคพยาธิตัวตืดในระยะที่เป็น Cyst นอกจากเช่นเดียวกับที่วินิจฉัยการติดเชื้อ/โรคนี้ในลำไส้ดังกล่าวแล้ว ยังมีการตรวจสืบค้นเพิ่มเติมตามดุลพินิจของแพทย์ เช่น

  • การตรวจเลือดดูสารก่อภูมิต้านทานต่อพยาธิฯ
  • การตรวจเลือดซีบีซี/CBC ดูค่าปริมาณเม็ดเลือดขาวชนิด Eosinophil ที่จะขึ้นสูงผิดปกติ และ
  • การตรวจภาพอวัยวะที่ก่ออาการด้วย เอกซเรย์, เอกซเรย์คอมพิวเตอร์, และ/หรือ เอมอาร์ไอ ที่อาจพบ Cyst ได้
  • นอกจากนั้น คือการตัดชิ้นเนื้อที่มี Cyst เพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา

 

รักษาโรคพยาธิตัวตืดอย่างไร?

การรักษาโรคพยาธิตัวตืด คือ การกินยาฆ่าตัวพยาธิ(ไม่ใช่ฆ่าไข่พยาธิ, ปัจจุบัน ยังไม่มียาฆ่าไข่ หรือ Cyst), การรักษาประคับประคองตามอาการ, และการผ่าตัด

 

ก. การกินยาฆ่าพยาธิ/ยาถ่ายพยาธิ: มียาหลายตัวที่มีประสิทธิภาพในการฆ่าตัวพยาธิ เช่น ยา Praziquantel, Albendazole, Niclosamide, และ Mebendazole โดยการเลือกใช้ชนิดยา ขึ้นกับ ชนิดพยาธิ อาการ ความรุนแรงของการติดเชื้อ ผลข้างเคียงของยาที่อาจเกิดกับผู้ป่วย และดุลพินิจของแพทย์

 

ข. การรักษาประคับประคองตามอาการ: เช่น ยาแก้คัน เมื่อเกิดผื่นคัน, ยากันชักเมื่อ Cyst ที่สมอง ก่ออาการชัก เป็นต้น

 

ค. การผ่าตัด: ใช้รักษาเฉพาะกรณีพยาธิตัวแก่ ก่อให้เกิดภาวะอุดตันในท่ออวัยวะต่างๆ เช่น ลำไส้อุดตัน หรือเมื่อต้องการผ่าเอา Cyst ออก

 

โรคพยาธิตัวตืดก่อผลข้างเคียงอย่างไร?

ผลข้างเคียง จากการติดเชื้อพยาธิตัวตืด พบได้น้อย ที่พบได้ เช่น

  • ภาวะอุดตันของอวัยวะที่มีลักษณะเป็นท่อ ที่ตัวตืดเข้าไปอาศัยอยู่ เช่น ภาวะลำไส้อุดตัน หรือ ท่อน้ำดีอุดตัน
  • นอกจากนั้น จะพบในระยะที่เป็น Cyst ซึ่งจะก่ออาการตามเนื้อเยื่อ/อวัยวะที่ Cyst อยู่ เช่น
    • อาการชักเรื้อรัง หรือ ปวดศีรษะเรื้อรัง เมื่อมี Cyst ในสมอง หรือ
    • ตาบอดเมื่อCyst ไปอยู่ในลูกตา เป็นต้น

 

โรคพยาธิตัวตืด มีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

การพยากรณ์โรค ในการติดเชื้อพยาธิตัวตืด คือ

 

ก. เมื่อเป็นการติดเชื้อในลำไส้ : เป็นโรคที่ไม่ค่อยก่ออาการรุนแรง แต่ในเด็ก อาจทำให้เด็กเจริญเติบโตได้ช้าจากภาวะขาดอาหาร/ทุโภชนาการ และบางคน (พบได้น้อยมาก) ที่ต้องผ่าตัด จากพยาธิตัวแก่ อุดตันลำไส้ หรือ ท่อน้ำดี

 

ข. เมื่อเป็นโรคระยะมี Cyst ในร่างกาย: การพยากรณ์โรค ขึ้นกับว่า Cyst จะไปอยู่ที่อวัยวะใด เช่น ถ้าที่สมอง หรือ ลูกตา อาการก็จัดว่ารุนแรง แต่มักไม่ทำให้เสียชีวิต แต่ถ้าเกิดที่ผิวหนัง ก็มักมีเพียงก้อนเนื้อเล็กๆใต้ผิวหนังที่ไม่ก่ออาการอื่น และไม่โตขึ้น

 

อนึ่ง: พยาธิชนิดนี้สามารถเกิดการติดซ้ำได้เสมอ ถ้ากินไข่/ปล้อง และ/หรือกินเนื้อสัตว์ที่มีCyst ซ้ำๆ

 

ดูแลตนเองอย่างไร?

