เอ็นอาร์ทีไอ (NRTIs: Nucleoside reverse-transcriptase inhibitors)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 7 ตุลาคม 2564
- Tweet
- บทนำ: คือยาอะไร?
- ยาต้านไวรัสเอ็นอาร์ทีไอมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- ยาต้านไวรัสเอ็นอาร์ทีไอมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาต้านไวรัสเอ็นอาร์ทีไอมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาต้านไวรัสเอ็นอาร์ทีไอมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ยาต้านไวรัสเอ็นอาร์ทีไอมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาต้านไวรัสเอ็นอาร์ทีไออย่างไร?
- ยาต้านไวรัสเอ็นอาร์ทีไอมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาต้านไวรัสเอ็นอาร์ทีไออย่างไร?
- ยาต้านไวรัสเอ็นอาร์ทีไอมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- เอชไอวี: โรคติดเชื้อเอชไอวี (HIV: HIV infection)
- เอดส์ (AIDS)
- โรคไวรัสตับอักเสบ บี (Viral hepatitis B)
- โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กามโรค (STD: Sexually transmitted disease)
- โรคติดเชื้อ ภาวะติดเชื้อ (Infectious disease)
- เชื้อไวรัส โรคติดเชื้อไวรัส (Viral infection)
- ยาต้านรีโทรไวรัส (Antiretroviral Agent)
- ยาต้านเอชไอวี ยาสูตรฮาร์ท (HAART: Highly Active Antiretroviral Therapy)
บทนำ: คือยาอะไร?
ยาต้านไวรัสเอ็นอาร์ทีไอ (Nucleoside reverse-transcriptase inhibitors: NRTIs) เป็นหมวดยารับประทานที่ใช้ต้านเชื้อไวรัสที่เรียกว่า ‘รีโทรไวรัส (Retrovirus)/ยาต้านรีโทรไวรัส’ ที่เป็นสาเหตุของโรคเอดส์ หรือ เอชไอวี โดยกลุ่มยาเอ็นอาร์ทีไอจะเข้าไปขัดขวางการสร้างสารพันธุกรรมของรีโทรไวรัส ทำให้การแพร่พันธุ์ของไวรัสชะลอตัว จึงส่งผลให้สภาพร่างกายผู้ป่วยดีขึ้น มีอายุยืนยาวกว่าผู้ที่ติดเชื้อเอดส์/เอชไอวีแต่ไม่ได้ทำการรักษา ยาในกลุ่มนี้ประกอบด้วยยาหลายตัว เช่น Zidovudine, Didanosine, Zalcitabine, Stavudine, Lamivudine, Abacavir, Emtricitabine, Entecavir
โดยทั่วไป ทางการแพทย์มักใช้ยาต้านเอชไอวี/เอดส์มากกว่า 1 ชนิดให้กับผู้ป่วย อาจจะเป็นเหตุผลด้านประสิทธิภาพของการรักษาและลดอาการข้างเคียงของยาตัวใดตัวหนึ่ง ซึ่งขึ้นอยู่กับร่างกายของผู้ป่วยว่าตอบสนองต่อตัวยาได้ดีเพียงใด อย่างไรก็ตามกลุ่มยาเหล่านี้ไม่สามารถรักษาโรคเอดส์ให้หายขาดได้ เพียงแต่ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น รวมถึงลดอัตราตายลงได้
ยาต้านไวรัสเอชไอวี/เอดส์ส่วนใหญ่ขึ้นทะเบียนในหมวดยาควบคุมพิเศษ ผู้ป่วยไม่สามารถหาซื้อได้เองตามร้านขายยาทั่วไป การรับยาต้องผ่านทางสถานพยาบาลที่ลงชื่อรักษาไว้ และต้องมีใบสั่งจากแพทย์ประกอบในการรับยากลับบ้าน
ยาต้านไวรัสเอ็นอาร์ทีไอมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาต้านไวรัสเอ็นอาร์ทีไอมีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้: เช่น
- บรรเทาอาการป่วยของโรคเอดส์ /เอชไอวี
- ป้องกันการติดเชื้อเอดส์/ เอชไอวีหลังการสัมผัสเลือดของผู้ป่วย
- ป้องกันและลดโอกาสการติดเชื้อเอดส์/ เอชไอวีจากมารดาสู่ทารกในครรภ์
- ยาบางตัวในยากลุ่มนี้ ใช้รักษา โรคไวรัสตับอักเสบบี เช่นยา Lamivudine
