โดพามีน (Dopamine)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 9 ธันวาคม 2563
- Tweet
- บทนำ
- ยาโดพามีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ยาโดพามีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาโดพามีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาโดพามีนมีขนาดและวิธีใช้อย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- ยาโดพามีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาโดพามีนอย่างไร?
- ยาโดพามีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาโดพามีนอย่างไร?
- ยาโดพามีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ภาวะหัวใจล้มเหลว ภาวะหัวใจวาย (Heart failure)
- ไตวาย ไตล้มเหลว (Renal failure)
- ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ (Sepsis) ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด (Septicemia)
- โรคหลอดเลือดแดงแข็ง โรคท่อเลือดแดงและหลอดเลือดแดงแข็ง (Atherosclerosis)
- ความดันโลหิตต่ำ (Hypotension)
- โรคเรเนาด์ (Raynaud disease) หรือ ปรากฏการณ์เรเนาด์ (Raynaud phenomenon)
- โรคเบเซ็ท (Behcet’s disease) หรือกลุ่มอาการเบเซ็ท (Behcet’s syndrome)
ทั่วไป
โดพามีน (Dopamine) เป็นสารสื่อประสาทในสมอง ทำหน้าที่ในการควบคุมการทำงานต่างๆของร่างกาย เช่น การเคลื่อนไหวของร่างกาย, เกี่ยวข้องกับกระบวนการหลั่งน้ำนมของมารดา, กระบวนการที่ทำให้เกิดการคลื่นไส้, รวมถึงอารมณ์ทางเพศ เป็นต้น โดยโดพามีนไม่สามารถหลั่งผ่านจากสมองแล้วเข้าสู่กระแสเลือดได้ ดังนั้น ร่างกายจึงมีกลไกในการสร้างสาร โดพามีนจากเซลล์ประสาทของร่างกายที่อยู่นอกสมองในรูปโครงสร้างโดพามีนซัลเฟต (Dopamine sulphate) ซึ่งมีหน้าที่และอิทธิพลต่อระบบการทำงานของร่างกาย เช่น ระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรค, การทำงานของไต, การทำงานของตับอ่อน, และเกี่ยวโยงไปจนถึงการทำงานของระบบทางเดินอาหาร, ตลอดจนลดการหลั่งของฮอร์โมนอินซูลิน ฯลฯ
สำหรับด้านเภสัชกรรม สารโดพามีนถูกสังเคราะห์ขึ้นในปี ค.ศ. 1910 (พ.ศ. 2453) ด้วยวัตถุประสงค์การรักษาโรคของวงการแพทย์ เช่น ภาวะหัวใจล้มเหลว
ประเทศไทยโดยกระทรวงสาธารณสุขได้บรรจุยาโดพามีนไฮโดรคลอไรด์(Dopamine hydrochloride หรือ Dopamine HCl)ชนิดฉีดลงในบัญชียาหลักแห่งชาติ จัดเป็นยาที่ต้องใช้ในสถานพยาบาลเท่านั้น ไม่มีจำหน่ายในร้านขายยาทั่วไป นอกจากตัวแทนจำหน่ายขนาดใหญ่ๆเท่านั้น
ยาโดพามีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาโดพามีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- เพิ่มปริมาณเลือดที่ออกจากหัวใจไปหล่อเลี้ยงอวัยวะต่างๆของร่างกายได้อย่างมีประสิทธิ ภาพ
- ใช้รักษาภาวะความดันโลหิตต่ำเนื่องจากภาวะช็อกอันมีสาเหตุจาก หัวใจหยุดเต้น, มีบาดแผลสาหัส, ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด (ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ), การผ่าตัด, ภาวะหัวใจล้มเหลว, ภาวะไตวาย (ไตล้มเหลว)
ยาโดพามีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาโดพามีนคือ การให้ยาโดพามีนในขนาดต่ำจะทำให้หลอดเลือดบริเวณไตขยายตัว หากเพิ่มปริมาณยาในระดับสูงมากขึ้นจะกระตุ้นให้หัวใจมีแรงบีบตัว พร้อมกับอัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้น นอกจากนั้น ความเร็วในการให้ยาทางหลอดเลือดดำ (เช่น ให้ปริมาณยาทั้งหมดที่แพทย์ต้องการใน 1 นาทีหรือใน 1 ชั่วโมง เป็นต้น) ก็ส่งผลต่อหลอดเลือดได้เช่นเดียวกัน กล่าวคือ
- การให้ยานี้ด้วยอัตราเร็วต่ำ จะทำให้หลอดเลือดบริเวณไตขยายตัว
- การให้ยานี้ในอัตราเร็วสูง จะทำให้หลอดเลือดในกล้ามเนื้อลายหดตัว และส่งผลให้มีความดันโลหิตสูงขึ้น
ดังนั้น ด้วยเหตุผลทั้งหมดดังกล่าวข้างต้น จึงทำให้โดพามีนมีฤทธิ์ในการรักษาตามสรรพคุณ
ยาโดพามีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาโดพามีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเฉพาะเป็นยาฉีด เช่น
- รูปแบบยาฉีด ขนาด 2.5 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
- รูปแบบยาฉีด ขนาด 50, 200 และ 250 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร
- รูปแบบยาฉีด ขนาด 200 และ 250 มิลลิกรัม/10 มิลลิลิตร
- รูปแบบยาฉีด ขนาด 500 มิลลิกรัม/10 มิลลิลิตร
ยาโดพามีนมีขนาดและวิธีใช้อย่างไร?
