แคนดิไดอะซิส (Candidiasis)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ เชื้อแคนดิดาคืออะไร?

แคนดิไดอะซิส (Candidiasis) หรือ การติดเชื้อแคนดิดา หรือ โรคติดเชื้อแคนดิดา(Candida infection) คือ โรคที่เกิดจากอวัยวะต่างๆ/ร่างกายติดเชื้อรา หรือยีสต์(Yeast)ซึ่งอยู่ในสกุล (Genus)ชื่อ Candida ซึ่ง ยีสต์ชนิดนี้มีมากกว่า 20 ชนิด(Species) แต่ทีพบได้บ่อยเกือบทั้งหมดเป็นการติดเชื้อจาก ชนิด Candida albicans

แคนดิดา เป็นยีสต์ที่พบในคนปกติทั่วไป/เชื้อประจำถิ่น(Normal flora) โดยพบได้ตามเยื่อเมือกที่มีอยู่ ในระบบทางเดินอาหาร(เช่น ช่องปาก คอหอยส่วนปาก หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร) ที่อวัยวะเพศหญิง(เช่น โยนี และช่องคลอด/เชื้อราในช่องคลอด) และที่อวัยวะเพศชาย(องคชาติ) ซึ่งในภาวะร่างกายมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรค/ภูมิคุ้มกัน/ภูมิต้านทานปกติ ยีสต์กลุ่มนี้จะไม่ก่อโรค แต่ถ้าสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไป เช่น อวัยวะนั้นมีการอับชื้น หรือร่างกายมีภูมิคุ้มกันผิดปกติ เช่น ต่ำลง ยีสต์นี้จะมีความรุนแรงขึ้น/เจริญเติบโตในปริมาณมากเกินปกติ จนก่อให้เกิดเป็นโรคขึ้นได้ ที่เรียกว่า “โรคแคนดิไดอะซิส”

เชื้อแคนดิดา มีคนเป็นโฮสต์(Host) เมื่ออยู่บนมือมนุษย์ จะอยู่ได้นานประมาณ 45 นาที เป็นเชื้อที่ติดต่อกันได้ในโรงพยาบาล เมื่ออยู่นอกร่างกายคน บนสิ่งของต่างๆ(เช่น พบได้บนผ้าปูที่นอน อ่างล้างมือ)จะสามารถมีชีวิตอยู่ได้นาน 1-120วันขึ้นกับชนิดของสิ่งของนั้นๆว่าจะมีความชื้นหรืออุณหภูมิเป็นอย่างไร แต่ถ้าโดนแสงแดด/แสงสว่าง/แห้ง จะมีชีวิตอยู่ได้นานประมาณ 1 ชัวโมง และโรคนี้ไม่ติดต่อระหว่างคนและสัตว์

เชื้อแคนดิดา สามารถฆ่าให้ตายได้ด้วย น้ำยาฆ่าเชื้อ Sodium hypochloride, น้ำยา Iodine, Potassium iodide, Chlorhexidine, 70% ethanol, อนึ่ง แสง UV สามารถลดอัตราการเจริญเติบโตของเชื้อนี้ลงได้ แต่ไม่สามารถฆ่าเชื้อนี้ได้

โรคแคนดิไดอะซิส เป็นโรคพบได้บ่อยทั่วโลก พบได้ในทุกเพศ และทุกวัย โดยพบได้สูงในทารกแรกเกิด และในผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 65 ปี ที่พบได้สูงสุดคือในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ โดยมีรายงานพบโรคนี้สูงถึง90%ในผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มักเป็นการติดเชื้อนี้ที่คอหอยส่วนปาก

แคนดิไดอะซิสเกิดได้อย่างไร? ติดต่อไหม?

แคนดิไดอะซิส

แคนดิไดอะซิส เกิดได้จากเชื้อราแคนดิดาที่อาศัยเป็นเชื้อประจำถิ่นอยู่ในร่างกาย เกิดเจริญเติบโตรวดเร็วมากมายผิดปกติจากที่ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต้านทานผิดปกติ/ต่ำลง หรือมีสภาพแวดล้อมของอวัยวะที่ติดเชื้อเปลี่ยนแปลงไป เช่น อับชื้น(เช่นกรณีเชื้อราช่องคลอด) หรือสกปรก มีสารคัดหลั่งหรือมีอาหารหมักหมม(เช่น กรณีเชื้อราช่องปาก)

นอกจากนี้ เป็นส่วนน้อยของผู้ป่วยที่การติดเชื้อนี้ เกิดจากคนสู่คน เช่น เชื้อติดอยู่ที่มือของผู้ดูแลผู้ป่วย หรือตามสิ่งของเครื่องใช้ แล้วผ่านเข้าสู่คนอื่นที่ส่งผลให้คนที่ได้รับเชื้อเกิดการติดเชื้อได้ ซึ่งผู้มีการติดเชื้อด้วยวิธีนี้มักเป็นผู้มีภูมิคุ้มกันต่ำ จึงมักพบกรณีนี้ได้จากการติดเชื้อนี้ในโรงพยาบาล

อนึ่ง ยังไม่มีการรายงานพบการติดเชื้อราชนิดนี้จากคนสู่สัตว์ หรือจากสัตว์สู่คน

ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคแคนดิไดอะซิส?

ผู้มีปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคแคนดิไดอะซิส ได้แก่

  • ผู้มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ เช่น ผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคติดเชื้อเอชไอวี โรคเอดส์ เด็กอ่อน ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์
  • มีความอับชื้นที่อวัยวะเพศ
  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน(สุขบัญญัติแห่งชาติ)ได้ไม่ดีพอ
  • ใช้ยาบางประเภทต่อเนื่อง เช่น ยากลุ่ม Corticosteroid ยาปฏิชีวนะ
  • ใส่ฟันปลอมโดยเฉพาะเป็นฟันปลอมทั้งปาก

แคนดิไดอะซิสมีอาการอย่างไร?

แคนดิไดอะซิสจะมีโรคแบ่งออกเป็น 3 ลักษณะ คือ การติดเชื้อเฉพาะที่บริเวณเยื่อเมือก(Mucosal candidiasis), การติดเชื้อในกระแสเลือด(Systemic candidiasis หรือ Invasive candidiasis), และการติดเชื้อที่เกิดจากการใช้ยาปฏิชีวนะ(Antibiotic candiadsis หรือ Iatrogenic candidiasis)

ก. การติดเชื้อเฉพาะที่บริเวณเยื่อเมือก: ซึ่งจะเป็นการติดเชื้อในลักษณะเฉพาะที่ เช่น ในช่องปาก (เชื้อราช่องปาก) ในคอหอยส่วนปาก ในหลอดอาหาร ในช่องคลอด(เชื้อราช่องคลอด) หรือที่อวัยวะเพศชาย อาการที่พบได้ของเชื้อรานี้ที่เยื่อเมือก เช่น บริเวณที่ติดเชื้อ/รอยโรค จะเห็นเป็นปื้นสีขาวข้น ผิวเรียบเป็นมัน เหมือนไขนม จับอยู่บนเนื้อเยื่อ รอบๆเนื้อเยื่อนั้นจะมีลักษณะ แดง เจ็บ แสบ คัน(โดยเฉพาะกรณีติดเชื้อที่ช่องคลอด) และอาจเห็นเป็นแผลปริแตก นอกจากนั้น อาการทั่วไปที่พบร่วมด้วยได้ คือ เบื่ออาหาร อาจรู้สึกอ่อนเพลีย ซึ่งการติดเชื้อลักษณะนี้ อาการมักไม่รุนแรง แพทย์มักรักษาโรคให้หายได้

ข. การติดเชื้อในกระแสเลือด: เป็นการติดเชื้อแคนดิดาที่รุนแรงจนอาจเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้ และสามารถตรวจพบเชื้อรานี้ได้ในกระแสเลือด (Fungemia) กรณีนี้ อาจพบมีการติดเชื้อที่ หัวใจ สมอง ตับ ไต ร่วมด้วย ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูง อ่อนเพลียมาก และมีอาการต่างๆจากการทำงานผิดปกติของอวัยวะต่างๆ ขึ้นกับว่ามีการติดเชื้อ(การอักเสบติดเชื้อที่อวัยวะใด) เช่น กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ สมองอักเสบ ไตอักเสบ ตับอักเสบ (อ่านเพิ่มเติม เรื่อง การอักเสบของแต่ละอวัยวะได้ใน เว็บ haamor.com) ทั้งนี้การติดเชื้อแคนดิดาในลักษณะนี้ พบได้น้อย และมักพบในคนที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำมาก

ค. การติดเชื้อจากการใช้ยาปฏิชีวนะ: โดยเกิดจากยาปฏิชีวนะฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่รวมถึงเชื้อแบคทีเรียประจำถิ่น ส่งผลให้ร่างกายเสียสมดุลระหว่างเชื้อโรคชนิดต่างๆ เชื้อราแคนดิดาจึงเจริญเติบโตเกินปกติจนก่อโรคได้ ซึ่งอาการที่เกิดขึ้นอาจเป็นในลักษณะ การติดเชื้อเฉพาะที่ในบริเวณเยื่อเมือก หรือการติดเชื้อในกระแสโลหิตก็ได้ ขึ้นกับภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย/สุขภาพของร่างกาย

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?

