โรคชักเฉพาะที่ (Focal seizure)
- โดย ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า
- 7 มีนาคม 2557
- Tweet
- บทนำ
- โรคชักเฉพาะที่คืออะไร?
- โรคชักเฉพาะที่มีกี่รูปแบบ?
- โรคชักเฉพาะที่เกิดได้อย่างไร?
- สาเหตุของโรคชักเฉพาะที่เกิดจากอะไรได้บ้าง?
- ผู้ป่วยที่มีอาการชักเฉพาะที่ควรพบแพทย์เมื่อใด?
- แพทย์วินิจฉัยโรคชักเฉพาะที่ได้อย่างไร?
- รักษาโรคชักเฉพาะที่อย่างไร?
- โรคชักเฉพาะที่ มีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
- โรคชักเฉพาะที่ ก่อผลข้างเคียงอย่างไร?
- ผู้ป่วยควรดูแลตนเองอย่างไร?
- ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อใด?
- ป้องกันโรคชักเฉพาะที่ได้หรือไม่?
- โรคลมชัก (Epilepsy)
- สมองอักเสบ (Encephalitis)
- เนื้องอกสมอง และมะเร็งสมอง (Brain tumor)
- โรคสมอง โรคทางสมอง (Brain disease)
- โรคไวรัสสมองอักเสบ (Viral encephalitis)
- รู้ทันโรคเบาหวาน (Diabetes mellitus)
- เบาหวาน (Diabetes mellitus)
บทนำ
อาการชัก เป็นอาการที่พบบ่อยรองจากอาการปวดศีรษะ และอาการอ่อนแรง พบได้บ่อยเกือบ 1% ของประชากรทั่วไป โดยคนสวนใหญ่มักจะรู้จักเฉพาะการชักแบบเกร็งกระตุกทั้งตัว (Generalized tonic-clonic seizures) หรือที่ทุกคนเรียกว่า “โรคลมบ้าหมู” ซึ่งจริงๆแล้วการชักแบบเฉพาะที่/เฉพาะจุด/เฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย เป็นการชักที่พบบ่อยกว่าการชักแบบลมบ้าหมูเสียอีก แต่คนส่วนใหญ่ไม่คุ้นเคยหรือไม่รู้จักเลย เรามารู้จัก ”ภาวะ/โรคชักแบบเฉพาะที่ (Focal seizure หรือ Partial seizure)” ว่า มีลักษณะอย่างไร เกิดจากอะไร อันตรายหรือไม่
โรคชักเฉพาะที่คืออะไร?
โรค/ภาวะชักเฉพาะที่ คือ โรค/ภาวะที่ร่างกายมีการชักเฉพาะที่ หรือเฉพาะจุด/เฉพาะบางส่วนของร่างกาย เช่น ใบหน้า มือ แขน ขา ท้อง ปาก โดยมีทั้งลักษณะชักแบบเกร็ง กระตุก หรือ ขยับไปมา เป็นๆหาย และทุกๆครั้งที่มีอาการ ก็จะมีลักษณะคล้ายๆกัน ซึ่งเป็นลักษณะอา การสำคัญของการชักในโรคนี้
โรคชักเฉพาะที่มีกี่รูปแบบ?
โรค/ภาวะชักเฉพาะที่มี 3 รูปแบบหลักของอาการแสดงในการชัก คือ
- ภาวะชักเฉพาะที่ และมีการรู้สึกตัวดี (Simple motor seizures)
- ภาวะชักเฉพาะที่ และมีการรู้สึกตัวไม่ดี (Complex partial seizures ย่อว่า CPS)
- ภาวะชักเฉพาะที่ แล้วชักกระจายไปทั่วทั้งตัวตามมา และหมดสติ (Secondary to generalized seizures)
อนึ่ง การชักทั้ง 3 รูปแบบนั้น จะเป็นอยู่ไม่นาน ประมาณ 2-5 นาทีอย่างมาก แต่ถ้าการชักใด เป็นนานติดต่อกันมากกว่า 5 นาที หรือนานถึง 30 นาที เรียกว่า การชักแบบต่อเนื่อง (Status epilepticus ย่อว่า SE) โดยถ้าเป็นการชักเฉพาะที่แบบที่ 1 และเป็นนานต่อเนื่องเรียก ว่า Epilepsia partialis continua (EPC)
โรคชักเฉพาะที่เกิดได้อย่างไร?
โรค/ภาวะชักเฉพาะที่ เกิดขึ้นจากมีกระแสไฟฟ้าในสมองผิดปกติเฉพาะบางตำแหน่งในสมอง จึงก่อให้เกิดความผิดปกติ คือการชักเฉพาะส่วนของร่างกาย ที่ควบคุมโดยสมองตำ แหน่งนั้นๆ
สาเหตุของโรคชักเฉพาะที่เกิดจากอะไรได้บ้าง?
