โรคฝีมะม่วง หรือกามโรคต่อมน้ำเหลือง (Lymphogranuloma venereum)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

โรคฝีมะม่วงคืออะไร?

โรคฝีมะม่วง หรือ กามโรคต่อมน้ำเหลือง หรือกามโรคท่อน้ำเหลือง มีชื่อในภาษาอังกฤษ คือ Lymphogranuloma venereum ย่อว่า LGV เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดหนึ่ง เกิดจาก เชื้อแบคทีเรียคลาไมเดียทราโคมาติส( Chlamydia Tracho matis) ชนิด L1, L2, L3 ติดต่อโดยการร่วมเพศหรือ สัมผัสถูกหนองของฝีมะม่วงโดยตรง ทำให้เกิดแผลขนาดเล็ก ไม่เจ็บ ที่อวัยวะเพศก่อน ซึ่งเพราะไม่เจ็บ บางครั้งผู้ป่วยจึงไม่สังเกตเห็น ต่อมาจะทำให้เกิดการอักเสบของต่อมน้ำเหลืองบริเวณขาหนีบ ทำให้เกิดอาการปวดบวม เดินลำบาก เรียกตามภาษาทั่วไปว่า ไข่ดันบวม

 

โรคนี้มีระยะฟักตัวประมาณ 3-30 วันส่วนมากจะใช้เวลา 7-10 วันหลังจากการสัมผัสเชื้อ โดยการเกิดแผลมักเกิดในช่วง 3-10 วันหลังสัมผัสเชื้อ ส่วนการอักเสบของต่อมน้ำเหลืองมักเกิดประมาณ 10-30 วันหลังสัมผัสเชื้อ

 

อนึ่ง โรคฝีมะม่วงเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ที่เกิดได้ทั้งจากการมีเพศสัมพันธ์

  • ทางช่องคลอด
  • ทางปาก
  • และทางทวารหนัก

 

โรคฝีมะม่วงสำคัญอย่างไร? ก่อปัญหาสุขภาพอย่างไร?

โรคฝีมะม่วง พบได้ประมาณ 2-5% ของโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ ในอดีตพบมากในแถบเอเชียและแอฟริกา แต่ปัจจุบันพบมากขึ้นในแถบยุโรปและอเมริกา โรคนี้เป็นโรคเรื้อรังหากไม่ได้รับการรักษาหรือรักษาไม่ถูกต้องก็จะทำให้แพร่เชื้อไปยังคู่นอนของตนได้ ทำให้เกิดมีการอักเสบบริเวณอวัยวะเพศ หรือ ในอุ้งเชิงกราน (การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน) นำไปสู่การมีบุตรยาก การตั้งครรภ์นอกมดลูก (ท้องนอกมดลูก) การปวดท้องน้อยเรื้อรัง การอักเสบที่ลูกอัณฑะ (ในผู้ชาย) หรือกรณีที่มีอักเสบที่รูทวาร ทำให้ปวดทวารตลอดเวลา อาจถ่ายอุจจาระไม่ออก หรืออาจมีการตีบตันของรูทวารได้ทั้งหมดดังกล่าวจะมีผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย

 

อะไรเป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคฝีมะม่วง?

ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคฝีมะม่วง ได้แก่

1. การมีคู่นอนหลายคน

2. การไม่สวมถุงยางอนามัยชายขณะร่วมเพศ

3. การมีรักร่วมเพศระหว่างชายกับชาย

 

โรคฝีมะม่วงมีอาการอย่างไร?

โรคฝีมะม่วงมีอาการ 4 แบบใหญ่ๆ คือ

1. แผลที่อวัยวะเพศ

2. ต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบโต

3. ท่อปัสสาวะอักเสบ

4. การอักเสบของรูทวาร

 

และอาการโรคฝีมะม่วงยังแบ่งเป็น 2ระยะ ได้แก่

 

ก. อาการระยะเริ่มแรก: มักเกิดหลังได้รับเชื้อประมาณ 3-30 วัน (ทั่วไป 3-10วัน)

  • จะมีตุ่มนูน ใส หรือ แผลขนาดเล็กเกิดขึ้นที่อวัยวะเพศ หรือใกล้ทวารหนัก
  • หรือ มีแผลในช่องปาก หรือ ลำคอ ถ้าเป็นเพศสัมพันธ์ทางปาก
  • แผล/ตุ่มจะหายไปเองภายใน 2-3 วันโดยที่ผู้ป่วยมักไม่ทันได้สังเกตพบ

 

ข. อาการระยะต่อมา:

