แผลเปบติค (Peptic ulcer) / แผลในกระเพาะอาหาร (Gastric ulcer)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

โรคแผลเปบติค (Peptic ulcer) หรือ เรียกย่อว่า โรค พียู (PU) หรือ พียูดี (PUD, Pep tic ulcer disease) หรืออาจเรียกว่า โรคแผลในกระเพาะอาหาร (Gastric ulcer) ได้แก่ โรคซึ่งเกิดมีแผลขึ้นในกระเพาะอาหาร และ/หรือ ลำไส้เล็กส่วนต้นที่เรียกว่า ดูโอดีนัม (Duode num) และบางครั้งเป็นส่วนน้อย อาจเกิดแผลในบริเวณปลายหลอดอาหารส่วนที่อยู่ต่อกับกระเพาะอาหารร่วมด้วยได้ ทั้งนี้ เกิดจากเยื่อเมือกบุภายในทางเดินอาหารเหล่านี้ถูกทำลายโดยน้ำย่อยจากกระเพาะอาหาร ชื่อ เปบซิน (Pepsin) ซึ่งเป็นที่มาของชื่อโรคว่า แผลเปบติค ซึ่งเปบซินเป็นน้ำย่อยโปรตีนที่ทำงานร่วมกับกรดในกระเพาะอาหาร โดยมีกรดเป็นตัวปลุกฤทธิ์ (Activate)ให้น้ำย่อยนี้มีประสิทธิภาพในการย่อยเพิ่มขึ้น

เนื่องจาก แผลสามารถเกิดได้ทั้งในกระเพาะอาหาร และในลำไส้เล็กดังกล่าวแล้ว ดัง นั้น โรคนี้เมื่อเกิดแผลเฉพาะในกระเพาะอาหาร จึงเรียกว่า “โรคแผลในกระเพาะอาหาร (Gastric หรือ Stomach ulcer หรือ เรียกย่อว่า จียู, GU) “ และเมื่อเกิดแผลเฉพาะในลำไส้เล็ก จึงเรียกว่า “โรคแผลในลำไส้เล็ก (Duodenal ulcer หรือ เรียกย่อว่า ดียู, DU)”

ในบทความนี้ขอรวมเรียกโรคที่เกิดแผลทั้งในกระเพาะอาหาร และ/หรือลำไส้เล็กว่า โรคแผลเปบติต เพราะเป็นโรคที่มีสาเหตุ อาการ การวินิจฉัย ตลอดจนการรักษาและอื่นๆเหมือนกัน

โรคแผลเปบติค เป็นโรคพบได้บ่อยโรคหนึ่ง พบได้สูงในประเทศด้อยพัฒนา (แต่ไม่มีสถิติชัดเจน) พบได้ในทุกอายุ ตั้งแต่ในเด็กไปจนถึงผู้สูงอายุ โดยพบได้สูงขึ้นเรื่อยๆเมื่อสูง อายุขึ้น ทั้งนี้อัตราเกิดโรคใกล้เคียงกันทั้งในผู้หญิงและในผู้ชาย ในสหรัฐอเมริกา พบคนเป็นโรคนี้ได้ประมาณ 350,000-500,000 คนต่อปี โดย 70% พบในช่วงอายุ 25-64 ปี

 

โรคแผลเปบติคมีสาเหตุจากอะไร?

แผลในกระเพาะอาหาร

สาเหตุพบบ่อยของแผลเปบติคเกิดจากการติดเชื้อ แบคทีเรีย ชื่อ เอช ไพโลไร (H. pylori หรือ Helicobacter pylori) พบได้ประมาณ 60% ของแผลในกระเพาะอาหารทั้งหมด และเป็นประมาณ 90% ของแผลในลำไส้เล็กดูโอดีนัมทั้งหมด

