โรคกระเพาะอาหาร หรือ โรคของกระเพาะอาหาร (Stomach disease)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 13 มกราคม 2563
- Tweet
- บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?
- กระเพาะอาหารเป็นโรคอะไรได้บ้าง? มีสาเหตุจากอะไร?
- อะไรเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดโรคกระเพาะอาหาร ?
- โรคกระเพาะอาหารมีอาการอย่างไร?
- ควรพบแพทย์เมื่อไร?
- แพทย์วินิจฉัยโรคกระเพาะอาหารได้อย่างไร?
- มีแนวทางรักษาโรคกระเพาะอาหารอย่างไร?
- โรคกระเพาะอาหารรุนแรงไหม?
- ดูแลตนเองอย่างไร? พบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?
- มีการตรวจคัดกรองโรคกระเพาะอาหารไหม?
- ป้องกันโรคกระเพาะอาหารได้อย่างไร?
- บรรณานุกรม
- กายวิภาคและสรีรวิทยาระบบทางเดินอาหาร (Anatomy and physiology of alimentary system)
- แผลเปบติค (Peptic ulcer) / แผลในกระเพาะอาหาร (Gastric ulcer)
- กระเพาะอาหารอักเสบ (Gastritis)
- เลือดออกในทางเดินอาหาร (Gastrointestinal bleeding or GI bleeding)
- ลำไส้อุดตัน (Intestinal obstruction)
- ลำไส้ทะลุ (Gastrointestinal perforation)
- ไวรัสลงกระเพาะ ท้องเดินจากไวรัส (Viral gastroenteritis)
- โรคติดเชื้อเอชไพโลไร (H.pylori infection)
- ปวดท้อง (Abdominal pain)
- ท้องอืด ท้องเฟ้อ มีแก๊ส (Abdominal bloating)
- กรดไหลย้อน (Gastroesophageal reflux disease)
- คลื่นไส้ อาเจียน (Nausea and Vomiting)
- สะอึก (Hiccup)
บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?
โรคกระเพาะอาหาร หรือ โรคของกระเพาะอาหาร(Stomach disease)คือ โรค/ภาวะผิดปกติต่างๆที่เกิดกับเซลล์/เนื้อเยื่อกระเพาะอาหาร เช่น กระเพาะอาหารอักเสบ, โรคแผลเปบติค, กระเพาะอาหารติดเชื้อ, มะเร็งกระเพาะอาหาร,
ซึ่งอาการทั่วไปที่พบบ่อยของโรคกระเพาะอาหาร เช่น
- ปวดท้องในตำแหน่งช่องท้องบริเวณลิ้นปี่/ยอดอก/คือตำแหน่งที่อยู่ของกระเพาะอาหาร
- อาหารไม่ย่อย
- คลื่นไส้ อาเจียน เป็นต้น
ทั้งนี้:
- ชื่ออื่นในภาษาอังกฤษของโรคกระเพาะอาหาร คือ Stomach disorder, Gastric disease, Gastric problem
- สำหรับคนทั่วไป เมื่อกล่าวถึงโรคกระเพาะอาหาร มักหมายถึง โรคกระเพาะอาหารอักเสบ, หรือ โรคแผลในกระเพาะอาหาร, หรือ ภาวะอาหารไม่ย่อย, ท้องอืด, ท้องเฟ้อ
โรคกระเพาะอาหาร จัดเป็นโรคระบบทางเดินอาหาร เป็นโรคพบบ่อยทั่วโลก แต่ไม่มีรายงานในภาพรวมของสถิติเกิดที่ชัดเจน เพราะมักแยกรายงานเป็นเฉพาะแต่ละโรคย่อย(เช่น แผลในกระเพาะอาหาร, มะเร็งกระเพาะอาหาร) ทั้งนี้โรคกระเพาะอาหารพบทุกเพศ และทุกวัย ตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ
อนึ่ง:
- กระเพาะอาหาร(Stomach หรือ Gaster ในภาษากรีก) เป็นอวัยวะในระบบทางเดินอาหาร(แนะนำอ่านรายละเอียดในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ‘กายวิภาคระบบทางเดินอาหาร’) เป็นอวัยวะอยู่ตรงกลางช่องท้องตอนบนที่เรียกว่า ‘ยอดอก หรือ ลิ้นปี่’
