โคโลนีสติมิวเลตทิงแฟกเตอร์ (Colony Stimulating Factor)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ผู้ป่วยที่ได้รับการฉายรังสีรักษาหรือการรักษามะเร็งด้วยยาเคมีบำบัดนั้นพบว่า ในผู้ป่วยบางรายจะมีระดับเม็ดเลือดขาวลดลง ซึ่งเม็ดเลือดขาวถือเป็นเม็ดเลือดที่สำคัญที่ทำหน้าที่ในการต่อสู้กับเชื้อโรคและเป็นภูมิคุ้มกันต้านทานโรค/ภูมิคุ้มกันฯให้แก่ร่างกาย ดังนั้นผู้ป่วยที่มีระดับเม็ดเลือดขาวต่ำจะมีความเสี่ยงในการ/ภาวะติดเชื้อมากกว่าคนทั่วไป

เซลล์เม็ดเลือดขาว (White Blood Cell; WBC หรือ Leucocytes) นั้นเจริญมาจากสเต็มเซลล์ (Stem cell) ในไขกระดูกที่ชื่อว่า ฮีมาโทโพอิทิกสเต็มเซลล์ (Hematopoetic Stem Cell) แบ่งออกได้เป็น แกรนูโลไซต์ (Granulocyte, เจริญเป็นเม็ดเลือดขาว) และโมโนไซต์ (Mono cyte, เจริญต่อไปเป็นเซลล์แมโครฟาจ (Macrophage/เซลล์ที่จับกินสิ่งแปลกปลอมในร่างกาย) ซึ่งเซลล์แต่ละชนิดก็มีบทบาทในการป้องกันและต่อสู้กับเชื้อโรคหรือสารอื่นๆแตกต่างกันออกไป

โคโลนีสติมิวเลตทิงแฟกเตอร์ (Colony Stimulating Factor; ย่อว่า ซีเอสเอฟ/CSF) คือสารจำพวกไกลโคโปรตีน (Glycoprotein) ที่มีคุณสมบัติช่วยในการเพิ่มจำนวนของเซลล์เม็ดเลือดขาวในร่างกาย โดยปกติร่างกายจะมีการหลั่งโคโลนีสติมิวเลตทิงแฟกเตอร์เมื่อมีความต้องการเพิ่มจำนวนเซลล์เม็ดเลือดขาวเช่น เกิดภาวะติดเชื้อเพื่อเพิ่มจำนวนเม็ดเลือดขาวในการต่อสู้กับเชื้อโรค ผ่านการกระตุ้นการทำงานของเซลล์ต้นกำเนิดหรือสเต็มเซลล์ (Stem Cell) ที่ในบริเวณไขกระดูกให้มีการสร้างเซลล์เม็ดเลือดขาวเพิ่มขึ้น หลังจากนั้นเซลล์เม็ดเลือดขาวจะถูกส่งเข้าสู่กระแสเลือด

การรักษามะเร็งในบางรูปแบบเช่น การให้ยาเคมีบำบัดอาจทำให้ระดับเซลล์เม็ดเลือดขาวของผู้ป่วยลดลง ทำให้ผู้ป่วยมีความเสี่ยงในการเกิดการติดเชื้อมากกว่าคนปกติ จึงมีการนำสารจำพวกโคโลนีสติมิวเลตทิงแฟกเตอร์มาใช้เป็นยาในผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษามะเร็งเพื่อกระตุ้นการสร้างเซลล์เม็ดเลือดขาวหรือกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันฯของร่างกายที่ทำหน้าที่ต่อสู้กับเชื้อโรค

ปัจจุบันยาโคโลนีสติมิวเลตทิงแฟกเตอร์ในประเทศไทยเป็นยาชีววัตถุ (Biotechnology drug, ยาที่ผลิตจากสิ่งมีชีวิต) จัดเป็นยาควบคุมพิเศษใช้ได้เฉพาะเมื่อแพทย์เป็นผู้สั่งจ่ายและควรใช้ภายใต้ความดูแลของแพทย์เฉพาะทาง

ยาโคโลนีสติมิวเลตทิงแฟกเตอร์มีกี่ประเภทและมีข้อบ่งใช้อย่างไร?

