แคลเซียมในเลือดต่ำ (Hypocalcemia)

บทความที่เกี่ยวข้อง
แคลเซียมในเลือดต่ำ

แคลเซียมในเลือดต่ำ (Hypocalcemia) หมายถึง ภาวะที่มีเกลือแร่ แคลเซียม (Calcium) ในเลือดต่ำกว่าค่าปกติของห้องปฏิบัติการนั้นๆ ในที่นี้คือต่ำกว่า 8 mg/dL (Milligram/deciliter) ทั้งนี้ค่าปกติของแคลเซียมในเลือดในผู้ใหญ่คือ 8 - 10.5 mg/dL

*อนึ่ง ค่าการตรวจเลือดของแต่ละห้องปฏิบัติการ แตกต่างกันได้ แต่ไม่มากนัก

ภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำเป็นภาวะพบได้เรื่อยๆไม่บ่อยนัก ซึ่งสถิติที่แท้จริงยังไม่มีราย งาน แต่การศึกษาในผู้ป่วยที่รักษาอยู่ในหอผู้ป่วยวิกฤต (Intensive care unit, ICU) ของ โรงพยาบาลต่างๆ รายงานพบภาวะนี้ได้ประมาณ 15 - 88% ภาวะนี้พบได้ทุกอายุและทุกเพศ

สาเหตุ

สาเหตุของภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำมีได้หลากหลาย ที่พบบ่อย เช่น

  • โรคไต
  • ร่างกายได้รับวิตามิน ดี และ/หรือแมกนีเซียมต่ำ เช่น จากการบริโภคสารอาหารทั้ง 2 ชนิดนี้ในปริมาณน้อย หรือมีโรคที่ทำให้ร่างกายดูดซึมสารอาหารนี้ได้น้อย เช่น ลำไส้อักเสบเรื้อรัง
  • ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด เช่น ยาระบาย/ยาแก้ท้องผูก, ยา Rifampin,ยากันชักยาต้านชัก
  • โรคตับอ่อนอักเสบ
  • โรคของต่อมพาราไทรอยด์

อาการ

อาการที่พบได้บ่อยจากมีแคลเซียมในเลือดต่ำได้แก่

  • ไม่มีอาการ ถ้าแคลเซียมในเลือดต่ำเพียงเล็กน้อย
  • เครียด หรือ ซึมเศร้า
  • ความดันโลหิตต่ำ
  • กล้ามเนื้อหดเกร็งโดยเฉพาะกล้ามเนื้อ มือ เท้า
  • ชามือ เท้า ริมฝีปาก รอบๆปาก
  • อาจมีจุดเลือดออกจุดเล็กๆกระจายตามผิวหนังทั่วตัวหรือเกิดห้อเลือดได้
  • ถ้าแคลเซียมในเลือดต่ำมาก อาจเกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะและ/หรือกล้ามเนื้อกล่องเสียงหดเกร็งจนเกิดหายใจลำบาก ซึ่งทั้ง 2 กรณีเป็นอันตรายถึงเสียชีวิต (ตาย) ได้
  • ชัก
  • โรคกระดูกพรุนเมื่อแคลเซียมในเลือดต่ำเรื้อรัง

การวินิจฉัย

แพทย์วินิจฉัยภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำได้จาก

  • ประวัติอาการผู้ป่วย
  • ประวัติการเจ็บป่วยทั้งในอดีตและในปัจจุบัน
  • ประวัติการใช้ยาต่างๆ
  • การตรวจร่างกาย และ
  • ที่สำคัญคือ การตรวจเลือดดูค่าแคลเซียม

การรักษา

แนวทางการรักษาภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำคือ

  • การชดเชยให้ร่างกาย/เลือดมีค่าแคลเซียมปกติด้วยการให้ยาแคลเซียมทางหลอดเลือดดำ เช่นยา Calcium gluconate
  • เสริมอาหารด้วยยาแคลเซียมเม็ด เช่นยา Calcium bicarbonate
  • แนะนำบริโภคอาหารที่มีแคลเซียมสูง*
  • นอกจากนั้นคือ การรักษาสาเหตุที่จะแตกต่างกันไป ขึ้นกับแต่ละสาเหตุ เช่น การรักษาโรคลำไส้อักเสบเรื้อรังเมื่อสาเหตุเกิดจากลำไส้อักเสบเรื้อรัง เป็นต้น

*อาหารโดยทั่วไปจะมีแคลเซียมต่ำ แต่อาหารที่มีแคลเซียมสูงได้แก่

  • นม และอาหารที่เป็นผลิตภัณฑ์ของนม เช่น โยเกิร์ต เนย
  • ผักทุกชนิดที่ใบเขียวเข้ม
  • ปลาซาร์ดีน
  • ปลาซาลมอนสีชมพู
  • อาหารต่างๆที่เสริมอาหารด้วยแคลเซียม

การพยากรณ์โรค

การพยากรณ์โรคของภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำจะขึ้นกับสาเหตุ เช่น ถ้าสาเหตุเกิดจากการบริโภคสารอาหารที่มีแคลเซียมต่ำ การพยากรณ์โรคจะดีกว่าที่สาเหตุเกิดจากโรคไตมาก แต่โดยทั่วไปแพทย์มักรักษาควบคุมภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำได้เสมอ

บรรณานุกรม

  1. https://emedicine.medscape.com/article/241893-overview#showall [2019,Nov23]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Hypocalcaemia [2019,Nov23]
  3. https://www.drugs.com/cg/hypocalcemia.html [2019,Nov23]