โรคบิด (Dysentery)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 11 มกราคม 2562
- Tweet
- บทนำ
- โรคบิดเกิดได้อย่างไร?
- โรคบิดมีอาการอย่างไร?
- แพทย์วินิจฉัยโรคบิดได้อย่างไร?
- รักษาโรคบิดได้อย่างไร?
- โรคบิดรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงอย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?
- ป้องกันโรคบิดได้อย่างไร?
- บรรณานุกรม
- โรคติดเชื้อ ภาวะติดเชื้อ (Infectious disease)
- โรคติดเชื้อทางเดินอาหาร (Gastrointestinal infection)
- แบคทีเรีย: โรคจากแบคทีเรีย (Bacterial infection)
- สัตว์เซลล์เดียว โรคติดเชื้อสัตว์เซลล์เดียว โรคติดเชื้อโปรโทซัว (Protozoan infection)
- โรคบิดไม่มีตัว โรคบิดชิเกลลา (Shigellosis)
- โรคบิดมีตัว โรคบิดอะมีบา (Amebic dysentery)
- โออาร์เอส (ORS: Oral rehydration salt) หรือ ผงละลายเกลือแร่ (Electrolyte powder packet)
- วิธีกินผงละลายเกลือแร่ (โออาร์เอส) ในเด็ก (Oral rehydration salt/ORS in children)
บทนำ
โรคบิด (Dysentery) หมายถึง อาการท้องเสียโดยอุจจาระแต่ละครั้งจะออกไม่มาก ร่วมกับมีมูกเลือดปนมาในอุจจาระ และมักร่วมกับอาการ ปวดบิด/ปวดเบ่ง เมื่อถ่ายอุจจาระ
โรคบิดเกิดได้จากการติดเชื้อชนิดต่างๆ ทั้ง แบคทีเรีย เชื้อไวรัส สัตว์เซลล์เดียว (ปรสิต หรือ Parasite) และจากการกิน/ดื่มสารพิษ แต่โดยรวมมักมีสาเหตุจาก
- การติดเชื้อแบคทีเรียในกลุ่มที่เรียกว่า ชิเกลลา (Shigella) ซึ่งเรียกโรคนี้ว่า “โรคบิดไม่มีตัว” หรือ “โรคบิดชิเกลลา” (Shigellosis, Shigella infection, หรือ Bacillary dysentery)
- และจากติดเชื้อสัตว์เซลล์เดียวชนิด อะมีบา (Enta moeba histolytica) ซึ่งเรียกโรคบิดจากติดเชื้อนี้ว่า “โรคบิดมีตัว” หรือ “โรคบิดอะมีบา” (Amoebiasis, Amebiasis หรือ Amoebic dysenyery)
ซึ่งในบทความนี้ จะกล่าวถึงโรคบิดซึ่งเกิดจากการติดเชื้อทั้ง 2 ชนิดนี้เท่านั้น โดยเรียกรวมว่า “โรคบิด”
โรคบิดพบได้ในทุกอายุ ตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ ผู้หญิง และผู้ชายมีโอกาสพบโรคได้ใกล้เคียงกัน
โรคบิดเป็นโรคพบได้บ่อยในประเทศที่กำลังพัฒนา ส่วนในประเทศที่พัฒนาแล้วมักพบในผู้อพยพ หรือในผู้ที่ไปท่องเที่ยวในประเทศที่กำลังพัฒนา
ในประเทศไทย รายงานสถิติโรคนี้จากกระทรวงสาธารณสุข ในภาพรวม โรคบิดพบลดลงอย่างต่อเนื่อง ปีพ.ศ. 2549 รายงานโรค 30.77 ราย ต่อประชากร 1แสนคน ในปีพ.ศ. 2557 รายงาน 10.28 รายต่อประชากร 1 แสนคน
โรคบิดเกิดได้อย่างไร?
โรคบิด เป็นโรคติดต่อโดยการกิน/ดื่ม อาหาร/น้ำซึ่งปนเปื้อนเชื้อโรคเหล่านี้ที่อยู่ในอุจจาระของผู้ป่วย หรือในอุจจาระของคนที่เป็นพาหะโรค ซึ่งเมื่อเชื้อเข้าสู่กระเพาะอาหาร จะผ่านเข้าสู่ลำไส้ แล้วก่อให้เกิดการอักเสบของผนังลำไส้ โดย เฉพาะลำไส้ใหญ่ ต่อจากนั้น ผนังลำไส้จะเกิดอาการบวมอักเสบ ดูดซึมอาหาร และน้ำได้น้อย
และเชื้อยังอาจสร้างสารกระตุ้นให้น้ำในร่างกายซึมเข้าสู่ลำไส้ จึงเกิดอาการท้องเสียขึ้น โดยเฉพาะท้องเสียซึ่งลักษณะอุจจาระเป็นมูก
และการอักเสบของลำไส้ใหญ่ มักทำให้ลำไส้ใหญ่เกิดแผลร่วมด้วย จึงมีเลือดปนออกมากับอุจจาระด้วย
โรคบิดมีอาการอย่างไร?