สาเหตุที่พบบ่อยของโรค/ภาวะชักเฉพาะที่ ได้แก่
- มีรอยโรคที่เกิดเฉพาะที่ในสมอง เช่น สมองฝ่อเฉพาะส่วน/เฉพาะที่จากอุบัติเหตุที่สมอง จากรอยแผลผ่าตัดสมอง จากมีสมองขาดเลือด หรือเลือดออกในเนื้อสมองเฉพาะที่ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง โรคหลอดเลือดสมองชนิดขาดเลือดและชนิดเลือดออก) หรือจากเนื้องอกสมอง
- สมองส่วนฮิปโปแคมพัสฝ่อ (Hippocampal sclerosis)
- ภาวะผิดปกติทางเมตะบอลิก (Metabolic/การสันดาปหรือการใช้พลังงานของร่าง กาย) เช่น ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง (จากโรคเบาหวาน) หรือมีความผิดปกติของระดับเกลือโซ เดียม และ/หรือ แคลเซียม ในเลือด เป็นต้น (เช่น จากโรคไต)
- ภาวะสมองอักเสบ
ผู้ป่วยที่มีอาการชักเฉพาะที่ควรพบแพทย์เมื่อใด?
ผู้ป่วยควรพบแพทย์ ถ้ามีอาการชักเฉพาะที่ตั้งแต่ 2 ครั้งขึ้นไป หรือญาติสังเกตเห็นว่า ผู้ ป่วยมีอาการผิดปกติของความรู้สึกตัวร่วมด้วยในขณะชัก หรือมีอาการชักนานมากกว่า 5 นาที หรือ มีการชักเฉพาะที่ร่วมกับมีไข้ ปวดศีรษะ ก็ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที
นอกจากนี้ ถ้ามีอุบัติเหตุเกิดร่วมด้วยขณะชักเฉพาะที่ เช่น ล้มลงกับพื้น เดินชนสิ่งของ มีแผลเกิดขึ้น ก็ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเช่นกัน
แพทย์วินิจฉัยโรคชักเฉพาะที่ได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยโรค/ภาวะชักเฉพาะที่ โดยจะพิจารณาจาก ประวัติทางการแพทย์ต่างๆ และรูปแบบอาการชัก ซึ่งถ้ามีการบันทึกภาพเคลื่อนไหวการเกิดอาการชักมาให้แพทย์ดูด้วย ก็จะทำให้วินิจฉัยได้ง่ายขึ้นมาก ร่วมกับการตรวจร่างกายทั่วไป การตรวจร่างกายทางระบบประ สาท และการตรวจสืบค้นเพิ่มเติม เช่น ส่งตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง เพื่อหาสาเหตุที่ทำให้เกิดการชักเฉพาะที่
หรือ หากเป็นการชักเฉพาะที่แบบต่อเนื่องนานหลายวัน แต่ไม่เกิดภาวะผิดปกติอื่นๆเลย ซึ่งเป็นลักษณะการชักแบบ EPC ที่ในคนไทยจะพบว่า มีสาเหตุจากภาวะน้ำตาลในเลือดสูงมากโดยไม่มีภาวะเลือดเป็นกรด ที่เรียกว่าภาวะ Non-ketotic hyperglycemia induced seizures (NKHS) พบบ่อยเฉพาะในคนไทย ในประเทศยุโรปและอเมริกาไม่ค่อยพบการชักแบบนี้ จะไม่จำเป็นต้องส่งตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง เพียงแค่ตรวจพบระดับน้ำตาลในเลือดสูงมาก กว่า 300 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ก็ให้การวินิจฉัยได้
รักษาโรคชักเฉพาะที่อย่างไร?