- กระเพาะอาหาร มีลักษณะเป็นถุง ปลายเปิดทั้งหัวและท้าย มีรูปร่างค่อนข้างยาวและคล้าย ‘อักษร J ในภาษาอังกฤษ’ เมื่อยังไม่มีอาหารบรรจุ ยาวประมาณ 30 เซนติเมตร(ซม.) กว้างสุดประมาณ15ซม. บรรจุอาหารได้ประมาณ 1 ลิตร ส่วนบนของกระเพาะอาหารจะต่อขึ้นไปเป็นหลอดอาหาร และตอนล่างจะต่อไปเป็นลำไส้เล็กตอนต้น โดยตรงส่วนต่อเหล่านี้จะเป็นหูรูดเพื่อป้องกันการไหลย้อนกลับของอาหารในกระเพาะอาหาร
- หน้าที่/การทำงานของกระเพาะอาหาร คือ
- บีบตัว, สร้างน้ำย่อยอาหาร, และสร้างกรด/กรดเกลือในกระเพาะอาหาร เพื่อช่วยการย่อยอาหารเพื่อช่วยการดูดซึมสารอาหารของลำไส้เล็ก
- กรดในกระเพาะอาหารยังช่วยฆ่าเชื้อโรคที่ปนเปื้อนมาในอาหาร และช่วยควบคุมการเจริญเติบโตของแบคทีเรียในลำไส้เล็ก จึงช่วยลดโอกาสเกิด โรคติดเชื้อทางเดินอาหารลงได้
- นอกจากนี้ กรดในกระเพาะอาหาร ยังช่วยการดูดซึมของ วิตามิน, เกลือแร่/ แร่ธาตุ สำคัญต่างๆของลำไส้เล็ก เช่น ธาตุเหล็ก วิตามินซี วิตามินบี 12
กระเพาะอาหารเป็นโรคอะไรได้บ้าง? มีสาเหตุจากอะไร?
โรคของกระเพาะอาหารมีหลากหลายมาก ทั้งโรค/ภาวะผิดปกติที่พบบ่อย, หรือที่ พบได้เรื่อยๆไม่บ่อยมาก, หรือที่พบน้อย, ซึ่งในบทความนี้จะกล่าวถึงเฉพาะโรคที่พบบ่อยเท่านั้น
ก. กระเพาะอาหารอักเสบ : เป็นโรคพบบ่อย พบทุกอายุ เกิดจากเยื่อเมือกบุกระเพาะอาหารมีการอักเสบ โดยสาเหตุพบบ่อย เช่น
- การติดเชื้อ: ที่พบบ่อยคือ
- ติดเชื้อแบคทีเรีย: เช่น โรคติดเชื้อเอชไพโลไร (แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com)
- ติดเชื้อไวรัส: เช่น ไวรัสลงกระเพาะ (แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com)
- การอักเสบที่ไม่ได้เกิดจากติดเชื้อ เช่น
- จากการบริโภคสารเคมีต่างๆ โดยเฉพาะยาในกลุ่มยาแก้อักเสบ/ ยาแก้ปวดชนิด เอ็นเสด /NSAIDs (แนะนำอ่านรายละเอียดของยากลุ่มนี้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ยาฆ่าเชื้อ -ยาแก้อักเสบ, และเรื่อง เอ็นเสด ยาเอนเสด)
- การได้รับการฉายรังสีรักษาบริเวณกระเพาะอาหารจากการรักษาโรคมะเร็งที่เกิดในช่องท้องตอนบนส่วนที่อยู่เหนือสะดือ
อนึ่ง แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ‘กระเพาะอาหารอักเสบ’ ที่รวมถึง สาเหตุ อาการ วิธีวินิจฉัย การรักษา การพยากรณ์โรค และการดูแลตนเอง
ข. โรคกรดไหลย้อน: เป็นโรคพบบ่อยในทุกอายุ คือโรคที่เกิดจากกรดของกระเพาะอาหารไหลย้อนเข้าหลอดอาหาร และ/หรือช่องคอ จนทำให้เกิดการอักเสบระคายเคืองเรื้อรังต่อเยื่อเมือกของหลอดอาหารและของช่องคอ (แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ‘กรดไหลย้อน’ ที่รวมถึง สาเหตุ อาการ วิธีวินิจฉัย การรักษา การพยากรณ์โรค และการดูแลตนเอง)
