แป๊บสเมียร์: การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก (Pap- smear หรือ Pap test)
- โดย รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิง วรลักษณ์ สมบูรณ์พร
- 28 เมษายน 2562
- Tweet
- การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกคืออะไร?
- ทำไมต้องตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก?
- การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกมีกี่วิธี?
- ควรเริ่มตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเมื่อไหร่? ควรตรวจบ่อยแค่ไหน?
- ตรวจแป๊บสเมียร์ได้ที่ใดบ้าง?
- เตรียมตัวอย่างไรก่อนตรวจแป๊บสเมียร์?
- ขั้นตอนการตรวจแป๊บสเมียร์เป็นอย่างไร?
- จะได้รับผลการตรวจเมื่อไหร่ และเมื่อทราบผลควรทำอย่างไร?
- การตรวจแป๊บสเมียร์มีความผิดพลาดได้หรือไม่?
- มีผลข้างเคียงจากการตรวจแป๊บสเมียร์หรือไม่?
- บรรณานุกรม
- วิธีตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูก (Cervical cancer screening) โรคมะเร็งเต้านม (Breast cancer screening) และโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ (Colorectal cancer screening)
- มะเร็งปากมดลูก (Cervical cancer)
- การติดเชื้อเอชพีวีอวัยวะเพศหญิง (Gential HPV in women)
- เอชพีวี โรคติดเชื้อเอชพีวี (HPV infection)
- มะเร็งช่องคลอด (Vaginal cancer)
- ตกขาว (Leucorrhea)
- ประจำเดือนผิดปกติ (Menstrual disorder)
- โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กามโรค (STD: Sexually transmitted disease)
การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกคืออะไร?
คุณผู้หญิงหลายท่านคงสงสัยว่า การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกหรือการตรวจแป๊บสเมียร์ (Pap smear หรือ Pap test หรือ Papanicolaou test) ที่ท่านได้ยินแพทย์กล่าวถึงอยู่บ่อยๆคืออะ ไร การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกนั้นก็คือ วิธีการตรวจหาความผิดปกติในระยะก่อนเป็นมะเร็งปากมดลูก หรือเป็นมะเร็งปากมดลูกระยะที่ยังไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า
จริงๆแล้ว แป๊บสเมียร์นั้น เป็นเพียงวิธีหนึ่งในการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก แต่เป็นวิธีที่มีผู้ที่นิยมตรวจมากที่สุด ดังนั้นจึงมีผู้ที่ใช้คำว่า “แป๊บสเมียร์” ในความหมายของการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอยู่เป็นประจำ ขอย้ำว่า เป็นการตรวจคัดกรองมะเร็งที่ตำแหน่งปากมดลูกเท่านั้น ไม่ใช่การตรวจมะเร็งทั่วร่างกาย หรือการตรวจมะเร็งช่องคลอด รังไข่ หรือที่ตัวมดลูก ดังนั้น หากผลการตรวจมะเร็งปากมดลูกที่ผ่านมาจะปกติ แต่หากท่านมีความผิดปกติบางอย่างเกิดขึ้น ก็ไม่ควรที่จะชะล่าใจ ควรรีบปรึกษาแพทย์เสมอ
การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกนี้ จัดว่าเป็นการตรวจที่ให้ผลที่มีความน่าเชื่อถือสูงและเป็นการตรวจที่มีประสิทธิภาพที่ดีอย่างหนึ่งในการตรวจหามะเร็ง บทความที่ท่านจะได้อ่านต่อไปนี้จะช่วยให้ท่านมีความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องในการเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก
ทำไมต้องตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก?
