เอ็มตริไซตาบีน (Emtricitabine)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือยาอะไร

ยาเอ็มตริไซตาบีน (Emtricitabine) คือ ยาต้านรีโทรไวรัส ที่ใช้รักษาโรคติดเชื้อเอชไอวี/โรคเอดส์ โดยยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งกระบวนการเชื่อมต่อดีเอ็นเอ (DNA) ของเชื้อไวรัสเอชไอวี/ไวรัสเอดส์ซึ่ง ส่งผลต่อเอนไซม์รีเวิร์ส ทรานสคริปเตส (Reverse Transcriptase enzyme)ที่เป็นเอนไซม์ช่วยเปลี่ยนแปลงสารพันธุกรรมของไวรัสเอชไอวีจากอาร์เอ็นเอ(RNA)ไปเป็นดีเอ็นเอ เพื่ออาศัยในโครโมโซม(Chromosome)ของมนุษย์ที่มีสารพันธุกรรมเป็นดีเอ็นเอได้ ส่งผลทำให้กระบวนการสังเคราะห์ดีเอ็นเอของไวรัสเอชไอวีหยุดชะงัก ส่งผลต่อเนื่องทำให้ปริมาณไวรัสเอชไอวีในร่างกายลดลง

ยาเอ็มตริไซตาบีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

เอ็มตริไซตาบีน

ยาเอ็มตริไซตาบีนมีข้อบ่งใช้/สรรพคุณรักษาโรค:

  • รักษาโรคติดเชื้อเอชไอวี (HIV) โดยใช้ร่วม กับยาต้านรีโทรไวรัส (Antiretroviral agent) ชนิดอื่นอีก 2 ชนิด เช่นยา เอฟฟาไวเรนซ์ (Efavirenz) และ ทีโนโฟเวียร์ (Tenofovir)

ยาเอ็มตริไซตาบีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาเอ็มตริไซตาบีน จัดเป็นยาต้านรีโทรไวรัส กลุ่ม Nucleoside Analog Reverse Transcriptase Inhibitors (NRTIs) โดยยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการทํางานของเอนไซม์รีเวิร์สทรานสคริปเตส (Reverse Transcriptase enzyme) ซึ่งเอนไซม์ดังกล่าวมีหน้าที่ช่วยสร้างดีเอ็นเอ จากอาร์เอ็นเอของรีโทรไวรัสเพื่อให้ไวรัสมีดีเอ็นเอสำหรับเพิ่มจำนวนในเซลล์ของมนุษย์ที่มีสารพันธุกรรมเป็นดีเอ็นเอได้

ดังนั้นเมื่อได้ยาเอ็มตริไซตาบีนเข้าสู่ร่างกาย ตัวยาจะถูกเปลี่ยนแปลงภายในร่างกายทำให้มีฤทธิ์ต้านรีโทรไวรัส/ไวรัสเอชไอวี โดยออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์รีเวิร์สทรานสคริปเตสของไวรัสเอชไอวี จึงส่งผลทำให้การเชื่อมต่อดีเอ็นเอของไวรัสฯหยุดชะงัก เชื้อไวรัสฯจึงไม่สามารถเพิ่มจำนวนได้

ยาเอ็มตริไซตาบีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

รูปแบบที่มีจำหน่ายของยาเอ็มตริไซตาบีนในประเทศไทย ไม่มีรูปแบบทางเภสัชภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบเฉพาะยาเอ็มตริไซตาบีนชนิดเดี่ยวจำหน่าย มีเฉพาะยาสูตรผสมระหว่างยาเอ็มตริไซตาบีนกับยาต้านรีโทรไวรัสชนิดอื่น เช่น

  • Atripla (ใน 1 เม็ด ประกอบด้วย Emtricitabine 200 mg, Efavirenz 600 mg, Tenofovir 300 mg)
  • Truvada (ใน 1 เม็ด ประกอบด้วย Entricitabine 200 mg/Tenofovir 300 mg)
  • Ricovir-EM (ใน 1 เม็ด ประกอบด้วย Entricitabine 200 mg/Tenofovir 300 mg)

ยาเอ็มตริไซตาบีนมีขนาดรับประทานหรือวิธีใช้ยาอย่างไร?

