เอนไซม์อินฮิบิเตอร์ (Enzyme inhibitor drugs)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

การใช้ยา(ยารักษาโรค)อย่างปลอดภัย สิ่งที่ควรคำนึงถึง คือ อาการไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้นจากยา และอันตรกิริยาระหว่างยา/ปฏิกิริยาระหว่างยา การใช้ยาหลายชนิดร่วมกัน อาจเป็นสาเหตุของการเกิดอันตรกิริยาระหว่างยา

เพื่อป้องกันการเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากรณีใช้ยาหลายชนิดพร้อมๆกัน แพทย์ เภสัชกร ควรต้องคำนึงถึงการสั่งใช้ยาชนิดต่างๆในผู้ป่วยที่มีรายการยาหลายตัว และควรแจ้งผู้ป่วยให้ระมัดระวังการซื้อยารับประทานเอง รวมถึงผู้ป่วยที่มีรายการยาหลายตัวควรทำบันทึกรายการยาที่ตนเองกำลังได้รับอยู่ เพื่อเป็นสื่อกลางในการสื่อสารเรื่องยากับแพทย์และกับเภสัชกรกรณีที่มีการพบแพทย์หลายสาขา เพื่อหลีกเลี่ยงการได้รับยาซ้ำซ้อน อีกทั้งลดโอกาสการเกิดอันตรกิริยาระหว่างยา

ในบางครั้ง อันตรกิริยาระหว่างยา อาจส่งผลให้เกิดอาการรุนแรงจากอาการไม่พึงประสงค์จากยา จนอันตรายถึงเสียชีวิตได้ ในทางตรงข้ามอันตรกิริยาระหว่างยาบางชนิดอาจทำให้ระดับยาที่ใช้ร่วมกันอยู่ลดลง จนทำให้ระดับยาบางชนิดลดลงจนส่งผลให้การรักษาเกิดความล้มเหลวได้จากระดับยานั้นๆไม่เพียงพอต่อการรักษาโรค ดังนั้นก่อนที่จะมีการสั่งยาชนิดใดๆก็ตามให้แก่ผู้ป่วยที่มียาเดิมหลายชนิด แพทย์ และเภสัชกรจำเป็นต้องตรวจสอบโอกาสในการเกิดปฏิกิริยาระหว่างยาก่อนเสมอ เพื่อความปลอดภัยและเพื่อประสิทธิภาพจากการใช้ยา โดยเฉพาะในกรณีที่ผู้ป่วยกำลังได้รับยาที่มีคุณสมบัติในการกระตุ้น(Enzyme inducer drug) หรือยับยั้ง(Enzyme inhibitor drugs)ผลการทำงานของเอนไซม์ที่มีหน้าที่ในการทำลายยาเพื่อขับออกจากร่างกาย

ไซโตโครมพี 450 คืออะไร?

เอนไซม์อินฮิบิเตอร์

สาเหตุของการเกิดปฏิกิริยาระหว่างยา /อันตรกิริยาระหว่างยา/ได้นั้น เป็นผลมาจากเอนไซม์ ไซโตโครมพี 450 (Cytochrome P 450) หรือย่อว่า CYP450 ซึ่งเป็นเอนไซม์ (Enzyme) ในร่างกายที่มีหน้าที่เปลี่ยนแปลงสภาพยา(Drug metabolism) และทำให้ยาส่วนใหญ่ที่ผู้ป่วยได้รับเข้าสู่ร่างกายนั้นอยู่ในสภาพที่ไม่มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาเพื่อให้ยาดังกล่าวพร้อมถูกขับออกจากร่างกายไป

กระบวนการเปลี่ยนสภาพยาเกิดขึ้นแตกต่างกันไปในคนแต่ละเชื้อชาติ อายุ สภาวะ/สุขภาพของร่างกาย และยังพบว่าเอนไซม์ไซโตโครมพี 450 นี้สามารถถูกเหนี่ยวนำให้ทำงานได้มากกว่าปกติ หรือถูกยับยั้งให้ทำงานลดน้อยลงได้โดยยาชนิดอื่นๆที่ใช้ร่วมกัน และ/หรือกับอาหารและ/หรือเครื่องดื่มบางชนิดที่ผู้ป่วยกำลังได้รับร่วมอยู่ได้

