โรคติดเชื้อไวรัสเอ็บสไตบาร์ โรคติดเชื้ออีบีวี (Epstein-Barr virus infection)
- โดย แพทย์หญิง สลิล ศิริอุดมภาส
- 9 พฤศจิกายน 2562
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ
- อะไรเป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงของโรคติดเชื้ออีบีวี?
- พยาธิสภาพจากการติดเชื้ออีบีวีเกิดได้อย่างไร?
- โรคติดเชื้ออีบีวีอาการอย่างไร?
- แพทย์วินิจฉัยโรคติดเชื้ออีบีวีอย่างไร?
- มีแนวทางรักษาโรคติดเชื้ออีบีวีอย่างไร?
- ผลข้างเคียงจากโรค/การพยากรณ์โรคในโรคติดเชื้ออีบีวีเป็นอย่างไร?
- ดูแลตนเองและป้องกันการติดเชื้ออีบีวีได้อย่างไร?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- โรคติดเชื้อ ภาวะติดเชื้อ (Infectious disease)
- เชื้อไวรัส โรคติดเชื้อไวรัส (Viral infection)
- กลุ่มอาการกิลแลงบาร์เร โรคจีบีเอส (Guillan Barre syndrome: GBS)
- มะเร็งต่อมน้ำเหลือง (Lymphoma)
- มะเร็งหลังโพรงจมูก (ตอนที่ 1)
- ฝ้าขาว (Leukoplakia) ฝ้าแดง (Erythroplakia)
- ยาต้านไวรัส (Antiviral drugs)
- มะเร็งต่อมน้ำเหลืองฮอดจ์กิน (Hodgkin’s disease หรือ Hodgkin’s lymphoma)
- มะเร็งต่อมน้ำเหลืองนอนฮอดจ์กิน (Non-Hodgkin’s Lymphoma, NHL )
บทนำ
การติดเชื้อไวรัส เอ็บสไตบาร์ หรือย่อว่า อีบีวี (Epstein-Barr virus ย่อว่า EBV) เป็นการติดเชื้อที่พบบ่อยที่สุดชนิดหนึ่ง โดยที่ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่มักไม่มีอาการปรากฏ หรือในบางคนอาจแสดงอาการของ “โรคโมโนนิวคลีโอซิส หรือ ย่อว่า โรคโมโน (Infectious mononucleosis หรือย่อว่า Mono) หรืออีกชื่อ คือ “Kissing disease” (โรคติดต่อจากการจูบปาก)” การติดเชื้อส่วนใหญ่เกิดขึ้นครั้งแรกตั้งแต่วัยเด็ก เมื่อติดเชื้อเข้าสู่ร่างกายแล้ว เชื้อไวรัสก็จะแอบแฝงอยู่กับบุคคลนั้นไปตลอดชีวิตโดยไม่ทำให้เกิดอาการ แต่มีโอกาสแพร่สู่คนอื่นได้เรื่อยๆ จากเชื้อที่ออกมาปนอยู่ในน้ำลาย การติดเชื้อชนิดนี้จึงเกิดขึ้นได้กว้างขวางทั่วโลก ในบางคนที่มีเชื้ออยู่ในร่างกาย เชื้ออาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคต่างๆได้หลายโรค รวมถึงโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง โรคมะเร็งโพรงหลังจมูก ทั้งนี้ มีวัคซีนสำหรับฉีดป้องกันโรคนี้ แต่ยังไม่เป็นที่แนะนำให้ใช้แพร่หลาย
จากสถิติ พบการติดเชื้อชนิดนี้ได้ทั่วโลก การติดเชื้อครั้งแรกส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นตั้งแต่ในวัยเด็ก โดยพบว่าในเด็กอายุก่อน 5 ปี มีการติดเชื้อไวรัสชนิดนี้อยู่ถึงประมาณ 50% โรคนี้ส่วนใหญ่จะแสดงอาการในวัยหนุ่มสาว แต่ก็สามารถพบได้ในเด็กและในผู้สูงอายุ และเป็นโรคพบได้ทั้งเพศหญิงและเพศชาย
อนึ่ง ในบทความนี้ ขอเรียกโรคนี้ว่า “โรคติดเชื้ออีบีวี”
อะไรเป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงของโรคติดเชื้ออีบีวี?