ขนาดยาเอ็มตริไซตาบีนสำหรับการรักษาการติดเชื้อเอชไอวี เช่น

ก.เด็ก(นิยามคำว่าเด็ก)ตั้งแต่แรกคลอด - อายุ 3 เดือน: ยาเอ็มตริไซตาบีน 3 มิลลิกรัมต่อน้ำหนัก 1 กิโลกรัมต่อครั้ง วันละ 1 ครั้ง โดยให้ยาร่วมกับยาต้านรีโทรไวรัสอื่นๆอีก 2 ชนิด

ข.เด็กอายุมากกว่า 3 เดือน - 17 ปี: ยาฯ 6 มิลลิกรัมต่อน้ำหนัก 1 กิโลกรัมต่อครั้ง วันละ 1 ครั้ง โดยให้ยาร่วมกับยาต้านรีโทรไวรัสอื่นๆอีก 2 ชนิด

ค.นอกจากนี้หากเด็กมีน้ำหนักมากกว่า 33 กิโลกรัมขึ้นไป อาจพิจารณาขนาดยาเทียบเท่ากับผู้ใหญ่คือ 200 มิลลิกรัมวันละ 1 ครั้ง

ง. ผู้ใหญ่: ยาฯ 200 มิลลิกรัมวันละ 1 ครั้งโดยให้ยาฯร่วมกับยาต้านรีโทรไวรัสอื่นๆอีก 2 ชนิด

จ. ขนาดยาฯในผู้ป่วยไตบกพร่อง: เริ่มปรับขนาดยาฯในผู้ป่วยที่มีการทำงานของไตน้อยกว่า 50 มิลลิลิตร/นาที โดยปรับขนาดยาตามช่วงการทำงานของไต เช่น

  • ค่าการทำงานของไต 30 - 49 มิลลิลิตร/นาที: ยาฯ 200 มิลลิกรัมทุก 48 ชั่วโมง
  • ค่าการทำงานของไต 15 - 29 มิลลิลิตร/นาที: ยาฯ 200 มิลลิกรัมทุก 72 ชั่วโมง
  • ค่าการทำงานของไตน้อยกว่า 15 มิลลิลิตร/นาที หรือมีการบำบัดทดแทนไตด้วยการล้างไตทางหลอดเลือดดำ: ยาฯ 200 มิลลิกรัมทุก 96 ชั่วโมง กรณีมีการบำบัดทดแทนไต แนะนำให้บริหารยา/ใช้ยาภายหลังการล้างไต

ฉ. ขนาดยาในผู้ป่วยตับบกพร่อง: ไม่จำเป็นต้องปรับขนาดยาในผู้ป่วยที่มีการทำงานของตับบกพร่อง

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษา แพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมทั้งยาเอ็มตริไซตาบีน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และ เภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคตับอักเสบชนิดเรื้อรัง รวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาเอ็มตริไซตาบีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อนแล้ว
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประ เภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกแล้วเข้าสู่ตัวทารก จนอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
  • แจ้งบุคลากรทางการแพทย์ หากช่วงที่ผ่านมาลืมกินยา/ไม่ได้รับยาหรือมีเหตุทำให้ไม่สามารถรับประทานยาตามกำหนดเวลาที่แพทย์สั่งได้เช่น กรณีช่วงถือศีลอด หรือเป็นช่วงที่ต้องหยุดยา/งดอาหารและยาเพื่อทำหัตถการ เพื่อร่วมมือกันหาสาเหตุและแก้ไขปัญหาดังกล่าว เนื่อง จากยาเอ็มตริไซตาบีนเป็นยาจำเป็นที่ต้องรับประทานอย่างสม่ำเสมอและตรงเวลาอย่างเคร่งครัด

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

สำหรับการรักษาการติดเชื้อเอชไอวีด้วยยาเอ็มตริไซตาบีนนั้น ผู้ป่วยจำเป็นต้องรับประทานยาให้ตรงเวลาทุกวันอย่างเคร่งครัด โดยรับประทานยาวันละ 1 ครั้ง ซึ่งสามารถรับประทานก่อนหรือหลังอาหารก็ได้ เนื่องจากอาหารไม่มีผลต่อการดูดซึมยา แต่เพื่อให้ระดับยาในร่างกายคงที่ สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อไวรัสฯได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงควรรับประทานยาในเวลาเดียวกันของทุกวัน

กรณีลืมรับประทานยายาเอ็มตริไซตาบีนให้รับประทานยาทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่หากใกล้กับเวลาที่ต้องรับประทาน ยามื้อถัดไป (วันถัดไป) ให้รอรับประทานยามื้อถัดไปเลย โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่าเช่น ปกติรับประทานยาเวลา 20.00 น. หากผู้ป่วยนึกขึ้นได้ว่าลืมรับประทานยามื้อ 20.00 น. ตอนเวลา 7.00 น. ของวันถัดมา ก็ให้รับประทานยามื้อ 20.00 น. ทันที แต่หากนึกขึ้นได้ในช่วงที่ใกล้กับช่วง เวลาของยามื้อถัดไป (หมายถึงเกินกว่า 12 ชั่วโมงจากเวลารับประทานยาปกติ) ให้รอรับประทานยามื้อถัดไปในขนาดยาปกติ ช่วงเวลาเดิมได้เลย โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า

