โรคข้อรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

โรคข้อรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis) เป็นโรคเรื้อรังที่มีกลไกเกิดจากระบบภูมิคุ้มกัน ต้านทานโรคของร่างกายทำลายอวัยวะของตัวเอง โดยทำให้เกิดพยาธิสภาพในหลายอวัยวะ แต่ที่เป็นลักษณะเฉพาะของโรคและเป็นปัญหาทำให้ผู้ป่วยเกิดความพิการตามมาคือ การที่ข้อต่างๆเกิดการอักเสบโดยเฉพาะข้อมือและข้อนิ้วมือ โดยสาเหตุหรือปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคนี้ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่พบว่าพันธุกรรมมีส่วนเกี่ยวข้องด้วยส่วนหนึ่ง นอกจากนั้นไม่มียาสำหรับป้องกันการเกิดโรคและรักษาโรคให้หายขาดได้ แต่มียาที่ช่วยบรรเทาอาการและลดความรุนแรงของโรคลงได้

โรคข้อรูมาตอยด์พบได้ทั่วโลก ทุกเผ่าพันธุ์ทั่วโลกในแต่ละปีมีอุบัติการณ์ประมาณ 3 รายต่อประชากร 10,000 คน ซึ่งความชุกของโรคอยู่ที่ประมาณ 1% ของประชากรทั้งหมด ทั้งนี้ หญิงเป็นมากกว่าผู้ชายประมาณ 3 เท่า ช่วงอายุที่เริ่มเป็นส่วนใหญ่ คือ 35 - 50 ปี

โรคข้อรูมาตอยด์มีสาเหตุจากอะไร?

โรคข้อรูมาตอยด์

สาเหตุของโรคข้อรูมาตอยด์ยังไม่ทราบแน่ชัด จากการศึกษาพบว่าพันธุกรรมเป็นสาเหตุหนึ่ง โดยพบว่า 10% ของผู้ป่วยโรคข้อรูมาตอยด์มีญาติสายตรงที่เป็นโรคนี้เช่นกัน หรือในอีกแง่หนึ่ง ถ้ามีญาติสายตรงเป็นโรคนี้ก็จะมีโอกาสที่จะเป็นโรคมากกว่าคนทั่วไปประมาณ 4 เท่า การศึกษาในผู้ป่วยที่มีแฝดไข่ใบเดียวกัน พบว่าถ้ามีแฝดคนหนึ่งเป็นโรคข้อรูมาตอยด์ประมาณ 15 - 20% จะพบแฝดอีกคนเป็นโรคนี้เช่นกัน แต่ก็เป็นที่น่าสังเกตว่าทั้งที่แฝดไข่ใบเดียวกันมีรหัสพันธุกรรมที่เหมือนกัน แต่กลับไม่ได้เป็นโรคข้อรูมาตอยด์เหมือนกัน 100% จึงน่าจะมีสาเหตุจากสภาพแวดล้อมภายนอกประกอบด้วย

เนื่องจากโรคนี้พบได้ทั่วโลก จึงมีข้อสันนิษฐานว่าการติดเชื้อบางชนิดที่มีอยู่ทั่วไป อาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคได้ เชื้อที่สันนิษฐานมีทั้งเชื้อแบคทีเรียและไวรัส แต่วิธีการก่อโรคของเชื้อที่ทำให้มีข้ออักเสบเรื้อรัง ปัจจุบันก็ยังไม่มีผู้อธิบายได้

นอกจากนี้สาเหตุจากฮอร์โมนก็น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้อง เพราะโรคนี้พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และอาการของโรคจะดีขึ้นเมื่อตั้งครรภ์

ไม่ว่าสาเหตุจะเกิดจากอะไรก็ตาม พยาธิสภาพที่ปรากฏคือ ระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายถูกกระตุ้นให้ทำงานมากเกินผิดปกติโดยเฉพาะที่ข้อต่างๆ เซลล์เม็ดเลือดขาวและเซลล์เนื้อเยื่อเกี่ยวพัน (Connective tissue) ถูกกระตุ้นให้ทำงานมากขึ้น และหลั่งสารเคมีต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบ ซึ่งเป็นการอักเสบแบบเรื้อรัง และส่งผลทำให้เนื้อเยื่อปกติถูกทำลายในที่สุด

โรคข้อรูมาตอยด์มีอาการอย่างไร?

