โรคด่างขาว (Vitiligo)
- โดย แพทย์หญิง ปริศนา สุขีพจน์
- 30 มกราคม 2562
- Tweet
- บทนำ
- โรคด่างขาวมีสาเหตุจากอะไร?
- อาการของโรคด่างขาวเป็นอย่างไร?
- โรคด่างขาวมีกี่ชนิด?
- แพทย์วินิจฉัยโรคด่างขาวอย่างไร?
- รักษาโรคด่างขาวอย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อเป็นโรคด่างขาว?
- ป้องกันโรคด่างขาวอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?
- โรคผิวหนัง (Skin disorder)
- โรคภูมิต้านตนเอง โรคออโตอิมมูน (Autoimmune disease)
- โรคต่อมไร้ท่อ โรคระบบต่อมไร้ท่อ (Endocrine disease)
- ครีมกันแดด (Sunscreen)
- เบาหวาน (Diabetes mellitus)
- ไทรอยด์: โรคของต่อมไทรอยด์ (Thyroid: thyroid diseases)
บทนำ
โรคด่างขาว (Vitiligo) เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของสีผิวโดยมีการทำลายเซลเม็ดสีในผิวหนัง และในเยื่อเมือกบุภายในอวัยวะต่างๆ ทำให้เห็นเป็นรอยด่างสีขาวเหมือนน้ำนมเป็นดวงๆ ตามร่างกายแล้วแต่จะเป็นที่ไหน และโรคมักลุกลามได้ พบประมาณ 1-2% ของประชากรโลก โดยเฉลี่ย โรคด่างขาวไม่ได้เป็นตั้งแต่เกิด อาจเป็นในอายุเท่าใดก็ได้ มักเริ่มเป็นเมื่ออายุประมาณ 20 ปี และในผู้สูงอายุ
โรคด่างขาวมีสาเหตุจากอะไร?
ปัจจุบัน ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดในการเกิดโรคด่างขาว มีหลายทฤษฎีที่เกี่ยวกับสาเหตุของโรค ซึ่งทำให้เกิดการทำลายเซลเม็ดสี เช่น จากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันต้านทานในร่างกาย จากขบวนการสร้างสีซึ่งมีการสร้างสารที่เป็นพิษต่อเซลล์เม็ดสี จากกลไกการเกิดอนุมูลอิสสระ จากภาวะเซลล์เม็ดสีผิดปกติ หรือจากภาวะทางระบบประสาท ซึ่งกลไกต่างๆเหล่านี้มีผลทำลายเซลเม็ดสี ทำให้เกิดรอยด่างขาว นอกจากนี้ เชื่อว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับพันธุกรรมซึ่งทำให้เซลล์สร้างสีผิวอ่อนแอ และถูกทำลายได้ง่าย
โรคด่างขาว เป็นโรคที่พบได้บ่อย ประมาณ 1 -2% ของประชากรโลก พบเกี่ยวข้องกับพันธุกรรมถึงประมาณ 30% อัตราส่วนผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย อาจเนื่องจากผู้หญิงให้ความสนใจ และมาพบแพทย์มากกว่า จึงทำให้พบจำนวนมากกว่า โรคนี้พบได้ทุกช่วงอายุ ส่วนใหญ่จะเริ่มเป็นที่ช่วงอายุ 10-30 ปี
อาการของโรคด่างขาวเป็นอย่างไร?