อย่างไรก็ตาม การรับประทานยาต้านรีโทรไวรัสรวมถึงยาเอ็มตริไซตาบีนที่ไม่สม่ำเสมอจะทำให้ระดับยาในเลือดอยู่ในระดับสูงบ้างต่ำบ้าง ซึ่งช่วงที่ระดับยามีขนาดต่ำเสมือนเป็นการกระตุ้นให้เชื้อไวรัสเกิดการกลายพันธุ์ ที่เป็นสาเหตุของการดื้อยาในเวลาต่อมา

ยาเอ็มตริไซตาบีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง) ของยาเอ็มตริไซตาบีนที่พบได้บ่อย เช่น

  • คลื่นไส้-อาเจียน
  • ท้องเสีย,
  • ปวดท้อง,
  • อ่อนเพลีย
  • อ่อนล้า
  • ผิวหนังเปลี่ยนสีเป็นสีเข้มขึ้น (Hyperpigmented skin) โดยผิวหนังบริเวณที่เปลี่ยนสีคือ ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ริมฝีปาก ลิ้น และอาจเกิดผื่นขึ้น
  • ภาวะตับอ่อนอักเสบ (Pancreatitis: ระดับเอนไซม์อะไมเลส/Amylase เพิ่มสูงขึ้น, Amylase คือ เอนไซม์สร้างจากเซลล์ของตับอ่อนและต่อมน้ำลาย เอนไซม์อะไมเลสจะเริ่มสูงขึ้นภายใน 6 ถึง 12 ชม. หลังกินยา หากเกิดภาวะตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน) และยังพบว่าระดับเอนไซม์ไลเปสเพิ่มสูงขึ้นเช่นเดียวกัน (Lipase: เอนไซม์ไลเปสสร้างจากตับอ่อน โดยพบว่าระดับไลเปสในเลือดจะสูงขึ้นตั้ง แต่วันแรกของภาวะตับอ่อนอักเสบ)
  • ภาวะตับโตอย่างรุนแรงร่วมกับไขมันสะสมในตับ (Hepatomegaly with steatosis) หรือ เอนไซม์ตับเพิ่มสูงขึ้น (Transminitis คือ ค่าการทำงานของตับ AST/ Aspartate aminotransferase, ALT/ Alanine transaminase เพิ่มสูงขึ้น)

ส่วนอาการไม่พึงประสงค์อื่นๆของยาเอ็มตริไซตาบีนที่อาจพบได้ เช่น

  • อาการทางระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ, โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน, ไซนัสอักเสบ,
  • หูชั้นกลางอักเสบ,
  • ปวดหัว,
  • นอนไม่หลับ,
  • ความผิดปกติในการกระจายตัวของมวลไขมันโดยมีภาวะไขมันฝ่อตัว (Lipoatrophy) มักพบไขมันฝ่อตัวบริเวณใบหน้า, แขน, ขา หรือก้น และอาจพบไขมันพอกตัวผิดปกติ โดยพบก้อนไข มันพอกที่คอด้านหลัง (Buffalo hump), ไขมันสะสมตามอวัยวะภายในช่องท้องมากขึ้นทำให้มีพุง ซึ่งในผู้ป่วยบางรายสามารถเกิดทั้งภาวะไขมันฝ่อตัวหรือไขมันพอกตัวผิดปกติ
  • ค่าทางห้องปฏิบัติการที่ควรติดตามขณะใช้ยาเอ็มตริไซตาบีนมีดังนี้ อะไมเลส (Amylase: เอนไซม์ที่บ่งชี้ภาวะตับอ่อนอักเสบ), ไลเปส (Lipase: เอนไซม์ที่บ่งชี้ภาวะตับอ่อนอักเสบ), ค่าการทำงานของตับ (Liver fumction enzyme ได้แก่ ค่า AST, ALT, Bilirubin) ซึ่งควรติดตามทุกๆประ มาณ 3 เดือน และติดตามค่าไขมันในเลือด (ค่าไตรกลีเซอไรด์(Triglyceride), ค่าคอเลสเตอรอล (Total Cholesterol, HDL, ค่า LDL)