ยาต้านไวรัสเอ็นอาร์ทีไอมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาต้านไวรัสเอ็นอาร์ทีไอคือ เนื่องจากรีโทรไวรัสจะใช้เอนไซม์ที่ชื่อว่า Reverse-transcriptase เปลี่ยนสารพันธุกรรมชนิด อาร์เอ็นเอ (RNA) ไปเป็นชนิด ดีเอ็นเอ (DNA) ซึ่งทำให้ไวรัสชนิดนี้แพร่พันธุ์และสามารถทำลายระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายมนุษย์โดยเฉพาะเม็ดเลือดขาวที่มีชื่อว่า ซีดี4 (CD4: Cluster of differentiation 4 ) ซึ่งยาต้านไวรัสเอ็นอาร์ทีไอจะเข้าไปขัดขวางกระบวนการดังกล่าว ทำให้ชะลอการแพร่พันธุ์ของรีโทรไวรัส ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น และยืดระยะเวลาของการมีชีวิตได้มากกว่าผู้ที่ไม่ได้รับการรักษา
ยาต้านไวรัสเอ็นทีอาร์ไอมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
รูปแบบการจัดจำหน่ายของยาต้านไวรัสเอ็นทีอาร์ไอ:
- ยาน้ำ ขนาด 10 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
- ยาแคปซูล ขนาด 15, 20, 30, 100, 250, 300 และ 400 มิลลิกรัม/แคปซูล
- ยาเม็ด ขนาด 25, 125, 150, 200 และ 300 มิลลิกรัม/เม็ด
- ยาเม็ดชนิดผสมตัวยาต้านไวรัสมากกว่า 1 ชนิดขึ้นไป
ยาต้านไวรัสเอ็นอาร์ทีไอมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาต้านไวรัสเอ็นทีอาร์ไอมีหลายชนิด ในที่นี้ขอยกตัวอย่างเฉพาะชนิดที่ใช้บ่อย ซึ่งทั่วไปมีขนาดรับประทาน เช่น
ก. Zidovudine: เช่น
- ผู้ใหญ่และเด็กอายุมากกว่า 12 ปีขึ้นไป: รับประทานวันละ 600 มิลลิกรัม โดยแบ่งรับประทาน 100 มิลลิกรัมทุก 4 ชั่วโมง หรือ 200 มิลลิกรัมทุก 8 ชั่วโมง หรือ 300 มิลลิกรัมทุก 12 ชั่วโมง ขนาดสำหรับรับประทานที่ร่วมกับยาต้านไวรัสเอดส์ตัวอื่น: รับประทานวันละ 600 มิลลิกรัม โดยแบ่งรับประทาน 200 มิลลิกรัมทุก 8 ชั่วโมง หรือ 300 มิลลิกรัมทุก 12 ชั่วโมง
- เด็กทารกอายุ 3 เดือน - เด็กอายุ 12 ปี: รับประทาน 180 มิลลิกรัม/พื้นที่ผิวของร่างกายผู้ป่วยทุก 6 ชั่วโมง โดยขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 200 มิลลิกรัมทุก 6 ชั่วโมง
- สามารถรับประทานยานี้ ก่อน หรือ หลังอาหาร ก็ได้
ข. Didanosine: เช่น
- ผู้ใหญ่ที่น้ำหนักตัวมากกว่า 60 กิโลกรัม: รับประทาน 400 มิลลิกรัมวันละครั้ง
- ผู้ใหญ่ที่น้ำหนักตัวน้อยกว่า 60 กิโลกรัม: รับประทาน 250 มิลลิกรัมวันละครั้ง
- เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): ขนาดยาขึ้นกับน้ำหนักตัวเด็กและดุลพินิจของแพทย์
- ควรรับประทานยานี้ช่วง ท้องว่าง หรือรับประทานหลังอาหารไปแล้วประมาณ 2 ชั่วโมง
ค. Stavudine: เช่น
- ผู้ใหญ่ที่น้ำหนักตัวมากกว่า 60 กิโลกรัมขึ้นไป: รับประทาน 40 มิลลิกรัมวันละ 2 ครั้ง
- ผู้ใหญ่ที่น้ำหนักตัวน้อยกว่า 60 กิโลกรัม: รับประทาน 30 มิลลิกรัมวันละ 2 ครั้ง
- เด็กอายุไม่เกิน 14 วัน: รับประทาน 0.5 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/ครั้งทุกๆ 12 ชั่วโมง
- เด็กอายุเกิน 14 วันขึ้นไปและน้ำหนักตัวน้อยกว่า 30 กิโลกรัม: รับประทาน 1 มิลลิกรัม/น้ำ หนักตัว 1 กิโลกรัม/ครั้งทุกๆ 12 ชั่วโมง
- เด็กอายุเกิน 14 วันขึ้นไปที่มีน้ำหนักตัวตั้งแต่ 30 กิโลกรัมขึ้นไป: รับประทานตามขนาดของผู้ ใหญ่
- สามารถรับประทานยานี้ ก่อน หรือ หลังอาหารก็ได้
ค. Lamivudine: เช่น
- ผู้ใหญ่ที่น้ำหนักตัว 50 กิโลกรัมขึ้นไป: รับประทาน 150 มิลลิกรัมวันละ 2 ครั้งเช้า-เย็น หรือรับประทาน 300 มิลลิกรัมวันละครั้ง โดยให้ร่วมกับ Zidovudine 200 มิลลิกรัมวันละ 3 ครั้ง