ปัจจุบันไซโตโครมพี 450 ในร่างกายมนุษย์ไม่ใช่เอนไซม์เดี่ยว แต่เป็นกลุ่มของเอนไซม์หลายๆชนิด โดยเอนไซม์ที่มีความเหมือนกันของสารโปรตีนในเอนไซม์นั้นๆจะอยู่ในกลุ่มย่อย (Families) เดียวกัน และถ้าหากมีหน่วยย่อยของสารโปรตีนที่เรียกว่า กรดอะมิโนที่มีความเหมือนกันจะถูกรวมไว้ในแขนงกลุ่มย่อยเดียวกัน (Subfamilies)

เนื่องจาก ไซโตโครมพี 450 มีหลายชนิด จึงมีการตั้งชื่อเพื่อใช้เรียกและสื่อสารให้เข้าใจตรงกัน โดยการกำหนดให้ใช้คำว่า CYP (ซิพ) แทน ไซโตโครมพี 450 (Cytochrome P450) จากนั้นตามด้วยตัวเลข 1,2,3... เพื่อแสดงความเหมือนกันในกลุ่มย่อย (Families) จากนั้นจึงตามด้วยอักษรภาษาอังกฤษ A, B, C,.... เพื่อแสดงความเหมือนกันในแขนงกลุ่มย่อย (Subfamilies) ต่อมาจึงตามด้วยตัวเลข 1,2,3,... เพื่อแสดงความเป็นเอนไซม์เดี่ยวแต่ละชนิด เช่น CYP3A4 หมายถึง เอนไซม์ไซโตโครมพี 450 (Cytochrome P450) กลุ่มย่อย (Families) ที่ 3, แขนงกลุ่มย่อย (Subfamilies) A และเป็นเอนไซม์ตัวที่้ 4 หรือ CYP2C9 หมายถึง เอนไซม์ไซโตโครมพี 450 (Cytochrome P450) กลุ่มย่อย (Families) ที่ 2, แขนงกลุ่มย่อย (Subfamilies) C และเป็นเอนไซม์ตัวที่้ 9

เอนไซม์ไซโตโครมพี 450 เป็นเอนไซม์ในร่างกายที่พบได้ในหลากหลายอวัยวะเช่น ตับ ไต ผิวหนัง ระบบทางเดินอาหาร ปอด สมอง เป็นต้น แต่พบมากที่สุดที่ตับ โดยเอนไซม์นี้มีหน้าที่ในกระบวนการสร้างสเตียรอยด์จากคอเลสเตอรอล และยังทำหน้าที่ในกระบวนการเปลี่ยนสภาพยา (Drug metabolism) โดยจะมียาหลากหลายชนิดที่จะถูกเปลี่ยนสภาพโดยเอนไซม์ซิพ (CYP) ตามแต่ละชนิดๆไป

พบว่าร่างกายมนุษย์จะมีเอนไซม์ในกลุ่ม CYP3A4 เป็นจำนวนมากที่สุดในร่างกาย โดยจะพบว่ามีที่ตับประมาณร้อยละ 35(35%) และที่ลำไส้เล็กประมาณร้อยละ 82(82%) โดยพบว่า CYP3A4 เป็นเอนไซม์ซิพที่สามารถทำหน้าที่เปลี่ยนแปลงสภาพยาได้มากชนิดที่สุดในร่างกาย คือ ประมาณร้อยละ 50(50%) และรองลงมา คือ CYP2D6 สามารถเปลี่ยนแปลงสภาพยาได้ประมาณ ร้อยละ 30(30%)

