โซเดียมในเลือดต่ำ (Hyponatremia)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 30 ตุลาคม 2558
- Tweet
- ท้องเสีย (Diarrhea)
- คลื่นไส้ อาเจียน (Nausea and Vomiting)
- เนื้องอก (Tumor)
- มะเร็ง (Cancer)
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- การออกกำลังกาย: แนวทางการออกกำลังกายเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี (Exercise concepts for healthy lifestyle)
โซเดียมในเลือดต่ำ (Hyponatremia) คือ ภาวะที่ร่างกายมีเกลือแร่โซเดียมในเลือดต่ำกว่า 135 mmol/L (Millimoles per Liter) ซึ่งค่าปกติจะอยู่ในช่วงประมาณ 135 - 145 mmol/L และจัดว่าอันตรายเมื่อมีค่าต่ำกว่า 125 mEq/L เพราะอาจส่งผลให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว ตับล้มเหลว ไตล้มเหลว ที่อาจส่งผลให้เสียชีวิต (ตาย) ได้
*อนึ่ง ค่าการตรวจเลือดของแต่ละห้องปฏิบัติการแตกต่างกันได้แต่ไม่มากนัก
ภาวะโซเดียมในเลือดต่ำพบได้บ่อย และพบได้ในทุกเพศและในทุกวัย
สาเหตุ
สาเหตุที่ทำให้เกิดโซเดียมในเลือดต่ำมีได้หลากหลายที่พบบ่อยเช่น
- ผลข้างเคียงจากยาบางชนิดเช่น ยาขับปัสสาวะ ยาต้านเศร้า ยาแก้ปวด
- การสูญเสียโซเดียมจากร่างกายมากผิดปกติที่พบบ่อยเช่น จากท้องเสียรุนแรง อาเจียนรุนแรง เหงื่อออกมาก (เช่น การออกกำลังกายหักโหม หรือกีฬาที่ต้องใช้แรงมากและใช้ระยะเวลายาวนานเช่น วิ่งมาราธอน)
- ดื่มน้ำมากเกินไป
- โรคเรื้อรังโดยเฉพาะโรคไต โรคตับ โรคหัวใจ
- เสพสารเสพติด
- มีแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก รุนแรง
- อื่นๆ: เป็นสาเหตุที่พบได้น้อยเช่น เนื้องอกสมอง เนื้องอกต่อมใต้สมอง โรคของต่อมหมวกไต
อาการ
อาการของโซเดียมในเลือดต่ำมีหลากหลายอาการ ตั้งแต่ไม่มีอาการเมื่อโซเดียมต่ำเพียงเล็กน้อยไปจนถึงมีอาการรุนแรง ทั้งนี้ขึ้นกับปริมาณโซเดี่ยมในเลือดที่ต่ำมากหรือต่ำไม่มาก ตัวอย่างอาการที่พบบ่อยเช่น
- อ่อนเพลีย อ่อนล้า
- ปวดศีรษะ
- สับสน
- คลื่นไส้
- กล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นตะคริว
- ชัก
- โคม่า
การวินิจฉัย
แพทย์วินิจฉัยภาวะโซเดียมในเลือดต่ำและหาสาเหตุได้จากประวัติอาการต่างๆ ประวัติการเจ็บป่วยในปัจจุบันและในอดีต ประวัติโรคประจำตัว การใช้ยาต่างๆ การตรวจร่างกาย และที่สำคัญคือ การตรวจค่าโซเดียมในเลือด
การรักษา
แนวทางการรักษาภาวะโซเดียมในเลือดต่ำคือการรักษาเพื่อให้ปริมาณโซเดียมในเลือดกลับมาปกติ โดยการให้เกลือโซเดียมอาจโดยการกินกรณีโซเดียมต่ำไม่มาก แต่ถ้าโซเดียมต่ำมากและร่วมกับมีอาการมากจะเพิ่มปริมาณโซเดียมในเลือดทั้งจากการกินและการให้เกลือโซเดียมทางหลอดเลือดดำร่วมกับการจำกัดปริมาณน้ำดื่ม
นอกจากนั้นคือ การรักษาสาเหตุที่จะแตกต่างกันขึ้นกับแต่ละสาเหตุเช่น รักษาอาการท้องเสียเมื่อสาเหตุเกิดจากท้องเสีย หรือการรักษาโรคมะเร็งหรือเนื้องอกเมื่อสาเหตุเกิดจากโรคมะเร็งหรือเนื้องอก เป็นต้น
การพยากรณ์โรค
การพยากรณ์โรคของภาวะโซเดียมในเลือดต่ำ แพทย์มักให้การรักษาควบคุมได้เสมอ แต่จะกลับมาเกิดภาวะนี้อีกหรือไม่ขึ้นกับสาเหตุเช่น ถ้าสาเหตุเกิดจากท้องเสีย ภาวะโซเดี่ยมในเลือดต่ำมักรักษาได้หาย แต่ถ้าสาเหตุเกิดจากโรคมะเร็ง การรักษาภาวะโซเดียมในเลือดจะได้ ผลดีหรือไม่ต้องขึ้นกับการรักษาควบคุมโรคมะเร็งด้วยว่าเป็นอย่างไร
บรรณานุกรม
- Simon,E. et al http://emedicine.medscape.com/article/242166-overview [2015,Oct10]
- https://www.nlm.nih.gov/medlineplus/ency/article/000394.htm [2015,Oct10]