- ผู้ใหญ่ที่น้ำหนักตัวน้อยกว่า 50 กิโลกรัมลงมา: รับประทาน 2 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม วันละ 2 ครั้งเช้า-เย็น โดยให้ร่วมกับ Zidovudine 200 มิลลิกรัมวันละ 3 ครั้ง
- เด็กอายุ 3 เดือน - 12 ปี: รับประทาน 4 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมแต่ไม่เกิน 150 มิลลิ กรัม/ครั้งเช้า-เย็น โดยให้ร่วมกับ Zidovudine 180 มิลลิกรัม/พื้นที่ผิวเป็นตารางเมตรของร่าง กาย
- เด็กอายุมากกว่า 12 ปี: ขนาดรับประทานเช่นเดียวกับในผู้ใหญ่
- สามารถรับประทานยานี้ ก่อน หรือ หลังอาหารก็ได้
ง. Abacavir: เช่น
- ผู้ใหญ่ที่น้ำหนักตัว 30 กิโลกรัมขึ้นไป: รับประทาน 300 มิลลิกรัมวันละ 2 ครั้งเช้า - เย็น หรือ รับประทาน 600 มิลลิกรัมวันละครั้ง
- ผู้ใหญ่ที่มีน้ำหนักตัวระหว่าง 21 - 30 กิโลกรัม: รับประทาน 150 มิลลิกรัมในช่วงเช้าและ 300 มิลลิกรัมในช่วงเย็น หรือรับประทาน 450 มิลลิกรัมวันละครั้ง
- เด็ก: ขนาดรับประทานขึ้นกับน้ำหนักตัวเด็กและดุลพินิจของแพทย์
- สามารถรับประทานยานี้ ก่อน หรือ หลังอาหารก็ได้
*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาต้านไวรัสเอ็นอาร์ทีไอ ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาลและ เภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาต้านไวรัสเอ็นอาร์ทีไอ อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาต้านไวรัสเอ็นอาร์ทีไอ สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
อย่างไรก็ตาม การลืมรับประทานยากลุ่มนี้บ่อยๆหลายครั้ง ย่อมส่งผลเสียต่อผู้ป่วยโดยตรงและอาจทำให้อาการโรคลุกลามมากยิ่งขึ้น
อนึ่ง เมื่อมีการลืมรับประทานยาต้านไวรัสกลุ่มนี้ แพทย์อาจแนะนำวิธีรับประทานต่างกันเฉพาะบุคคลไป ดังนั้นจึงควรสอบถามแพทย์ล่วงหน้าเสมอว่า หากลืมรับประทานยานั้นๆจะต้องปฏิบัติอย่างไร
ยาต้านไวรัสเอ็นอาร์ทีไอมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาต้านไวรัสเอ็นอาร์ทีไอ สามารถก่อผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) โดยตัวยาจะทำให้เกิดพิษต่อหน่วยที่สร้างพลังงานของร่างกายที่เรียกว่า ไมโทคอนเดรีย (Mitochondrial toxicity) จนทำให้เกิดสภาวะเลือดเป็นกรด ชนิดที่เรียกว่า Lactic acidosis (อาการเช่น ทำให้ผู้ป่วยมีอาการคลื่นไส้อาเจียน วิตกกังวล ปวดท้อง เกิดโรคซีดขั้นรุนแรง ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นผิดจังหวะ หายใจเร็วกว่าปกติ)
นอกจากนั้น ยังมีอาการข้างเคียงอื่นอีกที่สามารถพบเห็นหลังจากได้รับยากลุ่มนี้ เช่น
- ปวดหัว
- ผื่นคันตามผิวหนัง
- ท้องเสีย
- ตับอ่อนอักเสบ
- มีความผิดปกติที่ประสาทส่วนปลาย
- นอนไม่หลับ
- เกิดสีคล้ำขึ้นที่ฝ่ามือ - ฝ่าเท้า (จะพบมากในผู้ป่วยชนชาติผิวดำ)
- ปากคอแห้ง
- มีอาการอ่อนเพลียโดยเฉพาะหลังทำงาน
- ผิวหนังและเล็บมีสีคล้ำขึ้น
มีข้อควรระวังการใช้ยาต้านไวรัสเอ็นอาร์ทีไออย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาต้านไวรัสเอ็นอาร์ทีไอ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาในกลุ่มยาต้านไวรัสเอ็นอาร์ทีไอ
- ผู้ป่วยควรรับประทานยากลุ่มนี้อย่างเคร่งครัด และพบแพทย์เพื่อตรวจสภาพร่างกายตามกำหนดนัดหมายของแพทย์
- การใช้ยาต้านไวรัสเอ็นอาร์ทีไอกับหญิงตั้งครรภ์ สามารถลดการติดเชื้อเอดส์ของทารกจากมารดาได้ระดับหนึ่ง เช่น การใช้ตัวยา Zidovudine แต่การใช้ยา Lamivudine และ Stavudine กับหญิงตั้งครรภ์ มีผลการศึกษากับสัตว์ที่ตั้งครรภ์พบว่า อาจทำให้ตัวอ่อนในครรภ์พิการได้ ดังนั้น การใช้ยากลุ่มนี้กับหญิงตั้งครรภ์ต้องอยู่ภายใต้การพิจารณาของแพทย์ผู้รักษาว่าปลอดภัยหรือเหมาะสมเพียงใด