ในการเปลี่ยนแปลงสภาพยาชนิดหนึ่งๆ เพื่อให้ยาอยู่ในสภาพที่ไม่มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาและพร้อมจะถูกขับออกจากร่างกายนั้น ยาชนิดนั้นๆจะถูกเปลี่ยนแปลงได้โดยใช้เอนไซม์ซิพ (CYP) หลากหลายชนิดในกระบวนการทำลายยาดังกล่าว ขณะเดียวกัน หากมีการใช้ยาร่วมกันหลายๆชนิดมากกว่า 1 ชนิดขึ้นไป จะมีโอกาสที่ยาที่ใช้ร่วมกันนั้นจะเกิดปฏิกิริยาต่อกัน(ปฏิกิริยาระหว่างย)ได้ ซึ่งจะกล่าวต่อไปในหัวข้อถัดไป “ปฏิกิริยาระหว่างยา”

ปฏิกิริยาระหว่างยาคืออะไร?

เมื่อมีการใช้ยาร่วมกันหลายๆชนิดมากกว่า 1 ชนิดขึ้นไป และเมื่อยาเข้าสู่กระบวนการเปลี่ยนแปลงสภาพยา (Drug metabolism)เพื่อให้ยาหมดฤทธิ์และพร้อมถูกขับออกจากร่างกายนั้น กระบวนการดังกล่าวต้องอาศัยเอนไซม์ซิพ (CYP) เป็นตัวเปลี่ยนแปลงฤทธิ์ของยา ขณะเดียวกันโอกาสที่ยาที่ใช้ร่วมกันนั้นจะเกิดปฏิกิริยาต่อกัน(ปฏิกิริยาระหว่างยา/Drug interaction)ได้ก็มีมากยิ่งขึ้น

ปฏิกิริยาระหว่างยาที่สามารถเกิดขึ้นได้ มี 2 แบบ ดังนี้

แบบที่ 1 เรียกว่า เอนไซม์ถูกเหนี่ยวนำให้ทำงานมากขึ้น (Enzyme induction): พบว่า เอนไซม์ซิพ (CYP) บางชนิดจะถูกเหนี่ยวนำให้มีปริมาณเพิ่มมากขึ้นกว่าปกติ มีผลทำให้เอนไซม์ดังกล่าวทำงานในการเปลี่ยนแปลงยาได้มากขึ้น ดังนั้นยาที่ถูกกำจัดผ่านเอนไซม์จะถูกกำจัดได้มากขึ้น ยาจึงคงเหลืออยู่ในร่างกายลดลง และประสิทธิภาพในการรักษาของยานั้นๆลดลง เมื่อมีการใช้ยานั้นๆร่วมกันยาที่มีความสามารถเหนี่ยวนำให้เอนไซม์ซิพทำงานได้มากขึ้น

ในบางกรณี ยาบางชนิดเป็นยาที่ยังไม่มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา แต่เมื่อรับประทานยานั้นๆเข้าสู่ร่างกาย และยานั้นๆถูกเอนไซม์ซิพเปลี่ยนสภาพ จะทำให้ได้ยาที่มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา ที่เรียกว่า เมแทบอไลต์ (Metabolite) หากเมแทบอไลต์ดังกล่าวมีความเป็นพิษ ก็จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการได้รับพิษจากเมแทบอไลต์ดังกล่าวยิ่งขึ้นอีก เนื่องจาก การทำงานของเอนไซม์ที่มากกว่าปกติในการเปลี่ยนแปลงยาจากไม่มีฤทธิ์ให้มีฤทธิ์/ความเป็นพิษเพิ่มขึ้นได้ เมื่อมีการใช้ยาดังกล่าว ร่วมกันยาที่มีความสามารถเหนี่ยวนำให้เอนไซม์ซิพทำงานได้มากขึ้น ซึ่งเรียกยาในกลุ่มเหนี่ยวนำให้เอนไซม์ซิพทำงานได้มากขึ้นนี้ว่า “Enzyme inducer drugs หรือ Enzyme inducer ”