มีข้อควรระวังการใช้ยาเอ็มตริไซตาบีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเอ็มตริไซตาบีน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่แพ้ยานี้หรือแพ้ส่วนประกอบของยานี้
  • ระวังการแพ้ยาเอ็มตริไซตาบีน หากผู้ป่วยเคยมีประวัติภาวะไวเกิน (Hypersensitivity) ต่อยาซิโดวูดีน (Zidovudine: ยาต้านรีโทรไวรัส), ดิดาโนซีน (Didanosine: ยาต้านรีโทรไวรัส), สตาวูดีน (Stavudine: ยาต้านรีโทรไวรัส) มาก่อน
  • ไม่แนะนำให้ใช้ยาเอ็มตริไซตาบีนในหญิงตั้งครรภ์ จะแนะนำให้ใช้ต่อเมื่อมีประโยชน์เหนือความเสี่ยงเท่านั้น เนื่องจากยาสามารถผ่านรกไปสู่ทารกได้ แต่จากการศึกษาไม่พบว่า ยาเพิ่มความ เสี่ยงในการเกิดความผิดปกติของทารกขณะใช้ยาในช่วงไตรมาสแรก อย่างไรก็ตาม การใช้ยานี้ในหญิงตั้งครรภ์อยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา
  • ระวังการใช้ยาเอ็มตริไซตาบีนในผู้ป่วยที่มีภาวะการทำงานของไตบกพร่อง โดยควรลดขนาดยาเอ็มตริไซตาบีน (กรณีผู้ป่วยมีค่าการทำงานของไตน้อยกว่า 50 มิลลิลิตรต่อนาที) เนื่อง จากยานี้ถูกขจัดออกทางไต
  • ระมัดระวังการใช้ยานี้เป็นพิเศษในผู้ป่วยเด็กที่มีประวัติตับอ่อนอักเสบหรือมีปัจจัยเสี่ยงในการเป็นตับอ่อนอักเสบ ซึ่งภาวะตับอ่อนอักเสบมักรายงานการเกิดในผู้ป่วยเด็กที่มีประวัติการใช้ยาต้านรีโทรไวรัสในกลุ่มนิวคลีโอไซด์ [Nucleoside Antiretroviral agents เช่น ลามิวูดีน (Lamivudine: ยาต้านไวรัส), สตาวูดีน (Stavudine: ยาต้านไวรัส), ซิโดวูดีน (Zidovudine: ยาต้านไวรัส)] มาก่อน
  • ระวังการใช้ยาเอ็มตริไซตาบีนในผู้ป่วยตับบกพร่อง, ตั้งครรภ์, ผู้ป่วยโรคอ้วน, เพศหญิง, ใช้ยาเป็นระยะเวลานาน, เนื่องจากมีรายงานการเกิดภาวะแลคติกแอซิโดซิส (Lactic acidosis: ภาวะเลือดเป็นกรดจากการคั่งของกรดแลคติก ทำให้เซลล์ร่างกายได้รับออกซิเจนไม่พียงพอ) โดยมีอา การแสดงคือ ปวดท้อง คลื่นไส้-อาเจียน อ่อนล้า อ่อนเพลีย หอบเหนื่อย หัวใจเต้นเร็ว หัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • ภาวะตับโตรุนแรงร่วมกับไขมันสะสมในตับ (Severe Hepatomegaly with steatosis) เป็น ภาวะที่อันตราย ควรหยุดยาเอ็มตริไซตาบีน หากมีอาการทางคลินิกหรือผลทางห้องปฏิบัติการพบ ว่ามีภาวะตับโตรุนแรงร่วมกับไขมันสะสมและมีอาการคลื่นไส้/อาเจียน
  • สำหรับการรักษาไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง และการรักษาผู้ป่วยเอชไอวีที่ติดเชื้อ โรคไวรัสตับอักเสบบีร่วมด้วย ยาเอ็มตริไซตาบีนไม่ได้รับการรับรองให้ใช้ ทั้งขาดประสิทธิภาพและความปลอดภัยของยา
  • ไม่แนะนำให้ใช้ยาเอ็มตริไซตาบีนเดี่ยวสำหรับการรักษาการติดเชื้อเอชไอวี เนื่องจากจะเพิ่มโอกาสเสี่ยงที่ทำให้เชื้อไวรัสเอชไอวีเกิดการดื้อยา แนะนำให้ใช้ร่วมกับยาต้านรีโทรไวรัสตัวอื่น
  • เกิดภาวะ Immune Reconstitution Syndrome มีรายงานการเกิดภาวะ/กลุ่มอาการดัง กล่าวในผู้ป่วยเอชไอวีที่ได้รับยาต้านไวรัสเอชไอวีหลายชนิดร่วมกันกล่าวคือ ในช่วงต้นของการรักษาด้วยยานี้ เมื่อระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายมีการตอบสนองต่อยา ผู้ป่วยอาจเกิดการตอบสนองแบบเกิดการอักเสบต่อเชื้อฉวยโอกาสที่มีอยู่ในร่างกาย อาจเป็นสาเหตุให้เกิดสภาวะ ทางคลินิกที่ร้ายแรงหรือมีอาการของการติดเชื้อนั้นๆกำเริบขึ้นเช่น การติดเชื้อแบคทีเรีย Mycobac teriumavium, การเกิดจอตาอักเสบจากการติดเชื้อไวรัส Cytomegalovirus และโรคปอดบวมจากเชื้อรา Pneumocystis jroveci (PCP) และวัณโรค ซึ่งแพทย์ผู้รักษาจะมีการประเมินอาการอักเสบที่เกิดขึ้นและทำการรักษาหากจำเป็น
  • ห้ามแบ่งบาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเอ็มตริไซตาบีนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาเอ็มตริไซตาบีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเอ็มตริไซตาบีน มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