- การใช้ยานี้กับเด็กต้องอยู่ภายใต้คำสั่งแพทย์เท่านั้น
- ปกติทั่วไป หญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตรจะถูกห้ามการเลี้ยงบุตรด้วยนมมารดา เพื่อป้องกันการส่งผ่านเชื้อไวรัสเอดส์จากน้ำนมมารดา แนะนำให้เลี้ยงบุตรด้วยผลิตภัณฑ์นมที่มีจำหน่ายตามเกณฑ์มาตรฐานของอายุทารก ดังนั้นการใช้ยานี้ในหญิงให้นมบุตรจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์
- หากการตอบสนองของร่างกายกับยานี้ที่ได้รับไม่เป็นผลดีหรือพบอาการข้างเคียงอย่างมาก ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล เพื่อแพทย์ปรับแนวทางการรักษาหรือเปลี่ยนยารับประทานที่เหมาะสม
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาต้านไวรัสเอ็นอาร์ทีไอด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ยาต้านไวรัสเอ็นอาร์ทีไอมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาต้านไวรัสเอ็นอาร์ทีไอมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยา Zidovudine ร่วมกับยาต่อไปนี้สามารถเกิดปฏิกิริยาระหว่างยาดังนี้ เช่น
- การใช้ร่วมกับยา Paracetamol เป็นเวลานานอาจทำให้เกิดพิษต่อตับได้
- การใช้ร่วมกับยา Rifampicin อาจเกิดพิษต่อระบบเลือด และมีการขับออกของยา Zidovudine เพิ่มขึ้น ประสิทธิภาพการรักษาจึงอาจลดลง
- การใช้ร่วมกับยา Chloramphenicol, Fluconazole, Valproate อาจเกิดพิษจากยา Zidovudine มากขึ้น
- การใช้ร่วมกับยา Clarithromycin จะทำให้การดูดซึมของยา Clarithromycin น้อยลงไป ดังนั้น หากมีไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาเหล่านี้ร่วมกัน
- การใช้ยา Lamivudine ร่วมกับยาต้านเชื้อแบคทีเรีย เช่นยา Co-trimoxazole สามารถลดการขับออกจากร่างกายของยา Lamivudine แพทย์จะปรับการรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
- การใช้ยา Didanosine ร่วมกับยารักษาโรคเกาต์ เช่นยา Allopurinol อาจทำให้ร่างกายได้รับพิษจากยา Didanosine มากขึ้น จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยา Zalcitabine ร่วมกับยาลดกรดที่มีเกลืออะลูมิเนียม (เช่นยา Aluminium hydroxide) และเกลือแมกนีเซียม (เช่นยา Magnesium hydroxide) เป็นองค์ประกอบ จะทำให้การดูดซึมของยา Zalcitabine น้อยลงไป จึงอาจส่งผลต่อการรักษา แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะกับผู้ป่วยเป็นราย บุคคลไป
- การใช้ยา Zalcitabine ร่วมกับยาต่อไปนี้ เช่นยา Cimetidine, Probenecid, Amphotericin-B (ยาต้านเชื้อรา) และ Aminoglycosides (ยาปฏิชีวนะ) อาจทำให้ร่างกายได้รับพิษจากยา Zalcitabine เพิ่มขึ้น หากมีไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยา Abacavir ร่วมกับ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์อาจทำให้ลดการกำจัดออกจากร่างกายของ Abacavir จึงห้ามการรับประทานร่วมกันโดยเด็ดขาด
- การใช้ยา Emtricitabine ร่วมกับยารักษาโรคมะเร็งของระบบโรคเลือด ชนิด Multiplemyeloma /มัลติเพิลมัยอีโลมา (เช่นยา Bortezomib) จะเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดพยาธิสภาพกับเส้นประสาทส่วนปลาย ควรเพิ่มความระวังหากต้องใช้ร่วมกัน
ควรเก็บรักษายาต้านไวรัสเอ็นอาร์ทีไออย่างไร?