  • ต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบจะบวมโตติดกันเป็นก้อนฝีขนาดใหญ่ และ เจ็บมาก ตรงกลางเป็นร่องของพังผืดคล้ายร่องของมะม่วงอกร่อง จึงเรียกว่า "ฝีมะม่วง" ซึ่งอาจเกิดโรคเพียงข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้
  • ผิวหนังบริเวณที่เป็นฝีจะมีอาการอักเสบมีลักษณะบวมแดงร้อนร่วมด้วย
  • บางคนอาจปวดฝีมากจนเดินไม่ถนัด
  • บางครั้งจะทำให้อัณฑะบวม หรือบริเวณปากช่องคลอดบวมมาก
  • ปวดแสบเมื่อปัสสาวะ และ อุจจาระ
  • บางคนอาจมีอาการไข้ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ปวดข้อ เยื่อตาอักเสบ มีผื่นขึ้นตามตัว

 

ทั้งนี้ ฝีมะม่วง มักพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง เพราะในผู้หญิงน้ำเหลืองจากอวัยวะสืบพันธุ์จะระบายไปที่ต่อมน้ำเหลืองในช่องท้องน้อย/อุ้งเชิงกรานมากกว่ามาที่ขาหนีบ

  • ถ้าไม่ได้รักษา ฝีอาจยุบหายได้เองภายใน 2-3 สัปดาห์ หรือเป็นเดือน แต่บางรายฝีอาจแตกเป็นรู หลายรู และมีหนองไหล กลายเป็นแผลเรื้อรัง
  • ปัจจุบันโรคนี้มีแนวโน้มพบสูงขึ้น โดยเฉพาะในชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายด้วยกัน และในกลุ่มที่มีการติดเชื้อเอชไอวี (HIV) ทำให้เกิดการอักเสบของช่องทวารหนักอย่างมาก (Ulcerative proctitis) มีอาการปวดก้น อยากถ่ายอุจจาระตลอดเวลา มีหนองไหลทางรูทวาร และมีเลือดออกทางทวารหนักได้

 

ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อเกิดโรคฝีมะม่วง?

เมื่อเกิดอาการผิดปกติ มีแผล หรือขาหนีบบวม ควรรีบไปพบแพทย์ ไม่ควรซื้อยามารับ ประทานเอง เพราะอาจใช้ยาไม่ตรงชนิดกับโรค ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดเชื้อดื้อยาได้ง่าย

สิ่งที่ควรทำระหว่างที่รอไปพบแพทย์คือ

  • หากปวดมาก สามารถรับประทานยาแก้ปวดได้ เช่น ยาพาราเซตามอล (Paracetamol) -ดื่มน้ำมากๆอย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว (เมื่อไม่มีโรคที่ต้องจำกัดน้ำดื่ม)
  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และ
  • ประคบอุ่น/ประคบร้อนบริเวณที่ ปวด บวม เเดง โดยใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำอุ่น บิดผ้าให้แห้ง วางบนตำแหน่งที่ปวด ประมาณครั้งละ 10-15 นาที ทำได้บ่อยทุก 8 ชั่วโมง

 

ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?

เมื่อเกิดอาการผิดปกติต่างๆ มีแผลที่อวัยวะเพศหรือขาหนีบบวม ควรรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเสมอ

 

แพทย์วินิจฉัยโรคฝีมะม่วงได้อย่างไร?

การมีแผลที่บริเวณอวัยวะเพศ มักจะทำให้ต่อมน้ำเหลืองบริเวณขาหนีบโตขึ้นและมีอา การปวดได้เพราะต่อมน้ำเหลืองเป็นตัวคอยดักเชื้อโรค เป็นป้อมปราการที่จะคอยสู้รบกับเชื้อโรค การวินิจฉัยโรค หากผู้ป่วยมาพบแพทย์เร็ว แพทย์อาจดูจากลักษณะแผลเพื่อวินิจฉันแยกโรคจาก แผลของโรคซิฟิลิส โรคเริมอวัยวะเพศ โรคแผลริมอ่อน แต่บางครั้งแผลที่อวัยวะเพศหายไปแล้ว คงเหลือเฉพาะก้อนที่ขาหนีบ ปวดบวม แพทย์อาจตรวจเลือด ดูโรคซิฟิลิส หรือหากมีแผลและปวดที่ก้นเรื้อรัง และมีประวัติเป็นรักร่วมเพศ ต้องนึกถึงโรคนี้ด้วย ซึ่งการตรวจเพาะเชื้อแบคทีเรีย Chlamydia tracromatis ทำได้ยาก และสามารถทำได้เฉพาะบางโรงพยา บาลหรือบางห้องปฏิบัติการ การวินิจฉัยโรคนี้ จึงมักได้จากประวัติอาการและการตรวจร่างกาย ยกเว้นในกรณีที่สงสัยมาก ก็จะมีการส่งเลือดหรือปัสสาวะไปตรวจหาเชื้อที่ห้องปฏิบัติการพิเศษ

 

มีแนวทางรักษาโรคฝีมะม่วงอย่างไร?

