แมกนิเซียมไฮดรอกไซด์ (Magnesium hydroxide)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 22 กุมภาพันธ์ 2563
- Tweet
- บทนำ
- ยาแมกนิเซียมไฮดรอกไซด์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ยาแมกนิเซียมไฮดรอกไซด์ออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาแมกนิเซียมไฮดรอกไซด์มีรูปแบบจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาแมกนิเซียมไฮดรอกไซด์มีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ยาแมกนิเซียมไฮดรอกไซด์มีผลไม่พึงประสงค์ไหม?
- ยาแมกนิเซียมไฮดรอกไซด์มีปฏิกิริยากับยาตัวอื่นไหม?
- มีข้อควรระวังไหมเมื่อกินยาแมกนิเซียมไฮดรอกไซด์?
- ควรเก็บรักษายาแมกนิเซียมไฮดรอกไซด์อย่างไร?
- ยาแมกนิเซียมไฮดรอกไซด์มีชื่ออื่นๆไหม? ผลิตโดยบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ท้องผูก (Constipation)
- ท้องเสีย (Diarrhea)
- โรคทางเดินอาหาร โรคระบบทางเดินอาหาร (Digestive disease)
- ยาแก้ท้องผูก (Anticonstipation)
- โรคไต (Kidney disease)
- ไตวาย ไตล้มเหลว (Renal failure)
- ยาลดกรด (Antacids)
- วิธีใช้ ยาลดกรด ยาแก้โรคกระเพาะ (Guide to safe use of antacid)
บทนำ
ยาแมกนิเซียมไฮดรอกไซด์ (Magnesium hydroxide) หรือที่รู้จักกันดีในชื่อการค้าว่า Milk of Magnesia/มิลค์ออฟแมกนีเซีย (ย่อว่า MOM/เอ็มโอเอ็ม) เป็นตัวยาหนึ่งในกลุ่มยาแก้ท้องผูก (ยาระบาย) เป็นยาน้ำแขวนตะกอนมีลักษณะคล้ายน้ำนม มีฤทธิ์เป็นด่างอ่อน
ยาแมกนิเซียมไฮดรอกไซด์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาแมกนิเซียมไฮดรอกไซด์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้:
- ใช้เป็นยาระบาย/ยาแก้ท้องผูก
- และใช้เป็น ยาลดกรด
- โดยมีขนาดการรับประทานที่แตกต่างกัน เมื่อใช้เป็นยาลดกรด ขนาดรับประทานจะต่ำกว่าเมื่อใช้เป็นยาแก้ท้องผูก
ยาแมกนิเซียมไฮดรอกไซด์ออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาแมกนิเซียมไฮดรอกไซด์ออกฤทธิ์ โดยช่วยเพิ่มปริมาณของน้ำในลำไส้จนเกิดการกระตุ้นให้ลำไส้บีบตัวและขับถ่ายอุจจาระได้
ยาแมกนิเซียมไฮดรอกไซด์มีรูปแบบจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาแมกนิเซียมไฮดรอกไซด์มีรูปแบบจัดจำหน่ายดังนี้
- ยาน้ำแขวนตะกอน ขนาด 400 มิลลิกรัม (มก.) ในสารละลาย 5 มิลลิลิตร และ 8 กรัมใน 100 มิลลิลิตร
- ยาเม็ดขนาด 300 มก.
ยาแมกนิเซียมไฮดรอกไซด์มีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาแมกนิเซียมไฮดรอกไซด์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้:
- ใช้เป็นยาระบาย/ยาแก้ท้องผูก
- และใช้เป็น ยาลดกรด
- โดยมีขนาดการรับประทานที่แตกต่างกัน เมื่อใช้เป็นยาลดกรด ขนาดรับประทานจะต่ำกว่าเมื่อใช้เป็นยาแก้ท้องผูก
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมทั้งยาแมกนิเซียมไฮดรอกไซด์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิดและอาการจากการแพ้ยา เช่น กินยาแล้ว คลื่นไส้มาก หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อนแล้ว
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือไม่ หรือกำลังให้นมบุตรหรือไม่ เพราะยาหลายตัวสามารถผ่านรกหรือผ่านเข้าสู่น้ำนม และเข้าสู่ทารกก่อผลข้างเคียงต่อทารกได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาแมกนิเซียมไฮดรอกไซด์ สามารถรับประทานยาเมื่อนึกขึ้นได้ หากการลืมทานยาใกล้กับมื้อถัดไป ให้รับประทานขนาดปกติโดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า
ยาแมกนิเซียมไฮดรอกไซด์มีผลไม่พึงประสงค์ไหม?
ผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา ( ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง ) ของยาแมกนิเซียมไฮดรอกไซด์ เช่น
- ระคายเคืองในระบบทางเดินอาหาร
- ท้องเสีย
- เป็นตะคริวที่ท้อง
- และอาจเกิดภาวะเป็นพิษจากเกลือแมกนีเซียม (กดการทำงานของระบบประสาทจึงง่วงซึม ความดันโลหิตต่ำ กล้ามเนื้ออ่อนแรง หัวใจเต้นผิดปกติ คลื่นไส้ และอาเจียน)
ยาแมกนิเซียมไฮดรอกไซด์มีปฏิกิริยากับยาตัวอื่นไหม?
การกินยาแมกนิเซียมไฮดรอกไซด์ อาจมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- เมื่อกินร่วมกับยาปฏิชีวนะบางกลุ่ม จะลดการดูดซึมของยาปฏิชีวนะกลุ่มนั้น ทำให้ฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียลดลง ยาปฏิชีวนะดังกล่าว เช่น
- เตตราไซคลีน (Tetracycline)
- คลอเตตราไซคลีน (Chlortetracycline)
- และดอกซีไซคลีน (Doxycycline)
- เมื่อกินร่วมกับยาบำรุงร่างกายทื่มีธาตุเหล็กเป็นส่วนประกอบ จะเกิดการยับยั้งการดูดซึมธาตุเหล็ก ยาที่มีองค์ประกอบของธาตุเหล็กเช่น
- เฟอร์รัสซัลเฟท (Ferrous sulphate)
- เฟอร์ไรฟอสเฟท (Ferri phosphas)
- เฟอร์รัส ซัคซิเนท (Ferrous succinate)
- และ เฟอร์รัสออกซาเลท (Ferrous oxalate)
มีข้อควรระวังไหมเมื่อกินยาแมกนิเซียมไฮดรอกไซด์?
ข้อควรระวังเมื่อกินยาแมกนิเซียมไฮดรอกไซด์ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
- ระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่พึ่งผ่าตัดลำไส้ โดยเฉพาะการผ่าตัดลำไส้ใหญ่ จากผลข้างเคียงของยานี้ที่อาจทำให้เกิดท้องเสียจึงอาจส่งผลต่อแผลตัดต่อลำไส้ได้ จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยานี้เสมอ
- อาจก่อให้เสียสมดุลของเกลือแร่ในร่างกายจากการท้องเสีย
- หลีกเลี่ยงการใช้ในหญิงมีครรภ์เพราะอาจส่งผลถึงความพิการของทารกในครรภ์ได้
- หลีกเลี่ยงการใช้ในผู้ป่วยโรคไต เพราะแมกนีเซียมกำจัดออกจากร่างกายทางไต จึงอาจกระตุ้นให้ไตวายได้ และ
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามแบ่งยาใหผู้อื่นใช้
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิดที่รวมถึงยาแมกนิเซียมไฮดรอกไซด์ ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ควรเก็บรักษายาแมกนิเซียมไฮดรอกไซด์อย่างไร?
ควรเก็บรักษา ยาแมกนิเซียมไฮดรอกไซด์ เช่น
- ยาแมกนิเซียมไฮดรอกไซด์สามารถเก็บที่อุณหภูมิห้องได้ แต่ควรเก็บให้พ้นแสง/แสงแดด และความร้อน
- และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ยาแมกนิเซียมไฮดรอกไซด์มีชื่ออื่นๆไหม? ผลิตโดยบริษัทอะไรบ้าง?
ยาแมกนิเซียมไฮดรอกไซด์ มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
ALMA (อัลมา) | Millimed |
ALMAG (อัลแมก) | B L Hua |
ALTICON (อัลติคอน) | K.B. Pharma |
EMULAX M.O.M.(อีมูแลค เอ็ม.โอ. เอ็ม.) | British Dispensary |
MAG-MAG SUSPENSION (แมก-แมก ซัสเพนชั่น) | K.B.pharm |
MAGNESIA TAB (แมกนีเซีย แท็ป) | Charoen Bhaesaj |
บรรณานุกรม
1. นพ. สมชาย ลีลากุศลวงศ์. (2551). แนวทางในการดูแลผู้ป่วยโรคท้องผูก ท้องเสีย และ IBS (ดีวีดี). กรุงเทพฯ: โรงแรมสยามซิตี้
2. Laxative. http://www.mims.com/Thailand/drug/ [2020,Feb15]
3. Laxative. http://en.wikipedia.org/wiki/Laxative [2020,Feb15]
4. https://en.wikipedia.org/wiki/Magnesium_hydroxide [2020,Feb15]
5. https://www.drugs.com/mtm/magnesium-hydroxide.html [2020,Feb15]