โรคติ่งเนื้อเมือกลำไส้ใหญ่ หรือ โพลิพลำไส้ใหญ่ (Colorectal polyp)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

โรคติ่งเนื้อเมือกลำไส้ใหญ่ หรือ โพลิพลำไส้ใหญ่ (Colorectal polyp) คือ โรคเนื้องอกชนิดหนึ่งของลำไส้ใหญ่ ซึ่งความสำคัญของโรคนี้คือ เนื้องอกชนิดนี้ สามารถเปลี่ยนแปลงกลายเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้

โรคติ่งเนื้อเมือกลำไส้ใหญ่สามารถเกิดได้ในทุกๆส่วนของลำไส้ใหญ่ มักมีรูปร่างค่อนข้างกลม ออกสีชมพู อาจมีก้าน หรือไม่มีก้านก็ได้ อาจพบได้เพียงก้อนเนื้อเดียว หรือหลายก้อนเนื้อ หรือจนถึงมีได้มากกว่าสิบก้อนเนื้อขึ้นไป มีได้ตั้งแต่ขนาดเล็กเป็นมิลลิเมตร ไปจนถึงหลายเซนติเมตร (ซม.)

โรคติ่งเนื้อเมือกลำไส้ใหญ่ เป็นโรคของผู้ใหญ่ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ผู้ชายพบได้มากกว่าผู้หญิง ซึ่งสถิติการเกิดที่แน่นอนของโรคติ่งเนื้อเมือกลำไส้ใหญ่ ยังไม่ทราบ เพราะแตกต่างกันในแต่ละประเทศ แต่ประมาณว่า พบได้ประมาณอย่างน้อย 10% ในคนอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป อย่างไรก็ตาม เมื่อมีสาเหตุเกิดจากพันธุกรรม จะพบโรคนี้ได้ตั้งแต่ในวัยเด็ก โดยเฉพาะตั้งแต่ในวัยรุ่นขึ้นไป

ติ่งเนื้อเมือกลำไส้ใหญ่มีกี่ชนิด? แต่ละชนิดเกิดได้อย่างไร?

โรคติ่งเนื้อเมือกลำไส้ใหญ่

ติ่งเนื้อเมือกลำไส้ใหญ่แบ่งตามลักษณะทางพยาธิวิทยา (ตามลักษณะการเปลี่ยนแปลงที่ผิดปกติของเซลล์) เป็น 2 กลุ่ม คือ ชนิดไม่กลายเป็นมะเร็ง และชนิด กลายเป็นมะเร็งได้

- กลุ่มที่ไม่กลายเป็นมะเร็ง ได้แก่ ติ่งเนื้อเมือกชนิด Hyperplastic polyp ซึ่งเป็นติ่งเนื้อเมือกที่ไม่ทราบสาเหตุ เป็นติ่งเนื้อเมือกที่พบได้ประมาณ 50% ของติ่งเนื้อเมือกลำไส้ใหญ่ทั้งหมด

- กลุ่มที่กลายเป็นมะเร็งได้ ได้แก่ ติ่งเนื้อเมือกชนิด อะดีโนมา (Adenoma หรือ Adenomatous polyp)) ฮามาร์โตมา (Hamartomatous polyp) และชนิดเกิดจากการอักเสบ (Inflammatory polyp)

-- ติ่งเนื้อเมือกชนิดอะดีโนมา พบได้ประมาณ 50% (บางการศึกษา อาจพบได้สูงถึง70-80%) ของติ่งเนื้อเมือกลำไส้ใหญ่ทั้งหมด และมักพบในอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป เป็นติ่งเนื้อเมือกที่ยังไม่ทราบสาเหตุเกิดเช่นกัน แบ่งออกเป็น 3 ชนิด คือ ชนิด Tubular adenoma ซึ่งเป็นชนิดพบได้บ่อยที่สุดประมาณ 80-85%ของติ่งเนื้อเมือกอะดีโนมา (โอกาสกลายเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ประมาณ 5%) ชนิด Tubulovillous adenoma พบได้ประมาณ 10-15% ของติ่งเนื้อเมือกอะดีโนมา (โอกาสกลายเป็นโรคมะเร็งฯประมาณ 15% ) และชนิด Villous adenoma พบได้ประมาณ 5% ของติ่งเนื้อเมือกอะดีโนมา (โอกาสกลายเป็นโรคมะเร็งฯประมาณ 20-25%)

-- ติ่งเนื้อเมือกชนิดฮามาร์โตมา เป็นเนื้องอกที่มีเซลล์หลายๆชนิดปะปนกัน เป็นติ่งเนื้อที่พบได้น้อย และโอกาสกลายเป็นโรคมะเร็งฯก็น้อยเช่นกัน

-- ติ่งเนื้อเมือกชนิดเกิดจากการอักเสบ มักเป็นติ่งเนื้อขนาดเล็ก และมีปัจจัยเสี่ยงเกิดจากมีการอักเสบเรื้อรังของลำไส้ใหญ่ เช่น ในโรคลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผลเรื้อรัง ทั้งนี้โอกาสกลายเป็นโรคมะเร็งฯมีน้อยเช่นกัน

ใครบ้างมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคติ่งเนื้อเมือกลำไส้ใหญ่?