โคโลนีสติมิวเลตทิงแฟกเตอร์

ยาโคโลนีสติมิวเลตทิงแฟกเตอร์แบ่งออกได้เป็น 4 ประเภทคือ

1. แมโครฟาจ โคโลนีสติมิวเลตทิงแฟกเตอร์ (Macrophage Colony-stimulating Factor; M-CSF) หรือโคโลนีสติมิวเลตทิงแฟกเตอร์ 1 (Colony Stimulating Factor 1; CSF1): เป็นสารโกรทแฟกเตอร์ (Growth Factor, สารกระตุ้นการเจริญเติบโต) ที่มีผลต่อการกระตุ้นการแบ่งตัวเม็ดเลือดขาวประเภทแมโครฟาจ (Macrophage) และโมโนไซต์ (Mono cytes) นอกจากนี้ยังมีความเกี่ยวเนื่องกับระบบภูมิคุ้มกันฯของร่างกาย ระบบการเผาผลาญพลังงาน (Metabolism) การเจริญพันธุ์ (Fertility) และการตั้งครรภ์ (Pregnancy)

ปัจจุบันไม่มีการพัฒนาแมโครฟาจ โคโลนีสติมิวเลตทิงแฟกเตอร์เป็นยาในทางเภสัชกรรม

2. แกรนูโลไซต์ แมโครฟาจ โคโลนีสติมิวเลตทิง (Granolocyte Macrophage colony -stimulating factor; GM-CSF) หรือโคโลนีสติมิวเลตทิงแฟกเตอร์ 2 (Colony Stimu lating Factor 2; CSF2): เป็นสารโกรทแฟกเตอร์ (Growth Factor) ที่มีผลต่อการกระตุ้นเซลล์ต้นกำเนิด (Stem Cell) ในการแบ่งตัวของเซลล์เม็ดเลือดขาวทั้งประเภทแกรนูโลไซต์ (Granuloctyes) และโมโนไซต์ (Monocytes)

ปัจจุบัน GM-CSF ที่นำมาใช้เป็นยามีการผลิตใน 2 วิธี วิธีแรกคือการใช้เทคนิคทางพันธุวิศวกรรมการสร้างดีเอ็นเอ (DNA) สายผสม (Recombinant DNA) เรียกว่า มอลกราโมสทิม (Molgramostim) และที่ผลิตจากยีสต์ (Yeast, เชื้อราชนิดเซลล์เดียว) เรียกยานี้ว่า ซากราโมสทิม (Sagramostim) มีข้อบ่งใช้ในการรักษาการติดเชื้อขั้นรุนแรงถึงชีวิต (Fatal Infection) ที่อาจเกิดภายหลังการให้ยาเคมีบำบัดเพื่อรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันไมอิลอยด์ (Acute Myelogenous Leukemia; AML) และให้ผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายเซลล์ไขกระดูก

3. แกรนูโลไซต์ โคโลนีสติมิวเลตทิงแฟกเตอร์ (Granulocyte Colony-stimulating Factor; G-CSF) หรือโคโลนีสติมิวเลตทิงแฟกเตอร์ 3 (Colony Stimulating Factor 3; CSF3): เป็นไกลโคโปรตีนที่กระตุ้นการทำงานของไขกระดูกให้เกิดการสร้างเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดแกรนูโลไซต์และชนิดเซลล์ต้นกำเนิด (Stem Cell) มีการนำมาใช้ในทางการแพทย์ในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อเช่น

  • ผู้ป่วยมะเร็งที่เข้ารับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดที่มีระดับเม็ดเลือดขาวในเลือดต่ำ
  • ให้ในผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันไมอิลอยด์ (Acute Myelogenous Leukemia; AML) ภายหลังได้รับยาเคมีบำบัด
  • ผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายเซลล์ไขกระดูก (Bone Marrow Transplant)
  • ผู้ป่วยที่มีภาวะเม็ดเลือดขาวชนิดนิวโทรฟิล (Neutrophil) ต่ำที่เรียกว่า นิวโทรพีเนีย (Neutropenia)

G-CSF ที่นำมาใช้เป็นยาผลิตได้จากการใช้เทคนิคทางพันธุวิศวกรรมการสร้างดีเอ็นเอสายผสม (Recombinant DNA) ได้ยาที่เป็นอะนาล็อก (สารที่มีโครงสร้างคล้ายคลึงกับสร้างต้นแบบ) กับ G-CSF ได้แก่ ยาฟิลกราสทิม (Filgrastim), เพกฟิลกราสทิม (Pegfilgrastim) และลีโนกราสทิม (Lenograstim)

