เอสโทรน (Estrone)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 1 กรกฎาคม 2559
- Tweet
- บทนำ
- เอสโทรนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- เอสโทรนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- เอสโทรนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- เอสโทรนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- เอสโทรนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้เอสโทรนอย่างไร?
- เอสโทรนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาเอสโทรนอย่างไร?
- เอสโทรนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- วัยหมดประจำเดือน (Menopause)
- โรคกระดูกพรุน โรคกระดูกบาง (Osteoporosis and Osteopenia)
- เอสโตรเจน (Estrogen)
- Estriol
- เอสตร้าไดออล (Estradiol)
บทนำ
เอสโทรน (Estrone) เป็นฮอร์โมนเพศหญิงในกลุ่มเอสโตรเจน (Estrogen, ประกอบด้วยฮอร์ โมนเพศหญิงชนิดย่อย 3 ชนิดคือ Estradiol หรือ E2, Estriol หรือ E3 และ Estrone หรือ E1) ซึ่งเป็นชนิดที่มีปริมาณน้อยที่สุดในร่างกายเมื่อเทียบกับฮอร์โมนเพศหญิงชนิดอื่นๆ ถูกผลิตจากเซลล์ไขมันที่สะสมบริเวณช่องท้อง ฮอร์โมนเอสโทรนมักจะไม่ออกฤทธิ์โดยตรงต่ออวัยวะในร่างกายเหมือนกับฮอร์โมนเอสตร้าไดออล (Estradiol) อาจกล่าวว่า เอสโทรนเป็นฮอร์โมนที่ออกฤทธิ์ได้น้อยกว่าเอสตร้าไดออลนั่นเอง นักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษาถึงผลของฮอร์โมนนี้ที่มีต่อร่างกายแล้วพบว่าฮอร์โมนนี้สามารถกระตุ้นให้เกิดมะเร็งกับมนุษย์
ในเพศหญิงเอสโทรนจะส่งผลให้เกิดอาการตึง-คัด-เจ็บปวดบริเวณเต้านม คลื่นไส้ ปวดศีรษะ ความดันโลหิตสูง และเกิดตะคริวบริเวณขา แต่ในเพศชายเอสโทรนจะส่งผลให้เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน และด้อยสมรรถภาพทางเพศ
อย่างไรก็ตามมนุษย์เราจะขาดฮอร์โมนเอสโทรนไม่ได้เช่นกัน ด้วยเอสโทรนถือเป็นสารตั้งต้นในการสร้างฮอร์โมนเอสตร้าไดออล (Estradiol) อีกทีหนึ่ง ทางคลินิกมีการศึกษาและนำเอสโทรนมาเป็นยาบำบัดรักษาโรค/ภาวะผิดปกติต่างๆเช่น ภาวะพร่องฮอร์โมนเพศหรือภาวะฮอร์โมนเพศต่ำ(Hypogonadism) ภาวะประจำเดือนมามากผิดปกติ เนื้องอกของต่อมลูกหมาก รวมถึงช่วยบำบัดภาวะกระดูกพรุนในวัยหมดประจำเดือน
หากจะพิจารณาเงื่อนไขของผู้บริโภคว่าเหมาะสมที่จะใช้ยาฮอร์โมนเอสโทรนได้หรือไม่นั้น ต้องอาศัยการตรวจร่างกายและคำวินิจฉัยของแพทย์เป็นสำคัญ ซึ่งอาจสรุปออกมาเป็นข้อๆเช่น
- มีโรคประจำตัวอะไรบ้างที่การใช้ฮอร์โมนบำบัดที่อาจส่งผลให้อาการโรครุนแรงมากยิ่งขึ้น อย่างเช่น โรคความดันโลหิตสูง ไมเกรน เนื้องอกตามอวัยวะต่างๆ ฯลฯ
- มีการใช้ยาอื่นใดอยู่ก่อนเช่น ยาที่ใช้รักษาโรคประจำตัวของผู้ป่วย ยาเอสโทรนเป็นยาประเภทฮอร์โมนเพศหญิงที่สามารถเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆได้เช่นกัน
- อายุ น้ำหนักตัว รวมถึงการตอบสนองของร่างกายของผู้ป่วยต่อยาเอสโทรน
- ภาวะตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในระหว่างเลี้ยงบุตรด้วยนมมารดา และเด็ก ถือเป็นกลุ่มที่ห้ามใช้ยาเอสโทรน
การใช้ยากลุ่มฮอร์โมนจะต้องคอยควบคุมอาการข้างเคียงต่างๆที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างใกล้ชิด ด้วยเป็นยาที่มีความแรง การใช้ปริมาณเพียงเล็กน้อยสามารถส่งผลต่อการทำงานของอวัยวะต่างๆในร่างกายได้อย่างมากมาย ดังนั้นผู้ที่ใช้ยานี้แพทย์จะนัดตรวจอยู่เป็นประจำเพื่อดูประสิทธิผลหลังการใช้ยานี้รวมถึงคอยควบคุมระบบการทำงานของอวัยวะต่างๆในร่างกายให้เป็นปกติอยู่เสมอ
ปัจจุบันทางเลือกของผลิตภัณฑ์ยาเอสโทรนที่พบเห็นจะเป็นประเภทยาฉีด (เข้ากล้ามเนื้อ) ยารับประทาน ยาครีม และยาสอด/ยาเหน็บช่องคลอด การเลือกรูปแบบและขนาดการใช้ยานี้ได้อย่างเหมาะสมปลอดภัยควรต้องเป็นไปตามความเห็นของแพทย์ผู้รักษาแต่เพียงผู้เดียว
เอสโทรนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาเอสโทรนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อ
- ใช้เป็นฮอร์โมนทดแทนของสตรีเพศหลังหมดประจำเดือน
- ช่วยป้องกันภาวะกระดูกพรุน
เอสโทรนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาเอสโทรนคือ ตัวยาจะเป็นรูปแบบฮอร์โมนเพศหญิงตามธรรมชาติในกลุ่มฮอร์โมนเอสโตรเจนที่สามารถเพิ่มการสะสมแคลเซียมในมวลกระดูก จึงช่วยบำบัดรักษาโรคกระดูกพรุนได้ นอกจากนั้นตัวยายังสามารถเพิ่มการไหลเวียนของเลือดในบริเวณช่องคลอดและก่อให้เกิดความชุ่มชื้นของช่องคลอดส่งผลให้ลดอาการช่องคลอดแห้งและแสบคันในวัยหมดประจำเดือนได้
เอสโทรนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาเอสโทรนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเช่น
- ยาเม็ดชนิดรับประทานขนาด 0.625 มิลลิกรัม/เม็ด
- ยาฉีดขนาด 2 และ 5 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
- ยาครีมขนาด 1 มิลลิกรัม/กรัม
เอสโทรนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาเอสโทรนมีขนาดรับประทานเช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทาน 1.4 - 2.8 มิลลิกรัม/วัน ระยะเวลาของการรับประทานให้เป็นไปตามคำสั่งแพทย์
อนึ่ง: ในผู้ป่วยบางรายแพทย์อาจต้องให้ยาฮอร์โมนเอสตร้าไดออล (Estradiol) และ/หรือยา เอสไตรออล (Estriol) เพิ่มเติมร่วมด้วยเพื่อช่วยสนับสนุนผลการรักษา
- เด็ก: ห้ามใช้ยาเอสโทรนกับเด็ก
*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาเอสโทรน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาหรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยาเอสโทรนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆและ/หรือกับอาหารเสริมที่รับประทาน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
กรณีลืมรับประทานยา/ใช้ยาเอสโทรนสามารถรับประทาน/ใช้ยาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทาน/การใช้ยาในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทาน/ขนาดการใช้ยาเป็น 2 เท่า
อย่างไรก็ตามการใช้ยาเอสโทรนให้ได้ผลที่ดีควรต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
เอสโทรนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ผู้ที่ได้รับยาฮอร์โมนเอสโทรนอาจมีผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้ เช่น ระคายเคืองในอวัยวะระบบทางเดินอาหาร คัดตึงเต้านม มีภาวะบวมตามร่างกาย ปวดศีรษะหรือ เป็นไมเกรน การมองภาพผิดปกติจากเดิม มีฝ้าบนใบหน้า มีภาวะซึมเศร้า ตัว/ตาเหลือง เป็นต้น
มีข้อควรระวังการใช้เอสโทรนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาเอสโทรนเช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้หรือแพ้ส่วนประกอบในสูตรตำรับของยาเอสโทรน
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และในเด็ก
- ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
- ห้ามปรับขนาดการใช้ยานี้ด้วยตนเอง
- ห้ามใช้ผลิตภัณฑ์ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีเลือดออกจากช่องคลอดโดยไม่ทราบสาเหตุ ผู้ที่เป็นหลอดเลือดดำขอด ผู้ป่วยมะเร็งเต้านม มะเร็งกระดูก มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก เนื้องอกบางชนิดเช่น เนื้องอกมดลูก
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ที่อยู่ในภาวะแคลเซียมในเลือดสูงเกิน ผู้ป่วยด้วยโรคหลอดเลือด โรคหัวใจ ผู้ป่วยโรคของถุงน้ำดี (เช่น นิ่วถุงน้ำดี)
- ระหว่างที่ใช้ยาเอสโทรนควรระวังภาวะเสี่ยงต่อการเกิดความดันโลหิตสูง หรือการเกิดหลอดเลือดดำขอด รวมถึงการเกิดมะเร็งของอวัยวะต่างๆตามมา