ดังกล่าวแล้ว สาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดติ่งเนื้อเมือกลำไส้ใหญ่ยังไม่ทราบชัดเจน แต่พบมีปัจจัยเสี่ยงซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงเดียวกับในการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ดังนี้ คือ

  • อายุ ยิ่งอายุสูงขึ้น ยิ่งมีโอกาสเกิดโรคนี้สูงขึ้น โดยเฉพาะในอายุ 50-60 ปีขึ้นไป
  • เชื้อชาติ เพราะพบโรคได้สูงกว่าในคนผิวดำ รองลงมาตามลำดับ คือ คนผิวขาว และคนเอเชีย
  • มีการอักเสบเรื้อรังของลำไส้ใหญ่ เช่น ในโรคลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผลเรื้อรัง
  • พันธุกรรม เพราะพบโรคได้สูงขึ้นในคนมีประวัติครอบครัวเป็นโรคนี้ หรือเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยเฉพาะเมื่อเป็นญาติสายตรง (พ่อ แม่ พี่ น้อง ท้องเดียวกัน)
  • สูบบุหรี่ และ/หรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • กินอาหารไขมันสูง และ/หรือ กิน ผัก ผลไม้ น้อย
  • โรคอ้วน
  • ขาดการออกกำลังกาย

โรคติ่งเนื้อเมือกลำไส้ใหญ่มีอาการอย่างไร?

อาการของโรคติ่งเนื้อเมือกลำไส้ใหญ่ คือ เมื่อมีขนาดเล็ก และ/หรือไม่มีการอักเสบติดเชื้อซ้ำซ้อน มักไม่มีอาการ จะมีอาการต่อเมื่อก้อนเนื้อมีขนาดใหญ่ขึ้นจนอุดกั้นทางเดินอุจจาระ และ/หรือเมื่อมีการอักเสบติดเชื้อซ้ำซ้อน หรือเกิดเป็นแผลขึ้น ซึ่งอาการที่อาจพบได้ ได้แก่

  • มีเลือดออกเรื้อรังจากติ่งเนื้อ(อุจจาระเป็นเลือด หรือเลือดออกทางทวารหนัก) ซึ่งบ่อยครั้งมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า แต่ตรวจพบได้จากการตรวจอุจจาระ หรือจากมีภาวะซีด หรือ ภาวะโลหิตจางจากขาดธาตุเหล็ก
  • บางครั้งอาจมีอุจจาระเป็นเลือดสด หรือ เป็นมูกเลือดได้ เมื่อติ่งเนื้อเกิดการอักเสบเป็นแผล
  • บางครั้งอาจมีอาการปวดท้องได้ ซึ่งอาการปวดมีลักษณะไม่แน่นอน
  • บางครั้งอาจก่ออาการท้องผูกได้ เมื่อติ่งเนื้อมีขนาดใหญ่จนขัดขวางทางเดินอุจจาระ
  • บางครั้ง อาจมีอาการท้องผูกสลับท้องเสีย โดยไม่เคยมีอาการแบบนี้มาก่อนก็ได้

แพทย์วินิจฉัยโรคติ่งเนื้อเมือกลำไส้ใหญ่ได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคติ่งเนื้อเมือกลำไส้ใหญ่ได้จาก ประวัติอาการ ประวัติการเจ็บป่วยของคนในครอบครัว การตรวจร่างกาย แต่ที่ให้ผลแน่นอน คือ ตรวจลำไส้ใหญ่ด้วยการส่องกล้อง ซึ่งอาจตรวจเมื่อผู้ป่วยมีอาการ หรือ จากการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ (การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูก โรคมะเร็งเต้านม และโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่) ซึ่งโดยทั่วไปแพทย์แนะนำการตรวจคัดกรองเริ่มเมื่ออายุ 50 ปี แต่ในคนที่ครอบครัวสายตรงเป็นโรคนี้ แพทย์มักแนะนำการตรวจคัดกรองเมื่ออายุ 40 ปี และต่อจากนั้นความถี่ในการส่องกล้องตรวจคัดกรองขึ้นกับชนิดของติ่งเนื้อเมือกที่ตรวจพบ และดุลพินิจของแพทย์

รักษาโรคติ่งเนื้อเมือกลำไส้ใหญ่อย่างไร?

แนวทางการรักษาโรคติ่งเนื้อเมือกลำไส้ใหญ่ คือ เมื่อตรวจพบ แพทย์มักตัดออกเสมอ เพราะถ้าดูจากลักษณะภายนอก จะไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นติ่งเนื้อเมือกชนิดใด และได้เปลี่ยนแปลงไปเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่แล้วหรือยัง ต่อจากนั้น คือ การส่องกล้องลำไส้ใหญ่เพื่อการตรวจคัดกรองติ่งเนื้อเมือก และมะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นระยะๆ (การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูก โรคมะเร็งเต้านม และโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่) โดยความถี่ในการตรวจขึ้นกับ ชนิด และขนาดของติ่งเนื้อเมือกที่ตรวจพบ และดุลพินิจของแพทย์

โรคติ่งเนื้อเมือกลำไส้ใหญ่รุนแรงไหม? กลายเป็นมะเร็งได้ไหม?