อาการที่พบบ่อยของโรคบิด คือ
ก. โรคบิดชิเกลลา: อาการจะเกิดหลังได้รับเชื้อประมาณ 1-7 วัน (ระยะฟักตัวของโรค) และจะมีอาการอยู่ประมาณ 3-10 วันหลังการรักษา ซึ่งในช่วงมีอาการจะเป็นช่วงที่เกิดการติดต่อของโรคได้จากการปนเปื้อนของเชื้อในอุจจาระ ซึ่งถ้าได้ รับเชื้อไม่มาก และมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ผู้ป่วยอาจหายได้เองจากการดูแลตน เอง
อาการที่พบได้บ่อยในโรคบิดชิเกลลา คือ
- มีไข้ ส่วนใหญ่เป็นไข้สูงร่วมกับท้องเสียเป็นน้ำ (ประมาณ 1-2 วัน) ต่อจากนั้น ปริมาณอุจจาระในแต่ละครั้งจะลดลง แต่ยังถ่ายบ่อย โดยอุจจาระเปลี่ยนเป็นมูกเลือด
- ปวดท้อง ปวดเบ่งเมื่อถ่ายอุจจาระ
- คลื่นไส้ อาเจียน
ข: โรคบิดอะมีบา: ในคนที่ได้รับเชื้อน้อยและมีสุขภาพแข็งแรงอาจไม่มีอาการได้ ส่วนในผู้ป่วยมักมีอาการหลังได้รับเชื้อ (ระยะฟักตัวของโรค) ประมาณ 7-10 วัน ซึ่งอาการอาจมีอยู่เพียงประมาณ 3-4 วัน หรือเป็นหลายๆสัปดาห์ ซึ่งระหว่างมีอาการ เชื้อจะติดต่อสู่ผู้อื่นได้ผ่านทางอุจจาระของผู้ป่วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยบิดอะมีบาอาจเป็นพาหะโรคได้นานถึงเป็นหลายเดือน หรือเป็นปี
- อาการที่พบได้ของโรคบิดอะมีบา เช่นเดียวกับในโรคบิดชิเกลลา แต่ที่พบเพิ่มเติม คือ
- อาจพบมูกเลือดได้มากกว่า
- และอาจมีอาการเบื่ออาหาร และผอมลง
- นอกจากนั้น ในผู้ป่วยบางคน (พบได้น้อย) เชื้ออะมีบาอาจหลุดเข้าสู่กระแสโลหิต (เลือด) ก่อให้เกิดฝีในอวัยวะต่างๆได้ ที่พบบ่อย คือ ฝีตับ (เจ็บบริเวณตับ/ใต้ชายโครงขวา ตับโตคลำได้ คลื่นไส้ อาเจียน มีไข้สูง )
แพทย์วินิจฉัยโรคบิดได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยโรคบิดได้จาก
- การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น ประวัติอาการ ประวัติกิน/ดื่ม อาหาร/น้ำ การท่องเที่ยว การมีผู้ป่วยในบ้าน หรือในชุมชน
- ตรวจร่างกาย
- ตรวจอุจจาระดูเชื้อ
- การเพาะเชื้อจากอุจจาระ
- และอาจมีการตรวจสืบค้นอื่นๆเพิ่มเติม ทั้งนี้ขึ้นกับอาการผู้ป่วย และดุลพินิจของแพทย์ เช่น
- การตรวจเลือดซีบีซี (CBC)
- และตรวจเลือดดูค่าเกลือแร่ในเลือด
รักษาโรคบิดได้อย่างไร?
แนวทางการรักษาโรคบิด คือ การรักษาสาเหตุ และการรักษาประคับประคองตามอาการ
ก. การรักษาสาเหตุ: เช่น
- การให้ยาปฏิชีวนะในโรคบิดชิเกลลา
- และยาฆ่าเชื้ออะมีบาในโรคบิดอะมีบา เช่นยา Metronidazole
ข. การรักษาประคับประคองตามอาการ: เช่น
- ยาบรรเทาอาการปวดท้อง หรืออาการปวดบิด/ปวดบีบเวลาถ่ายอุจจาระ
- การให้สารเกลือแร่ อาจโดยการดื่มยาผงละลายเกลือแร่ (ORS)
- หรือให้น้ำเกลือแร่ทางหลอดเลือดดำ ขึ้นกับความรุนแรงของการขาดน้ำ/ภาวะขาดน้ำ และของเกลือแร่
โรคบิดรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงอย่างไร?
