โรคติดเชื้อริกเก็ตเซีย (Rickettsial infection)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 23 พฤศจิกายน 2561
- Tweet
- บทนำ: เชื้อริกเก็ตเซีย
- โรคติดเชื้อริกเก็ตเซียมีกี่ชนิด?
- โรคติดเชื้อริกเก็ตเซียมีสาเหตุจากอะไร? ติดโรคได้อย่างไร?เป็นโรคติดต่อไหม?
- ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคติดเชื้อริกเก็ตเซีย?
- โรคติดเชื้อริกเก็ตเซียมีอาการอย่างไร?
- เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?
- แพทย์วินิจฉัยโรคติดเชื้อริกเก็ตเซียอย่างไร?
- รักษาโรคติดเชื้อริกเก็ตเซียอย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไร?
- เมื่อไหร่ควรพบแพทย์ก่อนนัด?
- โรคติดเชื้อริกเก็ตเซียส่งผลข้างเคียงไหม? มีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
- ป้องกันโรคติดเชื้อริกเก็ตเซียอย่างไร?มีวัคซีนไหม?
- บรรณานุกรม
- โรคติดเชื้อ ภาวะติดเชื้อ (Infectious disease)
- แบคทีเรีย: โรคจากแบคทีเรีย (Bacterial infection)
- เชื้อไวรัส โรคติดเชื้อไวรัส (Viral infection)
- ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics)
- เตตราไซคลีน (Tetracycline)
- ดีไอซี (DIC)
- ดอกซีไซคลิน (Doxycycline)
บทนำ: เชื้อริกเก็ตเซีย
โรคติดเชื้อริกเก็ตเซีย(Rickettsial infection)คือ โรคเกิดจากร่างกายติดเชื้อแบคทีเรียกลุ่มจำเพาะที่ไม่เหมือนแบคทีเรียทั่วไปที่เรียกว่า’ริกเก็ตเซีย(Rickettsia) โดยมีหมัด เห็บ เล็น ไร เหา หรือโลนที่ดูดเลือดจาก คน สัตว์ เป็นตัวนำโรค(Vector) อาการหลักของโรคนี้จะคล้ายอาการโรคไข้หวัดใหญ่ คือ มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยเนื้อตัว และที่สำคัญ ผิวหนังตรงรอยที่ถูกกัดจะมีลัษณะเป็น’แผลเนื้อตาย สีดำ คล้ายถูกบุหรี่จี้ ที่เรียกว่า เอสการ์(Eschar)’
ริดเก็ตเซีย คือจุลชีพที่มีลักษณะกำกึ่งระหว่างแบคทีเรียกับเชื้อไวรัส แต่ปัจจุบันจัดเป็นแบคทีเรีย มีรูปร่างค่อนข้างกลม มีขนาดเล็กมาก ไม่มีแส้ที่ใช้ช่วยนำทาง เห็นได้จากกล้องจุลทรรศน์ ติดสีแดงเมื่อย้อมทางห้องปฏิบัติการด้วยสี Giemsa(Giemsa stain) และ สีแกรม (Gram stain) เป็นแบคทีเรียที่ต่างจากแบคทีเรียอื่น คือ ต้องอาศัย/เจริญเติบโตในเซลล์เท่านั้น และไม่สามารถมีชีวิตนอกโฮสต์ได้
ริกเก็ตเซีย เป็นแบคทีเรียในสกุล Rickettsiae มี คน และสัตว์หลายชนิดเป็นทั้งโฮสต์และรังโรค เช่น หนูชนิดต่างๆ วัว ควาย แพะ แกะ และเมื่อ หมัด เห็บ ฯลฯที่เป็น ตัวนำโรค ดูดเลือดจากโฮสต์เหล่านี้ เชื้อจะเข้าไปอยู่ในต่อมน้ำลาย/น้ำลายของมัน และเข้าสู่ผิวหนังคนและกระจายเข้าเซลล์ผนังหลอดเลือดคนเมื่อสัตว์เหล่านี้กัด/ดูดเลือดคน หลังจากนั้น จึงก่อาการโรคขึ้น
อนึ่ง ริกเก็ตเซีย ได้ชื่อมาจากพยาธิแพทย์ชาวอเมริกัน ชื่อ Howard Taylor Ricketts ผู้ได้สนใจศึกษาเชื้อแบคทีเรียนี้เป็นคนแรก และได้เสียขีวิตด้วยโรคนี้ในปี ค.ศ. 1910
โรคติดเชื้อริกเก็ตเซีย เป็นโรคพบน้อย แต่พบทั่วโลก มักพบในเขตร้อน พบในคนทุกอายุ แต่มักพบในวัยทำงาน และพบในผู้ชายบ่อยกว่าในผู้หญิง เพราะผู้ชายกลุ่มนี้จะมีโอกาสสัมผัสตัวนำโรคได้สูงกว่าวัย/เพศอื่น
โรคติดเชื้อริกเก็ตเซียมีกี่ชนิด?