อาการของโรคด่างขาว คือ พบรอยด่างสีขาวเกิดขึ้นบริเวณผิวหนังโดยไม่มีผื่นคันนำมาก่อน ผิวส่วนอื่นมีลักษณะเป็นปกติทุกอย่าง รูปร่างรอยด่างอาจกลม รี หรือเป็นเส้นยาวก็ได้ มีขนาดต่างกันตั้งแต่เล็กถึงใหญ่ อาจมีวงเดียวหรือหลายวง กระจายได้ทั่วตัว ตำแหน่งที่พบบ่อยคือ ใบหน้า รอบปาก รอบดวงตา คอ มือ ปลายนิ้ว แขน ขา และตำแหน่งที่มีการเคลื่อนไหวมาก ได้แก่ ข้อพับ เข่า ข้อมือ หลังมือ เป็นต้น นอกจากที่ผิวหนังแล้ว ยังพบรอยด่างได้ตามเยื่อเมื่อกบุในอวัยวะต่างๆ เช่น ในช่องปาก เหงือก อวัยวะเพศ หัวนม รอยขาวที่หนังศีรษะ หรือตำแหน่งที่มีขนซึ่งจะทำให้ผมและขนบริเวณนั้นเป็นสีขาวไปด้วย
อาการร่วม: โรคด่างขาวอาจเกิดร่วมกับความผิดปกติของอวัยวะอื่น เช่น
- ดวงตา เนื่องจากเยื่อเมือกบุตา มีเซลเม็ดสีเป็นส่วนประกอบสำคัญ ผู้ป่วยจึงอาจมีอาการทางดวงตาร่วมด้วยได้ เช่น ม่านตาอักเสบ
- โรคภูมิต้านตนเอง/ โรคออโตอิมมูน โรคของต่อมไร้ท่อ (ที่พบบ่อยได้แก่ โรค ต่อมไทรอยด์ โรคเบาหวาน) โรคเลือด และโรคผมร่วงเป็นหย่อมซึ่งมักพบร่วมกับ โรคด่างขาวที่เกิดกระจัดกระจายเป็นหย่อมๆ (Nonsegmental vitiligo) และ โรคด่างขาวที่เป็นกรรมพันธุ์
- โรคทางหู เนื่องจากเซลเม็ดสีเป็นส่วนประกอบในโครงสร้างและการทำงานของหูชั้นในและระบบการได้ยิน จึงอาจพบความผิดปกติทางการได้ยินร่วมกับโรคด่างขาวได้
โรคด่างขาวมีกี่ชนิด?
ทางการแพทย์แบ่งชนิดโรคด่างขาวตามลักษณะการกระจายโรค ได้แก่
1. Localized vitiligo: เป็นด่างขาวที่พบเฉพาะบริเวณใดบริเวณหนึ่งของร่างกาย แบ่งออกเป็น
- Focal vitiligo: พบรอยโรคเป็นจุดเล็กๆ เกิดอยู่บริเวณเดียว
- Segmental vitiligo: รอยขาวเป็นกลุ่ม เรียงตามทางเดินของเส้นประสาท และอยู่ข้างเดียวกันของร่างกาย เช่น ข้างซ้าย หรือ ข้างขวา มักพบในเด็ก
- Mucosal: พบรอยโรคเฉพาะบริเวณเยื่อเมือกบุภายในอวัยวะต่างๆ เช่น ในช่องปาก
2. Generalized vitiligo: ซึ่งแบ่งเป็น
- Acrofacial: พบรอยด่างขาวตามปลายนิ้วมือนิ้ว เท้า และรอบปาก ซึ่งบ่งบอกถึงการพยากรณ์โรคที่ไม่ดี และไม่ค่อยตอบสนองต่อการรักษา
- Vulgaris: รอยขาวกระจายตามส่วนต่างๆทั่วไป พบในผู้ใหญ่ มีโอกาสขยายลามกว้างมากขึ้น รักษาค่อนข้างยาก
- Mixed: พบรอยโรคทั้งสองชนิดที่กล่าวแล้วร่วมกัน
3. Universal vitiligo: เป็นด่างขาวเกือบทั้งตัว อาจเหลือสีผิวปกติเพียงเล็กน้อย มักพบในผู้ใหญ่ และสัมพันธ์กับโรคทางต่อมไร้ท่ออื่นๆ เช่น โรคของต่อมไทรอยด์ หรือ โรคเบาหวาน
อนึ่ง อาจแบ่งชนิดของโรคด่างขาวตามการการดำเนินโรค การ พยากรณ์โรค (ความรุนแรงของโรค) และการรักษาได้เป็น 2 ชนิดดังนี้:
1. Segmental vitiligo: มักเกิดในเด็ก และมีการลามอย่างรวดเร็ว บางครั้งโรคอาจสงบได้ ตอบสนองต่อการรักษาดี และไม่สัมพันธ์กับโรคภูมิต้านตนเองที่เกิดกับอวัยวะอื่นๆอื่นๆ
2. Nonsegmental vitiligo: เป็นโรคด่างขาวที่เหลือจากโรคในข้อ 1 ทั้งหมด
แพทย์วินิจฉัยโรคด่างขาวอย่างไร?