เชื้อไวรัสเอ็บสไตบาร์/อีบีวี เป็นเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งในวงศ์ (Family) Human Herpesvi rus (ย่อว่า HHV) ซึ่งอยู่ในลำดับที่ 4 จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อว่า HHV-4 ไวรัสที่อยู่ในวงศ์เดียวกันนี้ ได้แก่ ไวรัสที่ทำให้เกิด โรคเริม, โรคอีสุกอีใส, โรคงูสวัด, เป็นต้น ซึ่งเชื้อในวงศ์นี้มีคุณสมบัติ เฉพาะคือ เมื่อเข้าสู่ร่างกายคนได้แล้ว ก็จะแอบแฝงอยู่กับเราไปตลอดชีวิต ไวรัสชนิดนี้ถูกค้น พบเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2507 โดยนายแพทย์ชาวอังกฤษชื่อ Michael Anthony Epstein และนักวิทยาศาสตร์หญิงชาวอังกฤษชื่อ Yvonne M. Barr ซึ่งเป็นที่มาของชื่อไวรัสนี้
เชื้อไวรัสที่อยู่แอบแฝงในร่างกายของผู้ที่เคยติดเชื้อมาก่อน หากอยู่ในระยะที่มีการแบ่งตัวเพิ่มจำนวน เชื้อก็จะออกมาอยู่ในน้ำลาย ผู้ที่ไม่เคยได้รับเชื้อมาก่อน หากสัมผัสน้ำลายของผู้ที่มีเชื้อ ก็จะติดเชื้อได้ ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อบุคคลอาศัยอยู่กันอย่างใกล้ชิด มีการใช้สิ่งของร่วมกัน กินอาหารร่วมกัน หรือมีการจูบปากกัน
พยาธิสภาพจากการติดเชื้ออีบีวีเกิดได้อย่างไร?
พยาธิสภาพที่ทำให้เกิดโรคเมื่อติดเชื้อไวรัสอีบีวี คือ เมื่อได้รับเชื้อจากทางน้ำลายเป็นครั้งแรก เชื้อไวรัสจะเข้าสู่เซลล์เยื่อบุผิวของเนื้อเยื่อหลังโพรงจมูก แล้วไวรัสแบ่งตัวเพิ่มจำนวน แล้วลุกลามเข้าสู่เซลล์เยื่อบุข้างเคียง และเพิ่มจำนวนต่อไปเรื่อยๆ และอาจเข้าสู่เซลล์เม็ดเลือดขาวของระบบน้ำเหลืองที่อยู่ใต้เยื่อบุช่องปาก รวมทั้งอาจเข้าสู่เซลล์ของต่อมน้ำลายได้ด้วย ซึ่งเมื่อแบ่งตัวได้ปริมาณมากแล้ว เชื้อไวรัสก็จะเข้าสู่กระแสเลือดได้ในที่สุด เชื้อก็จะเดิน ทางต่อไปยัง ตับ ม้าม และเนื้อเยื่อระบบน้ำเหลืองต่างๆที่อยู่ทั่วๆร่างกาย รวมทั้งเข้าไปอยู่ในเซลล์เม็ดเลือดขาว ชนิด B lymphocyte ในการติดเชื้อครั้งแรกนี้เอง ที่อาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการของโรคที่เรียกว่า “Infectious mononucleosis” หรืออีกชื่อคือ “โรค Mono/โรคโมโน” หรืออีกชื่อคือ “โรค Kissing disease (โรคติดต่อจากการจูบปาก)” แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว การติดเชื้อมัก จะไม่มีอาการใดๆปรากฏ โดยเฉพาะหากการติดเชื้อครั้งแรกเกิดขึ้นในเด็ก
ทั้งนี้ ร่างกายจะพยายามกำจัดเชื้อไวรัสนี้ โดยการส่งเม็ดเลือดขาว ชนิด T lymphocyte มาทำลายเซลล์ที่มีเชื้อไวรัส ส่วนเชื้อไวรัสที่ยังไม่ถูกทำลาย จะหยุดการแบ่งตัวเพิ่มจำนวน แล้วเก็บเฉพาะสารพันธุกรรม (Gene/จีน/ยีน) ที่สำคัญบางตัวให้อยู่ในรูปลักษณะวงกลม ซึ่งเรียกว่า “Episome” ซึ่งจะเข้าไปในนิวเคลียสของเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิด B lymphocyte หรือเซลล์เยื่อบุผิวในช่องปาก ซึ่งเป็นการป้องกันไม่ให้เม็ดเลือดขาว ชนิด T lymphocyte เข้าไปทำลายยีนของไวรัสได้ ไวรัสที่อยู่ในรูปแบบนี้เรียกว่าอยู่ใน “ระยะแอบแฝง (Latency)” เมื่อเซลล์ของร่างกายมีการแบ่งตัว เพื่อทดแทนเซลล์ที่ตายลง ยีนของไวรัสซึ่งอยู่ในนิวเคลียสของเซลล์เหล่านั้นก็จะถูกแบ่งตามไปด้วย ทำให้ยีนของไวรัส ยังคงอยู่ในร่างกายไปได้ตลอดชีวิตของเรา