ทั่วไปโรคริกเก็ตเซีย แบ่งเป็น3 กลุ่มคือ
- Spotted fever group
- Typhus group
- Scrub typhus group
ทั้งนี้โรคทั้ง3กลุ่มมี ธรรมชาติของโรค การดำเนินโรค อาการ การวินิจฉัย การรักษา และการพยากรณ์โรคคล้ายคลึงกัน ต่างกันเฉพาะสาเหตุที่เป็นแต่ละชนิดย่อยของแบคทีเรีย(Species) ซึ่งในบทความนี้จะไม่กล่าวรายละเอียดในแต่ละกลุ่มชนิดโรค แต่จะกล่าวถึง ‘โรคติดเชื้อริกเก็ตเซีย ที่เป็นในภาพรวม’
โรคติดเชื้อริกเก็ตเซียมีสาเหตุจากอะไร? ติดโรคได้อย่างไร?เป็นโรคติดต่อไหม?
โรคติดเชื้อริกเก็ตเซีย มีสาเหตุจากร่างกายติดเชื้อ/ได้รับเชื้อริกเก็ตเซียจากการกัดดูดเลือดของสัตว์ที่เป็นตัวนำโรค คือพวก เห็บ หมัด เหา โลนฯลฯที่มีเชื้อนี้อยู่ในน้ำลาย/ต่อมน้ำลายของมัน เมื่อกัด/ดูดเลือดคน มันก็จะปล่อยเชื้อนี้ในน้ำลายเข้าสู่เซลล์ผิวหนังและแพร่กระจายสู่เซลล์ที่ผนังหลอดเลือด ส่งผลให้หลอดเลือดทั่วร่างกายอักเสบ จนก่ออาการโรคได้ต่างๆ โดยเฉพาะ เกิดผื่นผิวหนังที่เกิดจากหลอดเลือดอักเสบซึ่งเป็นอีกอาการหลักของโรคนี้
โรคติดเชื้อริกเก็ตเซีย ‘ไม่จัดเป็นโรคติดต่อ’ เพราะไม่สามารถติดต่อจากคนสู่คนได้จากการสัมผัส คลุกคลี แต่ถ้าคนที่เป็นโรคถูก เห็บ หมัด ฯลฯกัด แล้วเห็บ หมัดฯลฯไปกัดคนอื่น คนอื่นเหล่านั้นก็มีโอกาสติดโรคได้ โรคนี้จึงจัดเป็นโรคติต่อจากสัตว์สู่คน(Zoonosis)
อนึ่ง มีรายงาน ติดเชื้อนี้ที่ปนเปื้อนมือเราอาจจากเชื้อปนอยู่ในอุจจาระของ เห็บ หมัดฯลฯ และมือเราไปสัมผัสเยื่อเมือกของร่างกาย เช่น สัมผัสตา ส่วนการติดเชื้อจากจากการคลอดบุตร หรือการให้เลือด มีรายงานแต่น้อยมากๆเป็นเฉพาะกรณี
ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคติดเชื้อริกเก็ตเซีย?
ผู้มีปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคติดเชื้อริกเก็ตเซีย ได้แก่
- ผู้ที่อาศัยอยู่ในถิ่นที่มีเชื้อนี้/โรคนี้เป็นเชื้อประจำถิ่น เช่น ในอัฟริกาบางประเทศ บางเมืองที่อยู่ใกล้ภูเขาใน ออสเตรเลีย สเปน และสหรัฐอเมริกา
- นักเดินทาง นักท่องเที่ยว ที่เข้าไปท่องเที่ยวในแหล่งที่มีเชื้อเหล่านี้เป็นเชื้อประจำถิ่น หรือในพื้นที่แถวแนวชายป่า
โรคติดเชื้อริกเก็ตเซียมีอาการอย่างไร?
