ภาวะกล้ามเนื้อเต้นกระตุกชนิดไม่ร้ายแรง โรคบีเอฟเอส (Benign fasciculation syndrome: BFS)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

หลายคนต้องเคยมีอาการกล้ามเนื้อเต้นกระตุกตามแขน ขา ใบหน้า เปลือกตา (หนังตา) คงอดสงสัยไม่ได้ว่าตนเองมีอาการอะไร ผิดปกติหรือไม่ ต้องไปหาแพทย์หรือไม่ แล้วเราจะเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงในอนาคตหรือไม่ หลายคำถามมีคำตอบ ต้องติดตามบทความนี้ครับ “ภาวะกล้ามเนื้อเต้นกระตุกชนิดไม่ร้ายแรง หรือภาวะกล้ามเนื้อเต้นกระตุกชนิดธรรมดา (Benign fasciculation syndrome) หรือย่อว่า โรคบีเอฟเอส (BFS) ซึ่งต่อไปในบท ความนี้ขอเรียกว่า “โรคบีเอฟเอส”

อาการกล้ามเนื้อเต้นกระตุกคืออะไร?

โรคบีเอฟเอส

อาการกล้ามเนื้อเต้นกระตุกเรียกว่า Fasciculation คืออาการที่กล้ามเนื้อหดและคลายตัวอย่างรวดเร็วจนเรารู้สึกได้ ซึ่งเกิดได้กับกล้ามเนื้อทั่วร่างกาย โดยเกิดได้ทั้งใน

  • ภาวะปกติของร่างกาย เช่น ภาวะเครียด ตื่นเต้น อ่อนล้า ได้รับสารคาเฟอีนสูง (เช่น ชา กาแฟ เครื่องดื่มโคลา เครื่องดื่มชูกำลัง)
  • หรือ ในภาวะผิดปกติ/โรคต่างๆ ดังจะกล่าวต่อไป

ทำไมกล้ามเนื้อถึงเกิดการเต้นกระตุก?

กล้ามเนื้อเกิดเต้นกระตุกเนื่องจากกล้ามเนื้อมีภาวะตอบสนองไวกว่าปกติต่อตัวกระตุ้นหรือสิ่งเร้าต่างๆ (Hyperexcitation) เนื่องมาจากมีความผิดปกติระดับเซลล์ เช่น ภาวะเกลือแร่ในเลือดผิดปกติ, แมกนีเซียม (Magnesium)ในเลือดต่ำ(เช่น ในโรคไต หรือ โรคลำไส้อักเสบ ), ความเครียด, ความอ่อนล้า

อาการกล้ามเนื้อเต้นกระตุกพบได้ในโรคอะไรบ้าง?

กล้ามเนื้อเต้นกระตุก พบได้ใน

  • กรณีที่ไม่ได้เกิดจากโรคดังได้กล่าวแล้วใน’หัวข้อ อาการกล้ามเนื้อกระตุกคืออะไร’
  • และยังสามารถพบเป็นอาการของโรคบางโรคได้ เช่น
    • โรคไขสันหลัง
    • โรคกล้ามเนื้อ
    • โรคเส้นประสาท
    • และโรคของเซลล์ประสาทสั่งการ (Motor neuron) เช่น โรค Amyotrophic lateral sclerosis (โรคลูปัส-โรคเอสแอลอี, โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอแอลเอส, โรคเซลล์ประสาทสั่งการเสื่อม)

โรคบีเอฟเอสคืออะไร?

โรคบีเอฟเอส/BFS คือ ภาวะที่กล้ามเนื้อมีการเต้นกระตุกโดยไม่ได้มีอาการผิดปกติของระบบประสาทส่วนอื่นๆ ทั้งนี้พบเกิดได้กับกล้ามเนื้อที่ร่างกายสามารถควบคุมการเคลื่อนไหวได้ (Voluntary muscle: กล้ามเนื้อลาย) เช่น เปลือกตา/หนังตา แขน ขา ลำตัว หลัง ท้อง น่อง ต้นขา เป็นต้น

โรคบีเอฟเอสเกิดจากอะไร?

โรคบีเอฟเอส/BFSเกิดจากกล้ามเนื้อมีความไว/การตอบสนองมากกว่าปกติอย่างมากต่อตัวกระตุ้นหรือสิ่งเร้า (Hyperexcitation) โดยไม่ทราบสาเหตุการเกิดที่แน่ชัด

ใครมีโอกาส/ปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคบีเอฟเอส?