4. สเต็มเซลล์แฟกเตอร์ (Stem Cell Factor; SCF): เป็นสารจำพวกไซโตไคน์ (Cytokines) /สารเคมีที่มีบทบาทในกระบวนการกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดชนิดต่างๆ (Hematopoiesis) กระ บวนการสร้างอสุจิ (Spermatogenesis) และการสร้างเม็ดสีเมลานิน (Melanogenesis)

ปัจจุบันมีการนำ SCF มาพัฒนาเป็นยาแอนเซสทิม (Ancestim, ยาช่วยเพิ่มฤทธิ์ของยา Filgrastim) โดยใช้ร่วมกับยาฟิลกราสทิม (Filgrastim) ในผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายไขกระดูกที่ต้องการหรือมีระดับของโพรจินิเทอร์เซลล์ในเลือดต่ำ (Peripheral Blood Progenitor Cell; PBCP คือเซลล์ที่เมื่อแบ่งตัวแล้วจะได้เป็นเซลล์เม็ดเลือด)

โคโลนีสติมิวเลตทิงแฟกเตอร์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธ์ของยาโคโลนีสติมิวเลตทิงแฟกเตอร์คือ ตัวยานี้เป็นโปรตีนที่ทำหน้าที่เป็นไซโตไคน์ (Cytokine) หรือทำหน้าที่ในการส่งสัญญาณระหว่างเซลล์ซึ่งผลิตได้จากเซลล์ต่างๆในร่างกาย โดยจะทำหน้าที่ในการกระตุ้นเซลล์ต้นกำเนิด (Stem Cell) ให้มีการผลิตเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดแกรนูโลไซต์ (Granulocyte) ที่เรียกว่า “G-CSF” หรือโมโนไซต์ (Monocyte) ที่เรียกว่า “ M-CSF” หรือให้ผลิตเซลล์ทั้งสองชนิดดังกล่าวที่เรียกว่า “GM-CSF” ซึ่งเซลล์โมโนไซต์ภายหลังจะเข้าสู่กระแสเลือดและเจริญเป็นเซลล์แมโครฟาจ (Macrophage) ซึ่งทั้งหมดนี้ จะทำให้ระดับเซลล์เม็ดเลือดขาวในเลือดเพิ่มสูงขึ้น

โคโลนีสติมิวเลตทิงแฟกเตอร์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาโคโลนีสติมิวเลตทิงแฟกเตอร์มีรูปแบบเภสัชภัณฑ์ที่จัดจำหน่ายในประเทศไทยเป็นประเภทยาแกรนูโลไซต์ โคโลนีสติมิวเลตทิงแฟกเตอร์ (Granulocyte Colony-stimulating Factor; G-CSF) ได้แก่

ก. ฟิลกราสทิม (Filgrastim): มีรูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นยาชีววัตถุปราศจากเชื้อ (Sterile Solution) ขนาดความแรง 300 มิลลิกรัม/0.5 มิลลิลิตร และ 480 มิลลิกรัม/0.8 มิลลิลัตร

ข. เพกฟิลกราสทิม (Pegfilgrastim): มีรูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นยาชีววัตถุปราศจากเชื้อ (Sterile Solution) ขนาดความแรง 6 มิลลิกรัม/0.6 มิลลิลิตร

ค. ลีโนกราสทิม (Lenograstim): มีรูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นยาชีววัตถุปราศจากเชื้อชนิดผงพร้อมผสมเพื่อเป็นยาฉีด (Sterile Powder) ขนาดความแรง 100 และ 250 มิลลิกรัม

โคโลนีสติมิวเลตทิงแฟกเตอร์มีขนาดการใช้ยาและวิธีใช้ยาอย่างไร?

