โรคปอด โรคของปอด โรคทางปอด (Pulmonary disease)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

โรคปอด หรือโรคของปอด หรือ โรคทางปอด (Pulmonary disease หรือ Lung disease) คือ โรค หรือภาวะผิดปกติที่เกิดขึ้นกับเนื้อเยื่อปอด หรือกับหลอดลม จึงส่งผลให้เกิดอาการต่างๆอันเนื่องมาจากการขาดออกซิเจน เพราะปอดมีหน้าที่ฟอกโลหิต กำจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ส่วนเกินในเลือดให้ออกจากร่างกายทางลมหายใจออก ในขณะเดียวกันก็นำออกซิเจนจากอากาศเข้าสู่เซลล์ต่างทั่วร่างกายผ่านทางเม็ดเลือดแดง (แนะนำ อ่านเพิ่มเติมรายละเอียดทางกายวิภาค และทางสรีรวิทยาของปอดได้ในบทความในเว็บ haamor.com เรื่อง ปอด: กายวิภาคปอดและสรีรวิทยา) ทั้งนี้ในบทความนี้ ของเรียกโรคของปอด/โรคทางปอดว่า “ โรคปอด”

โรคปอดมีสาเหตุเกิดได้จากหลากหลาย (ดังจะกล่าวต่อไปในหัวข้อ สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง) ซึ่งเป็นโรคที่พบได้บ่อยโรคหนึ่งทั่วโลกในทุกเชื้อชาติ พบได้ในทุกวัยตั้งแต่ทารกแรกเกิดไปจนถึงผู้สูงอายุ โดยโอกาสเกิดใกล้เคียงกันทั้งในผู้หญิงและในผู้ชาย

ในออสเตรเลีย พบโรคปอดได้ประมาณ 7 ล้านคนในคนอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป ในสหรัฐอเมริกาพบคนเป็นโรคหวัด (โรคหนึ่งที่จัดอยู่ในโรคทางปอด)ประมาณ 1พันล้านคนในทุกๆปี ในสหราชอาณาจักร 1 ใน 7 คนของประชากร มีการเจ็บป่วยด้วยโรคปอดเรื้อรัง เช่น โรคหืด โรคถุงลมโป่งพอง และโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง และเช่นเดียวกัน ในประเทศแคนาดา พบโรคปอดได้มากกว่า 10% ของผู้ป่วยที่จำเป็นต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาลและโรคปอดเป็นสาเหตุการเสียชีวิตประมาณ 16% ของผู้เสียชีวิตชาวแคนาดาทั้งหมด ส่วนในสหรัฐอเมริกา การเสียชีวิตจากโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD, Chronic obstructive pulmonary disease) จัดอยู่ในลำดับที่ 4 และจากโรคปอดอักเสบ /โรคปอดบวมอยู่ในลำดับที่ 6 ของสาเหตุการเสียชีวิตทั้งหมด

โรคปอดแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ โรคปอดเฉียบพลัน และโรคปอดเรื้อรัง โดย

ก. โรคปอดเฉียบพลัน มักเกิดจากการติดเชื้อ หรือจากอุบัติเหตุโดยตรงต่อปอด เป็นโรคที่มักรักษาได้หาย และใช้ระยะเวลาในการรักษาสั้นๆ ประมาณ 2-4 สัปดาห์ โดยโรคปอดเฉียบพลันที่พบได้บ่อย คือจากปอดติดเชื้อ (โรคปอดติดเชื้ออาจเรียกได้อีกชื่อว่า โรคติดเชื้อทางเดินหายใจตอนล่าง) ที่พบบ่อยคือ จากติดเชื้อไวรัส หรือติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น โรคหวัด โรคไข้หวัดใหญ่ โรคปอดอักเสบ โรคปอดบวม วัณโรค

และโรคปอดเฉียบพลันสาเหตุอื่นๆที่พบได้บ้าง เช่น โรคมีก้อนลิ่มเลือดเล็กๆหลุดเข้าอุดกั้นหลอดเลือดปอด/สิ่งหลุดอุดหลอดเลือดปอด (Pulmonary embolism) ภาวะปอดแตก/โรคโพรงเยื่อหุ้มปอดมีอากาศ (Pneumothorax)จากอุบัติเหตุ หรือจากการแตกของถุงลมพอง (Bleb)ที่มีขนาดใหญ่ในปอดโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือ โรคจากขึ้นที่สูง