อาการของโรคข้อรูมาตอยด์ที่พบบ่อยคือ ผู้ป่วยที่เริ่มเป็นโรคครั้งแรกประมาณ 2 ใน 3 จะมีอาการค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งมักจะวินิจฉัยได้หลังจากมีอาการหลายเดือนแล้ว โดยเริ่มต้นจะมีอา การอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย เบื่ออาหาร และตามมาด้วยอาการที่เกิดจากข้ออักเสบที่เป็นลักษณะ ของโรคข้อรูมาตอยด์ มีผู้ป่วยส่วนน้อยที่จะเริ่มต้นด้วยอาการของข้ออักเสบเลย นอกจากนี้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะมีอาการไข้ ต่อมน้ำเหลืองโตและม้ามโตร่วมด้วย

อาการของข้ออักเสบคือ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดบวมตามข้อโดยพบที่ข้อขนาดเล็กๆเช่น ข้อนิ้วมือ ฝ่ามือ ข้อนิ้วเท้า และฝ่าเท้า มากที่สุด ส่วนข้ออื่นๆที่พบได้เช่น ข้อของข้อมือ ข้อเข่า ข้อไหล่ ข้อเท้า ข้อศอก ข้อสะโพก ข้อกระดูกสันหลังส่วนคอ แต่จะไม่พบที่ข้อปลายนิ้วมือและที่ข้อกระดูกสันหลังส่วนเอว ดังนั้นถ้ามีอาการปวดเอวเรื้อรังไม่ควรนึกถึงโรคข้อรูมาตอยด์

ลักษณะอาการปวดตามข้อที่จำเพาะต่อโรคนี้คือ จะมีอาการที่ตำแหน่งข้อเหมือนกันทั้งด้านซ้ายและด้านขวา ความปวดจะเป็นมากขึ้นเมื่อใช้งานข้อนั้นๆ และเมื่อพักการใช้ข้อนานๆ เช่น หลังตื่นนอนจะมีอาการข้อยึดแข็ง ขยับไม่ได้เป็นเวลามากกว่า 1 ชั่วโมง

การที่ข้อบวมและปวดเกิดจากมีน้ำสะสมอยู่ในข้อ เยื่อบุข้อมีการหนาตัว มีเซลล์เม็ดเลือดขาวที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบเข้ามาอยู่มากมาย มีการหลั่งสารเคมีที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบจากเซลล์เหล่านั้น และสารเคมีบางตัวก็ทำให้เกิดความเจ็บปวด นอกจากนี้เนื้อเยื่อเกี่ยวพันที่อยู่รอบข้อก็มีการอักเสบร่วมด้วย เมื่อการอักเสบดำเนินต่อไปเป็นระยะเวลาหลายสิบปี กระดูกอ่อนที่เป็นส่วนประกอบของข้อจะถูกทำลาย กระดูกที่อยู่รอบข้อเหล่านั้นจะบางลง และในที่สุดจะเกิด พังผืดขึ้นมาแทนที่ ดึงรั้งให้ข้อเสียรูปร่าง ใช้งานไม่ได้ เนื้อเยื่อรอบๆข้อที่ทำหน้าที่พยุงข้อไว้ก็จะเสียไป เส้นเอ็นที่เกาะอยู่ที่ข้อจะถูกทำลายและส่งผลทำให้กล้ามเนื้อทำงานไม่ได้ตามปกติ ผู้ป่วยจะไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้เหมือนเดิมเช่น อาบน้ำ แต่งตัว ทำอาหาร งานบ้านต่างๆ ซึ่งเป็นผลกระทบที่ร้ายแรงสำหรับโรคนี้