ยาในกลุ่มโคโลนีสติมิวเลตทิงแฟกเตอร์เป็นยาในรูปแบบยาฉีด โดยทั่วไปมักฉีดเข้าใต้ผิวหนัง (Subcutaneous แพทย์ไทยมักเรียกว่า สับคิว/Subcu) ในบางกรณีอาจยาฉีดหรือหยดยาเข้าเส้นเลือด/หลอดเลือดดำ (Intravenuously) สำหรับขนาดของยาในกลุ่มโคโลนีสติมิวเลตทิงแฟกเตอร์ขึ้นกับข้อบ่งใช้ ภาวะของโรค และสุขภาพตัวผู้ป่วยเอง ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้พิจารณากำหนดขนาดยาแก่ผู้ป่วยเป็นรายบุคคลไป

ยาในกลุ่มนี้พยาบาลอาจเป็นผู้บริหารยา/ฉีดยาให้ผู้ป่วย หรือในบางกรณีผู้ป่วยอาจได้รับคำแนะนำให้บริหารยาได้เองที่บ้านโดยวิธีการฉีดเข้าใต้ผิวหนัง ซึ่งยาจะมาในรูปแบบยาที่เตรียมไว้พร้อมฉีด (Prefilled syringe) หรือยาอยู่ในหลอดฉีดยาพร้อมฉีด หากเป็นการบริหารยาทุกวัน ผู้ป่วยควรฉีดยาในเวลาใกล้เคียงกันของทุกๆวัน

ขั้นตอนการปฏิบัติเพื่อฉีดยาเข้าใต้ผิวหนังด้วยตัวเองได้แก่

1. ล้างมือให้สะอาดและไม่ควรเขย่าหลอดฉีดยาเนื่องจากจะทำให้ยาภายในเกิดฟอง

2. ตรวจสอบชื่อยาและวันหมดอายุของยาจากหลอดฉีดยา

3. โดยทั่วไปบริเวณที่ฉีดยานี้ได้ได้แก่ ต้นแขน หน้าท้อง ต้นขา และบริเวณแก้มก้นรอบนอก ทำความสะอาดบริเวณที่จะฉีดยาด้วยแอลกอฮอล์/p>

4. บีบผิวหนังบริเวณที่จะฉีดให้สูงขึ้นเล็กน้อย ฉีดยานี้เข้าใต้ผิวหนัง หลอดฉีดยาทำมุม 90 องศากับผิวหนัง ฉีดยาให้ได้ตามขนาดยาที่แพทย์สั่ง

5. กำจัดหลอดฉีดยาที่ใช้แล้วในภาชนะที่รองรับของมีคมได้

ผู้ป่วยไม่ควรนวดบริเวณที่ฉีดยานี้ หากเกิดอาการผิดปกติใดๆเช่น มีอาการบวม ปวดเจ็บ หรือมีเลือดออกบริวณที่ฉีดเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ให้แจ้งให้แพทย์ทราบ/ไปโรงพยาบาลทันที

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยากลุ่มโคโลนีสติมิวเลตทิงแฟกเตอร์ ควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร

  • ประวัติการแพ้ยา แพ้อาหาร และแพ้สารเคมีทุกชนิด
  • ประวัติการใช้ยาทั้งยาที่แพทย์สั่งจ่ายอยู่และยาที่ซื้อทานเอง วิตามิน ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพร
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากกำลังเข้ารับการรักษาด้วยการฉายรังสีรักษา มีประวัติโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดต่างๆ ภาวะม้ามโต โรคเม็ดเลือดแดงผิดปกติชนิดที่เรียกว่า เม็ดเลือดแดงรูปเคียว (Sickle Cell Disease) โรคที่เกี่ยวข้องกับภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายเช่น การติดเชื้อเอชไอวี
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากกำลังตั้งครรภ์ วางแผนที่จะตั้งครรภ์ หรืออยู่ในช่วงระหว่างการให้นมบุตร
  • แจ้งให้แพทย์ทราบเสมอว่ากำลังใช้ยาในกลุ่มนี้ก่อนการเข้ารับการผ่าตัดใดๆ รวมถึงควรแจ้งให้ทันตแพทย์ทราบด้วยเมื่อมีการทำหัตถกรรมทางทันตกรรมเช่น ขูดหินปูน ถอนฟัน

หากลืมเข้ารับการบริหารยาควรทำอย่างไร?