ค. แผลในกระเพาะอาหาร/ แผลเปบติด: เป็นโรคพบบ่อย มักพบในคนวัยทำงาน มีสาเหตุหลากหลายที่ส่งผลให้กระเพาะอาหารหลั่งน้ำย่อยและกรด/กรด/กรดเกลือมากเกินปกติต่อเนื่อง จึงส่งผลให้เกิดแผลกับเยื่อเมือกกระเพาะอาหารและเยื่อเมือกของลำไส้เล็กตอนต้น (แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ‘แผลในกระเพาะอาหาร ’ ที่รวมถึง สาเหตุ อาการ วิธีวินิจฉัย การรักษา การพยากรณ์โรค และการดูแลตนเอง)
ง. เลือดออกในกระเพาะอาหาร: เป็นภาวะที่พบบ่อย พบทุกอายุ แต่มักพบในผู้ใหญ่ ผู้หญิง ผู้ชายพบโอกาสเกิดเท่ากัน มักมีสาเหตุหลากหลาย ที่พบบบ่อยคือ
- ผลข้างเคียงจากยาแก้ปวด/ ยาแก้อักเสบ กลุ่มNSAIDs
- แผลเปบติค/ แผลในกระเพาะอาหาร
- มะเร็งกระเพาะอาหาร
ทั้งนี้ ผู้ป่วยมักมีอาการซีด/ โรคซีดเรื้อรัง, และ/หรือถ่ายอุจจาระสีดำ/อุจจาระเป็นเลือด (แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ‘เลือดออกในทางเดินอาหาร ’ ที่รวมถึง สาเหตุ อาการ วิธีวินิจฉัย การรักษา การพยากรณ์โรค และการดูแลตนเอง
จ. กระเพาะอาหารอุดตัน: คือภาวะที่ช่องทางเดินในกระเพาะอาหารอุดตัน อาจเกิดจากก้อนเนื้อ เช่น ในโรคมะเร็ง หรือเกิดจากพังผืดที่เกิดจากแผลเปบติดเรื้อรังที่ก่อให้ปลายกระเพาะอาหารส่วนต่อกับลำไส้เล็กตีบแคบ เป็นโรคพบได้เรื่อยๆ พบทุกอายุ แต่มักพบในผู้ใหญ่ อาการสำคัญคือ จะปวดท้องมาก ร่วมกับการอาเจียนทุกครั้งที่รับประทาน(แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ‘ลำไส้อุดตัน’ ที่รวมถึง สาเหตุ อาการ วิธีวินิจฉัย การรักษา การพยากรณ์โรค และการดูแลตนเอง)
ฉ. กระเพาะอาหารทะลุ: เป็นโรคพบน้อย พบทุกอายุ สาเหตุพบบ่อยคือจาก แผลเปบติค, อุบัติเหตุที่กระเพาะอาหาร เช่น ถูกยิง ถูกแทง หรือกินสิ่งแปลกปลอมที่มีคม ฯลฯ (แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ‘ลำไส้ทะลุ’ ที่รวมถึง สาเหตุ อาการ วิธีวินิจฉัย การรักษา การพยากรณ์โรค และการดูแลตนเอง)
ช. โรคอัมพฤกษ์กระเพาะอาหาร/กระเพาะอาหารบีบตัวช้า/กระเพาะอาหารอ่อนแรง(Gastroparesis): เป็นโรคพบน้อย มักพบในผู้ใหญ่ พบในผู้หญิงสูงกว่าในผู้ชาย เกิดจากกระเพาะอาหารบีบตัวได้น้อยกว่าปกติ ส่งผลให้เกิดอาการเรื้อรังของ ปวดท้อง แน่นท้อง คลื่นไส้อาเจียน ฯลฯ (แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ‘ โรคอัมพฤกษ์กระเพาะอาหาร’ ที่รวมถึง สาเหตุ อาการ วิธีวินิจฉัย การรักษา การพยากรณ์โรค และการดูแลตนเอง)
ซ. ภาวะไร้กรดเกลือ: เป็นโรค/ภาวะพบน้อย พบทุกวัย แต่มักพบในผู้ใหญ่ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ มีสาเหตุได้หลากหลายที่ส่งผลให้กระเพาะอาหารสร้างกรดเกลือได้น้อยลงจนถึงไม่สามารถสร้างกรดเกลือได้ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดอาการอาหารไม่ย่อย และร่างกายขาดสารอาหารจากการดูดซึมอาหารได้ลดลงเพราะกระเพาะย่อยอาหารไม่ได้ (แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ‘ภาวะไร้กรดเกลือ’ ที่รวมถึง สาเหตุ อาการ วิธีวินิจฉัย การรักษา การพยากรณ์โรค และการดูแลตนเอง)