ลักษณะการผิดรูปร่าง ความพิการของข้อต่างๆ และผลกระทบที่พบ คือ

  • ถ้าเป็นที่ข้อนิ้วมือและข้อมือ จะเกิดการผิดรูปได้ 3 แบบ ได้แก่
    1. แบบรูปร่างคล้ายตัวหนังสือ Z (Z deformity) คือข้อมือจะงอออกด้านข้างในขณะที่ข้อนิ้วมือทั้งหมดงอเข้าด้านใน และมักพบข้อนิ้วมือส่วนต้นมีการเลื่อนหลุด
    2. แบบคอห่าน (Swan neck deformity) ข้อนิ้วมือส่วนต้นจะเหยียดออกไปด้านหลังของมือ ทำให้ข้อนิ้วมือส่วนปลายงอเข้าหาฝ่ามือ
    3. แบบ Boutonniere deformity คือข้อนิ้วมือส่วนต้นจะงอเข้าหาฝ่ามือ ทำให้ข้อนิ้วมือส่วนปลายเหยียดออกไปด้านหลัง
  • สำหรับข้อมือ นอกจากจะทำให้ขยับข้อไม่ได้และผิดรูปร่างแล้ว พังผืดรอบๆข้ออาจกดทับเส้นประสาทส่วนปลายได้ ทำให้มีอาการปวดชาหรือเสียวที่มือ และกล้ามเนื้อมือฝ่อลีบ
  • ถ้าเป็นที่ข้อเท้า ข้อนิ้วเท้า ก็ทำให้ผิดรูปและอาจพิการจนเดินไม่ได้ แต่ไม่ได้มีลักษณะที่เฉพาะเหมือนกับที่มือ
  • ถ้าเป็นที่ข้อศอก ข้อศอกจะหดงอ ยืดไม่ออก
  • ถ้าเป็นที่ข้อเข่า ก็จะทำให้เข่าหดงอ อาจเดินไม่ได้ และมีถุงน้ำเกิดด้านข้อพับของเข่าได้
  • ถ้าเป็นที่ข้อกระดูกสันหลังส่วนคอ อาจทำให้ข้อมีการเลื่อนหลุด และกระดูกที่เลื่อนหลุดอาจไปกดเส้นประสาทส่วนปลาย ทำให้มีอาการปวดชาหรือเสียวแขน มีแขนอ่อนแรงได้ หรือที่อันตรายคือไปกดทับไขสันหลัง ทำให้เป็นอัมพาตได้

อนึ่ง นอกจากอาการจะเกิดกับข้อต่างๆแล้ว ยังสามารถตรวจพบพยาธิสภาพ (ความผิดปกติ) ที่อวัยวะอื่นๆได้ด้วย แต่มักไม่ส่งผลให้เกิดปัญหาสำคัญ โดยจะพบเฉพาะกับผู้ป่วยที่ตรวจเลือดพบสารภูมิต้านทาน (Antibody) ของโรคนี้ที่เรียกว่า Rheumatoid factor เท่านั้น พยาธิสภาพเหล่านั้นได้แก่

