แอนจิโอเทนซิน II รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ (Angiotensin II receptor antagonist)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 23 กันยายน 2558
- Tweet
- บทนำ
- แอนจิโอเทนซิน II รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- แอนจิโอเทนซิน II รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- แอนจิโอเทนซิน II รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- แอนจิโอเทนซิน II รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ มีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- แอนจิโอเทนซิน II รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้แอนจิโอเทนซิน II รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ อย่างไร?
- แอนจิโอเทนซิน II รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาแอนจิโอเทนซิน II รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์อย่างไร?
- แอนจิโอเทนซิน II รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ความดันโลหิตสูง (Hypertension)
- โรคไต (Kidney disease)
- หัวใจโต (Cardiomegaly)
- เบาหวาน (Diabetes mellitus)
- ภาวะหัวใจล้มเหลว ภาวะหัวใจวาย (Heart failure)
- ยาขับปัสสาวะ (Diuretics Drugs)
บทนำ
ยาแอนจิโอเทนซิน II รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ (*Angiotensin II receptor antago nist) หรืออาจเรียกอีกในชื่ออื่นๆว่า
- ยาแอนจิโอเทนซิน รีเซพเตอร์ บล็อกเกอร์ (Angiotensin receptor blockers, ARBs)
- ยาเอที1- รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ (AT1-receptor antagonists ที่เป็นตัวย่อของ Angiotensin II receptor type1 antagonists) หรือ
- ยาซาร์แทน (Sartans)
ยาแอนจิโอเทนซิน II รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ เป็นกลุ่มยาที่นำมารักษาโรคความดันโลหิตสูงและโรคไตบางประเภทของผู้ป่วยโรคเบาหวาน โดยมีกลไกการออกฤทธิ์ที่ตัวรับ(Receptor) ที่เรียกว่า Angiotensin II receptor type1 ย่อว่า AT1 receptors ส่งผลให้เกิดการขยายหลอดเลือดแดงทำให้ความดันโลหิตลดลง
อนึ่ง *Angiotensin เป็นฮอร์โมนที่มาจากตับที่ทำให้ผนังหลอดเลือดแดงหดตัว แบ่งได้เป็น 4 ตัวหลักคือ Angiotensin I, Angiotensin II, Angiotensin III, Angiotensin IV
ยาในกลุ่มนี้ยังแบ่งออกเป็นรายการย่อยๆตามโครงสร้างทางเคมีดังนี้
- Losartan: เป็นยาตัวแรกของกลุ่มที่ถูกวางจำหน่าย ถูกดูดซึมได้ดีจากระบบทางเดินอาหาร จึงมีรูปแบบเป็นยารับประทานสามารถใช้ร่วมกับยาขับปัสสาวะกลุ่มไทอะไซด์ (Thia zide) ขณะใช้ยานี้ต้องระวังภาวะเกลือโพแทสเซียมในเลือดสูง
- Telmisartan: มีรูปแบบเป็นยารับประทานใช้เพียงวันละครั้ง มีผลข้างเคียงที่ทำให้รู้สึกวิงเวียน
- Irbesartan: เป็นยาชนิดรับประทาน นอกจากจะนำมาลดความดันโลหิตแล้วยังนำมาใช้ชะลอความเสื่อมของไตในผู้ป่วยโรคเบาหวานอีกด้วย สามารถใช้ร่วมกับยาขับปัสสาวะกลุ่มไทอะไซด์ (Thiazide) ได้เช่นเดียวกัน
- Azilsartan: เป็นยาที่พัฒนาโดยบริษัทยาชื่อ Takeda มีรูปแบบเป็นยารับประทาน ไม่ควรใช้ร่วมกับยา Aliskiren (ยาลดความดันโลหิตอีกชนิด) ด้วยจะก่อให้เกิดผลข้างเคียงสูงมาก
- Olmesartan: เป็นยารับประทาน ต้องระวังการใช้กับผู้ที่มีภาวะหลอดเลือดแดงที่ไตตีบ และอาจใช้ไม่ได้ผลกับผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจโต
- Valsartan: มีรูปแบบเป็นยารับประทาน นอกจากจะใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูงแล้วยังนำไปใช้บำบัดอาการหัวใจล้มเหลวอีกด้วย แต่ไม่เหมาะที่จะใช้กับผู้ป่วยโรคไต
- Candesartan: เป็นยารับประทาน สามารถใช้ร่วมกับยาขับปัสสาวะกลุ่มไทอะไซด์ (Thiazide) โดยใช้ในปริมาณต่ำๆ
- Eprosartan: ทางคลินิกเคยนำไปเปรียบเทียบกับยา Enalapril พบว่าให้ผลการรักษาที่เหนือกว่า
จากการศึกษาเรื่องเภสัชจลนศาสตร์ (Pharmacokinetics, การกระจายตัวของยาเมื่อเข้าสู่ร่างกาย) ของยากลุ่มนี้พบว่า ตัวยาถูกดูดซึมได้ระดับปานกลางจากระบบทางเดินอาหาร และสามารถจับกับพลาสมาโปรตีนในกระแสเลือดได้สูง ร่างกายต้องใช้เวลาเฉลี่ยประมาณ 5 - 24 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยากลุ่มนี้ออกจากร่างกายเป็นปริมาณครึ่งหนึ่งโดยผ่านไปกับปัสสาวะและอุจจาระ
คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุบางรายการของยากลุ่มนี้ลงในบัญชียาหลักแห่งชาติเช่น Losartan และจัดยากลุ่มนี้อยู่ในหมวดยาอันตราย
การใช้ยากลุ่มแอนจิโอเทนซิน II รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ มักต้องใช้ต่อเนื่อง และอาจมีการปรับเปลี่ยนขนาดการรับประทานหรือปรับเปลี่ยนตัวยาเพื่อความเหมาะสมกับร่างกายผู้ป่วย ดังนั้นแพทย์ผู้รักษาเท่านั้นที่สามารถปรับขนาดรับประทานหรือปรับเปลี่ยนชนิดยาได้ ห้ามมิให้ผู้ป่วยปรับขนาดรับประทานยาหรือชนิดยาด้วยตนเอง
แอนจิโอเทนซิน II รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาแอนจิโอเทนซิน II รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เช่น
- รักษาโรคความดันโลหิตสูง สามารถใช้เป็นยาเดี่ยวหรือจะใช้ร่วมกับยาอื่นในการรักษาก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นกับโครงสร้างทางเคมีของยารวมถึงการตอบสนองของผู้ป่วย
- รักษาภาวะหัวใจล้มเหลว/หัวใจวาย
- รักษาโรคไตในผู้ป่วยโรคเบาหวาน
แอนจิโอเทนซิน II รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยากลุ่มแอนจิโอเทนซิน II รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ มีกลไกการออกฤทธิ์โดยตัวยาจะออกฤทธิ์กับตัวรับที่อยู่ในผนังหลอดเลือดแดงซึ่งถูกเรียกว่า AT1 receptor (Angiotensin II receptor type1) จึงมีผลทำให้สาร Angiotensin II ไม่สามารถแสดงฤทธิ์ทำให้หลอดเลือดแดงหดตัวได้ หลอดเลือดแดงจึงคลายตัว นอกจากนี้ยังส่งผลลดการหลั่งสาร Aldosterone (ฮอร์โมนจากต่อมหมวกไตที่ช่วยควบคุมความดันโลหิต) และ Vasopressin (ฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองที่ช่วยควบคุมความดันโลหิตเช่นกัน) จากกลไกทั้งหมดจึงทำให้ตัวยามีฤทธิ์ควบคุมความดันโลหิตตามสรรพคุณ
แอนจิโอเทนซิน II รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยากลุ่มแอนจิโอเทนซิน II รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ มีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็นยาเม็ดชนิดรับประทานทั้งชนิดยาเดี่ยวและยาผสมร่วมกับยาอื่น
แอนจิโอเทนซิน II รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ มีขนาดรับประทานอย่างไร?
เนื่องจากยากลุ่มแอนจิโอเทนซิน II รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ มีหลายรายการ ความเหมาะสมของตัวยากับกลุ่มโรคจึงมีความแตกต่างกันออกไป และยังมีข้อห้ามใช้กับสตรีตั้งครรภ์ ผู้ป่วยที่มีภาวะหลอดเลือดแดงของไตตีบแข็ง จึงต้องมีการปรับขนาดการรับประทานเป็นกรณีๆไป การใช้ยากลุ่มนี้จึงขึ้นกับแพทย์ผู้ที่ทำการรักษาเท่านั้นที่จะสามารถบริหารยา/ใช้ยากลุ่มนี้ได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยากลุ่มแอนจิโอเทนซิน II รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ ผู้ ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยากลุ่มแอนจิโอเทนซิน II รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรรับประทานยากลุ่มแอนจิโอเทนซิน II รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ ให้ตรงเวลา หากลืมรับประทานยาในกลุ่มนี้สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า
แอนจิโอเทนซิน II รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาแอนจิโอเทนซิน II รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้เช่น มีอาการวิงเวียน ปวดศีรษะ มีระดับเกลือโพแทสเซียมในร่างกายสูงผิดปกติ ผื่นคัน ท้องเสีย อาหารไม่ย่อย เป็นตะคริว ปวดหลัง มีความดันโลหิตต่ำ ตับทำงานผิดปกติ นอนไม่หลับ คัดจมูก การใช้ยากลุ่มนี้อาจมีความเสี่ยงของภาวะหัวใจล้มเหลวได้เช่นกัน
มีข้อควรระวังการใช้แอนจิโอเทนซิน II รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ อย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้แอนจิโอเทนซิน II รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ อย่างไร?