ผู้ที่มีโอกาส/ปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคบีเอฟเอส /BFS ได้แก่

  • ผู้ที่ออกกำลังกายหนัก หักโหม
  • ผู้ที่อ่อนล้า
  • นอนไม่พอ
  • พักผ่อนไม่พอ
  • มีความผิดปกติของเกลือแร่ในเลือด เช่น
    • แมกนีเซียมต่ำ
    • ฟอสเฟตต่ำ (Hypophosphatemia: เช่น โรคปอด ติดสุรา/โรคพิษสุรา โรคลำไส้อักเสบ)
  • ตื่นเต้นมาก
  • โรคสมาธิสั้น
  • ใช้ยาฆ่าแมลงบ่อยๆ
  • ทานยาแก้ปวดที่มีส่วนผสมของฝิ่น (เช่น มอร์ฟีน)
  • ผู้ที่มีอาการมือสั่นขณะทำกิจกรรม (Essential tremor: โรคสั่นไม่ทราบสาเหตุ)
  • และ/หรือ ดื่ม/บริโภคคาเฟอีนมาก

โรคบีเอฟเอสมีอาการอย่างไร?

นอกจากอาการกล้ามเนื้อเต้นกระตุกแล้ว อาการอื่นๆที่อาจพบร่วมด้วยในโรคบีเอฟเอส/BFS เช่น

  • ตะคริว
  • ปวดกล้ามเนื้อมัดที่เต้นกระตุก
  • กล้ามเนื้ออ่อนล้าง่าย
  • กล้ามเนื้อส่วนนั้นสั่น
  • รวมทั้งอาการเจ็บ ปวด ชา เหมือนมีแมลงมาไต่
  • รู้สึกมีของแหลมทิ่มแทงในส่วนที่เกิดการเต้นกระตุก

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?

เนื่องจากอาการกล้ามเนื้อเต้นกระตุกพบได้ทั้งในภาวะปกติและภาวะที่เป็นโรค ดังนั้นผู้ที่มีอาการกล้ามเนื้อเต้นกระตุกควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาล ไม่ควรปล่อยเวลาที่มีอาการไว้นาน ถ้าไม่มั่นใจก็ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลดีกว่า โดยเฉพาะเมื่อ อาการกล้ามเนื้อเต้นกระตุก เป็นดังนี้ เช่น

  • เป็นหลายๆตำแหน่งของร่างกาย เช่น แขน ไหล่ ลำตัว ขา
  • อาการฯเป็นรุนแรงขึ้น
  • อาการฯเป็นต่อเนื่องนานมากกว่า 2 สัปดาห์ก็ไม่หายไป
  • มีอาการผิดปกติอื่นๆร่วมด้วย เช่น กล้ามเนื้อลีบ อ่อนแรง พูดไม่ชัด

*อนึ่ง กรณีที่มีอาการฯเป็นๆหายๆ เป็นหลังจากการที่ ร่างกายพักผ่อนไม่พอ อดนอน หรือออกกำลังกายอย่างหนัก กรณีแบบนี้ไม่จำเป็นต้องพบแพทย์ ลองปรับพฤติกรรมดู แต่ถ้าปรับพฤติ กรรมแล้ว อาการยังคงอยู่ก็ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเช่นกัน

ทราบอย่างไรว่ากล้ามเนื้อเต้นกระตุกร้ายแรงหรือไม่?

*กรณีที่มีอาการกล้ามเนื้อเต้นกระตุกร่วมกับอาการผิดปกติอื่นๆเช่น กล้ามเนื้อลีบ พูดไม่ชัด มีอาการกล้ามเนื้อเต้นกระตุกทั่วตัว เป็นมานาน ก็น่าจะเกิดจากโรค ควรรีบพบแพทย์/ไปโรง พยาบาล

แต่ถ้ามีอาการเป็นๆ หายๆ ไม่รุนแรง มีเฉพาะบางบริเวณของร่างกาย เช่น เปลือกตา ที่เรียกว่าตาเขม่น หรือมีเพียงแค่อาการหลังจากออกกำลังกาย อ่อนล้า ยกของหนักๆ เครียด ซึ่ง สามารถมีอาการกล้ามเนื้อเต้นกระตุกได้ ถ้าเป็นแบบนี้ เพียงแค่พักผ่อนก็พอ ไม่ต้องพบแพทย์ แต่ถ้ากังวลในอาการ ก็พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลได้

แพทย์วินิจฉัยโรคบีเอฟเอสอย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคบีเอฟเอส/BFS ได้จาก

  • การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น ประวัติอาการ พฤติกรรมการใช้ชีวิต ประวัติโรคประจำตัว
  • การตรวจร่างกายทั่วไป
  • และ กรณีที่แพทย์สงสัยว่าเป็นอาการของโรค แพทย์จะส่งตรวจอื่นๆเพื่อการสืบค้นเพิ่มเติม เช่น
    • การตรวจคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ (Electromyography)
    • ตรวจเลือด ดูค่าเกลือแร่ในเลือด
    • ตรวจเลือด ดูการทำงานของต่อมไทรอยด์

รักษาโรคบีเอฟเอสอย่างไร?

