กลุ่มอาการกิลแลงบาร์เร โรคจีบีเอส (Guillan Barre syndrome: GBS)
- โดย ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า
- 13 พฤศจิกายน 2562
- Tweet
- บทนำ
- โรคจีบีเอสคืออะไร?
- โรคจีบีเอสเกิดจากอะไร?
- โรคจีบีเอสมีอาการอะไรบ้าง?
- ใครมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคจีบีเอส?
- เมื่อไหร่ควรต้องไปพบแพทย์?
- แพทย์วินิจฉัยโรคจีบีเอสได้อย่างไร?
- โรคจีบีเอสรักษาอย่างไร?
- โรคจีบีเอสมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
- โรคจีบีเอสมีผลข้างเคียงอย่างไร?
- การดูแลตนเองที่บ้านทำอย่างไร? ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?
- ป้องกันโรคจีบีเอสได้อย่างไร?
- สรุป
- กายวิภาคและสรีรวิทยาระบบประสาท (Anatomy and physiology of nervous system)
- โรคไขสันหลัง (Spinal cord disease)
- ปวดหลังช่วงล่าง (Low back pain)
- ประสาทอัตโนมัติ ระบบประสาทอัตโนมัติ (Autonomic nervous system)
- ภาวะหายใจล้มเหลว (Respiratory failure)
- กล้ามเนื้ออ่อนแรง (Muscle weakness)
- โรคติดเชื้อ ภาวะติดเชื้อ (Infectious disease)
- วัคซีน (Vaccine)
- ประสาทส่วนปลาย ระบบประสาทส่วนปลาย (Peripheral nervous system)
บทนำ
“คุณหมอครับ ช่วยผมด้วย ผมมีอาการชาและอาการอ่อนแรงของแขน ขา 2 ข้าง หลับตาไม่สนิท เป็นอะไรก็ไม่รู้ครับ” คุณเป็นโรค “กิลแลงเบอร์เร ครับ” คุณหมอตอบ เป็นโรคอะไรเหรอครับ ผมไม่เคยได้ยินมาก่อนเลยครับคุณหมอ โรคนี้เป็นโรคของอะไร เกิดจากอะไร และผมจะเป็นอัมพาตหรือเปล่า หาคำตอบได้จากบทความนี้ครับ
อนึ่ง โรค/กลุ่มอาการกิลแลงบาร์เร์ (Guillan Barre syndrome) เรียกย่อได้ว่า โรค จีบีเอส (GBS) ดังนั้นในบทความนี้ จะขอใช้ชื่อว่า “โรคจีบีเอส”
โรคจีบีเอสคืออะไร?
โรคจีบีเอส เป็นโรค/กลุ่มอาการผิดปกติของเส้นประสาทส่วนปลาย (Peripheral nerve) และรากประสาท (Nerve root) ทำให้ผู้ป่วยมีอาการ ชา อ่อนแรงของแขนขา และอาจเกิดภาวะหายใจล้มเหลว จนเป็นเหตุให้เสียชีวิตตามมาได้
โรคจีบีเอส เป็นโรคพบได้เรื่อยๆในทุกอายุ ตั้งแต่เด็กอ่อนไปจนถึงผู้สูงอายุ โดยอายุที่พบได้สูงกว่า มี 2 ช่วงอายุ คือ 15-35 ปี และ 50-75 ปี พบในผู้ชายบ่อยกว่าในผู้หญิงเล็กน้อย
โรคจีบีเอสเกิดจากอะไร?
โรคจีบีเอส เป็นความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรค ที่ส่งผลต่อระบบประสาทส่วนปลาย (Peripheral nervous system) โดยสาเหตุที่ทำให้เกิดยังไม่ทราบชัดเจน แต่สันนิษ ฐานว่า เมื่อมีการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียบางชนิด หรือภายหลังจากการได้รับวัคซีน ร่างกายจะมีการสร้างภูมิคุ้มกันต้านทานขึ้นมาผิดปกติ ซึ่งภูมิคุ้มกันต้านทานผิดปกตินั้น จะมาทำร้ายต่อระบบประสาทส่วนปลาย จึงทำให้ผู้ป่วยมีอาการผิดปกติเกิดขึ้น
โรคจีบีเอสมีอาการอะไรบ้าง?