ความรุนแรง/การพยากรณ์โรค และผลข้างเคียงของโรคบิด ได้แก่
ก. การพยากรณ์โรค: โรคบิด โดยทั่วไปเป็นโรคไม่รุนแรง รักษาได้หาย แต่ความรุนแรงสูงขึ้น และอาจเสียชีวิตได้ในกรณี
- ได้รับเชื้อในปริมาณมาก
- ในเด็ก
- ในผู้สูงอายุ
- ในคนที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ เช่น ผู้มีโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน และในผู้ที่เชื้อดื้อยา
ข. ในส่วน ผลข้างเคียงจากโรคบิด เช่น
- ภาวะขาดน้ำ/ขาดเกลือแร่ในเลือดเมื่อท้องเสียมาก
- ภาวะซีดเมื่ออุจจาระเป็นเลือดมาก
- และการเป็นฝีในอวัยวะต่างๆโดยเฉพาะฝีบิดในตับจากเชื้ออะมีบา (แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ‘โรคฝีตับ’)
ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?
การดูแลตนเอง การพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เมื่อเป็นโรคบิด ได้แก่
- การรักษา สุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง ลดความรุนแรงของโรค และลดการแพร่กระจายโรคไปสู่ผู้อื่น
- กินยาตามแพทย์แนะนำให้ถูกต้อง ครบถ้วน ไม่ขาดยา
- ปฏิบัติตามแพทย์ พยาบาล แนะนำ
- ดื่มน้ำสะอาดให้มากขึ้น อย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว เมื่อไม่มีโรคต้องจำกัดน้ำดื่ม เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำจากท้องเสีย
- ดื่มยาผงละลายเกลือแร่ อย่างน้อยวันละ 1-3 ซองขึ้นกับความรุนแรงของอาการท้องเสีย เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ/ขาดเกลือแร่
- กินอาหารอ่อน (ประเภทอาหารทางการแพทย์)
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาล หรือกรณีพบแพทย์แล้ว ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนแพทย์นัดเมื่อ
- ท้องเสีย ร่วมกับมีไข้สูง
- อุจจาระเป็นเลือดมากขึ้น
- อ่อนเพลีย กิน/ดื่มได้น้อย
- ปวดท้องมาก
- เมื่อกังวลในอาการ
ป้องกันโรคบิดได้อย่างไร?
ปัจจุบัน ยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคบิดทั้ง 2 ชนิด ดังนั้น การป้องกันโรคบิด คือ การป้องกันโรคติดเชื้อทางเดินอาหาร หรือเรียกอีกชื่อว่า ‘ติดเชื้อทาง อุจจาระ-ปาก (Fecal-oral transmission)’ ซึ่งที่สำคัญ คือ *การรักษา สุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)* นอกจากนั้น ได้แก่
- ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่ก่อนกินอาหาร หลังเข้าห้องน้ำ และเมื่อสัมผัสผู้ป่วย
- รักษาความสะอาดในการปรุงอาหาร และในทุกขั้นตอนการปรุงอาหาร รวมทั้งในครัว
- ไม่ใช้ ช้อน แก้วน้ำ ร่วมกับผู้อื่น
- กินอาหารสุกใหม่ๆเสมอ
- ระมัดระวังการกิน ผัก และผลไม้ สด ต้องล้างให้สะอาด หรือ ต้องปอกเปลือกผลไม้ก่อนบริโภคเสมอ
- ดื่มแต่น้ำสะอาด ระวังการกินน้ำแข็ง
บรรณานุกรม
- Braunwald, E., Fauci, A., Kasper, L., Hauser, S., Longo, D., and Jameson, J. (2001). Harrison’s principles of internal medicine (15th ed.). New York: McGraw-Hill.
- Haque, R. et al. (2003). Amebiasis. N Engl J Med 348, 1565-1573.
- http://www.boe.moph.go.th/Annual/AESR2015/aesr2558/Part%201/07/dysentery.pdf [2018,Dec22]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Amoebiasis [2018,Dec22]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Dysentery [2018,Dec22]
- https://emedicine.medscape.com/article/968773-overview#showall [2018,Dec22]