แดพโซน (Dapsone)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 25 เมษายน 2564
- Tweet
- บทนำ: คือยาอะไร?
- แดพโซนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- แดพโซนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- แดพโซนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- แดพโซนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- แดพโซนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้แดพโซนอย่างไร?
- แดพโซนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาแดพโซนอย่างไร?
- แดพโซนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics)
- ยาไรแฟมพิน/ไรแฟมพิซิน (Rifampin/Rifampicin)
- ปอดบวม ปอดอักเสบ (Pneumonia)
- เชื้อรา โรคเชื้อรา (Fungal infection)
- แบคทีเรีย: โรคจากแบคทีเรีย (Bacterial infection)
- โรคเรื้อน (Leprosy)
- สิว (Acne)
- ภาวะเมทฮีโมโกลบินในเลือด (Methemoglobinemia)
บทนำ: คือยาอะไร?
ยาแดพโซน (Dapsone หรืออีกชื่อคือ Diaminodiphenyl sulfone) คือ ยาปฏิชีวนะที่มักใช้ร่วมกับยา Rifampicin และยา Clofazimine (ยารักษาโรคเรื้อนที่มักใช้ร่วมกับยาปฏิชีวนะอื่น) นอกจากนี้ยังถือเป็นยาทางเลือกสำหรับรักษาโรคปอดบวมจากการติดเชื้อราชนิดหนึ่ง (Pneumocystis pneumonia)
ผลข้างเคียงที่รุนแรงของยาแดพโซนได้แก่ ภาวะเม็ดเลือดแดงลดปริมาณลง ร่วมกับเกิดเม็ดเลือดแดงแตก โดยมักจะเกิดกับผู้ป่วยด้วยภาวะขาดเอนไซม์จีซิกพีดี (G-6-PD) นอกจากนี้อาจพบภาวะตับอักเสบระหว่างการใช้ยานี้ได้เช่นกัน
วงการแพทย์เริ่มใช้ยาแดพโซนรักษาอาการโรคในฐานะเป็นยาปฏิชีวนะครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1937 (พ.ศ. 2480) และอีก 8 ปีต่อจากนั้นได้พัฒนาและนำยานี้มารักษาโรคเรื้อน รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยานี้ที่พบเห็นการใช้จะเป็นยาชนิดรับประทานและยาใช้เฉพาะที่/ยาทาภายนอก
ตัวยาแดพโซน สามารถดูดซึมจากทางเดินอาหารได้ 70 - 80% ซึ่งเมื่อยาเข้าสู่กระแสเลือด จะเข้ารวมตัวกับพลาสมาโปรตีนประมาณ 70 - 90% และตับจะคอยเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีของยาอยู่ตลอดเวลา ร่างกายต้องใช้เวลาเฉลี่ยประมาณ 20 - 30 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยา 50% ออกจากกระแสเลือดโดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะ
องค์การอนามัยโลกได้จัดให้ยาแดพโซนเป็นยาจำเป็นขั้นพื้นฐานของระบบสาธารณะสุขระดับชุมชน คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุให้ยาแดพโซนอยู่ในบัญชียาหลักแห่ง ชาติโดยระบุให้เป็นยาอันตราย ดังนั้นการใช้ยานี้กับผู้ป่วยแต่ละรายจะต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น ผู้ป่วยไม่ควรไปหาซื้อยามารับประทานเอง
แดพโซนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาแดพโซนมีสรรพคุณรักษา/ข้อบ่งใช้:
- รักษาอาการปอดอักเสบ/ปอดบวมที่เกิดจากโรคเชื้อราบางชนิด(Primary and secondary prophylaxis of pneumocystis jiroveci pneumonia)
- รักษาโรคเรื้อน (Multibacillary & Paucibacillary leprosy)
- รักษาสิวโดยใช้ในรูปแบบของยาทาผิวหนัง
แดพโซนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาแดพโซนคือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการสังเคราะห์กรดโฟลิก(Folic acid, สารที่ใช้ช่วยในการเจริญเติบโตของเซลล์ต่างๆ) ของแบคทีเรีย และก่อให้เกิดกระ บวนการรบกวนการดำรงชีวิตจนทำให้แบคทีเรียหยุดการเจริญเติบโตและตายลงในที่สุด
แดพโซนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาแดพโซนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายดังนี้เช่น
- ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 100 มิลลิกรัม/เม็ด
- ยาเจลทาแก้สิว ขนาดความเข้มข้น 5 กรัม/เนื้อเจล 100 กรัม
แดพโซนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาแดพโซนมีขนาดรับประทาน/วิธีใช้ยาแตกต่างกันในแต่ละโรค ดังนั้นการใช้ยานี้จึงต้องเป็นคำสั่งจากแพทย์ผู้รักษา
ในที่นี้ขอยกตัวอย่างขนาดรับประทานยานี้สำหรับรักษาอาการปอดอักเสบ (Pneumocystis pneumonia) เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทาน 100 มิลลิกรัมวันละครั้งเป็นเวลา 14 - 21 วัน มักใช้ร่วมกับยา Trimethoprim โดยแพทย์จะเป็นผู้ระบุขนาดรับประทานที่เหมาะสมให้กับผู้ป่วย
- เด็ก(นิยามคำว่าเด็ก)อายุมากกว่า 1 เดือน: รับประทาน 2 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมวันละครั้ง ขนาดสูงสุดต้องไม่เกิน 100 มิลลิกรัม/วัน
- เด็กอายุต่ำกว่า 1 เดือน: การใช้ยานี้ในเด็กกลุ่มนี้ต้องอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเท่า นั้น เพราะยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนในเรื่องของผลข้างเคียงจากยานี้ต่อเด็กกลุ่มนี้
*****หมายเหตุ:
- ควรรับประทานยานี้พร้อมอาหาร
- ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาแดพโซน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และ เภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาหรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยาแดพโซนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือแจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆและ/หรือกับอาหารเสริมที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยา/ใช้ยาแดพโซนสามารถรับประทาน/ใช้ยาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้ เคียงกับการรับประทานยา/ใช้ยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
แดพโซนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาแดพโซนสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้เช่น
ก. กรณียารับประทาน: อาจพบมี
- โรคซีด
- โลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงแตก,
- ไตทำงานผิดปกติ
- ตับอักเสบ
- คลื่นไส้-อาเจียน
- เบื่ออาหาร
- ปวดหัว
- คันตามผิวหนัง
- มีอาการ Stevens-Johnson syndrome
*อนึ่ง: กรณีที่ได้รับยานี้เกินขนาดอาจพบอาการ คลื่นไส้-อาเจียน, มีภาวะซึม, เกิดการชัก, รวมถึงเกิดอาการเขียวคล้ำตามเนื้อตัวขั้นรุนแรง หากพบอาการดังกล่าวควรต้องรีบนำตัวผู้ป่วยส่งแพทย์/ส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว/ฉุกเฉิน ซึ่งแพทย์อาจใช้ยาถ่านกัมมันต์ขนาด 20 กรัมวันละ 4 ครั้งในการช่วยดูดซับพิษของยาแดพโซน
ข. กรณียาทาผิวภายนอก: อาจทำให้ผิวบริเวณที่ทายา แห้ง มีอาการแดง เกิดความมัน และผิวลอก
มีข้อควรระวังการใช้แดพโซนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้แดพโซนดังนี้เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคโลหิตจาง/ โรคซีดอย่างรุนแรง ผู้ป่วยโรคพอร์ฟิเรีย (Porphyria:โรคทางพันธุ กรรมที่พบได้น้อยมาก ที่มีความผิดปกติของการสร้างเม็ดเลือดแดง)
- ห้ามปรับขนาดรับประทานยานี้เอง
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยภาวะขาดเอนไซม์จีซิกพีดี
- ระวังการใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาแดพโซนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
แดพโซนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาแดพโซนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นดังนี้เช่น
- การใช้ยาแดพโซน ร่วมกับ ยา Rifampicin สามารถทำให้ความเข้มข้นของยาแดพโซนในกระแสเลือดลดต่ำลง หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันควรต้องได้รับคำสั่งจากแพทย์และมีการปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
- การใช้ยาแดพโซน ร่วมกับ ยา Probenecid หรือ Trimethoprim จะทำให้ระดับยาแดพโซนในกระแสเลือดเพิ่มสูงขึ้น การใช้ยาร่วมกันควรต้องได้รับคำสั่งจากแพทย์และมีการปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
- การใช้ยาแดพโซน ร่วมกับ ยาโซเดียมไนไตรท์ (Sodium nitrite, ยาแก้พิษสารไซยาไนด์/Cyanide) อาจทำให้มีภาวะเมทฮีโมโกลบินในเลือด (Methemoglobinemia: ภาวะที่เม็ดเลือดแดงมีความบกพร่องในการแลกเปลี่ยนออกซิเจนกับเซลล์ของร่างกาย) เกิดขึ้นภายในไม่กี่ชั่วโมงหลังจากใช้ยาร่วมกัน ซึ่งจะทำให้ความสามารถในการขนส่งออกซิเจนของเม็ดเลือดแดงเพื่อไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆของร่างกายด้อยประสิทธิภาพลงไป อาจสังเกตพบอาการผิวซีดคล้ำ/อาการเขียวคล้ำ, คลื่นไส้, ปวดหัว, วิงเวียน, อ่อนเพลีย, หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย, จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาทั้ง 2 ตัวร่วมกัน
- ห้ามใช้ยาแดพโซน ร่วมกับ ยา Clozapine (ยาจิตเวช) ด้วยจะก่อให้เกิดภาวะ เม็ดเลือดขาวต่ำ และมีอาการติดเชื้อติดตามมา โดยอาจพบอาการ ไข้ หนาวสั่น ท้องเสีย เจ็บคอ ปวดกล้ามเนื้อ หายใจลำบาก เสมหะเป็นเลือด น้ำหนักลด ปวดขณะปัสสาวะ
ควรเก็บรักษาแดพโซนอย่างไร?
ควรเก็บยาแดพโซน:
- เก็บยาในช่วงอุณหภูมิ 15 - 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
- ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และ ความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
แดพโซนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาแดพโซน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
ACZONE (แอคโซน) | ALLERGAN |
Dopsan (ดอพแซน) | Pond’s Chemical |
Lepromix MB (เลโพรมิกซ์ เอ็มบี) | Pond’s Chemical |
Lepromix PB (เลโพรมิกซ์ พีบี) | Pond’s Chemical |
บรรณานุกรม
- http://en.wikipedia.org/wiki/Dapsone [2021,April24]
- https://www.mims.com/malaysia/drug/info/dapsone?mtype=generic [2021,April24]
- https://www.drugs.com/cdi/dapsone-systemic.html [2021,April24]
- http://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=dapsone [2021,April24]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/dapsone-index.html?filter=3&generic_only= [2021,April24]