อาการที่พบบ่อยๆของโรคจีบีเอส ได้แก่
1. อาการที่มีความรู้สึกผิดปกติ เช่น ชา, เหมือนมีอะไรมาไต่ที่แขน ขา มือ เท้า
2. อาการอ่อนแรงบริเวณที่มีอาการความรู้สึกผิดปกตินั้นๆ
3. เดินเซ ไม่มั่นคง
4. กล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรง หลับตาไม่แน่น/ไม่สนิท ยิงฟันไม่สะดวก พูดไม่ค่อยชัดจากกล้ามเนื้ออ่อนแรง บางครั้ง อาจกลืนลำบาก
5. ปวดหลังช่วงล่างมาก
6. ระบบประสาทอัตโนมัติผิดปกติ เช่น ปัสสาวะลำบาก ความดันโลหิตสูงๆ ต่ำๆ
7. ระบบทางเดินหายใจล้มเหลว จึงเกิดภาวะหายใจล้มเหลว
ใครมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคจีบีเอส?
ปัจจัยเสี่ยงของโรคจีบีเอส คือ
- อายุ ดังกล่าวแล้วว่า โรคพบสูงขึ้นในช่วงผู้ใหญ่วัย 15-35 ปี และในผู้สูงอายุ วัย 50-75 ปี
- มีการติดเชื้อ โดยภายหลังการติดเชื้อไวรัสใน ระบบทางเดินหายใจ, ระบบทางเดินอา หาร เช่น โรคหวัด โรคติดเชื้อไมโคพลาสมา และ การติดเชื้อเอชไอวี
- ภายหลังการฉีดวัคซีน
เมื่อไหร่ควรต้องไปพบแพทย์?
ผู้ป่วยที่มีอาการผิดปกติดังกล่าวในหัวข้อ อาการ ควรรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล เมื่อ
1. อาการความรู้สึกผิดปกติเป็นมากขึ้น และกระจายมากขึ้นอย่างรวดเร็ว
2. เริ่มมีอาการอ่อนแรง
3. เหนื่อย หายใจลำบาก
4. กลืนอาหารลำบาก สำลักอาหาร หรือน้ำลายตนเอง
แพทย์วินิจฉัยโรคจีบีเอสได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยโรคจีบีเอส โดยพิจารณาจาก
- ประวัติทางการแพทย์ ที่สำคัญคือ อาการข้างต้น ประวัติการติดเชื้อ หรือฉีดวัคซีน ร่วมกับ
- การตรวจร่างกาย ที่พบว่า
- มีอาการอ่อนแรงของแขนขาและของกล้ามเนื้อใบหน้า
- รีเฟล็กซ์ลดลง (ใช้ค้อนยางเคาะบริเวณเอ็นในบริเวณแขนและขา)
- ซึ่งเมื่ออาการและการตรวจร่างกายข้างต้นเข้าได้กับโรคนี้ แพทย์จะ
- เจาะหลังเพื่อตรวจน้ำหล่อเลี้ยงไขสันหลังและสมอง (CSF: Cerebrospinal fluid) ซึ่งจะพบว่ามีเม็ดเลือดขาวสูงขึ้นเล็กน้อย, แต่มีระดับโปรตีนสูงขึ้นมาก
- ต่อจากนั้นแพทย์จะส่งตรวจ คลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ (อีเอ็มจี/EMG) ซึ่งจะพบความผิดปกติที่เข้าได้กับโรคจีบีเอส
ซึ่ง ผลจากประวัติอาการและการตรวจทั้งหมด แพทย์ก็สามารถวินิจฉัยโรคนี้ได้ ทั้งนี้ ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และ/หรือเอมอาร์ไอ สมองและไขสันหลัง เพราะจีบีเอสไม่ใช้โรคที่มีรอยโรคที่สมองหรือที่ไขสันหลัง
โรคจีบีเอสรักษาอย่างไร?
