แอสปาร์แตม (Aspartam or Aspartame)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

แอสปาร์แตม (Aspartam หรือ Aspartame) เป็นสารให้ความหวานแบบสังเคราะห์ที่มีโครงสร้างโมเลกุลต่างจากน้ำตาลและมีความหวานมากกว่าน้ำตาลถึง 200 เท่า สารนี้ให้พลังงานกับร่างกายได้น้อยมากเพราะจะใช้ในปริมาณเพียงเล็กน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับการใช้น้ำตาล สารนี้จึงถูกนำมาใช้กับอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม

แอสปาร์แตมถูกสังเคราะห์ครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1965 (พ.ศ. 2508) โดยเริ่มมีการใช้ในซีกโลกตะวันตกจากนั้นจึงค่อยแพร่กระจายเข้ามาในเอเชีย ปัจจุบันมีการใช้แอสปาร์แตมมากกว่า 90 ประเทศทั่วโลก ทั้งนี้มีเหตุผลด้านความปลอดภัยของการใช้แอสปาร์แตมเข้ามาสนับสนุนการใช้สารนี้อาทิเช่น

  • แอสปาร์แตมไม่ใช่สารที่กระตุ้นการเกิดมะเร็งในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่รวมถึงในคนด้วยจึงมีความปลอดภัยในการใช้บริโภค
  • ใช้ผสมเป็นปริมาณน้อยในอาหารหรือเครื่องดื่มที่ต้องการรสหวานแต่ไม่ต้องการพลังงานจึงใช้เป็นจุดขายของผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่ไม่ทำให้เพิ่มน้ำหนักตัว
  • แอสปาร์แตมถูกย่อยสลายได้เร็วภายในลำไส้เล็กจึงไม่ก่ออาการท้องอืด ท้องเฟ้อ

อย่างไรก็ดีปัจจุบันยังไม่มีข้อสรุปแน่ชัดว่าการใช้แอสปาร์แตมสามารถส่งผลเสียในระยะยาวต่อผู้บริโภคอย่างไรบ้าง คณะกรรมการอาหารและยาของบางประเทศจึงได้ระบุให้ระดับการบริโภคแอสปาร์แตมในมนุษย์อยู่ที่ 50 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม แต่หน่วยงานของยุโรปอย่าง European Commission's Scientific Committee on Food ระบุระดับแอสปาร์แตมที่เหมาะสมต่อการบริโภคอยู่ที่ 40 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม

ทั้งนี้ภาคอุตสาหกรรมอาหารที่ใช้แอสปาร์แตมในการผลิตมีหลายกลุ่มเช่น ไดเอทโซดา (Diet soda) น้ำผลไม้ หมากฝรั่ง โยเกิร์ต ลูกกวาด คุกกี้ เค้ก และยา

สำหรับประโยชน์ทางคลินิกของแอสปาร์แตมพอสรุปได้ดังนี้

  • ใช้ปรุงแต่งรสชาติอาหารสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ติดรสหวาน
  • ใช้บริโภคแทนน้ำตาลในช่วงภาวะที่ต้องคุมน้ำหนักตัว
  • ลดปัญหาเรื่องฟันผุด้วยมีการใช้ในปริมาณต่ำก็สามารถปรุงความหวานได้เทียบเท่ากับน้ำตาล

ปัจจุบันยังไม่มีข้อสรุปแน่ชัดว่าการใช้แอสปาร์แตมสามารถส่งผลเสียต่อผู้บริโภคอย่างไรบ้าง ดังนั้นขนาดการใช้แอสปาร์แตมจึงต้องเป็นไปตามเอกสารกำกับยา/เอกสารกำกับผลิตภัณฑ์หรือตามคำสั่งแพทย์

นอกจากนั้นยังมีข้อจำกัดบางประการที่ทำให้ผู้บริโภคบางกลุ่มไม่สามารถใช้แอสปาร์แตมได้ ด้วยโครงสร้างของแอสปาร์แตมมีส่วนประกอบของกรดอะมิโนที่มีชื่อว่า ฟีนิลอะลานีน (Phenylalanine, สารที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของระบบประสาท) ดังนั้นผู้ที่มีความบกพร่องทางพันธุกรรมซึ่งป่วยเป็นโรคฟีนิลคีโตนูเรีย (Phenylketonuria, โรคพบได้น้อยที่ผู้ป่วยมีการเจริญเติบโตและพัฒนาการทางสมองผิดปกติ) โรคที่ผู้ป่วยจะขาดเอนไซม์ที่ใช้ย่อยกรดอะมิโนชนิดนี้จึงส่งผลทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถใช้แอสปาร์แตมได้เช่นกัน

ในอดีตที่ผ่านมามีการใช้แอสปาร์แตมแทนน้ำตาลมาเป็นเวลานาน ปัจจุบันแอสปาร์แตมยังถูกนำมาผลิตเป็นรูปแบบยาเม็ดชนิดรับประทานสำหรับผู้ป่วยที่ต้องการควบคุมน้ำหนักตัวและควบคุมการได้รับพลังงานจากอาหาร/เครื่องดื่มในแต่ละวัน ซึ่งผู้บริโภคควรใช้ผลิตภัณฑ์นี้ตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด

แอสปาร์แตมมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

แอสปาร์แตม

แอสปาร์แตมมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อเป็นสารที่ให้ความหวานแต่ให้พลังงานต่ำ เหมาะกับผู้ป่วยที่ต้องการควบคุมน้ำหนักตัวและ/หรือในผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ติดรสหวาน