เมื่อมีปัจจัยบางอย่าง ซึ่งยังไม่ทราบชัดเจน มากระตุ้นยีนของไวรัสที่อยู่ในระยะแอบแฝง ยีนจะเปลี่ยนรูปมาเป็นลักษณะแบบแท่ง และมีการสังเคราะห์ยีนชนิดต่างๆเพิ่มเติม ที่ใช้ในการสร้างตัวไวรัสแบบเต็มรูปขึ้นมา ซึ่งทำให้ไวรัสมีคุณสมบัติที่จะแบ่งตัวเพิ่มจำนวนได้ขึ้นมาอีก เมื่อไวรัสที่อยู่ในเซลล์เยื่อบุผิวแบ่งตัวได้ปริมาณมากแล้ว ก็จะออกมาอยู่ในน้ำลาย และทำให้มีโอกาสแพร่เชื้อสู่บุคคลอื่นได้ต่อไป เรียกระยะที่ไวรัสกลับมามีการแบ่งตัวได้อีกว่า “Lytic replication” ผู้มีเชื้อที่อยู่ในระยะนี้ จะไม่มีอาการใดๆปรากฏ
หลังจากนั้น เม็ดเลือดขาวชนิด T lymphocyte ก็จะเข้ามาทำลายเซลล์ที่เชื้อไวรัสชนิดนี้อีกครั้งหนึ่ง และไวรัสก็จะเข้าสู่ระยะแอบแฝงต่อไป จนกว่าจะมีปัจจัยใหม่มากระตุ้นอีก
ในผู้ที่ติดเชื้อบางราย ยีนของไวรัสที่อยู่ในระยะแอบแฝงเหล่านี้ มีโอกาสไปกระตุ้นเซลล์เลือดขาว ชนิด B lymphocyte หรือเซลล์เยื่อบุผิวที่มียีนของไวรัสอยู่นั้น เกิดการแบ่งเซลล์เพิ่มจำนวนไปเรื่อยๆอย่างไม่มีที่สิ้นสุด จนเนื้อเยื่อที่ปกตินั้นกลายเป็นมะเร็งได้ ซึ่งมีโอกาสเกิดได้น้อยมาก โดยต้องมีปัจจัยร่วมบางอย่างในการทำให้เกิด เช่น ในการเกิดเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิด Burkitt’s lymphoma ซึ่งพบบ่อยในทวีปแอฟริกานั้น พบว่า การติดเชื้อมาลาเรีย/ไข้จับสั่นชนิด Plasmodium falciparum เป็นปัจจัยร่วมหนึ่งที่ทำให้มีโอกาสเกิดเป็นมะเร็งชนิดนี้ได้มากขึ้น
แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนที่มีเชื้อไวรัส EBV และมีการติดเชื้อมาลาเรียจะต้องกลายเป็นมะเร็ง เพราะยังต้องมีปัจจัยร่วมอื่นๆอีก ซึ่งปัจจุบันยังไม่ทราบชัดเจนทั้งหมด หรือตัวอย่างของมะเร็งโพรงหลังจมูก ซึ่งพบมากในคนเอเชีย โดยเฉพาะเชื้อชาติจีน พบว่าการมียีนบางอย่างคือ HLA-A2 หรือการบริโภคอาหารที่มีสารไนโตรซามีนเป็นประจำ (พบในเนื้อสัตว์หมักดอง เช่น ปลาเค็ม ปลาร้า แหนม หมูยอ ปลาส้ม) จะทำให้มีโอกาสเป็นมะเร็งมากขึ้น นอกจากนี้ในผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต้านทานโรคบกพร่อง เช่น เป็นโรคพันธุกรรมที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องแต่กำเนิด หรือในผู้ที่ติดเชื้อไวรัสเอชไอวี (HIV) หรือผู้ที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกันฯ (เช่น ผู้ปลูกถ่ายอวัยวะ) หากบุคคลเหล่านี้มีเชื้อไวรัส EBV อยู่ จะมีโอกาสเกิดเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดต่างๆได้มากขึ้น
โรคติดเชื้ออีบีวีอาการอย่างไร?