การรักษาโรคจีบีเอส ขึ้นกับความรุนแรงของโรค ได้แก่
- ถ้าอาการไม่รุนแรง ผู้ป่วยยังเดินไปมาได้ ก็เพียงแค่รักษาประคับประคองตามอาการ เช่น ยาแก้ปวด อาการก็จะหายได้เอง ภายในระยะเวลาประมาณ 2-4 สัปดาห์
- แต่ถ้าอาการรุนแรง ผู้ป่วยอ่อนแรงจนเดินไม่ได้
- ก็ต้องให้การรักษาด้วยการฟอกเลือด (Plasmapheresis) เพื่อลดปริมาณสารภูมิคุ้มกันต้านทานโรคที่ผิดปกติในเลือด
- หรือให้ยาอิมมูโนกลอบบูลิน (Immunoglobulin) ซึ่งเป็นยาใช้รักษาเมื่อมีภาวะผิดปกติของภูมิคุ้มกันต้านทานโรค
- ซึ่งจะเลือกวิธีใดขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์
โรคจีบีเอสมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
การพยากรณ์โรคของโรคนี้คือ โรคจีบีเอสส่วนใหญ่จะตอบสนองต่อการรักษาดี หายดีภายในระยะเวลาประมาณ 6-12 เดือน แต่อาจยังคงมีเหลืออาการ ชา และ/หรืออ่อนแรงเพียงเล็กน้อยอยู่บ้าง โดยจะค่อยๆฟื้นกลับปกติในระยะเวลาเป็นเดือน หรือหลายๆเดือน หรือเป็นปี แต่โอกาสเกิดเป็นซ้ำจะน้อยมากๆ
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยส่วนน้อยที่อาการรุนแรง อาจเสียชีวิตจากภาวะหายใจล้มเหลวได้
โรคจีบีเอสมีผลข้างเคียงอย่างไร?
ผลข้างเคียง/ภาวะแทรกซ้อนจากโรคซีบีเอส คือ
- ปัญหาการอ่อนแรง
- ปัญหาด้านการขับถ่าย
- และในผู้ป่วยที่อาการรุนแรงต้องอยู่โรงพยาบาลนาน อาจมีปัญหาจากแผลกดทับจากที่ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ ต้องนอนนานๆตลอดเวลา
- และอาจพบผลข้างเคียงที่รุนแรง คือ ภาวะหายใจล้มเหลวได้
การดูแลตนเองที่บ้านทำอย่างไร? ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?
การดูแลตนเองที่บ้านเมื่อเป็นโรคจีบีเอสที่ดีที่สุด คือ
- ปฏิบัติตามแพทย์ พยาบาลแนะนำ
- กินยา/ใช้ยาต่างๆที่แพทย์สั่ง ให้ครบถ้วนถูกต้อง ไม่ขาดยา
- ออกกำลังกาย เพื่อฟื้นฟูความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ตามแพทย์ นักกายภาพบำบัด พยาบาล แนะนำ
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ
- มีอาการผิดปกติเพิ่มขึ้น เช่น กลับมามีไข้อีก
- อาการต่างๆเลวลง เช่น แขนขาอ่อนแรงมากขึ้น
- มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนรบกวนต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ขึ้นผื่น วิงเวียนศีรษะมาก
- เมื่อกังวลในอาการ
ป้องกันโรคจีบีเอสได้อย่างไร?
เนื่องจากเป็นโรคยังไม่ทราบสาเหตุเกิดที่แน่ชัด การป้องกันโรคจีบีเอส ให้ได้เต็มร้อยจึงเป็นไปไม่ได้
แต่เมื่อดูจากปัจจัยเสี่ยงแล้ว การรักษาสุขภาพให้แข็งแรง ด้วยการรักษาสุขอนามัยพื้น ฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อลดโอกาสติดเชื้อต่างๆ ก็จะช่วยลดโอกาสเกิดโรคนี้ลงได้
สรุป
คนที่เป็นโรคนี้ถือว่าโชคร้าย แต่ที่โชคดีคือ รักษาได้หายสูง จึงไม่ต้องกังวลครับ ถ้าจำ เป็นต้องฉีดวัคซีนก็ฉีดนะครับ โอกาสเกิดผลแทรกซ้อน/ผลข้างเคียงแบบนี้จากฉีดวัคซีนน้อยมากๆๆ จนไม่มีแพทย์คนไหนแนะนำให้ยกเลิกการฉีดวัคซีนที่จำเป็นครับ