ไม่มีอาการเฉพาะของโรคติดเชื้อริกเก็ตเซีย แต่อาการจะเหมือนกับจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส ชนิดต่างๆ โดยมีระยะฝักตัวของโรค 3-15 วัน ซึ่งอาการที่พบบ่อยคือ
ก. อาการคล้ายไข้หวัดใหญ่: ได้แก่ มีไข้ มักเป็นไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเนื้อตัว ไอไม่มาก อ่อนเพลีย
ข. อาการอื่นที่พบบ่อยคือ
- มีผื่นขึ้นที่ผิวหนังได้ทั่วตัว
- มีต่อมน้ำเหลืองเล็กๆ โตคลำได้ พบได้ทั่วตัว เช่น ลำคอ รักแร้ ขาหนีบ
- มีแผลเนื้อตายเหมือนถูกบุหรี่จี้(Eschar)บนผิวหนังตำแหน่งต่างๆที่ถูก เห็บ หมัดฯลฯ กัด
ค.กรณีอาการรุนแรง อาการที่พบคือ
- ไข้สูงมาก
- มีจุดเลือดออกทั่วตัว มีเลือดออกในอวัยวะต่างๆ จากโรคก่อภาวะที่เรียกว่าดีไอซี(DIC)
- มีอาการทางสมอง เช่น ปวดศีรษะรุนแรง สับสน เยื่อหุ้มสมองอักเสบ
- ไอมาก ไอมีเสมหะจากปอดบวม/ปอดอักเสบ
- ปัสสาวะน้อย คลื่นไส้ อาจอาเจียน จากมีไตอักเสบ
เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?
เมื่อมีอาการดังกล่าวในหัวข้อ’อาการฯ’ โดยเฉพาะหลังถูก เห็บ หมัดฯ กัด หรือการ ท่องเที่ยวในชนบท ตามชายป่า ที่รวมถึงการสัมผัส สัตว์เลี้ยง สัตว์ป่า ที่เป็นแหล่งของเห็ด หมัด ฯลฯ ควรต้องรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล เพราะโรคติดเชื้อริกเก็ตเซีย มีอัตราการรักษาหายสูงมากเมื่อได้รับยาปฏิชีวนะตั้งแต่แรกเริ่ม แต่โรคจะรุนแรงจนเป็นเหตุให้เสียชีวิตได้จาก ปอดบวม ไตวาย ตับวาย ภาวะดีไอซี กรณีพบแพทย์ช้า/ได้รับยาปฏิชีวนะล่าช้า หรือเกิดเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะ
แพทย์วินิจฉัยโรคติดเชื้อริกเก็ตเซียอย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยโรคติดเชื้อริกเก็ตเซียได้จาก ประวัติอาการ ประวัติการท่อเที่ยว ประวัติสัมผัสสัตว์ ประวัติถูก เห็บ หมัดฯลฯ กัด การตรวจสัญญาณชีพ การตรวจร่างกาย โดยเฉพาะการตรวจพบแผลEschar ร่วมกับมีผื่นผิวหนัง และมีต่อมน้ำเหลืองโตคลำได้ หลายจุดทั่วตัว
และการตรวจสืบค้นอื่นๆตามดุลพินิจของแพทย์ เช่น การตรวจความสมบูรณ์ของเลือด/ซีบีซี การเอกซเรย์ปอดกรณีมีไอมีเสมหะมาก แต่การวินิจฉัยที่แน่นอนจะได้จากการตรวจเลือดดู สารภูมิต้านทาน หรือ สารก่อภูมิต้านทาน ของเชื้อนี้ อาจร่วมกับการตรวจหาเชื้อจากเลือดด้วยการตรวจเทคโนโลยีสูงที่เรียกว่า PCR (Polymerase chain reaction) และรวมไปถึงการตัดชิ้นเนื้อที่ผื่นผิวหนังหรือที่รอยESchar เพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา
รักษาโรคติดเชื้อริกเก็ตเซียอย่างไร?
แนวทางหลักของการรักษาโรคติดเชื้อริกเก็ตเซีย คือ การให้ยาปฏิชีวนะ และการรักษาประคับประคองตามอาการ
ก. ยาปฏิชีวนะ: ยาปฏิชีวนะมีทั้งชนิด ยากิน และยาฉีด ซึ่งที่ให้ผลการรักษาที่ดี โรคหายได้ คือยาในกลุ่ม Tetracycline เช่น Doxycycline นอกจากนี้คือยา Chloramphenicol ซึ่งทั่วไป ผู้ป่วยจะดีขึ้นใน48ชั่วโมงหลังได้ยาปฏิชีวนะ และโรคจะหายเป็นปกติในระยะเวลาประมาณ 1-2สัปดาห์
ข. การรักษาประคับประคองตามอาการ: เช่น ยาลดไข้/ยาแก้ไข้ ยาแก้ปวดศีรษะ การให้สารน้ำ/สารอาหารทางหลอดเลือดดำกรณีมีภาวะขาดน้ำหรือกินอาหารได้น้อย การให้ออกซิเจนกรณีมีปัญหาทางการหายใจ
ดูแลตนเองอย่างไร?