ผู้ที่ติดเชื้ออีบีวี สามารถเกิดมีอาการหรือโรคอื่นๆได้ดังนี้
ก. การติดเชื้อ อีบีวี/EBV ครั้งแรกแบบเฉียบพลัน (Acute primary EBV infection): ซึ่งหากการติดเชื้อครั้งแรกเกิดขึ้นในวัยเด็ก ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการ หากติดเชื้อครั้งแรกเมื่ออยู่ในวัยรุ่นหรือวัยผู้ใหญ่ ประมาณ 50% จะแสดงอาการของโรคที่เรียกว่า “โรคโมโน” โดยระยะ เวลานับตั้งแต่ได้รับเชื้อจนกระทั่งแสดงอาการคือ 4-6 สัปดาห์ เนื่องจากการติดเชื้อมาจากน้ำลาย มักจากการจูบ โรคนี้จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “Kissing disease”
อาการของโรคโมโน คืออาการที่ประกอบด้วย ไข้สูง เจ็บคอ จากคอหอย หรือทอนซิลมีการอักเสบ และมีต่อมน้ำเหลืองที่คอโต ส่วนอาการอื่นๆที่อาจจะพบร่วมด้วยคือ อาการอ่อนเพลีย ปวดศีรษะ/ปวดหัว คลำได้ ตับโต ม้ามโต มีจุดเลือดออกที่เพดานปาก ถ่ายอุจจาระเหลว ปวดท้อง คลื่นไส้-อาเจียน มีน้ำมูก เป็นต้น ซึ่งอาการส่วนใหญ่จะหายภายในเวลา 2 สัปดาห์ ยกเว้นอาการอ่อนเพลียที่ยังอาจหลงเหลืออยู่ได้นานหลายเดือน
ข. การติดเชื้อ EBV ครั้งแรกแบบเฉียบพลันแบบที่มีอาการรุนแรง: จะเกิดในผู้ที่มีความผิดปกติทางพันธุกรรมแต่กำเนิดชนิดที่เรียกว่า X-linked lymphoproliferative disease ซึ่งเป็นโรคที่พบเฉพาะในผู้ชาย ผู้ป่วยจะมีการทำงานที่ผิดปกติของเม็ดเลือดขาว ชนิด T lym phocyte ทำให้เมื่อติดเชื้อ EBV จะมีอาการของโรคโมโน ที่รุนแรง และทำให้ผู้ป่วยประมาณครึ่งหนึ่งเสียชีวิต ผู้ป่วยที่รอดชีวิตอีกประมาณ 30% จะเกิดภาวะมีแอนติบอดี/Antibody/สารภูมิต้านทานในร่างกายต่ำ และอีกประมาณ 20% จะเกิดเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
ค. การติดเชื้อ EBV ครั้งแรกแบบเรื้อรัง (Chronic active EBV infection): การจะวินิจฉัยว่าผู้ที่ติดเชื้อครั้งแรกมีอาการของการติดเชื้อเรื้อรัง จะต้องประกอบไปด้วย
- มีอาการของ “โรคโมโน” มานานกว่า 6 เดือน หรือ
- ตรวจพบแอนติบอดีต่อเชื้อ EBV ร่วมด้วย ซึ่งค่าจะสูงมากผิดปกติ
- มีผลการตรวจทางพยาธิวิทยาของรอยโรคในอวัยวะต่างๆ
- พบความผิดปกติของเนื้อเยื่อต่างๆ เช่น ตับอักเสบ, การสร้างเม็ดเลือดใน ไขกระดูกลดลง และ
- ตรวจพบยีน/จีน และ/หรือส่วนประกอบของไวรัสในรอยโรคที่มีการติดเชื้อจากการตรวจทางพยาธิวิทยา
ง. โรคอื่นๆ: เช่น
- โรคระบบน้ำเหลืองเจริญผิดปกติ (Lymphoproliferative disease) อาจเกิดตาม หลังการติดเชื้อ EBV ครั้งแรกแบบเฉียบพลัน หรือการติดเชื้อ EBV ครั้งแรกแบบเรื้อรังได้ โดยจะเกิดในผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต้านทานโรคบกพร่อง เช่น เป็นโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องแต่กำเนิดชนิด Severe combined immunodeficiency