หากลืมเข้ารับการบริหารยา/ใช้ยาโคโลนีสติมิวเลตทิงแฟกเตอร์ ให้ติดต่อสถานพยาบาลที่ทำการรักษาอยู่โดยเร็วที่สุดเพื่อนัดหมายรับยา

หากลืมฉีดยานี้กรณีฉีดเองที่บ้าน ผู้ป่วยควรโทรติดต่อแพทย์ผู้ทำการรักษาหรือผู้ที่เกี่ยวข้องเช่นพยาบาลว่าควรฉีด ณ ขณะที่นึกขึ้นได้หรือให้ข้ามไปฉีดมื้อถัดไปตามปกติ

โคโลนีสติมิวเลตทิงแฟกเตอร์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาโคโลนีสติมิวเลตทิงแฟกเตอร์อาจก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการไม่พึงประสงค์) เช่น อาการบวมแดงบริเวณที่ฉีดยา ปวดกล้ามเนื้อหรือปวดกระดูก ปวดศีรษะ ซึ่งหากอาการเหล่านี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องหรือมีแนวโน้มว่าจะรุนแรงขึ้น ให้รีบแจ้งให้แพทย์ทราบ/รีบมาโรงพยาบาล/มาโรงพยาบาลก่อนนัด

ยาโคโลนีสติมิวเลตทิงแฟกเตอร์อาจก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรงเช่น ปวดช่อง ท้องส่วนบนหรือปวดไหล่ มึนศีรษะ มีห้อเลือด หรือมีเลือดออกเช่น เลือดกำเดาไหลอย่างผิดปกติ รวมไปถึงอาการแพ้ยาเช่น ริมฝีปากและหนังตาบวม มีผื่นคันขึ้นตามตัว หายใจไม่สะดวก/หายใจลำบาก ซึ่งหลังใช้ยานี้หากเกิดอาการดังกล่าวให้รีบแจ้งให้แพทย์ทราบ/รีบมาโรงพยาบาลโดยทันทีฉุกเฉิน

อย่างไรก็ดีผู้ป่วยควรตระหนักว่า การที่แพทย์สั่งใช้ยานี้เนื่องจากแพทย์พิจารณาแล้วเห็นว่ายานี้จะมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยมากกว่าโทษหรือมากกว่าการได้รับผลข้างเคียงจากยา ผู้ป่วยที่ได้ รับยานี้มีพบว่าเกิดอาการไม่พีงประสงค์ชนิดรุนแรง ผู้ป่วยจึงควรเฝ้าระวังผลข้างเคียงดังกล่าวที่อาจเกิดขึ้นและแจ้งให้แพทย์ผู้ทำการรักษาทราบ/มาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉินหากเกิดอาการรุนแรงดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น

มีข้อควรระวังการใช้โคโลนีสติมิวเลตทิงแฟกเตอร์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาโคโลนีสติมิวเลตทิงแฟกเตอร์เช่น

  • ไม่ใช้ยานี้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ควรหลีกเลียงการใช้ยาในกลุ่มนี้ในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร
  • ผู้ป่วยที่ได้รับยานี้ควรได้รับการตรวจระดับเม็ดเลือดขาวและระดับเกล็ดเลือดอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากมีประวัติโรคเม็ดเลือดแดงชนิดรูปเคียว (Sickle Cell Disease) ซึ่งเป็นโรคทางพันธุกรรม โดยเม็ดเลือดแดงเป็นรูปเคียวทำให้เสียคุณสมบัติความยืด หยุ่นทำให้เซลล์เม็ดเลือดแดงแตกง่าย (เกิดอาการซีด) อาการของโรคนี้อาจเลวลงเมื่อได้รับยาโคโลนีสติมิวเลตทิงแฟกเตอร์ ทั้งนี้ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบ/มาโรงพยาบาลโดยทันทีฉุกเฉิน หากเมื่อได้รับยานี้แล้วมีอาการปวดบริเวณหน้าอก บริเวณช่วงกลางลำตัว หรือปวดกระดูก มือหรือเท้าบวม หรือเกิดอาการเหมือนติดเชื้อบ่อยเช่น มีไข้ เจ็บคอ เป็นต้น
  • ผู้ใช้ยานี้ควรเฝ้าระวังหากเกิดอาการหายใจไม่สะดวกหรือหายใจลำบากเนื่องจากการใช้ยานี้อาจทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน (Acute Respiratory Distress Syndrome) ซึ่งเมื่อเกิดอาการดังกล่าวต้องรีบแจ้งแพทย์/มาโรงพยาบาลทันทีฉุกเฉิน