ฌ. เนื้องอก: เนื้องอกกระเพาะอาหาร เป็นโรคพบน้อย พบได้ทุกอายุ แต่มักพบในวัยผู้ใหญ่ และพบทุกเพศใกล้เคียงกัน เช่น เนื้องอกคาร์ซินอยด์ (แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com)
ญ. โรคมะเร็ง: โรคมะเร็งต่างๆของกระเพาะอาหาร เป็นโรคพบไม่บ่อยนัก มักพบในผู้ใหญ่ ที่พบบ่อยกว่าชนิดอื่นๆ มี2ชนิดย่อย คือ
- มะเร็งกระเพาะอาหาร: เป็นมะเร็งของเยื่อเมือกบุภายในกระเพาะอาหาร ซึ่งชนิดพบบ่อยที่สุด คือ มะเร็งคาร์ซิโนมา ชนิด Adenocarcinoma
- มะเร็งต่อมน้ำเหลืองกระเพาะอาหาร: เป็นมะเร็งชนิดพบบ่อยรองลงมา เกิดจากเซลล์เนื้อเยื่อต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ในเยื่อเมือกของกระเพาะอาหาร
อนึ่ง แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ‘มะเร็งกระเพาะอาหาร’ และเรื่อง ’มะเร็งต่อมน้ำเหลือง’ ที่รวมถึง สาเหตุ อาการ วิธีวินิจฉัย การรักษา การพยากรณ์โรค และการดูแลตนเอง
อะไรเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดโรคกระเพาะอาหาร ?
ปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคกระเพาะอาหารอาจแตกต่างกันไปตามแต่ละสาเหตุของแต่ละโรคย่อยๆของกระเพาะอาหาร (แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในแต่ละเรื่องที่เป็นสาเหตุได้ในเว็บ haamor.com)
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคกระเพาะอาหารโดยทั่วไป ได้แก่
- อายุ: ยิ่งสูงอายุโอกาสที่เซลล์กระเพาะอาหารจะเสื่อมตามธรรมชาติเช่นเดียวกับเซลล์ทุกอวัยวะก็ยิ่งสูงขึ้น จึงเกิดโรคต่างๆได้สูงขึ้น เช่น มะเร็งกระเพาะอาหาร, ภาวะไร้กรดเกลือ, เป็นต้น
- สูบบุหรี่: ควันพิษของบุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคกระเพาะอาหารได้หลายโรค เช่น มะเร็งกระเพาะอาหาร, โรคกรดไหลย้อน, โรคแผลเปบติค
- การดื่มสุราเรื้อรัง: เป็นปัจจัยเสี่ยงเกิด มะเร็งกระเพาะอาหาร, กรดไหลย้อน, แผลเปบติค, และกระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรัง, เพราะแอลกอฮอล์ก่อการระคายเคืองเรื้อรังต่อเยื่อเมือกของกระเพาะอาหาร
- ความเครียด: จะส่งผลให้กระเพาะอาหารหลั่งกรดเกลือสูงต่อเนื่อง จึงเป็นสาเหตุให้เกิดกระเพาะอาหารอักเสบและแผลเปบติคได้ ที่รวมถึงภาวะเลือดออกในกระเพาะอาหาร
- ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด: เช่น ยาแก้ปวด/ ยาแก้อักเสบกลุ่มอ็นเสด/ NSAIDs,
ยาเสตียรอยด์, ที่จะส่งผลต่อเยื่อเมือกของกระเพาะอาหารส่งผลให้เกิดการอักเสบ และเกิดเป็นแผล ที่รวมถึงมีเลือดออกจากแผลได้ง่าย(ภาวะเลือดออกในทางเดินอาหาร)
- ผู้ป่วยโรคติดเชื้อเอชไพโลไร: ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงเกิดมะเร็งกระเพาะอาหารได้
- ผู้ป่วยโรคออโตอิมมูน: ที่จะส่งผลให้กระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรังและจนอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงเกิดมะเร็งกระเพาะอาหารได้
โรคกระเพาะอาหารมีอาการอย่างไร?