หรือเมื่อได้รับยากดภูมิคุ้มกันเพื่อผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะ, ผู้ป่วยที่ติดเชื้อ HIV, และในผู้ที่ติดเชื้อไวรัสชนิดอื่นที่เรียกว่าไวรัส CMV (Cytomegalovirus) ร่วมอยู่ด้วย โดยผู้ป่วยจะมีอาการไข้ และอาการที่เกิดจากเม็ดเลือดขาวชนิด B lymphocyte เพิ่มจำนวนมากขึ้นในต่อมน้ำเหลืองทั่วร่างกาย ตับ ไต ปอด ไขกระดูก และลำไส้เล็ก เช่น มีตับโต มีต่อมน้ำเหลืองโตทั่วตัว ปวดท้อง ท้องอืด มีภาวะโลหิตจาง/ โรคซีด มีเกล็ดเลือดต่ำ มีเลือดออกง่าย เป็นต้น
- โรคมะเร็งที่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อ EBV (EBV-aasociated malignancy): ผู้ที่มีเชื้อไวรัส EBV อาจมีโอกาสเกิดเป็นมะเร็งได้หลายชนิด เช่น
- มะเร็งโพรงหลังจมูก ที่ส่วนใหญ่พบในประเทศจีนโดยเฉพาะจีนตอนใต้ ประเทศในทวีปแอฟริกาเขตเหนือ และในชาวเอสกิโม ผู้ป่วยมักจะมาด้วยอาการคัดจมูก จมูกมีเลือดออก หูอื้อข้างเดียว ปวดศีรษะ มีก้อนที่คอ
- มะเร็งต่อมน้ำเหลือง ชนิด Burkitt’s lymphoma ส่วนใหญ่พบในประเทศแถบแอฟริกาตอนกลาง และมักจะพบในวัยเด็ก อาการคือ คลำได้ต่อมน้ำเหลืองโตตามที่ต่างๆ เช่น ขากรร ไกร ใบหน้า รักแร้ ขาหนีบ หรือต่อมน้ำเหลืองในช่องท้องอาจโต และทำให้มีอาการท้องโต ปวดท้อง ซึ่งต่อมน้ำเหลืองเหล่านี้จะโตได้อย่างรวดเร็ว
- มะเร็งต่อมน้ำเหลืองฮอดจ์กิน (Hodgkin’ s lymphoma) ส่วนใหญ่มักพบในประเทศด้อยพัฒนามากกว่าในประเทศที่พัฒนาแล้ว ผู้ป่วยจะมีต่อมน้ำเหลืองโตตามที่ต่างๆ เช่น คอ รักแร้ ขาหนีบ ร่วมกับมีไข้ น้ำหนักลด อ่อนเพลีย เหงื่อออกกลางคืน ตับและม้ามโต
- สำหรับมะเร็งชนิดอื่นที่พบได้ค่อนข้างน้อยกว่า ได้แก่ มะเร็งเม็ดเลือดขาว, มะเร็งต่อมน้ำเหลืองนอนฮอดจ์กิน (Non- Hodgkin’ s lymphoma), มะเร็งต่อมน้ำเหลืองในสมอง, มะเร็งต่อมน้ำเหลืองในกระเพาะอาหาร
- โรคที่พบในผู้ติดเชื้อเอชไอวี/HIVร่วมกับติดเชื้อ EBV: ผู้ที่ติดเชื้อ HIV และมีเชื้อ EBV อยู่ในร่างกาย พบว่ามีปริมาณของเชื้อ EBV มากกว่าคนปกติ 10-20 เท่า รวมทั้งในช่วงที่ไวรัสมีการแบ่งตัว น้ำลายของผู้ที่ติดเชื้อ HIV ก็มีปริมาณเชื้อมากกว่าคนปกติด้วย ทำให้ผู้ติดเชื้อ HIV มีโอกาสเกิดเป็นโรคอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับเชื้อ EBV ได้เพิ่มเติมจากคนทั่วไป เช่น
- โรคผื่นขาว/ฝ้าขาวในช่องปาก (Oral hairy leukoplakia): โดยผู้ป่วยจะมีผื่นขาวนูน ไม่เจ็บ บนเยื่อบุผิวในช่องปาก โดยเฉพาะบริเวณข้างลิ้น
- โรคปอดอักเสบชนิด Lymphoid interstitial pneumonitis: ที่โดยมากพบในเด็กที่ติดเชื้อ HIV