การรักษาโรคฝีมะม่วง แบ่งเป็น การรักษาทั่วไป และการรักษาแบบเฉพาะ

 

ก. การรักษาทั่วไปได้แก่

1. ดูแลความสะอาดบริเวณอวัยวะเพศและขาหนีบ

2. รับประทานยาแก้ปวด เช่น ยาพาราเซตามอล (Paracetamol)

3. งดมีเพศสัมพันธ์ขณะยังมีก้อนที่ขาหนีบ

4. ประคบอุ่นที่ขาหนีบดังกล่าวแล้วในหัวข้อ การดูแลตนเอง

5. งดดื่มสุรา-เบียร์ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด

6. ตรวจเลือดเพื่อดูการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์อย่างอื่นร่วมด้วย เช่น โรคเอดส์ โรคซิฟิลิส เพื่อให้การรักษาโรคเหล่านี้ร่วมด้วย

 

ข. การรักษาแบบเฉพาะ สามารถใช้ยาปฏิชีวนะได้หลายชนิด เช่น

1. Doxycycline เป็นยาที่นิยมใช้มากที่สุด รับประทานครั้งละ 100 มก. วันละ 2 ครั้ง ควรกินยาติดต่อกันนาน 14 วัน

2. Tetracycline หรือ Erythromycin รับประทานครั้งละ 500 มก. วันละ 4 ครั้งควรกินยาติด ต่อกันนาน 14 วัน

3. ถ้าฝีไม่ยุบ และมีลักษณะนุ่ม แพทย์จะใช้เข็มฉีดยาที่ฆ่าเชื้อแล้ว เบอร์ 16-18 ต่อเข้ากับกระบอกฉีดยา แล้วเจาะดูดเอาหนองออก แพทย์มักไม่ผ่าที่ฝีเป็นแผลยาวๆ เพราะจะทำให้แผลหายช้า และอาจทำให้เกิดเป็นรอยทะลุที่มีหนองไหลตลอดเวลาได้ (Fistula)

 

โรคฝีมะม่วงรักษาหายหรือไม่?

การรักษาโรคฝีมะม่วง ต้องรักษาทั้ง 2 ฝ่าย คือ ผู้ป่วยและคู่นอนทุกคน เพื่อให้โรคหาย และไม่ไปเป็นพาหะโรคอยู่ที่ฝ่ายหญิงหรือฝ่ายชาย

 

ทั้งนี้ โรคนี้สามารถรักษาหายได้ในคนปกติที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายปกติ ส่วนในคนที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคผิดปกติ เช่น โรคเอดส์ มีแนวโน้มจะติดเชื้อซ้ำ หรือรักษาแล้วไม่หายขาด อาจต้องเปลี่ยนชนิดของยาปฏิชีวนะโดยการตรวจเพาะเชื้อเพื่อหาการตอบสนองของโรคต่อยาปฏิชีวนะชนิดต่างๆ

 

มีภาวะแทรกซ้อนจากโรคฝีมะม่วงไหม?

ภาวะแทรกซ้อน/ผลข้างเคียงจากโรคฝีมะม่วงเกิดขึ้นได้หากได้การรักษาที่ไม่เหมาะสม หรือ ไม่รักษา โดยจะเกิดผลแทรกซ้อน ดังนี้

1. อัณฑะหรือ ปากช่องคลอด บวม เกิดเนื่องจากมีการอุดกั้นของทางเดินน้ำเหลือง (ระบบน้ำเหลือง) ในบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์

2. เกิดแผลเป็นขนาดใหญ่ที่ขาหนีบ หรือ แผลที่ขาหนีบหายช้า

3. มีหนอง/น้ำเหลืองไหลต่อเนื่องจากการผ่าก้อนฝีที่ขาหนีบ

4. การตีบตันของช่องทวารหนัก หากมีการร่วมเพศทางทวารหนัก บางครั้งอาจต้องแก้ไขการตีบตันด้วยการผ่าตัด

 

ป้องกันโรคฝีมะม่วงอย่างไร?

การป้องกันโรคฝีมะม่วง คือ

1. หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่มีโรค ซึ่งเป็นการป้องกันการเกิดโรคที่ดีที่สุด

2. ไม่สำส่อนทางเพศ

3. สวมถุงยางอนามัยชายเมื่อมีเพศสัมพันธ์ทุกครั้ง

4. รักษาความสะอาดของอวัยวะสืบพันธุ์หลังมีเพศสัมพันธ์ทุกครั้ง

5. ออกกำลังกาย และ รักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอด้วยการรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)

 

บรรณานุกรม

  1. BebearC , de Barbeyrac B. Genital Chlamydia trachomatis infections. ClinMicrobiol Infect 2009; 15: 4–10.
  2. Daniel Richardson D, Goldmeier D. Lymphogranulomavenereum: an emerging cause of proctitis in men who have sex with men. International Journal of STD & AIDS 2007; 18: 11–5.
  3. White JA. Manifestations and management of lymphogranulomavenereum. Current Opinion in Infectious Diseases 2009, 22:57–66.
  4. https://emedicine.medscape.com/article/220869-overview#showall [2019,Oct12]