การดูแลตนเองเมื่อมีโรคพยาธิตัวตืด หลังพบแพทย์แล้ว คือ

  • ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • กินยาต่างๆที่แพทย์สั่ง ให้ครบถ้วน ถูกต้อง ไม่ขาดยา ไม่หยุดยาเอง
  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน(สุขบัญญัติแห่งชาติ) ป้องกันการติดเชื้อซ้ำ เช่น ล้างมือบ่อยๆ โดยเฉพาะก่อนกินอาหาร และหลังการขับถ่าย
  • ไม่กินเนื้อสัตว์ดิบ และ/หรือ ปรุงสุกๆดิบๆ กินแต่เนื้อปรุงสุกทั่วถึงทั้งด้านนอกและด้านใน ด้วยอุณภูมิตั้งแต่ 60 องศาเซลเซียส(Celsius) ขึ้นไป นานอย่างน้อย 5 นาที และ ดื่มแต่น้ำสะอาด เพื่อป้องกันการติดพยาธิซ้ำ
  • รักษาความสะอาดอาหารทุกชนิด โดยเฉพาะ ผัก ผลไม้ ต้องล้างให้สะอาด หรือต้องปลอกเปลือก ก่อนรับประทาน
  • ตรวจอุจจาระเป็นระยะๆ บ่อยตาม แพทย์ พยาบาล สาธารณสุข หรืออาสาสมัครสุขภาพ แนะนำ
  • พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามนัด

 

ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัด เมื่อ

  • มีอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นใหม่ เช่น ปวดท้องรุนแรงโดยไม่ผายลม(อาการของลำไส้อุดตัน), หรือมีอาการทางสมอง เช่น ปวดศีรษะเรื้อรัง หรือ ปวดศีรษะรุนแรง หรืออาการช่าที่ใบหน้า
  • อาการต่างๆเลวลง เช่น ท้องเสียรุนแรง
  • มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น คลื่นไส้ อาเจียนรุนแรง
  • กังวลในอาการ

 

ป้องกันโรคพยาธิตัวตืดอย่างไร?

การป้องกันโรคพยาธิตัวตืด มีวิธีการที่ป้องกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือ

  • กินแต่เนื้อสัตว์ปรุงสุกอย่างทั่วถึงทั้งด้านนอกและด้านใน ด้วยอุณภูมิตั้งแต่ 60 องศาเซลเซียส(Celsius) ขึ้นไป นานอย่างน้อย 5 นาที ทั้งนี้ การแช่แข็ง การรมควัน และ/หรือ การตากแดด ไม่สามารถทำลาย พยาธิ และ/หรือ Cyst ของพยาธิตัวตืดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • รักษาความสะอาดอาหารทุกชนิด โดยเฉพาะ ผัก ผลไม้ ต้องล้างให้สะอาด หรือต้องปลอกเปลือก ก่อนรับประทาน
  • ดื่มแต่น้ำสะอาด ระวังการกินน้ำแข็ง
  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน(สุขบัญญัติแห่งชาติ) ที่สำคัญ คือ ล้างมือบ่อยๆ โดยเฉพาะก่อนกินอาหาร และหล้งการขับถ่าย
  • ถ่ายอุจจาระในส้วมเสมอ
  • ดูแล พัฒนาให้ที่อยู่อาศัย และชุมชน ให้มีสุขอนามัยที่ดี โดยเฉพาะเรื่อง ส้วม และการกำจัดอุจจาระตามหลักสาธารณสุข
  • กวดขัน ดูแล พัฒนา ในเรื่องแหล่งน้ำ การกำจัดมูลสัตว์ การเลี้ยงสัตว์ต่างๆ ที่รวมถึงการประมง เพื่อควบคุมการติดพยาธิตัวตืดของโฮสต์จำเพาะ และโฮสต์ตัวกลาง

 

บรรณานุกรม

  1. Craig, N. (2012). Canadian Family Physician. 58, 654-658
  2. https://emedicine.medscape.com/article/786292-overview#showall[2019,May25]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Cestoda[2019,May25]
  4. https://medlineplus.gov/ency/article/001391.htm[2019,May25]
  5. https://www2.health.vic.gov.au/public-health/infectious-diseases/disease-information-advice/taeniasis-tapeworm [2019,May25]
  6. https://www.cdc.gov/parasites/taeniasis/[2019,May25]