- เนื้องอกและมะเร็งชนิดต่างๆ: ซึ่งในผู้ติดเชื้อ HIV จะพบเนื้องอกและมะเร็งชนิดอื่นๆ ที่แทบไม่พบในคนทั่วไปที่มีเชื้อ EBV เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด Immunoblastic lymphoma หรือชนิด Primary effusion lymphoma, เนื้องอกชนิดกล้ามเนื้อเรียบ (ในคนทั่วไป เนื้องอกชนิดนี้พบได้บ่อยแต่ไม่ได้เกิดจากเชื้อไวรัส EBV)
- สำหรับผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคบกพร่องจากการได้รับยากดภูมิคุ้มกันฯจากผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะ จะมีโอกาสเป็นเนื้องอกและมะเร็งชนิดแปลกๆที่แทบไม่พบในคนปกติคล้ายกับผู้ที่ติดเชื้อ HIV เช่นเดียวกัน
อนึ่ง:
- ผู้ที่มีเชื้อ EBV มีโอกาสเป็นมะเร็งชนิดต่างๆดังที่กล่าวมา แต่ในทางกลับกัน ไม่ใช่ว่าผู้ที่เป็นมะเร็งชนิดต่างๆเหล่านั้นทุกราย จะต้องเกิดจากเชื้อ EBV ที่มีอยู่ในร่างกายเสมอไป
- ซึ่งเมื่อมีอาการผิดปกติต่างๆ และอาการไม่ดีขึ้นภายใน 3-4 วัน ควรพบแพทย์/ไปโรง พยาบาลเสมอ แต่ถ้าอาการเลวลง ก็พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลได้เลย ไม่ต้องรอ
แพทย์วินิจฉัยโรคติดเชื้ออีบีวีอย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยโรคโมโน จาก
- อาการของผู้ป่วย และการตรวจร่างกาย เป็นเบื้องต้น
- การตรวจทางห้องปฏิบัติการ จะช่วยการวินิจฉัยแยกโรคได้มากขึ้น เช่น
- การตรวจเลือด เพื่อตรวจดูเม็ดเลือด/การตรวจซีบีซี (CBC) จะพบเม็ดเลือดขาวชนิด Lymphocyte เพิ่มมากขึ้นผิดปกติ และรูปร่างก็ดูผิดปกติด้วย (Atypical lymphocyte) และ
- หากจะพิสูจน์ยืนยันการวินิจฉัย
- ต้องอาศัยการตรวจเลือดด้วยวิธีตรวจหาAntibody/แอนติบอดี/สารภูมิต้านทานชนิด Heterophile antibody เรียกวิธีนี้ว่า Mono spot test หรือ
- ตรวจหาแอนติบอดีที่ตอบสนองต่อแอนติเจน/Antigen/สารก่อภูมิแพ้ ของเชื้อไวรัส EBV หรือ
- ใช้การเพาะเชื้อไวรัสนี้ เป็นต้น
สำหรับโรคอื่นๆนั้น:
- เมื่อต้องการพิสูจน์ยืนยันว่าเกิดจากเชื้อไวรัส EBV จะใช้การเจาะเลือดตรวจหาแอนติบอดีที่ตอบสนองต่อแอนติเจนของเชื้อไวรัส EBV และ อาจใช้ร่วมกับการตรวจหาองค์ประกอบของเชื้อไวรัสในเนื้อเยื่อที่มีรอยโรคจากการติดเชื้อนี้
- เมื่อต้องการตรวจคนทั่วไปว่าเคยติดเชื้อ EBV และมีเชื้ออยู่ในร่างกายหรือไม่นั้น จะใช้การเจาะเลือดตรวจหาแอนติบอดี/สารภูมิต้านทานที่ตอบสนองต่อแอนติเจน/สารก่อภูมิต้านทานของเชื้อไวรัส EBV ซึ่งการตรวจมักจะทำเฉพาะกรณีเมื่อต้องการศึกษาทางระบาดวิทยาของเชื้อนี้
- ในผู้ป่วยที่มี เนื้องอก หรือ มะเร็ง หากจะพิสูจน์ว่าเนื้องอก/มะเร็งที่เป็นอยู่นั้นมี สาเหตุมาจากเชื้อไวรัส EBV จะต้องนำเนื้อเยื่อมะเร็งนั้นไปตรวจด้วยเทคนิคเฉพาะทางพยาธิวิทยา เพื่อหาองค์ประกอบต่างๆของเชื้อไวรัส EBV ในมะเร็งแต่ละชนิด ซึ่งในมะเร็งแต่ละชนิดจะพบองค์ประกอบของไวรัสนี้ที่แตกต่างกัน
มีแนวทางรักษาโรคติดเชื้ออีบีวีอย่างไร?