แบบที่ 2 เรียกว่า เอนไซม์ถูกเหนี่ยวนำให้ทำงานน้อยลง (Enzyme inhibition): พบว่า เอนไซม์ซิพ (CYP) บางชนิดจะถูกเหนี่ยวนำให้มีปริมาณลดต่ำลงกว่าปกติ มีผลทำให้เอนไซม์ดังกล่าวทำงานในการเปลี่ยนแปลงยาได้ลดลง ดังนั้นยาที่ถูกกำจัดผ่านเอนไซม์ดังกล่าวจะถูกกำจัดได้ลดลง ยานั้นๆจึงจะคงเหลืออยู่ในร่างกายมากขึ้น เกิดการะสะสมของยานั้นๆในร่างกายจนอาจเกิดความเป็นพิษ/อาการไม่พึงประสงค์ต่อร่างกายได้ เมื่อมีการใช้ยานั้นๆร่วมกันยาที่มีความสามารถเหนี่ยวนำให้เอนไซม์ซิพทำงานได้น้อยลงได้ ซึ่งเรียกยาในกลุ่มเหนี่ยวนำให้เอนไซม์ซิพทำงานได้น้อยลงนี้ว่า “ยาเอนไซม์อินฮิบิเตอร์ (Enzyme inhibitor drug หรือ Enzyme inhibitor)”

*อนึ่ง ในบทความนี้ จะกล่าวถึงคุณสมบัติและรายการยาเฉพาะ”ยากลุ่มเอนไซม์อินฮิบิเตอร์” เท่านั้น ส่วนยากลุ่ม “Enzyme inducer drugs หรือ Enzyme inducer” จะได้แยกเขียนต่างหากเป็นอีกบทความในเว็บ Haamor.com

เอนไซม์อินฮิบิเตอร์คืออะไร?

การเกิดภาวะเอนไซม์ที่ใช้เปลี่ยนสภาพยาถูกเหนี่ยวนำให้ทำงานน้อยลง (Enzyme inhibition) โดยเป็นผลจากการเกิดปฏิกิริยาระหว่างยา เกิดขึ้นโดยยาบางชนิด และ/หรือสารบางชนิดไปมีผลยับยั้งเอนไซม์ซิพ (CYP)บางชนิด โดยจะเรียกยาและสารเหล่านั้นว่า ยากลุ่มเอนไซม์อินฮิบิเตอร์ (Enzyme inhibitor หรือ Enzyme inhibitor drug)

ยากลุ่มเอนไซม์อินฮิบิเตอร์ เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้ว จะมีกลไกเข้าไปจับกับเอนไซม์ซิพตามแต่ละชนิดที่ยาจะมีความจำเพาะ ทำให้เอนไซม์ซิพทำงานไม่ได้ ยานั้นๆที่ควรถูกเปลี่ยนสภาพโดยเอนไซม์ซิพได้ จะไม่สามารถถูกเปลี่ยนสภาพได้ จึงเหลือยานั้นๆอยู่ค้างสะสมในร่างกาย จนอาจก่อให้เกิดพิษ/อาการไม่พึงประสงค์จากยานั้นๆต่อร่างกายได้

ยาและ/หรือสารที่เป็นเอนไซม์อินฮิบิเตอร์ แบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม ตามการออกฤทธิ์ของตัวยา ดังนี้

กลุ่มที่ 1 ฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ซิพแบบผันกลับอย่างแข่งขัน (Reversible competitive inhibition): ยาที่เป็นเอนไซม์อินฮิบิเตอร์ในกลุ่มนี้จะมีรูปร่างโครงสร้างยาที่คล้ายคลึงกับยาอื่นๆที่จะเข้าจับกับเอนไซม์ซิพ/เอนไซม์ฯ เพื่อถูกเปลี่ยนสภาพและขับออกจากร่างกาย ดังนั้นการยับยั้งแบบผันกลับอย่างแข่งขันนี้จะเกิดขึ้น โดยยากลุ่มเอนไซม์อินฮิบิเตอร์และยาชนิดอื่นๆจะแข่งขันกับเข้าจับกับเอนไซม์ซิพ ณ ตำแหน่งบริเวณการเร่งการทำงาน(Active site)ของเอนไซม์ซิพ เพื่อให้เกิดกระบวนการเปลี่ยนสภาพยา ภายหลังการเข้าจับกัน