  1. การเกิดปุ่มเนื้อที่เรียกว่า Rheumatoid nodules พบได้ประมาณ 20 - 30% ของผู้ป่วยโรคข้อรูมาตอยด์ ซึ่งพยาธิสภาพคือ เป็นปุ่มเนื้อที่เกิดจากการรวมตัวของเม็ดเลือดขาวชนิดเก็บกินเซลล์ต่างๆที่ตายแล้ว (Macrophage) ซึ่งสามารถเกิดขึ้นในเนื้อเยื่อชนิดใดและอวัยวะใดก็ได้ เช่น เยื่อหุ้มปอด เยื่อหุ้มสมอง แต่ตำแหน่งที่พบได้บ่อยคือ เนื้อเยื่อชั้นใต้ผิวหนังที่อยู่บริเวณปลายแขน ศีรษะด้านหลัง และเส้นเอ็นที่ปลายขา
  2. กล้ามเนื้อเกิดการฝ่อลีบ ซึ่งมักเกิดกับกล้ามเนื้อที่อยู่เหนือต่อข้อที่มีการอักเสบ
  3. พยาธิสภาพที่เกิดขึ้นที่ปอดมีได้หลายอย่างได้แก่ การเกิดพังผืดในปอด เนื้อเยื่อปอดอักเสบ มีปุ่มเนื้อ Rheumatoid nodule ในเนื้อปอด เยื่อหุ้มปอดอักเสบ มีน้ำในเยื่อหุ้มปอด โดยส่วนใหญ่มักไม่ทำให้เกิดอาการที่รุนแรง
  4. การเกิดเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ แต่ผู้ป่วยจะไม่มีอาการใดๆ มักตรวจพบโดยบังเอิญจากการตรวจศพ ซึ่งพบได้ประมาณ 50% ของผู้ป่วยโรคนี้
  5. การเกิดหลอดเลือดอักเสบทั่วร่างกาย จะพบในผู้ป่วยที่มีระดับสารภูมิต้านทาน Rheumatoid factor ในเลือดขึ้นสูงมากๆ โดยตรวจร่างกายพบ จุดสีน้ำตาลที่ฐานเล็บ ปลายนิ้ว มีอาการชาปลายมือ ปลายเท้า และอาจมีแผลเรื้อรังที่ขาร่วมด้วยจากเนื้อเยื่อขาขาดเลือดหล่อเลี้ยง
  6. การเกิดกระจกตาอักเสบ พบได้น้อยคือน้อยกว่า 1% ของผู้ป่วยโรคนี้ บางครั้งอาจรุนแรงจนทำให้เปลือกลูกตาบางและทะลุได้ในที่สุด
  7. พยาธิสภาพของระบบประสาทเกิดได้จากหลายสาเหตุได้แก่ การที่ข้ออักเสบเรื้อรัง มีพังผืดเกิดขึ้น ทำให้กดทับเส้นประสาทส่วนปลาย หรือเกิดจากกระดูกสันหลังส่วนคอเคลื่อนไปกดทับเส้นประสาทหรือไขสันหลัง และอาจเกิดจากหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงเส้นประสาทส่วนปลายมีการอักเสบ แต่สำหรับสมองจะไม่เกิดพยาธิสภาพใดๆ
  8. การเกิดโรคกระดูกพรุน โดยตัวของโรคข้อรูมาตอยด์เองทำให้มวลกระดูกลดลงปานกลาง แต่การที่ต้องใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์ (steroid) รักษาจะยิ่งกระตุ้นให้สูญเสียมวลกระดูกมากขึ้น
  9. การเกิดกลุ่มอาการที่เรียกว่า Felty’s syndrome (Felty เป็นชื่อแพทย์ชาวอเมริกัน ที่รายงานกลุ่มอาการนี้เป็นคนแรก) คือ ผู้ป่วยที่เป็นโรคข้อรูมาตอยด์ร่วมกับมีม้ามโตและเม็ดเลือดขาวต่ำ มักพบในผู้ป่วยที่เป็นโรคข้อรูมาตอยด์มานาน และเนื่องจากมีเม็ดเลือดขาวต่ำ ผู้ป่วยจึงมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อได้ง่าย และอาจรุนแรงจนเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้

แพทย์วินิจฉัยโรคข้อรูมาตอยด์ได้อย่างไร?