ส่วนใหญ่แพทย์วินิจฉัยโรคด่างขาวได้จากลักษณะรอยด่างขาวที่เป็น แต่อาจต้องแยกโรคที่ทำให้เกิดเป็นรอยขาวอื่นๆด้วย เช่น เกลื้อน ปานขาว กลากน้ำนม หรือผิวหนังด่างจากที่เคยเป็นโรคผิวหนังชนิดอื่นๆมาก่อน และเนื่องจากโรคด่างขาวสัมพันธ์กับโรคภูมิต้านตนเองที่เกิดกับอื่นๆ แพทย์จึงอาจตรวจเลือดทางห้องปฎิบัติการอื่นๆเพิ่มเติม ทั้งนี้ขึ้นกับ อาการผู้ป่วย และดุลพินิจของแพทย์
รักษาโรคด่างขาวอย่างไร?
ปัจจุบันยังไม่มีการรักษาโรคด่างขาวให้หายขาดได้ และโรคด่างขาวแต่ละชนิด ในแต่ละคนก็มีการตอบสนองต่อการรักษาที่แตกต่างกัน
แนวทางการรักษาโดยทั่วไปขึ้นกับ ลักษณะผิวดั่งเดิม ชนิด การกระจาย และ การดำเนินโรค เช่น
- ในคนที่มีผิวขาวอาจไม่ต้องรักษา เพียงแต่หลีกเลี่ยงแสงแดดโดยเฉพาะแดดจัดในช่วง 10.00-16.00น. และใช้ครีมกันแดดที่มี ค่า เอสพีเอฟ (SPF, Sun protection factor) 30 ขึ้นไป เพื่อป้องกันไม่ให้ผิวปกติสีเข้มขึ้น และป้องกันผิวบริเวณรอยโรคถูกทำลายด้วยแสงแดด ในบริเวณที่เป็นน้อยๆแต่เห็นชัด อาจใช้วิธีกลบเกลื่อนรอยโรคด้วยการใช้เครื่องสำอางปกปิดพวก self-tanning ซึ่งทำให้ผิวสีแทนโดยไม่ต้องกระตุ้นเซลล์เม็ดสีให้สร้างสีกลับคืนมา และเป็นวิธีที่ไม่มีผลต่อการดำเนินของโรค
- การรักษาโดยการกระตุ้นเซลเม็ดสีให้กลับคืนมา ได้แก่
1. ยาทา ในกรณีที่เป็นบริเวณน้อยๆ ประมาณ 5-10% ของผิวหนัง อาจใช้ยาทาเฉพาะที่ เพื่อกระตุ้นเซลเม็ดสีให้กลับมาทำงานปกติ ยากลุ่มที่ใช้ เช่น Corticosteroid, Tacrolimus, และ Vitamin D analogue
2. การฉายแสงอัลตราไวโอเลต หรือ แสงยูวี (Ultraviolet หรือ UV light ) เพื่อกระตุ้นเซลเม็ดสี ใช้ในกรณีรอยโรคมีบริเวณกว้าง ซึ่งผลการรักษา ขึ้นกับตำแหน่งของรอยโรค ซึ่งที่ใบหน้า ลำตัว แขน ขา จะให้ผลดีกว่า ส่วนบริเวณปลายมือ เท้า บริเวณกระดูก และ รอบปาก จะไม่ค่อยได้ผล การรักษาวิธีนี้ ต้องรักษาต่อเนื่อง และสม่ำเสมอเป็นเวลานาน เป็นเดือนถึงปี ผลข้างเคียงจากการรักษา ที่พบคือ อาจมีอาการผิวไหม้แดด สีผิวคล้ำขึ้น อาจมีกระ ฝ้า จุดด่างดำหลังฉายแสงยูวีไปนานๆ ถึงแม้การรักษาโดยแสงยูวี จะสามารถกระตุ้นเม็ดสีกลับมาได้ แต่สีที่กลับมาอาจไม่ทั้งหมด และไม่ได้เรียบเท่ากับสีผิวปกติ