เอช ไพโลไร เป็นแบคทีเรียที่มีคนเป็นรังโรค แต่พบในแมวเลี้ยง และสุนัขเลี้ยงได้บ้าง เป็นแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในส่วนที่มีความเป็นกรดสูง ซึ่ง คือ กระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กดูโอดีนัมนั่นเอง เป็นแบคทีเรียที่ติดต่อได้จากการสัมผัสน้ำลายของผู้ติดเชื้อแบคทีเรียนี้ แต่มีรายงานพบแบคทีเรียนี้ในอุจจาระได้ ดังนั้นการติดต่ออีกทาง คือ การกินแบคทีเรียจากอาหาร และน้ำดื่มปนเปื้อนแบคทีเรียนี้ จากการขาดสุขอนามัยพื้นฐาน จึงเป็นสาเหตุให้พบโรคแผลเปบติกได้สูงขึ้นในประเทศด้อยพัฒนาหรือกำลังพัฒนา ดังกล่าวแล้ว

ส่วนสาเหตุอื่นๆที่พบได้ คือ

  • จากผลข้างเคียงของยาต้านการอักเสบ/ยาแก้อักเสบใน กลุ่มยาแก้ปวด เอ็นเสดส์ (NSAIDs, Non-steroidal anti-inflammatory drugs) ที่ใช้รักษาโรคปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อต่างๆ และโรคเกาต์ เช่น ยาแอสไพริน ยาเซเลโคซิบ (Celecoxib) ยาไดโคลฟีแนค (Diclofenac) ยาอินโดเมธาซิน (Indomethacin) และยา ไอบูโปร เฟน (Ibuprofen)
  • ความเครียด โดยเฉพาะเมื่อร่างกายมีความเครียดสูงจากการเจ็บป่วย รุนแรง หรือ อุบัติเหตุต่อสมอง จะส่งผลให้กระเพาะอาหารสร้างกรดมากขึ้น และเมื่อร่วมกับเยื่อเมือกของกระเพาะอาหาร และลำไส้ขาดเลือดจากการเจ็บป่วยเหล่า นี้ จึงเกิดเป็นแผลได้ง่าย
  • บุหรี่ แต่บางการศึกษาพบว่า การสูบบุหรี่ไม่ใช่สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดแผลเปบติค แต่ทำให้อาการของแผลเปบติครุนแรงขึ้น และยังเป็นสาเหตุให้โรคย้อน กลับเป็นซ้ำภายหลังรักษาหายแล้ว ทั้งนี้เพราะสารพิษในบุหรี่กระตุ้นให้กระเพาะอาหารหลั่งกรดเพิ่มขึ้น
  • แอลกอฮอล์ ไม่ได้เป็นสาเหตุโดยตรงให้เกิดแผลเปบติค แต่เป็นสาเหตุก่อการระคายเคืองต่อเยื่อเมือกของกระเพาะอาหารและของลำไส้เล็ก จึงทำให้อาการของโรครุนแรงขึ้น
  • โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร พบเป็นสาเหตุของแผลในกระเพาะอาหารได้ประมาณ 4%
  • พันธุกรรม เพราะพบโรคได้สูงกว่าในคนมีประวัติครอบครัวเป็นแผลในลำไส้เล็กดูโอดีนัม
  • โรคบางโรคที่พบได้น้อยมากๆ ที่กระตุ้นเซลล์กระเพาะอาหารให้หลั่งกรดมากขึ้น เช่น โรคเนื้องอกบางชนิดของกระเพาะอาหาร

โรคแผลเปบติคมีอาการอย่างไร?

อาการสำคัญของโรคแผลเปบติค คือ ปวดท้องบริเวณยอดอกหรือบริเวณใต้ลิ้นปี่ (Epi gastrium) มักปวดเมื่อหิว หรือหลังกินอาหารแล้วประมาณ 2-5 ชั่วโมง อาจตื่นกลางคืนจากปวดท้อง ซึ่งอาการปวดท้องนี้จะดีขึ้นเมื่อ กินอาหาร หรือกินยาเคลือบกระเพาะ หรือกินยาลดกรด

