แรนิทิดีน (Ranitidine)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 1 กันยายน 2563
- Tweet
- บทนำ
- ยาแรนิทิดีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ยาแรนิทิดีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาแรนิทิดีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาแรนิทิดีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ยาแรนิทิดีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาแรนิทิดีนอย่างไร?
- ยาแรนิทิดีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาแรนิทิดีนอย่างไร?
- ยาแรนิทิดีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคแผลเปบติค (Peptic ulcer) / โรคแผลในกระเพาะอาหาร (Gastric ulcer)
- กระเพาะอาหารอักเสบ (Gastritis)
- กรดไหลย้อน (Gastroesophageal reflux disease)
- โรคติดเชื้อเอชไพโลไร (H.pylori infection)
- เลือดออกในทางเดินอาหาร (Gastrointestinal bleeding or GI bleeding)
บทนำ
ยาแรนิทิดีน หรือ รานิทิดีน (Ranitidine) เป็นยาที่เป็นสารเคมีที่มีกลไกแข่งขันหรือยับยั้งการทำงานของสารฮีสตามีน (Histamine) ที่เรียกว่า Histamine H2 receptor antagonist ทำ ให้การหลั่งกรดในกระเพาะอาหารลดน้อยลง จึงถูกนำมาใช้รักษาแผลในกระเพาะอาหาร และลดภาวะกรดไหลย้อน
ยาแรนิทิดีนเกิดขึ้นจากทีมวิจัยของบริษัทแกล็กโซสมิทไคล์น (Glaxo) อีกทั้งยังทำการศึก ษาเปรียบเทียบกับยาลดกรดตัวอื่น เช่น ไซเมทิดีน (Cimetidine) พบว่าผลข้างเคียงของแรนิทิดีนมีน้อยกว่า จึงเป็นเหตุผลหนึ่งในเชิงการตลาดที่จะนำยาแรนิทิดีนเข้าสู่สถานพยาบาลหลายแห่งของประเทศ
องค์การอนามัยโลก จัดยาแรนิทิดีนอยู่ในหมวดยาจำเป็นของระบบสาธารณสุขมูลฐานของแต่ละประเทศ สำหรับประเทศไทยเราจัดแรนิทิดีนอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติและอยู่ในหมวดยาอันตราย เพราะมีผลข้างเคียงและข้อห้ามใช้จำเพาะในแต่ละกลุ่มของผู้ป่วย
เมื่อร่างกายได้รับยาแรนิทิดีน ตัวยาจะจับกับโปรตีนในกระแสเลือดประมาณ 15% จากนั้น แรนิทิดีนจะถูกลำเลียงส่งไปที่อวัยวะตับ เพื่อเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมี ต้องใช้เวลาประมาณ 2 -3 ชั่วโมงในการกำจัดยาออกจากร่างกาย 50% โดยผ่านไปกับปัสสาวะ
ถึงแม้ยาแรนิทิดีนจะถูกใช้รักษาผู้ป่วยทั่วโลกเป็นจำนวนมากก็จริง แต่ไม่ได้หมายความว่า ประชาชนทั่วไปจะหาซื้อมารับประทานเองได้อย่างปลอดภัย ดังนั้น การใช้ยานี้จึงยังคงต้องอยู่ภายใต้ดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น
ยาแรนิทิดีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาแรนิทิดีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- รักษาแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้
- รักษาและบรรเทาอาการกรดไหลย้อน
- รักษาภาวะกรดหลั่งออกมามากเกินไป เช่น โรค Zollinger - Ellison syndrome
- ใช้ควบคู่กับยาแก้ปวดกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) เพื่อป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอา หาร
- ใช้เป็นยาร่วมกับยาอื่นในการกำจัดเชื้อแบคทีเรีย H.pylori ที่อยู่ในกระเพาะอาหาร (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง โรคติดเชื้อเอชไพโลไร)
- ป้องกันภาวะกรดในกระเพาะอาหารสำลักเข้าสู่หลอดลมก่อนการผ่าตัด (Acid - aspira tion pneumonia)
- รักษาภาวะเลือดออกในกระเพาะอาหาร (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ภาวะเลือดออกในทางเดินอาหาร)
ยาแรนิทิดีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาแรนิทิดีนมีกลไกการออกฤทธิ์ที่ผนังของกระเพาะอาหาร โดยจะแข่งขันและป้องกันไม่ ให้สารฮีสตามีน (Histamine) เข้าจับกับตัวรับ (Receptor) ที่เรียกว่า Histamine H2 receptors อีกทั้งยังป้องกันไม่ให้ Histamine ไปกระตุ้นการหลั่งกรดของกระเพาะอาหาร ด้วยกลไกดัง กล่าว อาการของโรคจะค่อยๆหายและดีขึ้นเป็นลำดับ
ยาแรนิทิดีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาแรนิทิดีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- รูปแบบยาเม็ด ขนาดความแรง 150 และ 300 มิลลิกรัม/เม็ด
- รูปแบบยาฉีด ขนาดความแรง 50 มิลลิกรัม/2 มิลลิลิตร
ยาแรนิทิดีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาแรนิทิดีนมีขนาดรับประทาน เช่น
ก. ขนาดรับประทานของยาแรนิทิดีน สำหรับผู้ใหญ่ และเด็ก (นิยามคำว่าเด็ก)ที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป เช่น
- สำหรับแผลในกระเพาะ - ลำไส้ชนิดเฉียบพลัน: รับประทานครั้งละ 150 มิลลิกรัมเช้า -เย็น หรือรับประทานครั้งละ 300 มิลลิกรัมวันละครั้ง ก่อนนอน เป็นเวลาติดต่อกัน 4 สัปดาห์ หากต้องรับประทานนานกว่านี้ ให้ลดขนาดรับประทานเป็น 150 มิลลิกรัมวันละครั้ง ก่อนนอน
- สำหรับป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหารเมื่อใช้ร่วมกับยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs: รับประทานครั้งละ 150 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เช้า - เย็น หรือรับประทานครั้งละ 300 มิลลิกรัมครั้งเดียวก่อนนอน เป็นเวลาติดต่อกัน 8 - 12 สัปดาห์
- สำหรับรักษาแผลในลำไส้ที่มีการติดเชื้อ H.pylori ร่วมด้วย: รับประทานครั้งละ 300 มิลลิกรัมวันละครั้ง ก่อนนอน หรือรับประทานครั้งละ 150 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง กรณีโรคนี้ จำเป็นต้องใช้ยาแรนิทิดีนร่วมกับตัวยาอื่นๆเช่น ยาปฏิชีวนะ ทั้งนี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์
- สำหรับรักษาอาการกรดไหลย้อน: รับประทานครั้งละ 150 มิลลิกรัมวันละ 2 ครั้ง เช้า - เย็น หรือรับประทานครั้งละ 300 มิลลิกรัมวันละครั้ง ก่อนนอน เป็นเวลา 8 - 12 สัปดาห์ หากอาการโรคมีความรุนแรงมากอาจต้องรับประทานเป็นครั้งละ 150 มิลลิกรัมวันละ 4 ครั้ง เป็นเวลา 12 สัปดาห์ขึ้นไป
- สำหรับโรค Zollinger - Ellison syndrome: รับประทานครั้งละ 150 มิลลิกรัมวันละ 3 ครั้ง ขนาดรับประทานอาจปรับสูงได้ถึง 6 กรัม/วัน สามารถรับประทานยาก่อนหรือหลังอาหารก็ได้
ข. เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี: เช่น ขนาดรับประทานของยาแรนิทิดีนในเด็กที่อายุต่ำกว่า 12 ปี จะขึ้นกับน้ำหนักตัวเด็ก และอายุของเด็ก ซึ่งการใช้ยาต้องอยู่ในดุลพินิจของแพทย์เท่านั้น
อนึ่ง: ยาแรนิทิดีนยังมีขนาดรับประทานอีกหลายอาการ หลายภาวะ/โรค ที่มีขนาดยาแตกต่างกันออกไปที่มิได้กล่าวถึง จึงเป็นเหตุผลว่า การใช้ยานี้อย่างถูกต้องปลอดภัย ควรต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาแรนิทิดีน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาแรนิทิดีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาแรนิทิดีน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
ยาแรนิทิดีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาแรนิทิดีนอาจก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
- ลมพิษ
- มีไข้
- หลอดลมหดเกร็งทำให้หายใจลำบาก
- ความดันโลหิตต่ำ
- เจ็บหน้าอก
มีข้อควรระวังการใช้ยาแรนิทิดีนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาแรนิทิดีน เช่น
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่แพ้ยา แรนิทิดีน
- ระวังการใช้ยานี้กับ ผู้ป่วยโรคมะเร็งในระบบทางเดินอาหาร ผู้ป่วยด้วยโรคไต