ข. โรคปอดเรื้อรัง เป็นโรคที่รักษาไม่หาย เป็นเรื้อรัง เป็นๆหายๆ และมีการ กำเริบเป็นโรคปอดเฉียบพลันได้เป็นระยะๆ แต่สามารถรักษาควบคุมให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพชีวิต โดยโรคปอดเรื้อรังที่พบได้บ่อย เช่น โรคหืด โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคถุงลมโป่งพอง โรคหลอดลมพอง โรคมะเร็งปอด หรือโรคมะเร็งจากอวัยวะอื่นๆแพร่กระจายสู่ปอด เช่น จาก โรคมะเร็งเต้านม โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ โรคมะเร็งกระดูก โรคมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อน โรคมะเร็งผิวหนังเมลาโนมา หรือจาก โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก

โรคปอดมีสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงจากอะไร?

โรคของปอด

สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคปอด ได้แก่

  • การติดเชื้อ (เป็นสาเหตุพบบ่อยที่สุด)
    • ซึ่งที่พบบ่อย คือติดเชื้อไวรัส (เช่น จาก โรคหวัด โรคไข้หวัดใหญ่ โรคหัด โรคซาร์)
    • รองไปคือ ติดเชื้อแบคทีเรีย (เช่น วัณโรค โรคติดเชื้อไมโคพลาสมา)
    • และที่พบได้ในคนมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ คือ ปอดติดเชื้อรา (เช่น ในผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี หรือโรคเอดส์)
  • สูบบุหรี่ มักเป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงของ โรคถุงลมโป่งพอง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และโรคมะเร็งปอด
  • การอักเสบที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ เช่น โรคหืด
  • มีพังผืดในปอด เช่น จากการสูดดมสารพิษต่างๆ, ผลข้างเคียงจากการฉายรังสีรักษาในบริเวณปอด, ผลข้างเคียงจากยาเคมีบำบัดบางชนิด, หรือผลข้างเคียงจากยารักษาตรงเป้าบางชนิด
  • โรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเอง
  • มีลิ่มเลือดเล็กๆหลุดเข้าหลอดเลือดปอด ส่งผลให้ปอดขาดเลือด (Pulmonary embolism) เช่น ภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ
  • โรคมะเร็ง ทั้งจากโรคมะเร็งปอดซึ่งเป็นมะเร็งที่เกิดจากเนื้อเยื่อปอดเอง และโรคมะเร็งชนิดต่างๆทั่วร่างกายที่ในระยะแพร่กระจาย มักแพร่กระจายสู่ปอด ที่พบบ่อย เช่น จาก โรคมะเร็งเต้านม โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ โรคมะเร็งตับ โรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ และโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก เป็นต้น

โรคปอดมีอาการอย่างไร?

อาการของโรคปอดจากทุกสาเหตุจะคล้ายคลึงกัน โดยอาการที่พบบ่อย คือ

  • ไอ อาจไอมีเสมหะ หรือไม่มีเสมหะก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นกับสาเหตุ
  • ไอเป็นเลือด มีเสมหะปนเลือด เช่น ในโรคมะเร็งปอด หรือวัณโรค
  • หอบเหนื่อย หายใจลำบาก อาจหายใจมีเสียงผิดปกติ
  • อาจมีเจ็บหน้าอก ซึ่งมักจะเจ็บตรงตำแหน่งปอดที่เกิดโรค และไม่มีการเจ็บ/ปวดร้าวไปแขน ใบหน้า เหมือนในโรคหลอดเลือดหัวใจ หรือโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย
  • อาจมีไข้ มีได้ทั้งไข้สูง เช่น ปอดบวมจากติดเชื้อไวรัส หรือไข้ต่ำ เช่น จากวัณโรค
  • อาจมีน้ำในเนื้อเยื่อปอด ที่เรียกว่าปอดบวมน้ำ เช่น ในโรคจากขึ้นที่สูง หรือในโรคปอดบวม ส่งผลให้หายใจหอบเหนื่อย/หายใจลำบาก และไอ
  • อาจมีน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอด เช่น ในโรคมะเร็งปอด ส่งผลให้หายใจลำบาก
  • เมื่อเป็นมาก ร่างกายจะขาดออกซิเจน ส่งผลให้เกิดอาการเขียวคล้ำ มักเห็นได้ชัดที่ เล็บ นิ้ว มือ เท้า และริมฝีปาก
  • เมื่อเป็นมากจะส่งผลไปยังการทำงานของหัวใจ ก่อให้เกิดโรคหัวใจ และภาวะหัวใจวายได้
  • เมื่อเป็นมาก จะก่อให้เกิดภาวะหายใจล้มเหลว และเสียชีวิตในที่สุด