อาการอื่นๆที่พบได้ คือ

  • คลื่นไส้ อาจร่วมกับมีอาเจียนบางครั้ง
  • เบื่ออาหาร
  • ผอมลง
  • อาจอาเจียนเป็นเลือด หรือ มีอุจจาระเป็นสีดำเหมือนยางมะตอย เมื่อมีเลือด ออกจากแผล
  • ภาวะลำไส้อุดตัน จากแผลก่อให้เกิดพังผืด จึงส่งผลให้ทางเดินในกระเพาะอาหารและ/หรือลำไส้เล็กตีบแคบลง ซึ่งอาการคือ ปวดท้องรุนแรง ร่วมกับอาเจียน โดยเฉพาะหลังกินอาหาร และดื่มน้ำ และไม่สามารถผายลมได้
  • อาการจากกระเพาะอาหาร หรือลำไส้เล็กทะลุ โดยจะมีอาการปวดท้องรุนแรงทันที ไม่บรรเทาด้วยยาแก้ปวด และอาจมีไข้สูงร่วมด้วย ทั้งนี้จากมีการอักเสบติดเชื้อรุนแรงของเยื่อบุช่องท้อง (เยื่อบุช่องท้องอักเสบ)

 

แพทย์วินิจฉัยโรคแผลเปบติคได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคแผลเปบติคได้จาก ประวัติอาการ การตรวจร่างกาย อาจมีการตรวจภาพกระเพาะอาหาร และลำไส้ด้วยเอกซเรย์กลืนแป้ง แต่วิธีนี้มักไม่นิยมในปัจจุบัน หรือการตรวจภาพกระเพาะอาหารและช่องท้องด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ แต่การตรวจที่ให้ผลแน่ นอน คือ การส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหาร และลำไส้ ร่วมกับการตัดชิ้นเนื้อเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา และอาจมีการตรวจอื่นๆเพิ่มเติม ทั้งนี้ขึ้นกับอาการผู้ป่วยและดุลพินิจของแพทย์ เช่น การตรวจหาสารบางชนิดในอุจจาระซึ่งสร้างโดยเชื้อ เอชไพโลไร หรือการตรวจสารบางชนิดที่เชื้อนี้สร้างและร่างกายกำจัดออกทางการหายใจ

 

รักษาโรคแผลเปบติคได้อย่างไร?

แนวทางการรักษาโรคแผลเปบติค ขึ้นกับสาเหตุ เช่น กินยาปฏิชีวนะเมื่อเกิดจากติดเชื้อ เอช ไพโลไร หรือการปรับเปลี่ยนการใช้ยา เมื่อเกิดจากยาในกลุ่มเอ็นเสดส์ แต่ร่วมกับกินยาลดกรด และ/หรือ ยาเคลือบกระเพาะอาหาร ซึ่งมีหลากหลายตัวยามาก ทั้งนี้การจะเลือกใช้ยาตัวใดอยู่ในดุลพินิจของแพทย์

นอกจากนั้น คือ การรักษาประคับประคองตามอาการ เช่น ยาแก้ปวดชนิดคลายการบีบตัวของกระเพาะอาหาร/ยาแก้ปวดท้อง และยาบรรเทาอาการคลื่นไส้/ ยาแก้คลื่นไส้อาเจียน และยังอาจมีการผ่าตัดกระเพาะอาหาร หรือลำไส้ เมื่อแผลมีขนาดใหญ่มาก หรือแผลไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยา หรือเมื่อมีกระเพาะอาหาร หรือลำไส้อุดตัน หรือทะลุ

มีผลข้างเคียงจากโรคแผลเปบติคไหม?

ผลข้างเคียง (ผลแทรกซ้อน) จากแผลเปบติค มักเป็นภาวะรุนแรง และอาจเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้ โดยผลข้างเคียงที่พบได้ คือ

  • มีเลือดออกจากแผล ส่งผลให้อาเจียนเป็นเลือด หรือ ถ่ายอุจจาระสีดำเหมือนยางมะตอย
  • แผลก่อให้เกิดการตีบตันของกระเพาะอาหาร หรือลำไส้เล็ก จึงก่อให้เกิดภาวะกระเพาะอาหาร และ/หรือลำไส้เล็กอุดตัน เกิดการปวดท้องอย่างรุนแรงร่วมกับอาเจียน โดย เฉพาะภายหลังกินอาหาร และดื่มน้ำ และมักผายลมไม่ได้
  • กระเพาะอาหาร และ/หรือลำไส้ทะลุ เป็นสาเหตุให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียรุนแรงของช่องท้อง (เยื่อบุช่องท้องอักเสบ)

 

โรคแผลเปบติครุนแรงไหม?