โดยทั่วไป โรคติ่งเนื้อเมือกลำไส้ใหญ่ มักมีโอกาสกลายเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้น้อย โรคมักหายได้เมื่อตัดออก แต่ก็มีโอกาสที่โรคย้อนกลับเป็นซ้ำได้ ทั้งนี้ขึ้นกับ ขนาด (ขนาดยิ่งใหญ่ โอกาสเกิดซ้ำจะสูงขึ้น) และจำนวนติ่งเนื้อเมือกที่ตรวจพบครั้งแรก (พบหลายติ่งเนื้อ โอกาสเกิดซ้ำสูงขึ้น)

ส่วนโอกาสการกลายเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ซึ่งขึ้นกับชนิดของติ่งเนื้อดังกล่าวแล้วในหัวข้อ ชนิดของติ่งเนื้อเมือก นอกจากนี้ โอกาสกลายเป็นโรคมะเร็งยังขึ้นกับขนาดของติ่งเนื้อ และระยะเวลาอีกด้วย โดยถ้าติ่งเนื้อขนาดน้อยกว่า 1 ซม. โอกาสกลายเป็นโรคมะเร็ง น้อยกว่า หรือ อาจเท่ากับประมาณ 1% แต่ถ้าติ่งเนื้อขนาดตั้งแต่ 1 ซม.ขึ้นไป โอกาสเปลี่ยนเป็นโรคมะเร็งประมาณ 8%ในระยะเวลา 10 ปี และจะเพิ่มเป็นประมาณ 24% เมื่อปล่อยทิ้งไวนานถึง 20 ปี

ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?

การดูแลตนเอง การพบแพทย์เมื่อเป็นโรคติ่งเนื้อเมือกลำไส้ใหญ่ คือ การพบแพทย์ และการตรวจส่องกล้องลำไส้ใหญ่ตามแพทย์แนะนำโดยเริ่มครั้งแรกเมื่ออายุ 40 หรือ 50 ปีดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อ การวินิจฉัยโรค นอกจากนั้น คือ การดูแลตนเอง เพื่อลดปัจจัยเสี่ยง ที่สำคัญ คือ

  • ลดความอ้วน และป้องกันโรคอ้วน และน้ำหนักตัวเกิน
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอตามควรกับสุขภาพ
  • จำกัดอาหารไขมัน
  • กินผัก ผลไม้ให้มากๆ
  • เลิก/ไม่สูบบุหรี่ และเลิก/ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ป้องกันโรคติ่งเนื้อเมือกลำไส้ใหญ่ได้อย่างไร?

การป้องกันโรคติ่งเนื้อเมือกลำไส้ใหญ่เต็มร้อยเป็นไปไม่ได้ เพราะปัจจัยเสี่ยงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ คือ อายุ เชื้อชาติ และพันธุกรรม แต่การหลีกเลี่ยงบางปัจจัยเสี่ยงที่หลีกเลี่ยงได้ อาจช่วยลดโอกาสเกิดโรคนี้ลงได้ ซึ่งคือ บุหรี่ แอลกอฮอล์ การกินอาหารไขมันสูง ขาดการกินผักและผลไม้ ขาดการออกกำลังกาย และโรคอ้วน

นอกจากนี้ มีหลายการศึกษา ซึ่งให้ผลว่า การกินยาบางชนิดในกลุ่มยาต้านการอักเสบเอ็นเสดส์ (NSAIDs, Non-steroidal anti inflammatory drugs) เช่น ยา Cox-2 inhibitor หรือ ยาแอสไพริน อย่างต่อเนื่อง อาจช่วยลดโอกาสเกิดติ่งเนื้อเมือก หรือ ลดโอกาสกลายเป็นโรคมะเร็งของติ่งเนื้อเมือกลงได้ แต่ทั้งนี้ ยังไม่เป็นเรื่องแน่ชัดในเรื่องของปริมาณยา (Dose) และระยะเวลาที่ต้องบริโภคยาว่า ควรนานเท่าไร จึงจะให้ประสิทธิภาพเต็มที่ นอกจากนั้น ผลข้างเคียงของยา Cox-2 inhibitor คือ การเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคไตเรื้อรัง ส่วนแอสไพรินอาจก่อให้เกิดอาการเลือดออกรุนแรงในกระเพาะอาหารและลำไส้ได้ ดังนั้นการกินยาเหล่านี้ จึงต้องอยู่ในดุลพินิจและในการดูแลของแพทย์เสมอ ไม่ควรซื้อยากินเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน

บรรณานุกรม

  1. Levine, J., and Ahnen, D. (2006). Adenomatous polyps of the colon. N Engl J Med. 355, 2551-2557
  2. https://www.cancer.org/content/dam/CRC/PDF/Public/5042.00.pdf [2017,Dec23]
  3. http://emedicine.medscape.com/article/172674-overview#showall [2017,Dec23]
Updated 2017,Dec23