ในประเทศไทย มะเร็งปากมดลูกยังคงเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญ และเป็นมะเร็งที่พบเป็นอันดับที่ 2 รองมาจากมะเร็งเต้านม ในแต่ละปี มีจำนวนผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกเกิดขึ้นใหม่ประมาณ 10,000 คน และมีผู้ป่วยที่ต้องเสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูกประมาณ 5,200 คน ถ้าคิดเป็นวันแล้วจะตรวจพบมะเร็งปากมดลูกในสตรีไทยวันละประมาณ 27 คน และมีสตรีไทยเสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูกเฉลี่ยวันละ 14 คน
มาตรการหนึ่งที่ใช้ในการป้องกันการเกิดมะเร็งปากมดลูกที่นอกเหนือจากการฉีดวัคซีน (วัค ซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก) คือ การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอยู่เป็นประจำตามที่แพทย์กำ หนด ซึ่งการกระทำดังกล่าว จะลดการเกิดมะเร็งปากมดลูกได้อย่างมีนัยสำคัญทีเดียวค่ะ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่คุณผู้หญิงสมควรที่จะเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในช่วงระยะเวลาที่เหมาะสมอย่างสม่ำเสมอ
การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกมีกี่วิธี?
การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกที่นิยมในปัจจุบันมีอยู่สองวิธี ได้แก่
- การตรวจแป๊บสเมียร์แบบสามัญ (Conventional Pap smear) ซึ่งจะใช้ไม้ป้ายเซลล์ตัวอย่างจากปากมดลูกลงบนแผ่นกระจกโดยตรง
- และแบบแผ่นบาง (Thin layer) ซึ่งจะเก็บเซลล์เยื่อบุปากมดลูกที่กวาดได้ทั้งหมดจากเครื่องมือกวาดเซลล์ แล้วนำเซลล์ที่กวาดได้ใส่ไว้ในขวดน้ำยารักษาสภาพเซลล์ก่อน แล้วจึงดูดเซลล์ขึ้นมาย้อมบนแผ่นกระจก
การตรวจแป๊บสเมียร์แบบสามัญนั้น พบว่ามีความสามารถในการตรวจพบความผิดปกติที่ปากมดลูกได้ 50-60% ในขณะที่การตรวจแบบแผ่นบาง มีความสามารถในการตรวจพบความผิดปกติที่ปากมดลูกได้ 70-80% และในการตรวจแบบแผ่นบาง หากมีการตรวจหาเชื้อเอชพีวี (อ่านเพิ่มเติมในบทความเรื่อง การติดเชื้อเอชพีวีอวัยวะเพศหญิง) ด้วย พบว่าจะมีความสามารถในการตรวจหาความผิดปกติที่ปากมดลูกได้สูงถึงเกือบ 100%
นอกจากนี้ ในบางสถานพยาบาล อาจทำการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกโดย วิธีตรวจดูการเปลี่ยนแปลงของเยื่อบุผิวปากมดลูกด้วยน้ำส้มสายชู หรือ Visual inspection with acetic acid ที่เรียกย่อๆว่า VIA (วีไอเอ) แต่ยังเป็นวิธีที่ไม่ค่อยนิยมตรวจนักในปัจจุบัน
ควรเริ่มตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเมื่อไหร่ ? ควรตรวจบ่อยแค่ไหน?
ปกติแล้ว แนะนำว่าสำหรับคุณผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์แล้ว ควรได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกภายใน 3 ปีหลังการมีเพศสัมพันธ์ สำหรับผู้ที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ โอกาสเกิดมะเร็งปากมดลูกนั้น น้อยมากๆ แต่ไม่ใช่ไม่มีโอกาสเป็นมะเร็งเลย ดังนั้นหากท่านไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ ควรเริ่มตรวจเมื่ออายุ 18-21 ปี หรืออาจอนุโลมได้จนถึงอายุ 30-35 ปี
ความถี่ในการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ควรเป็นดังนี้
- หากตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธีแป๊บสเมียร์แบบสามัญ ควรตรวจทุกปีติดต่อกัน 3 ปี และถ้าผลการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูก เป็นปกติติดต่อกันทั้ง 3 ครั้ง และผู้เข้ารับการตรวจไม่มีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ หลังจากนั้นต่อไป ทำการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกทุก 3 ปี
- หากตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธีแป๊บสเมียร์แบบแผ่นบาง ควรตรวจทุก 2 ปี และถ้าผลการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูก เป็นปกติติดต่อกัน 3 ครั้ง และผู้เข้ารับการตรวจไม่มีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ หลังจากนั้นต่อไป ทำการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกทุก 3 ปี
- หากตรวจแป๊บสเมียร์แบบแผ่นบาง ร่วมกับการตรวจหาเชื้อเอชพีวี และผลการตรวจพบว่าปกติคือไม่พบเซลล์ปากมดลูกที่ผิดปกติและไม่พบเชื้อเอชพีวี (อ่านเพิ่มเติมในบทความเรื่อง การติดเชื้อเอชพีวีอวัยวะเพศหญิง) โอกาสที่ท่านจะเป็นมะเร็งใน 3-5 ปีถัดไปจะมีน้อยมาก ดังนั้น สา มารถเว้นการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกได้นานถึง 3-5 ปี
อนึ่ง ความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งปากมดลูกที่กล่าวถึงข้างต้น เช่น
- ประวัติเคยได้รับยา Diethylstil bestrol ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ซึ่งพบน้อยมากในปัจจุบัน
- มีการติดเชื้อเอชไอวี
- หรือ มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคบกพร่องจากการปลูกถ่ายอวัยวะ หรือ ได้รับยาเคมีบำบัด
- สูบบุหรี่
- มีคู่นอนหลายคน
- มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย (ต่ำกว่า 18 ปี) เป็นต้น
ในสตรีกลุ่มเสี่ยงดังกล่าว ควรได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกปีละ 2 ครั้งในปีแรก หลัง จากนั้น อาจเป็นทุก 3 เดือน 6 เดือน หรือ 1 ปีขึ้นกับผลตรวจ
ในกรณีที่ท่านมีอายุมากกว่า 65-70 ปี และเคยมีผลการตรวจมะเร็งปากมดลูกที่ปกติติดต่อ กันหลายปี หรือในกรณีที่ท่านได้รับการตัดปากมดลูกออกไปในช่วงที่ทำการผ่าตัดเอามดลูกออกเพื่อรักษาโรคที่ไม่ใช่มะเร็ง เช่น เนื้องอกมดลูก ในสองกรณีดังกล่าว ไม่มีความจำเป็นที่ท่านต้องทำการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอีกต่อไป
ตรวจแป๊บสเมียร์ได้ที่ใดบ้าง?
การตรวจแป๊บสเมียร์นั้น สามารถตรวจได้ตามโรงพยาบาล หรือตามคลินิก ที่ให้บริการทาง ด้านสูตินรีเวชทั่วไป อย่างไรก็ตามในบางสถานพยาบาลอาจไม่มีการตรวจแป๊บสเมียร์แบบแผ่นบาง หรือ อาจไม่มีการตรวจหาเชื้อเอชพีวี แต่จะให้บริการเฉพาะการตรวจแป๊บสเมียร์แบบสามัญ ควรสอบถามให้ชัดเจนก่อนตรวจ ซึ่งค่าใช้จ่ายในการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธีแป๊บสเมียร์แบบสามัญ มีค่าใช้จ่ายถูกกว่าการตรวจแบบแผ่นบางประมาณ 10 เท่า จึงยังไม่ครอบคลุมในการใช้สิทธิประกันสุขภาพของรัฐบาล (การประกันสุขภาพของรัฐบาล ครอบคลุมการตรวจแป๊บสเมียร์แบบสามัญ)
เตรียมตัวอย่างไรก่อนตรวจแป๊บสเมียร์ ?
ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการตรวจมะเร็งปากมดลูกรวมทั้งการตรวจแป๊บสเมียร์ คือ วันที่ไม่มีประจำเดือน นั่นคือ ควรหลีกเลี่ยงการตรวจมะเร็งปากมดลูกในวันที่มีประจำเดือน รอให้ประจำเดือนหายสนิทจึงจะไปตรวจ หากกำหนดวันที่จะไปตรวจมะเร็งปากมดลูกได้แล้ว สิ่งที่ควรปฏิบัติในช่วง เวลา 2 วันก่อนที่จะไปตรวจมีดังต่อไปนี้
- ห้ามสวนล้างภายในช่องคลอด (อ่านเพิ่มเติมในบทความเรื่อง การสวนล้างช่องคลอด) ไม่ว่าจะใช้น้ำสะอาดหรือน้ำยาล้างทำความสะอาดก็ตาม
- ห้ามใช้ผ้าอนามัยแบบสอดเข้าไปในช่องคลอด
- งดการมีเพศสัมพันธ์
- งดการเหน็บยาเข้าไปในช่องคลอดทุกประเภท
ทั้งนี้ เมื่อถึงวันที่จะไปตรวจมะเร็งปากมดลูก ควรสวมใส่ชุดที่สะดวกต่อการตรวจ เช่น การสวมกระโปรงหรือกางเกงที่สะดวกต่อการถอด เพื่อให้เกิดความสะดวกในการเปลี่ยนชุดเพื่อตรวจภายใน การใส่ชุดที่เสื้อกับกางเกงเชื่อมติดกันนั้น เป็นชุดที่ยากต่อการเปลี่ยนเพื่อทำการตรวจภาย ใน
ขั้นตอนการตรวจแป๊บสเมียร์เป็นอย่างไร?
การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก หรือที่นิยมเรียกติดปากว่า “แป๊บสเมียร์” นั้น ใช้เวลาในการตรวจไม่มากประมาณ 10-15 นาที และไม่ได้ยากหรือก่อให้เกิดอาการเจ็บปวดอย่างที่คิด สิ่งสำคัญคือคุณผู้หญิงควรผ่อนคลายตนเองขณะตรวจ ซึ่งจะทำให้ไม่เกิดอาการเกร็งขณะตรวจ ซึ่งทำให้ตรวจได้ง่ายขึ้น
การตรวจแป๊บสเมียร์ เป็นการตรวจที่ห้องตรวจผู้ป่วยนอก ไม่จำเป็นต้องมีการใช้ยาใดๆก่อนตรวจ
เมื่อตัดสินใจจะตรวจมะเร็งปากมดลูก แพทย์จะให้ท่านไปปัสสาวะ และให้เปลี่ยนชุด โดยจะให้ท่านถอดกางเกงชั้นในออก และสวมผ้าถุงที่โรงพยาบาลเตรียมไว้ หากท่านใส่กระโปรงที่ไม่แคบหรือสั้นมาก ท่านอาจเพียงแค่ถอดกางเกงชั้นในออก และสามารถขึ้นนอนบนเตียงที่มีลักษณะเป็นขาหยั่งเพื่อตรวจภายในได้เลย
เมื่อท่านพร้อมแล้ว แพทย์ซึ่งใส่ถุงมือเรียบร้อย จะทำการตรวจอวัยวะสืบพันธุ์ภายนอกหรือปากช่องคลอด หลังจากนั้นจะใส่เครื่องมือที่มีลักษณะคล้ายปากเป็ด หรือที่แพทย์เรียกว่า Specu lum ซึ่งแพทย์จะทำการเลือกขนาดให้เหมาะสมกับช่องคลอดของแต่ละคน (รวมทั้งในสตรีที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์) ในช่วงที่ทำการใส่เครื่องมือเข้าไปในช่องคลอด ท่านควรแยกเข่าออกจากกันให้กว้างที่สุดในขณะที่พยายามวางก้นลงบนเตียง การทำในลักษณะดังกล่าว จะช่วยลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อในช่องคลอดได้ ทำให้แพทย์ใส่เครื่องมือได้ง่าย และท่านจะไม่เจ็บ ในบางครั้งแพทย์อาจบอกให้ท่านช่วยเบ่งเล็กน้อยเพื่อให้ใส่เครื่องมือได้ง่ายขึ้น
เมื่อแพทย์ใส่เครื่องมือได้ในตำแหน่งที่เหมาะสมคือ เห็นรูเปิดของปากมดลูก แพทย์จะใช้ไม้ที่มีลักษณะคล้ายไม้ไอศกรีม (แต่เล็กกว่ามาก) หรือแปรงเล็กๆป้ายเซลล์ที่ปากมดลูกเพื่อเก็บเซลล์ไปตรวจ หากตรวจแป๊บสเมียร์แบบสามัญ แพทย์จะนำไม้ที่เก็บเซลล์ป้ายลงบนสไลด์แล้วแช่ในน้ำยาแอลกอฮอล์ หากตรวจแป๊บสเมียร์แบบแผ่นบาง แพทย์จะนำแปรงที่เก็บเซลล์แล้วจุ่มลงในขวดที่บรรจุสารละลายชนิดเฉพาะ หลังจากการเก็บเซลล์ แพทย์ก็จะนำเครื่องมือเก็บเซลล์ออก ตามด้วยนำเครื่องมือที่มีลักษณะคล้ายปากเป็ดออกจากช่องคลอด