แอสปาร์แตมมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ด้วยแอสปาร์แตมมีความหวานมากกว่าน้ำตาล 200 เท่า ดังนั้นการใช้แอสปาร์แตมเพื่อบริโภคจะใช้เพียงปริมาณเล็กน้อยก็สามารถทำให้ผู้บริโภครู้สึกรับรสหวานได้เท่ากับการบริโภคน้ำตาล ดังนั้นการใช้แอสปาร์แตมแทนน้ำตาลจึงปลดปล่อยพลังงานให้ร่างกายได้น้อยกว่าการใช้น้ำตาลมากจึงส่งผลให้ไม่เพิ่มน้ำหนักตัวของร่างกาย

แอสปาร์แตมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

แอสปาร์แตมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็นยาเม็ดชนิดรับประทานขนาด 19 มิลลิกรัม/เม็ด

แอสปาร์แตมมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ขนาดรับประทานของแอสปาร์แตมควรรับประทานตามคำสั่งของแพทย์ซึ่งอาจรับประทานพร้อมหรือก่อนอาหารก็ได้ โดยทั่วไปแพทย์จะคำนวณขนาดการรับประทานสารนี้ต่อน้ำหนักตัวผู้บริโภคเช่น 40 - 50 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม

เมื่อมีการใช้แอสปาร์แตมควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงแอสปาร์แตมหรือสารปรุงแต่งอาหารใดเป็นประจำ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้

  • ประวัติแพ้ยา/แพ้สารต่างๆทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยา/ใช้สารต่างๆแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้สารอะไรอยู่ เพราะแอสปาร์แตมอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยา/สารอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานแอสปาร์แตมก็สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า

แอสปาร์แตมมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ปัจจุบันพบผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ของแอสปาร์แตมได้น้อยมาก อย่างไรก็ตามหากรับประทานแอสปาร์แตมมากจนเกินไปอาจส่งผลกับระบบเมตาบอลิซึม (Metabo lism, การใช้/การเผาผลาญพลังงาน) ของร่างกายจนก่อให้เกิดสารเมทานอล (Methanol, แอลกอ ฮอล์ชนิดหนึ่งที่มีพิษสูง ไม่สามารถรับประทานได้ ที่มักผลิตจากการหมักไม้ชนิดต่างๆ) ที่ทำให้เกิดพิษต่อร่างกายได้เช่น วิงเวียน ปวดศีรษะ สับสน คลื่นไส้ อาเจียน ตาพร่าจนถึงตาบอดเมื่อได้รับMethanol ปริมาณสูงต่อเนื่อง ดังนั้นการใช้แอสปาร์แตมจึงควรใช้/บริโภคตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น

มีข้อควรระวังการใช้แอสปาร์แตมอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้แอสปาร์แตมเช่น

  • ห้ามใชกับผู้แพ้ยา/แพ้แอสปาร์แตม
  • ห้ามใช้กับผู้ป่วยโรคฟีนิลคีโตนูเรีย (Phenylketonuria)
  • ห้ามใช้แอสปาร์แตมกับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุโดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • ห้ามรับประทานเกินจากคำสั่งแพทย์
  • หากเกิดอาการแพ้ผลิตภัณฑ์แอสปาร์แตมเช่น เกิดอาการผื่นคัน ตัวบวม ขึ้นผื่นทั้งตัว หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ให้หยุดการใช้แอสปาร์แตมแล้วรีบนำผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
  • ห้ามแบ่งแอสปาร์แตมให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้แอสปาร์แตมที่หมดอายุ
  • ห้ามเก็บแอสปาร์แตมที่หมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบัน ยาแผนโบราณ สมุนไพร สารปรุงแต่งรสชาติต่างๆอย่างแอสปาร์แตม ด้วยผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาหรือสารปรุงแต่งรสทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

แอสปาร์แตมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

แอสปาร์แตมเป็นสารที่เพิ่มความหวานแทนน้ำตาลที่ยังไม่ปรากฏรายงานการเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยารับประทานชนิดใดๆ

อย่างไรก็ตามหากพบว่าหลังบริโภคแอสปาร์แตมร่วมกับยาชนิดอื่นๆแล้วมีอาการผิดปกติ ควรต้องหยุดการใช้แอสปาร์แตมแล้วรีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อให้แพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา

ควรเก็บรักษาแอสปาร์แตมอย่างไร?

ควรเก็บแอสปาร์แตมในอุณหภูมิห้องที่เย็น ไม่เก็บในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น ห้ามเก็บในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และเก็บแอสปาร์แตมให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

แอสปาร์แตมมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

แอสปาร์แตมที่จำหน่ายในประเทศไทย มีชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่ายเช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Espar (เอสปาร์) Greater Pharma

 

อนึ่งชื่อการค้าอื่นของแอสปาร์แตมในต่างประเทศเช่น NutraSweet, Equal, Sugar twin

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Aspartame [2016,July9]
  2. http://www.healthline.com/health/aspartame-side-effects#Overview1 [2016,July9]
  3. http://www.healthline.com/health/food-nutrition/aspartame-poisoning#Claims3 [2016,July9]
  4. http://www.efsa.europa.eu/sites/default/files/corporate_publications/files/factsheetaspartame.pdf [2016,July9]