แนวทางรักษาโรคบีเอฟเอส/BFS ได้แก่

ก. กรณีมีอาการโรคบีเอฟเอสไม่มาก ก็ไม่จำเป็นต้องให้การรักษา เพียงพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่เครียด อาการก็จะดีขึ้น

ข. แต่ถ้ามีอาการรุนแรงและรำคาญ แพทย์ก็ใช้รักษาด้วย

  • ยากลุ่มเบ็นโซไดอะซีปีน (Benzodiazepine: ยาจิตเวช) เช่น ยาคลอนาซีแปม (Clonazepam)
  • หรือยากลุ่มต้านเบต้า (Beta-blocker: ยาควบคุมการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ)เช่นยา โปรปานอลอล (Propanolol)
  • การแก้ไขภาวะเกลือแร่ในเลือดผิดปกติถ้าอาการเกิดจากมีภาวะเกลือแร่ฯผิดปกติ
  • แต่ถ้ามีอาการปวด ก็ใช้ยาแก้ปวดทั่วไปร่วมด้วย เช่นยา Paracetamol

โรคบีเอฟเอสมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

โรคบีเอฟเอส/BFS มีการพยากรณ์โรคที่ดี การรักษาได้ผลดีมาก ส่วนใหญ่หายเป็นปกติจากการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต

แต่กรณีเป็นโรคบีเอฟเอสที่เป็นนานๆ ไม่หายก็มี แต่พบได้ไม่บ่อย ถ้าไม่มีอาการผิดปกติอื่นๆร่วมด้วย และผลการตรวจต่างๆก็ปกติ การรักษาเพียงแค่ให้ยารักษาตามอาการ และผ่อนคลายด้วยการปรับพฤติกรรมและ/หรือการใช้ยาคลายเครียด ก็เพียงพอ

กรณีที่มีอาการกล้ามเนื้อเต้นกระตุกนั้น ส่วนใหญ่แล้วไม่มีอันตรายใดๆ แต่ถ้ามีอาการที่รุนแรง เป็นเวลานาน และไม่มั่นใจ ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อแพทย์ให้การตรวจประเมินวามีความผิดปกติหรือ ไม่ ท่านจะได้สบายใจ

โรคบีเอฟเอสก่อผลข้างเคียงอย่างไร?

โรคบีเอฟเอส/BFSโดยทั่วไปไม่ก่อผลข้างเคียง ยกเว้น รำคาญ และ/หรือกลัวว่าจะเป็นโรคร้ายแรง

แต่กรณีที่โรคฯมีอาการรุนแรงก็ส่งผลให้มีอาการ ปวด ตะคริว นอนไม่หลับได้ด้วย แต่ก็ไม่รุนแรง เพียงแค่ให้ยารักษาเบื้องต้นตามอาการ อาการเหล่านั้นก็มักดีขึ้น ซึ่งยารักษาตามอาการ เช่น

  • ยาที่ใช้รักษาอาการปวด/ยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล, หรือกลุ่มยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่ สเตียรอยด์ เช่น บลูเฟ่น(Brufen)
  • ยาแก้ตะคริว เช่น แบคโคลเฟ่น (Baclofen)
  • ยานอนหลับ เช่น อะติแวน(Ativan)

ดูแลตนเองอย่างไร?

การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคบีเอฟเอส/BFS คือ

  • วิธีที่ดีที่สุด คือ การผ่อนคลาย ทำความเข้าใจกับอาการผิดปกติว่า เป็นสิ่งผิดปกติที่พบได้ในคนปกติไม่มีอะไรอันตราย เพื่อความรู้สึกผ่อนคลายและสร้างความมั่นใจว่าไม่เป็นอะไร
  • การออกกำลังกายที่พอดี ไม่หนักหรือหักโหมเกินไป
  • นอนหลับให้เพียงพอ(แนะนำอ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง สุขลักษณะการนอน)
  • พักผ่อน ให้เพียงพอ
  • ทานอาหารมีประโยชน์ (อาหารมีประโยชน์ห้าหมู่)
  • ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะอาจทำให้เกิดภาวะเกลือแร่ในเลือดผิดปกติได้
  • ไม่ดื่มกาแฟหรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนถ้าสังเกตว่ามีอาการฯเกิดหลังจากการบริโภคกาเฟอีน

เมื่อไรควรพบแพทย์ก่อนนัด?

กรณีที่มีแพทย์ดูแลอยู่แล้ว ควรต้องรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัด เมื่อ

  • มีอาการที่รุนแรงขึ้น เช่น ปวดมาก ตะคริวรุนแรง จนส่งผลต่อการดำรงชีวิต
  • หรือมีอาการผิดปกติอื่นๆทางระบบประสาทเพิ่มขึ้น เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • และ/หรือ เมื่อกังวลในอาการ

ป้องกันโรคบีเอฟเอสได้อย่างไร?

การป้องกันโรคบีเอฟเอส คือ

  • ออกกำลังกายแต่พอดี ไม่หักโหม
  • ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • ไม่ดื่มเครื่องดื่มคาเฟอีน มากเกินไป
  • ไม่เครียด ดูแลรักษาสุขภาพจิต