การรักษาโรค/ภาวะชักเฉพาะที่ ขึ้นกับสาเหตุ คือ
- การรักษาสาเหตุ เช่น ภาวะสมองอักเสบ, โรคเนื้องอกสมอง, อุบัติเหตุที่ศีรษะ
- การให้ยากันชักเพื่อควบคุมอาการชัก เช่นเดียวกับการชักแบบโรคลมบ้าหมู (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com ในบทความเรื่อง โรคลมชัก)
- การรักษาภาวะ NKHS นั้น ไม่จำเป็นต้องใช้ยากันชัก เพียงแค่ควบคุมอาการชักด้วยการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ให้ลดลงสู่ระดับปกติ อาการชักก็จะหยุด ไม่ต้องให้ยากันชักแต่อย่างใด
โรคชักเฉพาะที่ มีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
การพยากรณ์โรค หรือผลการรักษาโรค/ภาวะชักเฉพาะที่ ขึ้นกับสาเหตุและรูปแบบของการชัก ถ้าเป็นการชักแบบเฉพาะที่ความรู้สึกตัวดี ผลการรักษาก็ดี ซึ่งถ้าสาเหตุแก้ไขได้ก็ยิ่งได้ ผลดี แต่ถ้าเป็นการชักแบบ CPS และมีสาเหตุจาก ภาวะสมองฮิปโปแคมพัสฝ่อ (Hippocampal sclerosis) การรักษาก็ได้ผลไม่ค่อยดี
อนึ่ง
- การรักษาอาการชักเฉพาะที่นั้น ต้องให้การรักษาด้วยการทานยากันชักนานประมาณ 2 ปี นับจากให้ยาจนไม่มีอาการชัก และค่อยๆลดยากันชักลง ซึ่งผลการรักษาในภาพรวมนั้น ก็ไม่ค่อยแตกต่างกับการรักษาผู้ป่วยชักแบบทั้งตัว หรือในโรคลมชัก ยกเว้นกลุ่มที่เกิดจาก Hippo campal sclerosis ที่ได้ผลไม่ค่อยดี อาจจำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัดสมอง มีผู้ป่วยเพียงส่วนน้อยที่ต้องรับการรักษาไปตลอดชีวิต
- ผู้ป่วยบางส่วนของโรค/ภาวะชักเฉพาะที่ อาจเกิดการชักแบบเฉพาะที่ แล้วกระจายทั่วทั้งตัวได้ ซึ่งพบได้ในกรณีที่มีการชักบ่อยๆและไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง รวมทั้งจากมีสาเหตุที่ไม่สามารถรักษาแก้ไขได้ เช่น เนื้องอกสมองที่ไม่สามารถผ่าตัดก้อนเนื้อออกได้ทั้งหมด
โรคชักเฉพาะที่ ก่อผลข้างเคียงอย่างไร?
ผลข้างเคียง/ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นจากโรค/ภาวะชักเฉพาะที่ มีไม่มากเท่ากับการชักแบบหมดสติทั้งตัว เพราะโอกาสการเกิดอุบัติเหตุขณะชักน้อยกว่า ผลข้างเคียงจึงมักเป็นเรื่องจิตใจ เนื่องจากคนทั่วไปไม่เข้าใจว่ามีการชักแบบนี้ จึงไม่เข้าใจผู้ป่วย คิดว่าผู้ป่วยแกล้งทำ
แต่ผู้ป่วยบางรายที่เป็นการชักแบบเฉพาะที่ แล้วกระจายไปทั่วทั้งตัว ก็จะมีผลข้างเคียงเหมือนกับการชักแบบทั้งตัวและหมดสติ เช่น อุบัติเหตุขณะชัก ได้แก่ แผลถลอก ฟันหัก กระ ดูกหัก จมน้ำ ไฟไหม้ น้ำร้อนลวก เป็นต้น
ผู้ป่วยควรดูแลตนเองอย่างไร?
การดูแลตนเองที่สำคัญของผู้ป่วยโรค/ภาวะชักเฉพาะที่ คือ
- ต้องทานยากันชักสม่ำเสมอ
- ไม่อดนอน พักผ่อนให้เพียงพอ
- ไม่เครียด
- ไม่ดื่มเหล้า และ
- พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามนัดเสมอ
ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อใด?
ผู้ป่วยโรค/ภาวะชักเฉพาะที่ ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ
- มีอาการชักบ่อยขึ้น
- เกิดอุบัติเหตุจากการชัก
- มีความผิดปกติทางระบบประสาทอื่นๆเพิ่มเติม เช่น แขนขาอ่อนแรง
- เกิดผลข้างเคียง/ผลแทรกซ้อนจากยากันชัก หรือ แพ้ยากันชัก เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ขึ้นผื่น
- กังวลในอาการ
ป้องกันโรคชักเฉพาะที่ได้หรือไม่?
โรค/ภาวะชักเฉพาะที่นั้น ส่วนใหญ่มักเกิดจากการที่สมองได้รับการกระทบกระเทือน หรือมีการติดเชื้อในสมอง หรือเกิดจากความผิดปกติของเกลือแร่, หรือของน้ำตาลในเลือดที่สูง ดังนั้นการป้องกันโรคลมชักเฉพาะที่ คือ
- ป้องกันอุบัติเหตุที่ศีรษะ เช่น สวมหมวกนิรภัยเสมอเมื่อขับขี่จักรยานยนต์
- รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) และร่วมกับการได้รับวัคซีน ป้องกันโรคต่างๆตามกระทรวงสาธารณสุขแนะนำ
- รักษาควบคุมโรคประจำตัวที่เป็นอยู่ให้ดี เช่น โรคไต โรคเบาหวาน