ผลที่เกิดขึ้นภายหลังได้รับยาที่มีคุณสมบัติเป็นยาเอนไซม์อินฮิบิเตอร์ คือ เอนไซม์ซิพ ไม่สามารถทำงานได้ ซึ่งความสามารถของยาที่เป็นเอนไซม์อินฮิบิเตอร์ แบบผันกลับอย่างแข่งขันนี้ จะขึ้นกับความเข้มข้นหรือปริมาณของยาต่างๆ โดยหากยาตัวใดมีความเข้มข้นมากกว่า ก็จะเข้าจับกับเอนไซม์ฯได้ดีกว่า ดังนั้นหากยาที่ใช้ร่วมมีปริมาณมากกว่าปริมาณยาเอนไซม์อินฮิบิเตอร์ ฤทธิ์ในการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ฯโดยยาเอนไซม์อินฮิบิเตอร์จะลดลง เนื่องจาก ยาที่ใช้ร่วมที่มีปริมาณหรือความเข้มข้นมากกว่า จึงมีความสามารถแย่งจับกับบริเวณเร่งทำงานของเอนไซม์ฯได้มากกว่ายาเอนไซม์อินฮิบิเตอร์ ทำให้เอนไซม์ฯยังสามารถเปลี่ยนสภาพยาร่วมต่อไปได้ ในทางกลับกัน หากปริมาณยาหรือความเข้มข้นของยาที่ใช้ร่วมมีปริมาณน้อยกว่ายาเอนไซม์อินฮิบิเตอร์ ฤทธิ์ของยาเอนไซม์อินฮิบิเตอร์จะมีความสามารถแย่งจับกับเอนไซม์ฯแล้วทำการยับยั้งเอนไซม์ฯที่เปลี่ยนสภาพยาได้มากกว่า จึงทำให้ยาที่ใช้ร่วมด้วยไม่ถูกเปลี่ยนสภาพ

กลุ่มที่ 2 ฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์แบบผันกลับอย่างไม่แข่งขัน (Reversible non-competitive inhibition): ยาที่เป็นยาเอนไซม์อินฮิบิเตอร์จะมีรูปร่างของโครงสร้างที่ไม่ได้เข้าจับเอนไซม์ฯ ณ ตำแหน่งบริเวณเร่งการทำงาน(Active site)โดยตรง แต่ยาที่เป็นเอนไซม์อินฮิบิเตอร์จะเข้าจับกับสารประกอบเชิงซ้อนระหว่างเอนไซม์ฯและยาที่สามารถถูกเอนไซม์ฯดังกล่าวทำลายได้ ผลการจับของยาเอนไซม์อินฮิบิเตอร์กับสารประกอบเชิงซ้อนจะทำให้เอนไซม์ฯเสียโครงสร้างและสูญเสียความสามารถในการเปลี่ยนสภาพยาชนิดอื่นๆเพื่อการกำจัดออกไปจากร่างกาย

ทั้งนี้ความสามารถของยาที่เป็นเอนไซม์อินฮิบิเตอร์ที่จะเข้าจับกับเอนไซม์ฯเพื่อยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ฯแบบผันกลับอย่างไม่แข่งขันนี้ จะไม่ขึ้นกับความเข้มข้นหรือปริมาณของยาร่วมอื่นๆหรือของยาเอนไซม์อินฮิบิเตอร์ ว่าชนิดใดมีมากกว่ากัน เนื่องจาก ยาเอนไซม์อินฮิบิเตอร์กลุ่มนี้จะเข้าจับกับเอนไซม์ฯ ณ บริเวณสารประกอบเชิงซ้อนระหว่างเอนไซม์กับยา ไม่ใช่ ณ ตำแหน่งบริเวณเร่งการทำงานของเอนไซม์ฯ