- สตรีที่ได้รับฮอร์โมนกลุ่มเอสโตรเจนรวมถึงยาเอสโทรนควรหัดตรวจคลำความผิดปกติของก้อนเนื้อที่อาจขึ้นบริเวณเต้านมด้วยตนเองโดยตรวจคลำตามคำแนะนำของแพทย์/พยาบาล ซึ่งหากพบความผิดปกติควรต้องรีบมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล
- ขณะใช้ยานี้หากเกิดอาการผิดปกติอย่างเช่น มีความดันโลหิตสูง เกิดหลอดเลือดดำขอดมากขึ้น แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก มีเลือดประจำเดือนมามากผิดปกติ ควรต้องรีบมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และดื่มสุราในขณะที่ได้รับยาประเภทฮอร์โมนที่รวมถึงยาเอสโทรน
- ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดและมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมฮอร์โมนเอสโทรนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
เอสโทรนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาเอสโทรนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาเอสโทรนร่วมกับยา Thalidomide (ยารักษาโรคมะเร็งชนิด Multiple myeloma) ด้วยอาจก่อให้เกิดอันตรายจากภาวะเกล็ดเลือดจับตัวเป็นลิ่มเลือดได้ง่ายที่จะก่อให้เกิดการอุดตันของหลอดเลือดตามมา
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาเอสโทรนร่วมกับยา Dantrolene ด้วยจะสร้างปัญหาต่อการทำงานของตับโดยจะทำให้มีอาการไข้ หนาวสั่น ปวดข้อ บวมตามร่างกาย อ่อนเพลีย และเหนื่อยง่ายตามมา
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาเอสโทรนร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือดอย่างเช่น Warfarin ด้วยยาเอสโทรนสามารถส่งผลทำให้ประสิทธิภาพการรักษาของยา Warfarin ด้อยลง
- การใช้ยาเอสโทรนร่วมกับยา Diltiazem อาจทำให้ระดับฮอร์โมนเอสโทรนในกระแสเลือดเพิ่มมากขึ้นจนทำให้ผู้ป่วยได้รับผลกระทบ (ผลข้างเคียง) จากยาเอสโทรนสูงขึ้น หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีบุคคลไป
ควรเก็บรักษาเอสโทรนอย่างไร?
ควรเก็บผลิตภัณฑ์ยาเอสโทรนภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส (Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือรถยนต์
เอสโทรนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาเอสโทรนที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิตเช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Estragyn (เอสทราจีน) | Searchlight Pharma Inc. |
อนึ่งยาเอสโทรนที่จำหน่ายในประเทศตะวันตกมียาชื่อการค้าอื่นเช่น Estrone AQ, Kestrone, Aquest, Oestrilin
บรรณานุกรม
- http://surmeno.blogspot.com/2006/07/three-estrogens-estradiol-estrone.html [2016,June11]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Estrone [2016,June11]
- http://www.rxwiki.com/estrone [2016,June11]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/estrone/?type=brief&mtype=generic [2016,June11]
- http://www.rxwiki.com/estrone#/drug-dosage [2016,June11]
- https://www.ucalgary.ca/familymedicine/system/files/2015.12.17-dr.joan-horton-sogc_canadian_hrt_products-1.pdf [2016,June11]
- http://www.hendricks.org/HealthLibrary/default.aspx?sid=1&pTitle=&ContentTypeID=26&ContentID=2426&pTitle =Drug&alpha=E&AdditionalTitle=Estragyn%205%C2%AE [2016,June11]
- http://www.drugbank.ca/drugs/DB00655 [2016,June11]
- http://www.rxwiki.com/estragyn-5 [2016,June11]
- http://www.drugs.com/drug-interactions/estrone,estrone-aq-index.html?filter=3&generic_only= [2016,June11]
- http://searchlightpharma.com/app/uploads/2015/10/estragyn_en.pdf [2016,June11]