อาการของโรคของกระเพาะอาหารจะแตกต่างกัน ขึ้นกับแต่ละสาเหตุ (แนะนำอ่านเพิ่มเติมรายละเอียดของโรคที่เป็นสาเหตุได้ในเว็บ haamor.com เช่น กรดไหลย้อน, แผลเปบติค, มะเร็งกระเพาะอาหาร, ภาวะไร้กรดเกลือ ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม อาการทั่วไปที่ทำให้แพทย์นึกถึงโรคของกระเพาะอาหาร เช่น
- ปวดท้องในตำแหน่งของกระเพาะอาหาร คือ ช่องท้องส่วนที่เรียกว่า ยอดอก/ลิ้นปี่
- แน่นท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ
- คลื่นไส้ อาจมีอาเจียนร่วมด้วย
- อาจมีอาเจียนเป็นเลือด
- เรอบ่อย
- อาการสะอึกบ่อย(URL ในเว็บ haamor.com คือ สะอึก2)
- อุจจาระดำเหมือนยางมะตอย(อาการเลือดออกจากกระเพาะอาหาร)
- อาจคลำได้ก้อนเนื้อบริเวณยอดอก
ควรพบแพทย์เมื่อไร?
เมื่อมีอาการดังกล่าวใน ‘หัวข้อ อาการฯ’ และอาการไม่ดีขึ้นหลังดูแลตนเอง หรืออาการเลวลง หรืออาการแย่ตั้งแต่แรก ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาล
แพทย์วินิจฉัยโรคกระเพาะอาหารได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยโรคกระเพาะอาหาร ได้จาก
- การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น อาการผู้ป่วย ประวัติการบริโภคต่างๆ ลักษณะของอุจจาระ โรคประจำตัว การใช้ยาต่างๆ
- การตรวจร่างกาย ที่รวมถึงการตรวจคลำช่องท้อง และการใช้หูฟังฟังเสียงการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหาร
- การการตรวจเพื่อการสืบค้นเพิ่มเติม ตามอาการผู้ป่วย และดุลพินิจของแพทย์ เช่น
- ตรวจเลือดดูค่าต่างๆ เช่น ซีบีซี/CBC, ค่าน้ำย่อยอาหาร, สารภูมิต้านทาน, สารก่อภูมิต้านทาน
- การตรวจน้ำย่อย และค่า pHของกรดเกลือ
- การตรวจภาพกระเพาะอาหาร/ช่องท้องด้วย อัลตราซาวด์ และ/หรือ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์/ ซีทีสแกน
- การส่องกล้องกระเพาะอาหาร ที่อาจร่วมกับการตัดชิ้นเนื้อที่รอยโรคเพื่อ การตรวจทางพยาธิวิทยา
มีแนวทางรักษาโรคกระเพาะอาหารอย่างไร?