กลุ่มที่ 3 ฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์แบบไม่ผันกลับ (Irreversible inhibition): การยับยั้งเอนไซม์ซิพ (CYP)/เอนไซม์ฯ ให้ทำงานน้อยลงนี้ เป็นปฏิกิริยาระหว่างยาที่เกิดขึ้นได้ทันที และเมื่อเพิ่มขนาดยาที่เป็นเอนไซม์อินฮิบิเตอร์ ก็จะเพิ่มฤทธิ์การยับยั้ง เช่น การรับประทานยาเฟโลดิพีน (Felodipine: ยาลดความดันโลหิต) กับน้ำผลไม้เกรปฟรุต (Grape fruit juice) โดยน้ำเกรปฟรุตมีฤทธิ์เป็น(ยา)เอนไซม์อินฮิบิเตอร์ ดังนั้นการรับประทานยาเฟโลดิพีนคู่กับน้ำเกรปฟรุตจะมีผลทำให้ระดับยาเฟโลดิพีนในเลือดสูงขึ้น และพบว่าเมื่อมีการดื่มน้ำเกรปฟรุตติดต่อกันนานเป็นเวลา 5 วันขึ้นไป จะยิ่งเพิ่มระดับยาเฟโลดิพีนในเลือดได้สูงขึ้นไปอีก เนื่องจาก เอนไซม์ฯที่ใช้ในการเปลี่ยนสภาพยาเฟโลดิพีนถูกยับยั้งอย่างถาวรโดยน้ำเกรปฟรุต

ตัวอย่างยาที่มีคุณสมบัติเป็นเอนไซม์อินฮิบิเตอร์ จำแนกตามผลการยับยั้งไซโตโครมพี 450ชนิดต่างๆ

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมทั้งยาในกลุ่มเอนไซม์อินฮิบิเตอร์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยา / แพ้อาหาร / แพ้สารเคมี ทุกชนิด
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะ ยาเอนไซม์อินฮิบิเตอร์ อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อนแล้ว
  • เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย หากเจ็บป่วยเล็กน้อย และต้องการซื้อยาเพื่อบรรเทาอาการด้วยตัวเอง ควรแจ้งเภสัชกรก่อนทุกครั้งว่า ท่านกำลังรับประทานยาอะไรอยู่บ้าง เนื่องจากยาที่ท่านกำลังรับประทานอยู่อาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยาได้
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เนื่องจาก ยาบางตัวในกลุ่มยาเอนไซม์อินฮิบิเตอร์ อาจมีผลพิษต่อทารกในครรภ์ อีกทั้งยานี้บางชนิดสามารถขับผ่านทางน้ำนมมารดาได้ ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยของทารก จึงควรหลีกเลี่ยงการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ของยาจากมารดาผ่านทางน้ำนม สุภาพสตรี จึงควรแจ้งแพทย์ พยาบาล และ/หรือเภสัชกรเสมอ หากกำลังตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรอยู่

มีวิธีรับประทานยาเอนไซม์อินฮิบิเตอร์อย่างไร?

ตามหลักการแล้ว ผู้ป่วยจำเป็นต้องรับประทานยากลุ่มเอนไซม์อินฮิบิเตอร์ให้ตรงเวลาอย่างเคร่งครัด เพราะอาหารอาจมีผลต่อการดูดซึมยาบางชนิด ดังนั้นการรับประทานยานี้เพื่อให้ได้มีประสิทธิภาพดี ผู้ป่วยควรศึกษาวิธีการรับประทานยาก่อนโดยปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร

กรณีที่อาหารมีผลต่อการดูดซึมยานี้ จะแนะนำให้รับประทานยาขณะท้องว่าง คือ ก่อนมื้ออาหารประมาณ 1 ชั่วโมง หรือรับประทานยาหลังมื้ออาหารไปแล้วอย่างน้อยประมาณ 2 ชั่วโมง

กรณีอาหารไม่มีผลต่อการดูดซึมยานี้ ผู้ป่วยสามารถเลือกกรับประทานยาได้ทั้งก่อนและหลังอาหาร แต่จำเป็นต้องรับประทานยานี้ให้ตรงเวลาตามคำแนะนำของแพทย์

