แอนตาโซลีน (Antazoline)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาแอนตาโซลีน (Antazoline หรือ Antazoline HCl/hydrochloride หรือ Antazoline phosphate) เป็นยาต้านฮีสตามีน (Antihistamine) รุ่นที่ 1 ซึ่งมีฤทธิ์ในลักษณะแอนตี้โคลิเนอจิก (Anticholinergic) ร่วมด้วย ทางคลินิกนำมาใช้รักษาอาการแพ้ของอวัยวะตา ยาแอนตาโซลีนมีกล ไกการออกฤทธิ์โดยยาจะเข้ารวมตัวกับตัวรับ (Receptor) ในร่างกายที่มีชื่อเรียกว่า เฮช1 รีเซพเตอร์ (H1 receptor, Histamine 1 receptor) ซึ่งตัวรับนี้มีอยู่ตามอวัยวะที่ตัวยานี้แทรกซึมเข้าไปถึงส่งผลให้อวัยวะต่างๆเหล่านั้นไม่ตอบสนองต่อสารฮีสตามีน (Histamine) ที่คอยกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้

รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยาแอนตาโซลีนที่พบเห็นในประเทศไทยจะเป็นยาหยอดตาเสียส่วนมาก และมักจะเป็นสูตรตำรับที่มียาอื่นผสมร่วมอย่างเช่น Tetrahydrozoline และ Naphazoline เป็นต้น

มีข้อห้ามบางประการที่ผู้บริโภคควรทราบก่อนการใช้ยาแอนตาโซลีนที่สำคัญๆดังนี้เช่น

  • ห้ามใช้กับสตรีตั้งครรภ์รวมถึงสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตรโดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์
  • ยานี้ไม่เหมาะกับเด็กที่อายุต่ำกว่า 6 ปีลงมา
  • การใช้ยานี้กับผู้ที่มีโรคประจำตัวบางอย่างจะต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นอย่างมากเช่น โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคความดันโลหิตสูง โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ เนื้องอกของต่อมหมวกไต (เช่น Pheochromocytoma) ผู้ป่วยที่มีภาวะปัสสาวะขัด ผู้ที่มีาการตาแห้ง และผู้ป่วยโรคต่อมลูกหมากโต ด้วยตัวยานี้จะส่งเสริมให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น

ยาแอนตาโซลีนยังอาจก่อให้เกิดอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) ต่างๆที่อาจพบได้บ่อยเช่น ระคายเคืองในตา มีอาการง่วงนอน วิงเวียน ปวดศีรษะ

การเรียนรู้การใช้ยานี้อย่างถูกต้องตรงกับข้อบ่งใช้ถือเป็นปัจจัยที่ผู้บริโภคควรให้ความสำคัญ และไม่ควรละเลย ไม่ว่ายาแอนตาโซลีนจะอยู่ในรูปแบบผลิตภัณฑ์ใดๆก็ตาม ผู้บริโภคควรจะต้องทำความเข้าใจจดจำขนาดและวิธีการใช้ยานี้อย่างถูกต้อง โดยสามารถรับคำแนะนำได้จากแพทย์ผู้รักษาหรือสอบถามข้อมูลการใช้ยานี้เพิ่มเติมจากเภสัชกรได้โดยทั่วไป

แอนตาโซลีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

แอนตาโซลีน

ยาแอนตาโซลีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อบำบัดอาการแพ้ของอวัยวะตาเช่น ตาแดงจากเยื่อตาอักเสบจากภูมิแพ้ ในรูปแบบยาหยอดตา

แอนตาโซลีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาแอนตาโซลีนมีคุณสมบัติ/กลไกการออกฤทธิ์เป็นทั้งสารแอนตี้ฮีสตามีน (Antihistamine) และแอนตี้โคลิเนอจิก (Anticholinergic) โดยตัวยาจะทำหน้าที่แข่งขันและยับยั้งการแสดงฤทธิ์ของสารฮีสตามีน (Histamine) ส่งผลระงับอาการแพ้ และเป็นที่มาของสรรพคุณ

แอนตาโซลีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาแอนตาโซลีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็นยาหยอดตาที่ประกอบด้วยยาอื่นเช่น

  • Antazoline HCl 0.05% + Tetrahydrozoline HCl 0.04%
  • Naphazoline HCl 0.05% + Antazoline phosphate 0.5%
  • Antazoline 0.5% + Xylometazoline HCl 0.05%

แอนตาโซลีนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาแอนตาโซลีนมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยาเช่น

  • ผู้ใหญ่: หยอดยาเข้าตาข้างที่มีอาการแพ้ 1 - 2 หยดวันละ 2 - 3 ครั้ง ระยะเวลาการใช้ยาขึ้นกับคำแนะนำของแพทย์ผู้รักษา
  • เด็ก: การใช้ยานี้กับเด็กต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น

*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้นไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาแอนตาโซลีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาแอนตาโซลีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมหยอดยาควรทำอย่างไร?

หากลืมหยอดยาแอนตาโซลีนสามารถหยอดยาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการใช้ยาในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดการใช้ยาเป็น 2 เท่า

อย่างไรก็ตามเพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรหยอดยาแอนตาโซลีนตรงเวลา

แอนตาโซลีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาแอนตาโซลีนอาจก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้เช่น แสบคันและระคายเคืองเล็กน้อยในตาข้างที่หยอดยา ความดันของลูกตาอาจเพิ่มขึ้นหรือลดก็ได้ มีอาการตาพร่า รูม่านตาขยาย

มีข้อควรระวังการใช้แอนตาโซลีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาแอนตาโซลีนเช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่เป็นโรคต้อหินด้วยจะทำให้อาการต้อหินรุนแรงมากขึ้น
  • ห้ามใช้ยากับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • ห้ามนำมารับประทานหรือใช้เป็นยาหยอดหู
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีการทำงานของหัวใจและหลอดเลือดผิดปกติ ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ ผู้ที่มีการติดเชื้อในตา ผู้ที่มีบาดแผลที่ตา
  • ห้ามใส่คอนแทคเลนส์ขณะหยอดยาที่ตา
  • ขณะหยอดตาหากมีอาการปวดตามาก ระคายเคืองรุนแรง ให้หยุดการใช้ยาทันทีแล้วรีบมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
  • หลังการใช้ยานี้ตามระยะเวลาที่เหมาะสม (เช่น ประมาณ 3 - 4 วัน) แล้วอาการไม่ดีขึ้นหรืออาการเลวลง ควรต้องรีบกลับมาปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยไม่ต้องรอถึงวันนัด
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาแอนตาโซลีนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

แอนตาโซลีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาแอนตาโซลีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น การใช้ยาหยอดตาที่มีส่วนประกอบของ ยาแอนตาโซลีนร่วมกับยา Maprotiline (ยารักษาโรคซึมเศร้า) อาจก่อให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูงตามมา หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน

ควรเก็บรักษาแอนตาโซลีนอย่างไร?

ควรเก็บยาแอนตาโซลีนในช่วงอุณหภูมิ 20 - 25 องศาเซลเซียส (Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

แอนตาโซลีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาแอนตาโซลีนที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่ายเช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Antazallerge (แอนทาซอลเลอร์จ)Siam Bheasach
Allergis (แอลเลอร์จิส)Thai Nakorn Patana
CD-Oph (ซีดี-ออฟ)Novo Seng Thai
Histaoph (ฮีสตาออฟ)Seng Thai

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Antazoline [2016,June11]
  2. http://www.mims.com/thailand/drug/info/antazoline?mtype=generic [2016,June11]
  3. https://clicks.co.za/health/medicines/article-view/antazoline [2016,June11]
  4. http://www.mims.com/thailand/drug/info/naphazoline%20%2b%20antazoline/?type=brief&mtype=generic [2016,June11]
  5. http://www.mims.com/thailand/drug/info/antazallerge/?type=brief [2016,June11]