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาโคโลนีสติมิวเลตทิงแฟกเตอร์) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้น ฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

โคโลนีสติมิวเลตทิงแฟกเตอร์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

จากข้อมูลในปัจจุบันยังไม่พบว่ายาในกลุ่มโคโลนีสติมิวเลตทิงแฟกเตอร์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นใดอย่างมีนัยสำคัญ/อย่างแน่ชัด อย่างไรก็ดีผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์และเภสัชกรทราบถึงยาทุกชนิดที่เคยใช้เพื่อรักษาโรคเรื้อรังในอดีตและยาที่กำลังใช้อยู่ในปัจจุบันโดยเฉพาะยาที่อาจมีผลในการกดภูมิคุ้มกันฯชนิดอื่นๆเช่น ยาเสตียรอยด์ ยาต้านมะเร็ง/ยารักษาโรคมะเร็ง เป็นต้น

อนึ่งยาลิเทียม (Lithium) เป็นยาอีกชนิดที่ช่วยในการหลั่ง/เพิ่มปริมาณเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดนิวโทรฟิลส์ (Neutrophils) อย่างไรก็ดียังไม่พบปฏิกิริยาระหว่างยาโคโลนีสติมิวเลตทิงแฟกเตอร์กับยาลิเทียม ผู้ป่วยที่ใช้ยาลิเทียมควบคู่ด้วยควรแจ้งให้แพทย์และเภสัชกรให้ทราบถึงการใช้ยาลิเทียม

ควรเก็บรักษาโคโลนีสติมิวเลตทิงแฟกเตอร์อย่างไร?

โดยทั่วไปยาประเภทโคโลนีสติมิวเลตทิงแฟกเตอร์ควรเก็บรักษาไว้ในตู้เย็น อุณหภูมิระ หว่าง 2 - 8 องศาเซลเซียส (Celsius) ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น ไม่เขย่าบรจุภัณฑ์ของยา เก็บรักษาในที่พ้นแสงแดด ก่อนใช้ยาควรหยิบยาออกจากตู้เย็น ทิ้งไว้ที่อุณหภูมิห้องระยะหนึ่งก่อนการบริหารยา/ใช้ยา

บางสถานพยาบาลอาจมีนโยบายหรือวิธีการเก็บรักษาตัวยาเฉพาะ ควรปรึกษาฝ่ายเภสัชกรรมของโรงพยาบาลถึงนโยบายการเก็บรักษายานี้

โคโลนีสติมิวเลตทิงแฟกเตอร์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาโคโลนีสติมิวเลตทิงแฟกเตอร์ที่มีการจัดจำหน่ายในประเทศไทย มีชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิตหรือจัดจำหน่ายดังต่อไปนี้

บรรณานุกรม

  1. American Pharmacists Association, Filgrastim, Drug Information Handbook with International Trade Names. 23;2014:873-6.
  2. Mims Thailand http://www.mims.com [2016,March26]
  3. Francisco-Cruz A, et al. Granulocyte-macrophage colony-stimulating factor: not just another haematopoietic growth factor. Medical Oncology. 2014; 31 (1): 774.
  4. Granulocyte colony stimulating factor (G-CSF) http://www.cancerresearchuk.org/about-cancer/cancers-in-general/treatment/cancer-drugs/gcsf [2016,March26]
  5. Herbert KE, et al. The role of ancestim (recombinant human stem-cell factor, rhSCF) in hematopoietic stem cell mobilization and hematopoietic reconstitution. Expert Opin Biol Ther. 2010 Jan;10(1):113-25.
  6. Drug Bank http://www.drugbank.ca/drugs/DB00020 [2016,March26]
  7. ศุภเสกข์ ศรจิตติ. พื้นฐานเซลล์ต้นกำเนิด (Basic of Stem Cells/Regenerative Medicine).http://www.vcharkarn.com/varticle/18516 [2016,March26]
  8. SPC. Neupogen 30 MU (0.3 mg/ml) solution for injection http://www.medicines.org.uk/emc/medicine/27485 [2016,March26]
  9. เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ส่วนการสืบค้นผลิตภัณฑ์ยา http://fdaolap.fda.moph.go.th/ [2016,March26]