กรณีลืมรับประทานยานี้ เมื่อมีวิธีการรับประทานยานี้เพียงวันละ 1 ครั้ง ให้รับประทานยานี้ทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่หากใกล้กับเวลาที่ต้องรับประทานยานี้มื้อถัดไป (วันถัดไป) ให้รอรับประทานยานี้มื้อถัดไปเลย โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า

กรณีลืมรับประทานยาและมีวิธีการรับประทานยาวันละ 2 ครั้ง ให้รับประทานยาทันทีที่นึกขึ้นได้ (หากห่างไม่เกิน 6 ชั่วโมง จากเวลารับประทานปกติ) แต่หากนึกขึ้นได้ในช่วงใกล้กับเวลาที่ต้องรับประทานยามื้อถัดไป (เกินกว่า 6 ชั่วโมงจากเวลารับประทานยาปกติ) ให้รับประทานยามื้อถัดไปในขนาดยาปกติ ข้ามมื้อยาที่ลืมรับประทานไป จากนั้นรับประทานยา ในขนาดปกติต่อไป (ไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า หรือนำยามื้อที่ลืม มารับประทานด้วย) และรับประทานยาในมื้อถัดๆไปในขนาดยาปกติ

มีข้อควรระวังการใช้ยาเอนไซม์อินฮิบิเตอร์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเอนไซม์อินฮิบิเตอร์ เช่น

1. ข้อควรระวังในการใช้ยากลุ่มเอนไซม์ อินฮิบิเตอร์ (Enzyme inhibitors) คือ อันตรกิริยาระหว่างยากับยา/ปฏิกิริยาระหว่างยา เนื่องจากยาในกลุ่มนี้มีคุณสมบัติยับยั้งเอนไซม์ซิพ(CYP inhibitor) ซึ่งมักอาจทำให้เกิดอันตรกิริยาระหว่างยากับยาได้ เมื่อมีการใช้ยาหลายชนิดพร้อมกัน ซึ่งอาจมีผลทำให้ระดับยาตัวใดๆมีระดับยาในเลือดเพิ่มสูงขึ้นจนเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยานั้นๆได้

2. เฝ้าระวังอาการแพ้ยา/อาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรงจากการใช้ยาในกลุ่นเอนไซม์อินฮิบิเตอร์

3.ก่อนใช้ยาต่างๆ ควรปรึกษาสูติแพทย์หากท่านกำลังตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร

4.หากท่านมีภาวะการทำงานของไตบกพร่อง, ตับบกพร่อง หรือมีโรคประจำตัวอื่นๆ โปรดแจ้ง แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ที่ดูแลท่านเสมอ เพราะอาจจำเป็นต้องปรับขนาดยากลุ่มเอนไซม์อินฮิบิเตอร์ตามค่าการทำงานของไตและตับ หรืออาจต้องทำการรักษาโรคประจำตัวเดิมของท่านก่อนการเริ่มใช้ยากลุ่มเอนไซม์อินฮิบิเตอร์

5. แจ้งแพทย์ พยาบาล และเภสัชกรเสมอว่า ท่านมียาใดบ้างที่กำลังรับประทานอยู่ รวมถึง อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ยาสมุนไพร ต่างๆ

สามารถหลีกเลี่ยงการเกิดปฏิกิริยาระหว่างยาได้อย่างไร?