3. การผ่าตัดผิวปกติมาแปะที่บริเวณรอยโรค เพื่อปลูกถ่ายเซลล์เม็ดสี แต่การรักษาวิธีนี้จะต้องเป็นรอยโรคที่สงบ ไม่มีการลุกลามแล้วอย่างน้อย 2 ปี โดยหลีกเลี่ยงการปลูกถ่ายผิวในบริเวณที่มีการเคลื่อนไหวตลอด เช่น ตามข้อพับ หรือ รอบๆปาก
4.การใช้เลเซอร์ เช่น Excimer laser ใช้ในบริเวณเล็กๆ เพื่อกระตุ้นเซลล์เม็ดสี การรักษาคล้ายการฉายแสงยูวี คือ ต้องทำสัปดาห์ละอย่างน้อย 2 ครั้ง เป็นเวลาต่อเนื่องอย่างน้อย 24-48 ครั้ง และเพื่อประสิทธิภาพดีขึ้น อาจรักษาร่วมกับการทายาด้วย
5. ในรายที่เป็นมาก ลามทั้งตัว อาจใช้วิธีฟอกสีผิวตรงตำแหน่งผิวปกติแทน เพื่อให้สีผิวปกติขาวเท่ากับรอยโรค โดยการใช้สารที่มีฤทธิ์ขัดขวางการสร้างสีผิว ทำให้สีผิวจางลงไม่เห็นเป็นรอยด่างดำ
ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อเป็นโรคด่างขาว?
เมื่อพบว่าเป็นโรคด่างขาว ไม่ต้องตกใจ เนื่องจากไม่ใช่โรคร้ายแรง แค่อาจเป็นเรื่องรบกวนจิตใจถ้ารอยโรคไปเกิดในตำแหน่งที่เห็นชัด เช่นใบหน้า มือ อย่างไรก็ตาม โรคนี้อาจลามมากขึ้นได้ หรือเกิดขึ้นใหม่ตรงรอยกระแทก รอยขูดขีด หรือ บริเวณแผล เพราะฉะนั้นควรระวังตัวไม่ให้เกิดแผล หรือ การกระแทก และเนื่องจากผิวบริเวณรอยด่างขาว จะขาดเซลล์เม็ดสี เมื่อถูกแสงแดด แสงแดดจะผ่านผิวหนังลงไปทำลายเซลล์ผิวหนังชั้นในได้ง่ายกว่าคนทั่วไป นานๆเข้าอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นมะเร็งผิวหนังได้ เพราะฉะนั้นผู้ที่เป็นโรคด่างขาวควรหลีกเลี่ยงแสงแดดจัดๆ และควรทาครีมกันแดดเป็นประจำ
ป้องกันโรคด่างขาวอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?
ปัจจุบันยังไม่มีวิธีป้องกันโรคด่างขาวได้ เพราะเป็นโรคยังไม่ทราบสาเหตุเกิดที่แน่ชัด อีกทั้งเป็นโรคที่เกี่ยวข้องทางพันธุกรรม เพราะฉะนั้นคงทำได้แค่สังเกตตัวเอง ถ้ามีรอยโรคเกิดขึ้น ควรรีบปรึกษาแพทย์ เพื่อการรักษาต่อไป