โดยทั่วไป เมื่อเริ่มเป็นโรคข้อรูมาตอยด์อาการมักไม่ค่อยชัดเจน ให้การวินิจฉัยโรคได้ยาก เวลาโดยเฉลี่ยนับตั้งแต่เริ่มมีอาการของโรคจนกระทั่งวินิจฉัยได้ว่าเป็นโรคข้อรูมาตอยด์อยู่ที่ประมาณ 9 เดือน การวินิจฉัยจะอาศัยอาการและการตรวจทางห้องปฏิบัติการ โดยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญโรคนี้จากสหรัฐอเมริกา(American College of Rheumatology) ได้วางกฎเกณฑ์สำหรับการวินิจฉัยโรคไว้ดังนี้ โดยให้ถือว่า “ผู้ป่วยที่มีอาการอย่างน้อย 4 ใน 7 ข้อเหล่านี้ เป็นโรคข้อรูมาตอยด์”

  1. มีอาการข้อแข็งในตอนเช้า ขยับไม่ได้ตามปกติ ซึ่งต้องมีอาการนานมากกว่า 1 ชั่ว โมงก่อนที่อาการจะหายไป
  2. มีอาการปวดข้อมากกว่า 3 ข้อขึ้นไปโดยมีอาการบวมของข้อร่วมด้วย
  3. ข้อที่อักเสบนั้นจะต้องมีข้อของมือรวมอยู่ด้วย โดยอาจจะเป็น ข้อมือ ข้อฝ่ามือ หรือข้อนิ้วมือก็ได้
  4. ข้อที่อักเสบเหล่านั้นจะต้องเป็นทั้งข้างซ้ายและข้างขวาเหมือนกันและเป็นพร้อมๆ กัน
  5. ตรวจพบมีปุ่มเนื้อ Rheumatoid nodules
  6. การตรวจทางห้องปฏิบัติการพบสารภูมิต้านทาน Rheumatoid factor ในเลือด การตรวจพบสารภูมิต้านทาน Rheumatoid factor เพียงอย่างเดียว ไม่ได้จำเพาะกับโรคนี้ เพราะสามารถตรวจพบได้ในคนทั่วไปประมาณ 5% และยิ่งมีอายุมาก โอกาสที่จะตรวจพบอาจมีถึง 20% จึงต้องอาศัยเกณฑ์ข้ออื่นร่วมด้วย
  7. การตรวจเอ๊กซเรย์กระดูก พบความผิดปกติของกระดูกรอบข้อ เช่น กระดูกรอบข้อบางตัวลง

เนื่องจากการอาศัยการวินิจฉัยตามกฎเกณฑ์เหล่านี้ อาจทำให้เกิดความล่าช้าในการวินิจฉัยโรคข้อรูมาตอยด์ และการรีบให้ยารักษาตั้งแต่เริ่มเป็น จะช่วยลดการดำเนินของโรคไม่ให้รุนแรงและไม่ให้เกิดความพิการตามมาได้ ทางกลุ่มผู้เชี่ยวชาญทั้งจากสหรัฐอเมริกาและจากยุ โรป American College of Rheumatology และ European League Against Rheumatism จึงได้ตั้งกฎเกณฑ์ใหม่ขึ้นในปี 2010 แต่เนื่องจากยังเป็นของใหม่และมีรายละเอียดมากมายเฉพาะทางของโรค จึงไม่ขอกล่าวถึง แต่ทั้งนี้เมื่อพบแพทย์ซึ่งโดยทั่วไปจะเป็นแพทย์เฉพาะทางด้านโรคนี้ แพทย์จะเป็นผู้ดำเนินการตรวจตามแนวทางเหล่านี้ให้ผู้ป่วยที่สงสัยว่าจะเป็นโรคนี้เอง

รักษาโรคข้อรูมาตอยด์อย่างไร?