แนวทางการรักษาโรคกระเพาะอาหาร คือ การรักษาสาเหตุ, การปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต, และการรักษาประคับประคองตามอาการ
ก. การรักษาสาเหตุ: ซึ่งจะแตกต่างกันในแต่ละโรคที่เป็นสาเหตุ ที่รวมถึง ความรุนแรงของการ และการตอบสนองต่อวิธีรักษาในแต่ละผู้ป่วย (แนะนำอ่านรายละเอียดที่ร่วมถึงวิธีรักษาแต่ละโรคได้จากเว็บ haamor.com) อย่างไรก็ตาม การรักษาสาเหตุ ต้องใช้ควบคู่ไปกับการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตเสมอจึงจะเกิดประสิทธิผลทางการรักษา
ซึ่งทั่วไปการรักษาสาเหตุ เช่น
- การรักษาทางยา: ที่มีทั้ง ยากิน และยาฉีด ขึ้นกับความรุนแรงของอาการ
- การรักษาด้วยการผ่าตัด เช่น
- การผ่าตัดก้อนเนื้อ เช่นในโรคเนื้องอกคาร์ซินอยด์
- การผ่าตัดกระเพาะอาหาร กรณี โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร
- การผ่าตัดในโรคที่ไม่ใช่เนื้องอก หรือมะเร็ง กรณีผู้ป่วย มีอาการรุนแรง และดื้อต่อวิธีรักษาวิธีอื่นๆ ที่อาจเป็น การผ่าตัดเฉพาะรอยโรค(เช่น โรคแผลในกระเพาะอาหาร เป็นต้น), หรือตัดออกทั้งกระเพาะอาหาร(เช่น กรณีกระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรังสาเหตุจากโรคออโตอิมูน ที่กระเพาะฯเสียหายเป็นพังผืดทั้งกระเพาะฯและอาจกลายพันธ์เป็นมะเร็งกระเพาะอาหารได้)
ข. การปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต: เป็นการรักษาร่วมกับวิธีรักษาในทุกๆสาเหตุ เป็นการรักษาหลักที่สำคัญ/ที่จำเป็นสำหรับทุกผู้ป่วย ได้แก่ การหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆโดยเฉพาะในเรื่องการบริโภคเพื่อช่วยลดการอักเสบ/การระคายเคือง และเพื่อให้กระเพาะอาหารทำงานได้พอเหมาะกับประสิทธิภาพที่ยังคงเหลืออยู่ที่จะช่วยให้กระเพาะอาหารฟื้นตัวได้เร็วขึ้น และยังช่วยลดอาการต่างๆทีเกิดจากกระเพาะอาหารทำงานลดลง เช่น ท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย เรอ สะอึก-อาการสะอึก ซึ่งการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต ที่สำคัญ ได้แก่
- เลิกบุหรี่ ไม่สูบบุหรี่
- เลิกสุรา ไม่ดื่มสุรา
- สังเกตอาการทุกครั้งในการบริโภค เพื่อปรับให้เหมาะสมกับสภาพการทำงานของกระเพาะอาหาร ได้แก่
- ประเภทอาหารที่บริโภคที่รวมถึงเครื่องดื่มต่างๆ เช่น กาเฟอีน อาหารรสจัด อาหารไขมันสูง อาหารย่อยยาก
- ปริมาณอาหารในแต่ละครั้ง
- เมื่อซื้อยาใช้เอง ควรปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนเสมอ และควรรู้ถึงผลข้างเคียงของยาต่อกระเพาะอาหาร
- รักษาสุขภาพจิต เช่น รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน(สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อให้มีสุขภาพจิตแข็งแรง ไม่ให้เกิดความเครียดที่เรื้อรัง รุนแรง
ค. การรักษาตามอาการ: ได้แก่ การรักษาตามแต่ละอาการของแต่ละผู้ป่วย เช่น
- ยาแก้ปวดท้อง
- ยาแก้คลื่นไส้อาเจียน
- ยาแก้สะอึก
โรคกระเพาะอาหารรุนแรงไหม?