การรักษาโรคติดเชื้ออีบีวี ขึ้นกับโรคที่ผู้มีเชื้อ EBV เป็นอยู่ เช่น
ก. โรคโมโน: ไม่มีการรักษาจำเพาะ ซึ่งการให้ยาต้านไวรัส เช่นยา Acyclovir พบว่า ไม่ได้ทำให้อาการดีขึ้นแต่อย่างใด ดังนั้นการรักษาหลัก คือการรักษาตามอาการ เช่น
- ยาแก้ปวด
- ยาลดไข้
- ส่วนการให้ยาสเตียรอยด์ พบว่าอาจช่วยทำให้ระยะเวลาป่วยสั้นลงได้ แต่แพทย์จะแนะนำให้ใช้เฉพาะผู้ป่วยที่มีภาวะแทรกซ้อนจากโรคที่รุนแรงเท่านั้น เช่น ไข้สูงมาก หรือเจ็บคอมากจนดื่มน้ำไม่ได้
ข. โรค Lymphoproliferative disease: ในผู้ป่วยที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน การลดปริมาณยาฯ หรือหยุดยาฯอาจทำให้โรค Lymphoproliferative disease หายได้
การรักษาอื่นๆ ได้แก่
- การให้ยาต้านการทำงานของเม็ดเลือดขาวชนิด B lymphocyte
- การฉายรังสีรักษา
- การให้ยาปรับภูมิคุ้มกันต้านทานโรค เช่นยา Interferon alpha เป็นต้น
ค. ในผู้ป่วยที่เป็นโรคผื่นขาว/ฝ้าขาว (โรคฝ้าขาว-ฝ้าแดง)ในช่องปาก(Oral hairy leukoplakia): การให้ยาต้านไวรัส เช่น Acyclovir จะทำให้รอยโรคหายไปได้ แต่ไม่ได้ทำให้เชื้อไวรัสนี้หายไปจากร่างกาย
ง. สำหรับโรคมะเร็งต่างๆ การรักษาขึ้นกับชนิดของมะเร็งที่เกิดขึ้น จะไม่กล่าวถึงโดยละเอียด แต่โดยทั่วไปจะประกอบไปด้วยการให้ ยาเคมีบำบัด, การฉายรังสีรักษา และอาจรวมไปถึงการผ่าตัด (แนะนำอ่านรายละเอียดเรืองโรคมะเร็งต่างที่รวมถึงวิธีรักษาได้จากเว็บ haamor.com เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลือง เป็นต้น)
ผลข้างเคียงจากโรค/การพยากรณ์โรคในโรคติดเชื้ออีบีวีเป็นอย่างไร?
ผลข้างเคียงจากโรค/การพยากรณ์โรค ในโรคติดเชื้ออีบีวี ได้แก่
ก. ผู้ป่วยที่เป็นโรคโมโน: ส่วนใหญ่จะหายเป็นปกติโดยไม่มีผลข้างเคียง/ภาวะแทรกซ้อน มีเพียงส่วนน้อยมากที่อาจเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น
- ม้ามแตกในผู้ป่วยที่ม้ามโตมาก ซึ่งหากเกิดการกระแทกที่ช่องท้อง อาจทำให้ม้าม แตกได้ เนื่องจากม้ามเป็นอวัยวะที่เลือดมาเลี้ยงมาก หากแตก ผู้ป่วยจะเสียเลือดปริมาณมาก มีโอกาสเกิดภาวะช็อก และเสียชีวิต/ตายได้สูง
- ต่อมน้ำเหลืองที่คออาจบวมโตมาก จนอุดกั้นทางเดินหายใจ ทำให้หายใจเอา อากาศเข้าไม่ได้
- อาการทางระบบประสาท ได้แก่ อาการของ สมองอักเสบ, เยื่อหุ้มสมองอักเสบ, ซึ่งประมาณ 85% จะหายกลับมาได้เป็นปกติ หรืออาจเกิดกลุ่มอาการที่เกิดจากการอักเสบของปลอกหุ้มของเส้นประสาทหลายเส้นอย่างเฉียบพลัน/กลุ่มอาการกิลแลงบาร์เร/ โรคจีบีเอส (Guillain-Barre syndrome ย่อว่า GBS)
- กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
- ตับอักเสบ
- เกิดแผลในกระเพาะอาหาร
- โรคซีดจากเม็ดเลือดแดงแตก
- ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ
- ประมาณ 5% ของผู้ป่วยโรค โมโน จะมีผื่นขึ้นตามร่างกาย แต่หากผู้ป่วยได้รับยาปฏิชีวนะ Amoxicillin ผู้ป่วย 95% จะเกิดผื่นขึ้น ซึ่งผื่นที่เกิดขึ้นนี้ไม่ได้บ่งว่าผู้ป่วยแพ้ยา Amoxicillin แต่เป็นจากปฏิกิริยาจากการติดเชื้อไวรัสนี้
ข. ผู้ป่วยที่เป็นโรค Lymphoproliferative disease: หากไม่ได้รับการรักษา มีโอกาสเสียชีวิตได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับโรคอื่นที่ผู้ป่วยเป็นอยู่ด้วย หรือจากที่โรคพัฒนากลายเป็นมะเร็งได้ในที่สุด
ค. สำหรับการพยากรณ์ของโรคมะเร็งนั้น ขึ้นกับชนิดมะเร็งที่เป็นอยู่ ส่วนใหญ่การพยากรณ์โรคจะไม่ดี โดยเฉพาะผู้ที่ติดเชื้อ HIV ที่เป็นมะเร็งจากเชื้อ EBV ส่วนใหญ่จะเสียชีวิตในเวลาไม่นาน (แนะนำอ่านรายละเอียดเรืองโรคมะเร็งต่างที่รวมถึงการพยากรณ์โรคได้จากเว็บ haamor.com เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลือง เป็นต้น)
ดูแลตนเองและป้องกันการติดเชื้ออีบีวีได้อย่างไร?