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยากลุ่มนี้
- ห้ามปรับเปลี่ยนขนาดรับประทานเอง
- ห้ามใช้ยาในสตรีตั้งครรภ์และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
- ห้ามใช้ยากลุ่มนี้กับผู้ป่วยโรคไตชนิดหลอดเลือดแดงไตตีบ (Renal artery stenosis)
- ห้ามใช้ร่วมกับยา Aliskiren ในผู้ป่วยด้วยโรคเบาหวาน
- ระวังการใช้ยากลุ่มนี้กับเด็กและผู้สูงอายุ
- ระวังการใช้ยากลุ่มนี้กับผู้ป่วยด้วยไตทำงานผิดปกติ
- ระวังการใช้ยากลุ่มนี้กับผู้ป่วยที่ต้องรับประทานยาที่มีเกลือโพแทสเซียมเป็นส่วนประกอบเช่น ยา Potassium chloride
- หากพบอาการท้องเสียเรื้อรังหรือน้ำหนักตัวลดระหว่างใช้ยากลุ่มนี้ ควรกลับมาปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อแพทย์พิจารณาปรับเปลี่ยนแนวทางการรักษา
- การใช้ยากลุ่มนี้ทุกตัวมีระยะเวลาของการรักษา หากพบว่าอาการไม่ดีขึ้นหลังจากการใช้ยากลุ่มนี้ควรกลับไปปรึกษาแพทย์/ไปโรงพยาบาลอีกครั้ง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง:
ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมแอนจิโอเทนซิน II รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
แอนจิโอเทนซิน II รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาแอนจิโอเทนซิน II รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น
- การใช้ยา Olmesartan ร่วมกับยาที่มีเกลือโพแทสเซียมเป็นองค์ประกอบสามารถทำให้เกิดระดับเกลือโพแทสเซียมของร่างกายสูงขึ้น ผู้ป่วยจึงต้องคอยควบคุมมิให้เกิดภาวะขาดน้ำ หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการรับประทานให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นรายบุคคลไป
- การใช้ Losartan ร่วมกับ Aliskiren จะทำให้ระดับเกลือโพแทสเซียมในกระแสเลือดเพิ่มมากขึ้นและส่งผลให้ไตทำงานหนักโดยเฉพาะผู้สูงอายุ หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ Valsartan ร่วมกับยา Salicylamide (ยาแก้ปวด) จะทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตเพิ่มสูงมากขึ้นและส่งผลให้ไตทำงานหนัก หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการรับประทานให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นกรณีไป
- การใช้ Azilsartan ร่วมกับยา Hydrocodone จะทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ อาจพบอาการปวดศีรษะ วิงเวียนคล้ายจะเป็นลมตามมา หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
ควรเก็บรักษาแอนจิโอเทนซิน II รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ อย่างไร?
ควรเก็บยากลุ่มแอนจิโอเทนซิน II รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ ในช่วงอุณหภูมิ 2 - 25 องศาเซลเซียส (Celsius) ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
แอนจิโอเทนซิน II รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยากลุ่มแอนจิโอเทนซิน II รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิตเช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Normetec (นอร์มีเทค) | Pfizer |
Olmetec (โอล์มีเทค) | Pfizer |
Olmetec Plus (โอล์มีเทค พลัส) | Pfizer |
Cozaar (โคซา) | MSD |
Favotan (ฟาโวแทน) | Hanmi Pharm |
Fortzaar (ฟอร์ทซา) | MSD |
Hyzaar (ไฮซา) | MSD |
Lanzaar 50 (แลนซา 50) | Berlin Pharm |
Loranta (ลอแรนตา) | Siam Bheasach |
Losacar 50 (ลอซาแคร์ 50) | Zydus Cadila |
Lasartan GPO (ลาซาร์แทน จีพีโอ) | GPO |
Tanzaril (แทนซาริล) | Actavis |
Tosan (โทแซน) | T.O. Chemicals |
Co-Diovan (โค-ดิโอแวน) | Novartis |
Dioforge-160 (ดิโอฟอร์ก-160) | Millimed |
Diovan (ไดโอแวน) | Novartis |
Exforge (เอ็กซ์ฟอร์ก) | Novartis |
Exforge HCT (เอ็กซ์ฟอร์ก เฮชซีที) | Novartis |
Valatan (วาลาแทน) | Actavis |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Angiotensin_II_receptor_antagonist#Adverse_effects [2015,Sept5]
- http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/high-blood-pressure/in-depth/angiotensin-ii-receptor-blockers/art-20045009 [2015,Sept5]
- http://www.drugs.com/drug-interactions/losartan-index.html?filter=3&generic_only= [2015,Sept5]
- http://www.drugs.com/drug-interactions/acetaminophen-chlorpheniramine-phenylephrine-salicylamide-with-diovan-44-0-2288-1519.html [2015,Sept5]
- http://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=losartan [2015,Sept5]
- http://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=valsartan [2015,Sept5]
- http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC1200815/ [2015,Sept5]