ความรุนแรง/การพยากรณ์โรคของโรคกระเพาะอาหาร ขึ้นกับสาเหตุ อายุ สุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย เป็นหลักสำคัญที่สุด ได้แก่
- เป็นโรคทั่วไปที่ไม่รุนแรง แพทย์ และ/หรือผู้ป่วย รักษาควบคุมอาการ และป้องกันการเกิดอาการได้ด้วยการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตเพียงวิธีเดียวดังได้กล่าวใน ‘หัวข้อ วิธีรักษาฯ หัวข้อย่อย การปรับพฤติกรรมฯ’ เช่น ท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย เรอ สะอึก (สะอึก2)
- เป็นโรครุนแรงน้อย รักษาควบคุมอาการได้เสมอด้วยการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต ร่วมกับการใช้ยาชนิดไม่รุนแรง: เช่น โรคกรดไหลย้อนในระยะเริ่มต้น, กระเพาะอาหารอักเสบในระยะยังไม่เกิดแผลในกระเพาะอาหาร
- เป็นโรครุนแรงแต่ยังรักษาควบคุมโรคได้: เช่น โรคกลุ่มที่ก่อให้เกิดอาการทางกระเพาะอาหารที่รุนแรงและเรื้อรัง เช่น ภาวะไร้กรดเกลือ
- โรคที่รุนแรงแรงมากจนอาจเป็นสาเหตุให้เสียชีวิต/ ตาย: เช่น
- มะเร็งกระเพาะอาหาร ที่รวมถึงมะเร็งต่อมน้ำเหลืองกระเพาะอาหาร
- โรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยงเกิดมะเร็งกระเพาะอาหารได้ เช่น กระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรังสาเหตุจากโรคออโตอิมมูน
ดูแลตนเองอย่างไร? พบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?
การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคกระเพาะอาหาร ที่สำคัญ ได้แก่
- ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ ที่รวมถึงการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต
ซึ่งทั่วไปดังได้กล่าวใน 'หัวข้อ การรักษาฯ'
- กินยา/ใช้ยาต่างๆที่แพทย์สั่งให้ถูกต้อง ไม่หยุดยาเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน
- พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ
- พบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนแพทย์นัด เมื่อ
- อาการต่างๆเลวลง และ/หรือมีอาการใหม่ๆที่ไม่เคยมีมาก่อน
- มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนส่งผลต่อการชีวิตประจำวัน เช่น ขึ้นผื่น วิงเวียนศีรษะมากต่อเนื่อง ท้องผูกหรือท้องเสียต่อเนื่อง
- กังวลในอาการ
มีการตรวจคัดกรองโรคกระเพาะอาหารไหม?
ปัจจุบันยังไม่มีวิธีตรวจคัดกรองให้พบโรคกระเพาะอาหารตั้งแต่ยังไม่มีอาการที่รวมถึงการตรวจคัดกรองมะเร็งกระเพาะอาหาร ดังนั้น การดูแลตนเองที่ดีที่สุดคือ เมื่อมีอาการผิดปกติดังกล่าวใน ’หัวข้ออาการฯ’ และอาการไม่ดีขึ้นหลังดูแลตนเอง หรือเมื่อมีอาการเลวลง หรือ อาการแย่ตั้งแต่แรก ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเสมอ
ป้องกันโรคกระเพาะอาหารได้อย่างไร?
การป้องกันการเกิดโรคของกระเพาะอาหารให้ได้เต็มร้อย เป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้ แต่สามารถลดปัจจัยเสี่ยงการเกิดโรคลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งได้แก่
- การหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงเกิดโรค/ภาวะผิดปกติต่างๆ ดังกล่าวใน ‘หัวข้อ ปัจจัยเสี่ยงฯ’
บรรณานุกรม
- R.H. Hunt. Et al. Gut 2015;64:1650-1668
- https://en.wikipedia.org/wiki/Stomach [2020,Jan4]
- https://www.encyclopedia.com/medicine/anatomy-and-physiology/anatomy-and-physiology/stomach [2020,Jan4]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Stomach_disease [2020,Jan4]
- https://www.niddk.nih.gov/health-information/digestive-diseases/smoking-digestive-system [2020,Jan4]