ยาโดพามีนมีขนาดและวิธีใช้ เช่น
- ผู้ใหญ่: เช่น หยดเข้าเส้นเลือด/หลอดเลือดดำ 2 - 5 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/นาที จากนั้น แพทย์อาจเพิ่มเป็น 5 - 10 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/นาที หากผู้ป่วยมีอาการของโรครุนแรง แพทย์อาจต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 20 - 50 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/นาที
- เด็ก: ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา
*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาโดพามีน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่น/หายใจติดขัด/ หายใจลำบาก /หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยา หรืออาหารเสริม อะไรอยู่ เพราะยาโดพามีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆและ/หรือกับอาหารเสริมที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
ยาโดพามีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาโดพามีนอาจก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (อาการข้างเคียง/ผลข้างเคียง) เช่น
- คลื่นไส้-อาเจียน
- หัวใจเต้นเร็ว หรือ หัวใจเต้นช้า
- ชีพจรเต้นผิดปกติ
- เจ็บหน้าอก
- ความดันโลหิตต่ำ หรือ ความดันโลหิตสูง
- ปวดหัว
- หายใจลำบาก
มีข้อควรระวังการใช้ยาโดพามีนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาโดพามีน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะ และภาวะหัวใจห้องล่างเต้นแผ่วระรัว
- ระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่มีภาวะอุดตันของหลอดเลือดแดงในบริเวณแขนขา และผู้ป่วยด้วยโรคหลอดเลือดแดงแข็ง
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะขาดน้ำและมีปริมาตรของเลือดน้อย
- ระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วย โรคเรเนาด์ ( Raynaud’s disease) ซึ่งเป็นภาวะผิดปกติของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงนิ้วมือนิ้วเท้าหดตัวอย่างมาก
- ระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วย โรคเบเซ็ท (Behcet’s syndrome) ซึ่งเป็นภาวะอักเสบของหลอดเลือดแดงและหลอดเลือดดำ
- ระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยหลอดเลือดแดงอักเสบ/โรคหลอดเลือดอักเสบ อันมีสาเหตุจากโรคเบาหวาน (Diabetic endarteritis)
- ระวังการใช้ยานี้กับหญิงมีครรภ์
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุก ชนิด (รวมยาโดพามีนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด เสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ยาโดพามีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาโดพามีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาโดพามีน ร่วมกับยาสลบที่มีสารไฮโดรคาร์บอน (Hydrocarbon) เป็นส่วนประกอบสำคัญ เช่นยา Cyclopropane อาจก่อให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจทำงานผิดปกติ โดยมีอาการของหัวใจเต้นผิดจังหวะ
- การใช้ยาโดพามีน ร่วมกับยากันชักยาต้านชัก เช่นยา Phenytoin สามารถทำให้ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นช้าลง มีอาการปวดหัว และวิงเวียนร่วมด้วย จึงควรต้องแจ้งแพทย์ พยาบาล เภสัชกร ให้ทราบว่า ผู้ป่วยเคยได้รับยาอะไรมาก่อนที่จะใช้ยาโดพามีน
- การใช้ยาโดพามีน ร่วมกับยาต้านซึมเศร้า เช่นยา Amitriptyline ผู้ป่วยต้องได้รับการควบ คุมและตรวจสอบความดันโลหิตอย่างใกล้ชิด หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะเป็นผู้ปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมต่อสภาพร่างกายของผู้ป่วย
- การใช้ยาโดพามีนสามารถรบกวนและก่อความคลาดเคลื่อนต่อผลการตรวจปริมาณ ฮอร์โมนบางตัวในเลือด ด้วยยาโดพามีนจะไปกดการหลั่งฮอร์โมนดังกล่าว เช่น Thyroid hormone (ฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์), Growth hormone (ฮอร์โมนเพื่อการเจริญเติบโต, ฮอร์โมนจากต่อมใต้สมอง), และ Prolactin hormone (ฮอร์โมนเกี่ยวกับการหลั่งน้ำนม)
ควรเก็บรักษายาโดพามีนอย่างไร
ควรเก็บยาโดพามีน เช่น
- เก็บยาที่อุณหภูมิ 20 - 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
- เก็บยาให้พ้นแสง/แสงแดด และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ยาโดพามีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาโดพามีน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
DBL Dopamine (ดีบีแอล โดพามีน) | Hospira |
Dopamex (โดพาเม็กซ์) | Biolab |
Dopamine HCl Hospira (โดพามีน ไฮโดรคลอไรด์ ฮอสพิรา) | Hospira |
Dopin (โดพิน) | Union Drug |
Inopin (ไอโนพิน) | Siam Bheasach |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Dopamine [2020,Dec5]
- https://www.drugs.com/dopamine.html [2020,Dec5]
- http://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=dopamine [2020,Dec5]
- http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fUSA%2fdrug%2finfo%2fdopamine%2f [2020,Dec5]
- http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fThailand%2fdrug%2finfo%2fInopin%2f%3ftype%3dbrief [2020,Dec5]
- http://vatchainan2.blogspot.com/2011/05/raynauds-disease-causes-2.html [2020,Dec5]
- http://vatchainan2.blogspot.com/2011/05/vasculitis-symptoms-by-type-2.html [2020,Dec5]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/dopamine-index.html?filter=3&generic_only= [2020,Dec5]
- https://www.medicinenet.com/dopamine-injection/article.htm [2020,Dec5]