สามารถเก็บยาต้านไวรัสเอ็นอาร์ทีไอ: เช่น
- เก็บยาที่อุณหภูมิห้อง
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- ไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ
ยาต้านไวรัสเอ็นอาร์ทีไอมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาต้านไวรัสเอ็นอาร์ทีไอ มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิตเช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Antivir (แอนทิเวียร์) | GPO |
Combid 300 (คอมบิด 300) | GlaxoSmithKline |
Epivir (อีพิเวียร์) | GlaxoSmithKline |
GPO-Vir Z250 (จีพีโอ-เวียร์ ซีท250) | GPO |
Lamivir (ลามิเวียร์) | GPO |
Retrovir (เรโทรเวียร์) | GlaxoSmithKline |
Zovilam (โซวิแลม) | Mylan |
Videx EC (ไวเด็กซ์ อีซี) | Bristol-Myers Squibb |
Divir (ดิเวียร์) | GPO |
GPO-Vir S30 (จีพีโอ-เวียร์ เอส30) | GPO |
La-Stavir (ลา-สตาเวียร์) | GPO |
Stavir (สตาเวียร์) | GPO |
Kivexa (คีเวซา) | GlaxoSmithKline |
Lahep (ลาเฮพ) | GPO |
Lamivudine Mylan (ลามิวูดีน มายแลน) | Mylan |
Truvada (ทรูวาดา) | Gilead |
Zeffix (เซฟฟิกซ์) | GlaxoSmithKline |
Ziagenavir (เซียจีนาเวียร์) | GlaxoSmithKline |
Atripla (อะทริพลา) | Gilead |
Ricovir-Em (ริโคเวียร์-อีเอ็ม) | Mylan |
Teno-Em (เทโน-อีเอ็ม) | GPO |
Baraclude (บาราคลูด) | Bristol-Myers Squibb |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Reverse-transcriptase_inhibitor [2021,Oct2]
- https://www.uptodate.com/contents/overview-of-antiretroviral-agents-used-to-treat-hiv [2021,Oct2]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Nucleoside [2021,Oct2]
- https://www.verywellhealth.com/how-effective-is-prep-in-preventing-hiv-4010575 [2021,Oct2]
- http://hivinsite.ucsf.edu/InSite?page=ar-05-01#S2.1X [2021,Oct2]
- https://www.verywellhealth.com/hiv-aids-treatment-4014255 [2021,Oct2]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Lactic_acidosis [2021,Oct2]
- https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Antivir/?type=brief [2021,Oct2]
- https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Videx%20EC/?type=brief [2021,Oct2]
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/stavudine?mtype=generic [2021,Oct2]
- https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Lamivir/?type=brief [2021,Oct2]
- https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Baraclude/?type=full#Dosage[2021,Oct2]
- https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Retrovir/?type=brief [2021,Oct2]
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/zidovudine?mtype=generic [2021,Oct2]
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/lamivudine?mtype=generic [2021,Oct2]
- https://www.mims.com/philippines/drug/info/didanosine?mtype=generic[2021,Oct2]
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/abacavir%20gpo?type=full[2021,Oct2]
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/emtricitabine?mtype=generic [2021,Oct2]