ดูแลตนเองและป้องกันการติดเชื้ออีบีวีได้โดย
เนื่องจากประชากรมากกว่า 90% ติดเชื้อและมีเชื้อ EBV อยู่ในร่างกายเรียบร้อยแล้ว อีกทั้งคนคนหนึ่งสามารถแพร่เชื้อไวรัสนี้ได้เรื่อยๆตลอดชีวิต จึงเป็นการยากมากที่เราจะป้องกันตัวเองไม่ให้ติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ ในทางกลับกัน เป็นการยากมากเช่นกันที่ผู้ที่เชื้อไวรัสนี้อยู่ จะป้องกันไม่ให้แพร่สู่คนอื่น เนื่องจากผู้ที่เคยติดเชื้อส่วนใหญ่ก็มักไม่มีอาการ
วัคซีนป้องกันการติดเชื้อ EBV มีการพัฒนาอยู่หลายชนิด ซึ่งส่วนใหญ่ยังกระตุ้นภูมิคุ้มกันต้านทานโรคได้ไม่ค่อยดี และส่วนใหญ่มีประสิทธิภาพแค่ป้องกันการเกิดโรคโมโน แต่ไม่สามารถป้องการติดเชื้อ EBV ได้ ดังนั้นในปัจจุบัน การให้วัคซีนส่วนใหญ่ยังจำกัดการให้เฉพาะบางคน เช่น ในผู้ป่วยโรค X-linked lymphoproliferative disease ที่หากป่วยเป็นโรคโมโน จะมีอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้ หรือในผู้ป่วยที่จะต้องมีการผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะ เพื่อป้องกันการเกิดโรค Lymphoproliferative disorder และกำลังมีการพิจารณาการให้ในกลุ่มประชากรที่เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งสูง เช่น ประชากรประเทศจีน ประชากรในทวีปแอฟริกา ทั้งนี้ วัคซีนกำลังมีการพัฒนาต่อไป
ในผู้ที่จะได้รับการเปลี่ยนถ่ายไขกระดูก การฉีดเม็ดเลือดชนิด T lymphocyte ที่มีฤทธิ์ต้านต่อเชื้อ EBV (EBV-specific cytotoxic T lymphocyte) ก่อนการเปลี่ยนถ่ายไขกระดูกให้กับผู้ป่วย (ฉีดทางหลอดเลือดดำ) พบว่าสามารถป้องกันการเกิดโรค Lymphoproliferative disease ได้ แต่สำหรับการปลูกถ่ายอวัยวะอื่นๆ วิธีการนี้ไม่สามารถป้องกันได้
บรรณานุกรม
- http://www.pidst.net/userfiles/49_วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้ออีบีวี.pdf [2019,Nov9]
- https://www.nejm.org/doi/full/10.1056/NEJM200008173430707 [2019,Nov9]
- https://www.medicinenet.com/the_broad_spectrum_of_epstein-barr_virus_disease/views.htm [2019,Nov9]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Epstein%E2%80%93Barr_virus [2019,Nov9]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Epstein%E2%80%93Barr_virus_infection [2019,Nov9]
- https://emedicine.medscape.com/article/222040-overview#showall [2019,Nov9]
- https://www.nih.gov/news-events/news-releases/nih-researchers-make-progress-toward-epstein-barr-virus-vaccine [2019,Nov9]