เป้าหมายหลักของการป้องกันการเกิดปฏิกิริยาระหว่างยาต่างๆที่รวมถึงยาเอนไซม์อินฮิบิเตอร์ คือ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วย โดยให้มีอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาต่างๆในการบำบัดรักษาโรคหรือความเจ็บป่วยให้น้อยที่สุด ที่ไม่กระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของเภสัชกรโดยตรงในการบริบาลทางเภสัชกรรม

ในด้านผู้ป่วย ผู้ป่วยสามารถหลีกเลี่ยงการเกิดปฏิกิริยาระหว่างยาได้ โดยสิ่งปฏิบัติที่ง่ายที่สุด คือ การใช้ยาเท่าที่จำเป็น ไม่ใช้ยาโดยไม่มีข้อบ่งใช้ โดยรับประทานยาตามคำแนะนำของแพทย์และเภสัชกร และเมื่อใดก็ตามที่มีความเจ็บป่วยขึ้นและจำเป็นต้องใช้ยา ผู้ป่วยต้องแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบเกี่ยวกับยาที่รับประทานอยู่หรือยาที่ได้รับมาก่อนแล้วทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นยาที่ได้รับจากโรงพยาบาล ยาที่ซื้อรับประทานเอง อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร สมุนไพร ต่างๆ ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดปฏิกิริยาระหว่างยา

ในขณะเดียวกัน แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร ควรต้องทำการสัมภาษณ์ผู้ป่วยเพื่อทราบประวัติการได้รับยาทุกชนิด ตลอดจน อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร สมุนไพรต่างๆ รวมทั้งให้คำปรึกษาแนะนำเรื่องยาต่างๆที่แนะนำ/สั่งให้ผู้ป่วยใช้

นอกจากนี้ความร่วมมือของผู้ป่วยเองในการรับประทานยา หรือการใช้ยาต่างๆ ให้ถูกต้องตามคำสั่ง แพทย์ เภสัชกร ฉลากยา และ/หรือเอกสารกำกับยา เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เกิดประสิทธิภาพ ความปลอดภัย รวมทั้งสามารถหลีกเลี่ยงการเกิดปฏิกิริยาระหว่างยาได้เช่นกัน

เก็บรักษายาเอนไซม์อินฮิบิเตอร์อย่างไร?

แนะนำเก็บยาเอนไซม์อินฮิบิเตอร์ ที่อุณหภูมิห้อง ไม่เก็บยาในที่อุณหภูมิสูงเกินกว่า 30 องศาเซลเซียส(Celsius) หรือเก็บยาในห้องที่ร้อนจัดหรือมีความชื้นมาก เช่น ห้องที่ถูกแสงแดดส่องถึงทั้งวัน ในรถยนต์ ห้องครัว หรือห้องน้ำ นอกจากนี้ยังควรเก็บยาในภาชนะบรรจุเดิม เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง เก็บยาให้พ้นจากแสงแดด หรือบริเวณที่มีแสงสว่างส่องถึงตัวยาตลอดเวลา ทั้งนี้เพื่อรักษาคุณภาพของยาให้มีประสิทธิภาพตลอดถึงวันสิ้นอายุของยา

หากยาเกิดการเปลี่ยนแปลงลักษณะทางกายภาพ เช่น สี, ลักษณะเม็ดยา/สารละลายยากรณีเป็นยาน้ำเปลี่ยนแปลงจากปกติ ควรทิ้งยานั้นๆไป และควรศึกษาเอกสารกำกับยาทุกครั้งสำหรับวิธีการเก็บรักษายาแต่ละชนิด เนื่องจาก ยาบางชนิดอาจจำเป็นต้องเก็บในตู้เย็น หรือมีวิธีการเก็บรักษาพิเศษ

บรรณานุกรม

  1. Jeffrey CD. Understanding and preventing drug interactions in elderly patients. Critical Reviews in Oncology/Hematology 48 (2003) 133–143
  2. Lori ES and Neli HS. Drug interactions/P450. Curr Probl Dermatol, May/June 2001.
  3. Lacy CF. Amstrong LL, Goldman MP, Lance LL. Drug Information handbook. 20th ed. Ohio: Lexi-Comp,Inc.; 2011-12.
  4. บุษบา จินดาวิจักษณ์, สุวัฒนา จุฬาวัฒนทล, ปรีชา มทกานติกุล และคณะ, บรรณาธิการ. Review and Update on Drug Interactions. กรุงเทพมหานคร: บริษัทประชาชน จำกัด; 2553
Updated 2017,May20