แพทย์วินิจฉัยโรคปอดได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคปอดได้จาก

  • การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น อาการ ประวัติการเจ็บป่วยทั้งในอดีตและในปัจจุบัน อาชีพ ประวัติใช้ยาต่างๆ
  • การตรวจร่างกาย
  • การตรวจฟังเสียงหายใจด้วยหูฟัง
  • การถ่ายภาพปอดด้วย เอกซเรย์
  • นอกจากนั้น อาจมีการตรวจสืบค้นอื่นๆ/การสืบค้นเพิ่มเติม ทั้งนี้ขึ้นกับอาการผู้ป่วย, สิ่งที่แพทย์ตรวจพบ, และดุลพินิจของแพทย์ เช่น
    • การตรวจเชื้อ และ/หรือการเพาะเชื้อจากเสมหะ
    • เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ภาพปอด
    • การตรวจเลือดเพื่อดูปริมาณก๊าซออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือดแดง (Arterial blood gas analysis)
    • การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจเมื่อสงสัยมีโรคหัวใจร่วมด้วย
    • การตรวจประสิทธิภาพการทำงานของปอด/การเป่าปอด (Pulmonary function test)
    • การส่องกล้องตรวจหลอดลม
    • และบางครั้งอาจมีการตัดชิ้นเนื้อจากเนื้อเยื่อปอดเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา

รักษาโรคปอดอย่างไร?

แนวทางการรักษาโรคปอด คือ การรักษาสาเหตุ และการรักษาประคับประคองตามอาการ

  • การรักษาสาเหตุ เช่น
    • การให้ยาปฏิชีวนะเมื่อปอดติดเชื้อแบคทีเรีย
    • หรือการให้ยาต้านไวรัสเมื่อปอดติดเชื้อไวรัส
    • การรักษาโรคหืด
    • และการรักษาโรคมะเร็งปอด เป็นต้น
  • การรักษาประคับประคองตามอาการ เช่น
    • ยาแก้ไอ
    • ยาขับเสมหะ
    • ยาละลายเสมหะ
    • ยาขยายหลอดลม
    • และการให้ออกซิเจน เป็นต้น

โรคปอดรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงไหม?

การพยากรณ์โรคหรือความรุนแรงของโรคปอดขึ้นกับสาเหตุ

  • ซึ่งมีทั้งสาเหตุที่รุนแรงไม่มาก มักรักษาได้หายเสมอ เช่น หลอดลมอักเสบเฉียบพลัน
  • หรือโรคที่รุนแรงปานกลาง เช่น ปอดอักเสบ ปอดบวม
  • หรือโรคที่รุนแรงมาก เช่น โรคมะเร็งปอด และโรคมะเร็งที่แพร่กระจายจากอวัยวะอื่นๆสู่ปอด

ในส่วน ผลข้างเคียงจากโรคปอด คือ

  • การเกิดโรคหัวใจ
  • และภาวะเนื้อเยื่อ/อวัยวะทั่วร่างกายขาดออกซิเจน ส่งผลให้เกิดภาวะหายใจล้มเหลว
  • ซึ่งทั้งสองโรค/ภาวะ เป็นเหตุให้เสียชีวิตได้

ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร? เมื่อไหร่ควรพบแพทย์ก่อนนัด?