เป้าหมายของการรักษาโรคข้อรูมาตอยด์คือ

1. ลดอาการปวดบวมของข้อ

2. ลดภาวะการอักเสบของข้อ

3. ป้องกันไม่ให้ข้อเสียหายจนใช้การไม่ได้

4. การทำให้ข้อที่ใช้งานไม่ได้กลับมาใช้งานได้

และ 5. รักษาอาการที่เกิดกับอวัยวะอื่นๆ

โดยยาที่ใช้รักษาโรคข้อรูมาตอยด์จะใช้ยาหลายตัวร่วมกัน ไม่มียาตัวไหนที่จะหยุดยั้งการดำเนินของโรคและทำให้หายได้ ยาที่ใช้รักษาจะเป็นเพียงเพื่อลดและป้องกันการปวดบวมของข้อ ลดการดำเนินของโรคให้ช้าลง และไม่ให้รุนแรงจนข้อเสียหายพิการ

ยาที่ใช้รักษาโรคข้อรูมาตอยด์มีอยู่ 5 กลุ่ม คือ

1. กลุ่มยาแก้ปวดที่เรียกว่า เอ็นเสด (NSAIDs, nonsteroidal anti-inflammatory drugs): ซึ่งมียาอยู่หลายตัวให้เลือกใช้ ยาจะทำหน้าที่ลดอาการปวดบวมที่เกิดจากการอักเสบเท่านั้น แต่ไม่ได้ช่วยลดการดำเนินของโรค

2. ยากลุ่มสเตียรอยด์: นอกจากช่วยลดอาการที่เกิดจากการอักเสบแล้ว ยังอาจช่วยลดการดำเนินของโรคให้ไม่รุนแรงและให้โรครุนแรงช้าลงได้ โดยใช้ยาในปริมาณต่ำ เพื่อไม่ให้เกิดผลข้างเคียงที่มีมากมายจากยาตัวนี้ เช่น โรคแผลในกระเพาะอาหาร การติดเชื้อ และโรคกระดูกพรุน

3. ยากลุ่มยาปรับเปลี่ยนการดำเนินโรครูมาตอยด์: DMARDs (Disease-modifying antirheumatic drugs): เป็นยากลุ่มที่จะช่วยควบคุมไม่ให้เกิดอาการจากการอักเสบ ลดความรุนแรงและการดำเนินของโรค ยาในกลุ่มนี้มีอยู่หลายตัวเช่น ยาเคมีบำบัดบางชนิด เช่นยา Methotrexate และยารักษาโรคมาลาเรีย/ ยาต้านโรคมาลาเรีย (Antimalaria drugs)

4. ยาต้านการทำงานของสารเคมีและสัมพันธ์กับภูมิคุ้มกันต้านทานโรค ชื่อ TNF-alpha และ IL-1 : ซึ่งเป็นสารเคมีที่เกี่ยวข้องในกระบวนการอักเสบของข้อ ยากลุ่มนี้ช่วยควบคุมไม่ให้เกิดอาการจากการอักเสบได้และอาจช่วยลดการดำเนินของโรคได้ แต่มีผล ข้างเคียงที่น่ากลัวคือ อาจทำให้มีโอกาสติดเชื้อที่รุนแรงเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้

5. กลุ่มยากดภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย/ ยากดภูมิคุ้มกัน: เช่น ยาเคมีบำบัดรักษามะเร็งชนิด Cyclophosphamide, ยา Cyclosporine , หรือยา Azathiopine เป็นต้น ยากลุ่มนี้มีประ สิทธิภาพดีเหมือนกับยากลุ่ม DMARDs แต่มีผลข้างเคียงที่มากกว่า จึงจะพิจารณาใช้เมื่อใช้ยาในกลุ่ม DMARDs ไม่ได้ผล

อนึ่ง นอกจากการใช้ยาคือ การผ่าตัด ซึ่งจะพิจารณาทำในผู้ป่วยที่มีข้อผิดรูปร่าง พิการใช้งานไม่ได้ ให้กลับมาใช้งานได้ ส่วนใหญ่ผ่าตัดรักษาได้แต่ในข้อใหญ่ๆ เช่น ข้อสะโพก ข้อเข่า ข้อไหล่ ส่วนข้อมือ ข้อนิ้วมือ ข้อนิ้วเท้า การผ่าตัดให้กลับมาใช้งานได้นั้นทำได้ยาก

โรคข้อรูมาตอยด์รุนแรงไหม?