ถึงตรงนี้ ถือว่าสิ้นสุดการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก อย่างไรก็ตาม แพทย์ทุกท่านมักจะทำการตรวจภายใน โดยใช้สองนิ้วมือใส่เข้าไปในช่องคลอด และมีการคลำหน้าท้องไปพร้อมๆกัน เพื่อตรวจขนาดและตำแหน่งของมดลูก และตรวจปีกมดลูกทั้งสองข้างว่าปกติดีหรือไม่ ระหว่างนี้ พยายามอย่าเกร็งท้องต้านการตรวจ การที่พยายามผ่อนคลาย จะเป็นการช่วยทำให้แพทย์ตรวจได้ง่าย แม่นยำและเสร็จอย่างรวดเร็ว หลังจากนั้นท่านก็สามารถลงจากเตียงตรวจและเปลี่ยนกลับมาใส่ชุดเดิมได้
อนึ่ง ขณะตรวจ แพทย์จะใช้สารช่วยหล่อลื่น ส่วนใหญ่เป็นสารที่มีฤทธิ์ต้านการติดเชื้อ ซึ่งไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย ท่านอาจรู้สึกเหนียวเหนอะหนะภายหลังจากการตรวจบ้าง บางท่านอาจจะรู้สึกแสบบริเวณปากช่องคลอด เนื่องจากเกิดการระคายเคืองที่เกิดจากสารหล่อลื่น อาจใช้กระดาษทิชชูสะอาดเช็ดทำความสะอาดก็เพียงพอ หากยังคงแสบมาก อาจใช้น้ำสะอาดล้างแล้วซับให้แห้งค่ะ
ภายหลังการตรวจ สามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ และสามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ตามปกติเช่นกัน
จะได้รับผลการตรวจเมื่อไหร่ และเมื่อทราบผลควรทำอย่างไร?
ภายหลังการตรวจ สถานที่ที่ทำการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกจะทำการแจ้งผลให้ท่านทราบ ซึ่งอาจใช้เวลาประมาณ 1-4 สัปดาห์ หากบังเอิญผลการตรวจผิดปกติ แพทย์จะทำการแนะ นำถึงการตรวจที่เหมาะสมในลำดับถัดไป
การที่ผลการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกผิดปกตินั้น เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น การติดเชื้อบางอย่าง การอักเสบของปากมดลูก เป็นต้น ดังนั้นการที่ผลการตรวจคัดกรองผิดปกติไม่ได้หมายความว่าท่านจะเป็นมะเร็งปากมดลูกเสมอไป
ถ้าผลการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกผิดปกติ และอาจมีโอกาสที่จะกลายไปเป็นมะเร็งในอนาคต แพทย์จะแนะนำให้ท่านทราบว่า ท่านจำเป็นต้องรักษา หรือจะต้องทำการตรวจติดตามอย่างไรต่อไป การรักษาในกรณีนี้ส่วนใหญ่แล้ว เกือบทั้งหมดเป็นการรักษาที่จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดมะเร็งปากมดลูกกับท่านในอนาคต
สิ่งสำคัญคือ หากไม่ทราบผลตามนัด ท่านต้องติดตามสอบถามให้ทราบผล เมื่อผลปกติ ควรตรวจซ้ำตามแพทย์นัด หรือตามตารางที่กล่าวแล้วในหัวข้อ ความถี่ในการตรวจ ส่วนเมื่อผลตรวจผิดปกติ ท่านควรปรึกษาแพทย์ เพื่อขอข้อมูลและคำแนะนำเพิ่มเติมถึงการตรวจติดตามหรือการรักษาที่เหมาะสม
การตรวจแป๊บสเมียร์มีความผิดพลาดได้หรือไม่?