การดูแลตนเองเมื่อป่วยด้วยโรคริกเก็ตเซีย เมื่อแพทย์ให้ดูแลตนเองที่บ้าน ได้แก่
- ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
- กินยาที่แพทย์สั่งให้ถูกต้อง ไม่ขาดยา ไม่หยุดยาเอง
- พักผ่อนให้เต็มที่
- ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ วันละ 8-10แก้ว เมื่อไม่มีโรคที่แพทย์ให้จำกัดน้ำดื่ม
- พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัด
เมื่อไหร่ควรพบแพทย์ก่อนนัด?
เมื่อป่วยด้วยโรคติดเชื้อริกเก็ตเซียและแพทย์ให้ดูแลตนเองที่บ้าน ควรรีบพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อ
- อาการต่างๆเลวลง เช่น ปวดศีรษะมากขึ้น ไข้กลับมาสูงขึ้น
- มีอาการใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน เช่น ปวดศีรษะร่วมกับคอแข็ง ตาเห็นภาพไม่ชัดเจน คลื่นไส้ อาเจียนมาก
- มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น นอนไม่หลับทุกคืน ท้องผูกหรือท้องเสียมาก วิงเวียนศีรษะมาก
- เมื่อกังวลในอาการ
โรคติดเชื้อริกเก็ตเซียส่งผลข้างเคียงไหม? มีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
โรคติดเชื้อริกเก็ตเซีย ทั่วไปเป็นโรคไม่รุนแรง รักษาได้หายด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะ แต่ถ้าพบแพทย์ช้า หรือบางกรณีเกิดโรคจากสายพันธ์ย่อยที่รุนแรง จะมีอาการแทรกซ้อนได้กับหลายระบบอวัยวะ เช่น
- เยื่อหุ้มสมองอักเสบ
- ปอดอักเสบ
- ไตอักเสบ/ไตวาย
- ตับอักเสบ/ตับวาย
- ภาวะเลือดออกในอวัยวะต่าง/ภาวะดีไอซี ซึ่งมีรายงานอัตราเสียชีวิตได้สูงถึง25%
อนึ่งโรคนี้ เมื่อติดเชื้อแล้ว ร่างกายไม่มีการสร้างภูมิคุ้มกันโรคนี้ได้ ดังนั้น โรคนี้จึงกลับเป็นซ้ำได้เสมอเมื่อได้รับเชื้อริกเก็ตเซียซ้ำอีกหลังการรักษาครบแล้วด้วยยาปฏิชีวนะ
ป้องกันโรคติดเชื้อริกเก็ตเซียอย่างไร?มีวัคซีนไหม?
ปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีป้องกันโรคติดเชื้อริกเก็ตเซีย ด้วยวัคซีน หรือด้วยยาใดๆ ดังนั้นการป้องกันที่มีประสิทธิภาพในขณะนี้ คือ
- ใช้ยาไล่แมลง เห็บ หมัด ฯลฯ กรณีไปท่องเที่ยว หรืออยู่เต้นท์เมื่อท่องเที่ยว
- เมื่อท่องเที่ยว โดยเฉพาะชายป่า ควรสวมใส่ เสื้อผ้า แขนยาว ขายาว ถุงเท้า หมวก เพื่อป้องกันถูกหมัด เห็บ ฯลฯ กัด
- เมื่อกลับที่พัก ให้อาบน้ำให้สะอาด และ สำรวจ เนื้อตัว เสื้อผ้า ว่า ติดสัตว์พวกนี้มาหรือไม่
- หลังจากการท่องเที่ยว ถ้ามีไข้/อาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ หรือมีอาการดังกล่าวในหัวข้อ’อาการ’ ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยแจ้งแพทย์/พยาบาลว่าเพิ่งกลับจากท่องเที่ยว ที่จะช่วยให้แพทย์นึกถึงโรคนี้ได้
บรรณานุกรม
- Ar Kar Aung, et al. 2014. Am. J. Trop. Med. Hyg. 2014; 91(3): 451–460
- Narendra Rathi and Akanksha Rathi. Indian Pediatric. 2010; 47:157-164
- https://en.wikipedia.org/wiki/Rickettsia [2018,Nov3]
- https://reference.medscape.com/article/968385-overview#showall [2018,Nov3]
- https://bestpractice.bmj.com/topics/en-gb/1604 [2018,Nov3]
- https://www2.health.vic.gov.au/public-health/infectious-diseases/disease-information-advice/rickettsial-infection[2018,Nov3]