การดำเนินโรคหรือความรุนแรงของโรคข้อรูมาตอยด์ค่อนข้างจะหลากหลาย ไม่แน่นอน แตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละคน โดยส่วนใหญ่อาการปวดบวมของข้อจะเป็นๆหายๆ แต่การทำลายของข้อจากการอักเสบก็ยังคงดำเนินต่อไป ทำให้มีการผิดรูปร่างของข้อและใช้งานไม่ได้มากน้อยแตกต่างกันไปในแต่ละคน โดยมีผู้ป่วยเฉลี่ย 50% ที่มีอาการมาแล้วประมาณ 10 ปีจะไม่สา มารถทำงานได้อีกต่อไป ในขณะที่ผู้ป่วยประมาณ 15% จะมีอาการปวดบวมจากการอักเสบของข้อเป็นอยู่ไม่นาน ไม่มีความพิการของข้อให้เห็น และสามารถทำงานได้เหมือนปกติ

ลักษณะที่บ่งว่าผู้ป่วยมีการพยากรณ์โรคไม่ดีจะเกิดความพิการของข้อตามมาได้แก่ มีจำนวนข้อที่ปวดบวมมากกว่า 20 ข้อ เริ่มเป็นโรคเมื่อมีอายุมากแล้ว มีปุ่มเนื้อ rheumatoid nodules มีค่าตรวจเลือดที่เรียกว่า การตกตะกอนของเม็ดเลือดแดง (ESR, Erythrocyte sedimentation rate) สูง มีโรคประจำตัวอื่นๆร่วมด้วย มีฐานะยากจน และอาจเกี่ยวข้องกับพันธุกรรมบางชนิด นอกจากนี้ การตรวจพบค่าสารภูมิต้านทาน Rheumatoid factor มีระดับสูงมากเท่าใด ก็มีโอกาสที่โรคจะรุนแรงและดำเนินไปอย่างรวดเร็ว ทั้งพยาธิสภาพที่เกิดกับข้อและอวัยวะอื่นๆด้วย

ผู้ป่วยโรคข้อรูมาตอยด์จะมีอายุโดยเฉลี่ยสั้นกว่าคนปกติทั่วไปประมาณ 3 - 7 ปี ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง มีข้อต่างๆพิการ จะมีความเสี่ยงในการเสียชีวิตมากกว่าคนปกติทั่วไป ประมาณ 2.5 เท่า โดยสาเหตุการเสียชีวิตส่วนใหญ่มาจากการติดเชื้อ การมีเลือดออกในทางเดินอาหาร และโรคหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งผลข้างเคียงจากยาที่ใช้รักษาก็มีส่วนที่เป็นสาเหตุด้วยเช่นกัน

ดูแลตนเองอย่างไร?

การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคข้อรูมาตอยด์คือ

  1. การรักษาจะต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์เฉพาะทางเท่านั้น ควรพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ ไม่ควรซื้อยากินเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ เพราะอาจได้ยาในขนาดสูงจนเป็นอันตรายหรือได้ชนิดยาไม่เหมาะสมที่จะช่วยลดความรุนแรงของโรคลงได้ ไม่ควรใช้ยาสมุนไพร ยาต้ม ยาลูกกลอน เพราะมักมียากลุ่มสเตียรอยด์ผสม ซึ่งทำให้การใช้ยาในช่วงแรกอาจดูเหมือนได้ผลดี แต่หลังจากนั้นจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาอีกมากมายดังกล่าวแล้ว
  2. การออกกำลังกายเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็น เพราะช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ช่วยให้ข้อเคลื่อนไหวได้เต็มองศาของข้อนั้น ช่วยลดความปวดและอาการอ่อนเพลีย โดยการออกกำลังกายในน้ำหรือว่ายน้ำเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด เพราะไม่ทำให้ข้อได้รับการกระทบกระเทือนจากการลงน้ำหนัก แต่อย่างไรก็ตาม ควรปรึกษาแพทย์หรือนักกายภาพบำบัดถึงวิธีการออกกำลังกายก่อนที่จะเริ่มทำจริงจัง เพราะจะได้ทราบถึงวิธีการออกกำลังกาย ท่าทางต่างๆที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคน
  3. ในแต่ละวัน ไม่ควรนั่งยืนหรืออยู่ในอิริยาบถใดๆที่ไม่เกิดการเคลื่อนไหวของข้อใดข้อหนึ่งนานๆ เพราะจะทำให้ข้อแข็ง ขาดความยืดหยุ่น เกิดข้อยึดได้เร็วขึ้น ควรขยับข้อต่างๆบ่อยๆ แต่ไม่ควรฝืนทำกับข้อที่กำลังมีอาการบวมและปวดอยู่
  4. หลีกเลี่ยงการกระทำที่ส่งผลให้ข้อได้รับความกระทบกระเทือน เช่น ไม่ยก ไม่แบกของหนัก ไม่กระโดดจากที่สูง หลีกเลี่ยงการทำงานที่ใช้สว่านขุดเจาะ พยายามใช้ข้อใหญ่ในการทำงานก่อน เช่น ถ้าต้องยกของก็พยายามใช้ข้อมือหรือข้อศอกในการออกแรง ใช้แรงจากข้อนิ้วให้น้อยที่สุด เป็นต้น
  5. ถ้ามีน้ำหนักตัวเกินหรือโรคอ้วนควรต้องลดน้ำหนัก จะช่วยลดการรับน้ำหนักของข้อเข่าข้อเท้าได้ แต่ต้องได้รับอาหารที่มีแคลเซียม วิตามินดี และวิตามินซีอย่างเพียงพอ เพื่อการบำรุงเนื้อเยื่อและกระดูก
  6. นอกจากการใช้ยาเพื่อลดอาการปวดบวมของข้อแล้ว การแช่น้ำอุ่น พาราฟินอุ่น หรือการแช่ในน้ำแข็ง การประคบเย็น (Ice pack) ก็สามารถช่วยลดอาการได้ การที่จะเลือก ใช้น้ำอุ่นหรือน้ำแข็งขึ้นกับแต่ละบุคคลว่าตอบสนองกับวิธีใดมากกว่ากัน

บุคคลทั่วไปควรพบแพทย์เมื่อไหร่?

บุคคลทั่วไปเมื่อมีอาการปวดบวมตามข้อและ/หรือมีข้อยึดแข็ง ที่เป็นมานานมากกว่า 2 สัปดาห์ขึ้นไป ควรพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย

ป้องกันโรคข้อรูมาตอยด์ได้อย่างไร?

เนื่องจากเป็นโรคยังไม่ทราบสาเหตุ ปัจจุบันจึงยังไม่มีวิธีป้องกันโรคข้อรูมาตอยด์ แต่จะเห็นได้ว่า ตัวโรคเองและผลข้างเคียงจากการรักษา อาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่าย ดังนั้น การป้องกันการติดเชื้อด้วยการรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) จึงสามารถช่วยลดโอกาสติดเชื้อให้น้อยลงได้

บรรณานุกรม

1. Peter E. Lipsky, rheumatoid arthritis, in Harrison’s Principles of Internal Medicine, 15th edition, Braunwald , Fauci, Kasper, Hauser, Longo, Jameson (eds). McGrawHill, 2001
2. https://www.emedicinehealth.com/rheumatoid_arthritis/article_em.htm [2020,Feb8]
3. http://emedicine.medscape.com/article/331715-overview#showall [2020,Feb8]