โรคแผลเปบติค โดยทั่วไปไม่รุนแรงเมื่อทราบสาเหตุและได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง เป็นโรคที่รักษาได้หาย แต่ถ้าเกิดจากโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร เป็นโรคมีความรุนแรงสูงมาก

 

ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?

การดูแลตนเอง และการพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเมื่อเป็นโรคแผลเปบติค คือ

  • ปฏิบัติตามแพทย์/พยาบาลแนะนำ กินยาต่างๆให้ถูกต้อง ครบถ้วน
  • งด/เลิกบุหรี่ และไม่สูบบุหรี่ งด/เลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะอาจเป็นสาเหตุ และเป็นตัวเพิ่มความรุนแรงของโรค
  • ไม่ซื้อยาแก้ปวดต่างๆกินเอง ควรปรึกษาแพทย์ พยาบาล หรือ เภสัชกรก่อนเสมอ
  • สังเกตความสัมพันธ์ระหว่างอาหาร และเครื่องดื่มที่รับประทาน กับอาการเสมอ ควรหลีกเลี่ยงอาหารเครื่องดื่มที่ทำให้อาการรุนแรงขึ้น ซึ่งมักได้แก่ อาหารรสจัด เผ็ดจัด และรสเปรี้ยว
  • รักษาสุขภาพจิตไม่ให้เครียดจนเกินเหตุ เข้าใจชีวิต
  • พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามนัดเสมอ
  • ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อมีอาการต่างๆเลวลง หรือมีอาการต่างๆผิดปกติไปจากเดิม หรือเมื่อกังวลในอาการ
  • ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลฉุกเฉิน เมื่อมีอาการของเลือดออกจากแผล หรือ กระเพาะอาหาร/ลำไส้เล็กอุดตัน หรือ กระเพาะอาหาร หรือ ลำไส้เล็กทะลุ ดังได้กล่าวแล้ว

 

ป้องกันโรคแผลเปบติคได้อย่างไร?

การป้องกันโรคแผลเปบติคที่สำคัญ คือ การป้องกันสาเหตุ ที่สำคัญ คือ

  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน(สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อลดโอกาสติดเชื้อต่างๆ โดย เฉพาะการใช้ช้อนกลาง และการล้างมือบ่อยๆ โดยเฉพาะหลังเข้าห้องน้ำ และก่อนกินอาหาร
  • รักษาสุขภาพจิต ผ่อนคลายความเครียด
  • ไม่ซื้อยาแก้ปวดกินเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ พยาบาล หรือ เภสัชกรก่อน
  • เลิก/ไม่สูบบุหรี่ เลิก/ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • เมื่อมีอาการปวดท้องบริเวณลิ้นปี่บ่อยๆ เป็นๆหายๆ หรือเรื้อรัง อาการไม่ดีขึ้นหลังดูแลตนเองในเบื้องต้น ควรพบแพทย์เสมอ เพื่อการวินิจฉัยหาสาเหตุและให้การรักษาแต่เนิ่นๆ ก่อนโรคลุกลามเป็นแผลเปบติค หรืออาจเป็นอาการของโรคมะเร็งกระเพาะอาหารได้ (แต่เป็นสาเหตุที่พบได้น้อยกว่ามากเมื่อเปรียบ เทียบกับสาเหตุอื่นๆ) โดยเฉพาะเมื่อเริ่มมีอาการเมื่ออายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป

 

บรรณานุกรม

  1. Braunwald, E., Fauci, A., Kasper, L., Hauser, S., Longo, D., and Jameson, J. (2001). Harrison’s principles of internal medicine (15th ed.). New York: McGraw-Hill.
  2. Ramakrishnan, K., and Salinas, R. (2007). Peptic ulcer. Am Fam Physician. 76, 1005-1012.
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Peptic_ulcer_disease[2017,Sept2]
Updated 2017,September 2