1. เมื่อใช้ยาเอ็มตริไซตาบีนคู่กับยาอีทอกซูซีไมด์ (Ethosuximide: ยากันชัก) ระดับยากันชักฯอาจลดลงจนลดประสิทธิภาพการรักษาได้

2. เมื่อใช้ยาเอ็มตริไซตาบีนคู่กับยาดังต่อไปนี้เช่นยา ลามิวูดีน (Lamivudine: ยาต้านรีโทรไวรัส), แกงไซโครเวียร์ (Gangciclovir: ยาต้านไวรัส) หรือ วาวแกงไซโคลเวียร์ (Valganciclovir: ยาต้านไวรัส) จะส่งผลทำให้ระดับยาเอ็มตริไซตาบีนลดลงจนอาจทำให้ประสิทธิภาพการรักษาลดลงได้

ควรเก็บรักษายาเอ็มตริไซตาบีนอย่างไร?

แนะนำเก็บยาเอ็มตริไซตาบีน:

  • เก็บยาที่อุณหภูมิห้อง
  • ไม่เก็บยาในที่อุณหภูมิสูงเกินกว่า 30 องศาเซลเซียส(Celsius)
  • ไม่เก็บยาในห้องที่ร้อนจัดหรือมีความชื้นมาก เช่น ห้องที่ถูกแสงแดดส่องถึงทั้งวัน ในรถยนต์ ห้องครัว หรือห้องน้ำ
  • ควรเก็บยาในภาชนะบรรจุเดิม
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • เก็บยาให้พ้นจากแสงแดด หรือบริเวณที่มีแสงสว่างส่องถึงตัวยาตลอดเวลา
  • ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น หรือ ในห้องน้ำ หรือ ในรถยนต์

อย่างไรก็ตาม แนะนำศึกษาเอกสารกำกับยา/ ฉลากยา แต่ละชนิดสำหรับวิธีการเก็บรักษายาแต่ละชนิดที่ผสมรวมเป็นสูตรตำรับยา เนื่องจากไม่มียาเอ็มตริไซตาบีนชนิดเดี่ยวจำหน่ายในประเทศไทย มีแต่ยาสูตรตำรับผสมของเอ็มตริไซตาบีนกับยาต้านรีโทรไวรัสอื่นๆ

ยาเอ็มตริไซตาบีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ทั่วไป ไม่มียาเอ็มตริไซตาบีนชนิดเดี่ยวจำหน่ายในประเทศไทย มีแต่ยาสูตรผสมของเอ็มตริไซตาบีนกับยาต้านรีโทรไวรัสอื่นๆ ดังนี้เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Atripla (Emtricitabine 200 mg/Efavirenz 600 mg/Tenofovir 300 mg) Gilead
Truvada (Entricitabine 200 mg/Tenofovir 300 mg) Gilead
Ricovir-EM (Entricitabine 200 mg/Tenofovir 300 mg) Mylan

บรรณานุกรม

  1. Lacy CF. Amstrong LL, Goldman MP, Lance LL. Drug Information handbook. 20th ed. Ohio: Lexi-Comp; 2011-12.
  2. Micromedex Healthcare Series, Thomson Micromedex, Greenwood Village, Colorado.
  3. Taketomo CK, Hodding, JH, Kraus DM, .Pediatric & Neonatal Dosage Handbook, 19th ed. Hudson, Ohio, Lexi-Comp, Inc.; 2012.
  4. TIMS (Thailand). MIMS. 130th ed. Bangkok: UBM Medica ;2013.