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ที่มีประวัติแพ้แสงแดด หญิงตั้งครรภ์ หญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร รวมถึงเด็กทารก จนกระทั่งผู้สูงอายุ
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาแรนิทิดีนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด เสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด ) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ยาแรนิทิดีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาแรนิทิดีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาแรนิทิดีนร่วมกับยาบางตัวที่รักษาโรคเอชไอวี /ยาต้านเอชไอวี อาจทำให้การดูดซึมของยาต้านเอชไอวีลดลง ส่งผลต่อประสิทธิผลของการรักษา หากต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการรับประทานให้เหมาะสม ยารักษาโรคเอชไอวีดังกล่าว เช่นยา Atazanavir
- การใช้ยาแรนิทิดีนร่วมกับยาบางตัวที่รักษาโรคไวรัสตับอักเสบ-บี /ยาต้านไวรัสตับอักเสบบี เช่น Adefovir สามารถก่อให้เกิดผลข้างเคียงจากยาทั้ง 2 เพิ่มมากขึ้น แพทย์จะปรับขนาดการรับประทานให้เหมาะสมเป็นแต่ละกรณีผู้ป่วย
- การใช้ยาแรนิทิดีนร่วมกับยาขยายหลอดลม เช่นยา Aminophylline, Theophylline อาจเกิดผลข้างเคียงของยา Aminophylline และ Theophylline เพิ่มมากขึ้น เช่น คลื่นไส้ อาเจียน นอนไม่หลับ ใจสั่น อาจมีอาการชักร่วมด้วย จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน หรือ แพทย์จะปรับขนาดการรับประทานของยาให้เหมาะสมเป็นแต่ละกรณีไป
- การใช้ยาแรนิทิดีนร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น Warfarin สามารถทำให้เกิดอาการตกเลือดได้ หากพบอาการตกเลือด อาเจียนเป็นเลือด ปัสสาวะเป็นเลือด และ/หรืออุจจาระเป็นเลือด ปวดศีรษะ วิงเวียน ควรต้องรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเพื่อการรักษา และเพื่อแพทย์พิจารณาปรับขนาดการรับประทานของยาทั้งคู่
ควรเก็บรักษายาแรนิทิดีนอย่างไร?
สามารถเก็บยาแรนิทิดีน เช่น
- เก็บยาภายใต้อุณหภูมิห้อง
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด และความชื้น
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำ และ
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ยาแรนิทิดีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาแรนิทิดีน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Acicare (เอซิแคร์) | Unique |
Aciloc (เอซิล็อก) | Cadila |
Histac (ฮีสแท็ก) | Ranbaxy |
Ramag (แรแม็ก) | T P Drug |
Ranicid (แรนิซิด) | M & H Manufacturing |
Ranid (แรนิด) | T. Man Pharma |
Ranidine (แรนิดีน) | Biolab |
Ranin-25 (แรนิน-25) | Umeda |
Ranit-VC Injection (แรนิท-วีซี อินเจ็กชั่น) | Vesco Pharma |
Rantac 150 (แรนแท็ก 150) | Medicine Products |
Rantodine (แรนโทดีน) | Utopian |
Ratic (แรติก) | Atlantic Lab |
Ratica (แรติกา) | L. B. S. |
R-Loc (อาร์-ล็อก) | Zydus Cadila |
Xanidine (แซนิดีน) | Berlin Pharm |
Zantac (แซนแท็ก) | GlaxoSmithKline |
Zantidon (แซนทิดอน) | Siam Bheasach |
บรรณานุกรม
1. http://en.wikipedia.org/wiki/Ranitidine [2020,Aug29]
2. http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fUSA%2fdrug%2finfo%2franitidine%2f [2020,Aug29]
3. https://mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fmims.com%2fThailand%2fdrug%2finfo%2fZantac%2f%3ftype%3dbrief [2020,Aug29]
4. http://www.medicinenet.com/ranitidine_liquid-_oral/article.htm[2020,Aug29]