เมื่อมีอาการผิดปกติดังกล่าวในหัวข้อ”อาการฯ” ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเสมอ

แพทย์วินิจฉัยแคนดิไดอะซิสได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคแคนดิไดอะซิสได้จาก ประวัติอาการ ประวัติโรคประจำตัว ประวัติการใช้ยาต่างๆโดยเฉพาะ ยาปฏิชีวนะ ยากลุ่มสเตียรอยด์ การตรวจร่างกาย การตรวจดูรอยโรคด้วยตาเปล่า และอาจมีการตรวจสืบค้นเพิ่มเติมตามดุลพินิจของแพทย์ เช่น การตรวจเชื้อด้วยการขูดรอยโรคเพื่อการตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ การตรวจเพาะเชื้อจากเลือด เป็นต้น

รักษาแคนดิไดอะซิสอย่างไร?

แนวทางการรักษาโรคแคนดิไดอะซิส คือ

  • การใช้ยาต้านเชื้อราชนิดต่างๆตามความรุนแรงของอาการและตามดุลพินิจของแพทย์(อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ยาต้านเชื้อรา) ซึ่ง อาจเป็นการใช้ยาทาเฉพาะที่ในกรณีโรคเกิดเฉพาะที่ หรือ การกินยา/ฉีดยากรณีอาการโรครุนแรง ทั้งนี้ขึ้นกับลักษณะของอาการว่า อยู่ในอาการกลุ่มใดดังได้กล่าวในหัวข้อ”อาการฯ”
  • การหยุดใช้ยาต่างๆกรณีสาเหตุเกิดจากยาต่างๆ เช่น หยุดใช้ยาปฏิชีวนะนั้นๆ และ
  • การรักษาประคับประคองตามอาการ เช่น การให้สารน้ำกรณีมีภาวะขาดน้ำจากเจ็บคอจนดื่มน้ำได้น้อย การใช้ยาแก้ปวด/เจ็บกรณีเจ็บที่รอยโรคมาก เป็นต้น

ดูแลตนเองอย่างไร?

การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคแคนดิไดอะซิส ได้แก่

  • ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • ใช้ยาต่างๆตามแพทย์สั่งให้ครบถ้วน ไม่ขาดยา ไม่หยุดยาเองถึงแม้อาการจะดีขึ้นแล้ว
  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน(สุขบัญญัติแห่งชาติ)
  • รักษาควบคุมโรคต่างๆที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงให้ได้ดี

ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?

เมื่อเป็นโรคแคนดิไดอะซิส ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อ

  • อาการต่างๆเลวลง เช่น อ่อนเพลียมากขึ้น เจ็บรอยโรคมากขึ้น มีฝ้าขาวขึ้นบนรอยโรคมากขึ้น
  • มีอาการผิดปกติต่างๆที่ไม่เคยมีมาก่อน เช่น มีไข้ ตกขาว(ในสตรี)ผิดปกติ เป็นต้น
  • มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ท้องเสีย หรือ คลื่นไส้อาเจียน มาก
  • เมื่อกังวลในอาการ

แคนดิไดอะซิสมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

การพยากรณ์โรคของโรคแคนดิไดอะซิส ขึ้นกับสาเหตุ และ ลักษณะของอาการ ถ้าเป็นอาการเฉพาะที่ แพทย์มักรักษาควบคุมโรคได้ดี แต่ถ้าเป็นการติดเชื้อในกระแสโลหิต โรคมักรุนแรงจนอาจเป็นเหตุให้เสียชีวิตได้

ป้องกันแคนดิไดอะซิสอย่างไร?

การป้องกันโรคแคนดิไดอะซิสที่สำคัญที่สุดคือ การรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงเพื่อให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันโรคปกติ และการรักษาความสะอาดของอวัยวะต่างๆที่มีโอกาสติดเชื้อรานี้ได้ เช่น อวัยวะเพศ และช่องปาก

การดูแลร่างกายให้มีสุขภาพที่ดีที่สำคัญคือ การรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน/สุขบัญญัติแห่งชาติ (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง สุขอนามัยพื้นฐาน/สุขบัญญัติแห่งชาติ) และรวมถึงไม่ใช้ยาต่างๆพร่ำเพื่อ โดยเฉพาะไม่ซื้อยาปฏิชีวนะ หรือ ยาสเตียรอยด์ ใช้เองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนใช้

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Candidiasis [2017,Nov25]
  2. http://www.phac-aspc.gc.ca/lab-bio/res/psds-ftss/msds30e-eng.php [2017,Nov25]
  3. https://medlineplus.gov/ency/article/000880.html [2017,Nov25]
  4. https://www.cdc.gov/fungal/diseases/candidiasis/index.html [2017,Nov25]
  5. http://emedicine.medscape.com/article/213853-overview#showall [2017,Nov25]