โซลพิเดม (Zolpidem)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 21 กุมภาพันธ์ 2564
- Tweet
- บทนำ : คือ ยาอะไร?
- โซลพิเดมมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ)รักษาโรคอะไร?
- โซลพิเดมมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- โซลพิเดมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- โซลพิเดมมีขนาดรับประทานยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- โซลพิเดมมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้โซลพิเดมอย่างไร?
- โซลพิเดมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาโซลพิเดมอย่างไร?
- โซลพิเดมมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- เบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepine)
- กรดไทรคลอโรอะซีติค (Trichloroacetic acid)
- ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics)
- ฮาโลเพอริดอล (Haloperidol)
- ยาฆ่าเชื้อ (Antimicrobial drug) ยาแก้อักเสบ (Anti inflammatory drug)
บทนำ : คือ ยาอะไร?
ยาโซลพิเดม (Zolpidem) คือ ยาช่วยทำให้นอนหลับที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มเบนโซไดอะซิปีน (Benzodiazepine), มีชื่อการค้าที่เป็นที่รู้จักกันในต่างประเทศได้แก่ ” Ambien” ยานี้มีการออกฤทธิ์เพียงระยะสั้น ผลข้างเคียงที่เด่นของยานี้จะเป็นเรื่องการเกิดประสาทหลอน รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยานี้ที่ผลิตและจัดจำหน่ายเช่น ยาเม็ดชนิดรับประทาน ยาอมใต้ลิ้น ยาสเปรย์พ่นเข้าภายในปาก และยาเหน็บทวาร
ตัวยาของยาโซลพิเดมสามารถดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารได้ประมาณ 70% ยาโซลพิเดมจะเริ่มออกฤทธิ์ภายใน 30 นาทีหลังรับประทาน เมื่อยานี้เข้าสู่กระแสเลือดจะจับกับพลาสมาโปรตีนประมาณ 92% ตับจะคอยเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีของยาอย่างสม่ำเสมอ ร่างกายต้องใช้เวลาประ มาณ 2 - 3 ชั่วโมงในการกำจัดยาปริมาณ 50% ออกจากกระแสเลือดโดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะและอุจจาระ
สำหรับประเทศไทยโดยคณะกรรมการอาหารและยา (อ.ย.) จัดให้ยาโซลพิเดมเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทในประเภท 2 การสั่งซื้อเข้าสถานพยาบาลจะต้องผ่านการอนุมัติจาก อ.ย. ทุกครั้งของการสั่งซื้อ ยานี้จึงมีจำหน่ายในสถานพยาบาลที่มีใบขออนุญาตซื้อและจำหน่ายวัตถุออกฤทธิ์ฯเท่านั้น ไม่สามารถหาซื้อจากร้านขายยาทั่วไปได้ การใช้ยาต้องอยู่ภายใต้คำสั่งของแพทย์ผู้รักษาและห้ามมิให้ผู้บริโภคปรับขนาดรับประทานยาเองโดยเด็ดขาด
โซลพิเดมมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ)รักษาโรคอะไร?
ยาโซลพิเดมมีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้:
- เป็นยาช่วยให้นอนหลับ
โซลพิเดมมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาโซลพิเดมคือ ตัวยาจะออกฤทธิ์โดยเข้าไปรวมตัวกับตัวรับในสมอง ที่มีชื่อว่า Benzodiazepine receptors และเกิดกระบวนการเคมีอื่นๆอย่างต่อเนื่องเป็นผลให้มีฤทธิ์สงบประสาทและทำให้ผู้ได้รับยาเกิดอาการง่วงนอนในที่สุด
โซลพิเดมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาโซลพิเดมมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:
- ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 5 และ 10 มิลลิกรัม/เม็ด
- ยาเม็ดออกฤทธิ์นานชนิดรับประทาน ขนาด 6.25 และ 12.5 มิลลิกรัม/เม็ด
โซลพิเดมมีขนาดรับประทานยาอย่างไร?