การดูแลตนเองที่สำคัญที่สุด คือ เมื่อมีอาการดังกล่าวแล้วใน ‘หัวข้อ อาการฯ’

  • ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลภายใน 2-3 วันเมื่ออาการไม่ดีขึ้น
  • หรือรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลภายใน 1-2 วัน หรือ ฉุกเฉินขึ้นกับความรุนแรงของอาการ เมื่อ
    • อาการเลวลง
    • หรือมีอาการรุนแรง
    • หรือเมื่อเป็นผู้สูงอายุ เด็กอ่อน หญิงตั้งครรภ์ หรือมีภาวะภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ

ส่วนในกรณีเมื่อแพทย์วินิจฉัยแล้วว่า เป็นโรคปอด การดูแลตนเอง ได้แก่

  • ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • กินยาต่างๆตามแพทย์แนะนำให้ถูกต้อง ครบถ้วน ไม่ขาดยา
  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อสุขภาพแข็งแรงเพื่อลดโอกาสติดเชื้อ เพราะได้กล่าวแล้วว่า สาเหตุสำคัญของโรคปอดสาเหตุหนึ่ง คือ การติดเชื้อ
  • กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบถ้วนในทุกวัน เพื่อให้มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง
  • ดื่มน้ำสะอาดให้ได้อย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว (เมื่อแพทย์ไม่ได้แนะนำให้จำกัดน้ำดื่ม) เพื่อช่วยละลายเสมหะ
  • พักผ่อนให้เพียงพอ อยู่ในที่อากาศถ่ายเทได้ดี
  • เมื่อมีไข้ ควรหยุดงาน/โรงเรียน อยู่บ้าน จนกว่าไข้จะลงอย่างน้อย 24 ชั่วโมง เพื่อไม่แพร่กระจายเชื้อสู่ผู้อื่นทางการหายใจ ไอ จามเสมหะ
  • รู้จักใช้หน้ากากอนามัย
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ
  • รีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนแพทย์นัด หรือไปโรงพยาบาลฉุกเฉินขึ้นกับความรุนแรงของอาการเมื่อ
    • มีอาการผิดไปจากเดิม
    • อาการเลวลง
    • กังวลในอาการ
    • ไข้สูง และไข้ไม่ลงหลังดูแลตนเองภายใน 1-3 วัน ตามสุขภาพ ดังกล่าวแล้วในตอนต้น
    • ไอเป็นเลือด
    • มีอาการเขียวคล้ำ
    • หายใจหอบเหนื่อย/หายใจลำบาก
    • มีอาการสับสน โคม่า
    • มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น วิงเวียนศีรษะมาก ท้องผูก/ท้องเสียมาก ขึ้นผื่น
    • กังวลในอาการ

มีการตรวจคัดกรองโรคปอดไหม?

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีตรวจคัดกรองโรคปอดที่มีประสิทธิภาพซึ่งรวมถึงโรคมะเร็งปอดด้วย ดังนั้นการดูแลตนเองที่ดีที่สุด คือ การป้องกันโรคปอด โดยการป้องกันสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง ซึ่งที่สำคัญ คือ คือ ป้องกันการติดเชื้อ และการเลิกสูบบุหรี่ การไม่สูบบุหรี่

ป้องกันโรคปอดได้อย่างไร?

การป้องกันโรคปอด คือการป้องกันสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง ที่สำคัญ ได้แก่

  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อลดโอกาสติดเชื้อ
  • ไม่สูบบุหรี่ เลิกบุหรี่ เพื่อลดการทำลายเนื้อเยื่อปอดจากสารพิษในควัน บุหรี่
  • หลีกเลี่ยงการไปในที่แออัดในช่วงมีการระบาดของโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ
  • หลีกเลี่ยงฝุ่นละออง และควันพิษ เมื่อต้องทำงานในภาวะเช่นนั้น ต้องรู้จักใช้หน้ากากอนามัย หรือหน้ากากป้องกันควันพิษนั้นๆ
  • หลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับผู้ป่วยโรคปอดที่เกิดจากการติดเชื้อเพราะ โรคปอดที่เกิดจากการติดเชื้อจะแพร่กระจายได้ง่ายจากลมหายใจ การไอ จาม และจากเสมหะ
  • รู้จักใช้หน้ากากอนามัย
  • ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข

บรรณานุกรม

  1. https://www.lung.org/assets/documents/research/estimated-prevalence.pdf [2019,Dec8]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Respiratory_disease [2019,Dec8]
  3. https://medlineplus.gov/ency/article/000066.htm [2019,Dec8]