การตรวจแป๊บเสมียร์ สามารถที่จะเกิดความผิดพลาดขึ้นได้ ในบางครั้ง เรามีเซลล์ปากมด ลูกที่ปกติจริงๆ แต่ผลการตรวจแป๊บสเมียร์กลับพบความผิดปกติ ลักษณะเช่นนี้ เราเรียกว่า เป็นผล บวกลวง (False positive) ซึ่งพบได้น้อย (มีรายงานพบได้ประมาณ 1-10%) ดังนั้นเมื่อท่านได้รับการแจ้งผลการตรวจว่าผิดปกติ ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อเข้ารับคำปรึกษาหรือตรวจเพิ่มเติม จะดี กว่าที่จะเข้าใจไปเองว่าผลที่ได้รับนั้น คือผลบวกลวง
ในบางกรณี ท่านมีเซลล์ปากมดลูกที่ผิดปกติ แต่ผลการตรวจพบว่าปกติ ลักษณะดังกล่าวเรียกว่าผลลบลวง (False negative) ซึ่งพบได้น้อยเช่นกัน (มีรายงานพบได้ประมาณ 2%) สิ่งนี้จะทำให้การวินิจฉัยและการรักษาความผิดปกติของปากมดลูกได้ช้า อย่างไรก็ตาม หากท่านเข้ารับการตรวจอย่างสม่ำเสมอตามแพทย์นัด ก็จะช่วยลดปัญหาดังกล่าวได้ โดยหากผลการตรวจครั้งแรกผิดพลาด การตรวจในครั้งต่อไป ก็จะสามารถตรวจพบความผิดปกติได้
มีผลข้างเคียงจากการตรวจแป๊บสเมียร์หรือไม่?
ผลข้างเคียงที่อาจพบได้จากการตรวจแป๊บสเมียร์ คือ อาการปวดหน่วงท้องน้อย หรือ อา การปวดบีบมดลูก ซึ่งเกิดขึ้นในขณะที่แพทย์กำลังตรวจและทำการเก็บเซลล์ที่ปากมดลูก หรือเกิด ขึ้นทันทีภายหลังการตรวจ โดยทั่วไปแล้ว อาการดังกล่าวมักไม่ค่อยเกิดขึ้น หรือถ้าเกิดขึ้น ก็มักจะเป็นเพียงชั่วคราว เมื่อเสร็จสิ้นการตรวจ อาการมักจะหายไปได้เอง หรืออาจเป็นอยู่เพียงชั่วคราวในระยะเวลาสั้นๆ หากอาการดังกล่าวรบกวนท่านมาก ก็สามารถซื้อยาแก้ปวดรับประทานได้ นอก จากนี้ คุณผู้หญิงบางราย อาจมีเลือดออกภายหลังการตรวจได้ แต่มักจะเป็นเลือดเพียงเล็กน้อยและหายได้เองภายในหนึ่งวัน แต่หากท่านมีเลือดออกมาก และเลือดออกอยู่นาน หรือปวดท้องอยู่นาน ก็ควรรีบปรึกษาแพทย์
บรรณานุกรม
- จตุพล ศรีสมบูรณ์. มะเร็งปากมดลูก การวินิจฉัยและการรักษา. กรุงเทพฯ : พี.บี.ฟอเรนบุ๊คส์เซนเตอร์, 2547 : 1-227.
- DeMay,R. (2000). Should we abandon pap smear testing. Am J Clin Pathol. 114(suppl),s48-s51.
- Ferlay J, Shin HR, Bray F, Forman D, Mathers C , Parkin DM. GLOBOCAN 2008, Cancer Incidence and Mortality Worldwide: IARC CancerBase No. 10 .Lyon, France: Internati onal Agency for Research on Cancer; 2010. Available from: http://globocan.iarc.fr
- Hacker NF, Friedlander ML. Cervical cancer. In : Berek JS, Hacker NF, editors. Berek & Hacker’s gynecologic oncology. 5th ed. Philadelphia : Lippincott Williams & Wilkins; 2010 : 341-95.
- Randall ME, Michael H, Long HIII, Tedjarati S. Uterine cervix. In: Barakat RR, Markman ME, Randall ME, editors.Principles and practice of gynecologic oncology. Philadelphia: Lippincott Williams & Wilkins; 2009:623-8.
- https://www.healthline.com/health/pap-smear#preparation [2019,April6]