ยาโซลพิเดมมีขนาดรับประทานยา เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทาน 10 มิลลิกรัมก่อนนอน ขนาดรับประทานสูงสุดไม่ควรเกิน 10 มิลลิกรัม/วัน
- ผู้สูงอายุ: รับประทานเริ่มต้น 5 มิลลิกรัมก่อนนอนหรือตามคำแนะนำของแพทย์ผู้รักษา
- เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): การใช้ยานี้ในเด็กยังอยู่ในการศึกษาวิจัยทางคลินิก การใช้ยานี้ในเด็กจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา
*****หมายเหตุ:
- ควรรับประทานยานี้ในช่วงกระเพาะอาหารว่าง ไม่ควรรับประทานยาพร้อมหรือหลังอาหาร
- ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาโซลพิเดม ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก /หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาโซลพิเดมอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาโซลพิเดม สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
โซลพิเดมมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาโซลพิเดมสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
- การสูญเสียความทรงจำ
- ง่วงนอน
- วิงเวียน
- ท้องเสีย
- คลื่นไส้-อาเจียน
- ความคิดอ่านผิด ปกติไปจากเดิม
- บางคนอาจรู้สึกปวดหลัง
- เกิดภาวะจิต/ประสาทหลอน
- ตาพร่า
- ตับอักเสบ
- บางคนอาจมีอาการแพ้ยา
*****อนึ่ง: สำหรับอาการของผู้ที่ได้รับยานี้เกินขนาด เช่น สูญเสียการควบคุมสติของตนเอง, อาจเกิดภาวะโคม่า, และมีการหายใจผิดปกติไป, ซึ่งหากพบอาการเหล่านี้ ให้รีบนำผู้ป่วยไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน การปฐมพยาบาลเบื้องต้นแพทย์จะให้ยาถ่านกำมันต์ในการดูดซับและลดพิษของโซลพิเดมในกระเพาะอาหารหรือใช้วิธีการล้างท้อง และ
หากเกิดภาวะกดการทำงานของประสาทส่วนกลางหรือสมอง แพทย์จะใช้ยา Flumazenil ในการบำบัดรักษาอาการดังกล่าว
มีข้อควรระวังการใช้โซลพิเดมอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาโซลพิเดม เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคตับในระยะรุนแรง
- ระวังการใช้ยานี้กับ ผู้ป่วยที่มีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ/นอนหลับแล้วหยุดหายใจ, ผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง , ผู้ป่วยโรคตับ ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า
- ระวังการใช้ยานี้กับ สตรีตั้งครรภ์ และ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
- ห้ามขับขี่ยวดยานและทำงานกับเครื่องจักรเมื่อใช้ยานี้ เพราะจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่ายจากที่ง่วงนอนมาก
- หลังใช้ยานี้ไปแล้ว 7 - 10 วันยังปรากฏอาการนอนไม่หลับ ให้กลับไปพบแพทย์/ไปโรง พยาบาลเพื่อแพทย์ประเมินแนวทางการรักษาอีกครั้ง
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาโซลพิเดมด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
โซลพิเดมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาโซลพิเดมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาโซลพิเดม ร่วมกับ ยาปฏิชีวนะบางตัว เช่นยา Rifampicin จะทำให้ฤทธิ์ของยาโซลพิเดมด้อยประสิทธิภาพลง หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยาโซลพิเดม ร่วมกับ ยา Haloperidal จะก่อให้เกิดฤทธิ์การสงบประสาทมากยิ่งขึ้น การจะใช้ยาทั้ง 2 ตัวนี้ร่วมกันต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น และแพทย์อาจปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
- การใช้ยาโซลพิเดม ร่วมกับ เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสมจะก่อให้เกิดฤทธิ์และผล ข้างเคียงของโซพิเดมมากยิ่งขึ้น เช่น วิงเวียน ง่วงนอนมาก ขาดการครองสติ จนอาจเกิดอันตรายติดตามมา ห้ามใช้ยานี้ร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์โดยเด็ดขาด
- การใช้ยาโซลพิเดม ร่วมกับ ยากลุ่ม TCA สามารถเพิ่มฤทธิ์ของการสงบประสาทได้มากขึ้นจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
ควรเก็บรักษาโซลพิเดมอย่างไร?
สามารถเก็บยาโซลพิเดม:
- เก็บยาในช่วงอุณหภูมิ 20 - 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
- ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/ แสงแดด ความร้อนและความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
โซลพิเดมมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาโซลพิเดม มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Ambien (แอมเบียน) | Sanofi-aventis US |
Stilnox (สติลนอก) | Sanofi-aventis |